ถ้าเราพูดถึง “ชาไทย” ภาพที่ลอยมาในหัวก็คงเป็นชาเย็นสีส้มเข้ม หวานมัน หอมกลิ่นนมข้นหวาน และเสิร์ฟมาในถุงหูหิ้ว หรือแก้วพลาสติกจากร้านข้างทางใช่ไหมคะ? แต่เดี๋ยวก่อนค่ะ! ลองคิดใหม่ เพราะตอนนี้ชาไทยกำลังพัฒนาไปอีกขั้น กลายเป็น ชาไทย Specialty ที่ให้ความสำคัญกับแหล่งที่มา กระบวนการผลิต และรสชาติที่ลึกซึ้งขึ้น เหมือนกับกาแฟ Specialty ที่หลายคนคุ้นเคย และที่สำคัญ… คนยอมจ่ายแพงขึ้นเพื่อคุณภาพและประสบการณ์ที่ดีกว่าเดิมด้วย
ล่าสุด LINE MAN เปิดเผยข้อมูลว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2022-2024) ร้านชาไทย Specialty เปิดใหม่พุ่งขึ้น 205% ขณะที่ยอดสั่งเดลิเวอรีเติบโต 81% จนแตะ 400,000 แก้ว ใน 1 ปี (2023-2024) นี่ไม่ใช่แค่เครื่องดื่มธรรมดาอีกต่อไป แต่มันกำลังจะเป็น “อุตสาหกรรม” ที่แบรนด์และนักการตลาดต้องหันมาสนใจค่ะ
แต่คำถามคือ ทำไมชาไทยถึงเปลี่ยนไปขนาดนี้? อะไรคือแรงผลักดัน? และโอกาสสำหรับนักการตลาดอยู่ตรงไหน? เรามาเจาะลึกกันค่ะ
เมื่อคนเริ่มจริงจังกับเครื่องดื่มมากขึ้น… ชาไทยก็ไม่ธรรมดาอีกต่อไป
ลองย้อนกลับไปนึกถึงตลาดกาแฟ Specialty สักหน่อย นี่คือเครื่องดื่มที่เคยเป็นของคนเฉพาะกลุ่ม แต่ปัจจุบันกลับแพร่หลายไปทั่วโลก ผู้บริโภคเริ่มเลือกกาแฟไม่ใช่แค่ “ขอเข้ม ๆ” หรือ “หวานน้อย” แต่เลือกไปถึงแหล่งปลูก กระบวนการคั่ว วิธีสกัด ไปจนถึงโน้ตรสชาติ
ชาไทยกำลังเดินตามเส้นทางเดียวกันค่ะ ผู้บริโภคยุคใหม่ไม่ได้ต้องการแค่ชาเย็นสีส้มที่หวานมันอีกต่อไป แต่พวกเขาเริ่มมองหาชาไทยที่มีรสชาติซับซ้อน มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว และเลือกแหล่งที่มาของใบชาได้
โดยเปลี่ยนจาก “ชาเย็นใส่นม” เป็น “ชาไทย Specialty” ที่เลือกแหล่งปลูกและ Taste Notes ได้เหมือนกาแฟ เช่น
ชาเชียงราย : มีกลิ่นอายดอกไม้และเบอร์รี่
ชาแม่ฮ่องสอน : มีโน้ตของส้มและเนยสด
ชาปัตตานี : มีกลิ่นหอมของเนยถั่วและลูกสน
พูดง่าย ๆ คือชาไทยไม่ได้ขายแค่ “ความหอมมัน” อีกต่อไป แต่ขาย “Story” และ “Experience” ด้วย
ทำไมชาไทย Specialty ถึงโตไว? เพราะโอกาสมันอยู่ตรงนี้!
นอกจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปแล้ว ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ช่วยดันให้ชาไทย Specialty กลายเป็นธุรกิจที่มีอนาคตค่ะ
1. การพัฒนาอุตสาหกรรมชาไทย
ไทยเป็นตลาดค้าชาอันดับ 7 ของโลก และมีแหล่งปลูกที่มีศักยภาพไม่แพ้จีนหรือญี่ปุ่นเลยค่ะ ชาไทยได้รับความต้องการสูงทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยพันธุ์ชาหลักที่นิยมปลูก ได้แก่ ชาจีน (Chinese Tea) และชาอัสสัม (Assam Tea) ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญของชาไทยสีส้มที่เราคุ้นเคย
ซึ่งเมื่อเกษตรกรพัฒนาใบชาให้มีคุณภาพสูงขึ้น โรงคั่วและร้านชาก็เริ่มให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์เมนูใหม่ ๆ ที่แตกต่างจากชาไทยสูตรดั้งเดิม จึงทำให้ตลาดชาไทยก้าวไปสู่ระดับที่พรีเมียมและหลากหลายมากขึ้น
2. กระแสจากอินฟลูเอนเซอร์และ Soft Power
หนึ่งในตัวเร่งที่ชัดที่สุดคือ “ชาไทยลิซ่า ” ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง ลิซ่า BLACKPINK กับ Erewhon (ซูเปอร์มาร์เก็ตหรูในอเมริกา) เมนูนี้ทำให้คนทั่วโลกหันมาสนใจชาไทยมากขึ้น และไม่น่าแปลกใจที่ร้านชาในไทยหลายร้านรีบออกเมนู “ชาไทยลิซ่า” ตามมา
นี่เป็นตัวอย่างที่ชัดมาก ๆ ว่า Soft Power มีผลต่อการเติบโตของตลาดเครื่องดื่มขนาดไหน และสำหรับแบรนด์ชาไทยที่ต้องการโกอินเตอร์ จังหวะนี้คือโอกาสทองค่ะ!
3. เดลิเวอรีและพฤติกรรมคนรุ่นใหม่
จากข้อมูลของ LINE MAN พบว่า กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางของชาไทย Specialty (คิดเป็น 46% ของทั้งประเทศ) ตามมาด้วยนนทบุรีและชลบุรี เทรนด์นี้สะท้อนว่า ชาไทยกำลังกลายเป็นไลฟ์สไตล์ของคนเมือง และการเติบโตของแพลตฟอร์มเดลิเวอรียิ่งทำให้ชาไทย Specialty เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
แล้วนักการตลาดจะใช้โอกาสนี้ยังไง?
1. Story Matters สร้าง Storytelling ที่แตกต่างจากชาไทยทั่วไป
ชาไทย Specialty ไม่ใช่แค่เรื่องของรสชาติ แต่มันคือเรื่องราว ตั้งแต่แหล่งที่ปลูก วิธีการชง ไปจนถึงประสบการณ์ที่ลูกค้าจะได้รับ การเล่าเรื่องที่ดีจะทำให้ชาไทยมีมูลค่าเพิ่มขึ้น
ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณขายชาไทยจากเชียงราย อย่าแค่บอกว่า “ชาเชียงราย” แต่ลองเล่าว่า ชานี้ปลูกจากฟาร์มบนดอยสูงกว่า 1,200 เมตร เติบโตในอากาศเย็น มีรสชาติและกลิ่นหอมคล้ายเบอร์รี่ วิธีคั่วใบชาใช้เทคนิคเฉพาะของเกษตรกรท้องถิ่น (อันนี้แค่สมมติให้เห็นภาพนะคะ) แค่นี้ก็ดูพรีเมียมขึ้นมาทันที
2. Influence Wins ใช้พลังของ KOLs และอินฟลูเอนเซอร์ให้เป็นประโยชน์
“ชาไทยลิซ่า” เป็นกรณีศึกษาที่ดีว่าการตลาดแบบนี้ได้ผล นักการตลาดที่ฉลาดจะมองหาอินฟลูเอนเซอร์ที่มีแนวทางตรงกับแบรนด์ แล้วใช้พวกเขาเป็นตัวช่วยผลักดันชาไทย Specialty ให้ดังและโดดเด่นขึ้น
3. Innovate & Expand พัฒนาเมนูใหม่ เพิ่มโอกาสในการขาย
ชาไทย Specialty ไม่จำเป็นต้องอยู่แค่ในรูปแบบเดิม ๆ นักการตลาดสามารถพัฒนาเมนูให้มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น Cold Brew Thai Tea, Sparkling Thai Tea หรือ Tea Blends ตามฤดูกาล
AI image generated by Shutterstock (Prompt : A cinematic composition of a small group of well-dressed friends indulging in seasonal Tea Blends at an exclusive boutique café. They sit around a polished oak table, engaged in relaxed conversation, their teas served in artisanal glassware with elegant garnishes. The ambiance is warm yet refined, with soft jazz playing in the background, intricate latte art on display, and a selection of premium tea leaves showcased on nearby shelves –ar 16:9)
ซึ่งไม่เพียงแต่เพิ่มตัวเลือกให้กับลูกค้า แต่ยังช่วยสร้างความแตกต่างและเสริมภาพลักษณ์ ให้แบรนด์ดูน่าสนใจยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมชาไทย Specialty ให้เติบโตและมีชีวิตชีวามากขึ้นด้วย
4. Delivery Power ใช้เดลิเวอรีให้เป็นโอกาสทางธุรกิจ
ในเมื่อคนไทยสั่งชาไทย Specialty ผ่านเดลิเวอรีเพิ่มขึ้นทุกปี นักการตลาดควรใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์ม เหล่านี้ เช่น การทำโปรโมชั่นร่วมกับ LINE MAN เพื่อให้แบรนด์เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น และทำให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงเราได้สะดวกขึ้น
สรุป ชาไทย Specialty โต 205% ใน 3 ปี จากร้านข้างทางสู่ตลาดพรีเมียม
สุดท้ายแล้ว โอปอมองว่า ชาไทย Specialty อาจไม่ใช่แค่เทรนด์ แต่มันคือโอกาสที่สามารถพาอุตสาหกรรมชาไทยไปไกลกว่าที่เคยเป็น เราอาจเคยมองว่าชาไทยเป็นแค่เครื่องดื่มข้างถนนหรือเป็นเอกลักษณ์ที่อยู่แค่ในประเทศ แต่จริง ๆ แล้ว สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้มันมากกว่านั้น นี่คือจังหวะที่เราสามารถผลักดันชาไทยให้กลายเป็นสินค้าพรีเมียมในระดับโลก เหมือนที่กาแฟ Specialty เคยทำมาแล้วค่ะ
ในเมื่อเรามีวัตถุดิบที่ดี เรามีวัฒนธรรมชาไทยที่มีเอกลักษณ์ และตอนนี้ เรากำลังมีตลาดที่ตอบรับชาไทยในรูปแบบใหม่ แต่คำถามคือ เราจะใช้โอกาสนี้อย่างไร? ถ้าเราสามารถสร้างแบรนด์ที่แข็งแรง ดึงเรื่องราวของชาไทยออกมาให้คนทั่วโลกได้สัมผัส และเชื่อมโยงกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่กำลังมองหาประสบการณ์ใหม่ ๆ ได้จริง ชาไทย Specialty อาจไม่ใช่แค่เครื่องดื่มที่อยู่ในร้านข้างทางอีกต่อไป แต่มันจะเป็น Soft Power ที่ขยายไปทั่วโลก เพียงแค่เราต้องกล้าผลักดันให้มันไปไกลกว่าที่เคย
หรือใครที่อยากเป็นผู้เล่นใหม่ในตลาด Specialty นี่ก็อาจเป็นจังหวะที่ดีในการลองสร้างอะไรใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นโกโก้ในรูปแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน หรือแม้แต่ Specialty Drink อื่น ๆ ที่ยังไม่มีใครทำ เพราะสุดท้ายแล้ว โอกาสมักเป็นของคนที่กล้าคิด กล้าลงมือทำ หวังว่าทุกคนจะเห็นโอกาสนี้เช่นกันนะคะ แล้วพบกันใหม่บทความหน้าค่ะ :0)
อ่านบทความเพิ่มเติมที่นี่