เชื่อว่าหลายคนคงจะรู้จักโรงแรมในเครือของ Dusit Hotels & Resorts อย่าง Dusit Thani โรงแรมและรีสอร์ตระดับบนที่ให้บริการแบบครบวงจร มีความหรูหรา และโดดเด่นด้วยการสะท้อนเอกลักษณ์ความเป็นไทยผ่านสถาปัตยกรรมและการบริการ วันนี้ผมเลยอยากจะพาทุกคนไปดู การตลาด Dusit Thani ในการขยายธุรกิจสู่ระดับสากลในต่างประเทศ
ภาพรวมของ Dusit Thani ในตลาดโลก
Dusit Thani มีสาขามากมายในต่างประเทศ ครอบคลุมหลายภูมิภาค เช่น เอเชีย ยุโรป ตะวันออกกลาง และอเมริกา ทั้งนี้มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั่วโลก โดยเน้นการเปิดสาขาใหม่ในเมืองท่องเที่ยวสำคัญและเมืองที่มีศักยภาพทางธุรกิจสูง
ดังนั้นจึงนำไปสู่การวางแผนและกลยุทธ์สำหรับตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายในแต่ละพื้น ซึ่งก่อนที่จะไปดูว่า Dusit Thani ใช้กลยุทธ์อะไร ผมจะขอพาทุกคนไปรู้จักกับ กลยุทธ์การตลาดระดับโลก (Global Marketing) ทั้ง 2 แบบ เพื่อที่จะได้เข้าใจและเห็นภาพได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
กลยุทธ์การตลาดระดับโลกมาตรฐานเดียว (Pure global Marketing Strategy)
เป็นกลยุทธ์ที่องค์กรธุรกิจจะใช้มาตรฐานเดียวกันหมด ไม่ว่าธุรกิจจะไปอยู่ในประเทศไหน ตัวอย่างเช่น Apple หรือ Nike ที่จะเห็นเลยว่าทั้งในแง่ของกลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์ (Product) หรือกลยุทธ์การตั้งราคา (Pricing) มีความเป็นมาตรฐานเดียว (Standard) กันในทุกประเทศ
ถ้าสำหรับในธุรกิจโรงแรมและที่พัก ก็คือ Marriott International ที่ใช้กลยุทธ์การตลาดที่เน้นความสม่ำเสมอทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานการบริการ การตกแต่งห้องพัก เพื่อรักษามาตรฐานและคุณภาพการบริการเดียวกันในทุกประเทศ ทำให้ลูกค้ารู้สึกมั่นใจเมื่อเข้าพักที่โรงแรมในเครือ Marriott ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในโลก
ซึ่งจะมีข้อดีในส่วนของความเป็นมาตรฐาน (Standaradization) ทำให้สามารถลดต้นทุน เน้นสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าเพราะเหมือนเป็นการเซตมาตรฐานว่าลูกค้าไปที่ประเทศไหนก็จะได้รับบริการระดับเดียวกัน แต่ก็มีข้อเสียคือ อาจจะไม่สามารถตอบสนองได้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย และไม่มีความเป็นเอกลักษณ์ที่ดึงดูดความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย
จึงนำไปสู่อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่มีความผสมผสานระหว่าง Global และ Local เพื่อชดเชยข้อเสียเปรียบจากการใช้ Standaradization
กลยุทธ์การตลาดผสมผสานตลาดโลกและท้องถิ่น (Global Localization Strategy หรือ Glocalization)
เป็นการประสานกลยุทธ์การตลาด และกลยุทธ์การจัดการเพื่อให้กิจกรรมต่าง ๆ ในตลาดแต่ละประเทศสอดคล้องกันทั่วโลก โดยสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในท้องถิ่น และรักษาความเป็นเอกภาพของบริษัทแม่ได้
ตัวอย่างเช่น
Taj Hotels เครือโรงแรมหรูที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในระดับโลก ซึ่งมีเอกลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของประเทศอินเดีย
แต่เมื่อได้ขยายไปในระดับโลก ก็ได้สร้างโรงแรมที่สะท้อนประวัติศาสตร์ในพื้นที่นั้น ๆ ทั้งในแง่ของสถาปัตยกรรม อาหาร และการบริการ อย่าง TaJj 51 Buckingham Gate Suites & Residenses ที่ประเทศ London ที่มีการตกแต่งสไตล์อังกฤษ หรือแม่แต่กิจกรรมจิบน้ำชายามบ่าย
หรืออีกหนึ่งแบรนด์โรงแรมที่หลายคนต้องรู้จักอย่าง Four Seasons ที่มีการปรับเปลี่ยนบริการและการตกแต่งให้เข้ากับวัฒนธรรมและความต้องการของผู้เข้าพักในแต่ละประเทศ ในขณะเดียวกันก็รักษามาตรฐานและภาพลักษณ์ระดับโลก เช่น การออกแบบโรงแรมที่สะท้อนวัฒนธรรมท้องถิ่น การใช้วัตถุดิบท้องถิ่นในเมนูอาหาร และการจัดกิจกรรมที่สะท้อนประเพณีและวัฒนธรรมของพื้นที่นั้น ๆ
อย่างที่บอกไปข้างต้นว่ากลยุทธ์นี้จะช่วยลดความเสียเปรียบในการใช้ Standaradization เนื่องจากเป็นการผสมผสานความเป็นท้องถิ่นเข้าไปด้วย แต่ก็ยังมีมาตรฐานที่สามารถเชื่อมโยงกันของโรงแรมในเครือแต่ละประเทศได้
นี่เป็นเพียง 2 กลยุทธ์ที่ผมมองว่าหลายโรงแรมระดับ Global ค่อนข้างจะนิยมใช้กันเมื่อทำการขยายตลาดไปสู่ต่างประเทศ และเราพอจะเห็นคร่าว ๆ แล้วว่าการทำการตลาดระดับโลกของ Dusit thani จะเป็นไปในทิศทางไหน ซึ่งผมมองว่ามีการใช้ทั้ง 2 กลยุทธ์นี้ร่วมกันภายใต้แบรนด์ Dusit Thani
Dusit Thani กับเอกลักษณ์ความเป็นไทย และมาตรฐานที่ลูกค้าคาดหวังได้
Dusit Thani รักษาภาพลักษณ์แบรนด์และมาตรฐานบริการที่เป็นเอกลักษณ์เช่นเดียวกันทั่วโลก มีความหรูหราและการบริการที่ดีเลิศที่เป็นมาตรฐานเดียวกันในทุกสาขา และยังสะท้อนอัตลักษณ์ความเป็นไทย ไม่ว่าจะตั้งอยู่ที่ไหน
ซึ่งกลยุทธ์นี่ค่อนข้างจะตรงกับคุณค่า (Value) และอัตลักษณ์ (Identity) ของแบรนด์ที่ใช้ความเป็นไทยในการสะท้อนประสบการณ์ที่หรูหรา ซึ่งช่วยยกระดับให้แบรนด์น่าดึงดูดมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันก็ดึงความเป็นไทยมาใช้ในแง่ของการบริการลูกค้าด้วยความเต็มใจ และบริการด้วยความจริงใจเป็นการตั้งมาตรฐานว่า ถ้าลูกค้ามาใช้บริการโรงแรมในเครือของ Dusit Thani ทั้งในประเทศและต่างประเทศก็จะได้รับประสบการณ์แบบเดียวกัน
Dusit Thani สู่การผสมผสานวัฒนธรรมแบบร่วมสมัย
แน่นอนว่าทางแบรนด์ไม่ได้ใช้เพียงกลยุทธ์เดียวในการขยายตลาดสู่ระดับโลก แต่ยังใช้ Glocalization ที่ผสมผสานวัฒนธรรมเดิมของไทยเข้ากับวัฒนธรรมในท้องถิ่น เพื่อขยายฐานลูกค้าเพิ่มมากขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ก็คือ Dusit Thani Kyoto ที่ประเทศญี่ปุ่น
ซึ่งเป็นมีการผสานเข้ากับวัฒนธรรมของญี่ปุ่น ตั้งแต่ในเรื่องสถาปัตยกรรมที่แสดงออกถึงความเรียบง่ายและวิถีการใช้ชีวิตของคนในพื้นที่
รวมไปถึง สร้างศูนย์กลางของอาหารไทยและประเพณีทางการปรุงอาหารญี่ปุ่น ที่ลูกค้าจะได้สัมผัสกับประสบการณ์รับประทานอาหารที่ยอดเยี่ยมจากวัตถุดิบที่ได้มาจากแหล่งที่มีความยั่งยืนและรักษาอย่างสร้างสรรค์ รวมถึงความรู้ความเชี่ยวชาญทางการปรุงอาหาร
ตัวอย่างเช่น
Chef’s Table แบบอินเทอร์แอกทีฟสุดเอ็กซ์คลูซีฟที่ Kōyō กัน ซึ่งได้รวมเอาสาระสำคัญของชื่อที่หมายถึง “การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล” ในภาษาญี่ปุ่นไว้ในอาหารที่เสิร์ฟ หรือ
Kati ร้านขนมไทยที่มีศิลปะของขนมไทยเป็นเวทีหลัก ด้วยช่างทำขนมที่มีพรสวรรค์และการคัดสรรวัตถุดิบที่ดีที่สุดอย่างพิถีพิถัน โดยได้รับแรงบันดาลใจจากสูตรอาหารไทยดั้งเดิมด้วยวัตถุดิบในท้องถิ่น
เราจะเห็นถึงการผสมผสานของความเป็นไทยและความเป็นญี่ปุ่น แต่ก็ยังคงมีมาตรฐานในการให้บริการนั่นก็คือประสบการณ์ที่มีคุณค่าต่อผู้ที่เข้ามาใช้บริการ นอกจากนี้อีกหนึ่งประเด็นที่ผมมองว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของทั้ง 2 กลยุทธ์นี้ก็คือ การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้า (Customer Experience) รวมถึงการนำ AI มาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าและการพัฒนากลยุทธ์การตลาดที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
สรุป
เราจะเห็นว่า การตลาด Dusit Thani มีการใช้กลยุทธ์การตลาดระดับโลกที่หลากหลายและยืดหยุ่น โดยผสานความเป็นไทยและมาตรฐานสากลเข้าด้วยกัน ทำให้แบรนด์สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศได้อย่างลงตัว
การใช้กลยุทธ์การตลาดระดับโลกที่เป็นมาตรฐานเดียว ช่วยให้ Dusit Thani สามารถรักษาคุณภาพและมาตรฐานการบริการในทุกสาขา ทำให้ลูกค้ามั่นใจและเชื่อมั่นในการบริการของโรงแรมในเครือ ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในโลก
ในขณะเดียวกัน การใช้กลยุทธ์ Global Localization Strategy หรือ Global Localization Strategy ก็ช่วยให้ Dusit Thani สามารถปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมและความต้องการของลูกค้าในแต่ละพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้โรงแรมมีเอกลักษณ์และความน่าสนใจที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ แต่ยังคงรักษามาตรฐานและภาพลักษณ์ของแบรนด์ไว้
ด้วยการผสมผสานกลยุทธ์ทั้งสองนี้ทำให้แบรนด์สามารถสร้างความเชื่อมั่นและความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้อย่างดี และสามารถขยายฐานลูกค้าในระดับสากลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผมมองว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของธุรกิจโรงแรมในการใช้กลยุทธ์การตลาดระดับโลกเพื่อขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศ
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่นี่
https://everydaymarketing.co/trend-insight/10-travel-and-hospitality-trends-2024-from-the-future-100-vml/