รวม 10 Retail Marketing Trends 2025-2026 เทรนด์การตลาดรีเทล ร้านค้า หน้าร้าน ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ยุค AI จากรายงาน VML

10 Retail Marketing Trends 2025-2026 รวมเทรนด์ร้านค้า ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต

รวม 10 Retail & Store Trends 2025-2026 เทรนด์การออกแบบร้านค้า การจัดร้าน การสร้าง Customer Experience แบบไหนอย่างไรของห้างสรรพสินค้าจากรายงาน The Future 100 ของ VML สำหรับเพื่อนๆ นักการตลาดที่อยู่ในธุรกิจที่มีหน้าร้านให้เอาไปต่อยอดประยุกต์ใช้กันครับ

1. Awesperiential Retial ตะลึงพึงช้อป

การทำร้านค้าห้างสรรพสินค้าสมัยนี้จะทำแค่ให้มีร้านเยอะๆ ขนาดใหญ่ๆ แอร์เย็นๆ ทางเดินกว้างๆ เดินทางสะดวก หรือที่จอดรถเยอะๆ ไม่พออีกต่อไป เพราะการแข่งขันในกลุ่มธุรกิจ Retial นั้นสูงมาก ในวันที่อะไรๆ ก็สามารถหาซื้อออนไลน์ได้ง่าย แถมยังราคาถูกกว่า บางอย่างส่งเร็วกว่าขับรถไปวนหาที่จอดเองด้วยซ้ำ ร้านค้า ห้างร้าน จึงต้องออกแบบประสบการณ์ให้ผู้คนรู้สึกอยากขับรถไปหา เดินเข้าไปดู จึงเป็นที่มาของเทรนด์ที่ 1 Awesperiential Retail

Awesperiential มาจากคำว่า Awesome + Inspiration เดิมทีเราใช้แค่คำว่าห้างที่ Inspired ให้คนเดินเกิดแรงบันดาลใจ แต่วันนี้เราต้องเพิ่มความตื่นตาตื่นใจตื่นเต้นอย่างคำว่า Awesome เข้าไปให้คนรู้สึกตะลึงจนอยากเข้ามา

เพราะผู้คนวันนี้โหยหาประสบการณ์ความแปลกใหม่เพื่อหลบหนีจากโลกที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบ เคร่งเครียด น่าเบื่อมากขึ้นทุกวัน พวกเขาอยากเข้าไปจับ สัมผัส เพื่อเก็บประสบการณ์ จากรายงานของ VML ก็บอกว่ากว่า 85% ของผู้คนอยากไปช้อปที่ร้านเพราะอยากได้ประสบการณ์ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ที่ออนไลน์ให้ไม่ได้

และกว่า 84% ก็ยังบอกว่าการเดินช้อปด้วยตัวเองที่ร้านทำให้เกิดความอยากที่จะช้อปมากขึ้น

เราจะเห็นได้ว่าคนไม่ได้แค่มาจับจ่ายใช้สอยใช้เงินเมื่อมาที่ร้านค้า หรือห้างสรรพสินค้าอีกต่อไป แต่คนมาเพื่อได้รับประสบการณ์หรือความรู้สึกอะไรสักอย่างกลับไป การใช้เงินคือผลพลอยได้จากความพึงพอใจที่ร้านหรือแบรนด์นั้นมีให้ครับ

Photo: https://www.designboom.com/design/gentle-monster-shenzhen-store-sculptures-sleeping-human-bisons-faces-haus-nowhere-09-09-2024/

ซึ่งการออกแบบหน้าร้าน Retial ห้างสรรพสินค้าเหล่านี้ทางฝั่งเอเซียเราค่อนข้างเป็นผู้นำฝั่งตะวันตกเยอะมาก แบรนด์แว่นตาดังจากเกาหลีอย่าง Gentle Monster ก็ได้ออกแบบร้านค้าใหม่ให้เข้ากับโปรเจคใหม่ที่มีชื่อว่า Insect Kingdom ที่ Haus Nowhere Shenzhen ที่ถ่ายทอดเรื่องราวเหนือจินตนาการเหมือนหลุดเข้าไปอยู่อีกจักรวาล

Photo: https://sybarite.com/work/skp-wuhan/

ห้างสรรพสินค้า SKP ที่จีนในเมืองอู่ฮั่นก็ได้มีการตกแต่งพื้นที่ภายในห้างใหม่ให้ดูว้าวจนคนต้องอยากมาเห็นกับตาตัวเอง ด้วยตีมโลก Sci-fi Earth 2124 ที่เต็มไปด้วยความแปลกตาแปลกใจ สำคัญคือใครเห็นผ่านโซเชียลก็ต้องอยากมาถ่ายรูปเก็บไปลงโซเชียลถ้วนหน้า

ส่วนประเทศไทยเองก็ไม่น้อยหน้านะครับ เพราะได้ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีห้างทั้งใหญ่และอลังการในระดับที่ต่างชาติมาเห็นต้องร้องว้าว

อย่างการเปิดตัวของ One Bangkok ก็เป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลกแม้คนไทยจะบอกว่าเดินแล้วโคตรงง แต่เอาจริงๆ ผมไปเดินมาก็ว่างงนิดหน่อยเอง ที่ศูนย์การค้าแห่งนี้มีร้านค้ามากกว่า 900 ร้าน กระจายอยู่ใน 3 โซนหลักที่ประกอบด้วย Parade, The Storeys และ Post 1928

ส่วนโซนร้านอาหารที่ชื่อว่า Food Loop ก็ประกอบด้วยร้านอาหารกว่า 250 ร้านทั้งน้อยใหญ่ผสมกันไป และพวกเขาก็ยังมี Art Loop เส้นทางแสดงงานศิลปะที่ยาวถึง 2 กิโลเมตร เอางานประติมากรรมระดับโลกอย่าง Anish Kapoor และ Tony Cragg มาจัดแสดงให้เราได้ตะลึงกับของจริง

ส่วนงานเปิดก็อลังการยิ่งกว่าดาวล้านดวง เพราะเอาหนึ่งในผู้อำนวยการพิธีเปิดโอลิมปิกปารีสมาจัดให้

ทำไมห้างหรือศูนย์การค้าถึงต้องจัดเต็มขนาดนี้ ? ก็เพราะ 74% ของผู้คนบอกว่าการมาช้อปปิ้งไม่ใช่แค่การซื้อของ แต่มันคือการมาผ่อนคลาย มาสนุก มาเก็บเกี่ยวประสบการณ์และภาพสวยๆ ไปลงโซเชียลมีเดีย ดังนั้นถ้ามาแล้วไม่สนุกไม่จอย ก็ไม่มีเหตุผลที่ต้องมา

ทุกวันนี้ศูนย์การค้าต่างเผชิญปัญหาคนเดินเยอะขึ้นหรือไม่ลดลง แต่การจับจ่ายใช้สอยซื้อของจริงๆ กลับลดลงอย่างเห็นได้ชัด ส่วนหนึ่งเพราะการเติบโตของการช้อปปิ้งออนไลน์ทั้งแบบ D2C และผ่าน Marketplace ต่างๆ ทำให้การซื้อของสักอย่างที่อยากได้จากที่ไหนก็ได้เป็นเรื่องง่าย บวกกับความรวดเร็วในการจัดส่ง ทำให้การเดินห้างหรือร้านค้าไม่ใช่เรื่องจำเป็นยกเว้นว่ามันจะให้ประสบการณ์ในแบบที่ออนไลน์ให้ไม่ได้จริงๆ

อย่างการมาถ่ายรูปลงโซเชียล การได้มาเห็นอะไรสักอย่างที่ว้าวจริงๆ

เมื่อการเข้าห้างสรรพสินค้า หรือศูนย์การค้าต่างๆ ไม่ใช่เรื่องจำเป็นอีกต่อไปสำหรับคนเมือง ถ้าอยากได้ของสักชิ้นบางทีสั่งออนไลน์ได้เร็วกว่าขับรถไปเองแล้วต้องวนหาที่จอด ไม่ต้องเบียดกับการเดินทางสาธารณะ แถมยังได้ราคาที่ถูกกว่าหน้าร้านด้วยซ้ำ

ดังนั้นศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า หรือร้านค้าต่างๆ ต้องรู้จักเทรนด์นี้แล้วเอาไปประยุกต์ใช้ให้ไว ในวันที่ผู้คนต้องการความสนุก ความตื่นเต้น และประสบการณ์แปลกใหม่ยิ่งกว่าเคย

ส่วนหนึ่งก็เพื่อจะได้มีคอนเทนต์ใหม่ๆ เอาไปโพสลงโซเชียลเรียกไลก์กัน คำถามสำคัญคือคุณจะออกแบบตกแต่งร้านอย่างไรให้ลูกค้าว้าวจนอยากเดินมาถ่ายรูปที่ร้านคุณได้

ถ้าทำได้นั่นหมายถึงโอกาสที่คุณจะได้ทำยอดขายมากกว่าเดิมครับ

2. Prudent Pricing ราคาที่ถูกใจคือราคาที่ถูกดี

ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำไม่ได้เป็นแค่ประเทศไทย แต่เป็นวิกฤตไปทั่วโลกแม้แต่ในประเทศที่เจริญแล้วอย่างยุโรป หรือสหรัฐอเมริกาเองก็ตาม ดูเหมือนว่าแนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังไม่มีวี่แววจะดีขึ้นในเร็ววัน หรือในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ทำให้ผู้คนจำนวนมากหันมาบริโภคสินค้าที่ราคาถูกลง แม้จะมีคุณภาพลดลงก็ตาม

นั่นเลยเป็นที่มาของเทรนด์นี้ แบรนด์ที่ดีคือแบรนด์ที่ขายในราคาที่ถูกใจ ในเมื่อเงินมีไม่เพิ่มแต่ค่าครองชีพเพิ่ม ถ้าแบรนด์ไหนสามารถตรึงราคาเดิมโดยไม่ลดคุณภาพหรือปริมาณ หรือถ้าแบรนด์ไหนสามารถขายในราคาที่ถูกลงได้ในช่วงนี้ จะสามารถได้ใจผู้บริโภคไปอีกหลายปี นี่คือกลยุทธ์การสร้างแบรนด์เลิฟด้วยราคาที่น่ารัก

วันนี้เมื่อถามผู้คนจำนวนมากว่ากังวลเรื่องอะไรมากที่สุด คำตอบอันดับหนึ่งคือ “ค่าครองชีพ” ในสหรัฐอเมริกาเองก็เริ่มมีกลุ่มนักช้อปที่เรียกว่า Treasure Hunter โตขึ้นอย่างมาก

กลุ่มนี้คือพวกตระเวนช้อปไปทั่วไม่จบในร้านหรือห้างเดียว เพราะต้องการตระเวนหาของที่ถูกที่สุดจริงๆ แม้จะประหยัดเพิ่มขึ้นแค่เล็กน้อยแต่เสียเวลามากสักหน่อย ก็ยังเป็นอะไรที่รู้สึกคุ้มค่ากว่าของพวกเขาเหล่านี้

จากรายงานของ VML บอกว่าผู้คนเฉลี่ยซื้อของจาก 20 ร้าน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ที่ 16 ร้านเท่านั้น (ช้อปเก่งเหมือนกันนะ) ซึ่งนั่นก็ทำให้ศูนย์การค้าที่เน้นขายของถูกอย่าง Walmart ยิ่งได้ประโยชน์มากขึ้นเพราะพวกเขาขายได้ถูกแบบเหลือเชื่อจริงๆ

แต่การที่ห้างสรรพสินค้าหรือซูเปอร์มาร์เก็ตไหนจะทำแบบนี้ได้ ต้องมาจากทั้ง Ecosystem หรือทั้ง Supply chain ที่ทำให้ต้นทุนรวมทั้งหมดประหยัดลงได้มากพอจนสามารถที่จะขายได้ถูกกว่าคนอื่นจริงๆ

เว็บช้อปปิ้งออนไลน์ชื่อดังในอเมริกาอย่าง Amazon.com ก็ได้เปิดตัว Amazon Haul เวอร์ชั่นเบต้าบนแอป เป็นที่รวบรวมสินค้าราคาไม่เกิน 20 ดอลลาร์เอาไว้กว่า 300 ล้านรายการให้คนหาของถูกได้เลือกช้อป

KFC ก็ได้เปิดตัวแคมเปญการตลาดเอาใจสายรักของถูกอย่าง KFCurrency ให้ลูกค้าได้จ่ายค่าอาหารด้วยเงินปลอมๆ ไม่ว่าจะเป็นแบงค์กาโม่ หรือเหรียญจากเกมกระดาน ทั้งหมดนี้ก็เพื่อสร้าง Brand Awareness ให้คนได้รับรู้ว่าถ้าเงินน้อยแต่อยากกินของอร่อยก็ให้เดินเข้า KFC เถอะ

หรืออย่างแบรนด์ดัง Odinary ก็ได้เปิดตัวแคมเปญ Choose a Price เลือกจ่ายในราคาที่สะดวกใจตั้งแต่ราคาปกติ ราคาลด และราคาที่ลดหนักมาก โดยเปิดให้ลูกค้าได้จ่ายตามกำลังความสามารถ โดยแบรนด์ก็ย้ำว่าแบรนด์จะอยู่ได้ก็ต่อเมื่อลูกค้าจ่ายอย่างจริงใจกับแบรนด์

เพราะถ้าทุกคนเลือกส่วนลดสุด สุดท้ายแคมเปญนี้ก็จะอยู่ไม่ได้ในระยะยาว

ห้างสรรพสินค้าที่ขายของราคาถูกอย่าง Penny ก็ได้ประกาศว่าตัวเองจะตรึงราคาสินค้าให้ได้นานที่สุด เพื่อช่วยเหล่าลูกค้าให้สามารถผ่านวิกฤตค่าครองชีพแพงไปด้วยกัน บางแบรนด์ก็ออกมาทำป้ายราคาใหม่ด้วยการบอกว่าจะคงราคาขายนี้ไปอีกนาน มั่นใจได้ว่าจะไม่ปรับขึ้นราคาสินค้าหรือแอบลดปริมาณลงในเร็วๆ นี้แน่นอน

และเทรนด์นี้ก็ไม่ได้มาจากแค่กลุ่มคนปานกลางไปจนถึงคนรายได้น้อยเท่านั้น เพราะกลุ่มคนรายได้ค่อนข้างดีก็ยังหันมาซื้อสินค้าที่ถูกลง สะท้อนผ่านรายได้ของห้าง Walmart ที่โตเอาโตเอาสวนกระแสชาวบ้าน

เพราะแนวโน้มเศรษฐกิจทั่วโลกทุกวันนี้ทำให้คนส่วนใหญ่เชื่อว่ามันจะยังคงซบเซาต่อไปอีกนาน มีแค่ 10% เท่านั้นที่เชื่อว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นในเร็ววัน

Photo: https://corporate.lotuss.com/en/news/corporate/164-en/

ตัวอย่างในบ้านเราก็เคยมีแคมเปญจาก Tesco เมื่อไม่กี่ปีก่อนทีจับมือกับคู่ค้าที่วางขายภายในศูนย์การค้ากว่า 50 แบรนด์ในการลดและตรึงราคาในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ

ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ลามมาถึงเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่เลือกที่จะลดการใช้เงินลง จากที่เคยจ่ายเพื่อของดี กลายเป็นยอมลดทั้งคุณค่า และแบรนด์ลงเพื่อให้ชีวิตไปต่อได้

สินค้าที่จะขายได้นับจากนี้ไปจะเป็นของที่ราคาถูกมากๆ ดังนั้นแบรนด์ที่ดีในในลูกค้าจำนวนมาก คือแบรนด์ที่ตั้งราคาได้ถูกดีจึงเป็นเหตุให้ถูกใจ

หาสินค้าราคาถูกมาขายเยอะๆ ตรึงราคาเดิมโดยไม่ลดปริมาณให้นานๆ อย่าแอบลดปริมาณลงโดยไม่แจ้งล่วงหน้า เพราะเท่ากับว่าคุณกำลังเอาชื่อเสียงแบรนด์ที่ลงทุนสร้างมายาวนานไปเสี่ยงกับกำไรระยะสั้นครับ

3. Ethereal Retail ล้ำลึกหลุด

เดิมการออกแบบรีเทล หน้าร้าน ห้าง หรือศูนย์การค้าชอบคิดว่าจะต้องมินิมอล จะต้องเรียบหรูดูดี แต่ทุกวันนี้มันไม่จริงอีกต่อไป เพราะอย่างที่เกริ่นมาตั้งแต่ต้นว่าผู้คนมองหาประสบการณ์แปลกใหม่ที่หาไม่ได้ในชีวิตประจำวันทั่วไป

ถ้าอยากมินิมอลหรอ เดินเข้าร้าน Apple ซิ หรือเดินเข้าร้านกาแฟเก๋ๆ ทั่วไปก็ได้ วันนี้ผู้คนเลยมองหาการตกแต่งออกแบบที่ทั้งล้ำจินตนาการ ลึกด้วยคอนเซปไอเดียที่ชวนว้าว หลุดเสมือนอยู่ในสถานที่ที่ไม่อาจไปได้โดยง่าย แต่ทั้งหมดคือสามารถเข้ามาสัมผัส เห็น จับ หรือถ่ายรูปลงโซเชียลได้ด้วยการไปศูนย์การค้าที่ตกแต่งเข้ากับเทรนด์ Ethereal Retail ล้ำล้นหลุดโลกแบบนี้

ตัวอย่างที่ศูนย์การค้าสยามพารากอนของบ้านเราเองก็ได้มีการสร้างหลุมวงแหวนขนาดมหึมาขั้นมาอยู่ด้านบนห้าง จำลองบรรยากาศแสงเหนือ Aurora ของศิลปินชาวฝรั่งเศสที่มีชื่อว่า Pascal Dombis

ความน่าทึ่งของประติมากรรมชิ้นนี้คือมันทำมาจากแผงเลนติกิวลาร์ 24 ชิ้น จัดเรียงเป็นวงกลมทำให้เกิดภาพลวงตามองเห็นเป็นแสงระยิบระยับเสมือนกำลังดูแสงเหนือจริงๆ

Photo: https://hudsonriverpark.org/neighborhoods/meatpacking-district/

ที่เมือง Newyork เองก็มีการสร้างพื้นที่ใหม่ที่มีชื่อว่า Meatpacking District ขึ้นมาโดยมีพื้นที่ไลฟ์สไตล์ที่มีชื่อว่า Oases ประกอบด้วย 5 โซนหลักตั้งแต่ คาเฟ่ บาร์ ร้านอาหาร สวนสนามหญ้าสีเขียว และร้านค้ช้อปปิ้ง

ถ้าดูจากดีไซน์จะเห็นว่ามีความแปลก ประหลาด ไม่เหมือนพื้นที่ไหนๆ ที่เคยเห็นมา เค้าใช้รูปทรงโค้งมนอ่อนหวาน ร้านค้าที่เข้ามาวางขายก็คัดอย่างเข้มข้นว่าต้องพิเศษจริงๆ และก็มีกิจกรรมด้านสุขภาพในพื้นที่นี้ให้คนได้เข้าร่วมด้วย

ฉะนั้นตามคอนเซปของ Oases ที่ล้อกับคำว่า Oasis คือพื้นที่เขียวชอุ่มตลอดกาล ให้คนเมืองสามารถหลบหนีจากป่าคอนกรีตแข็งทื่อไร้ชีวิตชีวา มาสู่พื้นที่เยียวยาและฮีลใจหลังเลิกงานและวันหยุดครับ

มาดูการออกแบบ Retail ภายใต้เทรนด์ Ethereal Retail ล้ำล้นหลุดโลก กันอีกนิดนึงครับกับงาน Illustration ของแบรนด์ Johnnie Walker ที่มีชื่อว่า Liquid Light ที่ใช้งานเป่าแก้วให้เป็นรูปทรงหยดน้ำหลากหลายขนาด จากนั้นก็เอามาแขวนไว้ในห้องที่มีบรรยากาศสลัวๆ

แล้วก็ออกแบบให้แสงเคลื่อนไหวสาดผ่านหยดแก้วเหล่านั้นเพื่อสร้างบรรยากาศเงาเลือนลางเสมือนความฝัน แล้วก็มีการใช้ดนตรีประกอบเพื่อทำให้คนที่อยู่ในห้องนั้นได้รู้สึกเสมือนตกอยู่ในภวังค์ เรียกว่าให้รู้สึกเหมือนอยู่ในความฝันในโลกความจริง

แล้วลองคิดภาพว่าถ้าดื่ม Johnnie Walker ไปด้วยเนี่ยไม่รู้ว่ากำลังเมาเหล้า เมาแสง หรือว่าเมาความฝฝันกันแน่นะครับ

เพราะชีวิตธรรมดามันน่าเบื่อ โดยเฉพาะชีวิตในเมืองที่เต็มไปด้วยรูปแบบเดิมๆ ที่เดาได้ ผู้คนเลยมองหาประสบการณ์จากร้านค้า หรือศูนย์การค้าที่พิเศษยิ่งขึ้นกว่าเดิม ถ้าอยากให้คนเดินเข้ามาหาแบรนด์เรามากขึ้น ก็ต้องออกแบบรีเทลเราให้ ล้ำ ลึก และหลุด

ถ้าทำได้นั่นหมายถึงโอกาสที่จะได้ทั้ง Free PR จากคนที่มาแช้วแชร์ลงโซเชียล และโอกาสปิดการขายที่มากขึ้นตามครับ

4. Mid-Life Consumerism มิดไลฟ์มิลเลนเนียล

เมื่อผู้บริโภคเจนมิลเลนเนียลหรือที่เราคุ้นกันในนาม Gen Y กลุ่มคนที่เคยเป็นวัยรุ่นคนหนุ่มสาววันวาน ณ วันนี้พวกเขากลายเป็นผู้บริโภควัยกลางคนเลข 4 เรียบร้อยแล้ว

นั่นหมายความว่าอย่างแรกพวกเขามีกำลังซื้อมากขึ้นจากรายได้ที่สูงขึ้นตามวัย ในขณะเดียวกันพวกเขาก็มีสภาพร่างกายและเงื่อนไขความต้องการที่เปลี่ยนไป ซึ่งยังหาแบรนด์ร้านค้า และศูนย์การค้าที่เข้าใจพวกเขาได้ดีพอไม่ค่อยเจอสักเท่าไหร่ในวันนี้

Mid-Life Millennial ชอบใช้เงินกับ คุณค่า สุขภาพ และประสบการณ์ มากที่สุด ถ้าสังเกตดีๆ จำเห็นว่า คุณค่า และประสบการณ์คือสองสิ่งหลักที่เรารู้มาว่า Gen Y ให้ความสำคัญอย่างมาก แต่พอถึงวัยกลางคนก็เริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องของสุขภาพเพิ่มขึ้นมา เพราะ 88% ของคนกลุ่มนี้เชื่อว่าแต่ละคนควรรับผิดชอบต่อสุขภาพของตัวเองให้มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ยังให้ความสำคัญกับ Experience มากกว่าการสะสมข้าวของเหมือนคน Gen X รุ่นก่อนหน้า

จากรายงานของ VML คาดการณ์ว่ากลุ่ม Mid-Life Millennial กำลังจะครองส่วนแบ่งกำลังซื้อของทั้งโลกมากถึง 22.5% ใกล้เคียงกับ Gen X ที่ 23.5%

และความน่าสนใจคือแม้พวกเขาเหล่านี้ล้วนก้าวเข้าสู่วัยกลางคนกันหมดแล้ว แต่กลับไม่สามารถจะอยู่ในวิกฤตวัยกลางคนเหมือนคนเจนก่อนหน้าได้ เพราะพวกเขาไม่มีเงินพอจะมีวิกฤต เรียกได้ว่าลำพังหาเลี้ยงตัวเองให้สบายยังลำบาก แล้วจะเอาเวลาที่ไหนไปเครียดเรื่องวิกฤตวัยกลางคนหละ!!

ดังนั้นพวกเขายังคงเลือกใช้เงินกับสิ่งที่คิดว่า “คุ้มค่า” หรือ “ได้เกินราคา” อยู่เป็นอันดับหนึ่ง จะให้มาฟุ่มเฟือยโดยไม่คิดหน้าคิดหลังให้ดีลืมไปได้เลย ถ้าเป็นของดีคนกลุ่มนี้ยอมจ่ายแม้ว่าราคาจะสูงกว่าทั่วไปสักหน่อย แต่ก็ไม่ใช่ตั้งราคาสูงเวอร์จนพวกเขารู้สึกว่าไร้สาระ

แถมพวกเขายังเป็น Subscription Generation หรือจะเรียกว่าเป็น “เจนสายซัพ” เพราะจากข้อมูลของ Bango บอกว่าคนกลุ่มนี้สมัครสมาชิกนั่นโน่นนี่เยอะแยะมาก อยู่ที่ราวๆ 6-11 รายการต่อคน

มานั่งนึกๆ ดูอย่างตัวผมเองว่าสมัครสมาชิกรายเดือนอะไรบ้าง

  1. Netflix
  2. Disney Plus
  3. YouTube Premium
  4. Tesla Premium
  5. Google Suite
  6. ChatGPT Plus
  7. Canva
  8. Gmail
  9. Apple iCloud
  10. Cloudflare
  11. Cloudways
  12. Zoom
  13. Login

รู้แบบนี้แล้วไม่แปลกใจเลยว่าเงินหายไปไหนหมดแต่ละเดือน 555

และจากนิสัยชอบซัพบริการต่างๆ ของ Gen Y ทำให้เกิดบริการ Subscription รูปแบบใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อพวกเขากลุ่มนี้โดยเฉพาะ ตั้งแต่ AllSaints บริการสมัครสมาชิกแล้วได้รับเสื้อผ้าคอลเลคชั่นใหม่ๆ ส่งถึงบ้านให้ประจำแบบรายเดือน เดือนละ 100 ดอลลาร์

ความน่าสนใจอีกข้อคือคนเจนนี้ทุ่มเทกับสุขภาพมากกว่าคนเจนก่อน เพราะคาดหวังว่าตัวเองจะมีอายุอยู่ได้ถึง 100 ปีกว่า 77% กลุ่มธุรกิจเพื่อทำให้อยู่ยืนยาวต้องเตรียมตัวตั้งแต่วันนี้แล้วหละ

ส่วนกลุ่มผู้หญิงมิลเลนเนียลเดิมก็เริ่มเข้าสู่วัยทอง หรือวัยหมดประจำเดือนมากขึ้น ทำให้แบรนด์สุขภาพ ความสวยความงาม แฟชั่นดรไซน์นั้นกล้าสื่อสารตรงไปตรงมากับความต้องการใหม่ๆ ไม่ได้มองเป็นเรื่องน่าอายที่จะยอมรับว่าตัวเองอายุเยอะขึ้นแบบสมัยก่อนอีกต่อไป

NNABI บริษัทสตาร์ทอัปสัญชาติสหรัฐอเมริกาก็ประกาศว่าตัวเองจะเป็นบริษัทแรกที่ทุ่มเทให้กลุ่ม Perimenopause วัยเริ่มต้นหมดประจำเดือนมากขึ้น ลบภาพจำว่าเป็นเรื่องน่าอายอีกต่อไป

ทำให้ผู้หญิงกลุ่มนี้กล้าพูดสิ่งที่เปลี่ยนไปในร่างกายและความต้องการของตัวเองมากขึ้น เป็นเรื่องปกติที่ทุกคนต้องเจอ ไม่ใช่เรื่องที่จะเอามาล้อเลียนหรือดูแปลกแต่อย่างไร

เรื่องวัยทอง วัยกลางคนไม่ได้มีแค่ในผู้หญิง แต่ในผู้ชายก็มีเหมือนกันครับ และก็มีบริษัท Startup ที่เกิดมาเพื่อแก้ Painpoint นี้อย่างตรงไปตรงมา

Photo: https://tech.eu/2021/03/30/london-based-mens-health-platform-manual-raises-30-million-in-series-a/

สำหรับผู้ชายวัยทองหรือที่เรียกเท่ห์ๆ ว่า Andropause มีแบรนด์ Manual จากอังกฤษได้ผลิตชุดตรวจฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนแบบทดสอบเองที่บ้านได้ เพื่อจะได้ให้กลุ่มเป้าหมายผู้ชายวัยกลางคนได้ติดตามระดับฮอร์โมนของตัวเองที่อาจลดลงตามวัย และเมื่อไหร่ที่ลดลงถึงจุดที่ต้องรักษาก็จะส่งให้เข้ารับบริการรักษาด้วยแคปซูล Testosterone Support ที่ได้ผลเร็วกว่าแบบฉีด และแบบกิน ทั้งหมดดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์อย่างใกล้ชิดครับ

นอกจากกลุ่ม Mid-Life Millennials จะทุ่มเทให้กับสุขภาพตัวเองอย่างเต็มที่ พวกเขายังทุ่มเงินให้กับลูกมากขึ้นไปอีก ทำให้แบรนด์ต่างๆ เริ่มสร้างธุรกิจใหม่ๆ เพื่อตอบความต้องการตรงนี้อย่างแบรนด์อาหารสุขภาพ Brainiac Foods ได้เปิดตัวอาหารทารกแบบซอง Neuro+ ที่เพื่อเสริมพัฒนาการทางสมองของลูกน้อยโดยเฉพาะ

โอ้โห อาหารเสริมทารกก็มา!!

เพราะคาดการณ์ว่าตลาดสินค้ากลุ่มผ้าอ้อม สกินแคร์ ไปจนถึงอาหารและแฟชั่นที่เกี่ยวกับทารกจะมีมูลค่าเกือบ 240,000 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นเงินไทยก็เกือบๆ 8 ล้านล้านบาทตั้งแต่ปี 2024 และก็คาดว่าในปี 2032 จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว เรียกได้ว่าใครมือยาวพร้อมลุยก่อนก็น่าจะกินส่วนแบ่งได้ตั้งแต่ก่อนเค้กตลาดก้อนนี้จะโตครับ

จากวัยรุ่นวันวานไม่กี่สิบปีก่อน มาวันนี้พวกเขากลายเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว พวกเขากลายเป็นวัยกลางคนก็มาก แม้ในใจลึกๆ พวกเขาจะยังคงเป็นกลุ่มคนที่ทันสมัยและพร้อมเปิดใจลองอะไรแปลกใหม่มากๆ ในขณะเดียวกันด้วยเงื่อนไขของสภาพร่างกายและครอบครัวก็ทำให้พวกเขาใช้ชีวิตไม่ได้ดั่งใจขนาดนั้น

พวกเขากำลังก้าวเข้าสู่ช่วงชีวิตใหม่ที่เรียกว่า “วัยกลางคน” การใช้เงินก็จะปรับเปลี่ยนไปตามช่วงชีวิตที่ว่ามา ตั้งแต่ชอบการสมัครสมาชิกแอปหรือเว็บต่างๆ ที่เรียกว่า Subscriber Generation ก็ไม่ผิดนัก ไปจนถึงหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพ แต่ก็ยังคงไม่ลืมเน้นความสำคัญกับเรื่องประสบการณ์มากกว่าเจนเอ็กซ์ก่อนหน้าอย่างเห็นได้ชัด

แบรนด์สุขภาพต้องปรับตัวตามพวกเขาให้ทัน พวกเขาอยากดูสุขภาพดีแบบยังคงทันสมัย ไม่ดูแก่ แบรนด์ที่โตมาพร้อมกับพวกเขาตั้งแต่สมัยวัยรุ่นก็ต้องพร้อมปรับวิธีสื่อสารและทำการตลาดให้ตรงกับจริตและเงื่อนไขในชีวิตพวกเขามากขึ้น

รู้ก่อนปรับตัวก่อน ว่าเราจะดูแลวัยรุ่น 40+ อย่างไรในปี 2026 เป็นต้นไปครับ

5. Stressed Shelves สงครามชิงชั้น(วาง) ระหว่างแบรนด์ดังกับเฮ้าส์แบรนด์

เบื้องหน้าชั้นวางสินค้าขายของในซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วโลกที่ดูไม่มีอะไร แท้จริงแล้วเบื้องหลังนั้นแก่งแย่งแข่งขันกันสูงมาก โดยเฉพาะระหว่างสินค้าจากแบรนด์ดังกับเฮ้าส์แบรนด์ของซูเปอร์มาร์เก็ตเอง

จากปัญหาข้าวยากหมากแพงเศรษฐกิจตกต่ำบวกกับค่าครองชีพสูงขึ้นทุกวันโดยเงินเดือนเพิ่มตามไม่ทัน ทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากหันมาลดเกรดสินค้าที่เคยซื้อ เปลี่ยนจากการซื้อแบรนด์ดัง แบรนด์ที่คุ้นเคยมานานเหลือแค่เฮ้าส์แบรนด์ของซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นจำนวนมาก นี่คือยุคที่ Consumer Product Good แบรนด์ใหญ่ๆ ต้องมาแก่งแย่งแข่งขันเพื่อชิงชั้นวางขายกับเจ้าของพื้นที่ที่ตัวเองก็ต้องเสียค่า GP ให้

House Brand คือแบรนด์สินค้าผู้บริโภคที่ไม่ค่อยคุ้นหู ไม่เคยเห็นโฆษณา แต่กลับมาวางขายในทุกห้าง ทุกซูเปอร์มาร์เก็ตเพราะมันคือแบรนด์ของตัวห้างเองที่เน้นทำให้ใกล้เคียงกับแบรนด์ดัง วางไว้ข้างๆ กัน แล้วก็แอบขายให้ถูกกว่านิดนึงเพราะไม่ต้องเสียค่าวางหรือค่า GP ให้ตัวเอง

ทางศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้าเองก็เน้นผลักดันสินค้าแบรนด์ตัวเองมากกว่าเดิม บางที่ก็ใช้กลยุทธ์ทำแบรนด์ใหม่ให้คนไม่รู้สึกว่าเป็นแบรนด์ของห้าง หรือของซูเปอร์มาร์เก็ตเอง เหมือนอย่างที่เห็นสินค้ามากมายในร้านสะดวกซื้อบ้านเราแต่แท้จริงแล้วกลับเป็นสินค้าจากธุรกิจในเครือร้านสะดวกซื้อเอง ดูเหมือนการสร้างทางเลือกให้ผู้บริโภครู้สึกว่าได้เลือก แต่แท้จริงแล้วเราไม่ได้มีสิทธิ์เลือกใดๆ เลย

และหนึ่งในข้อได้เปรียบที่ร้านค้าเจ้าของพื้นที่ทำได้ก็คือ Data เพราะทุกครั้งที่ผู้บริโภคอย่างเราซื้อพวกเขาเก็บ Data การซื้อเราตลอดผ่านระบบสมาชิก Member Card ทำให้พวกเขาสามารถวิเคราะห์ต่อยอดหา Insight ได้ว่า Feature หรือ Function แบบไหนจากสินค้าแต่ละชนิดที่ผู้บริโภคอย่างเราให้ความสำคัญมากที่สุด จากนั้นก็เอาไปต่อยอดเป็นสินค้าที่ตรงกับใจเราโดยไม่รู้ตัวมาวางขายแทนสินค้าเดิม

เรื่องนี้บอกให้รู้ว่าเจ้าของแบรนด์ต้องหันมาเก็บ Customer Data ให้มากเพราะถ้าเราวางขายผ่านคนอื่นเราจะไม่มีทางรู้เลยว่าลูกค้าที่แท้จริงของเราเป็นใคร และเราจะทำการตลาดกลับไปหาเค้าอย่างไรได้บ้าง

จากรายงานของ Mintel บอกว่าช่วงต้นปี 2024 นั้นมีการเปิดตัวของสินค้ากลุ่ม Consumer Product แค่ 35% เท่านั้น นับว่าน้อยสุดที่เคยเก็บข้อมูลมาตั้งแต่ปี 1996 ข้อมูลนี้สะท้อนว่าสินค้าผู้บริโภคนับจากนี้ไปอาจจะเห็นนวัตกรรมอะไรใหม่ๆ ได้ยากมาก ส่วนใหญ่จะเป็นแค่การต่อยอดจากสินค้าเดิมเล็กๆ น้อยๆ แทบไม่เจออะไรที่ใหม่พอจะสร้างอิมแพคได้จริงๆ

ทั้งนี้เพราะทางบริษัทของแบรนด์ต่างๆ เองก็ลดต้นทุนในทุกด้านเพื่อสู้กับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ตั้งแต่ต้นทุนที่สูงขึ้น วัตถุดิบก็หายากขึ้น การลดทีมงาน เมื่อต้นทุนการทำธุรกิจต้องลดลงก็เลยส่งผลให้ไม่ค่อยมีสินค้าใหม่ๆ เปิดตัว บวกกับผู้บริโภคอย่างเราๆ เองก็เข้มขึ้น เคี่ยวขึ้น เฝ้าจับตาทุกโพสจากแบรนด์ว่าใหม่จริงหรือลักไก่ ยิ่งส่งผลให้ทางแบรนด์เองก็กลัวจะทำอะไรผิดพลาด จนเลือกที่จะไม่ทำเพราะกลัวว่าทำไปก็แค่เสมอตัว แต่ถ้าพลาดมาอาจล้มทั้งยืนได้เลย

ถ้าสินค้าใหม่ไม่คลอดออกมานับจากนี้ไป แล้วแบรนด์ใหญ่ๆ จะมีกลยุทธ์อย่างไรในช่วงนี้ ?

นั่นก็คือการเน้นสื่อสารเรื่อง Value Proposition กันหนักขึ้น ท่ามกลางของเลียนแบบมากมายเต็มชั้นวางสินค้า การเลือกของแท้ดั้งเดิมจากแบรนด์แรกที่สร้างขึ้นมาคือตัวเลขที่ฉลาดกว่า แม้ราคาจะสูงกว่าเล็กน้อย

อย่างไอศกรีม Magnum เองที่ถูกทำสินค้าเลียนแบบวางขายเต็มตู้แช่ไอศกรีมไปหมดก็ออกแบแคมเปญการตลาดที่มีชื่อว่า Stick to the Original เพื่อตอกย้ำว่าของแท้ยังไงก็ดีกว่า ถ้าอยากอร่อยฟินๆ เลือกกินไอศกรีมแม็กนั่มแท้ๆ เถอะ ชีวิตเฟคๆ สินค้าเฟคๆ ไม่ใช่คำตอบที่ถูกของชีวิตหรอก

และอีกกลยุทธ์หนึ่งคือการใช้ Generative AI เข้าช่วยในการทำ R&D เพื่อพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ออกมาให้เร็วขึ้น ไวขึ้น จากเดิมต้องใช้เวลานานคิดเยอะทำเยอะ กลายเป็นแค่คิดเยอะแต่ทำน้อย เพราะให้ AI ช่วยทำต้นแบบออกมาเยอะๆ หรือจะเป็นการเบรนสตอร์มกับ AI ก็ตาม

ดูเหมือนผู้บริโภคจำนวนมากยังคงต้องอยู่กับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำค่าครองชีพแพงไปอีกนาน ทำให้พวกเขาหันมาซื้อสินค้าที่ถูกลง ยอมลดเกรดคุณภาพ ยอมเลิกซื้อแบรนด์ที่ตัวเองรักมานาน และทางศูนย์การค้า ซูเปอร์มาร์เก็ตเจ้าของพื้นที่เองก็ใช้ความได้เปรียบทางด้านต้นทุนที่ไม่ต้องเสียค่า GP ให้ตัวเอง บวกกับใช้ Customer Data ที่เก็บมายาวนานและมีจำนวนมหาศาลในการวิเคราะห์หา Product Insight ว่าผู้คนต้องการสินค้าแบบไหน คุณสมบัติอะไร

จากจุดนี้คงเห็นแล้วว่าการเปลี่ยนช่องทางการขายมาสู่ D2C Direct to Consumer เป็นหนึ่งในทางรอดหลักของธุรกิจ Consumer Product นับจากนี้ไป บวกกับการสื่อสารเรื่อง Brand Value จะเป็นอาวุธสำคัญให้คนรู้ว่าทำไมต้องเลือกเรา ราคาที่ถูกกว่าไม่ใช่ตัวเลือกที่ถูกที่สุดเสมอไปครับ

6. Adaptive Fashion Goes Mainstream สบาย is new สไตล์

ดูเหมือนเทรนด์การช้อปปิ้งซื้อเสื้อผ้าในห้างสรรพสินค้า หรือศูนย์การค้านับจากนี้ไปจะเน้นเสื้อผ้าที่สวมใส่สบาย ใส่แล้วใช้ชีวิตประจำวันง่ายมากกว่าความสวยงาม เลยเป็นที่มาของคำว่า “สบาย is new สไตล์” ที่ผมนิยามไว้ ถ้าอยากรู้ว่าผู้คนต้องการเสื้อผ้าที่สบายขนาดไหน อ่านต่อได้เลยครับ

เดิมทีเสื้อผ้าประเภทใส่ง่ายๆ สบายๆ อย่างกางเกงยางยืด เสื้อที่ดูโคร่งๆ กางเกงในที่สามารถใส่กระเป๋าน้ำร้อนได้จะถูกซ่อนหรือซุกเอาไว้ด้านหลังๆ ตามชั้นวางของ ไม่มีหยิบขึ้นมาโชว์ก่อนที่ลูกค้าจะเอ่ยปากถาม

ในแง่หนึ่งเราเคยเชื่อกันว่าเสื้อผ้าเหล่านี้มันไม่สวย มันไม่มีสไตล์ มันดูเชย ดูแก่ ดูโบราณ แต่ในความเป็นจริงดูเหมือนว่าโลกทุกวันนี้จะอยากได้เสื้อผ้าที่ใส่สบายมาก่อนความสวยงาม หรือถ้าสบายแล้วสวยได้จะยิ่งมีโอกาสทำเงินได้มากครับ

ส่วนหนึ่งเพราะผู้บริโภคในโลกนี้ล้วนมีอายุเยอะขึ้น และก็อายุยืนขึ้นอีกด้วย นั่นหมายความว่ากลุ่มลูกค้าวัยกลางคนขึ้นไปจนถึงวัยสูงอายุจะยิ่งมีมากขึ้นทุกวัน และจากเงื่อนไขของร่างกายที่พวกเขาอาจขยับได้ไม่คล่องแคล่วสมัยเป็นหนุ่มสาวที่เพิ่มเข้ามา ก็ทำให้พวกเขามองหาเสื้อผ้าที่สวมใส่ได้สบายขึ้น โดยยอมลดความสวยงามลงไป หรืออันที่จริงอาจต้องใช้คำว่ามันไม่มีที่ใส่สบายและสวยสักเท่าไหร่ทุกวันนี้

Photo: https://corporate.marksandspencer.com/media/press-releases/ms-becomes-first-uk-high-street-retailer-introduce-range-stoma-knickers

อย่าง Marks & Spencer และ Anthropologie ต่างก็เปิดตัวเสื้อผ้าคอลเลคชั่นใหม่ที่เน้นการสวมใส่สบายขึ้นอย่างมาก หรือจะเรียกว่าจับตลาดลูกค้าเฉพาะกลุ่มที่เน้นฟังก์ชั่นการใช้งานเป็นหลัก แล้วจึงมาทำให้สวยเข้าสมัยแทน

อย่าง Marks & Spencer ก็วางขายกางเกงชั้นในผู้หญิงที่สามารถใส่ถุงน้ำร้อนเวลาประจำเดือนเป็นสินค้าหลัก ผลคือยอดขายดีมากซึ่งไอเดียกางเกงในแบบนี้ก็มาจากพนักงานคนหนึ่งของแบรนด์เอง

Photo: https://www.anthropologie.com/stories-adaptive-fashion-for-everyone

ต้องบอกว่าเดิมทีเสื้อผ้าที่เป็น Adaptive Clothing นี้จะทำมาเพื่อกลุ่มผู้พิการหรือสูงวัยเป็นหลัก เพราะพวกเขามีปัญหาเรื่องการใส่เสื้อผ้าแบบคนส่วนใหญ่ทั่วไป ตั้งแต่แขนเสื้อเล็ก ขากางเกงฟิต พวกเขาจะต้องเลือกเสื้อผ้าที่ออกแบบมาให้สวมใส่ได้ง่าย ทั้งมีขนาด Over Size ไปจนถึงมีวงแขนที่ใหญ่เพื่อให้ง่ายต่อการสอดแขนเข้าไป เป็นต้น

และจากความสะดวกสบายนี้เองก็ส่งผลให้ผู้คนจำนวนหนึ่งเริ่มทดลองเอามาใส่บ้าง ปรากฏว่าติดใจในความสบายของเสื้อผ้าคอลเลคชั่นเหล่านี้ จึงเป็นที่มาของตลาดสินค้ากลุ่มนี้จากเดิมที่ Niche เก็บไว้หลังร้าน เริ่มปรากฏโชว์หน้าร้านให้หาซื้อได้ง่ายขึ้น

ทาง Adidas เองก็ออกเสื้อผ้าคอลเลคชั่นใหม่สำหรับผู้พิการโดยเฉพาะ ด้วยการทำให้การสวมและถอดด้วยมือเดียวเป็นไปได้ง่าย

แบรนด์ BOSS ก็ออกรองเท้าที่สวมใส่ง่ายไม่ต้องผูกเชือก ด้วยการใช้ซิปแทน ส่วนตัวผมก็มีรองเท้าแบบไม่ต้องผูกเชือกอยู่คู่นึงเหมือนกัน บอกเลยว่าตั้งแต่ใช้งานคู่แรกมาก็เปลี่ยนทุกคู่ให้เป็นแบบไม่ต้องผูกเชือก แค่ใส่สอดเท้าเข้าไปแล้วดึงตรงปลาย เป็นอะไรที่สบายใจติดใจจริงๆ ครับ

และไม่ใช่แค่เสื้อผ้าแต่ยังลามไปถึงกระเป๋าสะพายที่มีความต้องการกระเป๋าคาดลำตัวที่ใช้งานง่าย ไม่ต้องแบกพาดบ่าให้หนักเทอะทะวุ่นวาย คาดเอวคาดพุงไปก็ใช้งานสะดวกสบายดี

Photo: https://www.victoriassecret.com/us/vs/vsinsider/brand-values/adaptive

Victoria’s Secret ก็ได้เปิดแบรนด์ใหม่ชื่อ VS & Pink เพื่อจับคนกลุ่มนี้โดยเฉพาะ มีการออกคอลเลคชั่นใหม่ที่เป็นชุดชั้นในแบบสวมใส่ง่าย ใช้ตะขอแม่เหล็กแทนแบบเดิม มีสายปรับระดับด้านหน้า แต่ยังคงดีไซน์ที่เซ็กซี่จัดจ้านตามเดิม เรียกได้ว่าได้ใจทั้งคนรุ่นใหม่และคนรุ่นใหญ่เต็มๆ

ดูเหมือนว่าเทรนด์ Adaptive Fashion จะกลายเป็นเทรนด์กระแสหลักไม่ใช่แค่เฉพาะกลุ่มผู้พิการ ผู้สูงวัย หรือคนที่มีปัญหาทางร่างกายแบบเดิมอีกต่อไป เราจะเห็นหลายๆ แบรนด์แฟชั่นชั้นนำระดับโลกหันมาออกแบบชุดเสื้อผ้าคอลเลคชั่นแนวนี้เพิ่มขึ้น

จากเดิมเคยเป็นแค่สินค้ากลุ่มทางเลือก จะกลายเป็นใครๆ ก็สามารถสวมใส่ได้เพราะถูกออกแบบให้สวมใส่ง่ายและสบายมาตั้งแต่ต้น สำคัญก่อนออกแบบต้องทดสอบกับผู้พิการจริงๆ หรือคนที่เคลื่อนไหวยากจริงๆ ก่อน ไม่ใช่ทำออกมาโดยไม่ได้ทดลองจะกลายเป็นสร้างความเสียหายให้แบรนด์มากกว่าไม่ทำอะไรเลย

7. Underconsumption จากบริโภคนิยมสู่นิยมไม่บริโภค

ดูเหมือนยุคบริโภคนิยมเน้นซื้อ เน้นใช้เงินกำลังจะหมดไป เข้าสู่โลกยุคใหม่ที่นิยมการไม่บริโภค ไม่ซื้อโดยไม่จำเป็น

สาเหตุหลักอย่างแรกก็มาจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจตกต่ำ ค่าครองชีพแพง ส่งผลให้ผู้คนเริ่มตระหนักคิดได้มากขึ้นว่าเราจำเป็นจะต้องซื้อมากกว่านี้หรือเปล่า ส่วนอีกปัจจัยหนึ่งก็คือกระแสบนโซเชียลที่ถาโถมเข้ามายาวนาน ที่กระตุ้นเราให้เราอยากได้อยากมีหรือ #ของมันต้องมี แท้จริงแล้วเราจำเป็นต้องมีส่งนั้นจริงๆ ไหม

บวกกับเทรนด์ ESG, Sustainability การรักษ์โลกที่ชัดเจนและหนักแน่นกว่าทุกสมัยที่ผ่านมามาก ทำให้ผู้คนเริ่มหยุดคิดอีกว่าการซื้อใหม่จะกลายเป็นการทำร้ายและสร้างขยะโดยไม่จำเป็นขนาดไหน

และจากทั้งหมดที่เล่ามาก็ทำให้เทรนด์ #UnderConsumptionCore กำลังถูกพูดถึงมากบนโซเชียลมีเดีย โดยประเด็นหลักของแฮชแท็กนี้คือการพยายามบอกว่าการมีน้อยเป็นเรื่องปกติ การมีแค่เท่าที่จำเป็นต้องมีไม่ใช่เรื่องน่าอายที่ต้องรู้สึกผิดอะไร

มันไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะมีรองเท้าแค่ไม่กี่คู่ที่จำเป็นต้องใช้จริงๆ ไม่จำเป็นต้องมีรองเท้าเป็นตู้ๆ หรือต้องมีห้องรองเท้าที่ฟุ่มเฟือยเกินจำเป็นมาก

เราไม่ต้องสะสมกระบอกน้ำใหม่ลายสวยๆ จากแบรนด์ดังๆ ให้เต็มบ้าน เพราะเราสามารถใช้กระบอกน้ำใบเดิมกระบอกเดียวได้ยาวนาน ไม่ใช่เพราะต้องการประหยัดแต่ต้องการลดการซื้อที่ไม่จำเป็น เพราะนั่นคือการสร้างภาระให้กับโลกโดยไม่มีเหตุผล

ไม่ใช่เรื่องน่าอายถ้าจะใช้ครีม เครื่องสำอาง หรือยาสีฟันที่บีบเค้นคั้นจนหยดสุดท้าย การโชว์การแกะหรือเปิดเครื่องสำอางใหม่ๆ ที่รู้ว่าซื้อไปก็ใช้ไม่หมดต่างหากที่เป็นเรื่องน่าอายในทุกวันนี้

@waywewear.th

เทรนด์ที่ไม่ได้ประหยัดแค่เงิน 💰 #ววว #WayWeWear #underconsumption

♬ original sound – way we wear – way we wear

อินฟลูเอนเซอร์สายความยั่งยืนเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ พวกเขาเริ่มต่อต้านกระแส Fast Fashion การบริโภคเกินพอดี การซื้อของที่เน้นเอามาอวดทำคอนเทนต์ลงโซเชียลแทนการใช้งาน พวกเขาเหล่านี้ออกมาทำคอนเทนต์เพื่อสะกิดคนรุ่นใหม่ๆ ให้ฉุกคิดได้ว่า สิ่งที่ดารา คนดัง หรืออินฟลูเอนเซอร์ทำกันมายาวนานอย่างการอวดข้าวของที่ไม่จำเป็นมากมายคือพฤติกรรมที่ไม่ปกติที่ไม่ควรเลียนแบบ เพราะไม่ใช่เราทุกคนจะมีแบบนั้นได้ และมันก็ยิ่งไม่มีเหตุผลเลยที่เราจะมีข้าวของมากเกินจำเป็นในชีวิตขนาดนั้น

ทุกวันนี้อินฟลูเอนเซอร์สาย Underconsumption พยายามบอกทุกคนที่เห็นคลิปหรือคอนเทนต์พวกเขาว่า “ซื้อของไร้สาระให้น้อยลง และก็เลิกติดตามพวกอินฟลูไร้สาระเหล่านั้นได้แล้ว”

จากเทรนด์นี้ก็ทำให้พวกธุรกิจเว็บขายของออนไลน์ หรือเว็บ Resell ขายของมือสองต่อต่างๆ หยิบเอาประเด็นนี้ไปสื่อสารกันหนักมากกว่า “เรามีมากเกินไปหรือเปล่า ?” ถ้าใช่ก็เอาของที่ไม่จำเป็นเหล่านั้นมาโพสขายมือสองกับเราให้คนที่จำเป็นต้องใช้ได้ไปในราคาที่สมเหตุสมผลดีกว่ามั้ง ?

ใครที่มีเสื้อผ้าคล้ายๆ กันหลายๆ ชุดจะเก็บไว้ทำไม ใครที่มีรองเท้ามากมายล้นบ้านแต่ไม่เคยใส่เอามาส่งต่อขายออนไลน์มือสองดีกว่า เพราะข้อดีคือการลดการซื้อใหม่ซึ่งจะเป็นการสร้างขยะบนโลกเพิ่มขึ้นมาอีกชิ้น สู้ซื้อของที่มีอยู่แล้วและเอาไปใช้ต่อให้คุ้มค่าที่ซื้อมา ใช้มันจนเสื่อมสภาพหมดอายุขัยแล้วค่อยซื้อใหม่ถึงจะเป็นวิถีชีวิตแนวใหม่ของคนยุคใหม่ที่รักษ์โลกในปี 2025 เป็นต้นไป

และเทรนด์การบริโภคอย่างประหยัด ใช้เงินอย่างฉลาดนี้ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่ม Gen Z และก็กำลังขยายตัวออกไปยังทุกเพศทุกวัยทั่วโลก เพราะจากข้อมูลรายงานว่ากว่า 69% ของผู้คนทั่วโลกบอกว่าตั้งใจจะมองหาวิธีลดการซื้อ ซื้อให้น้อยลง และเป็นเจ้าข้าวเจ้าของให้น้อยลงกว่าปีก่อนๆ

ดูเหมือนว่าต่อไปนี้จะเป็นงานลำบากของนักการตลาดว่าจะทำอย่างไรให้ผู้คนเลือกซื้อสินค้าหรือบริการตัวเอง ท่ามกลางกระแส #Underconsumption

ผมว่าเทรนด์นี้น่าจะเป็นโจทย์ที่ยากที่สุดของนักการตลาดและเจ้าของธุรกิจทุกคน การไม่ซื้อเพราะไม่มีเงินยังง่ายกว่าการไม่ซื้อเพราะรู้สึกไม่อยากซื้อครับ

ลองคิดภาพว่ากับคนกลุ่มแรกถ้าเมื่อไหร่พวกเขามีเงินการซื้อจะเกิดขึ้นแน่นอน แต่กับกลุ่มหลังคือต่อให้มีเงินมากขึ้นกลับไม่อยากซื้อมากตาม สินค้าหรือบริการที่จะอยู่รอดต่อไปได้นับจากนี้คือต้องเน้นเรื่องคุณภาพหนักๆ และต้องสื่อสารเรื่องแบรนด์ให้ชัดว่าเราดีต่อโลกและสังคมอย่างไร

สุดท้ายต้องกล้าสื่อสารตรงๆ ว่าไม่จำเป็นไม่ต้องซื้อเราหลอกนะ เท่าที่เห็นก็จะมีแค่แบรนด์เดียวที่ทำได้และกล้าทำ นั่นก็คือ Patagonia หนึ่งในแบรนด์ที่รู้สึกว่ารักโลกแบบสุดๆ ครับ

8. Sensory-Inclusive Shopping ออกแบบประสบการณ์ช้อปปิ้งเพื่อกลุ่มเด็กพิเศษกว่าพันล้านคน

Photo: https://www.usatoday.com/story/money/2024/04/02/lego-sensory-inclusive-world-autism-day/73169474007/

โลกเราวันนี้มีกลุ่มคนพิเศษทางการเรียนรู้กว่าหนึ่งพันล้านคน คุณมีกลยุทธ์และแผนพร้อมดูแลคนกลุ่มนี้ก่อนคู่แข่งแล้วหรือยัง ?

หนึ่งในเทรนด์การตลาดสำคัญที่ถูกพูดถึงมาสักระยะนั่นก็คือ Inclusivty Marketing ที่หมายถึงการรวมกลุ่มคนเล็กๆ น้อยๆ ทั้งหลายที่ถูกมองข้ามมานาน ก่อนหน้านี้เราพูดถึงกลุ่มคนพิการ หรือกลุ่มคนที่มีสภาพร่างกายไม่เหมือนคนปกติทั่วไป และคนสูงวัยมาแล้ว ในเทรนด์นี้เราจะเจาะลึกไปยังกลุ่มคนที่มีความพิเศษทางการเรียนรู้ นั่นก็คือกลุ่มคนที่มีภาวะออทิซึม หรือที่ภาษาไทยเราเรียกว่าออทิสติก ไปจนถึงดิสเล็กเซีย ADHD โรควิตกกังวล และอื่นๆ อีกมากมายที่ขอเรียกรวมๆ ว่ากลุ่มคนพิเศษแล้วกันครับ

ซึ่งความน่าสนใจทางธุรกิจคือคนกลุ่มนี้มีจำนวนรวมมากกว่าพันล้านคนทั่วโลก ในประเทศไทยจากข้อมูลเท่าที่มีก็ไมน้อยกว่าสามแสนคนแล้ว คุณลองคิดภาพว่าถ้าคุณได้พวกเขาเหล่านี้เป็นลูกค้าก่อนใคร คุณก็จะไม่ต้องทำการตลาดแย่งกับใครมาก ที่สำคัญคือพวกเขาไม่น้อยก็ยอมจ่ายให้คนที่พร้อมเข้าใจพวกเขามากกว่า เรามาดูรายละเอียดแต่ตัวอย่างของเทรนด์ Sensory-Inclusive Shopping การออกแบบประสบการณ์ช้อปปิ้งเพื่อกลุ่มเด็กพิเศษกันครับ

ต้องบอกก่อนว่ากลุ่มคนพิเศษทางการับรู้และเรียนรู้เหล่านี้เขาจะไม่ชอบการช้อปปิ้งแบบที่คนปกติทั่วไปชอบกัน พวกเขาไม่ชอบสิ่งเร้าทั้งแสง ไฟ และเสียงที่ดังเกินไป พวกเขาไม่ชอบแสงจ้าๆ สว่างมากๆ พวกเขาไม่ชอบกลิ่นแรงๆ จัดๆ ที่บางห้างร้านเอามาใช้ตกแต่งร้านกัน พวกเขาไม่ชอบการออกแบบแผนผังการเดินที่ดูซับซ้อนสักเท่าไหร่ และนั่นก็ทำให้หลายๆ ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้าในต่างประเทศอย่าง Walmart, Sam’s Club และ Westfield เริ่มเอาแนวคิด “Quiet Hours” มาใช้

Quiet Hours คือการออกแบบพื้นที่ภายในห้างตัวเองให้เงียบ สงบ ไม่ต้องเปิดไฟสว่างจ้ามากนักในบางชั่วโมงทุกวัน ทั้งนี้ก็เพื่อตอบสนองลูกค้ากลุ่มผู้พิเศษทางการเรียนรู้ให้รู้สึกว่าห้างนี้เป็นมิตรกับพวกเขามากกว่าห้างอื่น

ทางศูนย์วิจัย Centre for Autism จากมหาวิทยาลัย Reading ประเทศอังกฤษบอกว่าสภาพแวดล้อมที่เหมาะแก่การจับจ่ายใช้สอยช้อปปิ้งของกลุ่มผู้มีภาวะออทิซึม หรือออทิสตึก มีหลักใหญ่ใจความที่โฟกัสเรื่อง “สงบ และคาดเดาได้” ได้แก่

  1. ลดสิ่งกระตุ้น เช่น แสงจ้า เสียงดัง กลิ่นแรง
  2. ทำผังร้านให้ง่ายและเหมือนกัน
  3. จัดพื้นที่ทางเดินให้กว้างขวางและชัดเจน
  4. อบรมให้ความรู้พนักงานถึงความต้องการที่แตกต่างจากคนทั่วไป

และแน่นอนว่าการจัดร้านหรือออกแบบประสบการณ์แบบนี้ไม่ได้ดีแค่กับกลุ่มคนพิเศษผู้มีภาวะออทิซึมเท่านั้น แต่ยังคงดีกับทุกคนที่เข้ามาใช้บริการห้างสรรพสินค้าแห่งนั้นด้วย เรียกได้ว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว ออกแบบร้านเพื่อกลุ่มคนพิเศษกลุ่มเดียวกับได้ผลดีกับทุกกลุ่ม

Photo: https://attractionsmagazine.com/lego-store-sensory-inclusive/

ทาง Lego แบรนด์ของเล่นชื่อดังระดับโลกก็มีการออกแบบ Sensory Bag หรือจะเรียกว่าเป็นถุงรวมอุปกรณ์ช่วยช้อปปิ้งสำหรับกลุ่มเด็กพิเศษ ภายในถุงประกอบด้วย

  1. หูฟังเพื่อลดเสียงรบกวน
  2. การ์ดภาพเพื่อช่วยการสื่อสารกับพนักงานคนรอบข้าง อยากได้อะไรก็ชี้บนการ์ดเอาเพราะคนกลุ่มนี้อาจพูดไม่เก่งเหมือนคนทั่วไป
  3. แว่นลดแสงกระพริบ หรือแสงไฟภายในร้าน
  4. อุปกรณ์คลายเครียดแบบ Fidget เหมือนกับที่บางคนชอบกดปากกาซ้ำๆ ย้ำๆ
  5. สายคล้องคอ VIP เพื่อให้พนักงานรู้ว่าต้องดูแลใส่ใจใครเป็นพิเศษ

เมื่ออ่านถึงตรงนี้คุณอาจรู้สึกว่าเทรนด์นี้มันย้อนแย้งกับเทรนด์แรก Awesperiential Retail ที่ว่าการออกแบบร้านค้ารีเทลวันนี้ต้องสร้างความตื่นตะลึงให้ลูกค้าอยากเดินเข้ามา แต่นันไม่ได้หมายความว่าคุณต้องเลือกแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น เพราะคุณสามารถจัดสรรพื้นที่ภายในศูนย์การค้าหรือร้านค้าคุณได้ อย่างกลยุทธ์การแบ่งช่วงเวลาแบบ Quiet Hours หรือการแบ่งพื้นที่ออกเป็นโซนๆ อะไรแบบนั้น

นี่คือกลุ่มเป้าหมายทางการตลาดที่คุณแทบไม่ต้องไปแย่งกับใครมาเลย แค่ทำให้พวกเขาอยากเดินเข้ามาหาด้วยการปรับผังร้าน และวิธีให้บริการให้รู้ใจพวกเขามากขึ้นเท่านั้นเอง คนกลุ่มพิเศษเหล่านี้มีมากกว่าพันล้านคนทั่วโลก ลำพังในไทยก็ไม่น้อยกว่าสามแสนคนแล้ว แต่เรากลับไม่ค่อยเห็นแบรนด์ไหนในไทยที่ทำสินค้าหรือบริการเพื่อคนกลุ่มนี้อย่างจริงจัง ลองอ่านแล้วเอาไปคิดต่อยอดว่าปีนี้เราจะปรับการให้บริการเพื่อคนกลุ่มนี้มากขึ้นได้อย่างไร

เพราะถ้าคุณทำได้ก่อนนั่นหมายความว่าพวกเขาก็จะเห็นคุณเป็น Top of Mind ไปอีกนาน และกว่าคู่แข่งจะปรับตัวได้ทันคุณก็คงกลายเป็นแบรนด์ที่แข็งแรงในใจพวกเขาไปไกลแล้ว

อย่าลืมว่าคนกลุ่มนี้ก็มีกำลังซื้อไม่น้อย และครอบครัวของพวกเขาก็พร้อมจะทุ่มกำลังซื้อด้วยเช่นกันครับ

9. AI Deal Hunters ค้นหาโค้ดส่วนลด และดีลที่ดีที่สุดด้วย AI

จะมัวเสียเวลาไปค้นหาโค้ดส่วนลดที่ดีที่สุด ดีลที่ดีที่สุดไปทำไมในเมื่อเราอยู่ในโลกยุค AI Disruption แล้ว

ดูเหมือนว่าตั้งแต่โลกเราได้รู้จัก ChatGPT หรือ LLM ก็ส่งผลต่อทุกสิ่งในชีวิตประจำวันเราอย่างมาก มากยิ่งกว่ายุค Digital Disruption เพราะวันนี้เราสามารถใช้และสร้าง AI ได้ง่ายๆ ด้วยการพิมพ์เหมือนคุยกับใครสักคน และนั่นก็นำมาสู่อีกหนึ่งพฤติกรรมผู้บริโภคที่จะเปลี่ยนไปตลอดกาลอย่างการค้นดาดีลลับส่วนลดที่ดีที่สุด จากเดิมต้องเสิร์จหาผ่าน Google เอง หรือคอยติดตามเพจโปรโมชั่นดังๆ เอง เหลือแค่พิมพ์บอกให้ AI ช่วยหาให้ก็จบ

จากเดิมที่ AI กับการช้อปปิ้งหรือ Ecommerce E-Retail ต่างๆ จะถูกเอามาใช้งานแค่ในด้านการแนะนำสินค้า Recommendation ว่าเว็บไหน แอปใดสามารถแนะนำสินค้าที่ผู้ซื้อน่าจะกำลังสนใจหรืออยากได้ จากการใช้ AI แค่นั้นก็ทำให้ธุรกิจ Ecommerce หรือช้อปปิ้งออนไลน์เติบโตอย่างมหาศาล

แล้วยิ่งการมาของ ChatGPT ก็ทำให้หลายแบรนด์ประยุกต์เอา LLM ไปใช้ในธุรกิจและการตลาดของตัวเอง เช่น

  • Michael Kors เปิดตัว Shopping Muse ในการแนะนำสินค้าแบบ Personalization
  • Klana ก็เชื่อมต่อกับ ChatGPT เพื่อเอามาช่วยแนะนำสินค้าที่ใช่ได้อย่างรู้ใจและเป็นธรรมชาติมากขึ้น
  • Marks & Spencer ใช้ AI ช่วยแนะนำชุดที่เหมาะกับรูปร่างและสไตล์เสื้อผ้าที่เคยซื้อมา จนส่งผลให้ยอดขายออนไลน์เติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
  • Google จะมีการทำ Personalized Food หน้า Shopping แนะนำสินค้าที่ตรงกับจริตถูกใจผู้ใช้แต่ละคนยิ่งขึ้น

เมื่อถามไปยังผู้บริโภคว่าอยากให้ AI ช่วยอะไรเรื่องการช้อปปิ้งมากที่สุด กลับไม่ใช่การแนะนำสินค้าที่ใช่ แต่กลายเป็นให้ AI ช่วยหาดีลลับ หรือดีลที่ดีที่สุดให้หน่อย คนที่ตอบแบบนี้มีมากถึง 45% เลยทีเดียว

Photo: https://techcrunch.com/2024/05/28/faircado-raises-3m-to-nudge-people-to-buy-pre-owned-goods/

และไม่ใช่แค่สินค้าใหม่เท่านั้น แต่กับธุรกิจสินค้ามือสองก็มีการใช้ Web Browser Extension ที่ชื่อว่า Faircado ที่เป็น AI ช่วยค้นหาของมือสองที่อยากได้ในราคาที่ดีที่สุดตามเงื่อนไขที่เราต้องการ จนไปถูกใจนักลงทุนมากมายในปี 2023

อีกจะแอดวานซ์ไปอีกหน่อยก็คือการใช้ AI มาช่วยค้นหาว่าถ้าจะซื้อสินค้าหรือบริการนี้ควรใช้บัตรเครดิตใบไหนถึงจะได้รับดีลที่ดีที่สุด เพราะบางทีมานั่งคำนวนเองกับเงื่อนไขเยอะแยะ อาจปวดหัวคำนวนผิดและกินเวลานานเกินจำเป็น

Photo: https://www.joinkudos.com/

AI ตัวนี้มาจากแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า Kudos จะช่วยหาว่าบัตรไหนให้เงินคืนเยอะสุด ได้แต้มเยอะสุด หรือมีส่วนลดเล็กๆ น้อยๆ รวมกันเยอะสุดสำหรับของแต่ละชิ้นที่คุณอยากได้ และบริการนี้ก็มีในรูปแบบ Web Browser Extention ที่จะวิเคราะห์พฤติกรรมการซื้อของเราว่าควรใช้บัตรอะไรถึงจะคุ้มสุดในภาพรวม หรือควรจัดการบัตรเครดิตที่มีแบบไหนจะประหยัดมากที่สุด

เคสปิดท้ายคือการเปิดโอกาสให้นักช้อปได้ต่อรองราคาสินค้าออนไลน์ แต่ไม่ใช่กับพ่อค้าแม่ค้า แต่ต่อรองกับ AI ได้ตรงๆ หรือจริงๆ ต้องบอกว่าพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์เอา AI มาใช้ไม่ใช่แค่ช่วยตอบลูกค้า แต่เอามาช่วยทำตัวเป็นแม่ค้าเจ้าของร้านให้ลูกค้าได้คุยต่อรองราคาได้ตามนิสัยตัวเอง

Photo: https://www.nibbletechnology.com/

ซึ่งก็มีบริษัทที่ชื่อว่า Nibble Technology พัฒนาแชทบอทตัวนี้ขึ้นมาโดยใช้ Algorithm เฉพาะด้านบวกกับหลัก Behavioural Science ผลคือลูกค้าก็ชอบใจที่ได้ต่อราคาแม้จะเล็กน้อย ส่วนคนขายก็พอใจเพราะในภาพรวมทำให้ขายดีขึ้น

ต้องบอกว่าจากความก้าวหน้าของ AI อย่าง ChatGPT หรือ LLM ทำให้เราเข้าสู่ยุค AI Revolution การปฏิวัติเอไอในทุกด้านของชีวิต แม้แต่ในด้านเล็กๆ แต่มีมูลค่ามหาศาลอย่างการช้อปปิ้งออนไลน์ที่ต่อยอดให้เกิดบริการใหม่ๆ จาก AI อย่างการเอามาใช้ค้นหาดีลลับ ดีลที่ดีที่สุดได้ทุกครั้งโดยมีต้นทุนที่ต่ำมาก

เดิมทีการจะคำนวนได้ว่าบัตรใบไหนคุ้มสุดสำหรับแต่ละดีลต้องใช้ทั้งความรู้ ความจำ และประสบการณ์ส่วนบุคคลมากมาย ทำให้มีน้อยคนนักที่จะสามารถทำได้ แต่พอเรามี AI ที่ใช้ง่ายเข้ามาก็ทำให้ใครๆ ก็สามารถทำเรื่องแบบนี้ได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องใช้ความสามารถหรือความอดทนพยายามใดๆ ให้ยุ่งยาก

ลองคิดภาพว่าเราจะเอา AI มาเป็นตัวกลางระหว่างเรากับลูกค้าให้มีประสบการณ์ช้อปออนไลน์ที่ดีขึ้น ไวขึ้น และสนุกขึ้นกว่าเดิมอย่างไรได้บ้างครับ

10. Banking Experience Reimagined เมื่อเงินกลายเป็นเรื่องของประสบการณ์

Photo: https://austin.eater.com/2017/4/4/15180056/capital-one-cafe-austin

“คุณจับเงินจริงๆ นับเป็นกี่เปอร์เซนต์ของเงินที่ใช้ทุกวันนี้” ผมเชื่อว่าคงจะน้อยมากสำหรับคนส่วนใหญ่ในวันที่เราก้าวเข้าสู่ยุค Cashless Society ตั้งแต่ช่วงยุคโควิดและนโยบายคนละครึ่งจากแอปเป๋าตังแล้ว

ต้องบอกว่าแม้ในต่างประเทศ Cashless Society จะมาผ่านการใช้บัตรเครดิตแตะเพื่อจ่ายแทนการสแกน QR Code แบบเอเซียเรา แต่ก็ดูเหมือนว่าด้วยความล้ำหน้าจากการสแกนจ่ายแล้วไม่เสียค่าธรรมเนียมมานานจะพอเปลี่ยนพฤติกรรมคนไทยต่อการใช้เงิน และความรู้สึกต่อเรื่องเงินและธนาคารได้มากพอ

วันนี้แทบจะ 9 ใน 10 ร้านค้ารับการสแกนจ่ายหมด จะมีแค่บางร้านที่เก่าแก่จริงๆ หรืออาจตั้งใจหลบเลี่ยงภาษีด้วยการไม่รับเงินโอนเพราะกลัวโดนตรวจสอบย้อนหลัง ทำให้ธนาคารต่างๆ ที่มีหน้าร้านสาขาเยอะมากไม่แพ้ธุรกิจอื่นก็ต้องปรับตัวหนักมากเหมือนกัน

เงิน = ประสบการณ์ ธนาคารไหนทำให้เรื่องเงินเป็นเรื่องง่ายหรือลดความยุ่งยากลงได้มากกว่า ย่อมกลายเป็นผู้ชนะในธุรกิจนี้ (ไม่นับรวมถึงกลุ่มลูกค้า Wealth นะ)

เราจะเห็นผ่านการปิดตัวหรือควบรวมสาขาของธนาคารต่างๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศมากขึ้น เมื่อบริการทางการเงินหรือการทำธุรกรรมทางการเงินสามารถทำด้วยตัวเองได้ง่ายๆ ผ่านแอป ผ่านการยืนยันตัวตนที่ค่อนข้างมั่นใจได้ว่าปลอดภัยพอ ทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องใช้พนักงานจำนวนเท่าเดิม สาขาที่มีเท่าเดิมในการให้บริการลูกค้าที่มีจำนวนเท่าเดิมอีกต่อไป

หลายธนาคารที่ไม่อยากปิดสาขาไป หรือกำลังจะปรับปรุงสาขาใหม่ก็จะเป็นการเน้นการออกแบบเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ทั้งสะดวกและสนุกในการมาใช้บริการที่สาขาแทน

อย่างธนาคาร Bank of America ก็ได้มีการจ้าง Designer ที่เคยทำงานให้ Sephora และ Victoria’s Secret มาช่วยออกแบบสาขาใหม่ๆ ให้มีความเข้าถึงง่ายและก็เข้ากับแต่ละพื้นที่ที่สาขานั้นเปิดให้บริการอยู่ (อารมณ์คล้ายๆ ร้าน Strabucks ที่มีการออกแบบให้ Localization ครับ)

Chase JPMorgan ก็มีการลงทุนในโมเดลศูนย์รวมของชุมชนในเมืองเล็กๆ หรือชนบทแทนเมืองใหญ่มากขึ้น เพื่อให้ทั้งบริการทางการเงินควบคู่กับการสนับสนุนชุมชนไปพร้อมกัน ก็อย่างที่บอกว่าเรื่องเงินนั้นไม่ต่างกัน การเข้าถึงและเข้าใจต่างหากที่จะทำให้ธุรกิจธนาคารนั้นต่าง

Capital One ก็ได้สร้างสาขาที่เป็นคาเฟ่กว่า 50 แห่งทั่วประเทศ ที่ไม่ได้เน้นการให้บริการทางการเงินแต่เน้นการให้พื้นที่ไลฟ์สไตล์แบบคนเมืองจริงๆ ได้ออกมาพบปะพูดคุยหรือนั่งทำงานกับในสาขาของธนาคาร และแน่นอนว่าถ้าจะต้องใช้บริการทางการเงินก็คงจะไม่พิจารณา Capital One ไม่ได้แน่นอน

แถมพนักงานธนาคารรุ่นใหม่ๆ ก็จะถูกสอนมาให้ไม่ขายบริการทางการเงินใดๆ แก่ลูกค้าก่อน เน้นการให้บริการโดยทั่วไป แต่ถ้าเมื่อไหร่ลูกค้าถามก็พร้อมตอบอย่างรวดเร็วและให้ความรู้แบบลงลึก นี่คือการขายแบบไม่ขายแต่กลับทำให้ขายได้ง่ายกว่าทั่วไปเยอะมากครับ

ดูเหมือนว่าสาขาของธนาคารนับจากนี้ไปจะค่อนข้างเปิดกว้าง เข้าถึงง่าย ให้บริการแม้คนที่ไม่ใช่ลูกค้า เพื่อต้องการเป็น Top of Mind ของ Consumer มากขึ้น

หรือบางธนาคารก็อาจถึงขั้น Rebranding Rename ใหม่ตัดคำว่า Bank ที่สื่อความหมายถึงธนาคารออกไปอย่าง Lloyd Bank ที่รีดีไซน์แอปและอื่นๆ ใหม่หมดโดยตัดคำว่า Bank ที่มีมายาวนานทิ้งไปในทุกงานออกแบบใหม่นับจากนี้

นี่คือการสื่อให้รู้ว่าธนาคารไม่ใช่ธนาคารอีกต่อไป แต่มันคือศูนย์กลางของทุกสิ่ง ของการใช้ชีวิตที่จะขับเคลื่อนไปข้างหน้าพร้อมกับโลกยุคใหม่แทน

บางธนาคารก็อาจเล่นกับการสื่อสาร Marketing Communication ว่าประสบกาณ์ที่เคยยากๆ แย่ๆ จากที่อื่นนั้นจะง่าย ราบรื่น ไปถึงขั้นสนุกได้ที่ Monzo ภายใต้คอนเซปว่า Money Never Felt Like Monzo

เมื่อเงินไม่ใช่เงิน ไม่ใช่ธนบัตร ไม่ใช่กระดาษ ไม่ใช่เหรียญ ไม่ใช่โลหะ แต่เป็นเพียงบัตรสักใบ หรือการใช้โทรศัพท์มือถือ หรือ Smart Watch แตะเพื่อจ่าย เราจึงไม่ได้มีประสบการณ์กับเงินเหมือนคนรุ่นก่อนหน้า เงินวันนี้ไม่มีตัวตนมีแต่ตัวเลขผ่านหน้าจอเท่านั้น

ดังนั้นธุรกิจธนาคารที่ถือว่าเป็นยักษ์ใหญ่ด้าน Retail มานานก็ต้องปรับตัวหนักมากที่เริ่มตั้งแต่การออกแบบสาขาใหม่ให้เข้าถึงง่าย และชวนให้คนอยากเข้ามาหาแม้จะไม่ใช่ลูกค้าก็ตาม

ลองเรียนรู้ผ่านการปรับตัวของธนาคารดู ผมเชื่อว่าคุณจะเห็นการออกแบบ Experience ทั้งในแง่ Digital และ Physical อีกมากนับจากนี้

ถ้าธนาคารยังทำให้สนุกได้ ผมไม่เชื่อว่าธุรกิจอื่นจะทำไม่ได้ครับ

  1. Awesperiential Retail ร้านค้ายุคใหม่ต้องมอบประสบการณ์ความมหัศจรรย์
  2. Prudent Pricing
  3. Ethereal Retail การแต่งร้านที่หลุดออกมาจากอีกโลก
  4. Mid-Life Consumerism ผู้บริโภคกลุ่มใหม่มิดไลฟ์มิลเลนเนียล
  5. Stressed Shelves สงครามชิงชั้นระหว่างแบรนด์ใหญ่และเฮ้าส์แบรนด์
  6. Adaptive Fashion Goes Mainstream สบาย is new สไตล์ แฟชั่นยุคใหม่ต้องสบายก่อนสวย
  7. Underconsumption จากบริโภคนิยม สู่ไม่นิยมบริโภค
  8. Sensory-Inclusive Shopping ออกแบบประสบการณ์ช้อปให้เหมาะกับกลุ่มคนพิเศษ ออทิสติก
  9. AI Deal Hunters ค้นหาดีลลับ ดีลเด็ดด้วยเอไอ
  10. Banking Experience Reimagined ธนาคารยุคใหม่ไม่ใช่แค่ที่ทำธุรกรรม แต่มีไว้เพื่อสร้างประสบการณ์ให้ทุกคน

จากภาพรวมทั้ง 10 เทรนด์ของธุรกิจรีเทลที่มีหน้าร้านจะเห็นว่าจากปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ค่าครองชีพแพง ทำให้คนหันมาประหยัดและใส่ใจเรื่องการใช้เงินมากขึ้น บวกกับกระแสเรื่อง Sustainable ยิ่งตอกย้ำเรื่องการลดใช้เงินลงอย่างมีเหตุผล

จากนั้นก็การมาของผู้บริโภคกลุ่มใหม่วัยกลางคนจำนวนมาก ที่มีความต้องการที่เปลี่ยนไปจากเงื่อนไขของร่างกายที่เปลี่ยนแปลง บวกกับการพยายามหากลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ ที่แบรนด์ส่วนใหญ่มองข้ามอย่างกลุ่มคนพิเศษที่มีกว่าพันล้านคนทั่วโลกในวันนี้

สุดท้ายผู้คนยังไงอยากใช้เงิน แต่ปัญหาคือจะใช้ที่ไหนดีกว่ากันระหว่างการซื้อออนไลน์ที่ทั้งถูกและไวกว่าการไปหน้าร้าน ดังนั้นการออกแบบประสบการณ์หน้าร้านต้องแตกต่าง ต้องสร้าง Experince ที่เหนือกว่าที่ออนไลน์จะให้ได้ จนทำให้คนยอมมองข้ามราคาที่ถูกกว่าไป

และส่วนคนที่ยังโกออนไลน์เป็นหลักก็ต้องรู้จักการ Apply ใช้ AI Driven Retial Business นับจากนี้

ทั้งหมดนี้คือ 10 Retail Marketing Trends 2025-2026 จากรายงาน The Future 100 ของ VML ครับ อ่านแล้วคิดยังไงคอมเมนต์คุยกันได้ อ่านแล้วถ้าคิดว่าควรส่งให้ใครอ่านก็สามารถกดแชร์ไปได้เลยครับ

อยากอ่านบทความเรื่องไหนต่อ คอมเมนต์ไว้ที่เพจการตลาดวันละตอนได้เลยนะครับ เดี๋ยวผมจะมาอ่านแล้วเก็บเอาไปเขียนให้

Source: https://www.vml.com/insight/the-future-100-2025

เจ้าของเพจการตลาดวันละตอน / อาจารย์พิเศษวิชา Data-Driven Communication / เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่ม Personalized Marketing, Data-Driven Marketing, Data Thinking, Contextual Marketing และ Social Listening / ที่ปรึกษา Data-Driven Advisor

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *