เมื่อไม่นานมานี้แบมได้เข้าไปดูซีรีส์สารคดีทาง Netflix ที่ชื่อว่า Pepsi, Where’s my jet? ด้วยหัวข้อที่น่าสนใจ และวิธีการดำเนินเรื่องผ่านการสัมภาษณ์ที่สนุกและน่าติดตามไปตลอดทั้งเรื่อง วันนี้แบมเลยถือโอกาสหยิบเอาเรื่องราวบางส่วนมาเล่าให้ฟัง พร้อมทำการถอดบทเรียนการใช้ Business Plan ด้วยการตีความแบบการตลาดวันละตอน รับรองว่าทุกคนสามารถนำไปปรับใช้ได้จริงอย่างแน่นอน
เรื่องเกิดเพราะโฆษณา
นี่เป็นเรื่องจริงที่พูดถึงศึกการฟ้องร้องระหว่างคนธรรมดา กับ Pepsi ที่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก เรื่องนี้กลายเป็นข่าวใหญ่จนถึงขั้นที่กลายเป็นคดีตัวอย่างในห้องเรียนกฎหมายของสหรัฐอเมริกามาจนถึงปัจจุบันเลยทีเดียว
เรื่องราวเริ่มต้นจาก ‘จอห์น ลีโอนาร์ด’ เห็นโฆษณาแคมเปญ Drink Pepsi Get Stuff ในปี 1996 ที่ Pepsi จัดขึ้นเพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคเก็บสะสมคะแนนจากการซื้อเครื่องดื่ม มาแลกของรางวัลเป็นสินค้าเท่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อยืด 80 คะแนน แว่นกันแดด 125 คะแนน และแจ็คเก็ตหนัง 1,200 คะแนน และในตอนท้ายของโฆษณาที่ปรากฏของรางวัลใหญ่อย่างเครื่องบินเจ็ทแฮร์เรียร์ ที่ระบุว่าต้องใช้เจ็ดล้านคะแนนในการแลก
เริ่มแผนการล่ารางวัลใหญ่จาก Pepsi
เมื่อดํโฆษณาดังกล่าวซ้ำไปซ้ำมา แต่ก็ไม่มีแม้แต่หมายเหตุที่บอกว่ารางวัลใหญ่อย่างเครื่องบินเจ็ทแฮร์เรียร์นั้นเป็นเพียงสื่อสำหรับโฆษณาเท่านั้น เป้าหมายของจอห์น ลีโอนาร์ด จึงใหญ่ขึ้นตาม เขาไม่ได้ต้องการสะสมคะแนนเพื่อแลกเสื้อ หรือแว่นตา แต่สิ่งที่เขาต้องการคือเครื่องบินเจ็ทแฮร์เรียร์!!
หลังจากลองคิดคำนวณถึงความเป็นไปได้ เบาก็ต่อสายหา ‘ทอดด์ ฮอฟฟ์แมน’ เพื่อนนักลงทุนรุ่นใหญ่ต่างวัยที่เจอกันระหว่างทริปปีนเขาทันที
เรื่องราวที่แบมรู้สึกว่าน่าสนใจก็อยู่ตรงนี้แหละค่ะ เพราะแม้จะคิดแผนการมาเป็นอย่างดี แต่แผนของจอห์นก็ยังมีช่องโหว่อยู่ไม่น้อย เขาก็เลยจำเป็นต้องเขียน Business Plan ขึ้นมาอย่างจริงจัง เพื่อทำให้การสะสมแต้มนั้นเป็นระบบมากขึ้น เพื่อทำให้แผนการนี้สำเร็จ สามารถสะสมแต้ม และแลกของรางวัลได้อย่างทันเวลา รวมถึงไม่เสียเงินและทรัพยากรไปอย่างสูญเปล่า
ถึงเวลาทำ Business Plan
หลายคนมองว่า Business Plan นั้นมีไว้เฉพาะสำหรับแผนธุรกิจเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าเราจะทำโปรเจกต์ หรือแคมเปญอะไรก็ล้วนแล้วแต่ Business Plan นั้นจะเป็นตัวช่วยให้คุณสามารถดำเนินงานได้อย่างราบรื่น และสามารถอยู่รอดได้ในทุกๆ สถานการณ์
ทำไมต้องทำ Business Plan?
Business Plan นั้นถือเป็นแผนที่หรือแนวทางที่ทำให้เราเห็นภาพรวมของสิ่งที่เรากำลังจะทำ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของแนวคิด วิธีการ จุดแข็งจุดอ่อน รวมถึงปัญหาต่างๆ ทำให้เราสามารถทำงานได้อย่างเป็นระบบ และที่สำคัญหากระวัง
Business plan ได้ดี ก็จะเป็นตัวช่วยให้งานของเราประสบความสำเร็จ ไปถึงจุดหมายได้ง่ายขึ้น
ลองมาดูกันว่าการจะเขียน Business plan นั้นมีควรมีรายละเอียดและขั้นตอนอย่างไรบ้าง
1.Business Idea
Business Idea หรือภาพรวมในการทำงาน เป็นแนวคิดหลักในการทำธุรกิจ เพื่อสร้างความเข้าใจในภาพรวมของสิ่งที่เราจะทำ ไม่ว่าจะเป็น
- เป้าหมาย: เราต้องการอะไร ทั้งระยะสั้นและระยะยาว
- กลยุทธ์: เป็นการอธิบายถึงแผนการและวิธีการในการทำงานให้ไปถึงเป้าหมาย เช่น กลุ่มเป้าหมาย หรือแผนการตลาด เป็นต้น
- โอกาสและการแข่งขัน: หากทำตามแผนแล้ว มีคู่แข่งหรือไม่ และมีโอกาสที่จะทำสำเร็จกี่เปอร์เซ็น
- งบประมาณ: เป็นการวางแผนภาพรวมการเงิน รวมถึงค่าใช้จ่าย เพื่อประเมินความเสี่ยงว่าทำแล้วคุ้มค่าหรือไม่
- ผลตอบแทน: ประเมินผลที่จะได้รับว่าคุ้มค่ากับการลงทุนลงแรงไหม
2.Analysis
เมื่อเราได้ภาพรวมของสิ่งที่เราจะทำคร่าวๆ จาก Business Idea แล้ว ก็ต้องนำมาวิเคราะห์ให้ละเอียด เพื่อให้เราเห็นถึงจุดแข็ง จุดอ่อน ความเสี่ยง รวมถึงปัจจัยต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกที่มีผลต่อการทำตามแผนการนั้น โดยอาจจะนำมาวิเคราะห์ในรูปแบบของ SWOT Analysis
3.Marketing plan
เป็นการวางแผนเพื่อสร้างทิศทางในการทำการตลาดให้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียด วิธีการสื่อสาร หรือระยะเวลาในการดำเนินงาน และที่สำคัญควรมี KPI หรือการวัดความสำเร็จในการดำเนินงานด้วย
4.Operation Plan
Operation Plan หรือแผนการดำเนินงาน เป็นการกำหนดกรอบระยะเวลาในการดำเนินงาน ขั้นตอนในการทำงาน รวมถึงกำหนดลักษณะหน้าที่ของฝ่ายต่างๆ ว่าควรมีฝ่ายไหน และแต่ละฝ่ายมีหน้าที่อย่างไรให้ชัดเจน
5.Financial Plan
เป็นการวางแผนงบประมาณที่จะต้องใช้ในการทำธุรกิจ หรือกิจกรรมต่างๆ ซึ่ง Financial Plan นั้นถือว่าเป็นส่วนที่สำคัญมาก เพราะหากวางแผนไม่ดีอาจจะทำให้ธุรกิจของคุณเสี่ยงต่อการขาดทุนได้
ดังนั้นเวลาเขียน Financial Plan เราควรวางแผนให้ครอบคลุมทั้งสถานะการเงินของเรา การประมาณรายได้ กำไร ขาดทุน กระแสเงินสด จุดคุ้มทุน รวมถึงระยะเวบาคืนทุนด้วย
6.Emergency Plan
หัวข้อนี้ถือเป็นจุดสำคัญที่หลายคนกลับละเลยไป เพราไม่ว่าเราจะทำแคมเปญเล็กๆ หรือธุรกิจใหญ่ๆ ก็สามารถพบเจอกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันได้ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นทางที่ดีเราควรเตรียมวางแผนเพื่อแก้ไขสถานกาณ์ฉุกเฉินไว้ล่วงหน้าจะดีที่สุด ทั้งนี้ก็เพื่แทำให้แผนต่างๆ ที่เราเตรียมไว้สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่นนั่นเอง
สำหรับขั้นตอนในการเขียน Business Plan นั้นแบมมองว่าเราสามารถนำมาปรับใช้ได้กับการทำงานในทุกรูปแบบไม่ว่าเป็นการทำแคมเปญเล็กๆ หรือการทำธุรกิจแบบเป็นจริงเป็นจัง เพราะไม่ว่างานไหนก็ล้วนแล้วแต่ต้องการการวางแผนเพื่อให้การทำงานราบรื่น และประสบปัญหาน้อยที่สุดทั้งนั้น
และถึงแม้ว่าท้ายที่สุดในเรื่องนี้แม้ ‘จอห์น ลีโอนาร์ด’ จะไม่ได้เครื่องบินเจ็ทแฮร์เรียร์จาก Pepsi ก็ตาม เพราะการจะต่อสู้ฟาดฟันกับบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่มีทั้งอำนาจและความพร้อมในทุกๆ ด้านนั้นคงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่จอห์นก็ทำให้เราเห็นแล้วว่าการทำ Business Plan เพื่อวางแผนทุกอย่างให้เป็นระบบนั้นก็ทำให้เขาสามารถเก็บสะสมแต้มได้เจ็ดล้านคะแนน เพื่อแลกของรางวัลในเวลาที่กำหนดสำเร็จจนได้
แม้แคมเปญโฆษณานี้จะสร้างปัญหาให้ Pepsi ไม่น้อย แต่ก็ยังมีแคมเปญอื่นๆ ที่ประสบความสำเร็จและดึงความสนใจจนสามารถเพิ่มยอดขายจาก New Generation ได้เช่นกัน
ในบทความหน้าแบมจะมีอะไรมาอัปเดตอีกบ้าง สามารถติดตามได้ผ่านเพจการตลาดวันละตอน รวมถึง Twitter และ Blockdit ของการตลาดวันละตอนนะคะ