การตลาด Burger King ขอ No Choice ไม่มีเมนูให้เลือกก่อนวันเลือกตั้ง
สวัสดีครับเพื่อน ๆ นักการตลาดและผู้อ่านทุกคน ในวันนี้ผมจะพาทุกคนไปดูแคมเปญการตลาด ที่ดึงเอาประเด็นการเลือกตั้งมาเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบกิจกรรมได้อย่างน่าสนใจ นั่นก็คือ การตลาด Burger King ที่มาในแคมเปญ ‘No Choice’ แต่ก่อนอื่นผมจะขอพาทุกคนไปทำความรู้จักกับทฤษฎีหรือแนวคิด Costly Signaling Bias ซึ่งเป็นเหมือน Big Idea หลักของแคมเปญนี้เลยก็ว่าได้ ถ้าพร้อมแล้วติดตามไปพร้อมกันได้เลยครับ Costly Signaling Bias แนวคิดที่เมื่อต้องการบางสิ่ง ก็ต้องยอมเสียสละบางสิ่ง ทฤษฎีการส่งสัญญาณที่มีต้นทุนสูง หรือที่รู้จักกันในชื่อ Costly Signaling Bias เป็นแนวคิดในวงการจิตวิทยาและเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ที่อธิบายว่า เมื่อมนุษย์หรือองค์กรต้องการแสดงความจริงใจหรือความสามารถ พวกเขามักจะเลือกวิธีการที่มีต้นทุนสูงหรือมีความเสี่ยง เพื่อให้ผู้อื่นเชื่อถือในความตั้งใจนั้น ลองนึกภาพนะครับว่า มีบริษัทประกาศจะบริจาคเงินจำนวนมากเพื่อการกุศล นี่ก็คือตัวอย่างที่เหมือนเป็นการส่งสัญญาณที่มีต้นทุนสูง การบริจาคเงินจำนวนมากไม่ใช่เรื่องง่าย และทำให้บริษัทต้องสูญเสียทรัพยากรจริงค่อนข้างมาก แต่การกระทำนี้ส่งข้อความที่ชัดเจนว่าบริษัทต้องการช่วยเหลือสังคมอย่างจริงจัง ถ้าในมุมของการตลาดมันก็คือการทำ CSR (Corporate Social Responsibility) ในองค์กรธุรกิจนั่นเองครับ ซึ่งแก่นสำคัญของทฤษฎีนี้คือ การกระทำหรือกิจกรรมที่มีต้นทุนสูงจะสร้างความน่าเชื่อถือได้มากกว่าคำพูดหรือการกระทำที่ไม่ต้องลงทุนอะไรเลย เพราะคนทั่วไปมักจะคิดว่า ถ้าใครสักคนยอมเสียสละอะไรบางอย่างเพื่อส่งสัญญาณว่า เขาคนนั้นคงจริงจังกับเรื่องนี้จริง ๆ อย่างไรก็ตาม การแสดงการเสียสละบางอย่างที่มีต้นทุนสูงไม่ได้รับประกันความจริงใจเสมอไป […]