เคยเป็นกันไหมคะ? วันไหนที่สมองล้า ๆ คิดอะไรไม่ออก เจอกับคำถามโลกแตกว่า “กินอะไรดี?” สุดท้าย “ข้าวมันไก่” ก็มักจะเป็นคำตอบที่ทั้งง่ายและอร่อยแบบไม่ต้องคิดเยอะ แต่ใครจะไปคิดว่าแบรนด์ไก่ทอดระดับโลกอย่าง KFC จะกระโดดลงสนามเมนูนี้ แถมยังออกมาแบบไม่ใช่แค่ข้าวมันไก่ธรรมดา ๆ แต่เป็นเวอร์ชันที่ผสมความเป็น “KFC-style” ได้แบบถึงใจด้วย
เมนู “ข้าวมันไก่ ร้านลุงเคเอฟซี” นี้ ไม่ใช่แค่หยิบข้าวมันไก่ธรรมดามาเสิร์ฟ แต่เขายกระดับด้วยความใส่ใจในทุกดีเทลค่ะ ผู้เขียนจะพามาดูกันว่า เมนูใหม่นี้ การตลาด KFC ทำยังไงบ้างถึงจะได้ใจคนไทยไปเต็ม ๆ
เบื้องหลังไอเดียไทย ๆ ในสไตล์ลุงเคเอฟซี
ความคิดนี้เกิดจากสิ่งที่เรียกว่า Localization หรือการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมและพฤติกรรมของผู้บริโภคในพื้นที่นั้น ๆ ค่ะ ซึ่งบอกเลยว่า KFC เชี่ยวชาญเรื่องนี้มาก! ดูจากเมนูที่เคยปล่อยมาก่อนหน้านี้อย่าง ข้าวไก่แซ่บโบวล์ หรือ ข้าวไก่กรอบแกงเขียวหวาน ก็รู้แล้วว่าเขาเข้าใจความเป็นไทยสุด ๆ
แต่ในครั้งนี้ ลุงเคเอฟซีเล่นใหญ่กว่าเดิมค่ะ เพราะเขาเล็งเห็นแล้วว่า “คนไทยรักข้าวมันไก่ขนาดไหน” ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็ต้องเจอ ตั้งแต่ในห้าง ร้านข้างทาง ยันตลาดกลางคืน ข้าวมันไก่คือเมนูที่อยู่ทุกมุมของประเทศเราเลยก็ว่าได้
แล้วปัญหาคือ ถ้าข้าวมันไก่มีเยอะขนาดนี้ KFC จะทำยังไงให้ตัวเองแตกต่างล่ะ?
คำตอบก็คือ “ใส่ DNA ความเป็น KFC แบบจัดเต็ม” ลงไปยังไงล่ะ! ไม่ว่าจะเป็น ไก่ป๊อปชิ้นกรอบสูตรเด็ดของแบรนด์ น้ำจิ้มเต้าเจี้ยวสูตรลับที่มีเอกลักษณ์ ข้าวมันที่หุงมาแบบกำลังดี กินพร้อมกันแล้วได้ทั้งความฟินและความสะดวก ที่สำคัญคือ ทุกอย่างมาในราคาน่ารัก เริ่มต้นแค่ 59 บาทเท่านั้น แบบนี้ใครจะอดใจไหวจริงไหมคะ
KFC ทำให้คนไทยตกหลุมรักด้วยวิธีไหน?
KFC ไม่ได้หยุดแค่การออกเมนูใหม่ค่ะ แต่คิดแบบครบวงจร ตั้งแต่ตัวสินค้า การตั้งราคา ช่องทางขาย ไปจนถึงการโปรโมตที่จัดเต็ม วันนี้ผู้เขียนจะพาทุกคนไปดูเมนูใหม่ของ KFC ผ่าน 4Ps Marketing Mix ทีละข้อว่าลุงเคเอฟซีวางหมากยังไง ถึงได้ทั้งยอดขายและใจคนไทยไปพร้อม ๆ กันค่ะ
1. สินค้า (Product) มากกว่าแค่ข้าวมันไก่ แต่คือ “ข้าวมันไก่ในแบบ KFC”
KFC เข้าใจค่ะว่าถ้าจะมาแข่งกับข้าวมันไก่เจ้าดั้งเดิม เขาก็ต้องฉีกให้แตกต่าง แต่ยังต้องเป็นสิ่งที่คนไทยคุ้นเคยอยู่แล้ว ไก่ป๊อป จึงกลายเป็นพระเอกของเมนูนี้ เพราะไม่ใช่แค่ดึงดูดลูกค้าเดิมที่ชอบไก่ทอด KFC อยู่แล้ว แต่ยังช่วยลดต้นทุนด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการสอนพนักงานอีกด้วยค่ะ
นอกจากนี้ ยังเพิ่มความเป็น “ข้าวมันไก่” แบบไทย ๆ เข้าไปอีก เช่น
- น้ำจิ้มเต้าเจี้ยวสูตรพิเศษ สไตล์ใหม่
- ข้าวมันที่หุงกำลังดี หอมและไม่มันจนเลี่ยน
จุดที่น่าสนใจคือ KFC ไม่ได้แค่เสิร์ฟเมนูธรรมดา ๆ นะคะ เขายัง ปรับสินค้าตามพฤติกรรมการบริโภคคนไทย ด้วยการออกชุดเซตที่มี วิงซ์แซ่บ เพิ่มเข้ามาให้เลือกด้วย (ซึ่งคนไทยชอบวิงค์แซ่บมาก!)
และจุดที่ผู้เขียนมองว่า ถ้า KFC ทำได้ดีตีโจทย์แตกจะทำให้เมนูข้าวมันไก่นี้ประสบความสำเร็จมาก นั่นก็คือ น้ำจิ้ม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของข้าวมันไก่เลยค่ะ เพราะจากข้อมูล Social Listening ที่ทางการตลาดวันละตอนเคยศึกษาไว้ คนไทยให้ความสำคัญกับน้ำจิ้มมากที่สุด (55%) ยิ่งร้านไหนน้ำจิ้มรสจัดจ้าน ไม่หวงพริกไม่หวงขิง เติมได้ไม่อั้น คนไทยยิ่งรักจนโงหัวไม่ขึ้นเลยล่ะค่ะ
2. ราคา (Price) ราคาน่ารัก + กลยุทธ์ที่จับใจ
- เริ่มต้นเพียง 59 บาท สำหรับข้าวมันไก่ป๊อปปกติ
- เพิ่มเป็น 99 บาท ได้ชุดเซตพร้อมวิงซ์แซ่บและเครื่องดื่ม
- แต่ถ้าสั่งผ่านเดลิเวอรี อาจเริ่มต้นที่ 69 บาท และสูงสุดถึง 129 บาท ขึ้นอยู่กับค่าบริการ
สิ่งที่ KFC ทำได้ดีมากคือการใช้ กลยุทธ์ราคาแบบ Penetration Pricing หรือการตั้งราคาต่ำในช่วงแรก เพื่อดึงลูกค้าใหม่ ๆ ให้มาลอง ท่ามกลางการแข่งขันในตลาดข้าวมันไก่ที่ร้อนแรง
อีกอย่างคือการตั้งราคาแบบ Odd Pricing หรือใช้เลขลงท้ายด้วย 9 (เช่น 59, 99) ซึ่งเป็นเทคนิคการตลาดที่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่า “ราคาถูกกว่าความเป็นจริง” เป็นจิตวิทยาที่ได้ผลมากและเป็นเอกลักษณ์ของเคเอฟซีสุด ๆ ค่ะ
3. ช่องทางจำหน่าย (Place) ครอบคลุมทุกช่องทาง ทุกเวลา
KFC ไม่พลาดค่ะ เขากระจายเมนูนี้ให้วางขายในทุกช่องทาง ทั้ง หน้าร้าน แอป KFC และแพลตฟอร์มเดลิเวอรีชั้นนำ เช่น Grab LINE MAN
สิ่งนี้สอดคล้องกับพฤติกรรมคนไทยที่ชอบสั่งอาหารผ่านเดลิเวอรีในยุคดิจิทัลค่ะ KFC ยังรู้ดีว่า “ความสะดวก” คือปัจจัยสำคัญของลูกค้า การวางขายในทุกช่องทาง จึงช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจง่ายขึ้นว่าจะกินข้าวมันไก่จาก KFC ได้ทางไหนบ้างที่สะดวกสำหรับตัวเองที่สุด
4. การโปรโมต (Promotion) ลุงเคเอฟซีทำให้เป็นกระแสยังไง?
สิ่งที่ผู้เขียนมองว่าเป็นไม้เด็ดเลยก็คือ ชื่อเมนู “ข้าวมันไก่ ร้านลุงเคเอฟซี” ที่ช่วยลดระยะห่างระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภคค่ะ เพราะมันล้อกับวัฒนธรรมการตั้งชื่อร้านแบบไทย ๆ เช่น ร้านลุงเจี๊ยบ ป้าต้อย ทำให้คนไทยรู้สึกว่าแบรนด์นี้ “เป็นพวกเดียวกัน”
นอกจากนี้ KFC ยังเล่นใหญ่บนโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น
สรุป การตลาด KFC เจาะไอเดีย Localization เมนู”ข้าวมันไก่” ผ่าน 4Ps
KFC ทำให้ข้าวมันไก่ธรรมดากลายเป็นเมนูที่ทั้งสนุกและน่าสนใจ ด้วยการผสมผสานความเป็นไทยแบบถึงแก่นค่ะ ผู้เขียนมองว่า KFC เข้าใจว่าคนไทยชอบอะไร สนุกกับอะไร แล้วใส่ความเป็นตัวเองลงไปอย่างกลมกล่อม ตั้งแต่สินค้า ราคา ช่องทางการขาย ไปจนถึงการโปรโมต ทุกอย่างถูกออกแบบมาอย่างใส่ใจ จนทำให้แบรนด์ไม่ใช่แค่ ‘ผู้มาเยือน’ แต่กลายเป็น ‘เพื่อนบ้าน’ ที่เข้าถึงง่ายและเป็นกันเอง
และนี่ไม่ใช่แค่เรื่องของข้าวมันไก่ แต่เป็นบทเรียนสำคัญสำหรับนักการตลาดค่ะว่า การเข้าใจผู้บริโภคให้ลึกซึ้ง แล้วปรับตัวอย่างจริงใจและสร้างสรรค์ คือกุญแจสู่ความสำเร็จในทุกวัฒนธรรม เพราะสุดท้ายแล้ว ลูกค้าไม่ได้อยากได้แค่สินค้า แต่เขาต้องการแบรนด์ที่ “เข้าใจและเป็นพวกเดียวกัน” กับเขาจริง ๆ
ลุงเคเอฟซีแสดงให้เห็นว่า การปรับตัวแบบนี้ไม่ได้ทำให้แบรนด์เสียตัวตนเลยค่ะ แต่กลับทำให้ยิ่งโดดเด่นและน่าจดจำกว่าเดิมอีกต่างหาก แล้วพบกันใหม่บทความหน้านะคะ :0)
อ่านบทความเพิ่มเติมที่นี่