เมื่อพูดถึง Tops หลายคนคงนึกถึงซูเปอร์มาร์เก็ตที่ขายสินค้านำเข้าและแบรนด์คุณภาพเป็นหลักใช่มั้ยครับ แต่ในปี 2568 นี้ ต้องบอกว่า การตลาด Tops 2025 ขยับหมากสำคัญอีกครั้ง ด้วยการเดินหน้าเต็มกำลังในกลุ่มสินค้า Own Brand หรือสินค้าที่ผลิตและพัฒนาโดยแบรนด์ของตัวเอง โดยตั้งเป้าให้ Own Brand สร้างรายได้เพิ่มขึ้นถึง 20% ภายในปีนี้เลยครับ บทความนี้จึงพามาวิเคราะห์ว่าเพราะอะไร Tops เห็นโอกาสตรงไหนจึงออกมาทำ Own Brand และมีกลยุทธ์ในการทำอย่างไร ติดตามได้เลยครับ
ทำไม Tops ถึงโฟกัส Own Brand อย่างจริงจังในปีนี้
ผมมองว่าเหตุผลสำคัญคือ Tops มองเห็นโอกาสมหาศาลที่ซ่อนอยู่ในตลาด FMCG ของไทย ซึ่งกำลังฟื้นตัวแรงหลังวิกฤต พร้อมแรงหนุนจากพฤติกรรมผู้บริโภครุ่นใหม่ที่เปิดรับสินค้าคุณภาพดี ราคาคุ้มค่ามากขึ้นเรื่อย ๆ จากข้อมูลของ Nielsen Retail Index ปี 2024 ตลาด FMCG ของไทยเติบโตกว่า 5.2% และภายในปีเดียวกัน มูลค่าตลาด Own Brand พุ่งขึ้นถึง 11.3% คิดเป็นมูลค่ากว่า 38,000 ล้านบาท แม้ตัวเลขจะดูดี แต่เมื่อเทียบกับสัดส่วนของ Own Brand ในไทยที่อยู่แค่ 4% ของตลาดทั้งหมด ก็ยังห่างไกลจากระดับโลกที่อยู่ที่ 22%
แปลว่าในไทยยังมีพื้นที่อีกเยอะให้ Own Brand เติบโต โดยเฉพาะในกลุ่ม Gen Y และ Gen Z ที่มองหาความคุ้มค่า มากกว่าการเลือกแบรนด์ใหญ่ ๆ และพร้อมเปิดใจให้สินค้า Own Brand หากตอบโจทย์ทั้งเรื่องคุณภาพ ราคา และคุณค่าทางใจ เช่น ความยั่งยืน หรือการสนับสนุนสินค้าจากเกษตรกรไทยครับ
นี่จึงเป็นที่มาของการทำ Own Brand ครั้งใหญ่จากฝั่ง Tops ที่ไม่ได้มองแค่ให้สินค้าตัวเองไปยืนเทียบกับแบรนด์หลักในเชลฟ์ แต่ตั้งใจจะทำให้ Own Brand กลายเป็น แบรนด์ทางเลือกอันดับหนึ่ง ในใจผู้บริโภคให้ได้ ผ่านการขับเคลื่อนกลยุทธ์ 4 แกนหลักภายใต้ชื่อ “T-O-P-S” ซึ่งแต่ละตัวอักษรไม่ใช่แค่คำจำง่าย แต่เป็นทิศทางการพัฒนาแบรนด์ที่วางเป้าหมายชัดเจนว่าจะต้องตอบโจทย์พฤติกรรมใหม่ของลูกค้า, ยกระดับมาตรฐานสินค้าให้เทียบชั้นแบรนด์คู่แข่งระดับโลก, และที่สำคัญต้องสร้างความต่างด้วยคุณค่าที่มากกว่าราคา โดยเฉพาะคุณค่าด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม พามาดูดีกว่าครับว่าแต่ละตัวมีความหมายว่ายังไง
เจาะลึก T-O-P-S Strategy
T – Trusted Quality
เป็นแบรนด์สินค้าที่มีคุณภาพน่าเชื่อถือ ด้วยมาตรฐานสินค้าในระดับประเทศและระดับสากล เช่น มาตรฐานรับรองคุณภาพออร์แกนิก (USDA Organic, EU Organic, CERES), มาตรฐานคุณภาพส่งออก เช่น เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย ตราสัญลักษณ์รวงข้าว โดยกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ตลอดจนผลิตภัณฑ์ทั้งหมดได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตและคุณภาพตามเกณฑ์ของหน่วยงานภาครัฐ
พร้อมทั้งเตรียมยกระดับคุณภาพของสินค้า Own Brand ของ Tops ให้ได้รับการรับรองสัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice)” ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้เพิ่มมากยิ่งขึ้นครับ
ซึ่งผมมองว่าจุดนี้เป็นก้าวสำคัญที่ Tops ใช้ คุณภาพมาสร้างความน่าเชื่อถือให้กับ Own Brand อย่างจริงจังแสดงให้เห็นผ่านมาตรฐานระดับสากลที่จับต้องได้ การใช้มาตรฐานอย่าง USDA Organic, EU Organic, CERES ถือเป็นการสร้าง Proof Point ให้กับคุณภาพสินค้า ที่ผู้บริโภคยุคนี้มองหา และมีผลต่อการตัดสินใจซื้อสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มเจนใหม่ที่ใส่ใจในที่มาของอาหารและความปลอดภัยครับ
O – Offer Variety
เสนอทางเลือกของสินค้าทั้งอุปโภคและบริโภคภายใต้แบรนด์ที่หลากหลาย เพื่อตอบสนองต่อผู้บริโภคในทุก ๆ Segment โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลักครับ ได้แก่ Specialized brands จำนวน 69 แบรนด์ ครอบคลุมสินค้า 707 รายการ เน้นที่หมวดหมู่ผลิตภัณฑ์เฉพาะที่นำเสนอสินค้าคุณภาพสูงในราคาที่เข้าถึงได้ Core brand จำนวน 13 แบรนด์ ครอบคลุมสินค้า 2,166 รายการ
เน้นกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ภายใต้แบรนด์ TOPS และ Premium brands จำนวน 3 แบรนด์ ครอบคลุมสินค้า 2,130 รายการ เน้นหมวดหมู่ผลิตภัณฑ์ที่มีความพรีเมียม คุณภาพสูง คัดสรรจากแหล่งผลิตต้นกำเนิดทั้งไทยและต่างประเทศ ภายใต้แบรนด์ My Choice พร้อมตั้งเป้าขยายไลน์สินค้าเพิ่มกว่า 500 รายการในปี 2568 นี้
P – Preferred Choice
ปักหมุดเป็นแบรนด์สินค้าอุปโภคและบริโภคอันดับหนึ่งที่ลูกค้าไว้วางใจ ผ่านการพัฒนาและยกระดับแบรนด์หลักอย่าง My Choice, TOPS และ SmarteR ให้แข็งแกร่ง เพื่อให้กลายเป็นแบรนด์ที่ลูกค้าให้การยอมรับ บอกต่อ และเชื่อมั่นในคุณภาพ
S – Sustainability by design
ตอกย้ำ Green & Sustainable Food Retail ที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนตั้งแต่กระบวนการผลิตสินค้า เพื่อสร้างความมั่นใจว่าทั้งผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์สินค้า Own Brand ของTops นั้นมีส่วนช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยปัจจุบัน Tops ได้พัฒนาแบรนด์ SmarteR ให้เป็นสินค้าแบรนด์หลักด้านความยั่งยืน นำเสนอผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อความยั่งยืน อาทิ SmarteR ถุงขยะรักษ์โลก และ SmarteR
จานกระดาษรักษ์โลกซึ่งผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติที่สามารถย่อยสลายได้ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ในปี 2567 Topsได้ดำเนินการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์สินค้า My Choice เชอรี่ ที่สามารถย่อยสลายได้และไม่เคลือบพลาสติก 100% สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 30 ตัน
ขอบคุณภาพจาก Shutterstock AI Generator : a close up cinematic shot of eco friendly biodegradable paper plates made from natural materials, arranged on a rustic wooden table, soft sunlight filtering through tree leaves, showcasing textures and organic tones, shallow depth of field, warm color grading
ผมมองว่าการที่ Tops ตัดสินใจลงทุนเต็มกำลังกับ Own Brand ในปีนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องของการเพิ่มกำไรจาก Margin สินค้า แต่เป็นการปักหมุดแบรนด์ของตัวเองในใจผู้บริโภคในระยะยาว โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Y และ Gen Z เพราะ Own Brand ไม่ใช่แค่สินค้าที่ติดโลโก้ Tops
แต่คือเครื่องมือที่แบรนด์สามารถควบคุมประสบการณ์ผู้บริโภคได้แบบ end-to-end ตั้งแต่คุณภาพ, การตั้งราคา, ความยั่งยืน ไปจนถึงการสื่อสารเรื่องราว ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภครุ่นใหม่ที่ตัดสินใจซื้อจากคุณค่าการที่ Tops มีแผนและโครงสร้างแบรนด์ชัดเจน พร้อมกับแนวคิด T-O-P-S Strategy จึงสะท้อนการวางหมากที่มองไกลกว่าปี 2568 แต่คือการวางรากฐานของ Retail Brand ที่ยั่งยืนในใจคนไทยครับ
สรุป วิเคราะห์กลยุทธ์ การตลาด Tops 2025 รุก Own Brand เต็มสูบ จับผู้บริโภค Gen Y และ Gen Z
Tops กำลังขยับจาก Retailer ไปสู่การเป็น Brand Creator ด้วยกลยุทธ์ Own Brand ที่ชัดเจนทั้งเรื่องคุณภาพ ความหลากหลาย ความยั่งยืน และการสร้างแบรนด์ให้ผู้บริโภคเลือกอย่างภาคภูมิใจ ตอบโจทย์กลุ่ม Gen Y และ Gen Z และถ้าทำได้สำเร็จ Tops จะไม่ใช่แค่ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ขายของดีอีกต่อไป แต่จะกลายเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในโลกของ FMCG ที่สร้างแบรนด์เป็นของตัวเองได้อย่างแข็งแรงครับ
บทความที่แนะนำให้อ่านต่อ