เจาะลึก 13 Insight Ecommerce 2022 ข้อมูลพฤติกรรมการซื้อของออนไลน์ของคนไทย และทั่วโลกจากรายงาน Digital Stat 2022 - We Are Social

13 Insight Ecommerce 2022 ข้อมูลพฤติกรรมการซื้อขายของออนไลน์ จาก Digital Stat 2022

จากรายงาน Digital Stat 2022 มาถึงตอนที่ 4 ที่จะพาไปเจาะลึกดู Insight Ecommerce 2022 เจาะลึกพฤติกรรมการซื้อขายของออนไลน์ของคนไทยและเทรนด์ที่เปลี่ยนแปลงไปทั่วโลก คนที่ขายของออนไลน์ต้องรู้ เพื่อจะได้ปรับกลยุทธ์การขายของออนไลน์ให้ทันกระแสที่เปลี่ยนไปในปีนี้

1. ข้อมูลภาพรวม Insight Ecommerce 2022

จากภาพรวมจะเห็นว่าประชากรโลกที่ใช้อินเทอร์เน็ตในช่วงอายุ 16-64 ปีนั้นมีการซื้อสินค้าหรือบริการทางออนไลน์กว่า 58.4% และกว่า 28.3% ก็เคยซื้อสินค้าประเภทของกินของใช้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน (ซึ่งเทรนด์นี้มาแรงมีการเติบโตอย่างมากทั่วโลก) และ 14.4% ก็เคยซื้อของมือสองทางออนไลน์ มี 24.6% ที่เทียบราคาสินค้าและบริการก่อนจะตัดสินใจ และที่น่าสนใจที่สุดคือมี 17.8% ที่เคยใช้บริการ Buy Now Pay Later ที่กำลังมาแรงขึ้นทุกทีในบ้านเรา

2. คนไทย 2 ใน 3 ซื้อของออนไลน์เป็นประจำมากเป็นอันดับ 1 ของโลก

ข้อมูลอันนี้น่าสนใจมากครับ ทำให้เห็นว่าคนไทยนั้นมีพฤติกรรมการซื้อของออนไลน์รายสัปดาห์สูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก คือ 68.3% ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในไทยที่มีอายุ 16-64 ปี ตามมาด้วยประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย เกาหลีใต้ เม็กซิโก และจีน น่าภูมิใจกับเรื่องนี้มากๆ ครับที่คนไทยซื้อของออนไลน์เป็นประจำทุกสัปดาห์สูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก

ดังนั้นคำถามสำคัญที่นักการตลาดเช่นคุณต้องตอบให้ได้คือ แล้วในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาลูกค้าซื้อของเราเพิ่มขึ้นหรือลดลงกันแน่? อย่าบอกว่าคนไทยไม่ค่อยซื้อออนไลน์ เพราะจากข้อมูลหน้านี้ก็ชัดเจนว่าเราช้อปปิ้งออนไลน์เป็นอันดับหนึ่งของโลก

3. คนไทย 35.5% ซื้อของออนไลน์ผ่านมือถือเป็นประจำ สูงเป็นอันดับ 9 ของโลก

เมื่อดูข้อมูลพฤติกรรมการซื้อของออนไลน์ของคนไทยในปี 2022 ให้ลึกขึ้นอีกนิดจะเห็นว่า คนไทยซื้อของออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือเป็นประจำทุกสัปดาห์สูงเป็นอันดับ 9 ของโลก อยู่ที่ 35.5% สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่อยู่ที่ 30.6%

ในแง่หนึ่งทำให้เห็นภาพว่ากลุ่มลูกค้าที่ซื้อผ่านคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ที่ไม่ใช่มือถือนั้นมีแนวโน้มที่จะซื้อของออนไลน์เป็นประจำมากกว่า ลองเอา Insight ตรงนี้ไปประยุกต์กับการทำ Digital Customer Experience ดูนะครับว่าเราจะกระตุ้นให้กลุ่มที่ใช้คอมพิวเตอร์ซื้อของเรามากขึ้นและถี่ขึ้นได้อย่างไร หรือเราจะทำให้กลุ่มผู้ใช้มือถือแต่มีคอมพิวเตอร์อยู่บ้านนั้นหันมาซื้อของเราผ่านคอมพิวเตอร์ที่ให้ User Experience ที่สะดวกสบายหน้าจอใหญ่กว่าได้อย่างไร

แอบแชร์ Insight เล็กๆ ตอนผมเคยวิเคราะห์ข้อมูลหลังบ้านสายการบินหนึ่งพบว่า กลุ่มคนที่เข้าเว็บไซต์แบรนด์นี้ผ่านคอมพิวเตอร์นั้นมีอัตราการ Conversion ที่สูงกว่าอย่างเห็นได้ชัด ส่วนหนึ่งเพราะการอยู่บนหน้าคอมพิวเตอร์จอใหญ่ๆ มันทำให้รับข้อมูลได้ง่าย ตัดสินใจซื้อได้ไว รู้แบบนี้แล้วรีบเอาไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจคุณนะครับ

4. 17 Insight ปัจจัยที่กระตุ้นให้คนอยากซื้อออนไลน์ร้านคุณมากกว่าคู่แข่ง

ขอเรียงลำดับปัจจัยที่กระตุ้นให้คนอยากซื้อในปี 2022 กันนะครับ

  1. ส่งฟรี 51.1%
  2. คูปองส่วนลด 39.2%
  3. รีวิวจากลูกค้า 33.5%
  4. ไม่พอใจส่งคืนง่าย 32.1%
  5. กดสั่งและจ่ายเงินง่าย 29.5%
  6. ส่งถึงมือในวันถัดไป 29%
  7. มีระบบสะสมแต้ม 25.9%
  8. มี Likes เยอะ หรือมีคอมเมนต์ดีๆ เยอะบนโซเชียล 22.1%
  9. รู้ว่าแบรนด์นี้รักษ์โลก 20.6%
  10. ผ่อนชำระได้ หรือไม่มีดอก 18.5%
  11. เก็บเงินปลายทางได้ 18%
  12. ซื้อได้โดยไม่ต้องล็อกอิน 15.3%
  13. มีบริการพิเศษ หรือคอนเทนต์พิเศษให้ 15.2%
  14. Click & Collect Delivery สั่งออนไลน์แล้วไปรับเองหน้าร้านได้ 15.1%
  15. Live Chat พร้อมตอบคำถามตลอด 24 ชั่วโมง 14.5%
  16. Entry into Competitions 13.4%
  17. มีปุ่มซื้อบนโซเชียลมีเดีย 12.7%

น่าสนใจตรงปัจจัยการรักษ์โลกมีผลต่อความอยากซื้อของลูกค้า และระบบซื้อได้โดยไม่ต้องล็อกอินก็สำคัญมากเช่นกัน

5. คนไทยใช้เงินซื้อของออนไลน์ปีละประมาณ 17,000 บาท

แม้เราจะเป็นชาติที่ซื้อของออนไลน์เป็นประจำทุกสัปดาห์สูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่ในแง่ของการใช้เงินแล้วเรายังใช้น้อยกว่าค่าเฉลี่ยโลกมากนัก เพราะล่าสุดบอกให้รู้ว่าค่าเฉลี่ยของการใช้เงินซื้อของออนไลน์ของคนไทยนั้นอยู่ที่ 518 ดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ 17,000 บาทเท่านั้นเอง

ซึ่งค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 1,017 ดอลลาร์ หรือตีเป็นเงินไทยก็ 33,000 บาทหน่อยๆ ส่วนประเทศที่ประชากรใช้เงินในการซื้อของออนไลน์มากที่สุดคือฮ่องกง สูงถึง 3,183 ดอลลาร์ ตีเป็นเงินไทยก็แสนหน่อยๆ ตามติดมาด้วยสหรัฐอเมริกา 3,105 ดอลลาร์ ประมาณแสนบาทเช่นกัน และก็ตามมาด้วยเกาหลีใต้ 2,995 ดอลลาร์ ก็ประมาณแสนบาทไทยได้

6. คนไทยซื้อของกินของใช้ทางออนไลน์มากเป็นอันดับ 1 ของโลก

ข้อมูลการซื้อของออนไลน์ของคนไทยชุดนี้น่าตกใจอีกแล้ว เมื่อพบว่าคนไทยซื้อของกินของใช้ทางออนไลน์เป็นประจำทุกสัปดาห์มากเป็นอันดับ 1 ของโลก อยู่ที่ 45.8% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหมดในช่วงอายุ 16-64 ปี ตามมาด้วยเกาหลีใต้ เม็กซิโก ตุรกี อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ส่วนค่าเฉลี่ยทั่วโลกนั้นอยู่ที่แค่ 28.3% เท่านั้น

รู้แบบนี้แล้วแบรนด์ใครที่ขายของกินของใช้และมีช่องทางออนไลน์แต่ลูกค้าไม่ได้ซื้อตัวเองเป็นประจำ ถึงเวลาที่ต้องทำการบ้านชุดใหญ่แล้วครับ

7. Insight Online Travel & Tourism 2022 ข้อมูลการท่องเที่ยวออนไลน์ภาพรวมทั่วโลก

ภาพรวมของการใช้เงินไปกับการท่องเที่ยวผ่านช่องทางออนไลน์ทั่วโลกดูจะเติบโตได้ดีกว่าปีก่อนพอสมควร เพราะหลายประเทศระดมฉีดวัคซีนแต่เนิ่นๆ แล้วก็รีบเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวที่ได้วัคซีนครบแล้วเข้ามาใช้เงิน หรืออย่างน้อยก็ทำให้การท่องเที่ยวภายในประเทศคึกคักกว่าปีแรกเป็นอย่างมาก

การซื้อตั๋วเครื่องบินเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6.8% ธุรกิจเช่ารถยนต์เติบโตขึ้น 15% โรงแรม เพิ่มขึ้น 45% การซื้อแพคเกจท่องเที่ยววันหยุด เพิ่มขึ้น 59% ธุรกิจการเช่าบ้านพัก เพิ่มขึ้น 30% และที่น่าสนใจที่สุดคือการท่องเที่ยวประเภทล่องเรือสำราญนั้นเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 117% ครับ

8. Insight Food Delivery 2022 ข้อมูลภาพรวมการสั่งอาหารออนไลน์ทั่วโลก

แม้จะยังไม่มีข้อมูลที่เจาะลึกของประเทศไทย แต่ข้อมูลการสั่งอาหารออนไลน์หรือ Insight Food Delivery อันนี้ก็น่าสนใจเพราะทำให้เราได้เห็นชัดว่ามีคนที่สั่งอาหารออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มในปีที่ผ่านมาไปกว่า 1,750 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 277 ล้านคน หรือ 18.9% รวมแล้วเป็นเม็ดเงินกว่า 270,300 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 44,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 19.6% (เพิ่มเยอะกว่าจำนวนผู้ใช้งาน แสดงว่ามีการสั่งต่อคนเพิ่มขึ้น) และเฉลี่ยแล้วต่อคนใช้เงินในการสั่งอาหารออนไลน์ทั้งปีอยู่ที่ 155 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.6% ครับ

9. Insight ข้อมูลการหาหมอออนไลน์ 2022

ข้อมูลนี้น่าสนใจเพราะทำให้เห็นเทรนด์ New Normal เรื่อง TeleMed ชัดเจนว่าไม่ใช่แค่กระแสชั่วคราวช่วงโควิด แต่กลายเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็ทำกัน ภาพรวมทั่วโลกคือมีคนหาหมอผ่านออนไลน์ไปแล้วกว่า 3,260 ล้านคนในปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 267 ล้านคน หรือ 8.9% ก่อให้เกิดเม็ดเงินกว่า 128,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนสูงมากถึง 23.5% หรือคิดเป็นเงินกว่า 24,000 ล้านดอลลาร์ สุดท้ายแล้วค่าเฉลี่ยการใช้เงินหาหมอออนไลน์ในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 39.46 ดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 13% ครับ

10. คนไทย 70.1% ใช้เงินซื้อคอนเทนต์ออนไลน์

ใครบอกคอนเทนต์ต้องฟรี ไม่จริงเสมอไป หรือใครที่บอกว่าคนไทยชอบของฟรีอย่างเดียว ก็ไม่จริงเสมอไป เพราะตัวเลขล่าสุดบอกให้รู้ว่าคนไทยกว่า 70.1% นั้นใช้เงินกับการจ่ายเพื่อคอนเทนต์พิเศษ ไม่ว่าจะจ่ายค่าแอปดูหนัง ฟังเพลง หรือแม้แต่ Subscribe เพื่อดูคอนเทนต์สนับสนุน Creator (เพจการตลาดวันละตอนก็มี Subscribers กว่า 50 คนแล้วครับ ขอบคุณมากจริงๆ)

แม้ตัวเลขนี้จะดูสูง แต่เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยโลกแล้วเรายังต่ำกว่าเขาอยู่เล็กน้อย เพราะค่าเฉลี่ยโลกอยู่ที่ 71.5% ครับ

11. DigitalContent แบบไหนที่คนยอมจ่ายเงินซื้อ

  1. หนังหรือภาพยนต์ หรือรายการทางออนไลน์ 31.8%
  2. ฟังเพลงออนไลน์ 24.1%
  3. ดาวน์โหลดเพลง 20.3%
  4. ดาวน์โหลดหนังหรือรายการทีวี 17.9%
  5. แอปมือถือ 16.7%
  6. เรียนออนไลน์ 14.4%
  7. E-Book 12.9%
  8. จ่ายเงินซื้อของภายในแอป 11.8%
  9. ข่าว 11.6%
  10. โปรแกรม 10.5%
  11. บริการพิเศษบนเว็บ 9.8%
  12. สมัครสมาชิกแมกาซีนออนไลน์ 9.3%
  13. ของขวัญออนไลน์ Digital Gifts 9%
  14. Dating Service (ทินเดอร์แน่ๆ) 6.9%

12. คนไทยใช้เงินกับ Digital Payment 526 ดอลลาร์

ในปี 2021 ที่ผ่านมาคนไทยใช้เงินกับการจ่ายเงินออนไลน์ หรือ Digital Payment เป็นเงิน 526 ดอลลาร์ หรือประมาณ 17,000 บาท ซึ่งก็ยังถือว่าน้อยกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกมาก ที่สูงถึง 1,766 ดอลลาร์ หรือตีเป็นเงินไทยกว่า 57,7xx บาท

13. คนไทยใช้มือถือจ่ายเงินสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก

แม้เราจะใช้เงินน้อยแต่เราก็ขยันใช้เงินนะ เพราะจากข้อมูลหน้านี้บอกให้รู้ว่าคนไทยเองใช้เงินผ่านมือถือเก่งมาก มากเป็นอันดับสามของโลก อยู่ที่ 32.9% ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในช่วงอายุ 16-64 ปีทั่วประเทศ เป็นรองก็แค่ฮ่องกงอันดับหนึ่ง 41.6% และก็ใต้หวัน 39.3% เท่านั้น ซึ่งตัวเลขค่าเฉลี่ยโลกก็อยู่แค่ 25.8% เท่านั้นเอง

สรุป 13 Insight Ecommerce 2022 ข้อมูลพฤติกรรมการใช้เงินซื้อของออนไลน์ของคนไทยและทั่วโลกจาก We Are Social

จากรายงาน Digital Stat 2022 ในส่วนของ Ecommerce ทำให้เราได้เห็นทิศทางการใช้เงินบนออนไลน์ที่เปลี่ยนไปทั้งของคนไทยและทั่วโลก การสั่งอาหารออนไลน์กลายเป็น New Normal ควบคู่กับการหาหมอออนไลน์ที่ครอบคลุมผู้คนเกือบครึ่งโลกแล้วในวันนี้

เพิ่มเติมคือการใช้เงินบนออนไลน์จะขยับไปเพื่อการแสดงตัวตนบนออนไลน์แทนที่ชีวิตจริง เราจะเห็นการใช้เงินกับ NFT หรือไอเท็มบางอย่างที่เอาไว้อวดได้แค่บนออนไลน์เท่านั้น ซึ่งหลายแบรนด์หรูและแบรนด์แฟชั่นต่างๆ ก็พยายามรุกคืบเข้าไปในตลาดนี้มากขึ้นทุกที

TikTok ก็กลายเป็นหนึ่งแพลตฟอร์มที่กระตุ้นให้เกิดการใช้เงินได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อ เรียกได้ว่าขายดีเพราะ TikTok ก็มีให้เห็นมากนักต่อนักในบ้านเรา ดังนั้นใครขายออนไลน์แล้วยังไม่ศึกษา TikTok ถือว่าเป็นอะไรที่พลาดอย่างมากครับ

เทรนด์สุดท้ายที่น่าสนใจคือ Buy Now Pay Later ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง เทรนด์นี้ไม่ได้มาแรงแค่บ้านเราแต่มาแรงไปแล้วทั่วโลก ซึ่งสิ่งนี้เกิดขึ้นได้ก็เพราะ Digital Lending หรือบริการให้กู้ยืมทางออนไลน์ เมื่อพฤติกรรมทางออนไลน์สามารถเอามาประเมินเป็น Credit Score ได้ว่าใครน่าเชื่อถือควรได้รับสิทธิ์ให้ซื้อก่อนจ่ายทีหลังได้บ้าง

ยังไม่นับถึงวิธีการต่างๆ อีกมากมายที่กระตุ้นให้เราเป็นหนี้เป็นสินมากขึ้นและเร็วขึ้นทุกทีจนแอบรู้สึกกังวลแทนไม่ได้ครับ

ในตอนหน้าบทสุดท้ายของสรุปรายการ Digital Stat 2022 นี้ เราจะไปดูถึงทิศทางโฆษณาออนไลน์หรือ Digital Advertising ว่าเป็นอย่างไร ค่าแอดแพงขึ้นจริงหรือไม่ แล้วเราควรจะต้องปรับกลยุทธ์การตลาดออนไลน์ในปี 2022 อย่างไรดี

อ่านบทความก่อนหน้า

เจาะลึก Insight พฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตและออนไลน์ของคนไทย
เจาะลึก Insight พฤติกรรมการใช้ Social media คนไทยและทั่วโลกแบบภาพรวม
เจาะลึก Insight พฤติกรรมการใช้ Facebook, YouTube, Instagram, Twitter, TikTok และแพลตฟอร์มอื่นๆ
สรุป 11 Data & Insight การใช้มือถือของคนไทย จาก Digital Stat 2022

Source

เจ้าของเพจการตลาดวันละตอน / อาจารย์พิเศษวิชา Data-Driven Communication / เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่ม Personalized Marketing, Data-Driven Marketing, Data Thinking, Contextual Marketing และ Social Listening / ที่ปรึกษา Data-Driven Advisor

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *