กับ 6 เรื่องที่จะมาเป็น Social Media Trend ในปี 2020 จากรายงาน Think Forward 2020 ที่จัดเป็นประจำทุกปีโดย We Are Social ที่จะบอกให้นักการตลาดและนักธุรกิจเห็นภาพ Digital trend และ Social media trend ในปี 2020 แน่นอนว่าคนไทยในวันนี้มีโทรศัพท์มือถือโดยเฉลี่ยคนละ 1.3 เครื่อง และโทรศัพท์มือถือทั้งหมดมากกว่า 70% เป็นสมาร์ทโฟน และจากตัวเลขล่าสุดของ We Are Social เช่นเดียวกันที่บอกให้รู้ว่าคนไทยมีบัญชีเฟซบุ๊กมากถึง 50 ล้าน account นั่นหมายความว่าแทบจะไม่เหลือใครที่ไม่ออนไลน์อีกต่อไป
ในวันนี้เพลงยอดนิยมบน YouTube ในปี 2019 ที่ผ่านมาโดย YouTube Rewind 2019 รายงานว่า 6 ใน 10 เป็นเพลงลูกทุ่ง นั่นเป็นสัญญาณให้รู้ว่าคนไทยทุกหย่อมหญ้าเข้าถึงอินเทอร์เน็ตกันถ้วนหน้ายิ่งกว่าบัตรทองหรือสวัสดิการแห่งรัฐแล้วจริงๆ
ถ้าแบบนั้นรายงานกว่า 63 หน้าของ Think Forward 2020 นี้ก็เปรียบเสมือนเข็มทิศนำทางให้นักการตลาดรุ่นใหม่ในยุคดิจิทัลและดาต้าเข้าใจว่าผู้คนมีแนวโน้มจะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง หลายอย่างไปไกลกว่าที่เราคิดไว้ และบางอย่างก็เกิดขึ้นใหม่โดยที่เราไม่เคยคาดคิด แน่นอนว่าเทรนด์เป็นอะไรที่นามธรรม แต่ถ้าเรารู้นามธรรมนั้นก่อนแล้วเอามาใช้งานต่อยอดในแบบของเราก็จะทำให้เราไปได้ไกลกว่าการเดินหน้าทำการตลาดโดยไม่รู้ว่าสิ่งต่างๆ กำลังจะมุ่งไปทางไหน
ส่วนการตลาดวันละตอนก็ยังคงทำหน้าที่ของตัวเองเหมือนเดิม ในฐานที่ปรึกษาด้านการตลาดให้กับแบรนด์และเอเจนซี่ต่างๆ ที่ต้องกินข้อมูลและรายงานเป็นอาหารหลักเพื่อหมั่นเอาไปอัพเดทให้ลูกค้าฟัง ก็เลยขอถือโอกาสเอาเนื้อหาที่ต้องอ่านทำความเข้าใจอยู่แล้วมาย่อยให้เพื่อนๆ ที่ติดตามการตลาดวันละตอนได้ฟังกัน เอาเป็นว่าถ้าคุณอ่านจบแล้วมีมุมมองอย่างไร ผมอยากให้เราได้พูดคุยแชร์กันที่คอมเมนต์ของโพสนี้ หรือจะที่แฟนเพจการตลาดวันละตอนก็ได้ครับ ผมสัญญาว่าจะเข้าไปตอบด้วยตัวเองทุกความเห็นครับ
ถ้าคุณพร้อมแล้วงั้นเรามาอ่านสรุปรายงานเทรนด์ของ Social media ปี 2020 กัน ว่าเราจะสร้าง Branding อย่างไร และจะทำ Marketing ด้วยวิธีไหน ในวันที่โลกเปลี่ยนไปไวเหลือเกิน
The new rules of social กติกาใหม่ของแบรนด์บนโซเชียลปี 2020 และนับจากนี้ไป
We are social ในฐานะตัวกลางที่เชื่อมโยงระหว่างแบรนด์และผู้บริโภคยุคใหม่มายาวนาน เพื่อต้องการให้แบรนด์ได้เข้าใจผู้คนมากขึ้น และนั่นก็เพื่อให้แบรนด์สามารถมีกำไรได้เช่นกัน ดังนั้นรายงาน Think Forward 2020 ฉบับนี้จึงเลือกที่จะเอาความวุ่นวายและซับซ้อนบนโลกโซเชียลออกมาคลี่คลายให้นักการตลาดและเจ้าของธุรกิจเข้าใจ ว่าผู้บริโภคยุคใหม่กำลังจะขยับไปทางไหน เพื่อที่แบรนด์จะได้เข้าไปเตรียมตัวรอไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ
แต่ไหนแต่ไรมาอินเทอร์เน็ตถูกยกให้เป็นพื้นที่แยกจากชีวิตจริง เหมือนที่เคยมีรูปล้อเลียนเมื่อนานมาแล้วว่า “ในอินเทอร์เน็ตไม่มีใครรู้หรอกว่านายเป็นหมา” ที่เป็นเรื่องราวของหมาสองตัวนั่งคุยกันอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ แต่ก็นั่นแหละครับ นานวันเข้าทุกสิ่งทุกอย่างก็เปลี่ยนไป จากที่เราเคยมีหลายตัวตนบนโลกอินเทอร์เน็ต เราสามารถเล่นอินเทอร์เน็ตได้โดยไม่ต้องเปิดเผยตัวตน แต่วันนี้อินเทอร์เน็ตหรือ social media กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราอย่างแยกไม่ออก ขนาดเวลาจะสมัครงานที่ไหน HR หรือหัวหน้างานก็มักจะแอบเข้าไปส่องดู Facebook เราอยู่เสมอ เพื่อจะเช็คว่าคนๆ นี้โพสอะไรที่ดูปกติดีหรือเปล่า หรือว่ามีรสนิยมที่น่าจะแปลกเกินไปจนไม่น่าเอามาร่วมทีมด้วย
และเมื่ออินเทอร์เน็ตกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราทุกคนอย่างแยกไม่ออก บางครั้งการเปลี่ยนแปลง Algorithm หรือการแสดงผลบางอย่างที่ดูเล็กน้อยบนแพลตฟอร์มกลับส่งผลมหาศาลต่อผู้คนหรือภาคธุรกิจหรือยาวไปยันระดับเศรษฐกิจมหภาคได้ อย่างเมื่อไม่นานมานี้ที่ Instagram ประกาศว่าจะไม่โชว์ยอดไลก์ให้คนทั่วไปเห็น หรือกระแสการเรียงร้องให้รัฐบาลออกมากดดันบรรดาบริษัทเทคโนโลยีอย่าง Facebook และ Google เรื่องโฆษณาให้ที่เผยแพร่ออกไปให้โปร่งใสและตรวจสอบได้มากกว่านี้
หรืออย่างการโป๊ะแตกของงานเทศกาลดนตรีสุดหรู Fyre Festival ที่สุดท้ายจ่ายเงินแล้วก็ไม่ได้อย่างที่โฆษณาไว้ เรื่องนี้โด่งดังมากที่อเมริกาจนกลายเป็นสารคดีบน Netflix ที่อยากให้คุณได้ลองดูกัน (อารมณ์คล้ายๆ แชร์แม่มณี หรือทัวร์ไม่หรูเหมือนที่โฆษณาไว้)
และเหตุการณ์สำคัญทั้งหมดนี้ก็เกิดขึ้นบนพื้นที่ดิจิทัลทั้งนั้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นหลักฐานสำคัญว่าชีวิตเราไม่สามารถแบ่งแยกออกได้ว่าอันไหนโลกจริงอันไหนโลกดิจิทัล และนี่ก็คือแนวทางใหม่ กติกาใหม่ของโลกดิจิทัลและ Social media ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ผู้ใช้งานทั่วไปอย่างเรา เหล่า Creator นักสร้าง Content ทุกรูปแบบ เจ้าของแพลตฟอร์มทั้งหลาย และบรรดาผู้บังคับใช้กฏหมายต่างๆ ในปี 2020 นี้แบรนด์ต้องเข้าใจสิ่งที่จะเกิดขึ้นบน Social media และโลกดิจิทัลใหม่หมดจรด และหลายสิ่งที่ใหม่หมดจรดก็อาจไม่ได้ใหม่อะไรขนาดนั้น
6 Key Social Trend ในปี 2020
Added Value > ยอมจ่ายเพื่อบางสิ่งที่มีค่า Social Self-Care > ออนไลน์อย่างพอดี Bad Influence > รวมตัวกันในด้านไม่ดี Overt Privacy > ชัดเจนเรื่องพื้นที่ส่วนตัว Running Commentary > ชอบเหลือเกินเรื่องชาวบ้าน Cultural Crossfit > เอาวัฒนธรรมเก่ายำออกมาใหม่ในสไตล์ตัวเอง
1. Added Value ทุกสิ่งบนโซเชียลล้วนไม่ฟรีอีกต่อไป
The cultural shift โลกโซเชียลจะเปลี่ยนไปอย่างไรในปี 2020 > ผู้คนจะเห็นค่าของ Content และให้ความสำคัญกับ Creator มากขึ้น
จากเดิมที่เราเชื่อกันมานานว่าทุกสิ่งบนอินเทอร์เน็ตล้วนฟรี และไร้การปกป้องทรัยพ์สินทางปัญญา จนมีบางคนเคยได้ยินมาว่า “ถ้าไม่อยากให้ใครก๊อปก็อย่าเอาไปลงอินเทอร์เน็ตซิ” แต่ความเชื่อนี้กำลังลดน้อยถอยลงไปทุกวัน เพราะทุกวันเราล้วนใช้ชีวิตโดยขาดอินเทอร์เน็ตแทบไม่ได้ เมื่อสื่อดิจิทัลโตขึ้น โซเชียลมีเดียกลายเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต และบรรดาเหล่า Creator ที่ทุ่มเทสร้าง Content ต่างๆ ลงบนไม่ว่าจะ Facebook Fan Page Instagram YouTube หรือในทุกช่องทางของตัวเองก็เพื่อหวังให้มีผู้ติดตามมากขึ้น
และคนที่เข้ามาติดตามก็ไม่ใช่เพราะแค่ Content เหล่านั้นดี แต่ด้วย Charactor ของ Creator ที่ถูกจริตตรงใจแต่ละคนไป ยกตัวอย่างง่ายๆ ด้วยเพจรีวิวอาหาร วันนี้มีเพจรีวิวอาหารนับร้อยไปจนถึงนับไม่ถ้วน ทำให้แต่ละเพจหรือแต่ละ Creator ต่างก็พยายามสร้าง Charactor ในแบบของตัวเองขึ้นมา มีตั้งแต่รีวิวอาหารแบบผู้ดี รีวิวอาหารแบบสาย Hipster หรือรีวิวอาหารสายมันส์ไปจนถึงเถื่อน ทั้งหมดนี้ก็เพื่อสร้างฐานแฟนผู้ติดตามที่แตกต่างกันไป
ดังนั้นคุณค่าใหม่ของ Content ในวันนี้คือ Creator และแบรนด์หรือภาคธุรกิจต้องรู้จักให้เครดิต ให้ความเคารพเนื้อหาที่พวกเขาสร้างขึ้นมา ไม่สามารถหยิบเนื้อหาของใครก็ตามไปใช้ได้ฟรีๆ เพียงเพราะแค่เค้าโพสแบบ Public ลงบนออนไลน์ เพราะนั่นคือสิ่งที่ทุกคนบนโซเชียลยอมรับเป็นกติกาสามัญร่วมกัน ถ้าคุณละเมินสิ่งนั้นก็พร้อมเตรียมโดนชาวโซเชียลลงประชาทัณฑ์ได้เลย
The behavioural change > 3 พฤติกรรมบนโซเชียลที่จะเปลี่ยนไปในปี 2020
1. ผู้คนจะยอมจ่ายเพื่อสนับสนุน Content Creator มากขึ้น
แม้ Content จะยังคงมีให้เสพย์ฟรีมากมายเหมือนเดิม แต่ก็จะเกิดขึ้นของการที่ผู้คนเต็มใจจ่ายเงินให้กับ Content Creator ที่ตัวเองชอบโดยตรง นั่นก็เป็นการแสดงออกถึงวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนแทนแค่การกดไลก์ ในต่างประเทศมีการจ่ายเงินตรงให้กับ Influencer ต่างๆ เพื่อจะได้กลายเป็น Close Friends เพื่อที่จะเห็นโพสพิเศษบน Instagram ผ่านแพลตฟอร์มการโอนเงินระหว่างบุคคลด้วยกันอย่าง Venmo
หรือการเกิดขึ้นของแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า Patreon ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้ผู้ติดตามได้จ่ายเงินสนับสนุน Influencer หรือ Content Creator ที่ตัวเองชอบสำหรับเนื้อหาพิเศษที่หาที่ไหนไม่ได้ครับ
Patreon รายงานเมื่อปี 2019 ว่า ในปี 2018 มีคนกว่า 3,000,000 คนที่จ่ายเงินเพื่อสนับสนุน Content Creator นั่นเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นกว่าปี 2017 ถึง 50% เลยทีเดียว
Read more > https://www.theatlantic.com/technology/archive/2019/09/close-friends-instagram-subscription-charge-influencers/598171/
2. หมดยุคหากินด้วยการหาขโมยไอเดียดีๆ บนอินเทอร์เน็ตมาเป็นของตัวเอง
ผู้คนบนโซเชียลมีเดียจะไม่ปล่อยให้คนทำผิดได้ลอยนวลอีกต่อไป ตัวอย่างกระแสแฮชแทก #FuckFuckJerry ที่เป็นประเด็นร้อนแรงของอเมริกา เรื่องมีอยู่ว่าเมื่อ Influencer บน Instagram ที่ชื่อว่า @FuckJerry (ใช่ครับ เค้าใช้ชื่อว่า Fuck) ที่มีผู้ติดตามมากถึง 14.5 ล้านคน ดังขนาดนี้ได้ด้วยการขโมยมุขตลกของคนอื่นมารีโพสเพื่อให้คนอื่นตาม แต่ไม่เท่านั้นเพราะเขายังไม่ให้เครดิตเจ้าของมุขตลกที่เอามาโพส หรือแม้กระทั่งตั้งใจลบออกแล้วหยิบเอามาโพสดื้อๆ อย่างนั้นเลย
จากการได้ดีในช่วงแรกจนมีผู้ติดตามมากเข้าหลักสิบล้าน จนนานวันเข้าบรรดานักเดี่ยวไมโครโฟน หรือนักเล่าเรื่องตลกที่โดนขโมยมุขเอาไปโพสแบบไม่ให้เครดิตเริ่มทนไม่ไหว เพราะ @FuckJerry ทำไปเพื่อจะได้รับโพสโฆษณาจากแบรนด์ในราคาแพงกว่า 30,000 ดอลลาร์ต่อโพส (เกือบโพสละล้านบาทครับ) โดยที่ตัวเองไม่ต้องใช้ความพยายามใดในการคิด Content เพื่อให้มีคนติดตาม
ผลคือเมื่อนักพูดเรื่องตลกทนไม่ไหวรวมตัวกันต่อต้าน และชวนให้คนเลิกติดตามบรรดาคนดังที่ตามบัญชี @FuckJerry บน Instagram นี้ และยิ่งถ้าเป็นแบรนด์ไหนที่มาลงโฆษณาก็จะยิ่งโดนแบนตามไปด้วย เพราะถือว่าสนับสนุนคนโกงที่เอาเปรียบชาวบ้าน
และนั่นก็เลยทำให้คนบนโซเชียลต่างลุกฮือขึ้นมาว่าแม้ตัวเองจะไม่ได้เป็นผู้เสียหาย แต่ก็จะปล่อยให้ผู้ร้ายลอยนวลเป็นคนดังต่อไปหน้าชื่นตาบ้านไม่ได้ และนั่นก็เลยเป็นที่มาของแฮชแทก #FuckFuckJerry ที่ชวนผู้คนให้เลิกติดตามคนนี้และผ่านไปไม่แค่ไม่กี่สัปดาห์ผู้ติดตามของบัญชี @FuckJerry บน Instagram ก็ลดหายไปหลายแสนคน เจ้าตัวต้องไล่ลบโพสเก่าๆ ที่เคยขโมยมุขตลกคนอื่นมาไปหลายร้อยโพส
แล้วเมื่อกระแสร้อนแรงมากจนทนไม่ไหว ทำให้เจ้าตัวต้องปิด Public กลายเป็นบัญชี Instagram ที่มีผู้ติดตามสูงที่สุดที่เป็น Private account บัญชีหนึ่ง แต่อัพเดทล่าสุดกลับมาเปิดเป็น Public อีกครั้ง
Read more > https://www.pastemagazine.com/articles/2019/02/fuckfuckjerry-the-movement-to-unfollow-instagrams.html
3. ถ้าคิดว่าแค่ให้เครดิตแล้วเอา Content ไปใช้ได้ฟรี โดนดีแน่!
Read more > https://twitter.com/rebeccacnreid/status/1159372261167632386
จากความเชื่อเดิมที่เชื่อกันว่าทุกอย่างในอินเทอร์เน็ตนั้นฟรี หรือถ้าใครที่โพสหรือแชร์แบบ Public ก็น่าจะหมายความว่าพร้อมให้คนอื่นเอาไปใช้งานต่อได้ แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่อย่างนั้น เพราะมรรยาทบนโซเชียลนั้นเปลี่ยนไปตามกาลเวลา และนั่นหมายความว่าต่อไปนี้แบรนด์ไหน หรือธุรกิจใดจะเอารูปภาพหรือข้อความของผู้คนบนโซเชียลไปใช้ต้องขออนุญาตก่อนทุกครั้ง!
จากเดิมที่เราจะเห็นว่าบรรดาสื่อต่างๆ ชอบเอารูปภาพ ข้อความ หรือคลิปที่คนโพสลงบนโซเชียลไปใช้งานต่อ แล้วก็ใช้วิธีว่าแค่ขึ้นชื่อให้เครดิตก็เพียงพอแล้ว หรือเซ็นเซอร์หน้าเจ้าตัวหรือชื่อก็เพียงพอแล้ว แต่บอกได้เลยว่าที่คิดว่าเพียงพอแล้วนั้นจะไม่เพียงพออีกต่อไป เพราะผู้คนจะซีเรียสกับเรื่องนี้มากในกรณีที่สื่อหรือแบรนด์ใดก็ตามจะเอาเนื้อหาที่พวกเขาโพสไปใช้งานต่อแม้พวกเขาจะโพสแบบ Public
เหมือนกรณีที่เกิดขึ้นกับสื่อใหญ่ระดับโลกอย่าง Daily Mail ที่เอาเนื้อหาที่คนโพสบนโซเชียลมีเดียไปใช้รายงานข่าว จนถูกคนดังอย่าง Rebecca Reid โพสทวิตเตอร์ตั้งคำถามประมาณว่า “หืม ทำไม Daily Mail ถึงทำเป็นว่าขออนุญาตเจ้าของภาพมาก่อนใช้งานเรียบร้อยแล้วล่ะ?”
Read more > https://twitter.com/rebeccacnreid/status/1159372261167632386 https://www.dailymail.co.uk/femail/article-7532531/Love-Island-star-Montana-Brown-branded-fame-hungry-GMB-viewers-posting-anxiety.html
How to use it > แล้วแบรนด์อย่างเราควรทำอย่างไร?
1. สนับสนุนให้ความสัมพันธ์ระหว่าง Audience และ Influencer
การทำการตลาดใน Social media 2020 แบรนด์ต้องผลักดันให้คนดูกลายเป็นคนดัง หรือเปลี่ยน Audience ธรรมดาให้กลายเป็น Creator จนไปถึงขั้น Influencer ได้ยิ่งดี
เหมือนกับแคมเปญการตลาด #SephoraSquad ที่ Sephora ที่จัดเพื่อเฟ้นหา Influencer หน้าใหม่ ที่ไม่เหมือนกับแบรนด์อื่นทำตรงที่ไม่ได้คัดเลือกจากจำนวนผู้ติดตามเป็นหลัก แต่เน้นจากความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นระหว่าง Influencer และ Follower จริงๆ
Read more #SephoraSquad influencer campaign > https://www.sephorasquad.com/
2. แบรนด์ต้องเคารพ Online Community
เรื่องนี้เข้าใจได้ไม่ยากจากตัวอย่างแคมเปญการตลาดที่ถูกคนบนออนไลน์ต่อว่าอย่างหนักของ North Face ที่ถือวิสาสะเข้าไปเปลี่ยนรูปภาพของสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติสำคัญทั่วโลกในเว็บไซต์ Wikipedia ให้มีสินค้าของ North Face เข้าไปในนั้น จากเดิมที่มีแค่ภาพภูเขา ก็กลายเป็นภาพที่มีชายใส่เสื้อของ North Face เข้าไปเสมือนว่าได้เดินป่าสำรวจภูเขานั้น
ดังนั้นเรื่องนี้บอกให้รู้ว่า อย่าคิดเข้าไปแหยมยัง Community ของผู้คนโดนไม่ขออนุญาตหรือถือวิสาวะเจตนาดีแต่แอบแฝงการตลาดเข้าไปโดยไม่เปิดเผยครับ
VIDEO
Read more > https://www.nytimes.com/2019/05/30/business/north-face-wikipedia-leo-burnett.html
2. Social Self-Care คนจะเล่นโซเชียลอย่างฉลาดมากขึ้น
The cultural shift โลกโซเชียลจะเปลี่ยนไปอย่างไรในปี 2020 > ผู้คนจะพยายามใช้เวลากับการออนไลน์ให้สมดุลกับการใช้ชีวิตจริงนอกจอมากขึ้น
โซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่ของการแสดงออกของผู้คน รวมถึงเป็นพื้นที่ในการค้นหาความจริงที่ต้องการ แต่ผู้คนส่วนใหญ่จำนวนมากในวันนี้เริ่มรู้สึกว่าตัวเองใช้งานโทรศัพท์มือถือหรืออินเทอร์เน็ตมากเกินไป และนั่นก็ทำให้ระบบปฏิบัติการบนโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ๆ อย่าง iOS เริ่มมีฟีเจอร์ที่ช่วยตรวจสอบและแจ้งเตือนผู้ใช้งานว่าใครบ้างที่ติดโซเชียลมากเกินไป และถ้าสัปดาห์ไหนเราใช้งานน้อยลง เราก็จะได้รับคำชมเพื่อเป็นกำลังใจที่จะลดการใช้งานโทรศัพท์มือถือมากขึ้น
แต่ที่เป็นแบบนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาต้องการตัดขาดจากโลกออนไลน์ พวกเขาไม่ได้ต้องการชีวิตที่ไร้โซเชียลมีเดีย แต่พวกเขาเพียงแค่ต้องการที่จะใช้งานเทคโนโลยีอย่างพอดี เรียกได้ว่าเป็นการ balance ระหว่างชีวิตออนไลน์กับชีวิตออฟไลน์ได้มีคุณภาพมากขึ้น
The behavioural change > 3 พฤติกรรมบนโซเชียลที่จะเปลี่ยนไปในปี 2020
1. หาความสุขบนโซเชียล
จากกระแส FOMO หรือติดโซเชียลเพราะกลัวว่าคนอื่นจะดีและเด่นกว่า ทำให้ผู้คนจำนวนมากในวันนี้เกิดความรู้สึกว่าตัวเองยังขาดอะไรอยู่เสมอ เห็นคนโน้นโพสไปเที่ยวต่างประเทศก็อยากไปบ้าง หรือเห็นคนโพสชีวิตดีแล้วก็อดที่จะรู้สึกอิจฉาไม่ได้ ยิ่งตามดูคนที่มีชีวิตดีบนออนไลน์ กลายเป็นการยิ่งตอกย้ำความรู้สึกแย่ในชีวิตตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นเลยเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนที่ติดโซเชียลมากๆ มีภาวะความเครียดในชีวิตมากขึ้น บางคนเลือกที่จะออฟจากการใช้โซเชียลมีเดียไปเลย เพราะเมื่อไม่ต้องมีตัวเปรียบเทียบในชีวิตให้เห็นเข้ามาก็รู้สึกว่าชีวิตตัวเองแฮปปี้มากขึ้นครับ
แต่ในขณะเดียวกันก็ตั้งแต่ปี 2020 ก็จะเกิดพฤติกรรมใหม่ของการใช้โซเชียลมีเดียเพิ่มมากขึ้น นั่นคือการใช้เพื่อให้ตัวเองรู้สึกมีความสุขกับชีวิตมากขึ้นครับ อย่าง Influencer คนหนึ่งบน Instagram ที่ใช้ชื่อว่า Donte.celley เขาเป็นนักเต้นที่ไม่ใช้โซเชียลเพื่ออวดชีวิตดี๊ดีให้คนอื่นอิจฉา แต่เขาเลือกที่จะทำเนื้อหาให้คนที่ติดตามได้ยิ้ม ได้มีความสุข และได้พลังบวกออกไปสู้ชีวิตจริงเมื่อปิดหน้าจอ
2. เปลี่ยนเรื่องเครียดให้กลายเป็นขำด้วย Meme
การเล่นตลกกับความทุกข์ กลายเป็นวิถีใหม่ของชาวโซเชียลในปี 2020 มี Facebook Group ที่ชื่อว่า UC Berkeley Memes for Eddy Teens ที่มีสมาชิกเข้าร่วมเกือบ 200,000 คน โดยกลุ่มนี้มีวัตถุประสงค์ว่าอยากให้นักเรียนนักศึกษาได้เข้ามาหา meme ที่ใช้คลายเครียดกับปัญหาที่ตัวเองกำลังเผชิญอยู่ ถ้าตีความเป็นบ้านเราก็คงอารมณ์คล้ายวันหวยออก แล้วชอบมี Meme หรือภาพล้อเลียนประเภท เอาหวยไปต้มใส่มาม่ากิน ถือเป็นการล้อเลียนตัวเองอย่างหนึ่ง ถือเป็นการเปลี่ยนความเครียดให้กลายเป็นเรื่องตลกได้ครับ
3. นักบำบัดบนโลกโซเชียล Influencer มุมใหม่ที่คนยุคใหม่ต้องการ
เพราะความเครียดเข้าถาโถมผู้คนทุกวันนี้เหลือเกิน เลยทำให้ผู้คนในวันนี้เลือกที่จะปรึกษากับนักบำบัดบนโลกออนไลน์มากขึ้น ตัวอย่างนักจิตวิทยาคนหนึ่งที่ชื่อว่า Dr. Nicole LePera ที่มีผู้ติดตามเธอบน Instagram มากกว่า 1.4 ล้านคน โดยเธอเปิดโอกาสให้ผู้คนสามารถส่งข้อความหาเธอได้ตรงเพื่อขอรับคำปรึกษาว่าจะจัดการปัญหาชีวิตอย่างไรดี และเธอก็จะโพสข้อความประเภทสร้างแรงบันดาลใจในชีวิตเสมอ แต่ละโพสของเธอได้รับ engagement ที่ดีมากๆ ส่วนใหญ่อยู่ที่หลายหมื่นต่อโพสไปจนถึงหลักแสน เรียกได้ว่าเป็น Influencer ในมุมใหม่ที่น่าจับตามองจริงๆ
ในปี 2019 Google เปิดเผยว่าผู้คนเข้ามาเสริชหาหัวข้อที่เกี่ยวกับการดูแลสภาพจิตใจตัวเองหรือ “Self care” เพิ่มขึ้นกว่า 100% เมื่อเทียบกับ 5 ปีที่แล้ว
How to use it > แล้วแบรนด์อย่างเราควรทำอย่างไร?
1. แบรนด์ที่ดีต้องทำให้คนมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น
เช่น Uber ที่เป็นพาร์ทเนอร์กับแอพ Calm (แอพด้านสอนกำหนดลมหายใจเพื่อทำสมาธิให้ดีขึ้น) เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถทำสมาธิได้ในช่วงเวลาสั้นๆ ที่จะได้ผ่อนคลายตัวเองจากความเครียดบนท้องถนนได้ดีขึ้น โดยผู้โดยสาร Uber สามารถใช้งานได้ฟรีในระหว่างการเดินทาง
Read more > https://www.independent.co.uk/life-style/gadgets-and-tech/uber-calm-app-meditation-mindfulness-exercises-mental-health-stress-a8742381.html
2. แบรนด์ที่ดีต้องสนับสนุนให้ผู้คนเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
เหมือนที่ Vodafone ออกมาสนับสนุนผ่านแคมเปญ #ScreenFreeFathersDay ที่ใช้คุณพ่อคนดังมาเชิญชวนให้พ่อๆ ด้วยกันงดใช้โทรศัพท์ในวันพ่อแล้วหันไปเล่นกับลูกแทน
Read more > https://wearesocial.com/uk/blog/2019/06/helping-vodafone-create-a-screenfreefathersday
3. Bad Influence ยิ่งดังยิ่งโดน(กระทำ)
The cultural shift ความดังจะเปลี่ยนไปอย่างไรในปี 2020 > เมื่อ Influencers หมดความขลัง และคนดังก็ผันตัวมาเป็น Influencer จนดูปลอมมากเกินไป
เมื่อก่อน Influencer หมายถึงคนที่เป็นผู้รู้หรือตัวจริงในด้านใดด้านหนึ่ง เช่น ถ้าเป็นสายบิวตี้ก็มั่นใจได้เลยว่าเธอคนนี้รู้จริง ใช้จริง เชื่อถือได้ ไม่ใช่พวกดาราตามโฆษณาที่รับเงินมาแล้วก็ไม่ได้ใช้ แต่บรรดา Content Creator ที่เกิดขึ้นมากมายในยุคโซเชียลมีเดียครองเมืองก็ทำให้คำว่า Influencer หมายถึงใครก็ได้ที่พอจะดังบนโลกออนไลน์หน่อย และนั่นก็หมายความว่าผู้คนต่างไม่ได้เชื่อถือเหมือนเมื่อก่อนอีกต่อไป
VIDEO
อย่างที่เกิดขึ้นกับ Will Smith ซูเปอร์สตาร์ดาราดังระดับโลกเกิดอยากจะเป็นผู้นำกระแสคลื่นลูกใหม่ของเหล่าคนดังให้เข้ามาเป็น YouTuber ไปด้วยกัน (นั่นก็เพราะการทำคลิปวิดีโอบน YouTube สามารถทำเงินได้เลยผ่านแพลตฟอร์มโดยไม่ต้องมีใครมาจ้าง) แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับกลายเป็นว่าเกิดกระแสต่อต้าน Influencer จอมปลอมขึ้นมาไม่น้อย
The behavioural change > 3 พฤติกรรมที่คนมีต่อ Influencer ที่จะเปลี่ยนไปในปี 2020
1. ผู้คนจะหันมาให้ความสนใจกับอะไรที่ดูไร้สาระเพื่อเอาชนะกลับไป
จากกระแส @World_record_egg หรือโพสรูปไข่ที่ต้องการเอาชนะภาพที่ได้ไลก์เยอะที่สุดบนประวัติศาสตร์ของ Instagram ของ Kylie Jenner ที่ได้ไปกว่า 18 ล้านไลก์ สามารถเกณฑ์คนมาร่วมไลก์ได้มากถึง 54 ล้านไลก์ภายใน 10 วัน ทั้งที่เป็นแค่รูปไข่โง่ๆ หนึ่งฟองเท่านั้น เรียกได้ว่าเป็นความภาคภูมิใจของชาวโซเชียลมากๆ ที่สามารถเอาชนะคนดังและสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ให้กับ Instagram ขึ้นมาแทน
2. ยิ่งดังยิ่งตกเป็นเป้าให้คนเล่น
VIDEO
เมื่อความดังกลายเป็นเป้าให้คนอยากล้อ เหมือนกับคลิป My Apology ของ Laura Lee (เธอเป็นคนดังบนโซเชียลมีเดีย มีผู้ติดตามเธอบน Instagram กว่า 1.9 ล้านคน และมีคนติดตามเธอบน YouTube มากถึง 4.42 ล้านคน) ที่เธอออกมาอัดคลิปร้องให้ขอโทษที่เผลอพูดไม่ดีบางอย่างออกไป จนส่งผลให้เด็กชายคนหนึ่งแต่ง Cosplay มาเป็นคลิป My Apology ของ Laura Lee แล้วมาร่วมงาน VidCon จนกลายเป็นผู้ชนะในการแต่ง Cosplay ของงานนี้ และกลายเป็นไวรัลไปมากมาย
VIDEO
นี่คือผลสะท้อนกลับในแง่ลบของการเป็น Influencer คนดังในวันนี้ ยิ่งสูงยิ่งหนาว และยิ่งใหญ่ก็ยิ่งกลายเป็นเป้าให้คนอื่นอยากสอยเพื่อดังแทนครับ
Read more > https://www.avclub.com/kid-wins-vidcon-by-cosplaying-as-an-apology-video-1836365261
3. เมื่อ Influencers กลายเป็น Celebrities และ Celebrities อยากเป็น Influencer
เมื่อเส้นแบ่งระหว่าง Influencer และ Celebrity เริ่มไม่ชัดเจนเหมือนก่อน ทำให้คนที่เคยถูกนิยามว่า Influencer ที่ดังจากออนไลน์อย่าง PewDiePie กลายเป็นข่าวตามนิตยสารซิบซุบแบบดาราดัง ส่วนคนดังจากหนังอย่าง Will Smith ก็กลับถูกประนามเมื่อหันมาทำตัวเป็น YouTuber ด้วยการพยายามทำตัวเหมือนเป็นแค่ Creator ทั่วไป (มันไม่ใช่ปะเฮีย ดังแล้วก็ดังเลย ไม่ต้องมาทำตัวปอนๆ)
จากรายงานของ Edelman Trust Barometer 2019 บอกว่า Influencer จะมีความน่าเชื่อถือกว่า Celeb เป็นสองเท่าเมื่อแนะนำสินค้าหรือบริการใดๆ ดังนั้นไม่แปลกใจที่ Celeb อยากผันตัวมาเป็น Influencer เพราะจะมี Value กับธุรกิจเพิ่มขึ้นมหาศาลด้วยจำนวนผู้ติดตามที่มีล้นหลามเป็นทุนเดิม
How to use it > แล้วแบรนด์อย่างเราควรทำอย่างไร?
1. จาก Influencer marketing สู่ Community marketing
การตลาดบนโซเชียลมีเดียในปี 2020 จะไม่ใช่แค่การใช้ Influencer ที่มีจำนวนผู้ติดตามเยอะๆ เท่านั้น แต่จะโฟกัสไปที่ความสัมพันธ์ระหว่าง Influencer และ Audience หรือผู้ติดตามของเขา แบรนด์ต้องดูว่าจำนวนผู้ติดตามนั้นมีที่เป็นแฟนพันธุ์แท้จริงๆ เท่าไหร่ และแบรนด์ต้องเข้ามาสนับสนุนในความสัมพันธ์นั้นให้แข็งแรงยิ่งขึ้น เพื่อสร้าง Community จริงๆ ขึ้นมา ไม่ใช่แค่การจ้าง Influencer มาโพสถึงคุณเป็นครั้งแล้วจบไป
2. แบรนด์ต้องออกมาเป็นหัวหอกแสดงออกเพื่อต่อต้านการบ้าไลก์
อย่างแบรนด์ Kahlúa ที่จัดนิทรรศกาลต่อต้านการล่าไลก์บนโซเชียลมีเดียที่ชื่อว่า Got Zero Likes ที่เมืองนิวยอร์ก จนทำให้เกิดกระแสแฮชแทกจากแคมเปญ #BottomNine ขึ้นมา ที่ออกมาสวนกระแส #BestNine2019 (หรือตามด้วยเลขปีในแต่ละปี) ที่ผู้คนชอบมาอวดกันว่า 9 ภาพที่ได้ไลก์มากที่สุดบน Instagram ของตัวเองรวมกันแล้วได้ทั้งหมดกี่ไลก์ แต่กับ #BottomNine คือการแข่งกันอวดภาพที่ได้ไลก์น้อยที่สุดของตัวเอง
ถ้าอยากรู้ว่า 9 รูปที่แย่ที่สุดเพราะได้ไลก์น้อยที่สุดบน Instagram ของคุณคือรูปไหน ลองเข้าไปสำรวจดูซิครับ > https://www.kahlua.com/bottomnine/
ปล. ไม่แน่ใจว่าแคมเปญนี้ถ้าโดนบรรดา Celeb บนออนไลน์เข้าร่วมจะกลายเป็นการถ่อมตัวอย่างน่าหมั่นใส้เอาหรือเปล่า เพราะพวกเขาคงได้ไลก์เยอะมากแม้แต่กับ 9 ภาพที่ดูได้ไลก์น้อยที่สุด
Read more > https://www.adweek.com/creativity/influence-be-damned-kahlua-is-creating-an-art-exhibit-of-instagram-photos-that-got-zero-likes/
ผ่านไปแล้วครึ่งทาง 3 ใน 6 กับ Social media Trend 2020 จากรายงาน Think Forward 2020 ของ We Are Social บอกได้เลยว่าอีกครึ่งที่เหลือยังมีอะไรสนุกๆ ให้นักการตลาดยุคใหม่อย่างคุณได้รู้ว่าแนวทางในการทำ Digital marketing หรือ Social media marketing ในปีหน้านั้นควรจะต้องปรับ Strategy กันอย่างไรเมื่อพฤติกรรมการใช้โซเชียลของผู้คนเปลี่ยนไปมากขนาดนี้
อ่าน Trend & Insight ในการตลาดวันละตอนต่อ > https://everydaymarketing.co/category/trend-insight/
อ่านรายงาน Think Forward 2020 ฉบับเต็ม > http://bit.ly/ุ6KeySocialTrend2020