ปัจจุบันมีเทรนด์การตลาดมากมายทั้ง Cute Marketing ที่นำความน่ารักเข้ามามีส่วนร่วมในการทำ Marketing หรือ Muketing ที่ผสานความมูเตลู และ Marketing เข้าด้วยกัน และอีกหนึ่งเทรนด์ที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้ นั่นคือ Co-Creation Marketing ซึ่งเป็นหนึ่งใน The Future 100: 2024 ที่ถูกพูดถึงนั่นเองค่ะ มาดูกันว่าคืออะไร? แล้วทำไม Brands จึงควรทำ
Co-Creation Marketing เปิดโอกาสให้ลูกค้ามีส่วนร่วมกับแบรนด์
Co-Creation Marketing คือแนวคิดทางการตลาดที่ให้แบรนด์หรือองค์กรทำงานร่วมกับผู้บริโภคและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องค่ะ นั่นก็เพื่อให้แบรนด์และผู้บริโภคได้สร้างคุณค่า (Value) หรือพัฒนาสินค้าหรือบริการไปพร้อม ๆ กัน โดยเน้นการมีส่วนร่วมและการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดสร้างสรรค์ และประสบการณ์ระหว่างแบรนด์กับกลุ่มเป้าหมายนั่นเองค่ะ ซึ่ง Co-Creation จะเปิดโอกาสให้ลูกค้ามีส่วนในกระบวนการออกแบบ พัฒนา หรือปรับปรุงสินค้าและบริการ แทนที่จะเป็นเพียงผู้บริโภคปลายทางเท่านั้นค่ะ
โดยตัวอย่างของ Co-Creation Marketing อาจเห็นได้จาก
- การเปิดพื้นที่ความคิดเห็นต่อสินค้าและบริการ บริษัทเชิญลูกค้าให้แนะนำฟีเจอร์ใหม่ ให้ข้อมูลปัญหาการใช้งาน หรือเสนอไอเดียที่ช่วยให้สินค้าดีขึ้น
- แพลตฟอร์ม Community Online การสร้างคอมมูนิตี้ที่ลูกค้าสามารถพูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และบริษัทนำข้อมูลไปพัฒนาต่อ ตัวอย่างของการสร้าง Community ของแฟนนางงาม การตลาดนางงามจักรวาล ตอบรับกระแส fandom ผ่าน LINE ประเทศไทย
- การทดลองผลิตภัณฑ์ร่วมกัน ทดลองสินค้าเวอร์ชั่นเบต้าหรือรุ่นต้นแบบ โดยให้ลูกค้ากลุ่มเล็ก ๆ เข้ามามีส่วนในการทดสอบ ปรับปรุง และแก้ไขก่อนวางขายจริง
- Co-branding หรือ Collaboration การร่วมมือกันระหว่างแบรนด์ สร้างผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าทั้งสองฝ่าย ตัวอย่างของการ Collaboration ระหว่างแบรนด์ การตลาด KOI Thé Collab แบรนด์เกม สร้าง Limited Edition Marketing
นอกจากนั้นการทำ Co-Creation Marketing มีความสำคัญและประโยชน์ในหลายด้าน โดยเฉพาะในยุคที่ผู้บริโภคต้องการมีส่วนร่วมและแสดงตัวตนผ่านแบรนด์ที่พวกเขาซื้อ ซึ่งเหตุผลหลักที่แบรนด์ควรทำ Co-Creation Marketing มีดังนี้
1. สร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า การให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในกระบวนการออกแบบหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ จะทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าแบรนด์ “ใส่ใจ” และ “ฟัง” ความคิดเห็นของพวกเขา สิ่งนี้เองจะช่วยสร้าง Brand Loyalty และทำให้ลูกค้ากลายเป็น Brand Advocate ที่พร้อมจะแนะนำแบรนด์ให้คนอื่นค่ะ
2. เพิ่มความหลากหลายในผลิตภัณฑ์ Co-Creation ทำให้แบรนด์ได้รับไอเดียใหม่ ๆ จากผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเป้าหมายโดยตรง ซึ่งช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงความต้องการของตลาด และลดความเสี่ยงในการผลิตสินค้าที่ไม่ตอบโจทย์ลูกค้าค่ะ
3. สร้างประสบการณ์ที่มีคุณค่าให้ลูกค้า การมีส่วนร่วมในขั้นตอนการสร้างสรรค์สินค้า เช่น การเลือกสี การปรับแต่ง หรือออกแบบเอง ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าผลิตภัณฑ์มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและสะท้อนความเป็นตัวเองค่ะ
4. เพิ่มความได้เปรียบในตลาดที่มีการแข่งขันสูง Co-Creation Marketing ช่วยให้แบรนด์ แตกต่าง และ โดดเด่น จากคู่แข่ง โดยเฉพาะในยุคที่ผู้บริโภคมองหาความพิเศษที่มากกว่าสินค้าทั่วไปค่ะ
5. สร้างกระแสและการบอกต่อ เมื่อลูกค้ามีส่วนร่วมในผลิตภัณฑ์ พวกเขามักจะภูมิใจและแชร์ประสบการณ์ลงบนโซเชียลมีเดีย ซึ่งช่วยสร้างกระแส (Buzz) และเป็นการตลาดแบบปากต่อปาก (Word-of-Mouth Marketing) อีกด้วยค่ะ
6. เข้าใจความต้องการของตลาดแบบ Real-Time กระบวนการ Co-Creation ช่วยให้แบรนด์เก็บข้อมูลเชิงลึก (Insights) และแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ เพราะลูกค้าได้แสดงความต้องการออกมาในกระบวนการสร้างสินค้าโดยตรงนั่นเองค่ะ
7. ลดความเสี่ยงและต้นทุนการพัฒนาสินค้า เมื่อผู้บริโภคมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา แบรนด์สามารถลดความผิดพลาดในการออกแบบสินค้าที่ไม่ตอบโจทย์ และยังลดต้นทุนในกระบวนการวิจัยตลาด (Market Research) อีกด้วยค่ะ
จะเห็นว่า Co-Creation Marketing มีประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย โดยลูกค้าจะรู้สึกว่าเสียงของพวกเขาถูกให้ความสำคัญ และแบรนด์เองก็สามารถเข้าใจลูกค้ามากขึ้น นำไปสู่การสร้างสินค้าและบริการที่ตรงความต้องการ และเกิดความผูกพันในระยะยาวกับแบรนด์นั่นเอง ทีนี้เรามาดู Case Study กรณีศึกษากันค่ะ ว่ามีแบรนด์ไหนบ้างที่มีการทำ Co-Creation Marketing
Case Study : Atelier Jolie
“ทำไมถึงต้องซื้อดีไซน์ของคนอื่น ในเมื่อคุณสามารถออกแบบเองได้?”
เมื่อฤดูร้อนในปี 2023 Angelina Jolie ได้เปิดตัวโปรเจกต์ที่ชื่อว่า Atelier Jolie ซึ่งเป็น “คอมมูนิตี้แห่งการสร้างสรรค์” ที่เปลี่ยนนักช้อปให้กลายเป็นดีไซเนอร์ค่ะ
แทนที่จะขายเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ออกแบบมาแล้ว Atelier Jolie เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคเลือกผ้าคุณภาพสูงและผ้างานฝีมือ เพื่อสร้างเสื้อผ้าตามขนาดที่ต้องการ โดยมีช่างตัดเสื้อในร้านช่วยออกแบบให้ค่ะ นอกจากนี้ Atelier Jolie ยังมีบริการซ่อมแซมเสื้อผ้า อุปกรณ์ซ่อมแซมสำหรับนำกลับบ้าน และ มี “stud-it-yourself activity station” ที่เปิดให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการเองในร้านแบบฟรี ๆ อีกด้วยค่ะ
Case Study : Kiki
“ใครก็ตามที่ต้องการมีส่วนร่วมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเรา สามารถทำได้”
– Brendon Garner ผู้ร่วมก่อตั้งและเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิต –
Kiki เป็นแบรนด์เครื่องสำอางจากปรเทศสหรัฐฯ ซึ่งเปิดตัวในเดือนพฤษภาคม 2023 ค่ะ โดยเน้นแนวคิดการร่วมสร้างสรรค์ หรือ Co-creation ซึ่งแบรนด์จะเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในกระบวนการออกแบบสินค้าค่ะ
แบรนด์นี้เริ่มต้นด้วยสินค้าเพียงชิ้นเดียว คือน้ำยาทาเล็บ และผลิตภัณฑ์ในอนาคตทั้งหมดจะถูกตัดสินโดยการโหวตจาก Community
Case Study : Golden Goose
” INSPIRING EVERYONE TO BECOMEA Dreamer “
Golden Goose เป็นแบรนด์แฟชั่นสัญชาติอิตาลี แบรนด์นี้มีชื่อเสียงโดดเด่นจากการผสมผสานงานออกแบบรองเท้าผ้าใบ (Sneakers) สไตล์ลักชัวรีที่มีความเรียบง่าย เข้ากับความรู้สึกแบบวินเทจและความประณีตของงานฝีมือช่างอิตาเลียนค่ะ ส่งผลให้ได้รองเท้ารูปทรงคลาสสิกที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยเฉพาะการแต่งรองเท้าให้ดูมีร่องรอยการใช้งาน (Distressed Effect) ทำให้รองเท้าดูเป็นงานแฮนด์เมดที่มีคาแรกเตอร์ไม่ซ้ำใครอีกด้วยค่ะ
และนอกจากรองเท้าแล้ว Golden Goose ยังขยายไลน์สินค้าไปยังเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับอื่น ๆ อีกด้วยค่ะ และที่สำคัญ Golden Goose เปิดโอกาสให้ลูกค้าร่วมออกแบบสินค้าได้ทุกที่ ทั้งบนออนไลน์และหน้าร้านค่ะ
มีทั้งแบบ “Sneaker’s Co-Creation” คือการให้ลูกค้าได้มีส่วนร่วมในการออกแบบรองเท้าคู่ใหม่ร่วมกับช่างฝีมือ (Artisans) ของแบรนด์ โดยลูกค้าสามารถเลือกดีเทล การตกแต่ง หรือองค์ประกอบพิเศษต่าง ๆ เช่น ข้อความ (messages) หมุดโลหะ (studs) รวมถึงลวดลาย หรือวัสดุอื่น ๆ ให้ตรงกับความชอบและสไตล์ของตัวเองได้ด้วยค่ะ ทำให้รองเท้าคู่นั้นมีความเป็นเอกลักษณ์และพิเศษไม่ซ้ำใครค่ะ
นอกจากนั้นยังมี “Special Co-Creation” เป็นการยกระดับการร่วมสร้างสรรค์ (Co-Creation) ระหว่างแบรนด์กับลูกค้าไปอีกขั้นค่ะ โดยนอกจากการปรับแต่งพื้นฐาน (Classic Customization) เช่น เลือกสีหรือวัสดุแล้ว ลูกค้ายังสามารถเพิ่มรายละเอียดพิเศษ เช่น เครื่องประดับ (Charms) เชือกรองเท้าดีไซน์พิเศษ (Laces) และลูกเล่นเฉพาะตัวอื่น ๆ เพื่อสร้างรองเท้าคู่ใหม่ที่มีความพิเศษยิ่งขึ้นค่ะ
รวมทั้งการ“Co-creation in store” เป็นการเชิญชวนให้ลูกค้าเข้ามาที่หน้าร้าน (In-store) เพื่อสัมผัสประสบการณ์การปรับแต่งรองเท้าหรือสินค้าแบบเฉพาะตัว ร่วมสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ร่วมกับแบรนด์ มีส่วนร่วมในการออกแบบ จินตนาการ และเลือกรายละเอียดต่าง ๆ ได้ตามความต้องการ ทำให้สินค้ามีความหมายและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างแท้จริงค่ะ
จะเห็นว่าการ Co-creation ช่วยให้แบรนด์และลูกค้าใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้นค่ะ การที่แบรนด์เปิดโอกาสให้ลูกค้ามีส่วนร่วมในการสร้าง พัฒนาสินค้าหรือบริการ จะทำให้ลูกค้ารู้สึกผูกพันกับแบรนด์มากขึ้น และสินค้าหรือบริการที่ลูกค้ามีส่วนร่วมจะสร้างความรู้สึก “การเป็นเจ้าของ” ให้กับลูกค้าด้วย ซึ่งในระยะยาวก็จะเป็นผลดีกับแบรนด์เองค่ะ
แม้ว่าเคสตัวอย่างที่ยกมาจะเป็นการทำ Co-creation ใน Industry ของ Fashion และ Beauty เพราะทั้ง 2 Industry นี้นั้นมีเทรนด์ที่เปลี่ยนไว และดึงลูกค้าให้อยู่แบรนด์ตลอดค่อนข้างยาก การนำ Co-creation มาใช้จึงเหมาะสมมากค่ะ
สรุป
ผู้เขียนเองก็มองว่าการที่แบรนด์เปิดโอกาสให้ลูกค้ามีส่วนร่วมเป็นหนึ่งวิธีการฟังเสียง และหา Insight ได้จากลูกค้าอีกรูปแบบหนึ่ง รวมทั้งเป้นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า หากแบรนด์ยังไม่สร้างให้ลูกค้าเข้ามามีส่วนร่วมแบบ 100% อย่าง Kiki ก็อาจทำแคมเปญ หรือ เลือกเพียงหนึ่ง Product ออกมาทำ Co-creation อย่าง Golden Goose ก็ได้ค่ะ
และอย่างที่เราได้อธิบายไป การทำ Co-creation ไม่ได้มีความร่วมมือระหว่างแค่ลูกค้ากับแบรนด์เท่านั้น ยังมีในส่วนของแบรนด์กับแบรนด์ อย่าง Co-branding หรือ Collaboration ที่เป็นการร่วมมือกันระหว่างแบรนด์ สร้างผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าทั้งสองฝ่ายค่ะ อย่างเคสใกล้ตัวเราก็คงเป็น Burger King x Carnival
ดังนั้นผู้เขียนมองว่าหากแบรนด์ต้องการทำ Co-creation ก็เลือกใช้กลยุทธ์ที่เหมาะสมกับแบรนด์ตนเองจะดีที่สุดค่ะ ถ้าชอบ หรือ สนใจอยากอ่านบทความด้านการตลาดแบบนี้อีก ผู้เขียนฝากติดตามด้วยนะคะ หรือ ถ้าใครอยากให้ผู้เขียนนำมุมมองการตลาดแบบไหนมาเล่าให้ฟัง สามารถคอมเมนต์บอกกันได้เลยนะคะ
สำหรับนักอ่านที่ชอบ และ อยากอ่านบทความเกี่ยวกับการตลาดเพิ่มเติม รวมถึงข่าวสารด้านการตลาดต่าง ๆ สามารถติดตามได้จาก เพจการตลาดวันละตอน รวมไปถึงเว็บไซต์ Twitter Instagram YouTube ของการตลาดวันละตอนได้เลยนะคะ แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้าค่ะヽ(•‿•)ノ
Source Source Source