ขอบอกว่าเรื่องที่เราจะคุยกัน เป็นเรื่อง Basic ที่ใครหลายคนอาจคุ้นเคยกันอยู่แล้วนั่นคือ STP Marketing หรือชื่อเต็มคืออ Segmentation, Targeting และ Positioning ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวคิดพื้นฐานที่สำคัญในการวางแผนกลยุทธ์การตลาด ทำให้เรารู้ว่าเราคือใคร กำลังทำอะไรอยู่ เรียกว่าเป็นแผนที่นำทางของนักการตลาดเลยก็ว่าได้
ทำไม STP Marketing ถึงสำคัญ
อย่างที่บอกว่า STP Marketing ย่อมาจาก Segmentation, Targeting และ Positioning เป็นกระบวนการทางการตลาดที่ช่วยให้ธุรกิจของเราเข้าใจลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น และทำให้เรานำเสนอสินค้าหรือบริการที่ตรงใจกลุ่มเป้าหมายค่ะ
ที่ STP Marketing ถือเป็นกลยุทธ์การตลาดสุดปัง ก็เพราะช่วยให้แบรนด์เข้าใจและเข้าถึงลูกค้าได้อย่างลึกซึ้ง สามารถนำเสนอสินค้าและสื่อสารแคมเปญที่จับใจผู้บริโภค ตรงกับความต้องการที่แท้จริง และโดดเด่นกว่าคู่แข่งในตลาดค่ะ นอกจากนั้นการทำ STP Marketing อย่างเป็นระบบจะทำให้การทำการตลาดมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะไม่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณไปกับกลุ่มลูกค้าที่ไม่ใช่เป้าหมาย แต่สามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่กับกลุ่มที่มีแนวโน้มจะซื้อสูงสุดแทน เพิ่มโอกาสในการปิดการขายค่ะ
ซึ่งการทำ STP Marketing เริ่มต้นด้วยการแบ่งส่วนตลาด (Segmentation) โดยจัดกลุ่มลูกค้าที่มีลักษณะ พฤติกรรม หรือความต้องการคล้ายกันไว้ด้วยกันค่ะ จากนั้นจึงเลือกกลุ่มที่น่าสนใจและสอดคล้องกับศักยภาพของแบรนด์มาเป็นตลาดเป้าหมาย (Targeting) และสุดท้ายคือการวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ (Positioning) ให้โดดเด่นและแตกต่างจากคู่แข่งในใจของกลุ่มเป้าหมาย เรามาเจาะกันทีละตัวดีกว่าค่ะ ว่าในแต่ละขั้นตอนมีอะไร และต้องทำไงบ้าง
แบ่งกลุ่มลูกค้าให้ปังด้วย Market Segmentation
การแบ่งส่วนตลาด (Market Segmentation) เป็นขั้นตอนแรกของกระบวนการ STP ที่ช่วยให้ธุรกิจแบ่งลูกค้าออกเป็นกลุ่มย่อยตามลักษณะบางอย่างที่คล้ายกัน เช่น เพศ อายุ รายได้ พฤติกรรม ความต้องการ เป็นต้น ซึ่งการแบ่งกลุ่มที่ดีจะทำให้แบรนด์เข้าใจความต้องการเฉพาะของแต่ละกลุ่มได้ดียิ่งขึ้น และสามารถตอบสนองได้ตรงใจกว่าการมองตลาดเป็นก้อนเดียวค่ะ
ถ้าเปรียบเทียบคือเหมือนตลาดเป็นเค้กหนึ่งก้อนใหญ่ ๆ การแบ่งส่วนตลาด (Market Segmentation) ก็คือการตัดเค้กที่เรานำมีดมาให้ไขว้กันจนเค้กเป็นสามเหลี่ยมชิ้นเล็ก ๆ แล้วเราก็เลือกเค้กชิ้นที่เราชอบที่สุด ตรงกับสินค้าเราที่สุดมาเป็นหลักตั้งต้นค่ะ ซึ่งอย่างที่บอกว่าการแบ่งส่วนตลาด (Market Segmentation) ก็คือการตัดเค้กเราก็จะดูว่าเราจะตัดเค้กชิ้นนี้ด้วยเกณฑ์อะไรบ้าง
หลักเกณฑ์ในการแบ่งส่วนตลาด (Market Segmentation) มีหลายประเภท ได้แก่
การแบ่งตามประชากรศาสตร์ (Demographic) เช่น เพศ อายุ รายได้ อาชีพ การศึกษา สถานภาพครอบครัว เชื้อชาติ ศาสนา เช่น ช่วงอายุ 10-20, 20-30, 30-40, 40-50 และ 50 ปีขึ้นไป
การแบ่งตามภูมิศาสตร์ (Geographic) เช่น ประเทศ ภูมิภาค ขนาดเมือง ความหนาแน่นประชากร สภาพภูมิอากาศ เช่น ภูมิภาค กรุงเทพและปริมณฑล, หัวเมืองหลัก, เมืองรอง เป็นต้น
การแบ่งตามจิตวิทยา (Psychographic) เช่น บุคลิกภาพ ค่านิยม ทัศนคติ รูปแบบการดำเนินชีวิต(Lifestyle) ความสนใจ เช่น Lifestyle รักสุขภาพ ชอบออกกำลังกาย, ชอบกิบ ชอบทานบุฟเฟ่ต์
การแบ่งตามพฤติกรรม (Behavioral) เช่น ความถี่ในการซื้อ ปริมาณการซื้อ ความภักดีต่อตราสินค้า ประโยชน์ที่ต้องการ เช่น ความถี่ในการซื้อ ซื้อทุกสัปดาห์, ซื้อทุกวัน, ซื้อทุก 2-3 วัน
ในการแบ่งกลุ่มลูกค้านั้น นอกจากจะต้องเลือกเกณฑ์ที่จะมาใช้วัดแล้ว ยังต้องคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ด้วย คือ
ความแตกต่างระหว่างกลุ่ม อย่าให้มีความแตกต่างกันจนมากเกินไป เช่น อายุ 0-10, 10-20, 20-50 และ อายุ 50 ขึ้นไป
ความชัดเจนในการวัดผล ในแต่ละกลุ่ม เมื่อแยกอออกจากกันแล้ว ควรสามารถวัดผลได้
ขนาดและกำลังซื้อของแต่ละกลุ่ม ต้องดูว่ากลุ่มที่เราเลือกมีขนาดและกำลังซื้อมากขนาดไหนด้วย
ความสามารถของธุรกิจในการเข้าถึงกลุ่มนั้น ๆ ด้วย และที่สำคัญต้องคำนึงถึงว่าธุรกิจของเราจะสามารถเข้าถึงกลุ่มนั้้น ๆ ได้หรือไม่
การเลือกใช้เกณฑ์ที่เหมาะสมจะช่วยให้การแบ่งกลุ่มมีประสิทธิภาพ สามารถแยกแยะลูกค้าเป็นกลุ่มที่มีเอกลักษณ์ชัดเจน และสอดคล้องกับการนำไปใช้วางแผนการตลาดได้จริงค่ะ
นอกจากนี้ การศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าเชิงลึก ผ่านการทำวิจัยตลาด การสำรวจกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการใช้เทคโนโลยี Big Data หรือ แม้แต่การทำ Social Listening ก็จะช่วยให้เห็นลักษณะร่วมและพฤติกรรมของกลุ่มลูกค้าได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ทำให้การแบ่ง segment มีคุณภาพและนำไปใช้ได้ผลดียิ่งขึ้นอีกด้วยค่ะ
ตัวอย่างการแบ่งส่วนตลาดของ CPF (เจริญโภคภัณฑ์อาหาร) ที่เลือกแบ่งส่วนตลาดตามพฤติกรรมการบริโภคเป็นสองกลุ่มหลักๆ คือ
กลุ่มรักสุขภาพที่เน้นอาหารคลีน ปลอดสารปนเปื้อน
กลุ่มชอบความสะดวก เน้นอาหารแช่แข็งพร้อมปรุง พร้อมทาน
CPF จึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการของทั้งสองกลุ่มนี้ ทำให้มีสินค้าที่หลากหลายและครอบคลุมตลาดมากขึ้นค่ะ
จับกลุ่มเป้าหมายให้ถูกด้วย Market Targeting
ต่อมาในส่วนของการเลือกกลุ่มเป้าหมาย (Market Targeting) คือการคัดเลือกส่วนตลาดที่น่าสนใจและมีศักยภาพที่สุดจากหลาย ๆ ส่วนที่ได้แบ่งไว้ในขั้นตอน Segmentation มาเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่เราจะเข้าไปนำเสนอสินค้าหรือบริการ โดยเลือกกลุ่มที่สอดคล้องกับความสามารถและเป้าหมายของธุรกิจมากที่สุดค่ะ
ก็เหมือนที่เราพูดเรื่อง Segmentation คือ การตัดเค้ก แล้วตอนนี้เราก็ต้องเลือกเค้กชิ้นที่เราชอบที่สุด หรือก็คือการทำ Market Targeting นั่นเองค่ะ และการเลือกเค้กเราก็ควรมีหลักการในการเลือกถูกต้องมั้ยคะ เรามาดูหลักเกณฑ์ที่ใช้เลือกกันดีกว่าค่ะ
หลักเกณฑ์ในการประเมินความน่าสนใจของแต่ละส่วนตลาดมีดังนี้
ขนาดของตลาด ทั้งในแง่จำนวนลูกค้า ปริมาณความต้องการ และมูลค่ารวมของตลาด
การเติบโตของตลาด พิจารณาอัตราการเติบโตทั้งในอดีตและแนวโน้มในอนาคต
ความน่าดึงดูดของกำไร เช่น ระดับราคา อำนาจการต่อรอง ต้นทุน เพื่อดูความสามารถในการทำกำไรได้
ความรุนแรงของการแข่งขันในตลาด ได้แก่ จำนวนคู่แข่ง ความแข็งแกร่ง ความได้เปรียบ ความอิ่มตัวของตลาด
ความพร้อมและความเหมาะสมของธุรกิจในการเจาะตลาด เช่น ความชำนาญ ทรัพยากร ความสอดคล้องกับภาพลักษณ์และทิศทางของแบรนด์
เมื่อประเมินตลาดแล้ว ให้เลือกกลุ่มที่จะเข้าไปทำตลาดด้วยกลยุทธ์ต่างๆ ดังนี้
ตลาดมวลชน ขายสินค้ากลางๆ ไปยังผู้บริโภคจำนวนมาก
ตลาดเฉพาะส่วน มุ่งขายสินค้าเฉพาะกลุ่ม เจาะจงไปยังแต่ละส่วนตลาด
ตลาดรอยต่อ พยายามเจาะหลายๆ กลุ่มที่มีจุดร่วมหรือความต้องการเหมือนกัน ทำให้ได้ฐานลูกค้าที่กว้างขึ้น
ตลาดเฉพาะส่วนหลายรูปแบบ เลือกเจาะหลายกลุ่มเป้าหมายที่ต่างกัน แต่ใช้สินค้าหรือวิธีการตลาดแบบเดียวกัน
ตลาดที่มีการตอบสนองแบบรายบุคคล ปรับสินค้าและการตลาดแยกย่อยสำหรับลูกค้าแต่ละราย
การเลือกกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนเป็นหัวใจของ STP Marketing เพราะจะช่วยให้การวางแผนการตลาดมีจุดโฟกัสที่ชัดเจน สามารถกำหนด positioning ที่เฉพาะเจาะจงและแตกต่าง รวมถึงใช้งบประมาณและความพยายามทางการตลาดไปกับกลุ่มที่มีแนวโน้มตอบรับสูงสุด ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างยอดขายและผลกำไรในระยะยาว
ตัวอย่าง Pomelo แบรนด์แฟชั่นออนไลน์ ที่เน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้หญิงวัยทำงานตอนต้น ที่ชอบแต่งตัว กล้าที่จะมีสไตล์เป็นของตัวเอง ซึ่งเป็นตลาดเฉพาะกลุ่มที่กำลังเติบโตและมีกำลังซื้อสูง Pomelo จึงปรับกลยุทธ์ทั้งช่องทางการขาย สินค้า และการสื่อสารการตลาด ให้โดนใจและเข้าถึงไลฟ์สไตล์ของกลุ่มนี้โดยเฉพาะ จนสามารถขยายตลาดและสร้างการรับรู้แบรนด์ได้อย่างรวดเร็วค่ะ
วาง Positioning ให้โดนใจลูกค้า
ในส่วนสุดท้ายคือการวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ (Positioning) เป็นขั้นตอนสุดท้ายของ STP Marketing ที่มีความสำคัญมาก เพราะเป็นการกำหนดภาพลักษณ์หรือจุดยืนของแบรนด์ในใจของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย การวาง Positioning ที่ดีจะทำให้ผู้บริโภครับรู้ถึงคุณค่าของแบรนด์ และลักษณะเด่นของสินค้าที่แตกต่างจากคู่แข่ง เกิดเป็น “พื้นที่” ในใจลูกค้าค่ะ
โดยขั้นตอนในการวาง positioning มีดังนี้
ระบุคุณสมบัติและประโยชน์หลักของสินค้าของเราที่คิดว่าโดดเด่น และมีคุณค่าในสายตาลูกค้า
วิเคราะห์ตำแหน่งทางการตลาดของคู่แข่งที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน
เปรียบเทียบจุดแข็ง จุดอ่อน และความสามารถของเรา กับคู่แข่งหลัก ๆ
เลือกจุดยืนที่เราต้องการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย โดยเน้นจุดเด่นที่สำคัญที่สุดเพียง 1-2 อย่าง
พัฒนากลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อสร้างและรักษา positioning ให้คงที่ในระยะยาว
ซึ่งขั้นตอนการวาง positioning ส่วนมากมักนิยมวางลงในกราฟโดยใช้ แกน X และ แกน Y เป็นคุณสมบัติ หรือ จุดเด่นของสินค้า หรือ แบรนด์ ซึ่งเราสามารถดูตัวอย่างกลยุทธ์การวางตำแหน่งที่นิยมใช้ในตลาด ดังนี้
ความเป็นผู้นำ เช่น มีส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 1 มียอดขายสูงสุด มีจำนวนสาขามากสุด
คุณภาพ เช่น ใช้วัตถุดิบเกรดพรีเมียม มีเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง ได้มาตรฐาน รางวัลรับรองคุณภาพ
ความคุ้มค่า เช่น ราคาถูกกว่า คุณภาพเทียบเท่าแต่ราคาต่ำกว่า
ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น สินค้าเจาะจงสำหรับผู้สูงวัย สำหรับผู้มีปัญหาสุขภาพ
ความแตกต่างหรือแปลกใหม่ เช่น รูปแบบสินค้า features เทคโนโลยี บรรจุภัณฑ์แตกต่างจากที่มีอยู่
หลักสำคัญคือเราไม่ควรวางหรือนำคุณสมบัติที่เป็นเชิงลบเข้ามาตั้งในแกน เพราะจะทำให้เกิดอคติต่อแบรนด์คู่แข่ง และ แบรนด์ของเราเองทำให้ไม่ได้ตำแหน่งผลิตภัณฑ์ที่แท้จริง
อย่างถ้าเราใช้เลือกใช้คุณภาพ ก็ควรระบุไปว่าเราวัดคุณภาพจากอะไร ไม่งั้นจะกลายเป็นว่าฝั่งนึงจะเขียนว่า คุณภาพต่ำ อีกฝั่งของกราฟจะเป็น คุณภาพสูง ซึ่งพอเห็นแบบนี้อาจทำให้เราลังเลที่จะวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ของเรา หรือ คู่แข่ง เพราะอคติที่เกิดขึ้น หากเราวางคู่แข่งไว้ที่คุณภาพต่ำ ก็จะเกิดคำถามว่าแล้วคุณภาพ นั้นคืออะไร วัดจากอะไร แล้วการทำแบบนี้จะไม่เป็นการ Discredit ของคู่แข่งใช่ไหม
นอกจากนั้นเราต้องวาง positioning แบบไม่เข้าข้างตัวเองจนเกินไป ให้อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง และไม่ค้านสายตาของคนทั่วไป เพราะไม่งั้นนอกจากเราจะทำการตลาดไม่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย เพราะวาง positioning ผิดแล้ว หากเราไปนำเสนอ หรือ พูดให้คนอื่นฟังก็อาจเกิดเสียงวิพากษย์วิเคราะห์อย่างกรณีของเต่าบินที่เคยเกิดขึ้น เรื่องการวาง positioning คุณภาพเทียบเคียงสตาร์บัคส์ และการใช้คำว่า Low Quality นั้นคืออะไร ดังนั้นเราต้องใส่ใจและเลือกคุณสมบัติที่จะใช้วาง positioning ให้ดีค่ะ
STP Marketing เคล็ดลับการตลาดสู่ความสำเร็จ
และจากทั้งหมดที่เราได้เรียนรู้แนวคิด STP Marketing มา สามารถสรุปขั้นตอนและข้อคิดสำคัญได้ดังนี้ค่ะ
Segmentation (การแบ่งส่วนตลาด)
แบ่งตลาดตามเกณฑ์ต่าง ๆ ทั้งประชากรศาสตร์ ภูมิศาสตร์ จิตวิทยา พฤติกรรม เพื่อจัดกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการคล้ายกัน
การแบ่งส่วนต้องทำให้เห็นความแตกต่างระหว่างกลุ่มอย่างชัดเจน สามารถวัดขนาดและกำลังซื้อได้ และมีวิธีในการเข้าถึงแต่ละกลุ่ม
Targeting (การเลือกตลาดเป้าหมาย)
พิจารณาเลือกกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพ น่าสนใจ และเหมาะสมกับธุรกิจของเรามากที่สุด
ประเมินจากเกณฑ์สำคัญ เช่น ขนาดและการเติบโตของตลาด ความสามารถในการทำกำไร ระดับการแข่งขัน ความสอดคล้องกับทรัพยากรและทิศทางของแบรนด์
เลือกใช้กลยุทธ์ในการเข้าสู่ตลาดเป้าหมาย เช่น มุ่งตลาดมวลรวม ตลาดเฉพาะกลุ่ม ตลาดรอยต่อ ตลาดหลายกลุ่ม หรือตลาดรายบุคคล
Positioning (การวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์)
กำหนดตำแหน่งหรือจุดยืนที่เราต้องการให้ลูกค้ารับรู้เกี่ยวกับแบรนด์ โดยเน้นที่คุณสมบัติเด่น 1-2 อย่างที่สำคัญที่สุด
พัฒนาส่วนประสมทางการตลาด (4Ps) ทั้งผลิตภัณฑ์ ราคา ช่องทาง และโปรโมชั่น ให้สอดคล้องกับ Brand Positioning
สื่อสารตำแหน่งทางการตลาดอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ชัดเจนและแข็งแกร่งในใจลูกค้า
สุดท้าย เมื่อทำ STP Marketing เสร็จสมบูรณ์แล้ว สิ่งสำคัญคือต้องนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดผล ดังนี้ค่ะ
พัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง ทั้งในด้านประโยชน์ใช้สอย คุณภาพ คุณค่า และรูปลักษณ์ที่โดนใจ
วางกลยุทธ์ด้านราคา ช่องทางการขาย และการส่งเสริมการตลาด ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมและความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
สร้างการรับรู้และจดจำตำแหน่งทางการตลาดของแบรนด์ผ่านการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการโฆษณา ประชาสัมพันธ์
วัดผลการตอบรับของแผนการตลาดอย่างสม่ำเสมอ ทั้งด้านการรับรู้แบรนด์ ความพึงพอใจ ส่วนแบ่งการตลาด และตัวเลขยอดขาย เพื่อนำมาปรับปรุงให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ค่ะ
ก่อนจากไปขอยกกรณีศึกษาน่าสนใจ คือ Sabina แบรนด์ชุดชั้นในสตรี ที่ประสบความสำเร็จจากการใช้ STP อย่างเป็นระบบ โดยเริ่มจากการแบ่งกลุ่มลูกค้าผู้หญิงไทยตามไลฟ์สไตล์และรสนิยมที่แตกต่างกัน จากนั้นเลือก 3 กลุ่มเป้าหมายหลักที่น่าสนใจที่สุด คือ กลุ่มวัยรุ่น กลุ่มสาววัยทำงาน และกลุ่มวัยทอง
Sabina ได้สร้างแบรนด์ย่อยและวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ให้เหมาะกับแต่ละกลุ่มอย่างชัดเจน เช่น
Sabinie สำหรับสาววัยรุ่นที่ชื่นชอบแฟชั่น ชุดชั้นในลายน่ารัก สีสันสดใส
Sabina สำหรับสาววัยทำงานที่ต้องการดีไซน์ทันสมัยแต่ใส่สบาย เน้นฟังก์ชั่น
Soft Dressing สำหรับผู้หญิงวัยทองที่ต้องการชุดชั้นในสวมใส่ง่าย นุ่ม เบา ระบายอากาศ
ด้วยความเข้าใจลูกค้าแต่ละกลุ่มอย่างดี ทำให้ Sabina สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์และสื่อสารการตลาดที่ตรงใจ ตอบโจทย์ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ การเลือกวัสดุ การกำหนดราคา การเลือกช่องทางขาย ไปจนถึงวิธีการโปรโมทที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของแต่ละกลุ่ม จึงทำให้ Sabina ครองใจลูกค้าและเติบโตอย่างต่อเนื่อง สามารถครองส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดและเป็นผู้นำตลาดชุดชั้นในของไทยมาอย่างยาวนานค่ะ
จากกรณีศึกษานี้จะเห็นได้ว่า STP Marketing ไม่ใช่เรื่องของทฤษฎีหรือแนวคิดเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเครื่องมือการตลาดที่มีประสิทธิภาพสูงมาก หากนำมาใช้อย่างเป็นขั้นตอน ผ่านการคิดวิเคราะห์และการลงมือทำจริง ๆ ก็จะช่วยให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย สร้างความแตกต่างที่โดดเด่น และตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น ส่งผลให้แบรนด์เติบโตอย่างรวดเร็วและยั่งยืนในระยะยาวนั่นเองค่ะ
ดังนั้น การทำความเข้าใจกระบวนการ STP Marketing และนำไปปรับใช้ให้เหมาะกับธุรกิจ จึงนับเป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จ หากแบรนด์ใดมีความเข้าใจ STP จะรู้ว่าลูกค้าของตัวเองคือใคร ต้องการอะไร เราจะตอบสนองความต้องการนั้นได้ยังไง ก็จะเป็นแบรนด์ที่ครองใจลูกค้า สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน และเติบโตอย่างมั่นคงในที่สุดค่ะ
และทั้งหมดนี้ก็คือ STP Marketing แผนที่การตลาด จับกลุ่มเป้าหมายแม่น ครองตลาดยั่งยืน ถ้าชอบ หรือ สนใจอยากอ่านบทความด้านการตลาดแบบนี้อีก ผู้เขียนฝากติดตามด้วยนะคะ หรือ ถ้าใครอยากให้ผู้เขียนนำมุมมองการตลาดแบบไหนมาเล่าให้ฟัง สามารถคอมเมนต์บอกกันได้เลยนะคะ
สำหรับนักอ่านที่ชอบ และ อยากอ่านบทความเกี่ยวกับการตลาดเพิ่มเติม รวมถึงข่าวสารด้านการตลาดต่าง ๆ สามารถติดตามได้จาก เพจการตลาดวันละตอน รวมไปถึงเว็บไซต์ Twitter Instagram YouTube และ Blockdit ของการตลาดวันละตอนได้เลยนะคะ แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้าค่ะヽ(•‿•)ノ
Source Source Source Source Source Source
อยากอ่านบทความการตลาดเพิ่มเติม ลองเลือกอ่านบทความด้านล่างนี้ได้เลยนะคะ