8-consumer-behavior-models-and-applications

ส่อง 8 Consumer Behavior Models ทำความเข้าใจลูกค้า พร้อมแนวทางประยุกต์ใช้ในธุรกิจ

Consumer Behavior Models หรือโมเดลพฤติกรรมของลูกค้า เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจเข้าใจเหตุผลและกระบวนการตัดสินใจของลูกค้า ตั้งแต่การรับรู้ความต้องการจนถึงการซื้อสินค้า โมเดลเหล่านี้นำเสนอแนวคิดที่ครอบคลุมทั้งด้านจิตวิทยา สังคม และเศรษฐศาสตร์ ทำให้สามารถคาดการณ์พฤติกรรมลูกค้าและวางกลยุทธ์ได้อย่างตรงจุด

ในบทความนี้ผู้เขียนได้รวบรวม 8 โมเดลสำคัญ พร้อมแนวทางการประยุกต์ใช้ ที่จะช่วยให้ธุรกิจของคุณผู้อ่านสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างกินขาด ถ้าพร้อมแล้ว ก็ไปกันเลย!

Consumer Behavior Models คืออะไร?

AI image generated by Shutterstock (Prompt: Studio shot of woman sitting in the shopping cart, legs on the edge of the cart, full of shopping bags and lifestyle products, in the cart and on the floor, holding phone ready to go shopping, smiling face happy)

โมเดลพฤติกรรมของลูกค้า เป็นกรอบทฤษฎีที่อธิบายว่า ทำไมลูกค้าจึงตัดสินใจซื้อและพวกเขาตัดสินใจอย่างไร โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อคาดการณ์การตัดสินใจของลูกค้า และช่วยให้ธุรกิจสามารถเข้าไปอยู่ใน Customer Journey แต่ละ Stage ของลูกค้าได้

8 Consumer Behavior Models มีอะไรบ้าง?

1. Learning Model โมเดลความต้องการ 5 ขั้น

โมเดลนี้ศึกษาพฤติกรรมการตัดสินใจซื้อของลูกค้าจากความต้องการขั้นพื้นฐาน หรือ ปัจจัย 4 ได้แก่ อาหาร ยา เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัย โดยโมเดลนี้อธิบายได้ด้วย “ทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ (Maslow’s Hierarchy of Needs)” แนวคิดทางจิตวิทยาที่คิดค้นโดยนักจิตวิทยา อับราฮัม มาสโลว์ (Abraham Maslow) ซึ่งอธิบายว่า มนุษย์มีความต้องการเป็นลำดับขั้น ซึ่งจะไล่จากล่างขึ้นบน ค่อย ๆ เติมเต็มแต่ละขั้นไปเรื่อย ๆ จนแตะขั้นสูงสุด โดยในแต่ละขั้นนั้นมีแรงจูงใจที่แตกต่างกัน ซึ่งส่งผลให้แสดงพฤติกรรมที่แตกต่างกันด้วย

8-consumer-behavior-models-and-applications
ที่มา hubspot

ประยุกต์ใช้กับธุรกิจอย่างไรดี?

เมื่อธุรกิจรู้ว่าลูกค้าของตนเองมีความต้องการอยู่ในขั้นไหน ก็สามารถนำเสนอสินค้าให้ตอบสนองความต้องการนั้น ๆ ได้

ยกตัวอย่าง คุณผู้อ่านคิดว่า ลูกค้าที่มีความต้องการขั้น Basic needs กับ Psychological needs หากเขาต้องซื้อเสื้อกันหนาวสักตัว เขาจะคิดเหมือนกันไหม? แน่นอนว่า ไม่ ลูกค้าที่มีความต้องการขั้น Basic needs เขาอาจจะตัดสินใจซื้อเพราะ Function ของเสื้อที่กันหนาวได้ ในขณะที่ลูกค้าที่มีความต้องการขั้น Psychological needs อาจจะตัดสินใจซื้อทั้ง Function และภาพลักษณ์ทางสังคมเมื่อตนสวมใส่เสื้อกันหนาวตัวนี้ พอรู้ Why ที่ลูกค้าซื้อของ ๆ เรา ก็เหมือนเป็นสะพานช่วยธุรกิจหาวิธีมัดใจลูกค้าของตัวเองได้

2. Psychoanalytical Model โมเดลทางจิตวิทยา

หลายคนที่สนใจจิตวิทยาคงคุ้นเคยกันดีกับ “ทฤษฎีจิตวิเคราะห์” ของซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ซึ่งโมเดลนี้มีที่มาจากทฤษฎีดังกล่าว โดยนำเสนอว่า ลูกค้าถูกขับเคลื่อนด้วยความต้องการทั้งในระดับจิตสำนึก (Conscious) จิตใต้สำนึก (Sub-conscious) และจิตไร้สำนึก (Unconscious)

ที่มา Simplypsychology

โดยเฉพาะเจ้าจิตไร้สำนึกมีโอกาสเกิดขึ้นบ่อยที่สุด ทั้งยังมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ พฤติกรรม และบุคลิกภาพต่าง ๆ ด้วย อย่างเช่น คุณผู้อ่านเคยซื้อของแบบไม่มีเหตุผลไหม? แถมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าซื้อมาทำไม? ถ้าพยักหน้าให้กันผ่านหน้าจออยู่ Congratulations! จิตไร้สำนึกของคุณผู้อ่านได้ทำงานแล้ว ซึ่งเราคือพวกเดียวกัน

ประยุกต์ใช้กับธุรกิจอย่างไร?

Consumer Behavior Models โมเดลนี้ เหมาะมาก ๆ กับธุรกิจสินค้าไลฟ์สไตล์ที่พ่วงกับการขายภาพลักษณ์ทางสังคมไปด้วย เช่น แบรนด์ Fashion Luxury ที่ไม่ได้ขายแค่เสื้อผ้าเท่านั้น แต่ยังฟูลฟีลความต้องการลึก ๆ ของลูกค้าด้วย เช่น พอใส่เสื้อผ้ายี่ห้อนี้แล้วดูดีฟีลลูกคุณ หรือรู้สึกเป็นคนชิค ๆ แบบนี้เป็นต้น

3. Sociological Model โมเดลทางสัมคมวิทยา

โมเดลทางสังคมวิทยาเป็นการศึกษาว่า ปัจจัยทางสังคมและกลุ่มมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อของคน ๆ นั้นอย่างไร โดยเน้นที่บริบททางสังคมในวงกว้าง ซึ่งแตกต่างจาก Psychoanalytical Model ที่จะศึกษาปัจจัยภายในจิตใจที่ลึกซึ้งและละเอียดอ่อนของมนุษย์

ที่มา mentalhealthnursetraining

ในสังคม ๆ นึงนั้น มีการแบ่งแยกเป็นกลุ่มต่าง ๆ มากมาย ซึ่งอาจแบ่งได้จากปัจจัยด้านบทบาททางสังคม อาชีพ ความสนใจ วัฒนธรรม การนับถือศาสนา Generations และอื่น ๆ

ประยุกต์ใช้กับธุรกิจอย่างไร?

ธุรกิจสามารถใช้โมเดลนี้ช่วยกำหนดกลุ่มเป้าหมายและศึกษาพฤติกรรมลูกค้าในกลุ่มสังคมนั้น ๆ ได้ คล้าย ๆ กับ STP ด้วยการทำความเข้าใจกลุ่มตัวอย่างที่อยู่สังคมกลุ่มเป้าหมาย เพื่อใช้เป็นแนวทางปรับตัวและเลือกรูปแบบการสื่อสารให้เข้ากับกลุ่มสังคมของพวกเขา

4. Economic Model โมเดลทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม

โมเดลทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม มีที่มามาจาก “ทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผล (Rational Choice Theory)” ซึ่งนำเสนอว่า ลูกค้าตัดสินใจซื้อจากความคิดที่ว่า ได้มาก เสียน้อย หรืออธิบายง่าย ๆ ว่า เมื่อลูกค้าซื้อสินค้าของเรา เขาต้องได้ประโยชน์ (ความพึงพอใจ) มากที่สุด แต่เสียต้นทุน (เงิน เวลา ความพยายาม) น้อยที่สุด ซึ่งมันก็ดูเป็นโมเดลที่เรียล ๆ ดี แต่ก็มีข้อสังเกตว่า แอบละเลยอิทธิพลทางด้านอารมณ์และจิตวิทยาไปหน่อยหรือเปล่า?

แต่ ๆ ๆ เราอย่าเพิ่ง Judge แนวคิดที่สุดโต่งดังกล่าว แล้วมาดู 5 สมมติฐานที่น่าสนใจของโมเดลนี้กัน

  1. Rational Decision-Making (การตัดสินใจอย่างมีเหตุผล): ลูกค้าเป็นคนมีเหตุผล ก่อนตัดสินใจซื้อ ลูกค้าจะประเมินประโยชน์ที่ได้และต้นทุนที่เสีย
  2. Budget Constraints (ข้อจำกัดด้านงบประมาณ): ลูกค้ามีทรัพยากรที่จำกัดและจะพยายามไม่ใช้จ่ายเกินงบของตัวเอง
  3. Price Sensitivity (ความอ่อนไหวต่อราคา): ราคาเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้า ถ้าราคาถูก ลูกค้าจะซื้อมาก ในทางกลับกัน ถ้าราคาแพง ลูกค้าจะซื้อน้อย
  4. Income Effects (ผลกระทบของรายได้): ลูกค้าจะซื้อมากขึ้น เมื่อรายได้เพิ่มขึ้น ในทางกลับกัน ลูกค้าจะซื้อสินค้าที่มีคุณภาพต่ำลง เมื่อรายได้ลดลง
  5. Substitutions and Trade-Offs (การทดแทนและการแลกเปลี่ยน): เมื่อลูกค้าต้องเลือกระหว่างสินค้า 2 ชนิดที่เหมือนกัน ลูกค้าจะเลือกสินค้าที่คุ้มที่สุดหรือถูกกว่า

ประยุกต์ใช้กับธุรกิจอย่างไร?

Consumer Behavior Models โมเดลนี้ เหมาะกับธุรกิจขายสินค้าที่แข่งกันที่ต้นทุน เน้นขายราคาถูก แต่ไม่เน้นโน้มน้าวลูกค้าด้วยอารมณ์ และมีสินค้าทดแทนจำนวนมาก

5. Engel-Kollat-Blackwell (EKB) Model โมเดลกระบวนการตัดสินใจ EKB

8-consumer-behavior-models-and-applications
ที่มา productmindset

โมเดลนี้ได้อธิบายกระบวนการตัดสินใจของลูกค้าทั้ง 5 ขั้นตอน ดังนี้

  1. Awareness (การรับรู้): ลูกค้ารับรู้ว่าตัวเองมีความต้องการ หรือ มีปัญหาที่ต้องการแก้ไข
  2. Information Processing (การประมวลผลข้อมูล): หลังจากรับรู้ถึงความต้องการหรือปัญหาแล้ว ลูกค้าจะเริ่มค้นหาข้อมูลที่เป็น Solution ต่าง ๆ ซึ่งอาจค้นหาจากความทรงจำ อินเทอร์เน็ต เพื่อนและคนใกล้ตัว
  3. Evaluation (การประเมิน): เมื่อลูกค้ารวบรวมข้อมูลได้เพียงพอแล้ว พวกเขาก็จะเปรียบเทียบตัวเลือกตามปัจจัยต่าง ๆ ที่ลูกค้าคนนั้น ๆ ให้ความสำคัญ เช่น ราคา คุณสมบัติ และความชอบส่วนบุคคล
  4. Purchasing Decision (การตัดสินใจซื้อ): หลังจากเลือกได้แล้ว ลูกค้าก็จะตัดสินใจซื้อ ซึ่งในบางครั้งถึงแม้จะเลือกแล้วแต่สิ่งที่เลือกก็อาจไม่ใช่สิ่งที่ซื้อก็ได้ เนื่องด้วยปัจจัยต่างๆ เช่น ความพร้อมจำหน่าย โปรโมชันที่ล่อตาล่อใจ หรือ การบอกต่อแบบปากต่อปาก เป็นต้น
  5. Outcome Analysis (การวิเคราะห์ผลลัพธ์): หลังจากซื้อแล้ว ลูกค้าจะประเมินระดับความพึงพอใจที่มีต่อสินค้า ซึ่งถ้าลูกค้ารู้สึกพอใจ พวกเขาก็อาจกลายเป็น Loyalty ซื้อซ้ำ และบอกต่อแบรนด์ ในทางตรงกันข้ามถ้าลูกค้ารู้สึกไม่พอใจ พวกเขาก็อาจแสดงความคิดเห็นเชิงลบและหลีกเลี่ยงไม่กลับมาซื้อซ้ำอีก

ประยุกต์ใช้กับธุรกิจอย่างไร?

เมื่อธุรกิจเข้าใจกระบวนการตัดสินใจของลูกค้าแล้ว ธุรกิจต้องหาหนทางเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการสนองความต้องการและแก้ปัญหาของลูกค้าให้จงได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำคอนเทนต์ให้ข้อมูลสินค้า รีวิวสินค้าจากผู้ใช้จริง ให้เพียงพอ เพื่อรองรับขั้นตอนการประมวลผลและการประเมินข้อมูล และหลังจากลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าของเราแล้ว ก็อย่าปล่อยปะละเลยเขา มีบริการหลังการขายและบริหารจัดการความสัมพันธ์ลูกค้าให้ดี และที่สำคัญที่สุด พยายามเปลี่ยนวิธีคิดของธุรกิจ จากการคิดว่าอยากให้สินค้าขายออก เปลี่ยนเป็นสินค้าของเราต้องช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้คนได้

6. Black Box Model โมเดลกล่องดำ

โมเดลกล่องดำเป็นแนวคิดที่เน้นทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้าภายนอกและพฤติกรรมของลูกค้า โดยกล่องดำเปรียบเสมือนจิตใจภายในของลูกค้าที่เราไม่สามารถมองเห็นได้ และไม่อาจทราบอย่างแน่ชัดว่าเกิดอะไรขึ้นในนั้น

โมเดลนี้จึงเป็นการศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการที่วิเคราะห์ว่า สิ่งเร้าภายนอก (Marketing Mix หรือ ส่วนผสมทางการตลาด และ Environmental stimuli หรือ สิ่งกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อม) ส่งผลต่อกล่องดำของลูกค้าอย่างไร และสุดท้ายลูกค้าตอบสนองด้วยการซื้อหรือไม่ซื้อสินค้าของ ๆ เรา

8-consumer-behavior-models-and-applications
ที่มา hubspot

ภายในกล่องดำของลูกค้าจะชั่งน้ำหนักสิ่งเร้าภายนอกทั้งหมดโดยอิงจากประสบการณ์ ความชอบ ความเชื่อ และค่านิยมในอดีต แล้วจึงตัดสินใจซื้อในที่สุด

ประยุกต์ใช้กับธุรกิจอย่างไร?

โมเดลกล่องดำเหมาะกับการทำความเข้าใจอิทธิพลที่มีต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้าในภาพที่กว้างขึ้น โดยไม่ได้มองแค่ปัจจัยภายในที่ควบคุมได้ แต่ยังช่วยให้เราขยายเลนส์มองไปถึงปัจจับภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ด้วย

บทความที่แนะนำให้อ่านเพิ่มเติม

7. Hawkins Stern Model โมเดลฮอว์กินส์ สเติร์น

โมเดลฮอว์กินส์ สเติร์น จะแหวกแนวจากโมเดลก่อนหน้านี้สักหน่อย เพราะโมเดลนี้เสนอแนวคิดว่า ลูกค้าไม่ได้ซื้อจากการคิดอย่างมีเหตุผล แต่เกิดจากมีสิ่งเร้ามากระตุ้นให้ซื้อในทันที

ที่มา projectguru

โดยสามารถแบ่ง การตัดสินใจซื้อสินค้าอย่างฉับพลัน (Impulse buying) ออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้

  1. Pure Impulse Buying (การซื้อแบบฉับพลัน): การซื้อที่ไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้า และมักเกิดจากอารมณ์
  2. Reminder Purchase (การซื้อเพื่อเตือนความจำ): การซื้อที่เกิดขึ้นเมื่อลูกค้าเห็นสินค้าแล้วจำได้ว่าจำเป็นต้องซื้อ
  3. Suggested Purchase (การซื้อจากคำแนะนำ): การซื้อที่เกิดขึ้นเมื่อลูกค้าได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับสินค้าจากโฆษณาหรือพนักงานขาย
  4. Planned Purchase (การซื้อตามแผน): ลูกค้าไปซื้อของตามที่ตัวเองวางแผนไว้ แต่ก็พร้อมที่จะซื้อของชิ้นอื่น ๆ ด้วย หากมีข้อเสนอดี ๆ

ประยุกต์ใช้กับธุรกิจอย่างไร?

ธุรกิจสามารถโมเดลฮอว์กินส์ สเติร์น ไปประยุกต์ได้หลายด้านค่ะ ไม่ว่าจะเป็น

  • จัดวางสินค้าอย่างมีกลยุทธ์: โดยตัดสินใจเลือกสินค้าที่มีโอกาสเกิดซื้ออย่างฉับพลันไว้ใกล้บริเวณชำระเงิน หรือการจัดแสดง Display สินค้าให้โดดเด่นสะดุดตาเพื่อสร้างการมองเห็นและกระตุ้นการตัดสินใจ
  • เสนอโปรโมชันจำกัดเวลา: อาจทำในรูปแบบ Flash Sale หรือ Special Deal ต่าง ๆ เพื่อเร่งการตัดสินใจของลูกค้า
  • ขายสินค้าแบบเป็นชุด: รวมสินค้าหลายรายการเข้าด้วยกันและเสนอขายในราคาพิเศษ เพื่อดึงดูดลูกค้าให้ซื้อมากขึ้น
  • แนะนำเฉพาะบุคคล: ใช้ข้อมูลจากประวัติการซื้อเพื่อส่งเมลแนะนำสินค้าที่ตรงกับความสนใจของลูกค้าแต่ละคน

8. Howard Sheth Model โมเดลฮาวเวิร์ด-เชธ

โมเดลฮาวเวิร์ด-เชธ เสนอแนวคิดว่า ลูกค้าจะใช้เวลาและความพยายามอย่างมากในการตัดสินใจอย่างมีข้อมูล มีเหตุผล และเป็นระบบ ซึ่งได้สันนิษฐานว่า การตัดสินใจซื้อสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ โดยแต่ละระดับจะแตกต่างกันไปตามปริมาณความรู้ของลูกค้า (เรียงจากน้อยไปมาก)

ที่มา papers.ssrn
  1. Extensive Problem-Solving (การแก้ปัญหาอย่างครอบคลุม): ลูกค้ามีความรู้หรือประสบการณ์ในสินค้าหรือแบรนด์เพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย ดังนั้นลูกค้าจะใช้เวลาและความพยายามอย่างมากในการรวบรวมข้อมูลและค้นคว้าตัวเลือกต่าง ๆ
  2. Limited Problem-Solving (การแก้ปัญหาที่จำกัด): ลูกค้ามีความรู้หรือประสบการณ์ในสินค้าหรือแบรนด์มาก่อน ดังนั้นการตัดสินใจซื้อต้องใช้เวลาและความพยายามพอสมควร รวมถึงลูกค้าจะอาศัยทั้งประสบการณ์ในอดีตและข้อมูลใหม่ที่รวบรวมจากการค้นคว้าในการพิจารณาก่อนตัดสินสินใจซื้อ
  3. Habitual Response Behavior (พฤติกรรมการตอบสนองตามนิสัย): ลูกค้ามีความรู้หรือประสบการณ์ในสินค้าหรือแบรนด์อย่างมาก เรียกว่าเป็น Loyalty ก็ได้ ดังนั้นลูกค้าจะตัดสินใจซื้อเป็นนิสัยอยู่แล้วและใช้ความพยายามเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ประยุกต์ใช้กับธุรกิจอย่างไร?

โมเดลนี้ช่วยให้ธุรกิจทำความเข้าใจการตัดสินใจของลูกค้าที่มีปริมาณความรู้เกี่ยวกับสินค้าหรือแบรนด์ในระดับต่าง ๆ และนำมาปรับกลยุทธ์การสื่อสารได้อย่างเหมาะสม รู้ว่าลูกค้าระดับนี้ต้องให้ข้อมูลมากหรือน้อยเพียงใด

สรุป

Consumer Behavior Models คือกรอบทฤษฎีที่ช่วยธุรกิจเข้าใจว่าทำไมลูกค้าถึงตัดสินใจซื้อและตัดสินใจอย่างไร โดยในบทความนี้ได้อธิบายโมเดลสำคัญ 8 แบบ เช่น Learning Model, Psychoanalytical Model, และ Economic Model พร้อมทั้งแนวทางประยุกต์ใช้แต่ละโมเดลในธุรกิจ เช่น การตอบสนองความต้องการที่แตกต่างของลูกค้า การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย และการจัดการการตัดสินใจซื้อในแต่ละขั้นตอน ซึ่งช่วยให้ธุรกิจพัฒนากลยุทธ์ที่เหมาะสมและตอบโจทย์พฤติกรรมลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

สำหรับใครที่สนใจอ่านบทความอื่นๆ หรือ ต้องการอัปเดตความรู้การตลาดเพิ่มเติม สามารถติดตามได้ที่ช่องทาง WebsiteFacebookInstagramTwitterYouTube และ Tiktok ของการตลาดวันละตอนตามนี้ได้เลย

Sources

hubspot

นิวส์ Introverted Learner คนหนึ่งที่สนใจ Marketing หลงรักในศิลปะ งานสร้างสรรค์ เสียงเพลง และความสงบ ทุกบทความเขียนด้วยความตั้งใจที่อยากจะถ่ายทอด Input ที่ได้เรียนรู้ สู่ Output ที่เป็นประโยชน์กับผู้อ่านทุกคนค่ะ

Comments

  1. อามีน says:

    ขอบคุณที่แบ่งปันความรู้ดี ๆ ให้ครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *