ในบทความนี้จะพาทุกคนมาดู การตลาด Supermarket อย่าง Plaza Vea ของเปรู กับการลดขนาดภาพสินค้า เพื่อสร้าง Customer Experience ให้ดีขึ้นกว่าเดิม ทําให้คนในท้องถิ่นสามารถเข้าถึงเว็บไซต์ได้ แม้จะอยู่ในพื้นที่ที่สัญญาณ Internet ไม่ค่อยจะดี แต่ก็สามารถช้อปปิ้งซื้อของกันได้สบาย ๆ
ที่มาที่ไปของแคมเปญ Redesigning for E-nclusion
แรกเริ่มเดิมทีแคมเปญ Redesigning for E-nclusion สร้างขึ้นโดยเอเจนซี Fahrenheit DDB ประเทศเปรู แต่ก่อนอื่นต้องขอเล่าย้อนเวลากลับไปในช่วงเดือนเมษายน 2566 Supermarket อย่าง Plaza Vea ในประเทศเปรู ได้สร้างเว็บไซต์เป็นเวอร์ชันที่ลดขนาดหรือความละเอียดภาพสินค้าลง เพื่อให้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทและมักมีสัญญาณ Internet ที่ไม่ดี สามารถซื้อสินค้าออนไลน์ได้ ไม่ต้องลำบากเดินทางออกไปซื้อที่ร้าน
เพราะว่าเดิมทีรูปภาพสินค้าขายของในเว็บไซต์จะมีความละเอียดภาพที่สูง ซึ่งแน่นอนว่ากว่าจะโหลดดูได้ก็ต้องใช้เวลานานกว่าจะประมวลผล ดังนั้นเมื่อเว็บไซต์ Plaza Vea ตรวจเจอการรับสัญญาณ Internet ที่ไม่ดี เว็บก็จะเปลี่ยนไปใช้เวอร์ชันที่ลดขนาดลง 72% ให้บนเครือข่ายแค่ 2G ก็สามารถทํางานได้นั่นเองค่ะ
นอกจากนี้ยังมี Pain Point ในเรื่องของการชำระเงินด้วยค่ะ การที่เน็ตกากเนี่ย มันก็ไม่ใช่ว่าจะแค่ดูภาพสินค้าไม่ได้ แต่ถ้าเรากดชำระเงินไปแล้วเน็ตเกิดมามีปัญหา แน่นอนว่าก็เป็นอีกหนึ่งจุดที่สร้างความกังวลให้กับหลาย ๆ คน เงินจะหายไหม จะตัดเงินไปแล้วไหม ต่าง ๆ นา ๆ ทำให้หลาย ๆ คนยกเลิกการสั่งซื้อไปเลย
ดังนั้นเพื่อป้องกันหรือแก้ไขปัญหานี้ และไม่ให้เสียลูกค้าที่กำลังทำการสั่งซื้อของออนไลน์ในขณะที่การเชื่อมต่อมันไม่เสถียร เว็บไซต์จึงจะมีการระงับการชําระเงินหรือระงับคําสั่งซื้อเอาไว้จนกว่าจะมีสัญญาณ Internet ที่ดีขึ้น เพื่อรอให้คนทําธุรกรรมจนเสร็จสมบูรณ์ได้แบบสบายใจนั่นเอง
โดยแคมเปญนี้ก็เริ่มจากร้าน Plaza Vea 3 แห่งในเมือง Cusco ที่มีการจัดส่งสินค้าไปยังพื้นที่ชนบท และวางแผนที่จะเพิ่มอีก 4 แห่งในจังหวัดอื่น ๆ ภายในปี 2024 นี้ ที่กําลังดําเนินการอยู่และโปรโมทผ่านวิทยุ สื่อ OOH และใน Facebook ด้วย
ทั้งนี้ภาพรวมผลลัพธ์จากข้อมูลของเอเจนซี Supermarket Plaza Vea ทําการจัดส่งสินค้ามากกว่า 300 รายการในช่วงสัปดาห์แรก และในออนไลน์ก็มีการเข้าชมเว็บไซต์เพิ่มขึ้น 10% อีกด้วยค่ะ
แก้ Pain Point สร้าง Customer Experience ที่ดี
แคมเปญนี้ก็เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งการทำ การตลาด Supermarket ที่ออกแบบมาเพื่อสร้าง Customer Experience ที่ดีขึ้น คือสร้างประสบการณ์การช้อปปิ้งให้มันมีความสุข ลดความลำบากในชีวิตที่จะต้องเดินทางไปซื้อของในเมือง ลดความน่าหงุดหงิดใจเวลาจะซื้อของออนไลน์แต่ภาพสินค้ากลับไม่แม้แต่จะโหลดให้ดูได้ด้วยซ้ำ
อีกทั้งทางแบรนด์เองก็ไม่ได้มุ่งแค่เรื่องของการดูภาพสินค้าบนหน้าเว็บไซต์แต่เพียงอย่างเดียว เพราะยังมีปัญหาเน็ตกากหรือซื้อของอยู่แล้วเว็บเกิดล่มที่ได้เล่าไปด้านบนว่ามันทำให้ลูกค้าหลาย ๆ คนทิ้งตะกร้าไปเลยหรือพูดง่าย ๆ คือยกเลิกคำสั่งซื้อไป เพราะกลัวว่าเงินจะหาย จะมีปัญหาอะไรรึเปล่า ทำให้ฝั่งแบรนด์เองก็เรียกว่าเสียโอกาสในส่วนนี้ถ้าคิดเป็นจำนวนเงินก็คงจะค่อนข้างมากเลยทีเดียว
ดังนั้นอีกหนึ่งทางแก้ที่แบรนด์หันมาปรับปรุงให้กับลูกค้าก็คือใส่ใจกับเรื่องของการชำระเงินด้วยเช่นเดียวกัน ที่มีการระงับคำสั่งซื้อและการชำระเงินเอาไว้จนกว่าสัญญาณจะปกติดี ทำให้ลูกค้ารู้สึกปลอดภัยว่าเงินฉันจะไม่หายไปไหนนะ
ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้แน่นอนว่าถ้าลูกค้าได้รับ Experience ที่ดี ก็จะเกิดความพึงพอใจ บอกคนอื่นต่อ หรือกลับมาซื้อซ้ำอีกอยู่เรื่อย ๆ ยอดขายก็เพิ่มขึ้น และยังอาจนำไปสู่ Brand Loyalty ในระยะยาวอีกด้วย
Localization Marketing อยู่ชนบทก็ช้อปได้
ในปี 2020 Alliance for Affordable Internet (A4AI) ตั้งข้อสังเกตว่าในปี 2018 มี 80% ของเมืองในเปรู (ส่วนใหญ่เป็นชนบท) Internet นั้นเข้าไม่ถึง และมีความเป็นไปได้ว่าชาวเปรูประมาณ 4 ล้านคนจะเชื่อมต่อผ่าน 2G เท่านั้น เพราะการอาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบททำให้ไม่สามารถเข้าถึง Intetnet ได้
และหากได้ดูในวิดีโอแคมเปญทุกคนก็น่าจะเห็นกันอยู่แล้วว่าร้านค้าใหญ่ ๆ มักจะใส่ใจลูกค้าที่อยู่ในเมือง จนลูกค้าที่อาศัยในพื้นที่ชนบทอาจจะถูกหลงลืมกันไป เวลาจะซื้อของทีอาจจะต้องลำบากเดินทางหลายกิโล เพื่อจะเข้าถึงสินค้าในชีวิตประจำวัน
ซึ่งจากตัวเลขก็คงจะรู้ว่าเป็นฐานลูกค้าขนาดใหญ่มากทีเดียว การที่แบรนด์หันมาปรับปรุงพัฒนาในตรงนี้ก็ถือว่าเข้ามาสร้างความแตกต่าง สนใจในสิ่งที่ไม่มีใครทำหรืออาจจะหลงลืมไป แต่ Plaza Vea ไม่ลืม อย่ามองข้ามการเปลี่ยนแปลงจากจุดเล็ก ๆ น้อย ๆ แบบนี้ที่ก็อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของส่วนแบ่งตลาดในอนาคตได้เช่นกันนะคะ
การตลาด Supermarket ลดขนาดภาพสินค้า ชู Customer Experience
เป็นยังไงกันบ้างคะสำหรับบทความนี้ที่ได้พาทุกคนมาดู การตลาด Supermarket ลดขนาดภาพสินค้า ชู Customer Experience อีกหนึ่งตัวอย่างของแคมเปญที่สร้างความแตกต่างด้วยการไม่ลืมใส่ใจคนที่อยู่ชนบท แต่กลับเห็นโอกาสในการจับคนกลุ่มนี้และสร้าง Customer Experience ที่ดีได้ ผ่านการใช้เทคโนโลยีที่ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างยิ่งใหญ่มาก แต่ก็นำสิ่งที่มีอยู่แล้วมาพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้นเพื่อผลประโยชน์ของลูกค้า
ทั้งนี้หวังว่าทุกคนจะได้ความรู้ดี ๆ และประโยชน์กลับไปไม่มากก็น้อยนะคะ แล้วเจอกันใหม่ในบทความหน้าค่า และสามารถติดตามบทความด้านการตลาดเพิ่มเติมได้จากเพจการตลาดวันละตอนที่ เว็บไซต์ Facebook Instagram Twitter และ Youtube ได้เลย
Source