เคยสังเกตไหมคะว่า ทำไมบางแบรนด์ถึงดูสนุก ดูมีชีวิต ดูน่าจดจำแบบสุด ๆ แต่บางแบรนด์กลับเงียบเหงาเหมือนไม่มีตัวตน? ทุกวันนี้ ผู้บริโภคไม่ได้แค่ “ ซื้อสินค้า” แต่พวกเขาเลือก “ ความรู้สึก” ที่แบรนด์ส่งมาถึง จะให้คนจ่ายเงินซื้อของเพราะแค่คุณภาพหรือราคามันไม่พอแล้วค่ะ เพราะโลกเราเปลี่ยนเร็ว พฤติกรรมผู้บริโภคก็เปลี่ยนตาม นักการตลาดที่ไหวตัวทันเท่านั้นถึงจะอยู่รอด ไม่นานมานี้ ผู้เขียนมีโอกาสไปร่วมงาน Future Trends Ahead Summit 2025 งานที่รวมเทรนด์การตลาดที่กำลังจะมาแรง หนึ่งในนั้น พี่หนุ่ย จากการตลาดวันละตอน ก็ได้ขึ้นเวทีแชร์เทรนด์ไทยที่น่าสนใจด้วยค่ะ วันนี้เลยอยากสรุป 6 Thai Marketing Trends 2025 ที่แบรนด์ไทยต้องรู้ มาให้อ่านแบบจัดเต็ม รับรองว่าอ่านแล้วเอาไปใช้ได้จริงแน่นอนค่ะ
6 Thai Marketing Trends 2025: รู้จักคนไทยยุคใหม่ ผ่าน 6 เทรนด์การตลาด
พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปทุกวัน ถ้าทำการตลาดเหมือนเดิมไปเรื่อย ๆ สุดท้ายแบรนด์อาจจะตกขบวนก่อนรู้ตัวด้วยซ้ำค่ะ เทรนด์เหล่านี้คือ “สัญญาณ” ว่าผู้บริโภคกำลังมองหาอะไร และเราจะเข้าถึงพวกเขาได้ยังไง ถ้าพร้อมแล้ว มาดูกันเลยว่า 6 เทรนด์ที่จะพาแบรนด์ไปอยู่ในใจผู้บริโภคปี 2025 มีอะไรบ้าง
1. Over-Acted Marketing – การตลาดเติมจริต
เพราะชีวิตมันเครียด คนเลยอยากได้อะไรที่ “ สนุก” และ “ พาออกจากโลกแห่งความจริง”
ทุกวันนี้ เชื่อว่าผู้อ่านหลาย ๆ คน (รวมถึงผู้เขียนเองด้วย TT) ต้องรับมือกับความเครียดรอบตัว ทั้งจากงาน สังคม หรือเรื่องส่วนตัวใช่ไหมคะ ทำให้ต้องการบางสิ่งที่ช่วยให้หลุดพ้นจากความจริง ถึงแม้จะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ ก็ตาม
ที่ผ่านมา หลายแบรนด์ในไทยมักใช้ Mascot เป็นตัวแทนแบรนด์เพื่อสร้างเอกลักษณ์ (Brand Identity) แต่ในยุคนี้ แค่ Mascot อาจไม่พอแล้วค่ะ ต้องมี “จริต” เข้าไปด้วย!
เช่น Jelly Cat ที่ขายตุ๊กตาธรรมดา ๆ แต่เพิ่ม “จริต” ให้ดูมีชีวิตชีวา เหมือนหลุดมาจากโลกการ์ตูน อย่างการทำท่าตีแป้ง บีบครีมตกแต่ง สร้างประสบการณ์แปลกใหม่ให้ลูกค้าอยากมาลองซักครั้งในชีวิต หรือ Dream World ที่มีมาสคอต “มาดาม” ซึ่งเป็นตัวมัมสายแฟสุดแซ่บ จนคนอยากไปเจอตัวจริงกันถึงสวนสนุก
แล้วแบรนด์ของคุณจะเอาไปใช้ยังไง?
ไม่จำเป็นต้องมี Mascot แต่ต้องมีสไตล์ที่ชัดเจน ใส่จริต หรือเอกลักษณ์ที่โดดเด่นลงไปในตัวแบรนด์
ใช้ Storytelling ทำให้แบรนด์ดูมีชีวิต และเชื่อมโยงกับผู้บริโภคได้ดีขึ้น
2. InfluPartnership – จากจ้างโปรโมท สู่ช่วยสร้างโปรดักส์
จากการจ้างอินฟลูให้พูดถึงแบรนด์ เปลี่ยนเป็นให้พวกเขามีส่วนร่วมในการสร้างโปรดักส์เลย!
ส่วนใหญ่แบรนด์ไทยใช้ Influencer หรือคนดังเพื่อหวังพลังจากฐานแฟนคลับก็จริงค่ะ แต่ปัญหาคือ ถ้าแคมเปญจบ อินฟลูไม่ได้พูดถึงแบรนด์อีก ทุกอย่างก็จบไปด้วย ดังนั้นเทรนด์ใหม่ก็คือ ให้เขามาร่วมออกแบบสินค้ากับแบรนด์เลย
ตัวอย่างเช่น Mr. Big x น้าเน็ก ที่ทำ “ หมอนเสย” อุปกรณ์เสริมที่ช่วยให้กิจกรรมบนเตียงสะดวกขึ้น หรือ Gap x Julia Huynh ที่ร่วมกับอินฟลูสาย Hoodie ออกแบบเสื้อผ้าที่ตรงใจคนรัก Hoodie สุด ๆ
ผู้เขียนมองว่า อย่างน้าเน็กเอง ทุกคนจะรู้จักกันดีว่าเป็นคนที่พูดตรง จริงใจ การที่เขามีส่วนร่วมในการออกแบบโปรดักส์แบบนี้ ทำให้โปรดักส์มันมี “ความหมาย” จริง ๆ ไม่ใช่แค่หมอนธรรมดา ส่วนแบรนด์ Gap ก็ดึงตัว Julia อินฟลูที่คลั่งรัก Hoodie แบบสุด ๆ รีวิวเสื้อกันหนาวมาเยอะมาก จนแทบจะกลายเป็น “ผู้เชี่ยวชาญ Hoodie” มาทำโปรดักส์ร่วมกัน ทำให้คนที่ติดตามเธอรู้สึกว่า “อันนี้คือ Hoodie ที่แท้จริง!”
แล้วแบรนด์ของคุณจะเอาไปใช้ยังไง?
เลือกอินฟลูที่ “อิน” กับสินค้าจริง ๆ เลือกคนที่มีตัวตนและไลฟ์สไตล์ตรงกับสินค้า ให้เขามีส่วนร่วมกับแบรนด์ ไม่ใช่แค่รับเงินรีวิว
เปิดพื้นที่ให้เขาแสดงความคิดสร้างสรรค์เต็มที่ เพราะอินฟลูรู้จักฐานแฟนของตัวเองดีที่สุด แบรนด์ไม่จำเป็นต้องคุมทุกอย่าง แต่ให้เขาเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์จริง ๆ
3. MBTI Marketing – From Personalized to Personality
ยุคนี้คนไม่ได้แค่บอกว่าตัวเองชื่ออะไร แต่อาจบอกว่า “ฉันเป็น INFJ” หรือ “ฉันเป็น ENFP”
เคยสังเกตไหมคะว่า คนไทยอินกับอะไรที่ช่วยให้เข้าใจตัวเองมากขึ้น ตั้งแต่นิตยสารยุคก่อนที่มีคอลัมน์ทายนิสัยจากกรุ๊ปเลือดและราศี จนถึงยุคนี้ที่มีควิซบุคลิกภาพ แชร์กันสนุกสนานบนโซเชียล โดยเฉพาะ MBTI ที่ฮิตทั่วบ้านทั่วเมือง เพราะมันช่วยให้คนอธิบายตัวเอง และเข้าใจคนรอบข้างได้ง่ายขึ้น
เพราะงั้น MBTI จึงไม่ใช่แค่เทรนด์ แต่กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไปแล้วค่ะ โดยเฉพาะในเกาหลี คนใช้ MBTI ทำความรู้จักกันตั้งแต่แรกเจอ เช่นในรายการ Single’s Inferno ที่แค่บอกว่า “ฉันเป็น ENFP” หรือ “ฉันเป็น INTP” คนดูก็เข้าใจคาแรกเตอร์ของพวกเขาภายในไม่กี่วินาที
เดิมที การทำตลาดแบบ Personalized อาจเน้นที่พฤติกรรมการซื้อ เพศ อายุ หรือพื้นที่อาศัย แต่ตอนนี้ ผู้บริโภคต้องการการตลาดที่ “ ตรงกับตัวตนของพวกเขา” มากขึ้น การแบ่งกลุ่มลูกค้าตามบุคลิกภาพจึงเป็นวิธีใหม่ที่ช่วยให้แบรนด์เข้าถึงลูกค้าได้ลึกขึ้น ค่ะ
แบรนด์ไหนที่จับเทรนด์นี้ได้ จะสามารถสร้างความสัมพันธ์ กับลูกค้าได้แน่นแฟ้นขึ้น เพราะพวกเขารู้สึกว่า “ แบรนด์นี้เข้าใจฉันจริง ๆ” ไม่ใช่แค่ใช้ AI ยิงโฆษณาไปงั้น แต่เป็นการตลาดที่ตรงจริตและตรงใจ
แล้วแบรนด์ของคุณจะเอาไปใช้ยังไง?
ออกแคมเปญหรือคอนเทนต์ที่ใช้ MBTI เป็นตัวเชื่อมโยง เช่น “MBTI แบบนี้ เหมาะกับสินค้าหรือบริการอะไร?” หรือแคมเปญที่ให้ลูกค้าเลือกสินค้าตามบุคลิกของตัวเอง เพื่อให้รู้สึกว่าแบรนด์เข้าใจพวกเขาจริง ๆ
ใช้ Data สร้าง Personalized Marketing ที่เข้าถึงตัวตนของลูกค้า
4. EmotionAI Marketing – คนยุคใหม่ชอบคุยกับ AI มากกว่าคน
ยุคนี้ AI ไม่ได้เป็นแค่เครื่องมือให้ข้อมูล แต่กลายเป็น “ที่พึ่งทางใจ” ของผู้คน
คนไทยเริ่มใช้ AI อย่าง ChatGPT เพื่อช่วยตัดสินใจเรื่องสำคัญ เช่น ปรึกษาปัญหาชีวิต วางแผนอนาคต หรือแม้แต่ ดูดวง! ใช่ค่ะ อ่านไม่ผิด AI ถูกนำมาใช้ในการวิเคราะห์ Birth Chart อ่านไพ่ยิปซี หรือแม้แต่ดูดวงลายมือ เพราะจุดเด่นของ AI คือ “ไม่ตัดสิน ไม่เหนื่อยฟัง และตอบได้ 24/7”
จากที่เคยเป็นแค่ เครื่องมือช่วยค้นหา AI กำลังกลายเป็นนักบำบัดเสมือน ที่ช่วยให้คนรู้สึกว่ามีใครสักคนคอยรับฟัง ซึ่งจริง ๆ แล้ว ผู้เขียนมองว่ามนุษย์ไม่ได้ต้องการคำตอบที่ถูกต้องเสมอไปหรอกค่ะ แต่ต้องการ “การตอบสนองที่เข้าใจพวกเขา” ต่างหาก
แล้วแบรนด์ของคุณจะเอาไปใช้ยังไง?
ใช้ AI ใน Customer Service ให้ฉลาดขึ้น ไม่ใช่ตอบหุ่นยนต์แบบเดิม แต่เข้าใจอารมณ์หรือตัวตนของลูกค้า
สร้าง AI Chatbot ที่เป็นเหมือน “เพื่อน” ของลูกค้า ต้องรู้จัก “พูดให้กำลังใจ” หรือช่วยแก้ปัญหาเชิงลึก
นำ AI ไปใช้ในแคมเปญที่สร้าง “ประสบการณ์เฉพาะบุคคล” เช่น AI ช่วยแนะนำสินค้าตามอารมณ์ของลูกค้า
5. Pet-Centric Marketing – เศรษฐศาสตร์ เศรษฐสัตว์
คนไม่ได้มองสัตว์เลี้ยงเป็น “สัตว์” อีกต่อไป แต่เป็น “ลูก”
ยุคนี้คนรักสัตว์ไม่ได้มองว่าสัตว์เลี้ยงเป็นแค่สัตว์อีกต่อไป แต่เป็น สมาชิกครอบครัวที่ต้องอยู่ในทุกช่วงเวลาของชีวิต เทรนด์ Pet Humanization จึงมาแรงขึ้นเรื่อย ๆ ค่ะ เจ้าของไม่ได้แค่ให้อาหาร หรือดูแลแค่พื้นฐานอีกต่อไป แต่ต้องการให้สัตว์มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปมากกว่าการดูแลสัตว์เลี้ยงแบบเดิม ๆ คือแนวคิด Pet-Centric Lifestyle หรือก็คือ การที่เจ้าของใช้ชีวิตโดยคำนึงถึงสัตว์เลี้ยงเป็นศูนย์กลาง ไม่ว่าจะไปไหนหรือทำอะไร ก็อยากให้สัตว์เลี้ยงไปด้วยเสมอค่ะ อย่างเวลาเลือก ร้านอาหาร ก็ต้องหาร้านที่พาสัตว์เลี้ยงเข้าไปได้ จะไปเที่ยวต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ ก็ต้องมีโรงแรมที่ต้อนรับสัตว์เลี้ยง หรือแม้แต่การดูหนังในโรงภาพยนตร์ บางที่ก็มีรอบพิเศษที่ให้เจ้าของพาน้อง ๆ เข้าไปชมด้วยกันได้
ด้วยพฤติกรรมแบบนี้ ทำให้ธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงเติบโตอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่แค่เรื่องอาหารหรือของใช้พื้นฐาน แต่รวมไปถึง บริการและไลฟ์สไตล์ที่ช่วยให้เจ้าของและสัตว์เลี้ยงใช้ชีวิตร่วมกันได้ดีขึ้น ตั้งแต่อาหารเสริมสัตว์ ฟิตเนส สปา ไปจนถึง Social Club สำหรับสัตว์เลี้ยง
เทรนด์นี้ไม่ได้จำกัดแค่แบรนด์ที่ขายสินค้าเกี่ยวกับสัตว์นะคะ แต่ธุรกิจไหนก็สามารถปรับตัวให้เข้ากับไลฟ์สไตล์นี้ได้ เพราะเจ้าของสัตว์เลี้ยงยอมจ่ายเพื่อให้สัตว์ที่รักของพวกเขาได้ใช้ชีวิตที่ดีที่สุดเสมอค่ะ
แล้วแบรนด์ของคุณจะเอาไปใช้ยังไง?
สร้างสินค้า/บริการที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์เจ้าของและสัตว์เลี้ยง
สนับสนุนกิจกรรมที่ทำให้เจ้าของกับสัตว์เลี้ยงใช้เวลาด้วยกัน
6. Single Influencer – เทรนด์การตลาดโสด สนุก สดใส
การเป็น “โสด” ไม่ได้หมายถึงความเหงาอีกต่อไป แต่คือ “อิสรภาพ” ที่เลือกได้!
ในอดีต การเป็นโสดอาจถูกมองว่าเป็น “ช่วงเวลารอคอยความรัก” ที่สุดแสนจะเหงา เศร้าซึม แต่ในยุคนี้ คนโสดจำนวนมากกลับเลือกใช้ชีวิตโสดอย่างมีความสุข สนุกกับชีวิต และให้ความสำคัญกับตัวเองมากขึ้น ค่ะ
เพราะฉะนั้น แบรนด์ที่สามารถเข้าใจและรองรับ “ไลฟ์สไตล์โสด” จะมีโอกาสเจาะตลาดกลุ่มนี้ได้มากขึ้น เช่น
Solo Travel เทรนด์ท่องเที่ยวคนเดียวกำลังมาแรง ไม่ต้องรอเพื่อน ไม่ต้องรอแฟน อยากไปไหนก็ไป
ที่อยู่อาศัยสำหรับคนเดียว เช่น คอนโดที่ออกแบบให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์คนโสด
คาเฟ่และร้านอาหารที่ออกแบบให้รองรับคนที่มาใช้เวลากับตัวเอง เช่น ที่นั่งแบบเป็นส่วนตัว เมนูพิเศษสำหรับคนที่มาเดี่ยว
แล้วแบรนด์ของคุณจะเอาไปใช้ยังไง?
ออกสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์คนโสด
สร้าง Community สำหรับคนโสด หรือแคมเปญสำหรับคนที่ Enjoy Life คนเดียว ไม่ใช่เพื่อหาแฟน แต่เพื่อเชื่อมโยงกับคนที่มีไลฟ์สไตล์เดียวกัน
ทำแคมเปญที่เฉลิมฉลองความโสด ให้การเป็นโสดเป็นเรื่องสนุก และไม่ต้องมีใครก็ใช้ชีวิตแบบมีคุณภาพได้
สรุป 6 Thai Marketing Trends 2025 จริตต้องมา อินฟลูต้องจริง AI ต้องรู้ใจ
จากทั้ง 6 เทรนด์ที่พูดถึงไป จะเห็นได้ชัดเลยนะคะว่า พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปมาก คนยุคนี้ไม่ได้สนใจแค่คุณสมบัติของสินค้าอีกต่อไป แต่พวกเขาเลือกจาก “ความรู้สึก” “จริต” และ “ตัวตน” ที่แบรนด์ส่งมาถึง
ไม่ว่าจะเป็นการตลาดเติมจริต ที่ทำให้แบรนด์สนุกขึ้น, Influencer ที่เปลี่ยนบทบาทจากแค่รีวิวมาเป็น Co-Creator, MBTI ที่ช่วยให้แบรนด์เข้าใจลูกค้าในระดับบุคลิกภาพ, AI ที่กลายเป็นที่พึ่งทางใจ, สัตว์เลี้ยงที่ไม่ใช่แค่สัตว์อีกต่อไป แต่เป็นครอบครัว หรือแม้แต่การตลาดที่รองรับไลฟ์สไตล์คนโสด ทุกอย่างสะท้อนว่า ผู้บริโภคต้องการแบรนด์ที่ “เข้าใจ” และ “เชื่อมโยง” กับพวกเขาได้มากขึ้น
ดังนั้น ถ้าจะทำการตลาดในปี 2025 สิ่งสำคัญไม่ใช่แค่ขายสินค้าให้คนซื้อ แต่ต้องทำให้แบรนด์เข้าไปเป็น “ประสบการณ์” และ “ส่วนหนึ่งของชีวิตลูกค้า” ให้ได้ และนี่คือโจทย์ที่ท้าทายมากขึ้นเรื่อย ๆ ค่ะ ถ้าแบรนด์ไหนเข้าใจและปรับตัวทัน ก็จะสามารถอยู่ในใจผู้บริโภคไปได้แบบยาว ๆ แล้วพบกันใหม่บทความหน้านะคะ :0)
อ่านบทความเพิ่มเติมที่นี่