ต้องบอกว่าในปัจจุบันที่มีความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ค่ะ ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคได้เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผู้บริโภคไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญกับราคาเท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงความคุ้มค่า คุณภาพ และประสบการณ์ที่ได้รับจากการซื้อสินค้า/บริการด้วยเช่นกัน ในบทความนี้เราจะมาวิเคราะห์ Customer Journey Mapping จากรายงานผู้บริโภคในไทย NIQ กันค่ะ
อย่างที่บอกไปข้างต้นว่าในปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ทำให้ผู้บริโภคมีการตัดสินใจที่ยากขึ้นในการจับจ่ายใช้สอยต่าง ๆ เราจะมาดูรายงานแนวโน้มผู้บริโภคในประเทศไทยช่วงกลางปี พ.ศ. 2567 จาก NielsenIQ (NIQ) กันว่าแนวโน้มผู้บริโภคในประเทศไทยจะเป็นยังไงคะ
ขอเริ่มจาก NielsenIQ (NIQ) บริษัทวิจัยผู้บริโภคชั้นนำของโลกด้านข้อมูลเชิงลึกของผู้บริโภค ได้เปิดเผยถึงรายงานแนวโน้มผู้บริโภคในประเทศไทยช่วงกลางปี พ.ศ. 2567 ชี้ให้เห็นถึงมุมมองที่ครอบคลุมเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของพฤติกรรมผู้บริโภค ในขณะชาวไทยกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น
ความเชื่อมั่นทางการเงินและความกังวลหลัก
จากรายงานได้แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่เป็นจุดเด่นว่า ผู้บริโภคถึง 84% กำลังแสวงหาแหล่งรายได้เสริมนอกเหนือจากงานประจำ การเพิ่มขึ้นในจุดนี้สะท้อนให้เห็นถึงการผลักดันให้ประเทศมีความมั่นคงทางการเงินท่ามกลางตัวเลขการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นค่ะ
ในขณะที่ 29% ของผู้บริโภคได้รายงานว่าสถานะทางการเงินของตนนั้นดีขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2567 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากจำนวน 24% แต่มีผู้บริโภคถึง 35% รู้สึกว่าสถานะทางการเงินของตนแย่ลง ถึงแม้ว่าจะมีแนวโน้มดีขึ้นจาก 48% ในช่วงต้นปีค่ะ
อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจยังคงมีอยู่ เนื่องจากผู้บริโภคถึง 36% ได้แสดงถึงความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับค่าสาธารณูปโภคที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 32% เมื่อปีที่แล้วค่ะ
การใช้จ่ายเชิงกลยุทธ์และการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล
แม้ว่าต้นทุนจะเพิ่มขึ้น แต่ผู้บริโภคชาวไทย 43% เชื่อว่าความมั่นคงทางการเงินของครอบครัวยังคงไม่ได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตาม คนกลุ่มนี้จะมีความระมัดระวังมากขึ้นในการใช้จ่าย ซึ่งเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีค่ะ
เพื่อรับมือกับแรงกดดันด้านต้นทุน ผู้บริโภคชาวไทย 45% เลือกที่จะซื้อของออนไลน์เพื่อรับข้อเสนอที่ดีกว่า ลดการเดินทาง และประหยัดค่าน้ำมัน การเปลี่ยนแปลงนี้เน้นย้ำถึงความสำคัญของความสะดวกสบายและความสามารถในการตัดสินใจใช้จ่ายของผู้บริโภคอีกด้วยค่ะ
เนื่องจากงบประมาณครัวเรือนตึงตัว ผู้บริโภคชาวไทย 25% จึงเปลี่ยนมาซื้อสินค้าจำนวนมากเพื่อให้ได้รับประโยชน์จากต้นทุนต่อการใช้งานที่ลดลง นอกจากนี้ 80% ของผู้บริโภคมีความชื่นชอบต่อผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาให้มีราคาจับต้องได้มากที่สุด ซึ่งบ่งชี้ถึงโอกาสที่ธุรกิจต่างๆ จะสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยโซลูชันที่คุ้มต้นทุนนั่นเองค่ะ
สุขภาพและการเป็นอยู่ภายในบ้าน – Centric Lifestyles
นอกจากนั้น รายงานได้แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในทิศทางของมูลค่าระยะยาวอย่างเห็นได้ชัด โดยผู้บริโภค 76% ยินดีที่จะจ่ายเงินเพิ่มเพื่อผลิตภัณฑ์ที่ทนทานกว่า เพื่อลดความจำเป็นในการเปลี่ยนบ่อยครั้ง นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังให้ความสำคัญกับประสบการณ์ภายในบ้านมากกว่าความบันเทิงภายนอก ซึ่งเน้นย้ำถึงความชอบในการทำกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจที่บ้านเพื่อลดต้นทุนโดยรวมอีกด้วยค่ะ
นอกจากนี้ การใช้จ่ายด้านสุขภาพก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยมีกลุ่มผู้บริโภคชาวไทย 74% ที่มีการเพิ่มการใช้จ่ายในวิตามินและอาหารเสริมเพื่อสนับสนุนความเป็นอยู่โดยรวม แนวโน้มนี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการดูแลสุขภาพที่เพิ่มขึ้นท่ามกลางต้นทุนการดูแลสุขภาพและการตระหนักรู้เกี่ยวกับประโยชน์ต่อสุขภาพที่เพิ่มขึ้นด้วยค่ะ
อิทธิพลของโลกดิจิทัลและการบริโภคอย่างชาญฉลาด
อิทธิพลของโซเชียลมีเดียยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยผู้บริโภคชาวไทย 76% ใช้แพลตฟอร์มเหล่านี้เพื่อค้นหาข้อมูลผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 46% อย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ ผู้บริโภค 22% ชอบใช้อุปกรณ์อัจฉริยะ อาทิ ตู้เย็นที่มีเซ็นเซอร์ เพื่อช่วยจัดการและเติมสิ่งของในครัวเรือนโดยอัตโนมัติ ซึ่งสะท้อนถึงแนวโน้มของการบริโภคที่เน้นความสะดวกสบายที่เพิ่มขึ้นค่ะ
แนวโน้มที่ต้องจับตามองในอนาคต
การพาณิชย์ทางโซเชียล หรือ การขายของออนไลน์ ประสบการณ์แบบ Omni-channel การผสานรวม AI และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ผันผวน ทุกปัจจัยมีแนวโน้มที่จะส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคในปี พ.ศ. 2568 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีการคาดการณ์ว่าผู้บริโภคชาวไทย 1 ใน 3 จะเลือกซื้อของทางโซเชียลมีเดียมากขึ้น ซึ่งจะผลักดันให้แนวโน้มการค้าปลีกเปลี่ยนแปลงไปด้วยค่ะ
และสำหรับธุรกิจที่ต้องการประสบความสำเร็จในตลาดที่เปลี่ยนไปนี้ การเพิ่มช่องทางการเข้าถึงให้แก่ผู้บริโภคและการเสนอข้อเสนอในหลายๆ วิธีถือว่าเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญ เมื่อการฟื้นตัวของผู้บริโภคดำเนินไปอย่างช้าๆ ผลิตภัณฑ์ที่มอบทั้งความคุ้มราคาและนวัตกรรมจึงมีแนนโน้มที่จะสามารถดึงดูดความภักดีของผู้บริโภคในระยะยาวได้ค่ะ
โดยหาสนใจอ่านรายงานแนวโน้มผู้บริโภคกลางปี 2567 สามารถดาวน์โหลดฟรีได้ที่ http://h.nniq.co/XV0x50TtXeg
วิเคราะห์ Customer Journey Mapping จากรายงานผู้บริโภคในไทย NIQ
จากรายงานแนวโน้มผู้บริโภคกลางปี 2567 ข้างต้น แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคชาวไทยในปี 2567 เผชิญกับแรงกดดันด้านการเงินและต้องการสินค้าที่คุ้มค่ามากขึ้น มีการใช้ Social Media ในการค้นหาข้อมูลและมองหาสินค้าหรือบริการที่ตอบโจทย์ทั้งด้านราคาและคุณภาพ
เราจึงขอนำรายงานนี้มาวิเคราะห์โดยใช้ Customer Journey Mapping เพื่อช่วยทำให้เราเห็นถึงเส้นทางของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะเศรษฐกิจและความต้องการที่เปลี่ยนไปในปี 2567 ดังนี้
1. Awareness (การรับรู้)
ผู้บริโภครับรู้ถึงความท้าทายทางเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่สูงขึ้น รวมถึงการมองหาแหล่งรายได้เสริมและการใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง รวมถึงการใช้โซเชียลเพื่อค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ ก็เป็นหนึ่งในวิธีที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ (76%) ใช้เพื่อหาข้อเสนอที่ดีขึ้น หรือ โปรโมชัน รวมถึงการตัดสินใจในการใช้จ่ายอีกด้วยค่ะ
2. Consideration (การพิจารณา)
เนื่องจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ผู้บริโภคมีความระมัดระวังมากขึ้นในการพิจารณาซื้อสินค้า โดยมองหาสินค้าที่คุ้มค่า เช่น ซื้อสินค้าในปริมาณมากเพื่อลดต้นทุนต่อการใช้งาน และความสนใจในผลิตภัณฑ์ที่มีราคาจับต้องได้ค่ะ
รวมถึงการเปรียบเทียบโปรโมชันบนออนไลน์เพื่อให้ได้ราคาที่ดีที่สุด จากข้อมูลที่ว่า 45% ของผู้บริโภคมีการเลือกซื้อออนไลน์ค่ะ
3. Purchase (การตัดสินใจซื้อ)
ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้าที่มีความคุ้มค่าและสามารถตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะ เช่น การซื้อสินค้าในปริมาณมากเพื่อลดต้นทุน หรือเลือกซื้อสินค้าที่ทนทานและไม่ต้องเปลี่ยนบ่อย จากข้อมูลที่ว่า 76% ของผู้บริโภคยินดีจ่ายเพิ่มเพื่อสินค้าที่ทนทานค่ะ
และการซื้อสินค้าผ่านโซเชียลมีเดียก็เป็นช่องทางที่สำคัญ โดยมีการคาดการณ์ว่าผู้บริโภค 1 ใน 3 จะเลือกซื้อสินค้าผ่านโซเชียลมีเดียมากขึ้นค่ะ
4. Service Delivery (การให้บริการ)
เมื่อซื้อสินค้าแล้ว ผู้บริโภคคาดหวังการบริการที่สะดวกและรวดเร็ว เช่น การจัดส่งสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ และการใช้อุปกรณ์อัจฉริยะในการช่วยบริหารจัดการบ้านเรือน เช่น ตู้เย็นที่สามารถเติมของโดยอัตโนมัติได้ค่ะ
5. Post-Service (หลังการให้บริการ)
หลังจากซื้อสินค้า ผู้บริโภคจะมีการติดตามผล เช่น การใช้สินค้าที่ซื้อมาร่วมกับบริการหรืออุปกรณ์อื่น ๆ เพื่อความสะดวกสบาย รวมถึงการแบ่งปันประสบการณ์การซื้อสินค้าผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้บ่อยในการค้นหาข้อมูลหรือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์
6. Loyalty (ความภักดี)
ผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบสนองความต้องการด้านความคุ้มค่า ความทนทาน และความสะดวกสบายจะมีโอกาสสร้างความภักดีจากผู้บริโภคมากขึ้น ธุรกิจที่สามารถผสมผสานการให้บริการ Omni-channel ที่ไร้รอยต่อและมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้บริโภค จะสามารถดึงดูดความภักดีในระยะยาว
เราจะเห็นเลยว่าในปี 2567 พฤติกรรมผู้บริโภคในประเทศไทยได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคต้องปรับตัวในการใช้จ่ายและเลือกซื้อสินค้าอย่างระมัดระวังมากขึ้นค่ะ
จากรายงานของ NielsenIQ (NIQ) ที่เปิดเผยข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแนวโน้มเหล่านี้ พบว่าผู้บริโภคกำลังหันมาให้ความสำคัญกับสินค้าที่คุ้มค่า ทนทาน และใช้จ่ายอย่างชาญฉลาดมากขึ้น
ขอบคุณภาพจาก Shutterstock AI Generator Prompt : Consumers shopping online using mobile phone and laptop, browsing products, comparing prices, and making purchases in a modern home setting. Background shows a cozy living room or kitchen, emphasizing convenience and smart decision-making
ดังนั้น หากธุรกิจต่าง ๆ ที่ต้องการประสบความสำเร็จจำเป็นต้องเข้าใจ Customer Journey Mapping ในแต่ละขั้นตอนของการซื้อสินค้าค่ะ
ถ้าชอบ หรือ สนใจอยากอ่านบทความด้านการตลาดแบบนี้อีก ผู้เขียนฝากติดตามด้วยนะคะ หรือ ถ้าใครอยากให้ผู้เขียนนำมุมมองการตลาดแบบไหนมาเล่าให้ฟัง สามารถคอมเมนต์บอกกันได้เลยนะคะ
สำหรับนักอ่านที่ชอบ และ อยากอ่านบทความเกี่ยวกับการตลาดเพิ่มเติม รวมถึงข่าวสารด้านการตลาดต่าง ๆ สามารถติดตามได้จาก เพจการตลาดวันละตอน รวมไปถึงเว็บไซต์ Twitter Instagram YouTube ของการตลาดวันละตอนได้เลยนะคะ แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้าค่ะヽ(•‿•)ノ
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่
https://www.everydaymarketing.co/business-and-marketing-case-study/create-top-of-mind-in-customers-hearts-through-aida-model-from-delivery-brands/