Data Research Insight Rolling Loud By Social Listening

Rolling Loud ไม่ได้เป็นแค่เวทีรวมตัวของศิลปินฮิปฮอประดับโลก แต่ยังเป็นปรากฏการณ์ที่แฟนเพลง นักการตลาด และแบรนด์ต่าง ๆ จับตามองค่ะ เรามาส่องดูกันว่า Data Research Insight Rolling Loud By Social Listening นี้โลกออนไลน์พูดถึงงานนี้กันยังไง ศิลปินคนไหนมาแรง? เทรนด์ไหนถูกพูดถึงเยอะ? คนเข้าร่วมงานคาดหวังอะไร? และที่สำคัญคือ กลยุทธ์การตลาดของ Rolling Loud มีอะไรที่ทำให้งานนี้เป็นที่สนใจ?

ข้อมูลทั้งหมดนี้จะช่วยให้เห็นว่า เสียงของโซเชียลมีเดียส่งผลต่อเทศกาลดนตรีอย่างไร และสามารถต่อยอดไอเดียสำหรับนักการตลาด ผู้จัดอีเวนต์ หรือใครก็ตามที่อยากรู้ว่า Rolling Loud 2024 ที่ผ่านมาถูกพูดถึงยังไงบ้างค่ะ

สำหรับ Data Insight ในบทความนี้ เราใช้ Social Listening Tool จาก Mandala ที่ช่วยให้เราเจาะลึกเทรนด์และกระแสบนโซเชียลค่ะ โดยจะพาทุกคนมาดูตั้งแต่ขั้นตอนการ Research ไปจนถึงการวิเคราะห์ข้อมูล ให้ทั้งนักการตลาดมือใหม่ ผู้ประกอบการ หรือใครก็ตามที่อยากเข้าใจ Data Insight สามารถนำไปปรับใช้กับแบรนด์และธุรกิจของตัวเองได้ค่ะ

ก่อนเข้าสู่การวิเคราะห์ ขอพาทุกคนมารู้จัก Rolling Loud กันก่อนค่ะ งานนี้เริ่มต้นขึ้นในปี 2015 ที่ไมอามี สหรัฐอเมริกา และขยายไปยังเมืองใหญ่ทั่วโลก รวมถึง Rolling Loud Thailand ที่จัดขึ้นในพัทยา ซึ่งจุดเด่นของเทศกาลนี้คือ การรวมศิลปินฮิปฮอประดับโลกและดาวรุ่งไว้บนเวทีเดียวกัน แต่ Rolling Loud ไม่ได้เป็นแค่คอนเสิร์ต เพราะมันยังสะท้อนวัฒนธรรม ฮิปฮอป แฟชั่น Street Art และไลฟ์สไตล์ อีกด้วยค่ะ

สำหรับบทความนี้ เราจะโฟกัสที่ Rolling Loud Thailand 2024 ซึ่งจัดขึ้นระหว่าง 22-24 พฤศจิกายน 2024 พร้อมใช้ Social Listening วิเคราะห์ว่ากระแสออนไลน์พูดถึงงานนี้กันยังไงบ้าง

STEP 1 – 2 Research Keyword, Collecting Data

การเลือกคีย์เวิร์ดที่ใช้ในการกวาดข้อมูล เป็นขั้นตอนสำคัญมากค่ะ โดยเราใช้คำว่า rolling loud, rollingloud เป็นหลัก และเพิ่มคำในภาษาไทยที่คนอาจใช้ เช่น โรลลิ่ง ราว, โรลลิ่ง+ลาว, โรลิ่งลาว และ โรลิ่งราว โดยข้อมูลถูกดึงย้อนหลังตั้งแต่ 01/01/2024 – 20/12/2024 หรือประมาณ 1 ปี โดยหลังจากที่คลีนข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องออกไปแล้ว เราจะได้ประมาณ 3,222 Mentions จากแพลตฟอร์มหลัก ได้แก่ Facebook, Twitter, Instagram, YouTube และ TikTok ค่ะ

STEP 3 Cleansing Data

การเก็บข้อมูลจากโซเชียลมักมีโพสต์ที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องรวมกัน ดังนั้นการคลีนข้อมูล จึงเป็นขั้นตอนสำคัญเพื่อให้ได้เฉพาะข้อมูลที่นำไปวิเคราะห์ได้จริงค่ะ เช่น ตัดโพสต์ที่กล่าวถึง “โรลลิ่ง” แต่ไม่เกี่ยวกับงาน กรองข้อมูลที่พูดถึง Rolling Loud ในประเทศอื่น เช่น Miami หรือ Europe ออกไป เพราะเราจะโฟกัสเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Rolling Loud Thailand 2024 เท่านั้น

หลังจากผ่านกระบวนการนี้แล้ว เราจะได้ข้อมูลที่สะท้อนภาพรวมของกระแส Rolling Loud ในไทยได้ชัดเจนที่สุดค่ะ

STEP 4 Conversation Analysis

อย่างที่เห็นใน STEP 3 ในระหว่างที่ทำความสะอาดข้อมูล จะได้อ่าน Social Data ที่หลังไหลเข้ามาจาก Keyword จนทำให้พอจะเหลือเฉพาะโพสต์ที่เราต้องการ อ่านและวิเคราะห์ข้อมูลต่อเพื่อหาว่าการพูดถึงเรื่อง Rolling loud แบบไหน รูปแบบคอนเทนต์ที่น่าสนใจมีอะไรบ้าง

ซึ่งตอนนี้โซเชียลมีข้อมูลดังกล่าวกระจัดกระจายอยู่มาก ไม่เป็นกลุ่มก้อนทำให้เรายังใช้มาวิเคราะห์ Insight อะไรไม่ได้ลึกนัก ณ ตอนนี้ค่ะ ต้องมาเริ่ม STEP ที่ 5 กันต่อ

 Insight Rolling Loud

การพูดถึง (Mentions จำนวนโพสต์ จำนวนคอมเมนต์ ที่มีคีย์เวิร์ด) การพูดถึงเริ่มขึ้นตั้งแต่มีนาคม 2024 ช่วงประกาศจัดงาน เปิดขายบัตร Early Bird และแถลงข่าว แต่กระแสที่เริ่มพุ่งจริง ๆ คือ มิถุนายน ตอนเปิดตัว 1st Line Up และขายบัตรรอบ Tier 1 ทำให้โซเชียลลุกเป็นไฟกันอีกรอบ และเมื่อมาถึงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงจัดงาน กลายเป็นจุดพีคสุด เพราะคนแห่กันมาโพสต์รูป แชร์บรรยากาศ และพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในงานกันค่ะ

 Insight Rolling Loud

การมีส่วนร่วม (Engagement) ส่วนด้าน Engagement จะพุ่งแรงในเดือนมิถุนายน ตามการประกาศไลน์อัพ แต่ตัวเลขที่พีคสุด คือ เดือนพฤศจิกายน เพราะในเดือนนี้มีคอนเทนต์จากผู้ร่วมงาน ทั้งรีวิว การแสดงของศิลปิน และโมเมนต์ในงานที่ถูกแชร์สนั่น ทำให้เราเห็นชัดเลยว่า ช่วงไฮป์ก่อนงานสร้างความตื่นเต้น แต่ตัวงานจริง ๆ คือจุดที่ Engagement พุ่งแรงแบบสุดตัวเลยทีเดียวค่ะ

ต่อไป เรามาดูไทม์ไลน์กันแบบละเอียดขึ้นว่า ช่วงก่อนงาน วันงาน และหลังงาน มีกระแสอะไรเกิดขึ้นบ้าง จากการมีส่วนร่วม (Engagement) บนโซเชียล (ไม่รวม YouTube) ค่ะ

ช่วงก่อนจัดงาน (01/01/2024 – 21/11/2024)

 Insight Rolling Loud

ก่อนที่ Rolling Loud 2024 จะเริ่ม กระแสบนโซเชียลก็เดือดต่อเนื่องค่ะ Engagement ขยับขึ้นตั้งแต่มีนาคม จากการประกาศวันจัดงาน เปิดขายบัตร Early Bird และงานแถลงข่าว แต่จุดที่พีคสุดคือ มิถุนายน หลังการประกาศ 1st Line Up ที่สร้างแรงกระเพื่อมบนโซเชียล แถมยังมีกระแส TikTok โปรโมตงาน ช่วยดัน Engagement ต่อเนื่องได้ดีเลยค่ะ

กันยายน-ตุลาคม กระแสแรงขึ้นอีกครั้งจาก ไลน์อัพ Bambam และ RIIZE ที่เรียกเสียงฮือฮาจากแฟน K-POP และปิดท้ายก่อนงานเริ่มด้วยไวรัล Cardi B บนเวที Rolling Loud 2023 ที่ถูกพูดถึงอีกรอบในพฤศจิกายน 

จุดนี้ Insight ที่น่าสนใจคือ ไลน์อัพศิลปินและคอนเทนต์ไวรัลมีผลต่อกระแสอย่างชัดเจน แถมการตลาดแบบ Organic ผ่าน TikTok ก็ช่วยต่อยอด Engagement ได้ดีมากค่ะ

ช่วงวันจัดงาน (22 – 24/11/2024)

ช่วงจัดงาน Rolling Loud 2024 โซเชียลเต็มไปด้วยคอนเทนต์ที่สะท้อนบรรยากาศงานจริง ๆ ไม่ใช่แค่ Performance บนเวทีค่ะ อย่างไฮไลต์เด่น ๆ คือ โชว์ของ Jay Park ที่ถูกพูดถึงหนักมาก เรื่อง Performance สุดเดือดตั้งแต่งานวันแรก ตามมาด้วย คอนเทนต์จากผู้เข้าร่วมงาน อย่างคลิปของ นิกกี้ ณฉัตร ที่ทำให้คนเห็นโมเมนต์ของเขาที่เอนจอยในงาน 

@nickynachat

เล่นกับ น้องสาว อะดิ @melonpung🍞*﹆ #rollingloud

♬ H.S.K.T. (Feat. Wonstein) – LeeHi

ส่วนโมเมนต์ แบมแบมกับออน สมฤทัย ก็กลายเป็นไวรัลอีกจุดที่สร้าง Engagement สูงมาก จากการที่ตัวคุณออน สมฤทัยเอง กำลังโด่งดังจากไวรัล Thank you Kateyki ทำให้พอมาเจอกับแบมแบมที่โด่งดังระดับโลกอยู่แล้ว ยิ่งเรียกเสียงฮือฮาเข้าไปใหญ่ค่ะ 

จะเห็นได้เลยว่าการตลาดงานนี้ไม่ได้พึ่งแค่แคมเปญหลัก แต่บรรยากาศงานจริง ๆ ก็สร้าง Engagement ได้สูงจาก Organic Content ของผู้เข้าร่วมเองค่ะ

ช่วงหลังจัดงาน (25/11/2024 – 20/12/2024)

กระแส Rolling Loud 2024 พุ่งแรงสุดใน สัปดาห์แรกหลังจบงาน ก่อนที่ Engagement จะเริ่มลดลงอย่างเห็นได้ชัดค่ะ ไฮไลต์หลักของคอนเทนต์ช่วงนี้คือ บรรยากาศงานและ Vibe Check ที่ทำให้ทั้งคนที่ไปและไม่ได้ไปยังรู้สึกมีส่วนร่วม ส่วนอีกกระแสที่ถูกพูดถึงเยอะคือ รีวิวงาน ที่มีทั้งเสียงชื่นชมและฟีดแบคที่เป็นข้อสังเกต 

@pom.chanakorn

ท่านี้ใช้เอวอย่างเดียวเลย Bro. #rollingloud

♬ เสียงต้นฉบับ – Chanakorn Pradipaphalin – Chanakorn Pradipaphalin

เราอาจสังเกตได้ว่า คอนเทนต์หลังงานมีอายุสั้น แรงแค่ช่วงแรกก่อนกระแสซาไปเร็ว ซึ่งหมายความว่า หากอยากรักษาความสนใจต่อเนื่อง อาจต้องมีแคมเปญเสริมหลังงานเพื่อดึง Engagement ให้อยู่ได้นานขึ้นค่ะ

STEP 5 Categorize Data

การจับกลุ่มข้อมูลช่วยให้การวิเคราะห์ง่ายขึ้น เห็นสัดส่วนตัวเลขชัดเจน และช่วยให้ตัดสินใจได้แม่นยำขึ้นค่ะ โจทย์ในการ Categorize ควรตั้งจาก Social Data ที่เรามีอยู่แล้ว ซึ่งเราจะเห็นภาพรวมตั้งแต่ขั้นตอนการคลีนข้อมูล หรืออาจใช้แนวทางจากสิ่งที่ธุรกิจต้องรู้มากที่สุด เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง การใช้ฟีเจอร์ Tag บน Social Listening Tool ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยให้ข้อมูลเป็นหมวดหมู่และจัดการได้ง่ายขึ้นค่ะ

ถ้าอยากดูตัวอย่างการติดแท็ก ลองดู ที่นี่ หรือถ้าอยากอัปเดตเทคนิคใหม่ ๆ เกี่ยวกับเครื่องมือ Social Listening ก็สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ท้ายบทความได้เลยค่ะ

STEP 6 Data Visualization

ข้อมูลเยอะไม่ใช่ปัญหา แต่ต้องทำให้ เข้าใจง่ายและสื่อสารได้ชัดเจน เพราะต่อให้วิเคราะห์มาดีแค่ไหน ถ้านำเสนอแล้วคนไม่เข้าใจ ทุกอย่างก็จบค่ะ วิธีการทำ Visualization สามารถใช้ได้หลายแพลตฟอร์มตามความถนัด เช่น PPT, Power BI, Data Studio หรือเครื่องมืออื่น ๆ ที่ช่วยให้ข้อมูลซับซ้อนดูง่ายขึ้น ใครทำ Data มาแล้ว อย่าลืมคิดเผื่อเรื่องการนำเสนอด้วยนะคะ เพราะนี่คือขั้นตอนสำคัญที่ทำให้ข้อมูลของเราทรงพลังขึ้นจริง ๆ

STEP 7-8 Summary & Insight / Recommendation

จาก Social Listening เราสามารถแบ่งหมวดหมู่การพูดถึงออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นว่าสิ่งที่ถูกพูดถึงมากที่สุดเกี่ยวกับงานนี้คืออะไรค่ะ

 Insight Rolling Loud
  1. PR (59.5%) – การพูดถึงเรื่องการโปรโมตงาน ทั้งแคมเปญประชาสัมพันธ์, การโปรโมตระหว่างงาน, Public Figure และพาร์ทเนอร์ต่าง ๆ
  2. Artist Lineup (30.6%) – การพูดถึงศิลปินที่ขึ้นแสดง ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ดึงดูดความสนใจของแฟนเพลง
  3. Artist Wishlist (1.8%) – รายชื่อศิลปินที่แฟน ๆ อยากให้มาแสดง แม้จะไม่ได้อยู่ในไลน์อัพปีนี้
  4.  มุมมองเชิงบวก (4.2%) & เชิงลบ (3.9%) – การพูดถึงประสบการณ์ในงาน ทั้งแง่ดี เช่น ความสนุกและความคุ้มค่า และแง่ลบ เช่น ปัญหาการจัดการและการเดินทาง

หมวดหมู่เหล่านี้ช่วยให้เห็นว่า PR และ Artist Lineup เป็นตัวขับเคลื่อนหลักของงานนี้ ขณะที่รีวิวจากผู้ร่วมงานสะท้อนโอกาสในการพัฒนาอีเวนต์ในอนาคตค่ะ

มาดูกันดีกว่าค่ะ ว่าแต่ละหัวข้อมีอะไรน่าสนใจบ้าง

Rolling Loud

ในหมวด PR จะเห็นว่า Event Promote (40.8%), Event Day (30.9%) และ Partner (10.6%) เป็นสามเรื่องที่ถูกพูดถึงมากที่สุดค่ะ

Event Promote (40.8%) – Rolling Loud Thailand 2024 โปรโมตงานผ่านหลายช่องทาง ตั้งแต่ การประกาศ Lineup ล่วงหน้า, เปิดขายบัตรแบบ Tier, แถลงข่าว และสัมภาษณ์ผู้จัดงาน เพื่อสร้างกระแส ศิลปินที่เข้าร่วมกิจกรรมวัฒนธรรมไทย ก็ช่วยเพิ่ม Engagement รวมถึง การใช้บรรยากาศงานปีที่แล้วมาดึงดูดความสนใจ ทำให้ Rolling Loud ถูกพูดถึงต่อเนื่อง 

@tusonmhee

ตู้ซ่อนหมีอยากไปดูใครที่ Rolling Loud Bangkok 2024 #RollingLoud #RollingLoudThailand #RollingLoudThailand2024 #บันเทิงTikTok

♬ SORRY – MILLI & Flower.far & Galchanie

Event Day (30.9%) – ช่วงวันงานเองก็มีการโปรโมตแบบจัดเต็ม ไม่ใช่แค่ Performance บนเวที แต่ยังมี สัมภาษณ์ศิลปินแบบเอ็กซ์คลูซีฟ, Vibe Check และ Recap บรรยากาศงาน ที่เป็น User-generated Content จากคนที่ไปงานช่วยแชร์คอนเทนต์เอง ทำให้โซเชียลเต็มไปด้วยกระแส Rolling Loud ต่อเนื่อง

Partner (10.6%) – ปีนี้แบรนด์พาร์ทเนอร์เข้ามามีบทบาทเยอะมากค่ะ เช่น Timberland และ Crocs ที่ตั้งบูธสร้าง Engagement ภายในงาน OPPO ที่โปรโมตผ่านการถ่าย Performance บนเวที รวมถึง Grab และ AIS ที่จัดแคมเปญแจกบัตรและโปรโมตส่วนลด ทั้งหมดนี้ช่วยให้แบรนด์เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ตรงจุด และทำให้ Rolling Loud เป็นมากกว่างานดนตรี แต่เป็นพื้นที่ที่แบรนด์อยากเข้ามามีส่วนร่วมด้วยค่ะ

@moby.e_

งาน rolling loud สนุกมากกกก ใส่รองเท้า crocs เที่ยวงานเดินเยอะมาก ไม่ปวดเท้าเลย☺️👍🏻 #crocsth #rollingloud #rollingloudthailand

♬ เสียงต้นฉบับ – MoByeeeeeeee🎐 – MoByeeeeeeee🎐

นอกจากนี้ ยังมีการพูดถึง PRE ROLL (6.3%) ซึ่งเป็นแคมเปญ Road to Rolling Loud ที่จัดอีเวนต์ก่อนงานจริงเพื่อสร้างกระแส รวมถึงการพูดถึงจากภาครัฐ (2.8%) ที่ใช้เทศกาลนี้เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญโปรโมตการท่องเที่ยวไทย และสุดท้ายคือ การยกเลิกศิลปิน (1.2%) อย่าง Playboi Carti และ Tyla ที่ทำให้เกิดการพูดถึงในช่วงใกล้งาน แต่โดยรวม PR ของ Rolling Loud Thailand 2024 ยังคงขับเคลื่อนด้วยกลยุทธ์หลักที่ช่วยให้เทศกาลนี้เป็นที่จับตามองทั้งในไทยและระดับสากลค่ะ

หนึ่งในจุดที่ถูกพูดถึงมากที่สุดของ Rolling Loud Thailand 2024 คือ Artist Lineup ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญที่สร้างกระแสบนโซเชียลค่ะ โดยศิลปินที่ได้รับความสนใจสูงสุดมีดังนี้

Bambam (36.7%) – กระแสแรงตั้งแต่ประกาศ Lineup แบมแบมเป็นศิลปินที่เชื่อมโยงกับฐานแฟนชาวไทยอยู่แล้ว พอขึ้นเวทีจริงก็ยิ่งตอกย้ำความฮือฮาด้วย Performance ที่เป็นไฮไลต์ของงาน บวกกับบทสัมภาษณ์ที่เผยตัวตนของเขา และกิจกรรมแจกของรางวัลของแฟน ๆ ผ่านแฮชแท็กยังช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมของแฟน ๆ บนโซเชียลอีกด้วยค่ะ

Wiz Khalifa (8.3%) – กระแสหลักมาจากโชว์สุดมันส์บนเวทีที่เรียกเสียงฮือฮา แถมยังมีโมเมนต์นอกเวทีอย่างการลองเรียนมวยไทยที่ทำให้แฟน ๆ สนใจมากขึ้น

Jay Park (7.1%) – ถูกพูดถึงในหลายแง่มุม ทั้งการปล่อยซิงเกิลใหม่กับ MILLI, Performance ที่ได้รับคำชมล้นหลาม และบทสัมภาษณ์ที่ทำให้แฟน ๆ ได้เห็นอีกมุมของเขา แต่ที่กลายเป็นไวรัลคือ โมเมนต์พูดภาษาไทยในรายการหนึ่ง ที่เชื่อมโยงกับ Rolling Loud และทำให้คนตื่นเต้นกับโชว์ของเขามากขึ้นค่ะ

ศิลปินที่ถูกพูดถึงรองลงมายังมี Tyla (6.8%), RIIZE (6.1%) และ A$AP Rocky (5.1%) ที่สร้างกระแสจากฐานแฟนที่แข็งแรง ขณะที่ DJ Snake (4.5%) ก็เป็นที่สนใจจากฝั่งแฟน EDM

Insight ที่เห็นชัดคือ ศิลปินที่ถูกพูดถึงมาก มักเป็นศิลปินที่มีฐานแฟนไทยอยู่แล้ว หรือมีโมเมนต์ไวรัลที่ช่วยขยายกระแสในโซเชียล ซึ่งสะท้อนว่า Rolling Loud Thailand ไม่ได้ถูกขับเคลื่อนด้วยฮิปฮอปอินเตอร์อย่างเดียว แต่ยังมีองค์ประกอบของศิลปินที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายในไทย ทำให้เกิด Engagement สูงขึ้นค่ะ

 Insight Rolling Loud

นอกจากไลน์อัพที่ประกาศแล้ว ยังมีศิลปินอีกหลายคนที่แฟน ๆ พูดถึงและอยากให้มาแสดง โดยศิลปินที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือ Nicki Minaj (9.5%), Doja Cat (8.3%), Rihanna (8.3%), 21 Savage (7.1%) และ Kendrick Lamar (6%) รวมถึงฝั่ง K-POP อย่าง NCT127 และ Lisa ที่มีแฟน ๆ เรียกร้องให้มาแสดงเช่นกัน

Insight ที่น่าสนใจคือ กระแส Wishlist แบ่งออกเป็นสองกลุ่มหลัก คือ ศิลปินฮิปฮอประดับตำนาน และศิลปินที่กำลังเป็นกระแสในยุคนี้ รวมถึงการที่ศิลปินฝั่ง K-POP อย่าง NCT127 และ Lisa ติดอยู่ในลิสต์ สะท้อนให้เห็นว่า Rolling Loud Thailand ไม่ได้ถูกจับตามองแค่จากแฟนฮิปฮอป แต่ยังขยายไปถึงแฟนดนตรีแนวอื่น ๆ ด้วย ซึ่งอาจเป็นโอกาสให้ผู้จัดนำศิลปินที่หลากหลายขึ้นมาเพิ่มความน่าสนใจในอนาคตค่ะ

เสียงสะท้อนบนโซเชียลต่อ Rolling Loud Thailand 2024 แทบจะแบ่งเป็นสองฝั่งพอ ๆ กัน โดย ความคิดเห็นเชิงบวก (52.2%) และสิ่งที่ผู้ร่วมงานอยากให้ปรับปรุง (47.8%) อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน ซึ่งสะท้อนว่ามีทั้งจุดที่แฟน ๆ ประทับใจ และจุดที่สามารถพัฒนาให้ดีขึ้นในอนาคตค่ะ

เดี๋ยวมาดูกันต่อว่า ความคิดเห็นในแต่ละด้านถูกพูดถึงในประเด็นไหนบ้าง และ Insight ที่นักการตลาดหรือผู้จัดงานสามารถนำไปต่อยอดมีอะไรน่าสนใจบ้างค่ะ

 Insight Rolling Loud

จุดที่ได้รับคำชมมากที่สุดคือ ความสนุกและบรรยากาศของงาน (Enjoyment 54.9%) โดยแฟน ๆ ต่างแชร์คลิปเต้นสุดเหวี่ยงและโมเมนต์ MOSHPIT ที่สร้างพลังความมันส์ จนหลายคนยกให้เป็นหนึ่งในเทศกาลดนตรีที่สนุกที่สุดของปีเลยค่ะ

@sarankanjanapas

Mosh pit ครั้งแรกเมื่อคืนที่ งาน Rolling Loud โคตรสนุกครับ ฝรั่งตัวใหญ่มากๆ แต่ทักคนจอยหมดเลยตรงนั้น (ต้องเซฟตัวเอง เซฟคนอื่นด้วย) #RollingLoudThailand

♬ original sound – Sarankanjanapas – Sarankanjanapas

นอกจากนี้ ยังมีการพูดถึงในแง่บวกเกี่ยวกับ Artist & Lineup (26.4%) ที่เลือกศิลปินระดับโลกมาได้อย่างยอดเยี่ยม Value for Money (10.4%) ที่หลายคนมองว่าราคาเหมาะสมเมื่อเทียบกับคุณภาพของศิลปินและประสบการณ์ที่ได้รับ และ Event Organization (8.3%) ที่จัดการระบบงานดีขึ้น ทั้งโซน VVIP ห้องน้ำเพียงพอ และช่วงเวลาจัดงานที่ตรงกับฤดูหนาวช่วยลดปัญหาอากาศร้อน

Insight ที่เห็นได้ชัดคือ ผู้เข้าร่วมงานให้ความสำคัญกับ “ประสบการณ์โดยรวม” มากกว่าศิลปินแค่รายบุคคล Rolling Loud Thailand ไม่ได้ถูกพูดถึงแค่เรื่องไลน์อัพ แต่ความสนุกและการจัดงานที่ตอบโจทย์ ก็เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้แฟน ๆ ประทับใจค่ะ

เรื่องที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือระบบการเดินทาง (Transportation 53.7%) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อประสบการณ์ของผู้เข้าร่วมงาน หลายคนมองว่าการเดินทางไป-กลับงานอาจใช้เวลานาน และมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เช่น ค่าขนส่งหรือการเดินจากจุดจอดรถถึงงาน หากปีถัดไปมีการปรับแผนจราจร หรือเพิ่มตัวเลือกการเดินทาง อาจช่วยให้ผู้เข้าร่วมงานได้รับความสะดวกมากขึ้นค่ะ

@gailblog

Day 2 ดนตรีมันส์มากกก แต่เบิร์นไป 20,000 ก้าวไม่เกินจริง 55555 #RollingLoud #RollingLoudThailand #RollingLoudThailand2024 #บันเทิงTikTok

♬ APT. – ROSÉ & Bruno Mars

นอกจากนี้เรื่อง Venue & Environment (26%) มีฟีดแบคเรื่องฝุ่นควันจากพื้นที่และการใช้งานของผู้เข้าร่วมงาน ซึ่งการเพิ่มมาตรการลดฝุ่น หรือจัดโซนพื้นที่ให้เป็นสัดส่วนชัดเจน อาจช่วยให้บรรยากาศงานดีขึ้น Event Management (10.2%) มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกระบวนการแลกริสแบนด์และราคาสินค้าในงาน ที่หากปรับให้ราบรื่นขึ้น อาจช่วยให้ผู้เข้าร่วมงานได้รับประสบการณ์ที่ดีขึ้น และ Artist Issues (10.2%) มีการพูดถึงการเปลี่ยนแปลง Lineup ในช่วงใกล้งาน ซึ่งหากมีการสื่อสารข้อมูลที่รวดเร็วและชัดเจนขึ้น จะช่วยให้แฟน ๆ วางแผนการเข้าร่วมงานได้ง่ายขึ้นค่ะ

Insight ที่น่าสนใจคือ ฟีดแบคส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับ “ประสบการณ์รอบงาน” ไม่ใช่ตัวงานหลักเอง Rolling Loud ยังคงเป็นเทศกาลที่ดึงดูดแฟนเพลงได้ดี หากสามารถปรับปรุงด้านการเดินทาง ระบบจัดการ และสภาพแวดล้อมให้ตอบโจทย์ขึ้น จะช่วยยกระดับประสบการณ์ของผู้ร่วมงานให้ดียิ่งขึ้นในอนาคตค่ะ

ส่วนตัวผู้เขียนเองก็เป็นสายคอนเสิร์ตค่ะ การได้ทำ Social Listening ให้งานนี้ทำให้เห็นภาพชัดว่า Rolling Loud Thailand 2024 เป็นมากกว่างานดนตรี ทุกวันนี้ อีเวนต์ไม่ได้วัดกันแค่ขนาดของเวทีหรือจำนวนศิลปิน แต่ยังขึ้นอยู่กับ กระแส การมีส่วนร่วม และประสบการณ์ที่ถูกส่งต่อไปบนโซเชียลด้วย ซึ่ง Rolling Loud ทำได้ดีตั้งแต่ช่วงโปรโมตไปจนถึงกระแสหลังงาน แต่สิ่งที่ผู้เขียนมองว่าสำคัญกว่านั้นคือ ตัวงานเองต้องแข็งแกร่งก่อน เพราะสุดท้ายแล้ว พลังของงานที่ถูกส่งต่อออกไปถึงผู้เข้าร่วมได้ ต้องมาจากคุณภาพและความตั้งใจจริงของผู้จัดค่ะ

และแน่นอนว่า ยังมีบางจุดที่สามารถพัฒนาได้ โดยเฉพาะเรื่อง ประสบการณ์ของผู้ร่วมงาน ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้อีเวนต์เติบโตในระยะยาว แต่สิ่งที่ Rolling Loud ทำได้ดี คือ การสร้างโมเมนต์ที่ทำให้คนรู้สึกอยากมีส่วนร่วม อยากไปสัมผัสเอง และอยากเป็นส่วนหนึ่งของกระแส ส่วนตัวมองว่า ไลน์อัปศิลปินและบรรยากาศงานเป็นจุดแข็งที่สุด และถ้าปีต่อ ๆ ไปสามารถต่อยอดจากอินไซต์ที่ได้รับ พร้อมขยับกลยุทธ์การตลาดให้แข็งแกร่งขึ้น งานนี้ก็มีโอกาสเติบโตและสร้างกระแสที่ยิ่งใหญ่อยู่แล้วยิ่งใหญ่ขึ้นไปอีกแน่นอนค่ะ

สุดท้ายนี้ สำหรับผู้เขียน Rolling Loud ไม่ใช่แค่เทศกาลดนตรี แต่เป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนวัฒนธรรมยุคใหม่ ที่เสียงจากโซเชียลมีเดียสามารถกำหนดได้ว่าอะไรจะเป็นที่พูดถึงและอยู่ในกระแส แล้วพบกันใหม่บทความหน้านะคะ :0)

คลาสเรียนออนไลน์ Social Listening Analytics

คลาสเรียนออนไลน์ Social Listening เน้น Workshop ลงมือทำจริงด้วยตัวเอง รุ่นล่าสุด ศุกร์สุดท้ายของเดือน เปิดแล้ว
เรียนสดทางออนไลน์ ผ่าน Zoom เต็มวัน 9:00 – 15:00
ค่าเรียนคนละ 9,900 บาท รับจำกัดรุ่นละ 20 คน (ถ้าเต็มรุ่นนี้ต้องขอให้รอรุ่นหน้า)
อ่านรายละเอียดและสมัครก่อนเต็มได้ที่ลิงก์นี้ครับ

https://bit.ly/sociallisteningclass

โอปอ Marketing Content Creator ของการตลาดวันละตอน ⋆˚✿˖° ดีใจที่ได้แชร์เรื่องราวกับทุกคนค่ะ อย่าลืมยิ้มให้ตัวเองทุกวัน และฝากติดตามบทความต่อไปด้วยนะคะ ( 。•ㅅ•。)~✧

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *