Insight Gen Z 2024 เจาะลึกเจนซีในทุกแง่มุม พร้อมสรุปเข้าใจง่าย
ในบทความนี้เราจะพามารู้จักกับ เจนซี (Gen Z) เจาะลึกทุก Insight โดยคุณหนุ่ย ณัฐพล ม่วงทำ เจ้าของเพจการตลาดวันละตอน ที่ได้ขึ้นไปบรรยายในงาน CTC2023 ในช่วง “Marketing to Gen Z: Engaging the New Generation” อิง จากดาต้าย้อนหลัง 5 ปีสกัดเข้มข้นรวมกับ 10 Report และ Case Study ประกอบแน่น ๆ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับการทำธุรกิจในยุคนี้
ใครคือ เจนซี (Gen Z) ?
เจนซี (Gen Z) คือกลุ่มคนที่เกิดในช่วงปี 1997-2012 (11-26 ปี) ไม่ได้เป็นกลุ่มวัยรุ่นอย่างที่เราเข้าใจกันเพียงอย่างเดียวในทุกวันนี้ โดยสามารถแบ่ง Gen Z ออกได้เป็น 4 ช่วง ดังนี้
Teenager (11-18 ปี) — กลุ่มเด็กวัยรุ่น มัธยม
Explorer (18-22 ปี) — เริ่มโต เข้าเรียนมหาลัย ใช้ชีวิตได้อย่างอิสระ
First Jobber (22-24 ปี) — เข้าวัยทำงาน เข้าสู่ชีวิตจริง เริ่มต้นได้ใช้ชีวิตกับความกดดันอย่างแท้จริง
Senior (24-26 ปี) — มีความรับผิดชอบสูงขึ้น มีประสบการณ์ในการทำงานและชีวิตมากขึ้น
ทั้งนี้ที่มาของการจัดช่วงของ เจนซี ในบทความนี้อ้างอิงจาก Marketing 5.0 สามารถใช้เกณฑ์อื่น ๆ ในการจัดช่วงได้เช่นกัน
ทำความเข้าใจภาพกว้างของ Gen Z
ทุกปฐมบทต้องมีจุดเริ่มต้น เจนซี ก็เช่นเดียวกันที่มีจุดเริ่มต้นที่หล่อหลอมให้คนเจนนี้มีพฤติกรรม แนวคิด ทัศนคติ และสิ่งมุ่งหวังที่แตกต่างไปจากเจนอื่น ๆ โดย Insight Gen Z 2024 ในแง่ของบริบทภาพรวมสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ยุคดังนี้
1st era: Subprime > Financial Mindset x New Economy
ยุคแห่งความย่ำแย่เศรษฐกิจ เจนซี เกิดมาพร้อมกับวิกฤตทางเศรษฐกิจทางการเงินมากมายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ วิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ ความก้าวหน้าของเศรษฐกิจประเทศอื่น ๆ เช่น จีนที่เติบโตอย่างมากจนกดทับประเทศอื่น ๆ ทำให้คนเจนนี้รู้สึกว่า ‘เกิดมาก็จนแล้ว’ ต้องดิ้นรนมากกว่าเพื่อถีบให้ตัวเองมีชีวิตที่ดีขึ้น
2nd era: Climate > ESG x Social Activist x Political Branding
ยุคที่สภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมถูกส่งต่อมาในรูปแบบของมือสอง ปฎิเสธไม่ได้เลยจริง ๆ ว่าคนเจนนี้เกิดมาช่วงเวลาที่สิ่งแวดล้อม สภาพอากาศย่ำแย่ เพราะถูกคนเจนก่อนหน้าใช้ทรัพยากรโลกแบบไม่ระมัดระวัง ปัญหาที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ โลกร้อน ฝุ่น PM2.5 ฯลฯ
ส่งผลให้ เจนซี ใส่ใจในสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มองหาแบรนด์หรือสินค้าที่ตอบโจทย์ในเรื่องความยั่งยืน
3rd: Always On > Globalization x Diversity x Subscription
ยุคที่ลืมตาตื่นมาพร้อมใช้งานกับอินเทอร์เน็ต คนเจนนี้เกิดมาพร้อมกับอินเทอร์เน็ต แค่ลืมตาตื่นมาบนโลกนี้ 3G ก็เกิดมาพร้อมกับคนเจนนี้ด้วย เรียกได้ว่าพร้อมใช้งานทันที ซึ่งจะแตกต่างจากเจนก่อนนี้ที่จะต้องมานั่งเชื่อมต่อ ใช้เวลาหลายนาทีกว่าจะใช้อินเทอร์เน็ตได้
ทำให้ เจนซี สามารถเข้าถึงโลกในหลายแง่มุมและเรียลไทม์มากยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดการหยิบยืมวัฒนธรรมและสร้างเป็นเทรนด์ต่าง ๆ เกิดขึ้นมาใหม่อยู่ตลอด
4th era: Covid > New Social Media
ยุคโควิด ตอนปี 2563 โควิดเข้าประเทศไทยมาเป็นครั้งแรก ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในหลากหลายด้านกับ เจนซี เช่น เด็กต้องเรียนออนไลน์ ไม่ได้เจอเพื่อน เข้ามหาลัยครั้งแรกในยุคโควิด เด็กจบใหม่หางานยากในช่วงเวลานั้น
ซึ่งยุคสมัยทั้ง 4 ยุคนี้ที่คนเจนซีต้องเผชิญ ก่อให้เกิดการหล่อหลอมทางพฤติกรรม แนวคิด ทัศนคติ และสิ่งที่มุ่งหวังต่าง ๆ มากมายที่ไม่เหมือนกับคนเจนอื่น ๆ โดย Insight ของ Gen Z มีดังต่อไปนี้
#1 Insight Gen Z: GenSubscription อยากมีแต่ไม่อยากเป็นหนี้
สืบเนื่องมาจาก เจนซี เกิดในช่วงที่มีวิกฤตทางการเงิน เผชิญหน้ากับปัญหาด้านเศรษฐดิจต่าง ๆ จึงทำให้คนเจนนี้รู้สึกว่า ‘เกิดมาก็จนแล้ว’ ราคาบ้านที่แพงขึ้นเรื่อย ๆ ข้าวของแพง ยิ่งเห็นพ่อแม่ของตัวเองต้องติดขัดทางการเงินในช่วงวิกฤตที่ผ่านมา ทำให้พวกเขารู้สึกว่าความรวยมันชั่งยากซะเหลือเกิน
เจนซีจึงไม่อยากจะมีภาระทางการเงิน ไม่อยากเป็นหนี้ เพราะแค่เอาตัวเองให้รอดก่อนก็เหนื่อยแล้ว ดังนั้น สิ่งที่พวกเขาต้องการคือ
ต้องการเข้าถึง แต่ไม่ต้องการครอบครอง
และก่อให้เกิด Business Model ใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย เช่น ธุรกิจ Subscription ของ AIS ที่จ่ายค่าสมัครสมาชิกต่อเดือนเพื่อเปลี่ยน iPhone เครื่องใหม่ หรือบริการของ Spotify, Netflix, Grab, Uber ที่เกิดเติบโตได้ดีกับคนเจนนี้
#2 Insight Gen Z: วัยรุ่นสร้างตัว ฉลาดการทางเงิน
ถึงแม้ว่า เจนซี จะเกิดและเติบโตมาในช่วงเวลาที่ยากลำบากทางเศรษฐกิจ ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะย่อท้ออุปสรรคนั้น ความลำบากก่อให้เกิดความแข็งแกรง เสริมภูมิความฉลาดทางการเงินให้เจนซีได้สูง และสร้างทัศนคติทางการเงินที่แตกต่างจากเจนอื่น ๆ
เจนซี มีการวางแผนทางการเงินที่ดี มีเป้าหมายเป็นขั้นเป็นตอน
โดยเราจะเห็นได้จากหนังสือ หรือรูปแบบสื่อ คอนเทนต์ต่าง ๆ เช่น #วัยรุ่นเงินสร้างตัว #เก็บเงินแสนแรก #เก็บล้านแรก ดังนั้น ถ้าแบรนด์ช่วยให้พวกเขาบรรลุเป้าหมายทางการเงินได้ รับรองได้ว่า เจนซี จะอยู่กับแบรนด์ของคุณไปอีกนาน
นอกจากนี้ เจนซี ยังทำให้เกิดโมเดลซื้อก่อนค่อยจ่ายทีหลัง BNPL (Buy Now Pay Later) คือ การผ่อนสินค้าได้แม้ไม่มีเครดิตทางการเงิน ก็สามารถยืมเงินไปใช้จ่ายก่อนได้ ยกตัวอย่าง เช่น แอปฯ ThisShop , SPayLater ของ Shopee และ เจนซี ทำให้เกิดโมเดลการกู้เงินใหม่ ๆ เช่น YourFirstLoanEver ชวนเจนซีมาลองกู้เงินครั้งแรก
VIDEO
จะเห็นได้ว่าการปรับตัวเข้าหาเจนซี ธุรกิจ โดยเฉพาะกับด้านการเงินต้องปรับตัวด้วยการสร้าง Positive sentiment กับคน GenZ ซึ่งจะช่วยดึงคนกลุ่มนี้เป็นลูกค้าของธุรกิจนานขึ้นเอง
ที่ธนาคารให้กู้เงินซื้อบัตรคอนเสิร์ต เป็นความชอบเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งธนาคารมองเห็นและส่งมอบข้อเสนอการกู้เงินให้เจนซีหันมาใช้บริการของธนาคาร เพราะคนเจนนี้ไม่รู้ว่าจะเข้าธนาคารไปทำไม เพื่อสะสมข้อมูล และสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า
#3 Insight Gen Z: หาเงินเก่ง
นอกจาก เจนซี จะใช้เงินเป็นแล้วยังหาเงินเก่งอีกด้วย คนเจนนี้มีวิธีการและช่องทางการหาเงินที่มากมาย พวกเขาสามารถหาเงินได้ง่าย ๆ โดยการเปลี่ยนความชอบ เป้าหมายของตัวเองให้เป็นเม็ดเงิน ซึ่งวิธีหาเงินของ Gen Z มีหลัก ๆ 3 วิธี ดังนี้
Part-time — ทำงาน Part-time
Passion — หาเงินจาก Passion ที่ตัวเองมี
Passive Income — ต่อยอดและสร้างเป็น Passive income
#4 Insight Gen Z: ให้ความสำคัญกับชีวิตมหาลัยน้อยลง มุ่งเน้น Digital literacy
เมื่อพวกเขาหาเงินเก่งแล้ว รู้วิธีทำเงิน ดังนั้น การเรียนมหาวิทยาลัยจึงอาจไม่ตอบโจทย์สำหรับชาว เจนซี ซะเท่าไหร่ เพราะมองว่า เมื่อเรียนจบไปแล้ว เอามาทำอะไรไม่ค่อยได้ หรือสิ่งที่เรียนมา มันไม่สามารถตอบโจทย์กับปัจจุบันได้ ความรู้มันหมดอายุแล้ว
พวกเขาจึงให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรียนในมหาลัยน้อยลง แต่ให้ความสำคัญกับ Digital literacy การทำงานออนไลน์ที่หาเงินได้เองมากขึ้น เป็นนายตัวเอง เห็นและสัมผัสเงินได้จริง ๆ
#5 Insight Gen Z: ทนถ้าคุ้ม คุณวุฒิมาก่อนวัยวุฒิ
สำหรับชาว เจนซี ที่ไม่ได้อยากประกอบอาชีพเป็นนายตัวเอง แต่มาเป็นหนุ่มสาวชาวออฟฟิศ พนักงานประจำ สิ่งหนึ่งที่พวกเขามักจะเจอคือประโยคที่ว่า ‘เด็กสมัยนี้ไม่อดทน’ แล้วคำถามถัดมาที่เกิดขึ้นในหัวของเจนซีคือ ‘แล้วทำไมต้องทน ในเมื่อเลือกได้? ‘
เพราะขั้นตอนในการหางานในปัจจุบันนั้นง่ายมาก แค่เปิดโซเซียลมีเดียก็เห็นสื่อรับสมัครงานมากมายเต็มไปหมด ตัวเลือกของ เจนซี นั้นมีมาก แต่สิ่งที่ทำให้พวกเขาทน คือ
ทนถ้าคุ้ม
ชาวเจนซีจะยอมทนอยู่ยาวก็ต่อเมื่อพวกเขามองว่ามันคุ้มค่า เห็นอนาคต มีความมั่นคงทางการเงิน มีสวัสดิการ และประกันสุขภาพที่ดีนั่นเอง ในทางการตลาดเองก็เช่นกัน เราต้องหาทางให้ได้ว่าแล้วทำไมเขาถึงอยากทน อยากเลือก อยากอยู่กับแบรนด์เราด้วยในเมื่อมีทางเลือกให้พวกเขามากมาย
คุณวุฒิมาก่อนวัยวุฒิ
มากไปกว่านั้น เจนซี ยังให้ความสำคัญกับความคิดมากกว่าประสบการณ์ตามอายุ อีกด้วย
#6 Insight Gen Z: Teenpreneur รวยไววัยน้อย
เจนซี มีความคิดริเริ่มในการสร้างเส้นทางอาชีพให้กับตัวเอง มีช่องทางการหารายได้ที่หลากหลายบนอินเตอร์เน็ต ทำให้เจนซีหลาย ๆ ประสบความสำเร็จ จับเงินก้อนได้ตั้งแต่อายุยังน้อย ไม่ว่าจะเป็นการทำอาชีพแม่ค้าออนไลน์, Content creator, Influencer, TikToker, Youtuber และ Affiliate Marketing เป็นหนึ่งในเครื่องมือหารายได้ยอดนิยมของคนเจนนี้
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดสิ่งเราเรียกได้อีกอย่างว่า Creator Economy เศรษฐกิจจากนักสร้างสรรค์ และสิ่งนี้ก็ก่อให้เกิด
Creator — นักสร้างสรรค์คอนเทนต์
Community — ชุนชม
Collaboration — การร่วมมือ
Commercialization — ก่อให้เกิดธุรกิจ
นักสร้างสรรค์คอนเทนต์ ส่วนใหญ่เป็นคน เจนซี ที่มีแพชชั่นและทำในสิ่งที่ชอบ และได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งแกร่งจากกลุ่ม community ที่ชื่นชอบในสิ่งเดียวกัน ธุรกิจจึงต้องหาแนวทางร่วมงานกับ creator ที่มีกลุ่ม community คุณภาพ เพื่อนำไปสู่การต่อยอดธุรกิจ commercialization
คำแนะนำ อย่างนึงคือ อย่าเลือกที่ครีเอเตอร์เป็นตัวตั้ง ให้เลือกที่คอมมูนิตี้ อยากได้คอมมูนิตี้แบบไหน ให้เลือกครีเอเตอร์นั้น ๆ
เราจะเห็นได้ว่า เจนซี มีวิธีการหาเงินที่เก่ง พวกเขาเรียนรู้เพื่อที่จะไปนำต่อยอดหารายได้ หรือคุณหนุ่ย การตลาดวันละตอน ได้เรียกเป็นคำจำกัดชาวเจนซีว่า
Digital ปวช เรียนออนไลน์ไปทำกิน
ดังนั้น ท่านใดที่ทำคอร์สสอนออนไลน์ต่าง ๆ ควรมุ่งไปที่ผลประโยชน์แนวทางการหาเงินที่พวกเขาพึงจะได้ เพื่อเป็นสิ่งจูงใจให้กับพวกเขา
#7 Insight Gen Z: Learn & Search on TikTok
เจนซี ใช้ TikTok เป็นแพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่ดี แถมยังใช้เป็น search engine ค้นหาสิ่งที่อยากรู้ใน TikTok เปรียบเสมือนการท่องโลกกว้างที่ช่วยเปิดโลกในทุกแง่มุมอีกด้วย
#8 Insight Gen Z: Finfluencer & Psychoinfluencer
ชาวเจนซีก่อให้เกิดคำเรียก Influencer ใหม่ ๆ โดยเฉพาะ เช่น Finfluencer อินฟลูด้านทางเงิน เพราะเจนซีมีหลักการใช้เงินที่ฉลาดหลักแหลม เป็นขั้นตอน พวกเขาหาเงินเก่ง ดังนั้นอินฟลูด้านการเงินจึงได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ทางการตลาดวันละตอนเองก็ได้ทำ Research Insight เกี่ยวกับทางลงทุน การออมเงินไว้เช่นกัน ท่านใดที่อยากอ่านเพิ่มเติม สามารถคลิกได้ที่บทความด้านล่างนี้ได้เลยค่ะ
และ Psychoinfluencer อินฟลูด้านจิตวิทยา คอนเทนต์จิตวิทยาก็ได้รับความนิยมด้วยเช่นกัน เนื่องจาก ภาวะซึมเศร้าเป็นปัญหาใหญ่ของเจนซี ที่ชอบเปรียบเทียบ และตั้งคำถามกับตัวเองตลอดเวลา พวกเขาไม่ได้เปรียบเทียบตัวเองกับคนรอบข้าง เพื่อน คนข้างบ้านเพียงอย่างเดียว แต่พวกเขาเปรียบเทียบตัวเองกับคนทั้งโลก
#9 Insight Gen Z: Internetgenetation ใช้ชีวิตอิงเน็ต โพสต์ให้ไม่คิด
ในปัจจุบันชาว เจนซี ใช้อินเทอร์เน็ต 9 ชั่วโมงต่อวัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ค้นหาข้อมูล ตามข่าวสาร ดูหนัง เสพสื่อบันเทิง หรือแม้กระทั่งการมีปฎิสัมพันธ์กับเพื่อน พ่อแม่ คนรัก หรือบุคคลที่สามอื่น ๆ เพราะพวกเขาเกิดมาพร้อมกับอินเทอร์เน็ตที่สามารถเข้าถึงได้ตลอด
ทั้งนี้ พวกเขายังให้ความสำคัญกับ Digital Footprint อีกด้วย เพราะพวกเขารู้ว่าการกระทำที่พวกเขาทำลงไปบนอินเทอร์เน็ตมันสามารถย้อนกลับมาย้ำเตือนพวกเขาได้ตลอด ดังนั้น เจนซี จึงมีธีการปกป้องความเป็นส่วนตัว (Privacy) ของตัวเองที่แตกต่างจากเจนอื่น ๆ โดยการ
โพสต์ให้ไม่คิด (Salted Data)
ซึ่งจะไม่เหมือนกับเจนอื่น ๆ ที่คิดก่อนโพสต์ (Secure Data) แม้ เจนซี จะนิยมใช้เชียลมีเดีย เพื่อเป็นพื้นที่ในการถ่ายทอดความรู้สึกและเหตุการณ์ในชีวิต แต่พวกเขากลับไม่ได้ถ่ายทอดทุกอย่างออกมาตรง ๆ แต่จะใช้วิธีโพสต์ให้ไม่คิด โดยใช้สื่อประเภทต่างๆ เป็นตัวกลางในการสื่อสาร เช่น เนื้อเพลง คำคม หรือเน้นการโพส์ตเยอะๆ เพื่อเจือจางข้อมูลไม่ให้คนอื่นรู้ว่าเราคิดหรือเป็นอะไรอยู่ เช่น โพสต์เพลงเศร้า เพื่อสื่อถึงเรื่องความสัมพันธ์กับแฟน
จึงก่อให้เกิด Privacy Social Media ใหม่ ๆ มากมาย เช่น Snapchat, Stories, Bereal เป็นต้น นักการตลาดที่อยากจะเจาะกลุ่มเจนซี ช่องทางเหล่านี้ก็เป็นแพลตฟอร์มที่ไม่ควรพลาดที่จะเข้าไปทำความรู้จักค่ะ
#10 Insight Gen Z: GamesBecomeNewSocial เล่นเกมเพื่อคุยกับเพื่อน
เจนอื่นอาจเล่นเกมเพื่อเก็บ Level แต่เจนซี เล่นเกมส์ไม่ใช่แค่เพื่อความบันเทิง แต่เป็นการเชื่อมต่อกับโลก เน้นการพูดคุยและสร้าง community ผ่านการเล่นเกมส์ เล่นเกมเพื่อสร้างโลกไว้คุยกับเพื่อน เช่น Roblox และ Animal Crossing เป็นต้น
#11 Insight Gen Z: Armchair Activist เรียกร้องและใส่ใจในประเด็นสำคัญ
เจนซี ในวันนี้เรียกได้ว่าเป็นนักเรียกร้องและใส่ใจในประเด็นสำคัญทางสัมคมต่าง ๆ พวกเขาพร้อมที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมและเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวทางสังคม
ใช้โซเชียลเรียกร้องให้สังคมสนใจประเด็นสำคัญต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
เช่น เหตุการณ์ม็อบที่บ้านเรา ในโซเซียลมิเดียเราจะเห็น #ม็อบ(วัน)(เดือน) ขึ้นเทรนด์ในแพลตฟอร์มต่าง ๆ เป็นอันดับแรกอยู่เสมอ หรือแม้แต่ในกระแสระดับโลก เช่น #Blacklivematter ที่เป็นประเด็นที่คนทั้งโลกให้คนสนใจ
เมื่อเราเข้าใจถึงรากฐานและ Insight ของชาวเจนซีกันแล้ว สิ่งต่อไปที่ทุกคนน่าจะคาดหวังกันก็คือ การตลาด กับ เจนซี เราสามารถทำอย่างไรได้บ้าง? แน่นอนค่ะว่า เราจะไม่ทำให้ทุกคนผิดหวัง จิ้มบทความด้านล่างแล้วไปตะลุยการตลาดกับชาวเจนซีกันต่อได้เลยค่ะ
สรุป Insight Gen Z 2024 เจาะลึกเจนซีในทุกแง่มุม พร้อมสรุปเข้าใจง่าย
เราจะเห็นได้เลยว่า เจนซี (Gen Z) ไม่ได้เป็นเพียงกลุ่มเด็กวัยรุ่นอย่างที่เราเข้าใจกันเพียงอย่างเดียว แต่เป็นกลุ่มคนที่มีความคิด ทัศนคติ ความเชื่อ พฤติกรรมที่แตกต่างไปจากเจนอื่น ๆ เนื่องด้วยสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ที่หล่อหลอมให้พวกเขาเป็น Gen Z ในทุกวันนี้
โดยสรุปแล้ว Insight Gen Z 2024 มีดังนี้
GenSubscription อยากมีแต่ไม่อยากเป็นหนี้
วัยรุ่นสร้างตัว ฉลาดการทางเงิน
หาเงินเก่ง
ให้ความสำคัญกับชีวิตมหาลัยน้อยลง มุ่งเน้น Digital literacy
Teenpreneur รวยไววัยน้อย
ทนถ้าคุ้ม คุณวุฒิมาก่อนวัยวุฒิ
Learn & Search on TikTok
Finfluencer & Psychoinfluencer
Internetgenetation ใช้ชีวิตอิงเน็ต โพสต์ให้ไม่คิด
GamesBecomeNewSocial เล่นเกมเพื่อคุยกับเพื่อน
Armchair Activist เรียกร้องและใส่ใจในประเด็นสำคัญ
หวังว่าตัวอย่างเหล่านี้จะเป็นประโยชน์และสร้างไอเดียใหม่ ๆ ต่อผู้อ่านทุกคนนะคะ แล้วพบกันใหม่บทความหน้าค่ะ
สำหรับใครที่อยากอ่านบทความเกี่ยวกับการตลาดเพิ่มเติม หรือข่าวสารการตลาด สามารถติดตามได้จาก เพจการตลาดวันละตอน รวมไปถึงเว็บไซต์ Twitter Instagram YouTube และ Blockdit ของการตลาดวันละตอนด้วยนะคะ
บทความที่แนะนำให้อ่านต่อ