จากสองบทความแรกที่พาไปรู้จักและทำความเข้าใจถึงกลยุทธ์ Super App ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร และมีแอปไหนบ้างที่เราอาจจะไม่เคยรู้จักมาก่อน มาถึงตอนนี้เราจะมาดูสิ่งที่เกิดขึ้นในฝั่งโลกตะวันตกกันดูบ้าง แม้ Super App จะเป็นนวัตกรรมที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากฝั่งโลกตะวันตกเป็นที่แรก แต่ถ้าสำรวจไปเรื่อยๆ ก็จะพบว่าบางแอปหรือบางแพลตฟอร์มนั้นก็มีความพร้อม หรืออาจจะเริ่มเป็นไปแล้วโดยไม่รู้ตัว
ตัวอย่างที่ใกล้เคียงกับนิยามของ Super App ทางฝั่งโลกตะวันตกที่จะยกขึ้นมาวิเคราะห์อันแรกก็คือ Google Maps เพราะเว็บหรือแอปนี้เต็มไปด้วยความสามารถที่ซ่อนอยู่มากมาย แถมที่สำคัญคือมีผู้ใช้งานเป็นประจำจำนวนมาก แม้แต่จะขับรถกลับบ้านยังเลือกเปิดดูก่อนเลยว่าถนนระหว่างเส้นหน้าบ้านกับหลังบ้านเส้นไหนติดน้อยกว่ากันครับ
ลองมาดูฟีเจอร์ความสามารถที่ซ่อนอยู่ใน Google Maps กัน แล้วคุณจะเข้าใจว่าทำไมเจ้าแอปแผนที่ที่ดูแสนจะธรรมดานี้ถึงใกล้เคียงกับการเป็น Super App เหลือเกิน
ฟีเจอร์นี้มีให้ใช้ในบ้านเรามานานแล้ว เมื่อไหร่ที่เราเลือกจุดหมายปลายทางที่จะไป เราสามารถเปลี่ยนไปเลือกวิธีการเดินทางแบบโบกรถแล้วเรียกรถแท็กซี่อย่าง Grab ผ่าน Google Maps ได้ตรง
เป็นอะไรที่ Seamless Experience มาก แม้ส่วนตัวผมจะยังเลือกออกนอก Google Maps ไปกดเปรียบเทียบราคากับแอปต่างๆ ด้วยตัวเองอยู่ก็ตามครับ
จองโต๊ะในร้านอาหารได้
นอกจากจองโรงแรมที่พักแล้วคุณยังสามารถจองโต๊ะสำรองที่นั่งของร้านอาหารที่คุณจะเดินทางไปได้ เพราะหนึ่งในการกด Google Maps ใช้งานก็คือการนัดกินข้าวกับเพื่อนๆ หรือคนในครอบครัว หรือแม้แต่ลูกค้าจริงไหมครับ
ดังนั้น Google Maps ในต่างประเทศจึงมีการเชื่อมต่อกับ Startup ด้านนี้ ไม่ว่าจะเป็น OpenTable, Resy หรือตามแต่ละประเทศว่าแอปไหนหรือแพลตฟอร์มจองโต๊ะอาหารใดจะเป็นที่นิยม
Food Delivery ผ่าน Google Maps ก็ได้
ในต่างประเทศคุณสามารถสั่งอาหารของร้านที่ดูจากรีวิวว่าน่าสนใจมากินที่บ้านผ่านช่องทางนี้ก็ได้ เรียกได้ว่านอกจากค้นหาร้านใกล้ๆ ที่ดูว่าน่าสนใจแล้ว ยังสามารถกดสั่งมากินพร้อมกับจ่ายเงินได้จบในแอปเดียว มีความเป็น Super App จริงๆ
จองตั๋วเครื่องบินก็ได้
บางคนอาจไม่รู้ว่าเราสามารถจองตั๋วเครื่องบินผ่าน Google Maps ได้ถ้าเข้าผ่านคอมพิวเตอร์ เรียกได้ว่าครบถ้วนเรื่องการเดินทาง ไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศก็ตาม แต่ก็ไม่รู้เหมือนกันนะครับว่าสัดส่วนการจองผ่าน Google Maps จะมากน้อยขนาดไหนในวันนี้
ค้นหาบริการที่ต้องการใกล้บ้านแล้วทำนัดได้เลย
ก็ในเมื่อใน Google Maps มีการแยกหมวดหมู่ของสถานที่ออกไปมากมาย ตั้งแต่ร้านกาแฟ ร้านอาหาร แล้วก็ต้องมีอู่รถ มีช่าง หรือมีบริการอื่นๆ จิปาถะ ทาง Google Maps ก็เลยทำบริการต่อยอดจากจุดนั้นคือให้ลูกค้าสามารถทำนัดกับผู้ให้บริการผ่านแพลตฟอร์มตัวเองได้ นี่ไม่รู้ว่าถ้าในบ้านเราเรียกช่างแอร์ผ่าน Google Maps ได้คงจะเป็นอะไรที่สุดยอดไปเลย
แต่สิ่งเดียวที่ทำให้ Google Maps ยังคงไม่ถูกจัดว่าเป็น Super Apps ก็น่าจะเป็นเรื่องความสามารถในการจ่ายเงินให้จบในตัวเองได้โดยไม่ต้องเด้งออกไปแอปอื่น ดูเหมือนว่าทาง Google ยังคงวางจุดยืนในแง่ที่ว่าเป็น Portal ในการส่งคนที่ต้องการออกไปหาผู้ให้บริการข้างนอก แต่ก็น่าสนใจว่าถ้าเมื่อไหร่มีระบบการจ่ายเงินที่จบในตัว Google Maps หรือผู้คนหันมาใช้บริการจ่ายเงินผ่าน Google Wallet อย่างจริงจัง เมื่อนั้น Google Maps คงจะถูกเรียกว่า Super App ได้เต็มปากไม่น้อยหน้าฝั่งตะวันออกหรือของจีนแต่อย่างไรครับ
ดูเหมือนว่าเงื่อนไขอีกอย่างที่จะเปลี่ยนผ่านจากการเป็นแอปหรือแพลตฟอร์มไปสู่ Super App ได้นั้นจะเป็นเรื่องของการใช้เงินได้ในตัวผ่านแพลตฟอร์มนี้ เพราะ Transaction data นั้นเป็นอะไรที่สำคัญมาก มันสามารถบอกได้เลยว่าตกลงแล้วสิ่งที่ผู้คนให้ความสนใจหรือพูดถึงนั้นสามารถเรียกเงินจากในกระเป๋าเราได้หรือเปล่า
เพราะถ้าธนาคารเปิด API ให้ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการต่างๆ เข้ามาเชื่อมต่อกับฐานลูกค้า User ที่มีมากมายได้ ถ้าดูจากภาพก็จะเห็นว่าการให้บริการทางการเงินกลายเป็นตลาดหรือที่เรียกว่า Marketplace Banking ขึ้นมาในทันใด ก็ไม่แปลกใจเลยถ้าพิจารณาดูว่าธุรกิจธนาคารในบ้านเราก็เริ่มก้าวเข้ามาสู่ตลาดนี้ด้วยระดับความพร้อมทั้งทางด้านการเงิน เทคโนโลยี หรือแม้แต่คนเก่งๆ ที่มีอยู่เต็มธนาคารเป็นทุนเดิมอยู่แล้วครับ
ยังไม่นับความสัมพันธ์ในระดับสูงหรือทางการเมืองที่เหล่าธุรกิจธนาคารเดิมต้องมีมากกว่าธุรกิจ Tech Startup ใหม่ๆ เป็นแน่แท้ เราคงจะได้เห็น Super App ที่เป็น Super Local App ของไทยในเร็ววันก็เป็นได้ และไม่แน่ว่าอาจจะขยายไปสู่ตลาดเพื่อนบ้านในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเช่นกัน
ลองดูคลิปวิดีโอที่ Visa พูดถึงอนาคตทางการเงินทิ้งทายเรื่องนี้กันครับ
สรุปซีรีส์คอนเทนต์ชุดกลยุทธ์ Super App Strategy
จากนิยามของ Super App ทั้งหมดที่เล่ามาในซีรีส์คอนเทนต์กลยุทธ์ Super App Strategy จะเห็นได้ว่าล้วนเริ่มจากการต่อยอด User หรือผู้ใช้งานที่มีว่าเราจะทำอย่างไรกับเขาต่อ แล้วหัวใจสำคัญคือการทำให้สามารถใช้เงินได้จบในตัวผ่าน App ดังกล่าว จากนั้นก็เพิ่มบริการต่างๆ เข้าไปให้สามารถใช้เงินได้ตั้งแต่เช้าจรดเย็นจบในแอปนี้แอปเดียวได้ในตัวโดยแทบไม่ต้องพึ่งพาแอปตัวอื่นเลย
นี่คือการสร้าง Digital Business Ecosystem ที่มีการจ่ายเงินหรือการทำ Transaction เป็นเส้นใยเชื่อมต่อธุรกิจต่างๆ ให้เข้ามาพร้อมกับฟูมฟัก Customer data ให้เพิ่มขึ้นทุกวัน
สุดท้ายแล้วทุกคนที่เข้ามายังแพลตฟอร์มของ Super App จะได้ประโยชน์กันถ้วนหน้า แต่ที่ดูเหมือนว่าจะได้ประโยชน์สุดก็คงหนีไม่พ้นตัวเจ้าของแพลตฟอร์มเองนี่แหละครับ
ในมุมมองผมคิดว่าธุรกิจในไทยที่น่าจะก้าวเข้าสู่การเป็น Super Local App ได้ในเร็ววันก็คงจะเป็นในกลุ่มธุรกิจธนาคาร เช่น Robinhood ที่เชื่อว่าในเร็วๆ นี้คงจะมีบริการอื่นๆ เพิ่มขึ้นมาอีก ในกลุ่มธุรกิจร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-Eleven ที่ถ้าใช้ Digital Wallet จะสะดวกสบายขึ้นมาก ในกลุ่มธุรกิจอย่าง True ที่เป็น Telco ที่มาพร้อมกับบริการทางด้านคอนเทนต์มากมาย และยังคงมีอีกหลายเจ้าที่ผมอาจจะยังนึกไม่ออกในวันนี้ครับ
สุดท้ายนี้อยากจะฝากถึงผู้บริหารหรือเจ้าของธุรกิจคนใดที่ตั้งเป้าว่าอยากจะสร้าง Super App ว่า ถามตัวเองดีๆ ว่าธุรกิจเราพร้อมด้วย 3 องค์ประกอบหลักทั้งหมดที่เล่ามาหรือยัง