ในโลกธุรกิจที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน สิ่งที่นักธุรกิจไม่ควรมองข้ามเลยก็คือการวิเคราะห์สถานการณ์ภายนอกที่อาจมีผลกระทบต่อธุรกิจของเรานั่นเองค่ะ ในฐานะนักการตลาด หลายคนอาจจะเคยได้ยิน ” PESTEL Analysis “ กันมาแล้วบ้าง วันนี้ผู้เขียนจะพาทุกคนไปรู้จักว่า ” PESTEL Analysis คือ อะไร และมีประโยชน์ต่อนักธุรกิจอย่างไร? “ ตามไปอ่านกันได้เลยค่ะ
PESTEL Analysis คือ อะไร?
PESTEL Analysis คือ เครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์ปัจจัยภายนอก ที่อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจ โดยย่อมาจากตัวอักษรตัวแรกของคำเหล่านี้ P -Political, E -Economic, S -Social, T -Technological, E -Environmental, L -Legal
ช่วยให้นักธุรกิจเข้าใจสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ มองเห็นถึงโอกาส และอุปสรรคได้อย่างชัดเจน และสามารถวางแผน พัฒนากลยุทธ์สำหรับเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างยั่งยืน ซึ่ง PESTEL นั้นก็มีอยู่ด้วยกัน 6 ข้อ ดังนี้ค่ะ
…” เปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเจน คือ ธุรกิจของเราก็เป็นบ้านหลังหนึ่งในหมู่บ้าน การได้ข่าวว่าบ้านยายจวนโดนขโมยขึ้นบ้านนั้น จะทำให้เรารู้ว่าควรที่จะติดกล้องวงจรปิด เก็บข้าวของ และล็อกบ้านไว้ให้ดี หรือการรับรู้ว่าในมีสุนัขบ้าหลุดเข้ามาในหมู่บ้าน เวลาออกไปนอกบ้าน เราจะได้เตือนให้คนในบ้านระมัดระวังให้มากขึ้น”…
P : Political (การเมือง)
นโยบายของรัฐบาล, กฎระเบียบ, เสถียรภาพทางการเมือง นั้นมีอิทธิพลต่อการทำธุรกิจอย่างมาก โดยส่วนใหญ่มีผลต่อระดับความเสี่ยง และโอกาสในการดำเนินธุรกิจ
สังเกตได้ว่าบริษัทระดับ Global มักจะหลีกเลี่ยงการลงทุนในประเทศที่มีข้อพิพาททางการค้า หรือประเทศที่ขาดเถียรภาพทางการเมือง ทั้งนี้ผลการเลือกตั้งก็มีผลต่อการตัดสินใจลงทุนด้วยเช่นกัน เพราะพรรคการเมืองแต่ละพรรคนั้นต่างก็มีนโยบายผลักดันเศรษฐกิจที่ต่างกัน
ตัวอย่างปัจจัยด้านการเมือง: การประกาศกฏอัยการศึก ในปี 2557
ทำให้เศรษฐกิจประเทศไทยชะลอตัวลง ส่งผลให้ค่าเงินบาทของไทยอ่อนตัวลง นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นกว่า 2 หมื่นล้านบาท หลังวันที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก 4 วัน เนื่องจากกองทุนต่างชาติบางแห่งมีข้อบังคับว่าห้ามลงทุนในประเทศที่มีการประกาศกฎอัยการศึก และเกิดรัฐประหาร (Post Today, 2014 )
E : Economic (เศรษฐกิจ)
สภาวะเศรษฐกิจส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินงาน และผลกำไรของธุรกิจ ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจมักสัมพันธ์กันกับทิศทางของการเมือง เพราะผู้ขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจคือรัฐบาล
เช่น นโยบายการเงินที่รัฐบาลกำหนด ปัจจัยทางเศรษฐกิจที่มีผลต่อธุกิจโดยทั่วไป ได้แก่ การเติบโตทางเศรษฐกิจ, อัตราดอกเบี้ย, อัตราการจ้างงาน, อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ, อุปสงค์และอุปทาน, ต้นทุนวัตถุดิบ, อัตราเงินเฟ้อ, อำนาจการใช้จ่ายของผู้บริโภค
ตัวอย่างปัจจัยด้านเศรษฐกิจ: การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้ออาจส่งผลให้ธุรกิจเลิกจ้างพนักงานเพื่อประหยัดเงิน การกระทำนี้อาจนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของอัตราการว่างงาน อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ การลดต้นทุนวัตถุดิบซึ่งช่วยให้ธุรกิจเพิ่มการผลิต และปล่อยให้ขายสินค้าได้มากขึ้น
S : Social (สังคม)
หรือที่เรียกว่าปัจจัยทางสังคม และวัฒนธรรม เกี่ยวข้องกับข้อมูลประชากร, ความเชื่อ, ทัศนคติ, จารีต, และประเพณีของผู้คนในท้องถิ่น ปัจจัยเหล่านี้ช่วยให้ธุรกิจเข้าใจ Insight, คาดเดาพฤติกรรม และแรงจูงใจของคนที่จะมาเป็นลูกค้าได้ โดยใช้ข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้เพื่อพัฒนากลยุทธ์การตลาดให้สอดคล้องกับความต้องการ และพฤติกรรมของลูกค้า ตัวอย่างของปัจจัยด้านสังคม ได้แก่ เทรนด์, ไลฟ์สไตล์, ความเชื่อ, ศาสนา, ทัศนคติต่อสภาพการทำงาน
ปัจจัยทางสังคมอาจดูเหมือนเป็นการพิจารณาเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับสิ่งที่จับต้องได้ เช่น อัตราดอกเบี้ยหรือภาษีนิติบุคคล ถึงกระนั้น ปัจจัยเหล่านี้สามารถส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในวงกว้างได้อย่างน่าประหลาดใจ
ตัวอย่างปัจจัยด้านสังคม : หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 บริษัทหลายแห่งต้องปรับเปลี่ยนการทำงานของพนักงานจาก On-Site เป็น Hybrid แทน ตามข้อเรียกร้องของพนักงานส่วนใหญ่ในบริษัท
T : Technological (เทคโนโลยี)
เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ ๆ นั้นสามารถลดความเสียหายของวัตถุดิบ, เพิ่มคุณภาพ, เพิ่มปริมาณการผลิต และช่วยให้การผลิตสินค้านั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนที่ผู้ประกอบการต้องจ่ายลดลง เพิ่มผลกำไรได้มากขึ้น
ตัวอย่างปัจจัยด้านเทคโนโลยี : หากผู้บริโภคพบว่าการซื้อสินค้าทางออนไลน์ง่ายกว่าหรือดีกว่า ธุรกิจอาจตัดสินใจที่จะมุ่งเน้นไปที่การขายบนร้านค้าออนไลน์ มากกว่าหน้าร้านจริง
E : Environmental (สิ่งแวดล้อม)
เป็นปัจจัยที่มักจะโดนมองข้ามบ่อย ๆ แต่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ยกตัวอย่างสถานการณ์ง่าย ๆ เมื่ออุณหภูมิโลกเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลกระทบให้ทรัพยากรธรรมชาติลดลง หรือใช้เวลาการเกิดขึ้นใหม่นานขึ้น ทำให้ธุรกิจมีต้นทุนในการผลิตที่สูงขึ้น
เนื่องจากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด หรือแม้กระทั่งเหตุหารณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มาโดยไม่รู้ตัว ก็สามารถสร้างความเสียหายมูลค่ามหาศาลให้แก่ธุรกิจของคุณได้
ตัวอย่างปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม : ปริมาณฝุ่น PM 2.5 ที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผู้คนมักจะใช้เวลาอยู่บ้านมากกว่าจะออกมาทำกิจกรรมข้างนอกในช่วงวันหยุด ทำให้ยอดขายของร้านอาหารกลางแจ้งลดลงกว่าปีก่อนมาก
L : Legal (กฎหมาย)
อีกหนึ่งปัจจัยที่สัมพันธ์กับการเมือง ครอบคลุมทั้งกฎหมายแรงงาน, กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค, มาตรฐานเรื่องความปลอดภัยในการผลิต รวมไปถึงกฏหมายที่ว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจะมีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่
ตัวอย่างปัจจัยด้านกฏหมาย : กัญชาถือว่าเป็นสิ่งผิดกฏหมายในประเทศเกาหลี แต่สำหรับในประเทศไทยนั้น กัญชาได้รับการอนุญาตให้ผลิต และจำหน่ายได้ภายใต้ข้อบังคับที่จำกัด
PESTEL มีประโยชน์ต่อธุรกิจอย่างไร
อย่างที่กล่าวไปด้านบนว่า PESTEL นั้นคือ Framework ที่ใช้ในการวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกที่อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ซึ่งจะเป็นแนวทางในการวางกลยุทธ์เพื่อที่จะดำเนินธุรกิจไปในทางที่เหมาะสม พร้อมเผชิญหน้ากับความเสี่ยง และใช้โอกาสที่เกิดขึ้นให้เป็นประโยชน์ ซึ่งผู้เขียนจะขอสรุปเป็นข้อ ๆ ดังนี้ ค่ะ
เข้าใจสภาพแวดล้อมภายนอก : ช่วยให้ธุรกิจเข้าใจ และพร้อมตอบสนองต่อปัจจัยภายนอกที่อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจได้อย่างยั่งยืน
การปรับตัวต่อเปลี่ยนแปลง : ช่วยให้ธุรกิจสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การปรับเปลี่ยนแผนการทำงาน, การพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่
การพัฒนานวัตกรรม : เทรนด์ และพฤติกรรมผู้บริโภคนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งการวิเคราะห์โดยใช้ PESTEL นั้นจะส่งเสริมให้ธุรกิจปรับปรุงสินค้า สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า
การลดความเสี่ยง : เช่น การปรับเปลี่ยนนโยบายการเมืองหรือกฎหมายที่อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจ
การเปิดโอกาสใหม่ : สามารถระบุโอกาสใหม่ ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอก เช่น การขยายตลาดใหม่, การทำธุรกิจในตลาดต่างประเทศ, หรือการพัฒนาความร่วมมือกับองค์กรภาครัฐ และภาคเอกชน
สรุป PESTEL Analysis
PESTEL Analysis เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์สำหรับนักธุรกิจ
ช่วยให้นักธุรกิจเข้าใจสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ระบุโอกาสและอุปสรรค พัฒนากลยุทธ์การตลาดได้อย่างยั่งยืน และเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจ
การวิเคราะห์ PESTEL ไม่ยาก สามารถทำได้เอง และมีประโยชน์
ข้อควรระวัง
การวิเคราะห์ PESTEL เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ทั้งนี้ควรใช้เครื่องมืออย่างอื่นประกอบการวิเคาะห์ข้อมูลด้วย
จำเป็นต้อง มีกลยุทธ์ที่ชัดเจน
จำเป็นต้อง ติดตามผลอย่างสม่ำเสมอ
การวิเคราะห์ด้วย PESTEL นั้นช่วยให้ธุรกิจ หรือองค์กรเข้าใจ และจัดการกับปัจจัยภายนอกได้อย่างเหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยง และเพิ่มโอกาสในดำเนินธุรกิจในระยะยาว ซึ่งไม่ว่าเพื่อน ๆ จะเป็นธุรกิจรายใหญ่ หรือรายย่อยก็สามารถใช้ PESTEL Analysis ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้ หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อเพื่อน ๆ ในวงการธุรกิจ และผู้ที่สนใจเรียนรู้เกี่ยวกับ PESTEL Framework ไม่มากก็น้อยนะคะ
มองหาเทคนิคการตลาดอันอื่นกันอยู่หรือเปล่า? ตามไปอ่านต่อไปเลยที่