จากงานสัมมนาการตลาดโลกสวย “Voice of Green” ของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ CMMU ในวันที่ 9 มกราคม 2563 ที่ว่าด้วยการทำการตลาดในยุคที่ผู้บริโภคหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หรือ Green Marketing ทำให้เห็นประเด็นที่น่าสนใจจากผลการวิจัยที่ศึกษาความแตกต่างในด้านความรู้สึกนึกคิด และการลงมือรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยตนเองของผู้บริโภค จึงทำให้การตลาดวันละตอนพลาดไม่ได้ที่จะสรุปผลวิจัยที่น่าสนใจในครั้งนี้ ให้เพื่อนนักการตลาดยุคใหม่ได้ที่พลาดงานนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการทำการตลาดต่อไปครับ แล้วคุณจะรู้ว่าเทรนด์รักษ์โลก 2020 ของผู้บริโภคชาวไทยเป็นอย่างไร
ปัจจุบันเราสามารถเห็นภัยพิบัติทางธรรมชาติมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพลาสติก ไฟป้า ความแห้งแล้ง หรือแม้กระทั่งฝุ่น PM 2.5 ที่พวกเราต้องเจอในทุกวันนี้ ทำให้เกิดคำถามว่า ทั้งหมดนี้ ธรรมชาติกำลังจะลงโทษพวกเรา หรือแค่กำลังจะเรียกร้องให้พวกเราหยุดพฤติกรรมบางอย่างที่เป็นต้นเหตุของการทำลายสิ่งแวดล้อม
ทำให้เกิดคำถามที่ว่า ทุกวันนี้คนในสังคมได้ยินเสียงของธรรมชาติเหล่านั้นหรือยัง ถ้าได้ยินแล้วพวกเราลงมือทำในทันที หรือเกิดเพียงความคิดแต่ยังคงนิ่งเฉยไม่ลงมือทำอะไรเลย
ผลการวิจัยเรื่องการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และการลงมือทำจริงเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากครับ เพราะผลการวิจัยจากกลุ่มตัวอย่างกว่า 1,000 คน ทำให้ค้นพบว่าในความเป็นจริง เรื่องที่คนนึกถึง อาจจะไม่ได้ถูกลงมือทำจริง เนื่องจากเป็นเพราะความไม่สะดวกส่วนตัวบางอย่าง ซึ่งสามารถเห็นได้จากผลการวิจัยดังต่อไปนี้ครับ
เริ่มที่ส่วนแรกของการวิจัย คือการศึกษาว่าผู้บริโภคมองเห็น และคำนึงถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมในด้านไดบ้าง 6 ด้านคือ พลาสติก ขยะ น้ำ ผลิตภัณฑ์ ไฟฟ้า และมลพิษ ซึ่งเป็นหัวข้อหลักๆ ที่เมื่อถามถึงเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแล้ว ผู้คนต่างให้ความสนใจ และพูดถึงประเด็นดังกล่าว ซึ่งสรุปผลการวิจัยได้ว่า
ในด้านของความคิด ผู้บริโภคได้ให้คะแนนความสนใจเรื่องในการรักษาสิ่งแวดล้อม ด้านพลาสติกมากที่สุดคือ 4.6 คะแนน เพราะว่าทุกวันนี้ ปัญหาเรื่องพลาสติกเป็นเรื่องที่ผู้คนทั่วโลกให้ความสนใจ จากการที่มันเป็นขยะที่สามารถย่อยสลายได้ยากที่สุด และสามารถทำลายสิ่งแวดล้อมได้มากที่สุด
อันดับต่อมาคือ เรื่องมลพิษ 4.5 คะแนน โดยผู้บริโภคยังบอกอีกว่าที่มาของมลพิษที่ตัวเองนึกถึง คือรถยนต์ และควันจากโรงงานอุตสาหกรรม ต่อมาคือเรื่องของขยะ 4.47 คะแนน โดยมีเหตุผลว่า ขยะเป็นสิ่งที่เกิดจากคน ดังนั้นผู้คนจึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง เพื่อให้เกิดขยะน้อยที่สุด เรื่องถัดไปคือน้ำ ด้วยคะแนน 4.44 คะแนน ไฟฟ้า 4.42 คะแนน สองเรื่องนี้ผู้บริโภคมองว่าส่วนใหญ่ปัจจัยที่ทำให้ต้องประหยัดน้ำหรือไฟ คือเรื่องค่าใช้จ่ายมากกว่าการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และผลิตภัณฑ์ 3.13 คะแนน
โดยในมุมมองของการทำธุรกิจมองว่าอาจมีต้นทุนสูง จึงทำให้เจ้าของธุรกิจได้แต่เพียงวางแผนละยังไม่ลงมือทำ ส่วนในมุมมองของผู้บริโภคมองว่า ยังไม่มั่นใจในสินค้าว่ามีคุณภาพ คงทน และสามารถใช้งานได้ดีเหมือนกับผลิตภัณฑ์ทั่วไปที่เคยใช้หรือเปล่า
และในด้านของการลงมือทำกลับพบว่าอันดับคือเรื่องของการประหยัดไฟฟ้า 4.30 คะแนน เป็นเพราะว่าเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ง่ายที่สุด โดยการที่เราทุกคนสามารถประหยัดไฟด้วยการปิดไฟในส่วนที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว เรื่องต่อมาคือพลาสติก 4.29 คะแนน เพราะว่าเราทุกคนสามารถลดพลาสติกได้จากการนำวัสดุอื่นมาใช้ทดแทน เช่นการใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก
เรื่องต่อมาคือเรื่องผลิตภัณฑ์ ซึ่งเลื่อนจากอันดับสุดท้ายมาเป็นอันดับ 3 ด้วยคะแนน 4.19 คะแนน เพราะว่าผู้คนใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว เช่นการใช้ถุงผ้า หรือแก้วที่สามารถใช้ซ้ำได้ จึงทำให้เป็นเรื่องที่ทุกคนไม่ได้คำนึกถึงการแก้ไขนั่นเอง
ต่อมาคือเรื่องของขยะ 4.18 คะแนน ที่อันดับตกลงเช่นนี้ เพราะว่าผู้บริโภคมองว่าการจัดการขยะเป็นเรื่องที่หาความชัดเจนไม่ได้ เช่นการดื่มชานมไข่มุก 1 แก้วเราควรใส่ถังขยะถังไหน ในเมื่อเป็นทั้งพลาสติกและขยะเปียก
เรื่องต่อมาคือการประหยัดน้ำ 4.11 คะแนน เนื่องจากการประหยัดน้ำเป็นเรื่องสิ่งที่ทุกคนคิดว่าเกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อนน้อยที่สุด และเรื่องสุดท้ายคือมลพิษ 3.99 คะแนน ได้รับการลงมือทำเป็นเรื่องสุดท้ายเพราะว่าผู้คนนึกถึงเรื่องมลพิษที่เกิดจากรถยนต์ และโรงงานอุตสาหกรรมเป็นอันดับแรก และมองว่าเรื่องนี้สามารถแก้ไขปัญหาได้ยาก เพราะทุกคนต้องเดินทาง และหากต้องใช้การขนส่งสาธารณะก็กลัวว่าจะได้ได้รับความสะดวกนั่นเอง
จากการวิจัยในเรื่องของการคิด และการลงมือทำจริงทำให้ได้ข้อสรุปอีก 1 ข้อว่าผู้คนให้ความสนใจ และเลือกที่จะลงมือแก้ไขปัญหาเรื่องมลพิษ และพลาสติกมากที่สุด เพราะว่าพวกเขาได้รับผลกระทบจากปัญหาเหล่านั้นนั่นเอง เช่น เรื่องของสุขภาพ เป็นต้น
นอกจากเรื่องของความคิดและการลงมือทำจริงแล้ว ยังมีประเด็นที่ผมมองว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจอีก 1 เรื่อง คือการศึกษาผู้บริโภคที่ให้ความสนใจและลงมืออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยการแบ่งพวกเขาออกเป็น 4 กลุ่มด้วยกันดังนี้
สายโนกรีน ที่ถูกนิยามว่า “นิ่งสงบสยบความเคลื่อนไหว” เพราะว่าพวกเขาไม่ได้ต่อต้านเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แต่ว่าพวกเขากลับนิ่งเฉยและมองว่าเป็นเรื่องทั่วไป ที่ถ้ามีโอกาสก็พร้อมที่จะทำ แต่ถ้าไม่มีก็ไม่เป็นอะไร
ในความคิดผม แบรนด์ไหนที่ต้องการจับคนกลุ่มนี้ คุณต้องทำให้พวกเขาง่ายแค่จ่ายค่ารักษ์โลกแต่ห้ามแพงกว่าเดิมที่เคยจ่ายครับ
สายสะดวกกรีน โดยได้นิยามว่า “คิดง่ายต้องทำง่ายด้วย” คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนที่มองเห็นความสำคัญในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แต่ยังไม่ลงมือทำแบบ 100 เปอร์เซ็นต์เราะว่าความไม่สะดวกบางอย่าง เช่น การมองว่าการแยกขยะเป็นเรื่องยาก เพราะไม่มีความรู้ที่ชัดเจนว่าควรแยกขยะแบบไหน
ในความคิดผม แบรนด์ไหนที่ต้อองการจับคนกลุ่มนี้ อาจต้องทำให้พวกเขารักษ์โลกได้ง่ายขึ้นอีกหน่อย เช่น แพคเกจจิ้งที่สะดวกต่อการแยกขยะก่อนทิ้ง และถังสำหรับทิ้งก็ต้องให้เข้าใจได้ง่ายในทันทีด้วย
สายกรีนตามกระแส ที่มองว่า “เค้าว่าดี เราว่าดี” คนในกลุ่มนี้ จะเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองก็ต่อเมื่อสิ่งนั้นเป็นที่ยอมรับในสังคมอย่างกว้างขวาง และถูกพูดถึงในวงกว้าง ซึ่งคนกลุ่มนี้อาจจะเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของนักการตลาดในอนาคต จากการที่พวกเค้าสามารถถูกจูงใจได้ง่ายกว่าคนในกลุ่มอื่นๆ
ในความคิดผม คนกลุ่มนี้เล่นด้วยไม่ยาก แค่หาทางใช้สื่อให้มาก ใช้ PR หรือใช้ Influencer ในการกดดันผ่านการฉายภาพให้เห็นค่านิยมใหม่ๆ ที่ใครๆ เข้าก็ทำกัน เช่น หลอดเหล็กรักษ์โลก หรือกระบอกน้ำ ที่พอคนกลุ่มนี้เห็นเพื่อนหรือคนรอบข้างมีกันก็รู้สึกว่าอยากจะมีติดตัวไว้กับเขาบ้าง เดี๋ยวเอ๊าท์!
และสายสุดท้ายคือสายกรีนตัวแม่ “พร้อมจ่ายทุกเมื่อ เพื่อสิ่งแวดล้อม” คนกลุ่มนี้มองเห็นความสำคัญในด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก และพร้อมที่จะจ่ายมากขึ้น หรือทำบางสิ่งบางอย่างเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอยู่เสมอ
ในความคิดผมคนกลุ่มนี้เล่นด้วยง่ายที่สุด แค่บอกให้รู้ ชี้ช่องให้เห็น ไม่ต้อง convince อะไรมาก เพราะพวกเขาอยากทำทุกอย่างเพื่อโลกเสมอ
นอกจากนี้ยังพบว่าคนไทยส่วนใหญ่เป็นสายกรีนตัวแม่มากถึง 37.6 เปอร์เซ็นต์ แต่เป็นที่น่าตกใจเพราะรองลงมาด้วยคะแนน 26.0 เปอร์เซ็นต์ คือกลุ่มคนที่นิ่งเฉยต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งก็ยังไม่ใช่เรื่องที่น่าเป็นห่วงครับเพระว่าเมื่อนำมารวมกันแล้ว ระหว่างสายกรีนตัวแม่ 37.6 เปอร์เซ็นต์ สายกรีนตามกระแส 20.8 เปอร์เซ็นต์ สายสะดวกกรีน 15.7 เปอร์เซ็นต์ พบว่ามีปริมาณมากถึง 74.1 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว และกลุ่มที่ลงมือทำมากที่สุดคือสายกรีนตามกระแส และกรีนตัวแม่นั่นเอง จึงทำให้เห็นได้ว่า ผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศไทยไม่ได้นิ่งเฉยต่อการนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
โดยจากการศึกษายังพบอีกว่า เมื่อวัดจากช่วงอายุแล้ว คน Gen Z และ Gen Y ที่อยู่ในช่วงวัยของการศึกษา และเริ่มทำงาน เริ่มมีความมั่นคงในชีวิต เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด จากการที่พวกเขามีความรู้ยังไม่กว้างขวางพอในเรื่องของการดูแลสิ่งแวดล้อม และเรื่องของกำลังจ่ายที่มีไม่เท่ากับวัยอื่นๆ โดยหากแบ่งออกเป็นเพศจะเห็นได้ว่า ผู้หญิงมีการลงมือทำมากกว่าผู้ชายเนื่องจากความไม่สะดวก บางประการ
เช่น การที่ผู้หญิงมีความสามารถในการพกพาสิ่งต่างๆ ได้มากกว่าผู้ชาย เพราะปกติแล้วผู้หญิงจะมีกระเป๋าถือเป็นของตัวเอง การเพิ่มบางอย่างลงไปเช่นกระเป๋าผ้าแบบพกพาจึงเป็นเรื่อที่ง่ายกว่าผู้ชาย ที่ส่วนใหญ่จะมีเพียงโทรศัพท์ และกระเปาตังออกจากบ้านเท่านั้น
หัวข้อถัดมาเป็นหัวข้อที่นักการตลาดต่างให้ความสนใจ เพราะเป็นเรื่องของมุมมองผู้บริโภคที่มีต่อสิ่งแวดล้อม โดยการสัมภาษณ์เชิงลึกกับกลุ่มเป้าหมาย 105 คน
มุมมองส่วนใหญ่ของผู้บริโภคมองว่า มลพิษต่อสิ่งแวดล้อมทุกด้านแย่ลง เริ่มส่งผลกระทบต่อทุกคน โดยองค์กรต่างๆ ต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาทั้งหมด เพราะเป็นต้นเหตุของปัญหามลพิษ หากทุกองค์กรมีการร่วมมือกันรับผิดชอบสิ่งแวดล้อมโอกาสที่จะประสบความสำเร็จก็จะมีค่อนข้างสูง ซึ่งผู้บริโภคยังมีมุมมองอีกว่าคนที่ต้องรับผิดชอบต้องมี 3 ส่วน
นั่นก็คือตัวผู้บริโภคเอง รัฐบาล และองค์กรธุรกิจต่างๆ
ในมุมมองของการทำธุรกิจ จากการศึกษามีความสอดคล้องกับคำพูดของ Philip Kotler บิดาแห่งการตลาดที่ว่า “บริษัทไม่เพียงแต่จะต้องมีศักยภาพในการสร้างกำไรเท่านั้น แต่ต้องมีศักยภาพที่จะสร้างสังคมที่ดีขึ้นด้วย ดังนั้นต่อไปจะเป็นโจทย์ที่ยากมาก บริษัทไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ก็อาจถูกตราว่าเป็นบริษัทที่ไม่ได้สนใจสังคมที่ดี”
แต่กลับกันในมุมมองของผู้บริโภคส่วนใหญ่มากถึง 79 เปอร์เซ็นต์ มองว่าองค์กรทำเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับตนเองเท่านั้น โดยถูกมองว่าการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมขององค์กรคือเรื่องของชื่อเสียงองค์กร ถ้าไม่ทำอาจก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบได้ อันดันสอง 18 เปอร์เซ็นต์ ผู้บริโภคมองว่าเป็นเรื่องของการลดต้นทุน และสร้างกำไร จากการที่ลดบางอย่างและทำสิ่งอื่นมาขายทดแทน เพื่อให้ตนทุนของตนเองลดลง และมีกำไรมากขึ้น
เช่น การยกเลิกการใช้ถุงพลาสติก โดยการใช้ถุงผ้าทดแทน และข้อสุดท้าย 3 เปอร์เซ็นต์ มองว่าทำเพราะนโยบายของภาครัฐ โดยมองว่าบางทีเองอาจเป็นเรื่องที่กฎหมายบอกว่าต้องทำ เช่นการบำบัดน้ำเสีย หากกฎหมายไม่ได้กำหนดขึ้น องค์กรต่างๆคงไม่ยอมเสียค่าใช้จ่ายเพื่อสร้างสิ่งนี้ขึ้นมา
ซึ่งในการที่ธุรกิจหรือองค์กรจะทำการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคได้ มีทั้งหมด 4 ระดับด้วยกันซึ่งมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงดังต่อไปนี้ ระดับที่ 1 การคิดอยากจะทำ 61 เปอร์เซ็นต์ ระดับที่ 2 เริ่มทำบางเรื่อง 10 เปอร์เซ็นต์ ระดับที่ 3 ทำเกือบทุกเรื่อง 10 เปอร์เซ็นต์ และระดับที่ 4 ทำเป็นนิสัย 13 เปอร์เซ็นต์
จากการศึกษาผู้บริโภคในหัวข้อการตลาดโลกสวย “Voice of Green” ทำให้สามารถสรุปกลยุทธ์ทางการตลาดที่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคได้ โดยเราสามารถเปลี่ยนแปลงผู้บริโภคให้หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมได้ด้วยกลยุทธ์ ENVI ที่ประกอบด้วย
E (EARLY) คือ การปลูกจิตสำนักรักษ์โลกให้กับเด็กรุ่นใหม่
N (Now or Never) คือ การไม่นิ่งนอนใจต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม
โดยการลงมือแก้ไขในทันที
V (Viral) คือ ทำการสื่อสารปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง
และมีความทั่วถึง ซึ่งส่วนนี้จะต้องใช้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างเข้มงวด
I (Innovative) คือ การขับเคลื่อนธุรกิจด้วยนะวัตกรรม และการออกแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือสามารถสรุปง่ายๆ ว่า ปลูกฝัง แก้ไขโดยทันที สื่อสารอย่างตรงจุดและทั่วถึง และใช้นวัตกรรมให้เกิดประโยชน์
ในการเสวนาในครั้งนี้ ยังมีการแชร์เทรนด์ธุรกิจที่กำลังจะเข้ามามีบทบาทในเรื่องของการอนุรักษ์โลก สำหรับคนที่ต้องการจะเริ่มต้นธุรกิจของตนเอง ถึง 3 รูปแบบ ได้แก่
ธุรกิจสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่เน้นการออกแบบ และเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น แบรนด์กระเป๋าที่นำวัสดุเหลือให้เป็นวัตถุดิบในการผลิต หรือการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่สามารถกินได้
ธุรกิจที่มีผลิตภัณฑ์ หรือบริการที่ใช้พลังงานสะอาด เช่น จุดบริการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ที่ในอนาคตผู้บริโภคจะสนใจเรื่องของการใช่รถใช้พลังงานสะอาด
และธุรกิจหรือบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น แฮมเบอร์เกอร์ที่ใช้เนื้อสัตว์ที่ผลิตจากพืช ภาชนะหรือสิ่งของเครื่องใช้ที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ เป็นต้น
จากการทำการวิจัยยังได้มีการมอบรางวัล “Green Brand Love”จากการจัดอันดับกลุ่มธุรกิจที่ได้รับการโหวดจากผู้บริโภคว่าเป็นแบรนด์ที่คำนึงถึงสิ่งอวดล้อมในกลุ่มธุรกิจของตัวเอง ได้แก่
กลุ่มธุรกิจค้าปลีก คือ ร้าน 7-11 กลุ่มธุรกิจพลังงาน (ปิโตรเคมี) คือ ปตท. และ บางจาก กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่ม คือ โคคาโคล่า กลุ่มธุรกิจยานยนต์ คือ บริษัทโตโยต้า กลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภค บริโภค คือ ยูนิลิเวอร์ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม คือ เอ็มเค Café Amazon และ Starbucks โดยมีรางวัล Top Green Brand Love ที่เป็นรางวัลที่ถูกพูดถึงเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากที่สุด คือกลุ่มธุรกิจประเภทวัสดุก่อสร้าง คือแบรนด์ SCG
นอกจากนี้ในช่วงของ
Speaker ยังมีเรื่องที่น่าสนใจจากผู้บริหารของทั้ง
3 บริษัทดังต่อไปนี้
บริษัท BRANDi คอร์ปเปอเรชัน จำกัด
ได้พูดถึงเรื่องของการอยู่กับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนว่า ความยั่งยืนเป็นสิ่งที่มีวิวัฒนาการในตัวของมันเอง
ซึ่งประกอบด้วย ยุคที่ความยั่งยืนกำลังพัฒนา และยุคที่ความยังยื่นได้ถูกพัฒนาแล้ว
โดยความยั่งยืนนั้นจะสามารถถูกพัฒนาได้อย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อเราทุกคนลงมือทำในทันที
ไม่มัวนิ่งเฉยต่อปัญหาที่เกิดขึ้น
บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย
จำกัด(มหาชน) เผยเรื่องของกลยุทธ์ของการใช้ทรัพยากรณ์หมุนเวียนในการผลิตสินค้า
และบริการ ที่ต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้งจากองค์กรเอง คู่ค้า
และตัวของผู้บริโภค ที่ร่วมใจกันในการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า
เช่นการนำถุงพลาสติกมาใช้เป็นวัตถุดิบในการสร้างถนน
หรือการนำถุงปูนพลาสติกที่พิมพ์ลายผิดพลาดมาผลิตกระเป๋า แทนการทิ้งและนำไปทำลาย
และ บริษัท โคคา
โคล่า (ประเทศไทย)
ได้เผยเรื่องของการลงมือทำและความยั่งยืนที่เป็นสิ่งสำคัญในการทำธุรกิจ
เพราะว่าผู้คนหันมาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น ธุรกิจต่างๆจึงต้องมีความใส่ใจในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน
เพื่อที่เราจะสามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ดีได้
นองจากนี้ความร่วมมือก็ยังเป็นสิ่งที่สำคัญ
ที่จะทำให้เราสามารถดำเนินธุรกิจด้วยความยั่งยืนได้
ทั้งหมดนี้ คือการสรุปแบบละเอียดจากการที่ผมได้เข้าร่วมงานสัมมนา การตลาดโลกสวย “Voice of Green” จากวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ CMMU เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2563 ครับ
สำหรับคนที่ต้องการไฟล์รายงาน Voice of Green การตลาดโลกสวย หรือ Green Marketing เทรนด์รักษ์โลก 2020 ฉบับเต็ม สามารถดาวน์โหลดได้ที่ลิงก์นี้ครับ > http://bit.ly/2QI6kOl
เนื้อหาโดย Weerachon Chamchan
อ่านรายงานรีเสริชการตลาดจาก CMMU ในหัวข้อ Lazy Marketing ต่อ > https://everydaymarketing.co/trend-insight/lazy-consumers-lazy-marketing-cmmu/