marketing-psychology-trends-2025-secret-sauce-summit

Psychology Marketing Trend 2025 ชนะใจลูกค้าด้วยจิตวิทยาการตลาด

Psychology Marketing Trend ปี 2025 จะเป็นเรื่องอะไรนั้น พากันไปหาคำตอบในงาน The Secret Sauce Summit 2024 อีเวนต์สำหรับผู้ประกอบการและนักธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งผู้เขียนตัวแทนจากการตลาดวันละตอนได้รับโอกาสไปร่วมงานในครั้งนี้ และสรุปความรู้จาก Session ต่าง ๆ มาฝากคุณผู้อ่านค่ะ

ในบทความนี้ผู้เขียนจะพาคุณผู้อ่านไปเก็บตกประเด็นกับ Session ของคุณมัณฑิตา จินดา ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิจิทัล ทิปส์ จำกัด ซึ่งได้มาบรรยายในหัวข้อ “Inside the Customer’s Mind 2025 เทรนด์จิตวิทยาผู้บริโภคปี 2025” ที่นักการตลาดต้องรู้! ทำความเข้าใจความคิดและพฤติกรรมของผู้บริโภคก่อนการทำการตลาด เตรียมพร้อมปังในปีหน้า ซึ่งจะมีอะไรที่น่าสนใจบ้างนั้น ถ้าพร้อมกันแล้ว ก็ไปดูกันเลย!

Psychology Marketing สำคัญอย่างไร?

ถ้าเราเข้าใจลูกค้า เราจะทําธุรกิจได้ดีขึ้น เพราะการพยายามทำความเข้าใจว่าเขาคิดอะไร รู้สึกอย่างไร เหมือนกับเราได้กลับมาเข้าใจตัวเองในฐานะลูกค้ามากยิ่งขึ้นด้วย คุณมัณฑิตาได้กล่าวไว้

ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเราจะพบว่ามีปรากฏการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมายที่บางทีเราก็ไม่เข้าใจมันสักเท่าไหร่ ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่ศิลปินที่เราชื่นชอบไปเกี่ยวข้องกับสินค้าอะไรสักอย่าง ทําไมเราถึงรู้สึกดีกับสินค้าเหล่านั้นมากขึ้น

อย่างเช่นที่คุณลิซ่าชื่นชอบยาดมหงส์ไทยและลาบูบู้ ทำให้ใคร ๆ หลาย ๆ คนที่เป็นทั้งแฟนคลับและอาจจะไม่ใช่แฟนคลับหันมาสนใจและรู้สึกด้านดีกับสินค้าเหล่านี้มากขึ้น

หรืออีกตัวอย่างนึง เคยไหมที่เวลาเห็นอะไรบางอย่างครั้งแรกก็รู้สึกยังเฉย ๆ แต่พอเห็นบ่อย เห็นซ้ำยิ่งขึ้น ก็รู้สึกดีขึ้นมาซะงั้น อย่างเคสน้องหมีเนย ที่ในตอนแรกน้องก็เป็นมาสคอสที่มีความน่ารักน่าเอ็นดูแต่มีน้อยคนที่เห็น แต่พอบูมเป็นกระแสขึ้นมาก็มีมัมหมีน้องเนยเกิดขึ้นกันทั่วบ้านทั่วเมือง (หนึ่งในนั้นก็ผู้เขียนเอง)

ซึ่ง Psychology หรือจิตวิทยา สามารถช่วยให้อธิบายและไขความลับของปรากฏการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ได้ เพราะจิตวิทยาเป็นการศึกษาที่ลงลึกไปถึงความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งพอบวกกับศาสตร์ของ Marketing แล้วจะยิ่งทรงพลังมาก ทําให้เราสามารถสื่อสารการตลาดได้ดีมากขึ้น และที่สําคัญทําให้เราเข้าใจโลกการตลาดรอบตัวเราได้ดีมากยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน

ต่อมา คุณมัณฑิตา ได้ยกตัวอย่างเคสการนำจิตวิทยาการตลาดมาใช้ในการทําธุรกิจ โดยได้ชวนตั้งคำถามว่า ทำไมภาพหน้าปัดนาฬิกในโฆษณานาฬิกาทั่วโลกต้องตั้งเข็มนาฬิกาไว้ที่ 10 โมง 10 นาที ?

ซึ่งพอหลังจากทำการวิจัยแล้ว พบว่าเวลาเราตั้งเข็มนาฬิกาที่ 10 โมง 10 นาที มันส่งผลให้ผู้บริโภครู้สึกดีเพราะดูละม้ายคล้ายคลึงกับหน้ายิ้มนั่นเอง ดังนั้นก่อนที่เรานำจิตวิทยาการตลาดมาใช้ในการทําธุรกิจจําเป็นอย่างมากที่จะต้องเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์

Understanding Human Nature

เรื่องที่น่าศึกษาในการทำความเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ที่ คุณมัณฑิตา ได้ยกมาบรรยาย มีอยู่ 2 เรื่อง ได้แก่ ระบบวิธีคิดที่ส่งผลต่อการตัดสินใจ และ Sense of Belonging

ระบบวิธีคิดที่ส่งผลต่อการตัดสินใจ

โดยเริ่มที่เรื่องแรก อย่างที่รู้กันดีว่าเราทุกคนใช้ทั้งเหตุผลและอารมณ์ในการตัดสินใจ ซึ่งในหนังสือ Thinking, Fast and Slow ของ Daniel Kahneman ได้อธิบายเอาไว้ว่า มนุษย์เรามีระบบวิธีการตัดสินใจอยู่ 2 แบบด้วยกัน

โดยระบบที่ 1 หรือเรียกว่า System 1 คือระบบการตัดสินใจที่ใช้สัญชาตญาณ เป็นการตัดสินใจที่เกิดขึ้นแบบรวดเร็ว ในทางตรงกันข้าม ระบบที่ 2 หรือเรียกว่า System 2 คือระบบการตัดสินใจที่ใช้เหตุผล เป็นการตัดสินใจที่ใช้สมาธิ ใช้การคิดพิจารณา รอบคอบ

แล้วโดยส่วนใหญ่ในแต่ละวันคนส่วนใหญ่ใช้ System 1 หรือ 2 มากกว่ากัน? แน่นอนว่าต้องเป็น System 1 เพราะอะไรหน่ะหรือ ก็เพราะว่าในชีวิตประจำวันของเรามีเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ต้องตัดสินใจเยอะมาก เช่น วันนี้จะใส่น้ำตาลในกาแฟกี่ช้อน ซึ่งถ้ารอใช้ System 2 ตัดสินใจ ในวันนั้นคงทำอะไรได้น้อยมาก หรือถ้าเป็นเรื่องความเป็นความตายก็คงไม่สามารถเอาตัวรอดได้

และนั่นจึงเป็นเหตุผลว่า เวลาเราทําการสื่อสารการตลาด เราไม่สามารถ Convince ลูกค้าได้เพียงแค่การใช้เหตุผล Fact หรือตัวเลข เพราะลูกค้าไม่ได้อยู่ System 2 ตลอดเวลา แล้วถ้าเราอยากให้ลูกค้าตัดสินใจได้เร็วขึ้น เราจะต้องใส่เรื่องของ Emotional เข้าไปด้วย ทำให้ลูกค้ารู้สึก เพราะเมื่อไหร่ที่ลูกค้ารู้สึก ลูกค้าจะตัดสินใจได้

ในทางกลับกันถ้าเราอยู่ในฐานะผู้บริโภค แล้วเมื่อไหร่ที่เริ่มอยากได้ของบางอย่างที่ไม่ได้จําเป็น ให้เราหยุดคิดแล้วดึง System 2 เข้ามาช่วยชะลอการตัดสินใจ

Sense of Belonging

ต่อมาเรามาดูที่เรื่องที่ 2 นั่นก็คือ Sense of Belonging หรือ ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มหรือสังคม ซึ่งเป็นสิ่งพื้นฐานที่สําคัญมากของจิตใจมนุษย์ โดยความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจากการถูกกีดกันออกจากกลุ่มหรือสังคม ที่เรียกว่า Social Exclusion เป็นความเจ็บปวดที่เจ็บพอ ๆ กับ Physical pain เลย

ดังนั้น การที่เราทําให้ลูกค้ารู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่ง ลูกค้าจะรู้สึกว่าห่างไกลจากเราไปเรื่อย ๆ และสุดท้ายเราก็จะค่อย ๆ สูญเสียพวกเขาไป ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากที่เกิดขึ้น แต่คําถามก็คือแล้วการตลาดในโฆษณาที่ผ่านมา ทําให้คนโดน Exclusion หรือไม่ อย่างไร?

ซึ่งพบว่าในอดีต Spotlight ต่าง ๆ จะตกไปที่คนสวย คนหล่อ รูปร่างดี มีความสามารถสูง ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่มันทําให้คนจํานวนมากรู้สึกว่าตัวเองไม่ Belong แล้วทําให้หลายคนเป็นทุกข์อีกด้วย แต่ในเคสของ Calvin Klein แบรนด์ได้ลงภาพโฆษณาผิวแตกลายไปใน Instagram ซึ่งได้รับเสียงชื่นชมเยอะมาก เพราะผิวแตกลายเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ แต่ Beauty standard ที่ผ่านมา ทําให้มันดูไม่ปกติ

หรืออีกเคสนึง ของคู่กันกับแฟชั่นโชว์ของ Victoria’s Secret ก็คือ นางฟ้า Victoria’s Secret ที่มีแต่นางแบบสวย ๆ แต่ Victoria’s Secret ยุคใหม่นี้ กำลังสื่อสารว่า เราสวยในแบบของตัวเองได้ โดย represent คำดังกล่าวด้วยการจัดแฟชั่นโชว์ที่มีนางแบบที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งรูปร่าง สีผิว วัย ความสามารถต่าง ๆ สะท้อนถึงการโอบรับความแตกต่างหลากหลายมากขึ้นของแบรนด์

และนี่คือประเด็นที่ คุณมัณฑิตา มองว่าเรื่องนี้จะเป็น เทรนด์ จิตวิทยาผู้บริโภค ในปี 2025 นั่นก็คือ Diverse and Inclusive Marketing

Psychology Marketing Trend ปี 2025

Diverse and Inclusive Marketing เทรนด์จิตวิทยาผู้บริโภคที่โอบรับความหลากหลาย

เทรนด์จิตวิทยาผู้บริโภค Diverse and Inclusive Marketing นิยามได้ว่า การตลาดแบบโอบรับความหลากหลาย และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งถูกพัฒนามาจากแนวความคิด DEI หรือ Diversity Equity และ Inclusive ความแตกต่างหลากหลาย ความเท่าเทียม และการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ซึ่ง DEI มีความสำคัญในการทําการตลาดมากในยุคนี้ เพราะลูกค้าเปลี่ยนแล้ว โดยเมื่อก่อนอาจจะตั้งคำถามกับแบรนด์ว่า สินค้าและบริการดีหรือไม่ เปลี่ยนเป็น แบรนด์ทําอะไรเพื่อคนอื่น หรือ stand for ประเด็นอะไรในสังคมบ้างหรือไม่ รวมถึง DEI ยังเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจมาก เพราะฉะนั้นถึงเวลาที่แบรนด์จะต้องเปลี่ยนตาม

เราทุกคนกําลังอยู่ในโลกมีความแตกต่างหลากหลายมากขึ้น เช่น ความหลากหลายของทั้ง 6 Generations และแต่ละ Gen ภาษาที่ใช้สื่อสารก็แตกต่างกันด้วย หรือ ความหลากหลายทางเพศ LGBTIQA+ เป็นต้น ซึ่งจริง ๆ แล้วยังมีอีกหลายประเด็นมาก ๆ ดังภาพด้านบน

การเข้าใจเรื่องแบบนี้เกี่ยวข้องกับนักการตลาดอย่างมาก เพราะทุกอย่างที่เราคิด ที่เราเชื่อ มันจะสะท้อนออกมากับทุกอย่าง เช่น แคปชั่น แคมเปญ Copywrite หรือ การเลือก Endorser ของเรา เป็นต้น

ยกตัวอย่าง Srichand แบรนด์เครื่องสำอาง ซึ่งถ้าเป็นเมื่อก่อน Presenter ของสินค้าประเภทนี้ จะต้องเป็นผู้หญิงที่สวย และภาพจะต้องโดนรีทัชด้วย แต่จะพบว่า Presenter ของ Srichand สะท้อนความหลากหลายมากกว่านั้น ดังนั้นจึงทำให้เรารู้ว่าแบรนด์ไม่ได้มีหน้าที่เป็นคนกำหนดตัวตนของผู้บริโภคอีกต่อไปแล้ว

ในขณะเดียวกันถ้ามีแนวคิดแบบ Inclusive ที่โอบรับ DEI ก็ต้องมีคู่ตรงข้ามนั่นก็คือ Exclusive หรือก็คือการมองว่าแบรนด์เป็นใหญ่ แบรนด์เป็นคนกำหนดตัวตนของลูกค้าเอง โนสนโนแคร์ ความหลากหลายอะไรไม่อิน

โดย คุณมัณฑิตา ได้ยกตัวอย่างเคสนึงขึ้นมาบรรยายซึ่งเป็นเคสที่เห็นการเปรียบเทียบของ Exclusive และ Inclusive ได้เป็นอย่างดี นั่นก็คือ เคสของแบรนด์ Abercrombie & Fitch แบรนด์เสื้อผ้าอเมริกาที่โด่งดังมากสมัยเมื่อประมาณซัก 10 กว่าปีที่แล้ว ซึ่งมี Target คือ Cool kids เด็กที่ดัง และ Popular ในโรงเรียน และก็มีแต่เสื้อผ้าไซส์เล็ก ๆ ซึ่งถ้าเป็นเด็กธรรมดา ๆ และมีรูปร่างใหญ่ ก็จะไม่ให้ความสนใจจากแบรนด์ และถูกมองว่าเขาไม่ใช่พวกเราหรือทำให้รู้สึกเหมือนกีดกันออกไป เพราะตอนนั้นแบรนด์รู้สึกภูมิใจที่ได้มอบความ Exclusive ให้แก่ Target ลูกค้าของตัวเอง

เมื่อโลกเปลี่ยน แน่นอนว่าแนวคิดแบบนี้ทำให้แบรนด์อยู่ไม่รอด แล้วยังโดนประท้วงอีก รวมถึงแบรนด์ Struggle อยู่ประมาณ 10 ปีเต็ม ๆ รายได้ลดลงฮวบฮาบ แต่จุดที่น่าสังเกตอยู่ตรงที่ว่ากราฟในช่วงสุดท้ายประมาณปี 2023 ขึ้นไป กราฟมันเริ่มขึ้นมา

ซึ่งเกิดจากการที่แบรนด์เริ่มปรับตัวทำทุกอย่างแบบ All about Inclusive เปลี่ยนวิธีการสื่อสาร การทํางาน Mindset ทั้งหมด จนทำให้เกิดมาเป็น Turn around ครั้งยิ่งใหญ่ที่ยังทำให้แบรนด์อยู่รอดมาได้

แต่ คุณมัณฑิตา ไม่อยากมองว่าการทําเรื่องของ Inclusive เป็นแค่เรื่องของการสร้างผลกําไรหรือรายได้ แต่เราต้องศึกษาจนเข้าใจก่อน ไม่จําเป็นต้องรีบ ทำเท่าที่เชื่อ อย่าทำในสิ่งที่เราไม่เชื่อ เพราะเดี๋ยวมันโป๊ะ

และที่สําคัญเวลาเราจะทําเรื่องของ Inclusive จะต้องทำแบบ Inside-Out หรือก็คือทําในองค์กรให้ได้ก่อน ก่อนจะออกไปสู่ข้างนอก เช่น ถ้าจะทำประเด็นความหลากหลายทางเพศ ก็อาจจะเริ่มจากการรับพนักงาน LGBTIQA+ ก่อน เป็นต้น

สุดท้าย ลองฝึกชื่นชม & Normalize ความแตกต่าง เพื่อให้เกิดความเชื่อและถ้าเราเชื่อแล้ว การทําการตลาดของเรา จะไม่ใช่การตลาดที่ปรับไปตามกระแส แต่จะเป็น Movement ที่สร้าง Impact แก่สังคม

สรุป

Session ของคุณมัณฑิตา จินดา หัวข้อ Inside the Customer’s Mind 2025 เทรนด์ จิตวิทยาผู้บริโภค ปี 2025 ถือว่าเป็นการสร้างความเข้าใจในพฤติกรรมและความคิดของผู้บริโภคใน 2 เรื่องที่สำคัญ ได้แก่ ระบบวิธีคิดที่ส่งผลต่อการตัดสินใจ และ Sense of Belonging ที่ถ้านักการตลาดเข้าใจก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำการตลาดให้ดีขึ้นได้ รวมทั้งยังได้รู้จักเทรนด์ในปีหน้าที่น่าจับตามอง นั่นก็คือ Diverse and Inclusive Marketing ซึ่งเน้นการโอบรับความหลากหลาย เพื่อให้ผู้บริโภครู้สึกเป็นส่วนหนึ่งและไม่ถูกกีดกันจากแบรนด์ ซึ่งถ้าเราจับอาวุธจิตวิทยาและแนวคิด Inclusive มาใช้ร่วมกับการตลาดได้ ผู้เขียนเชื่อว่าจะยิ่งเพิ่มความปังให้กับแบรนด์ในปีหน้าได้อย่างแน่นอน

สำหรับใครที่สนใจอ่านบทความอื่นๆ หรือ ต้องการอัปเดตความรู้การตลาดเพิ่มเติม สามารถติดตามได้ที่ช่องทาง WebsiteFacebookInstagramTwitterYouTube และ Tiktok ของการตลาดวันละตอนตามนี้ได้เลยค่ะ

บทความที่แนะนำให้อ่านเพิ่มเติม

นิวส์ Introverted Learner คนหนึ่งที่สนใจ Marketing หลงรักในศิลปะ งานสร้างสรรค์ เสียงเพลง และความสงบ ทุกบทความเขียนด้วยความตั้งใจที่อยากจะถ่ายทอด Input ที่ได้เรียนรู้ สู่ Output ที่เป็นประโยชน์กับผู้อ่านทุกคนค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *