Relaxable Marketing โซเชียลเทรนด์การตลาด Social Media Trends 2025 ห้ามเครียด ห้ามจริงจัง ห้ามแกรม ห้ามดูดีเกินจริง เอาชนะ Algorithm ไปด้วยกัน

Relaxable Marketing: Social Trends 2025 คอนเทนต์และการตลาดปีหน้าห้ามจริงจัง

จากบทความแรกที่พาไปรู้จักที่มาที่ไปของ Digital & Social Trends 2025 ที่ออกมาเป็น 5R และเราก็อธิบายเทรนด์โซเชียลแรกที่มีชื่อว่า Rawlity Trend ที่มีจากการรวมตัวของสองคำนั่นก็คือ Raw + Reality ที่บอกให้รู้ว่าผู้บริโภคยุคใหม่โดยเฉพาะชาวเน็ต Gen Z กับ Alpha กำลังมองหาคอนเทนต์แบบไม่ปรุงแต่งติดแกรมกันมากขึ้น แบรนด์ไหนตั้งใจประดิษฐ์ประดอยคอนเทนต์ให้ดูดีเกินจริง หรือตามขนบธรรมเนียมเดิมมากเกินไป จะไม่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคยุคใหม่แน่นอน

ทีนี้เรามาถึง Social Trend 2025 ที่ 2 นั่นก็คือ Relaxable Marketing จุดเริ่มต้นและที่มาที่ไปเป็นอย่างไร ไปจนถึงนักการตลาดอย่างเราต้องปรับกลยุทธ์เพื่อเตรียมรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร ถ้าพร้อมแล้วมาอ่านศึกษาทำความเข้าใจชาวโซเชียลยุคใหม่ไปด้วยกันครับ

Relaxable Marketing คอนเทนต์และการตลาดปี 2025 ต้องช่วยให้คนคลายเครียดท่ามกลางโลกที่เต็มไปด้วยแรงกดดัน

เพราะในปี 2024 ดูเหมือนเราจะมีแต่ข่าวสารที่เต็มไปด้วยความเครียดมากมายป้อนเข้าสู่สมองเราผ่านหน้าจอตลอดเวลา ผู้คนเลยมองหาคอนเทนต์ที่ช่วยเยียวยาจิตใจกันมากขึ้น มองหาอะไรที่ทำให้ใจเป็นสุข มองหาคอนเทนต์อะไรก็ได้ที่ง่ายๆ เบาๆ ไม่ต้องใช้สมองคิดตามมาก

พอแล้วกับเรื่องสาระความรู้ที่ล้นเกินตลอดเวลา แล้วก็ขอละเรื่องการตลามเทรนด์หรือ FOMO แบบหย่าขาดตลอดไป

@zaralarsson

Replying to @Alberto Guti stream venus and buy tickets to my US tour bitches

♬ Symphony (feat. Zara Larsson) – Clean Bandit

ทำให้เทรนด์การใช้ Emoji รูปปลาโลมาและรุ้งกินน้ำได้รับความนิยมในกลุ่มวัยรุ่น หรือคนรุ่นใหม่ Gen Z และ Alpha อย่างมาก อีโมจินี้ถูกใช้บน TikTok อย่างมหาศาล มันสะท้อนถึงการได้ปลดปล่อยความคิด อารมณ์ ความรู้ ผ่อนคลายสมองด้วยการเอาสิ่งที่สะท้อนถึงความสุข ความสนุกแม้จะแค่ช่วงเวลาสั้นๆ แต่มันก็ทำให้ชาวเน็ตได้รู้สึกว่าได้หลบหนีจากความเครียดในชีวิตจริงแปบนึง จะเรียกว่าพวกเขาต้องการหลุมหลบภัยทางอารมณ์ของชาวโซเชียลยุคใหม่ก็ว่าได้ครับ

อีกด้านหนึ่ง Gen Z ก็เริ่มหนีไปเล่นโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มใหม่สำหรับพวกเขา แต่อาจจะเก่าสำหรับ Gen Y และ Gen X อย่างเราๆ ไปแแล้วอย่าง Pinterest

Pinterest เป็นที่นิยมของ Gen Z 2025

น่าสนใจว่าชาวเน็ตวัยรุ่น Gen Z จำนวนมากเริ่มย้ายจากโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มเดิมที่คุ้นเคยไปยัง Pinterest โซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มเก่าแก่ที่มีไว้สำหรับ Pin ภาพสร้างแรงบันดาลใจที่เคยเป็นที่นิยมของบรรดาเหล่า Designer วันวาน

ในด้านหนึ่งเพราะพวกเขาไม่ต้องทนอ่านคอมเมนต์ในแง่ลบเวลาจะโพสอะไรออกไปสักอย่าง อีกด้านหนึ่งพวกเขาก็สามารถทำกิจกรรมอย่างการ Pin Board ใน Pinterest ในด้านต่างๆ ที่สนใจ จะเรียกว่าเป็นกิจกรรม Social Detox หรือ Social Retreat ของชาวเน็ตยุคใหม่ก็ว่าได้ ถ้าเทียบกับคนยุคก่อนอาจเป็นการต่อจิ๊กซอว์ หรือถักนิตติ้ง แต่คนยุคใหม่สมัยนี้เขานิยมไปพินภาพใน Pinterest แชร์กับคนอื่นๆ ครับ

ในแง่หนึ่งเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงเทรนด์ของโซเชียลมีเดียแบบเดิมๆ ที่ก่อให้เกิดคำว่า Attention Economy มาเป็นระยะเวลาสิบกว่าปีในช่วงเวลาของ Gen X กับ Gen Y แต่ดูเหมือนว่า Gen Z จะพอและเบื่อหน่ายกับการถูกกระตุ้นด้วยโซเชียลมีเดียมากเกินไป พวกเขาจึงเริ่มไปมองหาอะไรที่ลดความเครียดทำให้ตัวเองไม่กดดัน และที่สำคัญต้องสามารถสร้าง Inspiration ให้ตัวเองแทน

พวกเขาเริ่มมองว่าการทำคอนเทนต์เพื่อไล่ล่ายอดไลก์ไม่ใช่เป้าหมายในชีวิต หรือการใช้โซเชียลมีเดียแต่อย่างไร และนั่นก็ส่งผลให้เทรนด์ Influencer หรือ Content Creator สายจอยๆ ได้รับความนิยมมากขึ้นตั้งแต่ปี 2025 ไปครับ

The Raised of Positive Content ยุคของคอนเทนต์สุขนิยม เมื่อไหร่ได้ชมต้องอมยิ้ม

บนโซเชียลมีเดียอย่าง TikTok ก็เกิดเทรนด์แฮชแท็กขึ้นมากมายที่สะท้อนถึงคอนเทนต์หรือคลิปวิดีโอแนวไม่ประดิษฐ์ ไม่แกรม ไม่หรู ไม่อวดรวยที่ได้รับความนิยมจาก Gen Z กันมากขึ้น เริ่มต้นจากกระแสแฮชแท็ก #LittleTreat ที่สะท้อนถึงการหาความสุขจากสิ่งละอันพันละน้อยในชีวิตประจำวัน ของเล็กๆ น้อยๆ ใกล้ตัวว่าสามารถทำให้เกิดคุณค่าหรือความแปลกใหม่ได้ขนาดไหน

เทรนด์นี้สอดคล้องกับกระแสค่าครองชีพแพงที่ใครอวดรวยได้ในวันนี้ถือว่าดูแปลก เพราะอินฟลูสายนั้นก็จะเริ่มไม่ได้รับความสนใจจากชาวเน็ตยุคใหม่ Gen Z กับ Alpha ในวันนี้ครับ

อีกหนึ่งเทรนด์ที่เริ่มได้รับความนิยมในกลุ่ม Gen Z บน TikTok คือ #HopeCore ที่สะท้อนถึงคนรุ่นใหม่กำลังมองหาสิ่งที่ทำให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้นทีละเล็กทีละน้อย

ถ้าคุณสำรวจดูแฮชแท็กนี้บน TikTok จะเห็นว่ามันคือเรื่องเล็กๆ ที่เป็นสิ่งละอันพันละน้อยของคนธรรมดาจำนวนมาก ที่ทำให้เราได้อมยิ้มเมื่อได้ดูคลิปเหล่านี้ ซึ่งจะแตกต่างจากคอนเทนต์จากอินฟลูเดิมๆ มากมายที่เป็นความสุขในแบบเราได้แต่มองและอิฉา แต่กับคลิปเหล่านี้เราดูแล้วได้รู้สึกดีไปพร้อมกัน

เราจะเห็นเทรนด์คอนเทนต์แนวนี้เยอะขึ้นบนหน้าฟีดของเรา ผู้คนต้องการคอนเทนต์ที่ช่วยให้ตัวเองรู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้น มองโลกในแง่บวกมากขึ้น (ไม่ใช่พร้อมบวก) ผู้คนมองหาการแสวงหาความสุขเล็กๆ น้อยๆ โดยไม่ต้องใช้เงินมากมาย ผู้คนเริ่มมองหาการสร้างแรงบันดาลใจให้กันและกัน บางทีก็อาจเป็นแค่เอาภาพธรรมดาในชีวิตประจำวันมาใส่เพลงดีๆ แล้วโพสลงโซเชียลก็เพียงพอที่พวกเขาจะให้กำลังใจกันและกันแล้ว

Quote is new Back เทรนด์การโพสคำคมกำลังได้รับความนิยมใน Gen Z

และหนึ่งในคอนเทนต์ที่จะสร้างพลังในแง่บวกได้ดีก็คือการโพสสเตตัสหรือที่เรียกว่า Quote คำคมแบบต่างๆ ที่เคยได้รับความนิยมมากๆ ในยุคแรกๆ ของโซเชียลมีเดียเมื่อสิบกว่าปีก่อน

ดูเหมือนสิ่งนี้จะเริ่มกลับมาได้รับความนิยมในกลุ่มชาวโซเชียล Gen Z อีกครั้ง ก็อย่างที่ย้ำไปหลายครั้งครับว่าเพราะโลกวันนี้เต็มไปด้วยความเครียด ส่วนโซเชียลมีเดียเองก็เต็มไปด้วยความกดดัน พวกเขาไม่อยากไปแข่งขันกับใครบนโซเชียลให้ได้ยอดไลก์มากขึ้นอีกแล้ว พวกเขาอยากได้กำลังใจที่เพิ่มขึ้นจากการใช้โซเชียลมีเดียแทน

นี่คือประเด็นทั้งหมดของ​ Social Media Trend 2025 ที่ 2 นั่นก็คือ Relaxable Content โซเชียลเพื่อชูใจ ลองมาดูว่ามีตัวอย่างแบรนด์ไหนทำการตลาดกับเรื่องนี้ได้ดีจนควรเอาไปศึกษาต่อกันครับ

Optimism Your Feed แคมเปญการตลาดจาก LG ที่ต้องการให้เราได้เห็นแต่โพสดีๆ บนหน้าฟีดโซเชียลของเราด้วยการ Crack Social Media Algorithm

Optimism Your Feed สำหรับผมยกให้เป็นหนึ่งในสุดยอดแคมเปญการตลาดยุค Algorithm ในวันนี้ เพราะเราอยู่ในยุคแห่ง Algorithm Driven Everything มาสักระยะแล้วเพียงแค่คนส่วนใหญ่อาจนึกไม่ถึง

ทุกโพสที่เราเห็นเมื่อเปิดหน้าจอล้วนถูกคัดสรรมาจาก Algorithm ของแต่ละแอปหรือแพลตฟอร์มทั้งนั้น ไม่ว่าจะหน้าฟีด Facebook, Instagram, X, YouTube, TikTok หรืออื่นใดก็ตาม ทุกอย่างล้วนถูกคัดสรรมาจากโค้ดโปรแกรมมิ่งหลังบ้านที่เราไม่อาจควบคุมได้ เพราะเรากำลังถูกหลอกล่อให้ติดหน้าจอไถดูอะไรไปเรื่อยๆ เพื่อให้โซเชียลมีเดียสามารถขายโฆษณาที่จะแทรกขึ้นมาระหว่างฟีดได้มากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน

เพราะมันคือหัวใจของเศรษฐกิจยุค Attention Economy ใครดึงความสนใจจากผู้คนได้มากกว่า ก็สามารถทำเงินได้เยอะกว่าในวันนี้ เมื่อเรามีเวลาแค่ 24 ชั่วโมงเท่ากันโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่างๆ ก็เลยพยายามรู้ใจเราให้ได้มากที่สุดว่าโพสถัดไปที่เราอยากเห็นคืออะไร และโฆษณาแบบไหนที่น่าจะเหมาะกับเรามากี่สุด

นั่นหมายความว่าเราอาจถูกหลอกล่อให้ดูคลิปที่ไม่ได้ประเทืองสมอง ก่อให้เกิดประโยชน์กับอารณณ์และสุขภาพจิตเราเท่าไหร่ ทางแบรนด์ LG ก็เลยเป็นแบรนด์แรกๆ ที่กล้าบอกเรื่องนี้กับคุณ และก็หาทางออกมาให้ด้วยการปรับปรุงฟีดคุณให้มีคุณภาพมากขึ้น ให้การเล่นโซเชียลมีเดียไม่เต็มไปด้วย Toxic แบบเดิมอีกต่อไป

สิ่งที่แคมเปญ Optimism Your Feed ของ LG ทำคือไปศึกษาว่า Algorithm ของโซเชียลมีเดียทำงานอย่างไร ถ้าดูคลิปแบบนี้แล้วคลิปแบบไหนจะขึ้น ถ้ากดไลก์คลิปแบบนี้จะเห็นคลิปอะไรเป็นลำดับถัดไป

เมื่อพวกเขาถอดรหัสได้ก็เลยเปลี่ยนวิธีทำ Content Marketing ใหม่ จากเดิมช่องของแบรนด์จะต้องเน้นการโพสเรื่องเกี่ยวกับแบรนด์เยอะๆ เพื่อจะได้เพิ่มโอกาสขายของได้มากๆ กลายเป็นช่องของ LG จะเน้นการจัดคลิปวิดีโอที่จะหล่อหลอม Algorithm ของผู้ติดตามได้เห็นแต่คลิปดีๆ ที่ช่วยทำให้เราอารมณ์ดีขึ้นทุกครั้งที่ดู

ในแง่หนึ่งเหมือนแบรนด์ไม่ได้อะไรจากการทำสิ่งนี้ แต่ถ้าคิดให้ลึกซึ้งกว่าเปลือกภายนอกมันคือการสร้าง Top of Mind ให้แบรนด์ในระยะยาว แถมยังทำให้คนจำนวนมากที่เบื่อ Social Toxic ในปัจจุบันหันมาติดตาม LG ด้วยตัวเองมากขึ้นเพราะอยากให้ LG ช่วยปรับปรุงหน้าฟีดให้ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็สอดคล้องกับ Brand Purpose คือ Life’s Good อยากช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคุณให้ดีขึ้นนั่นเอง

Bonding Before Branding การตลาดสร้างสุขก่อนสร้างภาพ

เดิมทีการตลาดหรือการสร้างแบรนด์มักจะเน้นเรื่องการสร้างภาพ (แต่ไม่ได้หมายถึงสร้างภาพในแง่ลบนะครับ) ว่าแบรนด์เราดีแบบนั้น แบรนด์เราเก๋แบบนี้ คนที่ใช้แบรนด์เราดูดีประมาณนี้แหละ อารมณ์เราก็จะมี Brand Guideline บอกว่าแบรนด์เราจะโพสอะไรได้ และโพสอะไรไม่ได้ อะไรที่ไม่ได้อยู่ในกรอบของความเป็นแบรนด์ก็จะไม่ถึงสื่อสารออกไปผ่านคอนเทนต์ไม่ว่าจะในรูปแบบไหน ทั้งที่ในความเป็นจริงผู้คนไม่ได้เล่นโซเชียลมีเดียกันแบบนั้น

บางแบรนด์เลยปรับตัวว่าต่อไปนี้โซเชียลมีเดียของแบรนด์จะไม่เน้นการทำคอนเทนต์สร้างภาพลักษณ์ที่ดูหรูหราไฮโซ หรือดูดีเกินมนุษย์ปุถุชน แต่จะหันมาทำคอนเทนต์แบบคนเล่นโซเชียลมีเดียทั่วไป

@marcjacobs

Send to a friend that could use this inspiration 👍 @bellagiohenrold

♬ original sound – marcjacobs

Mark Jacobs เป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ทำเรื่องนี้มาพักใหญ่ บนแอคเคาท์ TikTok ของแบรนด์ไม่ค่อยได้โพสอะไรที่ดูแบรนด์หรือการตลาดแบบที่คนอื่นทำกัน แต่เน้นการโพสคลิปโน่นนี่นั่นทัวไป เน้นการโพสแบบไม่ได้ประดิษฐ์ตกแต่งคุม CI อะไรมาก เน้นการเล่นโซเชียลแบบชาวเน็ตคนหนึ่งครับ

ถ้าคุณกดเข้าไปดูคุณอาจสงสัยว่าตกลงนี่มันแอคเคาท์ของชาวเน็ตคนหนึ่ง หรือเป็นแอคเคาท์ของแบรนด์จริงๆ กันแน่ เพราะมันโพสเสมือนคนปกติทั่วไปที่เล่นโซเชียลกันอย่างไรอย่างนั้น

ดังนั้นเลิกติดหรู เลิกติดแกรม เลิกโพสคอนเทนต์ประเภทที่ชาวเน็ตเค้าไม่ได้โพสลงโซเชียลกันได้แล้วนะครับ

Insane Marketing การตลาดบ้าๆ บอๆ

อีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจจากขนม Nutter Butter ที่ไม่ทำคอนเทนต์ขายของ ภาพสวย ดูแกรม หรือเน้นโปรโมชั่นแบบแบรนด์ปกติ แต่พวกเขาเน้นการเอาขนมของตัวเองมาทำเป็นคอนเทนต์สนุกๆ คลิปสั้นๆ ที่ดูแล้วชวนขันท้องแข็ง ดูบ้าๆ บอๆ แบบสุดๆ ทำให้คอนเทนต์ตัวเองกลายเป็นมีม ทำให้ขนมของตัวเองกลายเป็นอะไรที่ไม่ใช่แค่ขนมกินเล่น แต่ถ้าเมื่อไหร่อยากคลายเครียดก็สามารถติดตามช่อง TikTok ของแบรนด์ Nutter Butter ได้ครับ

แต่แน่นอนว่าสิ่งใดมีคนรักก็ย่อมมีคนเกลียด ไม่ใช่ทุกคนจะชอบสิ่งที่แบรนด์ทำ นั่นหมายความว่าคุณต้องชั่งใจว่าสิ่งนี้ที่คุณจะทำมันจะทำให้ธุรกิจคุณไปต่อในระยะยาวกับกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ ได้หรือไม่ ถ้ากลุ่มเป้าหมายคุณเป็นคนรุ่นเก่า หรือคนหัวโบราณ Conservative การตลาดแบบนี้ก็อาจไม่เหมาะ พวกเขาอาจมองว่าไม่เหมาะสม เอาของกินมาเล่นแบบนี้ได้อย่างไร

จาก 3 ตัวอย่าง Case Study แนวการตลาดแบบ Relaxable Marketing ของ Social Trends 2025 ปีหน้าทำให้สรุปสั้นๆ ได้ว่าปีหน้าแนวทางคอนเทนต์จะเป็น 3 ไดเรคชั่นนี้

  1. Shitposting โพสแนวจงใจประชดเสียดสีจิกกัด
  2. Sludge โพสอะไรก็ได้ สำคัญที่เพลงประกอบให้รู้จักจอยๆ
  3. Slop คอนเทนต์จากการคอลลาจ หยิบโน่นนี่นั่นมามิกซ์แอนแมชออกมาเป็นคลิปวิดีโอใหม่ สำคัญคือต้องมีสีสันจัดจ้านให้รู้จักจอยๆ

ภาพรวมดูเหมือนแนวทางคอนเทนต์ปีหน้าจะไม่เน้นการคราฟ ชอบคอนเทนต์แนวดิบๆ ภาพแตกๆ คุณภาพต่ำๆ เพราะมันสื่อถึงความประดิษฐ์ให้ดูจริงจังจนเกินไป จะคราฟก็ตรงไอเดียที่เน้นความสนุกแบบคนเล่นโซเชียลจริงๆ

อ่านมายืดยาวหลายนาที มาถึงตอนท้ายดูแนวทางการปรับตัว ปรับกลยุทธ์ ปรับแผนการตลาดและคอนเทนต์กันดีกว่าครับว่านักการตลาดอย่างเราควรทำอย่างไร

1. Just Post It!! โพสสักทีจะคิดอะไรเยอะ

ทำคอนเทนต์ตามกระแสแบบไม่ต้องคราฟคอนเทนต์หรือการตลาดจนเกินไป เราเห็นแล้วว่าคนชอบอะไรแปลกใหม่ในแบบที่คาดเดาไม่ได้ว่าแบรนด์เราจะกล้าทำแบบนี้ มันคือการกล้าฉีกตำรา Brand Identity ออกมาว่าโลกของแบรนด์ไม่ได้เหมาะกับการทำ Social Media Marketing สำหรับคนรุ่นใหม่ Gen Z และ Alpha อีกต่อไป

และการจะตามกระแสนั้นได้ทันก็ต้องรู้จักใช้เครื่องมืออย่าง Social Listening ให้เป็นด้วยตัวเองแล้ว เมื่อคุณมี Social Listening ใช้เองในทีมก็ทำให้การจะรู้เท่าทันกระแสเป็นเรื่องง่ายแบบไม่ต้องรอใครสรุปมาให้

เปิดดูทุกเช้า ทุกหลังกินข้าวกลางวันเสร็จว่าวันนี้มีเทรนด์อะไรน่าสนใจ ถ้าเจอกระแสไหนที่รู้สึกว่าใช่ เหมาะที่แบรนด์เราจะไปเล่น ก็ทำออกมาให้มันสนุกๆ ไม่ต้องคิดเรื่องคราฟ คิดว่าถ้าเราจะโพส Story หรือ TikTok เรื่องนี้เราจะโพสมันยังไงนั่นแหละครับ

2. Planless Post more อย่าเอาแต่โพสตามแพลน

ก็จะสอดคล้องกับข้อแรก แต่จะขยี้ลงมาอีกทีว่าจะโพสคอนเทนต์อย่าคิดเยอะ และก็อย่ายึดติดตามแพลนที่คิดมาตั้งแต่ต้นปี หรือต้นเดือน จงโพสให้เยอะขึ้น โพสตามจังหวะ ตามบริบท ตามกระแส ตามเทรนด์ ตามแบรนด์อื่นๆ รอบตัวให้มาก

หน้าที่ Social Content Marketing สำหรับผมที่แนะนำลูกค้าบริษัทที่ผมเป็นที่ปรึกษาคือ อย่าคิดว่าจ้างเขามาทำงาน ให้คิดว่าเราจ้างเขามาเล่นโซเชียลแบรนด์เราให้สนุก

สนุกก่อนแล้วคนจะเห็น คนที่เห็นก็จะมีคนที่ชอบ(และไม่ชอบ) คนที่ชอบก็จะค่อยๆ อยากลองเป็นลูกค้า กลยุทธ์การตลาดโซเชียลมีเดียนั้นไม่ยาก ที่ยากคือเลิกคิดเยอะ เลิกคิดตามแพลนว่ามันจะต้องโพสตามแผน

เอาจริงๆ เวลาคุณจะโพส Instagram ในแต่ละวันเคยวางแพลนล่วงหน้าหรอครับว่าเดือนนี้จะโพสเรื่องอะไรตลอดทั้งเดือน

ที่เหลือคือโพสแล้วก็คอยสังเกตว่าแบบไหนคนชอบ แบบไหนคนไม่ชอบ ค่อยๆ เรียนรู้ปรับตัวไปเรื่อยๆ อย่าคิดว่ามันจะสำเร็จตั้งแต่เดือนแรก ให้เวลาสัก 6 เดือน เพียงแต่ในทุกวันต้องพยายามปรับปรุงให้มันดีขึ้นเรื่อยๆ ควบคู่ไปด้วยครับ

3. Post Positive กระจายพลังบวก

จากตัวอย่างของ LG กับแคมเปญการตลาด Optimism Your Feed คงพอเห็นภาพแล้วว่าผู้คนวันนี้เบื่อหน่ายวิถีของโซเชียลมีเดียแบบเดิมๆ เราถูก Algorithm หล่อหลอมให้เราเป็นคนที่เราไม่อยากเป็น คิดในสิ่งที่ไม่อยากคิด มันพยายามหลอกล่อเราให้ติดกับหน้าจอจมดิ่งไปเรื่อยๆ จนหมดวัน ด้วยการเอาโพสแย่ๆ ส่วนใหญ่มาใส่สมองป้อนความคิดให้เราดาวน์เป็นส่วนใหญ่

แบรนด์ต้องพยายามโพสอะไรในแง่บวก โพสในสิ่งที่เป็นกำลังใจให้คน สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ติดตาม เป็นคนส่งคลื่นพลังดีๆ ออกไปเพราะนี่คือสิ่งที่ผู้บริโภคยุคใหม่ Gen Z และ Alpha ต้องการคอนเทนต์และการตลาดแบบนี้จากแบรนด์มากขึ้นเรื่อยๆ

ถ้าคุณทำมันได้ดีผู้คนก็อยากจะติดตามโซเชียลมีเดียของแบรนด์ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องเสียเงินซื้อแอดให้วุ่นวายครับ

ผู้คนเครียดจากเรื่องราวข่าวสารรอบตัวในชีวิตประจำวันมากพอแล้ว แล้วไหนจะถูก Algorithm ของโซเชียลมีเดียหลอกล่อให้ติดกับดักอยู่หน้าจอนานๆ กับคอนเทนต์แย่ๆ ที่เรามักเผลอหลวมตัวหมดเวลากับมันไปหลายชั่วโมงไปโดยไม่รู้ตัว

แบรนด์ต้องหาทางยกระดับให้ชีวิตโซเชียลผู้คนนั้นดีขึ้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ลดความเครียด ใส่ความสนุกจนถึงตลกเข้าไป ทำให้พวกเขารู้สึกดีกับชีวิตและตัวตนของตัวเองมากขึ้น ถ้าทำได้พวกเขาก็จะติดแบรนด์คุณยิ่งกว่าแบรนด์ใด และนั่นหมายถึงโอกาสทำกำไรที่จะตามมาในท้ายที่สุดครับ

อ่านเทรนด์ที่ 3 ของ Social Trends 2025 ในการตลาดวันละตอนต่อกับ…Reuseable Marketing เทรนด์การตลาดยุคของแพงแต่ค่าแรงต่ำ ไม่เน้นซื้อใหม่แต่เน้นใช้ประโยชน์ให้คุ้มเงินทุกบาทครับ

เจ้าของเพจการตลาดวันละตอน / อาจารย์พิเศษวิชา Data-Driven Communication / เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่ม Personalized Marketing, Data-Driven Marketing, Data Thinking, Contextual Marketing และ Social Listening / ที่ปรึกษา Data-Driven Advisor

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *