รวม 10 Health & Wellness Trends 2025-2026 เทรนด์สุขภาพกาย สุขภาพใจ การฮีลใจของคนยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยความเครียดจาก AI และ IoT

10 Health & Wellness Trends รวมเทรนด์สุขภาพ 2025-2026

สุขภาพกลายเป็นปัจจัยที่ผู้คนยุคใหม่ในปัจจุบันให้ความสำคัญมากกว่าคนยุคก่อนมาก เพราะหลังจากเกิดโรคระบาดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในมนุษยชาติ ทำให้ทุกคนต่างตระหนักว่าเราต้องใส่ใจสุขภาพทั้งกายและใจมากกว่านี้ และสำหรับสุขภาพใจหรือสภาพจิตใจที่เรียกว่า Mental Health เองก็ได้รับความสำคัญอย่างมาก จากภาวะความเครียดของคนเมืองที่ต้องแก่งแย่งแข่งขันกัน ทำให้เทรนด์สุขภาพทั้งกายและใจมาแรงอย่างมาก บทความนี้เลยรวบรวม 10 Health & Wellness Trends 2025-2026 จากรายงาน The Future 100 ของ VML ให้อ่านกัน

ใครอยู่ในธุรกิจเพื่อสุขภาพไม่ว่าจะโรงพยาบาลหรืออะไรก็ตาม ลองมาอ่านแล้วคิดตามดูว่าเราจะประยุกต์ต่อยอดจากเทรนด์ที่เห็นให้เป็น New S Curve ใหม่ของธุรกิจเราอย่างไรได้บ้างครับ

1. Joyful Architecture ดีไซน์ฮีลใจ ตึกยุคใหม่ต้องสนุก

“หมดยุคตึกสูงแข็งๆ ทื่อๆ อาคารที่ดูเป็นกล่องสี่เหลี่ยมๆ น่าเบื่ออีกต่อไป”

ดูเหมือนว่าท่ามกลางภาวะความเครียด ความกดดันจากสังคมเมืองที่มากขึ้นทุกวัน การออกแบบอาคารหรืองานสถาปัตยกรรมที่มีสีสันสดใส หรือดีไซน์ที่แปลกตาสดใหม่ จะสามารถช่วยฮีลใจคนเมืองที่ผ่านมาเห็นให้ผ่อนคลายได้ ในขณะเดียวกันก็ยังกลายเป็น Landmark ของเมืองที่ช่วยเพิ่มมูลค่าทางการตลาดให้กับธุรกิจเราได้ไม่น้อย

Photo: https://www.archdaily.com/975297/1000-trees-heatherwick-studio

ตัวอย่างที่ประเทศจีนก็มีตึกที่เรียกว่า 1,000 Tree ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ที่ผมเพิ่งไปมา บอกตรงๆ ว่ามันก็ดูแปลกตามาจนรู้สึกว่าตึกสวยๆ ก็กลายเป็นมุมพักผ่อนหย่อนใจได้

จากเดิมเราต้องไปสวนสาธารณะ ไปดูต้นไม้สีเขียวๆ หรือออกนอกเมืองเพื่อไปหาทิวทัศน์ทางสายตาเพื่อให้รู้สึกผ่อนคลาย ดูเหมือนว่าการออกแบบตึกอาคารให้ช่วยฮีลใจจะเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ใหม่ด้านสุขภาพใจซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพใจครับ

ในต่างประเทศเองบางมหาวิทยาลัยก็มีการออกเนื้อหาหลักสูตรปริญญาโทใหม่ด้าน Architecture & Design ให้สอดรับกับเทรนด์ Joyful Architecture อาคารฮีลใจนี้

เพราะการออกแบบตึกหรืออาคารนับจากนี้จะต้องคิดถึงสีสันที่สดใส รูปทรงที่แปลกตา เพื่อกระตุ้นความรู้สึกและอารมณ์ของผู้พบเห็นให้เกิดความรู้สึกในแง่บวก ที่สำคัญคือไอเดียที่คิดและร่างไว้บนกระดาษต้องสามารถเอามาสร้างจริงได้ด้วย

ดังนั้นหน้าที่ใหม่ของนักออกแบบหรือสถาปัตย์จะต้องคิดถึงการมองเห็นของผู้คน ไม่ใช่ออกแบบให้ตึกมีแต่ความสูงแต่ขาดสุนทรีย ออกแบบให้ดูเป็นแท่งๆ เหลี่ยมๆ น่าเบื่อๆ ยิ่งเป็นการซ้ำเติมสภาพจิตใจของคนเมืองที่โดนทำร้ายอยู่ทุกวัน

เพราะจากงานวิจัยก็บอกว่าถ้าเราอยู่ท่ามกลางตึกอาคารที่มีหน้าตาเหมือนๆ กัน เป็นแท่งๆ สูงๆ กระจกๆ เหมือนๆ กัน มันจะไปเพิ่มระดับคอร์ติซอลทำให้เครียดเพิ่มขึ้นได้

แต่ในขณะเดียวกันถ้าออกแบบอาคารให้มีความซับซ้อนทางสายตา มีสีสันที่สดใด ก็จะช่วยฮีลใจผู้พบเห็นได้ ความเครียดก็จะลดลง และอาคารของคุณก็จะกลายเป็นที่กล่าวถึงของผู้คนในเมืองนั้น

Photo: https://hypebeast.com/2024/3/heatherwick-studio-bogota-universidad-ean-colombia-architecture-news

อีกหนึ่งตัวอย่างตึกอาคารที่ออกแบบนำเทรนด์ Joyful Architecture มีชื่อว่า
Universidad Ean ในประเทศโคลอมเบีย ทำให้ทิวเสาคอลัมน์มีสีสันจัดจ้านเรียงสลับกันดูคึกคัก ในขณะเดียวกันที่ระเบียงก็พรั่งพรูไปด้วยพืชพรรณเขียวชอุ่ม ได้รับแรงบันดาลใจมาจากงานสานตะกร้า Werregue ที่เป็นงานหัตกรรมของชนพื้นเมืองในประเทศโคลอมเบียเอง

ลองมาดูอีกสองตัวอย่างจากงาน World Expo 2025 ที่เมือง Osaka กัน นั่นก็คือ Saudi Arabia’ Pavilion และ Switzerland’s Pavilion ครับ

ตัว Switzerland Pavilion นี่ผมได้เข้าไปสัมผัสมากับตัวพบว่าข้างในนั้นว้าวมาก ไม่ใช่แค่ดีไซน์ด้านหน้าที่ดูว้าว ด้วยรูปทรงที่ดูเหมือนฟองอากาศเชื่อมโยงกันแล้วก็มีต้นไม้เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งก่อสร้าง

ส่วนซาอุดิอาระเบียเองก็ออกแบบได้ดูอลังการมาก เรียกได้ว่าเป็นสองสถาปัตยกรรมที่น่าทึ่งดูแล้วนอกจากฮีลใจยังทำให้รู้สึกอยากเดินเข้าไปสัมผัสด้วย

สรุป Health & Wellness Trend 2025-2026 ที่ 1 Joyful Architecture ดีไซน์ฮีลใจ ตึกยุคใหม่ต้องสนุก

ท่ามกลางภาวะความเคร่งเครียดและเร่งรีบในเมืองต่างๆ ทั่วโลกที่เต็มไปด้วยตึกสูงระฟ้า แต่กลับไม่เคยดูสวยงามน่ามองสักเท่าไหร่ ตึกสูงๆ เหล่านี้ที่เราเรียกว่าป่าคอนกรีตดันกำลังกรีดเข้าไปในจิตใจเราทุกวันทีละน้อยๆ ด้วยการสร้างความเครียดสะสมให้เราในระดับที่ไม่รู้ตัว มารู้อีกทีก็อาจเป็นภาวะซึมเศร้าหรือเครียดหนักจนสาหัสไปแล้ว

การออกแบบตึกอาคารให้มีสีสันสดใส ให้มีรูปทรงที่ดูซับซ้อนแปลกตาแปลกใจกำลังเป็นเทรนด์ใหม่ด้านสุขภาพจิตที่จะส่งผลต่อสุขภาพกาย ใครกำลังวางแผนจะสร้างตึกใหม่ในปีหน้า ลองกลับไปดูดีไซน์อาคารเราซิว่าจะช่วยสร้างสีสันให้กับเมืองและผู้คนในเมืองที่ต้องเห็นทุกวันได้อย่างไร

อย่าลืมว่าอาคารสวยๆ ก็กลายเป็นจุด Landmark สำคัญสำหรับธุรกิจได้ สามารถเพิ่มมูลค่าทางการตลาดได้กลายๆ เหมือนที่เราชอบไปถ่ายรูปตามตึกสวยๆ ในต่างประเทศกัน

2. Social Saunas ซาวน่าสังสรรค์ พื้นที่คุยงานและธุรกิจรูปแบบใหม่

“การประชุมธุรกิจในห้องประชุมเครียดๆ จะเริ่มน้อยลง การประชุมคุยงานตามห้องซาวน่าหรือ Ice Bath แช่น้ำแข็ง จะเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น”

ดูเหมือนพื้นที่ในการพบปะผู้คนสร้างคอนเนคชั่นใหม่ๆ จะไม่ใช่ห้องประชุมแบบเดิม ไม่ใช่พื้นที่สัมมนาแบบเดิม แต่จะเป็นพื้นที่แบบไม่ทางการแต่ผู้บริหารรุ่นใหม่ชอบมาคุยงานกันตามซาวน่า หรือ Ice Bath ครับ

เพราะจากเทรนด์สุขภาพที่กำลังมาแรงทำให้ผู้คนชอบไปใช้เวลากับสถานที่เหล่านี้ แต่ใช้เวลาแต่ละทีก็เป็นเวลาไม่น้อยทำให้มีช่วงเวลาที่สามารถพูดคุยงานแบบไม่ทางการกันได้ ก่อนจะไปจบดีลธุรกิจในห้องประชุมทางการอีกครั้ง

การเข้ามาใช้ซาวน่าร่วมกัน หรือ Ice Bath ร่วมกันกลายเป็นพื้นที่การเข้าสังคมรูปแบบใหม่ เหมือนสมัยก่อนจะพบเจอกันตาม Co-Working Space แต่ดูวันนี้จะกลายเป็น Co-Sauna Sapce หรือ Co-Ice Bathing Space ไปซะแล้ว

และจากกระแสการนิยมใช้เวลาในพื้นที่เหล่านี้ทำให้มีการเอาเครื่องเสียง ดนตรี หรือเรียกง่ายๆ ว่ายกปาร์ตี้เข้ามาไว้ในซาวน่าหรือ Ice Bath กันมากขึ้น บางที่ก็มีการจัดกิจกรรมอื่นๆ เพิ่มเติมทั้งวาดรูป ดนตรี หรืออาจเป็นการดื่มสังสรรค์กันในพื้นที่เหล่านั้น

ในแง่นึงมันลดความกังวลของการพบเจอคนแปลกหน้ากันมากขึ้น ทำให้เราผ่อนคลายเป็นตัวของตัวเองกันได้มากขึ้น ไปจนถึงกล้าพูดผิดพูดถูกได้เพราะเราอยู่ในสถานที่ไม่เป็นทางการ แม้จะเป็นการพบเจอกันเพื่อพูดคุยเรื่องงานก็ตามครับ

สรุป Health & Wellness Trend 2025-2026 ที่ 2 Social Saunas ซาวน่าสังสรรค์ พื้นที่คุยงานและธุรกิจรูปแบบใหม่

เมื่อการซาวน่าและ Ice Bath แช่น้ำแข็งไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพอีกต่อไป แต่มันคือพื้นที่พบปะสังสรรค์กันรูปแบบใหม่ คนรุ่นใหม่สนใจดูแลสุขภาพด้วยวิธีการใหม่ๆ มากขึ้น ดังนั้นเทรนด์นี้คงเป็นแนวทางให้กับคนที่อยู่ในธุรกิจนี้ได้ลองศึกษาเพื่อปรับตัวให้ทันโลกที่เปลี่ยนไป

อาจเพิ่มขนาดพื้นที่ให้เหมาะกับการพูดคุยกันแบบไม่เป็นทางการในห้องซาวน่ามากขึ้น อาจเพิ่มบริการบางอย่างเข้าไปให้มีความสนุกในการอยู่ในพื้นที่ของเรามากกว่าเดิม หรืออาจผสมผสานกิจกรรมอื่นๆ ที่รู้สึกว่าชอบและใช่เข้าไปเพื่อจะได้สร้างเป็น New S Curve ใหม่ให้กับธุรกิจซาวน่าเดิมของเราครับ

3. Somatic Wellness สุขภาวะโซมาติก เข้าใจร่างกายให้ลึกซึ้ง

“เรามีอุปกรณ์วัดร่างกายเรามากมาย แต่เรากลับไม่เคยเข้าใจตัวเองจริงๆ เลยสักที”

Apple Watch รุ่นล่าสุดวัดอะไรในร่างกายเราได้มากมายและละเอียดในระดับกึ่ง Real-time มากขึ้น แล้วไหนจะอุปกรณ์ใหม่ๆ พวก Smart Ring ที่ทำให้เราเก็บ Data ร่างกายเราได้มากกว่าเดิม แต่ดูเหมือนว่าเราจะดูแต่ตัวเลขจนขาดความเข้าใจใน “ร่างกายของเราจริงๆ”

และนั่นคือที่มาของเทรนด์ Somatic Wellness การพยายามฟังเสียงที่ร่างกายพยายามบอกเราจริงๆ ว่าถ้าร่างกายเราแสดงออกแบบนี้เรากำลังรู้สึกแบบไหน เรากำลังอยู่ในอารมณ์แบบใด เรากำลังิคดอะไรอยู่ ในแง่นึงเหมือนกับการตระหนักรู้ว่าตัวเองกำลังเป็นอย่างไร

หลายหมื่นโพสบน TikTok ที่ติดแฮชแท็ก #Somatictherapy และหลายแสนโพสบน Instagram ก็สะท้อนว่าเทรนด์นี้กำลังได้รับความนิยมแบบฝังลึกมากขึ้นทุกที

@alicelaliz

Replying to @@พี่เก๋ มีเรื่องเล่า789🏳️‍🌈 HOW ALICE HEALS TRAUMA part 1💘✨ #fypシ゚viral #พัฒนาตัวเอง #healingjourney #somaticexercise #รักษาตัวเอง #สุขภาพจิต

♬ 가을바람 – BGM President

มีผู้เชี่ยวชาญบางคนบอกว่าการที่เราพยายามจะหลบเลี่ยงความรู้สึกบางอย่างด้วยการปล่อยผ่าน หรือพยายามไม่สนใจมัน จะยิ่งทำให้ความรู้สึกนั้นติดอยู่กับเราไปอีกนาน ดังนั้นการหันหน้ามาทำความเข้าใจมันตรงๆ ว่าความรู้สึกหรืออาการแบบนี้คือะไร เรากำลังรู้สึกแบบไหน จะช่วยทำให้เราเข้าใจและควบคุมตัวเองได้ดีขึ้น

ประเด็นสำคัญของเทรนด์ Somatic Wellness นี้คือการพยายามฟังเสียงของร่างกายไปถึงสมอง ในวันที่เราเต็มไปด้วยความเครียดจากสังคม การเรียน และการทำงาน ถ้าเราได้ลองทำ Micro Practices หรือการฝึกฟังเสียงตัวเองสั้นๆ ระหว่างวันคล้ายกับการทำสมาธิในรูปแบบอื่นๆ ก็จะช่วยให้เราตระหนักรู้เท่าทันตัวเองว่าความคิดที่กำลังแล่นอยู่ในตอนนั้นคืออะไร แล้วเราก็จะรู้สึกว่าปัญหามันเล็กลงจนผ่านปัญหาหรืออารมณ์นั้นไปได้ง่ายขึ้น

View this post on Instagram

A post shared by Lauren Elise Peterson (@laurenelisepeterson)

แอปที่เข้ากับเทรนด์นี้ก็คือ Asana Rebel มีเปิดคลาสสอนโยคะแบบโซมาติก เน้นการเชื่อมโยงระหว่างจิตและกาย พร้อมฝึกการตระหนักรู้ถึงเนื้อเยื้อหรือกล้ามเนื้อของร่างกายมากกว่าปกติ ส่วนพิลาทิสก็เริ่มมีการผสานแนวโซมาติกเข้ามาเช่นกัน

โซมาติกพิลาทิสคือการฝึกพิลาทิสในจังหวะที่ช้าลง เพื่อให้เราได้มีเวลามุ่งความสนใจไปที่ร่างกายเราจริงๆ มากขึ้น ว่าการขยับหรือเคลื่อนไหวแต่ละส่วนนั้นส่งผลอะไรต่อร่างกายเราบ้าง และบางแบรนด์เครื่องสำอางก็มีการเอาคำนี้ไปใช้ในการโฆษณาสินค้าของตัวเองแล้ว

สรุป Health & Wellness Trend 2025-2026 ที่ 3 Somatic Wellness เข้าใจร่างกายให้ลึกซึ้ง

ดูเหมือนว่าจากการเข้าใจร่างกายเราผ่านตัวเลขดาต้าด้วย Smart Watch ต่างๆ จะยิ่งทำให้เราอยากรู้จักร่างกายเราจริงๆ มากขึ้น เมื่ออารมณ์ความรู้สึกยังไม่สามารถวัดได้เด่นชัด การกลับมาโฟกัสที่การเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองจริงๆ ดูเหมือนจะเป็นเทรนด์ที่คนยุคใหม่ให้ความสนใจ

ในแง่นึงส่วนตัวผมคิดว่าคล้ายกับการนั่งสมาธิกำหนดลมหายใจเพื่อทำให้ตัวเองมีสติรู้เท่าทันความคิดที่กำลังแล่นอยู่ในหัว ส่วน Somatic เองก็คือการพยายามทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับร่างกายเราอย่างละเอียด เพื่อจะได้รู้ว่าเราจะควบคุมร่างกายและจิตใจตัวเองให้ดีขึ้นกว่านี้ได้อย่างไร

4. Long Life Careers ชีวิตไร้เกษียณ เมื่อต้องทำงานจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต

“อายุที่ยืนยาวขึ้นทำให้เราต้องหางานที่อยากทำไปถึงวันท้ายๆ ของชีวิต”

คำว่าเกษียณจะล้าหลังจนคนยุคใหม่หลังจากนี้จะไม่ใช้กัน เพราะเราจะต้องทำงานกันไปอีกนานจนเลิกคิดไปเลยว่าถ้า 60 แล้วจะต้องเกษียณ แต่ให้รีบเตรียมแผนเส้นทางอาชีพหลัง 60 และหลัง 80 เตรียมเอาไว้ได้เลย

เพราะท่ามกลางที่ทุกคนอายุเยอะขึ้น ร่างกายเราเสื่อมถดถอยหลังตามวัย แต่บางคนกลับมีเส้นทางอาชีพที่เฟื่องฟูยิ่งกว่าเดิม ลองมาดูกันดีกว่าว่าเทรนด์นี้เป็นอย่างไรเพื่อที่เราจะได้ปรับตัวตามให้ทันก่อนถึงวัย 60 ครับ

ท่ามกลางอายุขัยโดยเฉลี่ยของมนุษย์เราที่เพิ่มขึ้น 0.5 ปีในทุกๆ 1 ปี หมายความว่าทุกๆ 2 ปีอายุขัยเฉลี่ยมนุษย์เราจะเพิ่มขึ้น 1 ปีโดยประมาณ และก็คาดการณ์กันว่าอายุขัยโดยเฉลี่ยของคนรุ่นผมจะอยู่ที่ราว 90 ปีหน่อยๆ ส่วนคน Gen Z หรือ Alpha ก็จะมีอายุขัยโดยเฉลี่ยที่ 100 ปีเป็นเรื่องปกติเมื่อถึงเวลานั้น

คาดการณ์ว่าในปี 2030 ประชากร 1 ใน 6 คนบนโลกจะมีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป เท่ากับว่ามีมากถึง 2.1 พันล้านคนครับ

และนั่นส่งผลให้แรงงานสูงวัยขยายตัวมากกว่าเดิม คนที่อายุ 65 ก็จะยังทำงานอยู่เป็นปกติ ส่วนคนที่อายุ 75 ปีขึ้นไปก็จะมีขนาดเติบโตมากที่สุดในตลาดแรงงาน คำถามคือคุณเตรียมพร้อมแผนสำหรับรับคนสูงวัยกลับเข้ามาทำงานบ้างหรือยัง ?

คุณลองคิดภาพถ้าเรามีอายุขัยเฉลี่ยกัน 90-100 ปี เราจะได้เกษียณตามแบบแผนความคิดเดิมๆ ตอน 60 จริงหรือ ก็ในเมื่อร่างกายเรายังดีกว่าคนรุ่นก่อน และการแพทย์ก็ก้าวหน้ากว่ารุ่นพ่อแม่เรามาก แน่นอนว่าเราจะต้องทำงานไปเรื่อยๆ จนทำให้หลายคนในวัย 60+ เริ่มต้นทำอะไรใหม่ๆ ตั้งแต่การเริ่มลองวิ่งทางไกลไปจนถึงมาราธอน หรืออาจไปเริ่มต้นธุรกิจใหม่ที่ตัวเองเคยคิดว่าอยากทำแต่ไม่เคยได้ทำ มาวันที่บริษัทบังคับเกษียณก็พอมีทั้งเงินและเวลาให้เริ่มต้นชีวิตใหม่ตามฝันแล้ว

หลายคนทุ่มเทกับการทำงานมากยิ่งกว่าตอนเป็นหนุ่มสาว เพราะนั่นคืออาชีพใหม่ของพวกเขาที่พวกเขารักและอยากทำมาโดยตลอด คนกลุ่มนี้จะเลือกทำงานที่มอบความหมายให้กับชีวิตไม่ใช่แค่เอาเวลาชีวิตไปแลกเงินแบบวันวาน คนกลุ่มนี้จะทำงานอย่างเต็มที่ไม่กลัวเหมือนกับคนหนุ่มสาวที่ไม่กล้าผิดพลาด หลายคนในวัย 70-90 กลับสร้างผลงานดีๆ ได้มากมาย

เชฟอายุ 75 บางคนบอกว่าตัวเองจะขอตายคาเตาทำอาหารในร้านอาหารของตัวเองมากกว่าจะตายอยู่บ้านหรือโรงพยาบาล ดีไซน์เนอร์ชื่อดังอายุ 90 ปีบางคนบอกว่าอย่ามาบอกให้เกษียณอยู่บ้านแล้วใช้เงินทองที่หามาตลอดชีวิต ไม่มีทาง

ขนาดคนดังอย่าง Martha Stewart ยังกลับมาดังยิ่งกว่าสมัยสาวๆ ได้ในวัย 82 ต้องบอกเลยว่าเธอคือ Influencer ตัวแม่และเป็นต้นฉบับของ Influencer จริงๆ ให้คนรุ่นหลังได้เจริญรอยตามทั้งที่ในวันนั้นโลกยังไม่รู้จักคำว่า Influencer เลยด้วยซ้ำ

การรีสกิล การอัปสกิลใหม่จะกลายเป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนสูงวัยมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ เพราะเรายังต้องอยู่อีกยาวนานและนั่นหมายความว่าเราก็ยังต้องกินต้องใช้ ต้องหาหมอ ต้องใช้เงินอีกเยอะ ลำพังเงินเก็บแบบคนทั่วไปคงไม่เพียงพอให้นั่งๆ นอนๆ ไปจนวันสุดท้ายของชีวิตได้หรอกครับ

สรุป Health & Wellness Trend 2025-2026 ที่ 4 Long Life Careers ชีวิตไร้เกษียณ เมื่อต้องทำงานจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต

เมื่อคำว่า “เกษียณ” กำลังล้าหลังมากขึ้นทุกวัน เมื่อเราต้องอยู่กันนานขึ้น และเศรษฐกิจก็แย่ลงเรื่อยๆ บวกกับคนส่วนใหญ่ในประเทศก็ไม่มีเงินเก็บมากพอจะเกษียณได้อย่างใจหวัง ทำให้คนส่วนใหญ่ยังคงต้องดิ้นรนทำงานกันต่อไป

เมื่อเป็นแบบนี้สินค้าและบริการสำหรับคนสูงวัยที่ยังต้องทำงานต่อจะเป็นที่ต้องการมากขึ้น ในโลกยุคใหม่ที่คนส่วนใหญ่อายุยืนเกือบร้อยปีครับ

5. Home Clinic Hubs ดูแลสุขภาพจากดาต้าที่บ้านคุณ

“จาก Smart Watch นับก้าวเดินและอัตราการเต้นของหัวใจ สู่ Smart Toilet วินิจฉัยโรคเบื้องต้นจากปัสสาวะที่บ้านได้ทันที”

เทรนด์สุขภาพใหม่ข้อนี้คือการพูดถึงเรื่องที่ผู้คนคาดหวังว่าแค่อยู่บ้านก็สามารถรู้ถึงสุขภาพร่างกายจากอุปกรณ์ Smart Device IoT ต่างๆ ที่อยู่รอบตัวภายในบ้านโดยไม่ต้องไปตรวจสุขภาพหาหมอตามคลินิกหรือโรงพยาบาลบ่อยๆ แบบเมื่อก่อนแล้ว

เพราะกว่า 50% ของคนอเมริกาในปี 2023 ใส่ Smart Watch กันแล้ว ส่วนที่ประเทศจีนก็มีกว่า 41% ที่ใส่ในปี 2024 ล่าสุดในปี 2025 จากข้อมูลของ We Are Social บอกว่าคนไทยกว่า 20% ก็ใส่ Smart Watch

แม้จะดูเป็นตัวเลขที่ไม่สูงมากเท่ากับสองชาติมหาอำนาจ แต่ก็บอกให้รู้ว่าเป็นสัดส่วนที่ไม่น้อยเลยทีเดียว และจากเทรนด์การใส่อุปกรณ์สวมใส่เพื่อติดตามร่างกายอย่าง Smart Watch หรือพวก Wearable Device ต่างๆ ส่งผลให้ผู้คนได้เห็นถึง Data สุขภาพร่างกายของตัวเองในแต่ละวัน

พวกเขาก็เลยคาดหวังว่าจะยิ่งได้รู้ถึงข้อมูลสุขภาพ และแนวทางการปฏิบัติตัวหรือป้องกันที่ดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ เมื่อไหร่ควรเดิน ควรลุก เมื่อไหร่ควรระวังเพราะหัวใจเต้นแรงกว่าปกติ เมื่อไหร่ควรต้องใส่ใจเพราะนอนไม่ค่อยดีหรือมีออกซิเจนในเลือดต่ำ และยิ่งเวลาผ่านไปอุปกรณ์เหล่านี้ก็ยิ่งฉลาดขึ้น แม่นยำขึ้น และราคาก็ถูกขึ้นเรื่อยๆ

และดูเหมือนว่าอนาคตของการรู้จักตัวเองผ่านเซนเซอร์ต่างๆ จะยิ่งก้าวหน้าไปมากขึ้น เพราะจากงาน CES Consumer Electronics Show 2025 ก็มีการเปิดตัวอุปกรณ์เซนเซอร์ภายในบ้านที่ช่วยให้เราได้รู้ Health Data สุขภาพตัวเองมากขึ้น เช่น

Fitbit ก็เปิดตัวว่าสามารถตรวจจับโรคไบโพลาร์ได้จากข้อมูลการเดินและการเคลื่อนไหว Pacing data ส่วนบริษัท Withings ก็ได้เปิดตัว U-Scan Nutrio อุปกรณ์เสริมปลั๊กอินสำหรับโถสุขภัณฑ์หรือชักโครกที่สามารถสแกนปัสสาวะของผู้ใช้เพื่อติดตามระดับ Ketone ได้ทุกครั้งที่เข้าห้องน้ำ

หรือจะเป็นกระจกอัจฉริยะจริงๆ ที่ชื่อ Omnia ของบริษัท Withings เดียวกันที่จะสามารถตรวจสุขภาพเราได้ทุกครั้งที่ส่องกระจก และก็เป็นเหมือน Hub เชื่อมโยงดาต้าจากอุปกรณ์ต่างๆ ภายในบ้านเข้าด้วยกันเพื่อประเมินข้อมูลสุขภาพเราแบบองค์รวมว่ามีความผิดปกติอะไรที่ต้องกังวลตั้งแต่เนิ่นๆ หรือไม่

Smart Glass อีกอันนึงที่น่าสนใจในงาน CES 2025 ก็คือ BMind จากแบรนด์ Baracoda ของฝรั่งเศสก็จะช่วยประเมินอารมณ์เราทุกครั้งที่ส่อง แล้วถ้าเห็นว่าเราเครียดก็จะใช้แสงบำบัด Light Therapy แนะนำให้ทำสมาธิปรับอารมณ์ตัวเองทุกครั้ง

อีกหนึ่งอุปกรณ์ที่น่าสนใจคือ Moonbird หน้าตาคล้ายเม้าส์แต่เป็นอุปกรณ์สำหรับจับในอุ้งมือเพื่อแนะนำให้เราทำสมาธิด้วยการหายใจเข้าออกตามการขยายและหดตัวของเจ้าอุปกรณ์นี้ เดิมทีการจะทำสมาธิฝึกหายใจต้องมีผู้เชี่ยวชาญสอนเราว่าจะต้องหายใจแบบไหน แต่เจ้าอุปกรณ์ตัวนี้ทำให้เราหายใจตามได้ง่ายขึ้น ทำให้เราดึงสติมาอยู่กับตัวเองและจัดการอารมณ์ตัวเองได้ไวขึ้นไม่แพ้กัน

สรุป Health & Wellness Trend 2025-2026 ที่ 5 Home Clinic Hubs ดูแลสุขภาพจากดาต้าที่บ้านคุณ

จากความก้าวหน้าของอุปกรณ์ Smart Thing IoT ต่างๆ ทำให้เราทุกคนสามารถรู้ถึงสุขภาพร่างกายตัวเองได้ง่ายดี ดีขึ้น ในราคาที่ถูกขึ้น จากจุดเริ่มต้นโดย Wearable Device อย่างอุปกรณ์นับก้าวเดินไปจนถึง Smart Watch นาฬิกาอัจฉริยะอย่าง Apple Watch ไปสู่อุปกรณ์ Smart Everything ในบ้านที่หลากหลาย ทั้งหมดก็เพื่อทำให้เราสามารถรู้ถึงข้อมูลสุขภาพตัวเองได้ดีกว่าเดิม

และนั่นก็นำไปสู่การคาดการณ์อาการเจ็บป่วยหรือโรคล่วงหน้าได้ ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับการมีอุปกรณ์ตรวจสุขภาพเหมือนไปหาหมอตามคลินิกหรือโรงพยาบาลเบื้องต้นแล้ว

6. Social Prescription ออกไปทำกิจกรรมช่วยสังคมแทนกินยา

“การช่วยผู้อื่นแท้จริงแล้วคือการช่วยเหลือตัวเอง”

หนึ่งในเทรนด์สุขภาพที่กำลังมาแรงในระดับโลกก็คือการรักษาสุขภาพใจสุขภาพจิตด้วยการออกไปทำกิจกรรมเพื่อสังคมครับ เพราะจิตเป็นนายกายเป็นบ่าว ดังนั้นถ้าสุขภาพจิตเราดีสุขภาพกายก็ย่อมจะดีตามในไม่ช้า และยิ่งเทรนด์ Emotional Health กำลังถูกพูดถึงอย่างมาก ทำให้ผู้คนและเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์พยายามมองหาการรักษารูปแบบใหม่ๆ ที่ได้ผลดีขึ้น

และหนึ่งในการรักษาที่ค้นพบว่าสามารถช่วยรักษาสุขภาพจิตเราได้ดีก็คือการออกไปช่วยเหลือสังคม ออกไปพบปะผู้คนบ้าง เทรนด์การสั่งใบจ่ายยาด้วยการให้ออกไปช่วยเหลือสังคม ทำกิจกรรมอาสา จึงเป็นที่มาของเทรนด์นี้

โดยเฉพาะยิ่งเราได้ช่วยเหลือคนอื่นมากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งเหมือนได้เยียวยาจิตใจตัวเองมากเท่านั้น แนวคิด Social Prescription นี้เริ่มต้นในประเทศอังกฤษ เมื่อบรรดาแพทย์ตระหนักว่าการป้องกันหรือรักษาโรคนั้นมีมากกว่าแค่การกินยา แต่ยังรวมถึงการทำกิจกรรมต่างๆ

โดยกิจกรรมแรกๆ อาจเป็นการไปทำกิจกรรมเพื่อบำบัดสุขภาพจิตตัวเองอย่างการวาดภาพ ปลูกต้นไม้ แต่ดูเหมือนว่ายิ่งเราได้ช่วยเหลือคนอื่นเท่าไหร่เราก็จะยิ่งได้รับการช่วยเหลือไปในตัวมากขึ้นเท่านั้น

มีงานวิจัยที่บอกว่ากิจกรรมที่มีเป้าหมายชัดเจน โดยเฉพาะการได้ช่วยเหลือคนอื่นยิ่งทำให้ผู้ให้ความช่วยเหลือรู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้น เมื่อเราได้อาสาทำอะไรบางอย่างเพื่อคนอื่นเราจะได้หลุดพ้นจากปัญหาของตัวเอง เราจะได้ค้นพบว่าเรามีประโยชน์มากกว่าที่คิด เราจะมีความสุขขึ้น สงบขึ้น และฟื้นตัวได้ดีขึ้นทั้งสุขภาพใจและสุขภาพกาย

Photo: https://www.bbc.com/news/newsbeat-62478582

แต่การทำกิจกรรมเพื่อสังคมช่วยเหลือผู้อื่นก็มีวิวัฒนาการเพิ่มขึ้นอย่างการเอาดนตรีเข้ามาใส่ เหมือนอย่างที่องค์กรชื่อ Repair Together ได้จัดกิจกรรม Clean-up Raves ทำความสะอาดพื้นที่ที่เกิดความเสียหายจากสงครามความขัดแย้งโดยเอาดนตรีสนุกๆ จากดีเจให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รู้สึกไม่เบื่อหน่าย เหนื่อยช้าลง และสนุกกับการได้ออกแรงมากขึ้น

จะว่าไปก็คล้ายกับการเข้ายิมออกกำลังกายตามจังหวะนะครับ โดยแบรนด์เองก็สามารถจัดกิจกรรมพวกนี้ได้ โดยเชิญกลุ่มลูกค้าที่สนใจให้เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อสังคมที่ตอบกับ Purpose ของแบรนด์

สรุป Health & Wellness Trend 2025-2026 ที่ 6 Social Prescription ออกไปทำกิจกรรมช่วยสังคมแทนกินยา

แนวคิดนี้กำลังเป็นเทรนด์กระจายออกไปทั่วโลก จากเดิมหมอสั่งให้เราแค่ทำกิจกรรมอะไรสักอย่างเพื่อตัวเองได้ผ่อนคลาย จะกลายเป็นสั่งให้เราออกไปทำอะไรเพื่อคนอื่นที่สุดท้ายสิ่งนั้นจะกลายเป็นการเยียวยารักษาเรา

ดูเหมือนว่าการได้ช่วยเหลือผู้อื่นจะกลายเป็นการฮีลใจให้คนยุคใหม่สมัยนี้ผ่านช่วงเวลายากๆ ในชีวิต ผ่านชีวิตที่เต็มไปด้วยความเคร่งเครียดกดดันจากรอบด้าน สำคัญคือยังทำให้เราได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับสังคม ชุมชน และคนรอบข้าง นี่เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่นักการตลาดสามารถเอาไปคิดต่อยอดได้ ซึ่งจะทำให้วินทุกฝ่ายทั้งแบรนด์ ลูกค้า และชุมชนครับ

7. Ozempic World เศรษฐกิจโลกใหม่จากยาลดน้ำหนัก GLP-1

“ใครจะไปคิดว่ายาลดน้ำหนักที่คนนิยมใช้กัน จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกเป็นลูกโซ่ขนาดนี้”

จากกระแสการนิยมใช้ยาควบคุมความอยากอาหารอย่าง GLP-1 หรือที่เราคุ้นกันในชื่อ Ozempic มันก็คือยาสำหรับคนป่วยเป็นโรคเบาหวานนั่นแหละครับ แต่ก็เริ่มถูกนำมาใช้กับคนทั่วไปที่ต้องการควบคุมความอยากอาหารของตัวเองเพราะต้องการจะผอมมากขึ้น

จากข้อมูลของ PeakBridge บอกว่าตลาดผู้ใช้ยาควบคุมความอยากอาหาร GPL-1 ในสหรัฐอเมริกาโตขึ้นกว่า 300% จากปี 2020-2023 มีคนอเมริกันกว่า 1 ใน 8 เคยใช้ยาชนิดนี้ และจากข้อมูลของ VML เองก็บอกว่าผู้บริโภคกว่า 12% จากทั่วโลกก็เคยใช้ยาชนิดนี้เพื่อลดน้ำหนัก

ในบ้านเราจะคุ้นกับคำว่า “ปากกาลดน้ำหนัก” หรือ “ปากกาคุมหิว” แทน เพราะด้วยความที่หน้าตาอุปกรณ์ตัวนี้เหมือนปากกาจิ้มเข้าไปที่พุงเพื่อส่งตัวยาเข้าไปยังร่างกายโดยตรง ก็ถูกพูดถึงมากมายมีทั้งที่ขายแบบถูกต้องและไม่ถูกต้อง

ประเด็นอยู่ตรงว่าเจ้าสิทธิบัตรที่ควบคุมการผลิต Ozempic และ Wogocy จะหมดอายุในประเทศจีนตอนปี 2026 นั่นหมายความว่าปากกาควบคุมน้ำหนักตัวนี้จะไหลทะลักเข้าสู่ตลาดทั่วโลกมากมาย (ก็ตามสไตล์พี่จีนอะนะ) เลยถูกคาดการณ์ว่าน่าจะเติบโตกันไปอย่างน้อยปีละ 11.1% ไปจนถึงปี 2035

และจากรายงานของ Morgan Stanley ก็พบว่ายากลุ่ม GLP-1 นี้ทำให้ความอยากอาหารของผู้ใช้ลดไปกว่า 30% ได้ และนั่นก็ส่งผลต่อพฤติกรรมการกินที่เปลี่ยนไป ซึ่งนำไปสู่การใช้เงินที่ไม่เหมือนเดิม

ซูเปอร์มาร์เก็ตอย่าง Walmart ก็เห็นผลของเทรนด์นี้จาก Transaction Data ข้อมูลการซื้อของลูกค้าที่เริ่มไม่เหมือนเดิมสำหรับคนที่เคยซื้อสินค้ากลุ่มยาควบคุมน้ำหนัก GLP-1 ที่ว่า พวกเขาเห็นว่าสินค้าที่ซื้อแต่ละครั้งมีจำนวนน้อยลง มีขนาดเล็กลง ไปจนถึงมีปริมาณแคลอรี่รวมลดลงด้วย

แถมพฤติกรรมการซื้ออาหารของกินก็เปลี่ยนไปเลือกอาหารโปรตีนสูงมากขึ้น คาร์โบไฮเดรตต่ำลง และยังมีแน้วโน้มจะทำอาหารกินเองมากขึ้นกว่าการซื้ออาหารสำเร็จรูปพร้อมกินแบบที่เคยเป็นมา

จากรายงานฉบับเดียวกันนี้ยังพบว่า 2 ใน 3 ของผู้ใช้ GLP-1 ใช้เงินกับการกินข้าวนอกบ้านลดลง ไปจนถึงสั่งอาหารผ่านแอปลดลงด้วย โดยเฉพาะการใช้เงินกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แทบไม่มีเลย พอเห็นทิศทางของกระแสเงินที่เปลี่ยนไปจากผู้ใช้ปากกาควบคุมความหิวแล้วใช่มั้ยครับ

และนั่นก็ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอาหารระดับโลกต้องปรับตัวตามเทรนด์สุขภาพแนวใหม่นี้ Nestle ก็เปิดตัวแบรนด์อาหารใหม่ที่มีชื่อว่า Vital Pursuit ที่เน้นการปรับสูตรโภชนาการให้เหมาะกับผู้ใช้ยากลุ่ม GLP-1 ซูเปอร์มาร์เก็ตอย่าง CostCo ก็มีการเปิดตัวโปรแกรมดูสุขภาพสำหรับผู้ลดน้ำหนักโดยเฉพาะ

จากการเปลี่ยนแปลงที่ปากของพฤติกรรมการกิน ก็มาสู่การเปลี่ยนแปลงที่รูปร่างหน้าตาโดยเฉพาะผิวพรรณกันครับ

จากการผอมที่ค่อนข้างเร็วจากการใช้ยากลุ่ม GLP-1 ก็ทำให้เกิดความต้องการดูแลผิวพรรณเป็นพิเศษของคนกลุ่มนี้จากการที่ผิวอาจหย่อนคล้อยเร็วไป หรือมีใบหน้าที่ดูตอบ พวกเขาอยากผอมขึ้นแต่ไม่ได้อยากดูผอมแบบขี้โรค เลยต้องการการบำรุงดูแลให้ผิวพรรณกระชับ และเติมเต็มผิว ลองศึกษาจากคำว่า Ozempic Face ดูก็ได้ครับ

การดูแลเส้นผมก็เช่นกัน เมื่อผอมเร็วไปก็อาจทำให้ผอมแห้งเสียง่ายไปจนถึงผมร่วงเยอะมาก พวกเขาก็ต้องการสินค้าที่ช่วยดูแลบำรุงเส้นผมมากเป็นพิเศษกว่าคนทั่วไป ลดอาการผมบางจากผมร่วง ทั้งหมดนี้มาจากเอฟเฟคการลดน้ำหนักที่เร็วเกินไปจนร่างกายปรับตัวตามไม่ทัน

ในเรื่องของกล้ามเนื้อก็เช่นกันเพราะถ้าคุณผอมเร็วเกินไปก็จะดูขี้ก้าง ขี้โรค แต่คนเราอยากดูผอมสุขภาพดี ดูเฟิร์ม ทำให้บรรดายิมต่างๆ เริ่มโปรโมทคอร์สเน้นการเล่นเวตเทรนนิ่ง หรืออุปกรณ์ประเภทนี้ได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้ใช้ยา GLP-1 อย่างเห็นได้ชัด

ก็คิดภาพว่าพอเราผอมเร็วมวลกล้ามเนื้อก็จะหายไป ดังนั้นก็ต้องมาออกกำลังกายหรือกินเพื่อเติมมวลกล้ามเนื้อให้กลับมาดูผอมสุขภาพดีแข็งแรง ไม่ใช่ผอมขี้โรคครับ

จากร่างกายก็มาสู่เสื้อผ้าการแต่งตัว แน่นอนว่าเมื่อผอมลงเร็วมากย่อมส่งผลให้เกิดความต้องการอยากซื้อเสื้อผ้าใหม่ๆ เพื่ออวดหุ่นที่ดูผอมสักหน่อย Vogue ก็มองเห็นโอกาสว่าจะเกิดการเปลี่ยนเสื้อผ้าครั้งใหม่แทบจะต้องโละทิ้งทั้งตู้ที่มี และผลกระทบของ Ozempic Effect นี้ก็เห็นได้ชัดผ่านแพลตฟอร์มขายเสื้อผ้ามือสองออนไลน์

เริ่มมีเสื้อผ้ากลุ่มคนที่ขายเพราะลดน้ำหนักได้เยอะขึ้น บอกตรงๆ ว่าขายเพราะผอมลงไม่ได้ขายเพราะมีปัญหาทางการเงินแต่อย่างไร เรื่องแฟชั่นการแต่งตัวนี้กระทบไปถึงการออกคอลเลคชั่นใหม่ของแบรนด์เสื้อผ้าว่านับจากนี้ไปอาจไม่ค่อยมีกลุ่มเสื้อผ้าพลัสไซส์ หรือขนาดที่มีความหลากหลาย ก็ในเมื่อใครๆ ก็ผอมกันได้ง่ายๆ คนส่วนใหญ่เลยกลับมาเป็นไซส์มาตรฐานเดียวเหมือนกันหมด

สรุป Health & Wellness Trend 2025-2026 ที่ 7 Social Prescription ออกไปทำกิจกรรมช่วยสังคมแทนกินยา

ไม่น่าเชื่อว่าแค่ยาลดน้ำหนัก ปากกาควบคุมอาหารจะเปลี่ยนเศรษฐศาสตร์โลกทั้งใบได้ขนาดนี้ จากความผอมส่งผลต่อการกิน ส่งผลต่อการดูแลตัวเอง ส่งผลต่อการออกกำลังกาย ส่งผลต่อธุรกิจแฟชั่น นี่คือ Domino Effect ที่คาดไม่ถึงจากการใช้ยากลุ่ม GLP-1

คำถามสำคัญคือแล้วธุรกิจคุณจะได้รับผลอะไรจากสิ่งนี้บ้าง ถ้าคิดออกล่วงหน้าก็สามารถสร้าง New S Curve ไว้รอได้ครับ

8. The Devolution of Health Care อนาคตการแพทย์คือการที่แพทย์จะเหมือนอยู่ในบ้านคุณตลอดเวลา

“อนาคตการรักษา จะไปโรงพยาบาลก็ต่อเมื่อหมอบอกให้มาเท่านั้น”

คุณจะไปหาหมอทำไมในเมื่อหมอก็เสมือนเข้ามาอยู่ในบ้าน อยู่ติดชีวิตคุณทุกวัน ? นี่เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ด้านสุขภาพที่น่าสนใจมากจากความก้าวหน้าของเครื่องมือ เทคโนโลยี เซนเซอร์ IoT และ Data ทำให้หมอหรือเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์สามารถตรวจสุขภาพเราได้ตลอดเวลา เช็ค Health Data เราได้ทุกวัน

เดิมทีเราต้องไปตรวจสุขภาพปีละครั้ง ลืมไปได้เลยเมื่อเราสามารถตรวจสุขภาพตัวเองได้ทุกวัน ทุกเช้า หรือทุกครั้งที่เข้าห้องน้ำ

เจ้าที่หน้าทางการแพทย์ที่ดูแลสุขภาพเรามาก่อนจะเห็น Dashboard Data ที่รวมรวบข้อมูลสุขภาพเราทุกวัน พวกเขาจะเห็นเลยว่าวันนี้ Data Point ไหนเราผิดปกติจากเมื่อวานหรือไม่ วันนี้มีแนวโน้มหัวใจทำงานไม่ดีหรือเปล่า

ถ้าเมื่อไหร่แพทย์เห็นความผิดปกตินั้นก็อาจเริ่มต้นจากการส่งข้อความหาคุณก่อน หรืออาจ Video Call พูดคุยกับคุณถึงรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อประเมินการรักษาต่อไปได้ถูก

เทรนด์นี้สอดคล้องกับการที่องค์การอนามัยโลก WHO ออกมาประกาศว่าภายในปี 2030 โลกเราจะขาดบุคคลากรทางการแพทย์มากกว่า 10 ล้านคน เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าจะช่วยลดช่องว่างตรงนี้ได้อย่างมหาศาล หมอหนึ่งคนจะสามารถดูแลประชากรได้มากขึ้น และ AI ก็จะเข้ามาช่วยลดงานซ้ำๆ ซากๆ ที่ไม่จำเป็นออกจากแพทย์ไป

บริษัทเทคโนโลยีด้าน Health Tech ในอิสราเอลเปิดตัว Binah.ai ทำให้เราสามารถตรวจสุขภาพร่างกายของตัวเองได้แบบง่ายๆ ด้วยการแค่ถ่ายวิดีโอเซลฟี่ก็เพียงพอแล้ว และไม่ใช่แค่รายเดียวที่ทำแบบนี้ได้ Startup อีกแห่งในออสเตเรียที่มีชื่อว่า Upvio ก็ทำได้เหมือนกันผ่านเครื่องมือที่มีชื่อว่า FaceVitals ที่จะประเมินสุขภาพเราจากข้อมูลชีวภาพบนโทรศัพท์มือถือเราใน 30 วินาที

Photo: https://upvio.com/solutions/facevitals

และยังไม่ใช่แค่นั้นแต่ยังมีอุปกรณ์อื่นๆ ที่พร้อมเข้ามาช่วยดูแลสุขภาพเราถึงในบ้านตั้งแต่ Anura MagicMirror กระจกวิเศษที่แค่ส่องก็บอกได้ว่าสุขภาพคุณเป็นอย่างไรผ่านข้อมูลการไหลเวียนของเลือดบนใบหน้า คำนวนออกมาเป็นอัตราการเต้นของหัวใจ และก็ประเมินไปจนถึงความเสี่ยงที่จะเป็นโรคต่างๆ ได้ค่อนข้างแม่นยำ

โดยเจ้ากระจกวิเศษตัวนี้สามารถวิเคราะห์ไปได้ถึงอารมณ์ของเราในเวลานั้น ผ่าน AI ที่มีชื่อว่า DeepAffex จะทำให้การดูแลสุขภาพคุณเป็นไปอย่าง Precision, Real-time และ Personalization แบบสุดๆ

ทั้งหมดที่ว่ามานี้จบภายใน 30 วินาทีเท่านั้นเองครับ ดูเหมือนว่าอีกหน่อยทุกบ้านจะมีกระจกแบบนี้เพื่อประเมินสุขภาพทุกคนในบ้านแน่นอนครับ อย่างน้อยก็ผมคนนึงแหละที่รอซื้อแล้ว

และอุปกรณ์อีกตัวจากงาน CES 2025 ที่สอดคล้องกับเทรนด์นี้ก็คือ BPM Pro 2 จาก Withings ที่จะช่วยวัดความดันโลหิตให้เราจากที่บ้านแบบง่ายๆ คุณอาจสงสัยว่าก็แค่เครื่องวัดความดันทั่วไปแล้วยังไง ประเด็นที่มันน่าสนใจคือข้อมูลความดันโลหิตของคุณจะถูกส่งตรงให้แพทย์ประจำตัวคุณ โดยวันไหนที่ค่าความดันคุณผิดปกติ หรือคุณลืมวัด แพทย์จะรู้ทันทีและจะคุยหรือสอบถามคุณผ่านเครื่องตรง หรือถ้าหนักหน่อยก็อาจบอกให้คุณโทรหาก็ได้

Photo: https://www.researchgate.net/figure/Smart-toilet-seat-prototype-The-seat-has-sensors-for-measuring-physiological_fig1_366209237

มาดูกันที่อุปกรณ์สำคัญอีกชิ้นเรื่องสุขภาพนั่นก็คือโถสุขภัณฑ์ครับ เพราะคนเราต้องเข้าห้องน้ำทุกวัน อย่างน้อยตอนเช้าก็ต้องขับถ่ายไม่ว่าจะหนักหรือเบาบ้างหละ ก็เลยเกิดแนวคิดว่าโถสุขภัณฑ์อัจฉริยะน่าจะดี ที่ฝังเซนเซอร์เข้าไปวัดอัตราการเต้นของหัวใจ วัดอัตราออกซิเจนในเลือดไปขณะที่คุณกำลังนั่งทำธุระอยู่

หรือพวกเซนเซอร์ที่อยู่บนที่นอนเองก็ตาม ที่ให้แพทย์สามารถติดตามข้อมูลการนอนเราที่แม่นยำขึ้นได้ ว่าเรานอนได้ดีมีประสิทธิภาพมากพอไหม หรือดูแล้วเรามีภาวะหยุดหายใจระหว่างนอนมากจนอาจเป็นอันตรายได้

นี่เป็นหนึ่งในแนวคิดย่อยที่เรียกว่า Ambient Intelligence หรือการเก็บดาต้าโดยไม่ต้องให้คนสวมใส่อะไรเพิ่มเติม แต่เอาไปอยู่กับสิ่งต่างๆ รอบตัวเราแทน

สรุป Health & Wellness Trend 2025-2026 ที่ 8 The Devolution of Health Care อนาคตการแพทย์คือการที่แพทย์จะเหมือนอยู่ในบ้านคุณตลอดเวลา

จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เซนเซอร์ จนทำให้เรามี Health Data มากมายแบบที่ไม่เคยเป็นมา และความสามารถของ AI ที่สามารถช่วยมนุษย์เราจัดการดาต้าที่มีปริมาณมหาศาลได้ไวขึ้น สิ่งนี้จะเข้ามาปฏิวัติการแพทย์การรักษาแบบที่เคยเป็นมายาวนาน คือเราต้องไปหาหมอเพื่อรับการประเมิน วินิจฉัย แต่ดูเหมือนว่าวันนี้แค่ส่ง Data ออกไปหมอก็ดูอยู่บ้านแล้วสามารถประเมินกลับมาได้แบบไวๆ แล้ว

อนาคตหมอจะอยู่กับคุณตลอดเวลา คุณจะต้องไปหาหมอก็ต่อเมื่อหมอสั่งเท่านั้น หมดยุคการตรวจสุขภาพประจำปี ในเมื่อเราสามารถตรวจสุขภาพได้ทุกนาที หรือทุกครั้งที่ลุกไปฉี่ก็ยังได้

9. Swimmable Cities พื้นที่สาธารณะสีฟ้า

“เมืองที่ดีคือเมืองที่ว่ายน้ำได้”

จากงานพิธีเปิด Paris Olympic 2024 ที่ผ่านมาเราจะเห็นการใช้แม่น้ำแซนเป็นส่วนหนึ่งของงานพิธีเปิดแบบเต็มๆ ไม่ใช่แค่แล่นเรือผ่าน แต่ยังลงไปว่ายน้ำจริงๆ กันในแม่น้ำแซนด้วย และนั่นก็ทำให้คนทั่วโลกต่างคาดหวังว่าแม่น้ำในเมืองหลวงของประเทศตัวเองจะสามารถลงไปว่ายน้ำเล่นได้เหมือนวันวานในสักวัน

ทุกวันนี้เมืองหลวงทั่วโลกล้วนเผชิญกับวิกฤตความแออัด อุณหภูมิที่ร้อนขึ้นทุกปี และมลภาวะฝุ่นควันที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แนวคิดเรื่องการหันมาฟื้นฟูแหล่งน้ำในเมืองให้สะอาดจนกลับมาใช้งานได้จะกลายเป็นพื้นที่สาธารณะรูปแบบใหม่ จากเดิมเราเคยได้ยินแต่คำว่า “พื้นที่สีเขียว” ก็จะเริ่มกลายเป็น “พื้นที่สีฟ้า” ที่หมายถึงแม่น้ำสายหลักกลางเมืองใหญ่นั่นเอง

แนวคิดนี้เริ่มต้นมาจากกลุ่มผู้ผลักดันที่มีชื่อว่า Swimmable Cities Alliance ซึ่งเป็นเครือข่ายของนักเคลื่อนไหวด้านการว่ายน้ำในเมือง ผู้ก่อตั้งคือ Matt Sykes สถาปนิกภูมิทัศน์ชาวออสเตรเลียที่คาดหวังว่าภายในปี 2030 จะได้เห็นเมืองที่สามารถลงไปว่ายน้ำได้ 30 แห่ง ซึ่งเมืองเหล่านี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้เมืองอื่นๆ ต้องขยับและขยันในการทำตาม

จากนั้นก็จะสนับสนุนให้ขยายไปถึง 300 เมืองเริ่มต้น เพื่อนำไปสู่เส้นทางการเป็นเมืองที่ว่ายน้ำได้จริง ที่จะช่วยลดปัญหาเรื่องความเครียดของคนเมืองที่เพิ่มขึ้นทุกวัน

Photo: https://www.designboom.com/technology/plus-pool-new-york-city-self-filtering-east-river-water-01-08-2024/

นอกจากจะทำให้แม่น้ำสามารถว่ายน้ำได้ยังมีโครงการประเภทเอาสระว่ายน้ำไปไว้ในแม่น้ำแทน ก็ให้ความรู้สึกเหมือนได้ว่ายน้ำในแม่น้ำเช่นกัน อย่างเช่นที่ Newyork ก็มีโครงการชื่อ Plus Pool ที่เอาสระว่ายน้ำไปไว้ในแม่น้ำอีกที แต่สระว่ายน้ำนี้ก็มาคู่กับระบบบำบัดน้ำเสียในแม่น้ำ เรียกได้ว่ามีแต่วินวินกันทุกฝ่ายครับ

ผลกระทบเชิงบวกของการผลักดันโครงการทำแม่น้ำให้ว่ายน้ำได้คือการปรับปรุงระบบระบายน้ำเสียของทั้งเมือง ส่งผลต่อนโยบายน้ำของเมืองนั้นๆ ตามมาด้วยหลายประการ เพราะน้ำปลายทางจะสะอาดได้ก็ต้องสะอาดมาตั้งแต่ต้นทาง เรียกได้ว่าเป็นโครงการที่ดูเล็กแต่กลับส่งผลกระทบมหาศาล ก็ไม่รู้ว่าแม่น้ำเจ้าพระยาบ้านเราจะสามารถทำแบบนี้ได้หรือไม่

สรุป Health & Wellness Trend 2025-2026 ที่ 9 Swimmable Cities เพิ่มพื้นที่สาธารณะสีฟ้าด้วยการทำแม่น้ำในเมืองให้ว่ายน้ำได้

ดูเหมือนนิยามพื้นที่สาธารณะจะต้องขยับขยายออกมาจากแค่พื้นที่สีเขียวที่ดูมีจำกัดมากขึ้นทุกที เพราะที่ดินจำนวนมากก็กลายเป็นของเอกชนไปแล้ว มาสู่การพัฒนาพื้นที่สีฟ้าที่เป็นแหล่งน้ำ แม่น้ำต่างๆ ให้ประชาชนในเมืองสามารถเข้าไปใช้งาน ใช้บริการได้

แน่นอนว่าสิ่งนี้จะช่วยเยียวยาสภาพจิตใจของคนเมืองที่เต็มไปด้วยความเครียดมากมาย ให้มีพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจหลังเลิกงานที่ไม่ใช่แค่เดินห้างช้อปปิ้งเสียเงินอย่างเคย

การพัฒนาพื้นที่สีฟ้าจะช่วยสร้างเศรษฐกิจใหม่ๆ รายรอบผู้มาใช้บริการแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน อาจจะเป็นล็อกเกอร์ หรืออื่นๆ มากมาย แต่ที่สำคัญสุดคือการปรับปรุงนโยบายเรื่องน้ำของเมืองให้ดีขึ้นกว่าเดิมแน่นอนครับ

10. Vibroacoustic Therapy ศาสตร์แห่งการบำบัดด้วยการสั่นจากคลื่นเสียง

“จากซาวน์บำบัดสู่การสั่นบำบัดแบบ Immersive Self-Care”

ฟังเผินๆ อาจคิดว่าเป็นการบำบัดด้วยเสียง แต่ไม่ใช่นะครับ เพราะถ้าเสียงจะใช้แค่การฟังแล้วบำบัดรักษาได้ แต่เทรนด์สุดท้ายนี้จะเป็นการเอาคลื่นความสั่นสะเทือนจากเสียงมาใช้ในการบำบัดเป็นหลัก เสียงจึงเป็นแค่ส่วนหนึ่งของการบำบัดนี้ไม่ใช่พระเอกหลัก

ถ้าคิดไม่ออกว่าคลื่นสั่นจากเสียงเป็นอย่างไร คิดถึงเวลาคุณอยู่ใกล้ลำโพงเบสหรือ Subwoofer ดูนะครับ อารมณ์การสั่นมันก็จะอะไรประมาณนั้นแหละ

ลองมาดูตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงแล้วจากบริษัทด้านสุขภาพอย่าง Tersa ที่จัดกิจกรรมบำบัดชื่อว่า Sound Healing Pop-up ขึ้นมาเพื่อเปิดตัว Sava Sound Pod ซึ่งบริษัทให้นิยามว่าเป็นอนาคตของการฟื้นฟูสุขภาพแบบองค์รวม

View this post on Instagram

A post shared by TERSA (@tersa.co)

หน้าตามันดูเหมือนแท่นเตียงนอนขนาดใหญ่ โดยให้ผู้ใช้งานขึ้นไปนอนจากนั้นระบบก็จะวิเคาะห์คำนวนด้วย AI ว่าควรจะใช้คลื่นความสั่นสะเทือนแบบไหน ที่ความถี่เท่าไหร่จึงจะช่วยฟื้นฟูบำรุงเราให้กลับมาสดชื่นแข็งแรงอีกครั้ง

อีกแง่หนึ่งนี่คือประสบการณ์แบบ Immersive Exprience เพียงแต่คงต้องเรียกใหม่ว่าเป็น Immersive Self-Care การดูแลตัวเองในแบบที่จมลึกลงไปถึงระดับสมาธิจิตใจก็ว่าได้

เจ้าอุปกรณ์ Sava Sound Pod นี้ใช้เวลานานถึง 5 ปีในการพัฒนาขึ้นมาจนมีรูปทรงคล้ายแคปซูลเตียงขนาดเท่ากับตัวคน มีดีไซน์โค้งมนคล้ายปีกนก และก็มีเปลือกหุ้มที่ให้ความรู้สึกเหมือนกลับไปอยู่ในครรภ์อีกครั้งด้วยความรู้สึกว่ามีอะไรที่กำลังโอบอุ้มร่างกายเราอย่างอ่อนโยน

เจ้าอุปกรณ์ตัวนี้มีตัวส่งคลื่นความถี่สูงจำนวน 10 ตัวติดตั้งไว้ตามจุดต่างๆ ที่ผ่านการวิเคราะห์มาเรียบร้อย ตั้งแต่ ขา สะโหก หลัง ไหล่ และก็ยังมีลำโพงรอบทิศทางอีก 4 ตัวอยู่รอบส่วนหัวเรา ให้เรารู้สึกกำลังเข้าสู่อีกมิตินึงของการรักษาที่แท้จริง

ทั้งหมดที่ดูซับซ้อนนี้ควบคุมผ่านแอปในมือถือแบบง่ายๆ เราสามารถปรับการใช้งานได้ตามใจด้วยการกดไม่กี่ครั้ง เป้าหมายของเจ้า Sava Sound Pod นี้ไม่ใช่แค่ทำให้ผู้ใช้รู้สึกดีขึ้นในชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่ยังต้องการให้เชื่อมโยงกับสมาธิ สุขภาพจิต เพื่อให้มีสุขภาวะที่ดีที่สุดอย่างแท้จริง

จริงๆ แล้วเทคโนโลยี Vibroacoustic Therapy นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างไร เพราะถูกพัฒนาขึ้นครั้งแรกในช่วงปี ๅ 1980 โดยเน้นเรื่องการรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด ไม่ต้องใช้ยา แต่ใช้คลื่นการสั่นสะเทือนเข้าไปในร่างกายเพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างที่ตั้งใจไว้

แม้เจ้าเครื่อง Sava ตอนนี้จะมีราคาสูงถึง 10,000 ดอลลาร์ นั่นก็เพราะตั้งเป้าไปยังกลุ่มผู้ชื่นชอบเรื่องนี้จริงๆ และก็ต้องมีเงินมากพอด้วย กับกลุ่มที่เป็นธุรกิจดูแลสุขภาพสมัยใหม่ โรงแรมหรูชั้นนำ แต่ก็คาดการณ์ว่าเมื่อเทคโนโลยีนี้ได้รับความนิยมมากขึ้นก็จะมีรุ่นใหม่ๆ ที่ราคาถูกลงตามออกมาในอนาคต

แต่ถ้าใครมีงบไม่พอในวันนี้แต่กลับสนใจอยากลองใช้งานมันจริงๆ ก็มีอีกหนึ่งทางเลือกให้ นั่นก็คือ Opus SoundBed ที่มีราคาถูกลงมาเหลือแค่ 2,000 ดอลลาร์โดยประมาณ (ราคาเท่าเตียงดีๆ ตัวนึง) โดยให้ประสบการณ์การนอนแล้วได้รับการสั่นเพื่อรักษาบำบัดได้เหมือนกัน ผ่าน 7 Channel Spatial Sound ที่ครอบคลุมตั้งแต่หัวจรดเท้า

ออกแบบให้มีสภาพแวดล้อมแบบ cocoon-like ที่สามารถเน้นการบำบัดเฉพาะจุดที่ตัวเองต้องการก็ได้เช่นกัน ซึ่งก็สามารถช่วยลดความเครียด ทำให้ผ่อนคลายหรือพักผ่อนในโซนลึกได้อย่างรวดเร็ว

สรุป Health & Wellness Trend 2025-2026 ที่ 10 Vibroacoustic Therapy จากซาวน์บำบัดสู่การสั่นบำบัดแบบ Immersive Self-Care

การแพทย์ทางเลือกเป็นที่นิยมมากขึ้นทุกวัน และการรักษาด้วยวิธีใช้คลื่นความสั่นสะเทือนเข้าไปในร่างกายก็ดูจะปลอดภัยและยังได้รับความสนใจจากคนยุคใหม่อย่างมาก เทรนด์การรักษาแบบนี้กำลังได้รับความนิยมอย่างมากของการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ถ้ามีเงินจะซื้อไปใช้ส่วนตัวก็ได้ หรือจะไปใช้บริการกับเอกชนหรือสถานพยาบาลก็ง่ายครับ

  1. Joyful Architecture ดีไซน์ฮีลใจ ตึกยุคใหม่ต้องสนุก
  2. Social Saunas ซาวน่าสังสรรค์ พื้นที่คุยงานและธุรกิจรูปแบบใหม่
  3. Somatic Wellness สุขภาวะโซมาติก เข้าใจร่างกายให้ลึกซึ้ง
  4. Long Life Careers ชีวิตไร้เกษียณ เมื่อต้องทำงานจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต
  5. Home Clinic Hubs ดูแลสุขภาพจากดาต้าที่บ้านคุณ
  6. Social Prescription ออกไปทำกิจกรรมช่วยสังคมแทนกินยา
  7. Ozempic World เศรษฐกิจโลกใหม่จากยาลดน้ำหนัก GLP-1
  8. The Devolution of Health Care อนาคตการแพทย์คือการที่แพทย์จะเหมือนอยู่ในบ้านคุณตลอดเวลา
  9. Swimmable Cities พื้นที่สาธารณะสีฟ้า
  10. Vibroacoustic Therapy ศาสตร์แห่งการบำบัดด้วยการสั่นจากคลื่นเสียง

คงพอเห็นทิศทางเทรนด์การดูแลรักษาสุขภาพของผู้คนในปีนี้และปีหน้า อ่านแล้วลองคิดดูว่าเทรนด์ไหนที่เรารู้สึกว่าใช่และเอาไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจเราเพื่อสร้าง New S Curve ขึ้นมานะครับ

อ่านเรื่อง Hospitality Trends 2024-2025 ในการตลาดวันละตอนต่อ

Source: https://www.vml.com/insight/the-future-100-2025

เจ้าของเพจการตลาดวันละตอน / อาจารย์พิเศษวิชา Data-Driven Communication / เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่ม Personalized Marketing, Data-Driven Marketing, Data Thinking, Contextual Marketing และ Social Listening / ที่ปรึกษา Data-Driven Advisor

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *