ถ้าพูดถึง Rolling Loud เชื่อว่าหลายคนคงนึกถึงเทศกาลดนตรีฮิปฮอปสุดยิ่งใหญ่ที่รวมศิลปินระดับโลกมาไว้ในที่เดียว แต่รู้ไหมคะว่า Rolling Loud ไม่ได้เป็นแค่เวทีคอนเสิร์ต แต่คือจุดศูนย์กลางของการหมุนเวียนเม็ดเงินที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในหลายมิติ ตั้งแต่ธุรกิจท้องถิ่นไปจนถึงระดับประเทศ งานนี้ไม่ได้แค่ทำให้แฟนเพลงมีโมเมนต์สุดมันส์ แต่ยังช่วยกระตุ้นการใช้จ่าย สร้างงาน และเปิดโอกาสทางธุรกิจให้กับหลายอุตสาหกรรมทีเดียวค่ะ แล้ว Rolling Loud Economy เกิดขึ้นได้อย่างไร? มาดูกันค่ะ
ทำความรู้จักกับ Rolling Loud เทศกาลฮิปฮอปที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก
Rolling Loud เป็นเทศกาลดนตรีฮิปฮอประดับโลกที่เริ่มต้นในปี 2015 ที่ไมอามี สหรัฐอเมริกา และขยายไปยังเมืองใหญ่ทั่วโลก รวมถึง Rolling Loud Thailand ที่จัดขึ้นในพัทยาด้วย จุดเด่นของงานนี้คือการรวมศิลปินฮิปฮอปทั้งระดับโลกและดาวรุ่งไว้บนเวทีเดียวกัน และนี่ก็เป็นมากกว่าคอนเสิร์ตค่ะ เพราะงานนี้สะท้อนวัฒนธรรมฮิปฮอป ทั้งแฟชั่น Street Art และไลฟ์สไตล์
เมื่อเสียง Beat ดังกระหึ่ม เศรษฐกิจก็สะพัด
Rolling Loud ไม่ใช่แค่เทศกาลดนตรีที่รวมศิลปินระดับโลกมาโชว์บนเวที แต่ยังเป็นตัวเร่งให้เกิดการใช้จ่ายในหลายอุตสาหกรรม เลยค่ะ งานแบบนี้ไม่ได้จบแค่ที่เวทีคอนเสิร์ต แต่ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงโรงแรม ร้านอาหาร ธุรกิจแฟชั่น และอีกสารพัดบริการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นผลพลอยได้ที่หลายคนอาจไม่เคยสังเกต
ผู้เขียนได้ลองทำ Social Listening และพบว่ามี 4 ด้านหลัก ๆ ที่ได้รับอานิสงส์จากงานนี้ ลองมาดูกันค่ะว่า Rolling Loud ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ยังไงบ้าง
1. Fashion & Beauty เตรียมตัวให้พร้อมก่อนมาคอน เสริมลุคให้มั่นใจ
Rolling Loud ไม่ใช่แค่เรื่องของดนตรี แต่มันคือ พื้นที่ที่ทุกคนได้แสดงตัวตนผ่านแฟชั่น ค่ะ คนไปคอนเสิร์ตไม่ได้แค่ซื้อตั๋วแล้วไปยืนดูเฉย ๆ แต่ต้องจัดเต็ม! เสื้อผ้า หน้า ผม ต้องเป๊ะสุดในชีวิต เพราะงานแบบนี้คือโอกาสที่ทุกคนจะได้โชว์สไตล์ของตัวเอง
หลายร้านเสื้อผ้าทำคอนเทนต์แนะนำ “ไอเดียแต่งตัวไป Rolling Loud” เพื่อช่วยให้คนเห็นภาพว่าควรแต่งลุคไหนให้เข้ากับงาน พอมีแนวทางแล้ว คนก็เริ่มช้อปปิ้งเพื่อให้ลุคของตัวเองออกมาปังที่สุด
และแน่นอนว่าแฟชั่นกับบิวตี้เป็นของคู่กัน ค่ะ งานนี้ไม่ได้มีแค่เสื้อผ้าจึ้ง ๆ แต่ผมและเล็บ ก็ต้องฉ่ำเหมือนกัน ร้านทำผมแนวสตรีทคึกคักขึ้นสุด ๆ โดยเฉพาะทรงถักเปีย ที่เข้ากับบรรยากาศคอนเสิร์ต ส่วนสายเล็บก็ไม่แพ้กัน ลายเล็บสุดครีเอทสารพัดดีไซน์ถูกอวดโฉมในงาน บ่งบอกสไตล์ของแต่ละคนแบบสุดตัวอีกด้วย
ที่ผู้เขียนมองว่าน่าสนใจมากก็คือ คลินิกเสริมความงาม เพราะงานแบบนี้ทำให้คนอยากดูดีที่สุด สร้างความมั่นใจ ก่อนเจอศิลปินที่รัก หรือก่อนถ่ายรูปอัพลงโซเชียล หลายคนเข้าคลินิกเพื่อทำหน้าใส ฉีดโบท็อกซ์ ฟิลเลอร์ หรือแม้แต่ดูดไขมันเพื่อให้หุ่นเป๊ะก่อนวันงาน ซึ่งคลินิกบางแห่งก็มองเห็นโอกาสนี้และออกโปรโมชั่นที่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่อยากดูดีที่สุดในวันคอนค่ะ
2. Creative & Business Opportunities เมื่อ Rolling Loud กลายเป็นช่องทางสร้างรายได้ใหม่
Rolling Loud ไม่ได้เป็นแค่โอกาสของธุรกิจใหญ่ ๆ แต่ยังเปิดพื้นที่ให้ ฟรีแลนซ์และครีเอเตอร์ ได้สร้างรายได้ด้วยค่ะ
ศิลปิน Graffiti ได้รับจ้างออกแบบและวาดภาพตกแต่งพื้นที่ในงาน DJ และโปรดิวเซอร์ ใช้โอกาสนี้ทำคอนเทนต์เกี่ยวกับวงการเพลงฮิปฮอป หรือเปิดคอร์สสอน DJ ให้กับคนที่อยากเริ่มต้นในสายนี้
อินฟลูเอนเซอร์ เองก็เข้ามาหาโอกาส ไม่ว่าจะเป็นสายบิวตี้ที่ทำคอนเทนต์ “แต่งหน้ายังไงให้เครื่องสำอางค์ติดทนตลอดงาน” หรือสายแฟชั่นที่ทำ OOTD (Outfit of the Day) และ GRWM (Get Ready With Me) เพื่อแชร์สไตล์ของตัวเอง และอีกกลุ่มที่เห็นเยอะขึ้นคือสายสัมภาษณ์ ที่ทำ Vibe Check ถามคนในงานว่าชอบศิลปินคนไหนที่สุด หรือ Fit Check ว่าแต่งอะไรมา Rolling Loud
แม้แต่วงการการศึกษา ก็ไม่พลาดใช้โอกาสนี้ค่ะ มีสถาบันการศึกษาบางแห่งพานักศึกษาไปร่วมงานในอีเวนต์จริง และใช้เป็นจุดขายในการโปรโมตหลักสูตรของตัวเอง
3. Food & Nightlife คนเยอะขึ้น การใช้จ่ายก็เพิ่มขึ้น
พอมีงานเทศกาลใหญ่ ๆ แบบนี้ ร้านอาหาร รอบ ๆ งานก็พลอยได้รับผลกระทบในทางบวกไปด้วยค่ะ เพราะคนต้องหาอะไรกินก่อนหรือหลังเข้างาน ร้านอาหารในพัทยาหลายแห่งทำการตลาดเพื่อดึงลูกค้ากลุ่มนี้เข้ามา
ที่เป็นกระแสมาก ๆ คือ ศิลปินระดับโลกที่มาร่วมงานมีการแชร์ภาพตัวเองไปกินสตรีทฟู้ด ทำให้ร้านเหล่านั้นกลายเป็นจุดที่แฟน ๆ อยากมาตามรอย และยังเป็นโอกาสดีที่ร้านอาหารจะได้ลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ ที่อาจไม่เคยรู้จักร้านมาก่อนค่ะ
นอกจากนี้ บาร์และร้านนั่งชิลก็ได้รับอานิสงส์ เพราะหลังคอนเสิร์ตจบ คนบางกลุ่มยังไม่อยากกลับบ้าน ทางร้านเลือกเปิดดึกขึ้นเพื่อรองรับลูกค้ากลุ่มนี้
และที่กลายเป็นไวรัลสุด ๆ ก็คือ มีคนเลือกใช้บริการเดลิเวอรี่ แต่แทนที่จะไปรับอาหารที่จุดนัดหมายตามปกติ กลับให้ไรเดอร์ ปีนรั้ว ส่งอาหารเข้าไปในงาน เรียกได้ว่าเป็นโมเมนต์ที่ทั้งฮาและน่าทึ่ง เห็นแล้วต้องยอมใจทั้งคนสั่งและไรเดอร์ที่ทุ่มเทสุดตัว แบบนี้แหละค่ะ งานเฟสติวัลอะไรก็เกิดขึ้นได้
4. Tourism & Transportation คนหลั่งไหลเข้าเมือง เศรษฐกิจหมุนเวียน
พอมีเทศกาลใหญ่แบบนี้เกิดขึ้นที่พัทยา เมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องการท่องเที่ยวอยู่แล้วก็ยิ่งคึกคักขึ้นไปอีกค่ะ คนไม่ได้แค่มาดูคอนเสิร์ตแล้วกลับ แต่พวกเขาต้องหาที่พัก ต้องเดินทาง ต้องใช้จ่าย และบางคนก็ถือโอกาสแวะเที่ยวต่อ เรียกได้ว่าเพียงแค่งานเดียวแต่ดึงคนเข้ามาเยอะมาก ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางและที่พักได้ประโยชน์เต็ม ๆ
โรงแรมหลายแห่ง โปรโมตที่พักสำหรับคนมาคอนเสิร์ต บางที่เน้นความสะดวก อยู่ใกล้สถานที่จัดงาน เดินไม่กี่นาทีก็ถึง ขณะที่บางที่ชูจุดขายเรื่องวิวบรรยากาศ ความสวยงามของสถานที่เพื่อรองรับสายเที่ยว อย่างรถบ้านที่ตั้งอยู่ในงาน ก็กลายเป็นอีกตัวเลือกที่น่าสนใจมากค่ะ เพราะสะดวกสุด ๆ แค่ตื่นมา เดินออกจากที่พัก ก็กระโดดเข้าสู่บรรยากาศเฟสติวัลได้ทันที
ส่วนเรื่องการเดินทางก็ได้รับอานิสงส์ไปเต็ม ๆ แท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ และแอปฯ เรียกรถมีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่วงก่อนและหลังงานที่คนเดินทางแน่นเป็นพิเศษ และสิ่งที่ผู้เขียนมองว่าดีมาก ๆ คือ การใช้รถตุ๊กตุ๊กเป็นสื่อโฆษณาโปรโมตงาน นี่เป็นวิธีที่ฉลาดมากค่ะ เพราะนอกจากช่วยสร้างการรับรู้เกี่ยวกับอีเวนต์แล้ว ยังเพิ่มรายได้ให้คนขับรถตุ๊กตุ๊ก ไปด้วย
นอกจากนี้ การที่ศิลปินระดับโลกอย่าง Wiz Khalifa ใช้โอกาสนี้มาต่อยมวยไทย ก็เป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ที่ช่วยโปรโมต Soft Power ของไทย โดยเฉพาะในด้าน “ กีฬา & การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม” ทำให้แฟนเพลงต่างชาติที่ติดตามเขาได้รับรู้ว่ามวยไทยเป็นมากกว่าศิลปะการต่อสู้ แต่เป็นประสบการณ์ที่น่าลองเมื่อมาเยือนไทย ซึ่งสิ่งนี้สามารถช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวสายกีฬา รวมถึงเพิ่มโอกาสให้ค่ายมวยไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้นอีกด้วยค่ะ
Rolling Loud Economy = โอกาสใหม่ของธุรกิจไทย
เห็นได้ชัดเลยนะคะว่า เทศกาลดนตรีอย่าง Rolling Loud ไม่ได้เป็นแค่เวทีให้ศิลปินขึ้นโชว์ แต่มันคือสนามธุรกิจขนาดใหญ่ที่เปิดโอกาสให้หลายอุตสาหกรรมได้ สร้างรายได้
คำถามคือ… ธุรกิจจะใช้โอกาสนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดยังไง?
กลยุทธ์ง่าย ๆ คือ “เกาะกระแส + แก้ปัญหา + สร้างประสบการณ์” ค่ะ เช่น
แบรนด์แฟชั่น สามารถปล่อยคอลเลกชัน “ Festival Look” ที่เข้ากับบรรยากาศงาน
ร้านนวดหรือสปา ทำแพ็กเกจ “ นวดฟื้นฟูหลังคอน” สำหรับสายแดนซ์ที่ต้องการรีเฟรชตัวเอง
คาเฟ่หรือร้านอาหาร ออกเมนู “ Recovery Drink” ที่ช่วยเติมพลังหลังจากเต้นทั้งคืน
AI image generated by Shutterstock (Prompt : a cinematic shot of a bartender in a trendy restaurant crafting a “Recovery Drink” cocktail, pouring a bright, revitalizing liquid into a chilled glass. The setting is a cozy, modern café with moody lighting, and the bar counter is filled with fresh, healthy ingredients. The drink’s vibrant colors contrast against the dark wood and warm atmosphere. –ar 16:9)
สุดท้ายนี้ ไม่ต้องรอให้มีแค่ Rolling Loud งานเทศกาล คอนเสิร์ต หรืออีเวนต์ใหญ่ ๆ คือ โอกาสทางธุรกิจเสมอ อยู่ที่ว่า ใครจะมองเห็นและคว้ามันได้ก่อน
สรุป Rolling Loud Economy เทศกาลดนตรีกระตุ้นเศรษฐกิจไทยมากกว่าที่คิด
เทศกาลดนตรีอย่าง Rolling Loud พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า อีเวนต์ขนาดใหญ่ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ในวงการดนตรี แต่ยังสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับหลายอุตสาหกรรม ตั้งแต่การท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร ธุรกิจแฟชั่นและความงาม ไปจนถึงฟรีแลนซ์และครีเอเตอร์ที่สามารถใช้กระแสนี้ในการสร้างรายได้
งานดนตรีจบ แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจยังคงหมุนเวียนอยู่ ผู้เขียนมองว่า Rolling Loud ไม่ใช่แค่เทศกาล แต่เป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้เมืองคึกคักขึ้น คนมีงานทำ ธุรกิจมีโอกาสเติบโต และที่สำคัญคือ แสดงให้เห็นว่า ถ้าเรามองเห็นโอกาส และรู้จักปรับตัวให้เข้ากับกระแส ทุกอีเวนต์ใหญ่ ๆ ก็สามารถกลายเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนธุรกิจของเราได้ค่ะ
สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Rolling Loud หรืออีเวนต์ไหนก็ตาม ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จคือธุรกิจที่ “ไม่รอให้โอกาสมาถึง” แต่สามารถ “สร้างโอกาสขึ้นมาได้เอง” แล้วคุณล่ะ พร้อมจะใช้โอกาสจากอีเวนต์แบบนี้ให้เป็นประโยชน์กับธุรกิจของคุณหรือยังคะ? แล้วพบกันใหม่บทความหน้าค่ะ :0)
อ่านบทความเพิ่มเติมที่นี่