ในบทความนี้จะพาทุกคนมาดูหลัก 5P Personal Branding กันว่า 5 องค์ประกอบที่สำคัญสำหรับการสร้าง Personal Branding ต้องให้ความสำคัญกับอะไรกันบ้าง เพราะแน่นอนว่าในโลกของธุรกิจ ใครมีความยูนีค เก่งเฉพาะด้าน มีความแตกต่างโดดเด่นมากกว่าคนอื่น ก็ย่อมได้รับความสนใจ และเป็นการปูทางไปสู่ความสำเร็จได้มากขึ้นแน่นอน
หลัก 5P ที่ประกอบไปด้วย Personal, Pointed, Prioritized, Purposeful และ Profitable จะมีดีเทลอะไรในส่วนต่อไปเราจะพาทุกคนมาดูใจความสำคัญของแต่ละ P กันว่าแต่ละองค์ประกอบจะสามารถช่วยยกระดับแบรนด์ของเราได้ยังไงกันบ้าง ถ้าพร้อมแล้วไม่รอช้า ตามมาอ่านกันต่อค่า
#1 Personal หาความยูนีคเฉพาะตัว
การจะเป็นแบรนด์ที่ทำให้คนจดจำได้ มาเริ่มใน P แรกกันก่อนเลยนั่นก็คือการแสดงความเป็นตัวเองนี่แหละค่ะ แม้จะพูดแล้วดูเหมือนง่าย แต่ในบางครั้งบางทีความเป็นจริงกว่าจะหาตัวตนของตัวเองเจอก็อาจจะใช้เวลากันพอสมควรเลยทีเดียว
ทีนี้สำหรับคนที่เจอจุดเด่นของตัวเองแล้ว ก็สามารถนำมาพัฒนาให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น สื่อสารออกไปให้คนนึกถึงสิ่งนั้นแล้วนึกถึงเราและแบรนด์ของเราได้ในทันที
ยกตัวอย่างง่าย ๆ ถ้าพูดถึงผู้พันไก่ทอด แม้ยังไม่ต้องเอ่ยชื่อแบรนด์ ผู้เขียนก็เชื่อว่าร้อยละ 99.999999% ก็คงจะรู้กันในทันทีอยู่แล้วว่าเรากำลังพูดถึงแบรนด์อะไรกันอยู่ นั่นเพราะภาพจำที่แบรนด์สั่งสมสร้างมาอย่างยาวนาน เอกลักษณ์ที่มากไปกว่าการชูตัวสินค้าและบริการ เพราะใคร ๆ ก็ขายไก่ทอดได้ แต่จะทำยังไงให้แบรนด์ของเรามีความโดดเด่นแตกต่างเพิ่มขึ้นมามากกว่านั่นล่ะค่ะ
ทั้งนี้ตัวอย่างของแบรนด์ KFC ก็เป็นเพียงตัวอย่างของแบรนด์ไก่ทอดที่นำเอกลักษณ์ของเจ้าของแบรนด์อย่างผู้พันแซนเดอส์มาเป็นจุดที่สร้างความโดดเด่นจนคนจดจำได้ ดังนั้นทั้งนี้แต่ละธุรกิจก็ลองค้นหาตัวเองกันดูค่ะว่าอยากจะชูและสื่อสารอะไรขึ้นมา
อาจจะเริ่มจากการดูก่อนก็ได้ว่าเราเก่งอะไร จุดอ่อนจุดแข็งด้านไหนควรชู มีค่านิยมอะไรที่เชื่อมาก ๆ หลงใหลหรือมีแพชชันกับอะไร สิ่งเหล่านี้มันก็อาจจะสามารถนำมาพลิกแพลงเป็นไอเดียต่อยอดไปอีกได้ค่ะ
#2 Pointed จับจุดโฟกัส
มาถึงในส่วนของ P ต่อมานั่นก็คือ Pointed คล้าย ๆ กับข้อแรกคือการที่เราต้องจับจุดโฟกัสให้ชัดเจนนั่นเอง พูดง่าย ๆ ก็คือหาความยูนีคเฉพาะตัวเจอแล้วก็จับจุดและมุ่งมั่นไปเลย ว่าเราต้องการให้คนรู้จักเราในแง่มุมไหนนั่นล่ะค่ะคือการที่เราควรมีจุดโฟกัสที่เรียกว่าเฉพาะเจาะจงลงไปในเวย์นั้น
ทั้งนี้ก็เพื่อให้คนรับรู้ว่าเรามีจุดยืนแบบไหน สิ่งที่ตั้งใจสื่อสารและนำเสนอออกมามันมีคุณค่าอะไร ไม่อย่างนั้นอาจจะกลายเป็นแบรนด์ที่ไม่มีแนวทางที่ชัดเจน ดังนั้นการเน้นความสำคัญในจุดนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญ
กำหนด Target หรือตลาดเฉพาะที่จะลงไปเล่น แล้วก็ฝึกสกิลต่าง ๆ เพื่อให้ตัวเราเป็นผู้เชี่ยวชาญในความเก่งที่เราเลือกโฟกัสนั่นเอง เพราะการที่เรามีจุดมุ่งหมายจะทำให้สิ่งที่เราสื่อสารออกไปมีความชัดเจนแน่ ๆ ไม่มั่วซั่ว และมีความเข้ากับกลุ่มเป้าหมายที่เหมาะสม สร้างความประทับใจในระยะยาวได้มากกว่า
สรุปง่าย ๆ คือควรกําหนดจุดมุ่งหมาย ว่าเราอยากเป็นที่รู้จักในด้านไหนเรื่องอะไร และใครคือกลุ่มเป้าหมายของเรานั่นเอง
#3 Prioritized จัดความสำคัญ
สำหรับใน P ต่อมานะคะ เรื่องของ Prioritized คือเราควรให้ความสำคัญกับมันจริง ๆ หรือพูดง่าย ๆ คือการลงทุนทั้งเวลาและความพยายามในการสร้าง พัฒนา และรักษาแบรนด์ของเรานั่นเอง
เช่น แบ่งเวลาเพื่อวางแผนสร้างเนื้อหาทำคอนเทนต์, สร้าง Connection สร้างความสัมพันธ์กับผู้คน คือรู้จักจัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมต่าง ๆ ว่าจะทำอะไรบ้างที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายที่เราต้องการได้
รวมถึงการรู้จักลงทุนในตัวเอง ให้ความสำคัญกับการหมั่นเติมความรู้และพัฒนาสกิลต่าง ๆ เช่น การเข้าร่วม Event/สัมมนา นำความรู้มาพัฒนาแบรนด์ เป็นต้น
ทั้งนี้อย่างที่ได้เคยเน้นย้ำกันไปอยู่บ่อย ๆ ว่าเรื่องแบบนี้อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ทำแล้วรุ่งเรืองเลยภายในวันสองวัน แต่สิ่งสำคัญเลยก็คือการรักษาความสม่ำเสมอในระยะยาว เหมือนกับการสร้างนิสัยให้เป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวัน แบรนด์เราก็จะยังคงอยู่ได้นั่นเอง
#4 Purposeful เป้าชัดเจน
มาถึง P ที่สี่ Purposeful ในที่นี้หมายถึงการสร้างแบรนด์ที่มีเป้าหมายและจุดประสงค์ชัดเจน อย่างการตั้งเป้าหมายที่มีความเฉพาะเจาะจงลงไป และที่สำคัญคือควรวัดผลได้ด้วยนั่นเองค่ะ ทั้งในระยะสั้นหรือระยะยาวก็ตาม
เพราะถ้าเรามี Goal ชัดเจนแล้วก็สามารถเอามันมาใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ต่อไปได้ อย่างสมมติจะทำคอนเทนต์ ก็ต้องสอดคล้องไปกับเป้าหมาย เราก็จะรู้เองว่าต้องเล่นท่าไหนเพื่อบรรลุเป้าที่ต้องการ
นอกจากเป้าชัดแล้วถ้าประกอบไปกับการสร้างแบรนด์ที่สอดคล้องหรือสะท้อนค่านิยมหลักและความเชื่อของเรา มีจุดยืนชัดเจน ก็จะทำให้แบรนด์ดูมีความเป็นคนและดูลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นไปด้วย
ทั้งนี้ในเรื่องของเป้าหมายหรือการวาง Goal ก็เป็นเรื่องที่เราสามารถคอยดูและคอยปรับได้อยู่เสมอ เพื่อให้มันสอดคล้องไปกับการเติบโตในแต่ละช่วงสถานการณ์ของแบรนด์ แต่สรุปแล้วหากมีเป้าที่ชัดเจนในการสร้าง Personal Branding ก็เหมือนมีเข็มทิศที่จะช่วยให้เรามองเห็นทิศทางที่ชัดเจนขึ้นนั่นเอง
#5 Profitable สร้างผลกำไรได้ทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่เงิน
เมื่อเราสร้าง Personal Branding ออกมาได้ดี ผลลัพธ์ที่ได้อาจไม่ใช่แค่เรื่องของผลกำไรที่เป็นตัวเงินเพียงอย่างเดียว แต่มีเรื่องของผลกำไรที่เราได้รับแม้มันจะไม่ใช่ตัวเงินด้วย
อย่างเช่นในเรื่องของโอกาสทางธุรกิจ ถ้าเรามี Personal Branding ที่ดี มีความน่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ก็แน่นอนว่าสามารถช่วยดึงดูดลูกค้า หรือ Partner มาร่วมงานกันได้มากยิ่งขึ้น ก็เรียกว่ามีโอกาสในหน้าที่การงานเพิ่มขึ้น ได้ผลตอบแทนสูงขึ้นไปด้วย
หรือถ้าเรามีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ก็ยิ่งนำไปสู่โอกาสในการสร้างรายได้ในหลากหลายทางมากขึ้น อย่างเช่น เขียนหนังสือ เป็นที่ปรึกษา หรือเป็นวิทยากรแชร์ความรู้ในงานต่าง ๆ เป็นต้นค่ะ
ดังนั้นสรุปแล้วในข้อ Profitable นี้ อาจไม่ได้หมายถึงแค่การที่เราจะมุ่งสร้างผลกำไรที่เป็นเม็ดเงินโดยตรงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงผลตอบแทนหรือประโยชน์ที่เราได้รับในรูปแบบต่าง ๆ ด้วย ที่มันมีคุณค่าและสอดคล้องไปกับเป้าหมายและชีวิตที่เราต้องการนั่นเองค่ะ
สร้างแบรนด์ให้โดดเด่นน่าจดจำ ด้วยหลัก 5P Personal Branding
เป็นยังไงกันบ้างคะสำหรับบทความนี้ที่ได้พาทุกคนมาดูหลัก 5P ที่ประกอบไปด้วย Personal, Pointed, Prioritized, Purposeful และ Profitable ในการสร้าง Personal Branding ของตัวเองกันว่าในแต่ละองค์ประกอบสามารถร่วมด้วยช่วยกันส่งเสริมแบรนด์ของเราให้โดดเด่นชัดเจนได้ยังไงกันบ้าง ทั้งนี้ก็ต้องใจเย็น ๆ อาศัยเวลาและความสม่ำเสมอในการสร้าง พัฒนา และรักษา เพื่อให้แบรนด์เราค่อย ๆ แข็งแกร่งขึ้นและคงอยู่ได้ในระยะยาวนะคะ
หวังว่าทุกคนจะได้ความรู้ดี ๆ และประโยชน์กลับไปไม่มากก็น้อยนะคะ แล้วเจอกันใหม่ในบทความหน้าค่า และสามารถติดตามบทความด้านการตลาดเพิ่มเติมได้จากเพจการตลาดวันละตอนที่ เว็บไซต์ Facebook Instagram Twitter และ Youtube ได้เลย
Source Source Source