ในปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสำคัญกับความน่าเชื่อถือของแบรนด์มากขึ้นกว่าเดิม การตลาดที่ประสบความสำเร็จไม่ได้อาศัยเพียงแค่โฆษณาหรือคอนเทนต์จากแบรนด์อีกต่อไปค่ะ เพราะผู้บริโภคให้ความสำคัญกับเนื้อหาที่มาจากผู้ใช้จริง (User Generated Content หรือ UGC) นอกจากนั้นยังมีอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ทรงพลังและกำลังได้รับความนิยมในวงการตลาด นั่นคือ Employee Generated Content (EGC) หรือคอนเทนต์ที่สร้างโดยพนักงาน ซึ่งช่วยให้แบรนด์มีภาพลักษณ์ที่เข้าถึงง่ายและสร้างความสัมพันธ์กับผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้นค่ะ
ดังนั้นนักการตลาดควรเข้าใจว่าทั้ง UGC และ EGC ต่างมีบทบาทสำคัญในการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ และหากใช้คู่กันอย่างถูกต้อง จะสามารถสร้างความน่าเชื่อถือของแบรนด์ในสายตาผู้บริโภคได้เพิ่มขึ้นแน่นอนค่ะ
User-Generated Content (UGC) VS. Employee-Generated Content (EGC)
User-Generated Content (UGC) หมายถึงเนื้อหาที่ถูกสร้างโดยผู้บริโภค ซึ่งอาจเป็นลูกค้า ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ หรือคนที่เป็นแฟนคลับของแบรนด์ เช่น รีวิวสินค้า การแชร์ประสบการณ์บนโซเชียลมีเดีย หรือวิดีโอที่พูดถึงแบรนด์โดยไม่มีการจ้างงานจากบริษัทนั่นเองค่ะ
ซึ่งข้อดีของ UGC คือ เพิ่มความน่าเชื่อถือ เพราะเป็นมุมมองของลูกค้าจริงๆ ผู้ชมจึงมองว่าเป็นข้อมูลที่ไม่มีอคติ ช่วยกระตุ้นการมีส่วนร่วม เพราะลูกค้าที่แชร์ UGC มีแนวโน้มที่จะสร้างกระแสให้กับแบรนด์ รวมทั้งช่วยลดต้นทุนการผลิตคอนเทนต์ แบรนด์ไม่ต้องลงทุนสร้างเนื้อหาเองทั้งหมดค่ะ แต่ทุกวันต้องบอกว่าการทำรีวิว Unbox ต่าง ๆ แทบจะเป็นเรื่องปกติ เพราะการเติบโต การเข้าถึงง่ายของ Social Media รวมทั้งการอยากเป็น Influencer การทำ Affiliate นายหน้า TikTok Shop มีเยอะมากขึ้นทำให้ Content ที่มาจาก User มีเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน
Employee-Generated Content (EGC) หมายถึงคอนเทนต์ที่พนักงานของแบรนด์สร้างขึ้นเอง เพื่อแชร์เรื่องราวเกี่ยวกับบริษัท วัฒนธรรมองค์กร หรือผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ค่ะ
โดยข้อดีของ EGC คือ เห็นมุมมองที่ลึกขึ้นเกี่ยวกับแบรนด์ พนักงานเป็นผู้ที่รู้จักแบรนด์ดีที่สุด จึงสามารถเล่าเรื่องเชิงลึกที่ UGC อาจไม่สามารถให้ได้ ช่วยเสริม Employer Branding ทำให้แบรนด์ดูเป็นองค์กรที่น่าทำงาน ช่วยดึงดูดบุคลากรคุณภาพ และทำให้แบรนด์ดูเป็นมนุษย์มากขึ้น เพราะมาจากพนักงานที่เป็นคนจริง ๆ ทำให้แบรนด์เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้เป็นธรรมชาติค่ะ
ส่วนมากแล้ว UGC มักมาจากมุมมองของลูกค้า EGC เป็นการตลาดจากคนใน เลยทำให้แบรนด์ดูเป็นธรรมชาติและน่าเชื่อถือยิ่งขึ้นนั่นเองค่ะ ในต่างประเทศเราจะเริ่มเห็นการทำ EGC อย่างการเป็น POV (Point of View) มุมมองของคนนอก เมื่อเข้าไปในบริษัทต่าง ๆ หรือ มุมมองที่คนคิดว่างานนั้น ๆ ทำแบบนั้น ตัวอย่างก็เช่น การทำงานของ Digital Marketing ค่ะ
หรือเป็นเชิงล้อเลียน เรื่องที่ต้องเจอบ่อย ๆ ในการทำงานตำแหน่งนั้น ๆ เช่น ตำแหน่งที่เกี่ยวข้อง Social Media ที่อาจต้องหาเทรนด์ หากระแสใหม่ ๆ เพื่อนำมาทำคอนเทนต์ แต่คนมักเข้าใจผิดว่าเล่นมือถือ เป็นต้น
หรือนำเสนอในด้านความแตกต่างของแต่ละตำแหน่งที่คนมักเข้าใจผิดว่าเป็นตำแหน่งเดียวกัน เช่น ตำแหน่ง Content Creator กับ Social Media Manager โดย Content Creator จะอยู่เบื้องหลังการถ่ายทำ ตัดต่อ จะเป็นคนถ่ายทอดเรื่องราวของแบรนด์ผ่านภาพและวิดีโอ ส่วน Social Media Manager เป็นนักกลยุทธ์ที่วางแผนและรับงานต่อจาก Content Creator เขียน Caption วาง Content calendars และวิเคราะห์ผลลัพธ์เพื่อให้แบรนด์เติบโตมากขึ้นนั่นเองค่ะ
อย่างในไทยเองก็เริ่มมีคอนเทนต์แบบนี้ให้เห็นกันบ้างแล้ว ซึ่ง Context ที่นำมาทำคลิป ก็เรียกว่าเข้าใจง่ายและสร้างประสบการณ์ร่วมให้กับคนได้ง่ายค่ะ
ซึ่งส่วนตัวผู้เขียนมองว่าหนึ่งสิ่งที่ทำให้ EGC ได้รับความนิยมและประสบความสำเร็จก็เพราะ สามารถสรา้งความเชื่อมโยงให้กับคนดูได้ในแง่ใดแง่หนึ่ง เช่น อาจเคยเป็นแบบนี้ เคยได้ยินเรื่องประมาณนี้มา เพราะนำมาทำเป็น Content จึงรู้สึก Related ได้ง่าย โดยในไทย Contnet ประเภทนี้ เราจะกันผ่านเพจต่าง ๆ อย่าง Salmon Lab ที่เป็นเรื่องของพนักงานในออฟฟิศ ที่แสดงถึงความในใจของใครหลาย ๆ คนในสังคมการทำงานค่ะ
หรือ เพจบรีฟเหี้ย BriefHere ที่แทนใจคนทำงานที่ต้องเจอการบรีฟงานแบบแปลก ๆ หรือ การเล่นมุกที่ไปตรงใจคนทำงาน เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งเพจที่แสดงถึงความในใจของใครหลาย ๆ คนเช่นเดียวกันค่ะ
แล้วถ้าอยากเริ่มต้นใช้ EGC สิ่งที่ธุรกิจ หรือ นักกการตลาดต้องทำคือ
1. สร้างวัฒนธรรมที่ส่งเสริมให้พนักงานเป็นกระบอกเสียงของแบรนด์ ทำให้พนักงานรู้สึกว่าพวกเขามีสิทธิ์ในการแชร์มุมมองเกี่ยวกับบริษัท
2. ให้แนวทางที่ชัดเจน (Social Media Guidelines) กำหนดกรอบว่าพนักงานสามารถแชร์เนื้อหาประเภทใดได้บ้าง รวมทั้งอาจมีคอร์สสอนพนักงานถึงวิธีการสร้างคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ
3. ใช้ Social Media ช่วย คือใช้แพลตฟอร์มอย่าง LinkedIn, Instagram หรือ TikTok เพื่อให้พนักงานแชร์คอนเทนต์ รวมทั้งอาจใช้ Hashtag Campaign เพื่อรวมคอนเทนต์ของพนักงานไว้ในที่เดียวอีกด้วยค่ะ
ถึงแม้ว่า EGC จะมีข้อดีมากมาย แต่แบรนด์ต้องคำนึงถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งวิธีรับมือด้วยค่ะ ทั้งการควบคุมคุณภาพของเนื้อหา เพราะการให้พนักงานแชร์เนื้อหาด้วยตัวเองอาจทำให้เกิดปัญหาด้านภาพลักษณ์ของแบรนด์ บริษัทจึงควรจัดทำ Social Media Guidelines หรือข้อกำหนดชัดเจนว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้ จะช่วยกำหนดขอบเขตของเนื้อหาที่เหมาะสมได้ค่ะ
มีมาตราการจัดการเพื่อป้องกันปัญหาด้านภาพลักษณ์ EGC อาจมีความเสี่ยง หากพนักงานโพสต์เนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ดังนั้นองค์กรควรมี แผนจัดการวิกฤตด้านโซเชียลมีเดีย (Crisis Management Plan) เพื่อรับมือกรณีที่อาจเกิดปัญหาเกิดขึ้นได้ค่ะ
ขอบคุณภาพจาก Shutterstock AI Generator Prompt : A group of employees filming a video together using their smartphones in a modern office setting. They are smiling, engaged, and capturing creative shots. Some are holding phones at different angles, while others are directing or reviewing footage. The background features an open workspace with natural lighting, plants, and collaborative workspaces. The atmosphere is dynamic and energetic, showcasing teamwork and creativity.
EGC ช่วยให้แบรนด์ดูน่าเชื่อถือ มีความเป็นมนุษย์ และเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น หากแบรนด์สามารถใช้ UGC และ EGC คู่กัน ก็จะยิ่งสร้าง Impact ให้กับกลยุทธ์การตลาดได้ค่ะ ใช้ UGC เพื่อให้ลูกค้าเป็นกระบอกเสียงให้แบรนด์ และใช้ EGC เพื่อให้พนักงานสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและเพิ่มความน่าเชื่อถือ รวมทั้งอย่าลืมกำหนดแนวทางที่ชัดเจน และแนวทางจัดการเผื่อเกิดปัญหาค่ะ
หากคุณเป็นนักการตลาดที่ต้องการนำกลยุทธ์นี้มาใช้ลองเริ่มจากการสร้างวัฒนธรรมที่ส่งเสริมให้พนักงานมีส่วนร่วม และจะเห็นว่าพนักงานสามารถเป็น “Influencer” ที่ทรงพลังที่สุดของแบรนด์ได้เหมือนกันค่ะ
ถ้าชอบ หรือ สนใจอยากอ่านบทความด้านการตลาดแบบนี้อีก ผู้เขียนฝากติดตามด้วยนะคะ หรือ ถ้าใครอยากให้ผู้เขียนนำมุมมองการตลาดแบบไหนมาเล่าให้ฟัง สามารถคอมเมนต์บอกกันได้เลยนะคะ
สำหรับนักอ่านที่ชอบ และ อยากอ่านบทความเกี่ยวกับการตลาดเพิ่มเติม รวมถึงข่าวสารด้านการตลาดต่าง ๆ สามารถติดตามได้จาก เพจการตลาดวันละตอน รวมไปถึง Twitter Instagram YouTube ของการตลาดวันละตอนได้เลยนะคะ แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้าค่ะヽ(•‿•)ノ
Source Source
อยากอ่านบทความการตลาดเพิ่มเติม ลองเลือกอ่านบทความด้านล่างนี้ได้เลยนะคะ
เทรนด์การตลาด Immersive Experience มาแรง ธุรกิจควรปรับใช้ยังไง
การตลาด Duolingo สร้าง UGC ยังไงให้ไวรัล 20 ล้าน Impressions
Thanks krub