ถ้าพูดถึงวงการเพลง หลายคนอาจเคยได้ยินว่ามันถึงจุดอิ่มตัวแล้วหรือเปล่า? แต่ขอให้คิดใหม่ค่ะ เพราะตอนนี้เทรนด์วงการเพลงไทย (Thai Music Trends) ไม่ได้อยู่ในช่วงขาลง แต่กำลังพุ่งทะยานอย่างเหลือเชื่อ แทนที่จะเป็นอุตสาหกรรมแบบ ‘Sunset’ อย่างที่บางคนกังวล แต่กำลังจะกลายเป็น ‘Sunrise’ ที่เปล่งประกายขึ้นมา เสียด้วยซ้ำ
แล้วอะไรเป็นตัวจุดประกายให้เพลงไทยกลับมาบูมอีกครั้ง? คำตอบอยู่ที่ Digital Streaming ค่ะ พฤติกรรมผู้ฟังเปลี่ยนเร็ว เทคโนโลยีล้ำขึ้นทุกวัน ทำให้เพลงไทยเข้าถึงคนทั่วโลกได้ง่ายขึ้นกว่าที่เคย และที่สำคัญคือ นี่ไม่ใช่เรื่องของแค่วงการเพลง แต่เป็นเทรนด์ที่ แบรนด์ต่าง ๆ ก็ต้องจับตาดูให้ดี
วันนี้เรามีข้อมูลจาก GMM MUSIC มาอัปเดตให้ทุกคนได้รู้กันค่ะ ใครที่ยังคิดว่านี่เป็นเรื่องเฉพาะกลุ่ม ขอบอกเลยว่า ถ้าแบรนด์พลาดเรื่องนี้ไป คุณอาจกำลังตกขบวนการตลาดครั้งใหญ่แบบไม่รู้ตัว
เพลงไทยกำลังโต และนักการตลาดไม่ควรมองข้าม
ลองนึกย้อนไปเมื่อสิบปีก่อน เวลาเราฟังเพลงต้องพึ่งแผ่นซีดี วิทยุ หรือการโหลดไฟล์ MP3 ทีละเพลงใช่ไหมคะ แต่ทุกวันนี้ เพลงไทยสามารถเข้าถึงผู้ฟังทั่วโลกได้ในพริบตาผ่าน Streaming Platforms ไม่ใช่แค่เรื่องของความสะดวกสบาย แต่มันเป็นตัวเร่งที่ทำให้วงการเพลงไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด ทั้งในแง่ของรายได้และโอกาสในการก้าวสู่ระดับสากลค่ะ
ปี 2023 รายได้จากอุตสาหกรรมเพลงไทยเติบโต 16% จากปีก่อน และ 88% ของการเติบโตนี้มาจาก Digital Streaming เพราะงั้นนี่ไม่ใช่แค่แนวโน้มชั่วคราว แต่มันสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในพฤติกรรมการเสพดนตรีของผู้บริโภคค่ะ
4 Key Thai Music Trends พลิกโฉมอุตสาหกรรมเพลง
1. The Rise of Digital Streaming พลิกโฉมวงการเพลงไทย
สังเกตไหมคะ เมื่อก่อนเวลาที่ศิลปินไทยอยากให้เพลงของตัวเองเป็นที่รู้จักในระดับโลก พวกเขาต้องพึ่งพาค่ายเพลงใหญ่ หรือทุ่มงบมหาศาลเพื่อทำตลาดในต่างประเทศ แต่วันนี้ ไม่ต้องแล้วค่ะ เพราะแค่ปล่อยเพลงลง Streaming Platforms อย่าง Spotify, Apple Music หรือ YouTube Music ก็สามารถไต่ขึ้นชาร์ตระดับโลกได้ภายในไม่กี่วัน
การฟังเพลงผ่าน Streaming ไม่ใช่แค่ “เทรนด์” แต่มันกลายเป็นพฤติกรรมหลัก ของผู้ฟังยุคใหม่แล้วค่ะ ในปี 2023 จำนวนผู้ใช้ Music Streaming ในไทยแตะ 3 ล้านคน เติบโตขึ้น 26% จากปีก่อน และที่สำคัญ Digital Streaming ยังเป็นตัวเร่งให้ตลาดเพลงทั่วโลกขยายตัว คาดการณ์ว่าภายในปี 2030 มูลค่าตลาดอุตสาหกรรมเพลงจะโตขึ้น 3 เท่า เลยทีเดียว
นี่แสดงให้เห็นว่าดนตรีไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ในประเทศอีกต่อไปค่ะ แต่สามารถกระจายไปทั่วโลกผ่าน Digital Streaming ที่ทั้งเร็ว ง่าย และไร้พรมแดน
2. Subscription Economy คนยอมจ่ายเพื่อ “ ประสบการณ์ที่ดีกว่า”
เมื่อก่อนหลายคนอาจลังเลที่จะจ่ายเงินเพื่อฟังเพลง แต่พฤติกรรมนี้เปลี่ยนไปแล้วค่ะ ทุกวันนี้คนมองว่า “ ความสะดวกสบายและคุณภาพเสียงที่ดีขึ้น” เป็นสิ่งที่คุ้มค่ากับเงินที่เสียไป
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ยอดสมาชิก YouTube Premium ในไทยเพิ่มขึ้น 2 เท่า จาก 99 บาท เป็น 179 บาท และยังมีโอกาสโตได้อีก 3 เท่า หากเทียบกับตลาดในประเทศที่พัฒนาแล้ว
อย่างไรก็ตาม Subscription Penetration ของไทยยังคงต่ำมากค่ะ ในปี 2023 อยู่ที่ 3.2% เท่านั้น แต่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 4 เท่าเป็น 11% ภายในปี 2030 และถ้าเทียบกับประเทศอื่น เช่น ญี่ปุ่นและเกาหลี (ที่มี penetration อยู่ที่ 25%) หรือสหรัฐฯ และสวีเดน (ที่แตะ 45%) ไทยยังมีช่องว่างให้เติบโตอีกมาก
นี่เป็นสัญญาณว่าผู้ใช้ไม่ได้ต้องการแค่ฟังเพลงฟรีแล้วค่ะ แต่ต้องการประสบการณ์ที่ “พรีเมียม” ทั้งคุณภาพเสียงที่ดีขึ้น ไม่มีโฆษณาคั่น และการเข้าถึงคอนเทนต์พิเศษที่คนทั่วไปไม่มีโอกาสดู
3. Music IP as a Goldmine ขุมทรัพย์ที่สร้างรายได้แบบไร้ขีดจำกัด
ถ้าพูดถึงสิ่งที่มีมูลค่ามหาศาลในวงการเพลงตอนนี้ ไม่ใช่แค่ ยอดวิว หรือยอดสตรีม นะคะ แต่คือ Music IP หรือ ทรัพย์สินทางปัญญาของเพลง ยิ่งมีมาก ยิ่งสร้างรายได้ได้แบบไม่มีวันหมดค่ะ!
ศิลปินหรือค่ายเพลงที่มี Music IP จำนวนมาก จะได้เปรียบอย่างมาก เพราะสามารถทำเงินได้จากหลายช่องทาง เช่น
การให้ลิขสิทธิ์เพลงไปใช้ในโฆษณา ภาพยนตร์ หรือวิดีโอเกม
การ Remix Rearrange หรือทำเวอร์ชันใหม่ของเพลงเก่า
คอนเสิร์ตออนไลน์ และ Podcast ที่ใช้เพลงเป็นองค์ประกอบหลัก
Music IP คือ “สินทรัพย์” ที่มีมูลค่าไม่รู้จบค่ะ ค่ายเพลงหรือศิลปินที่มีคลังเพลงขนาดใหญ่ จะมีรายได้ต่อเนื่องในระยะยาว โดยไม่ต้องพึ่งพาแค่เพลงใหม่ ๆ อย่างเดียว
4. Evergreen Hits คนไทยฟังเพลงมากกว่าเล่นโซเชียล!
หลายคนอาจคิดว่าโซเชียลมีเดียเป็นสื่อที่คนใช้เวลามากที่สุด แต่รู้ไหมคะว่า คนไทยฟังเพลงมากกว่าการเล่นโซเชียลเสียอีก!
จากผลสำรวจของ Luminate Music Consumption Study ปี 2023 พบว่า 75% ของคนไทยฟังเพลงเป็นกิจกรรมความบันเทิงหลัก มากกว่าการดูคลิปสั้น (60%) หรือเล่นโซเชียลมีเดีย (56%)
เพลงจึงกลายเป็น Evergreen Content ที่ไม่มีวันตายค่ะ ไม่ว่าจะเป็นเพลงใหม่ เพลงเก่า หรือเพลงไทย ล้วนมีเสน่ห์ที่ทำให้คนฟังซ้ำ ๆ ได้แบบไม่มีเบื่อ และที่น่าสนใจคือ คนไทย 87% ยังคงชอบดู MV มากกว่าฟังเฉพาะเสียงเพลง
แล้วอะไรทำให้เพลงฮิตอยู่ได้ข้ามยุค?
เพลงคือเพื่อนในทุกช่วงเวลา – ไม่ว่าจะสุข เศร้า เหงา หรือสนุกสนาน เพลงคือสิ่งที่อยู่เคียงข้างเราเสมอ
คุณค่าทางใจที่เหนือกาลเวลา – บางเพลงกลายเป็นความทรงจำร่วมของคนทั้งรุ่น เช่น เพลงของพี่เบิร์ด ธงไชย Bodyslam หรือ Palmy ที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปแค่ไหน ก็ยังร้องตามกันได้
แพลตฟอร์มดิจิทัลช่วยเสริมพลัง – TikTok, YouTube Shorts และ Reels ทำให้เพลงเก่ากลับมาฮิตใหม่ได้เสมอ เหมือนที่เราเห็นเพลงยุค 90s หรือ 2000s กลับมาดังในปัจจุบัน
AI image generated by Shutterstock (Prompt : A cinematic shot of a young woman in a cozy sweater, wearing large over-ear headphones, dancing freely in her bedroom, fairy lights glowing softly, an expression of pure happiness on her face, warm and intimate atmosphere, cinematic composition)
ดนตรีไม่เคยตายค่ะ และมันกำลังกลายเป็นโอกาสทางธุรกิจที่แบรนด์ต่าง ๆ ไม่ควรมองข้าม
แบรนด์จะใช้เพลงให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร?
สร้าง Branded Playlist ให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของลูกค้า เช่น เพลย์ลิสต์สำหรับขับรถ ออกกำลังกาย หรือดื่มกาแฟ แล้วโปรโมทผ่านโซเชียล หรือร่วมมือกับอินฟลูเอนเซอร์ให้ช่วยแชร์ เพื่อให้เพลย์ลิสต์กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของลูกค้า
ทำ Music-driven Campaign เช่น จัด TikTok Challenge โดยใช้เพลงที่กำลังเป็นกระแส หรือเลือกเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ (Signature Sound) ใส่ในคอนเทนต์โฆษณา เพื่อสร้างการจดจำ เช่น เสียงเปิดแอปพลิเคชัน เสียงแจ้งเตือน หรือเสียงที่ฟังแล้วรู้ทันทีว่าเป็นแบรนด์คุณ
ใช้ Nostalgia Marketing นำเพลงเก่ามาสร้างความเชื่อมโยงทางอารมณ์ เช่น ใส่ในโฆษณา รีมิกซ์เพลงฮิต หรือทำแคมเปญธีมย้อนยุค ที่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกผูกพันกับแบรนด์ผ่านความทรงจำที่มีร่วมกับเพลงนั้น
พิจารณาโมเดล Subscription เช่น ให้สมาชิกได้รับเพลย์ลิสต์พิเศษ สิทธิ์เข้าถึงอีเวนต์ทางดนตรี หรือโปรโมชั่นพิเศษที่เชื่อมโยงกับศิลปิน เพื่อสร้างความภักดีและทำให้ลูกค้ารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของคอมมูนิตี้ของแบรนด์
ร่วมมือกับศิลปิน หรือใช้ Music IP เช่น คอลแลบกับศิลปินเพื่อออกสินค้าพิเศษ หรือสนับสนุนการปล่อยเพลงใหม่ โดยอาจไม่มีการกล่าวถึงแบรนด์โดยตรง แต่ใช้วิธีโปรโมทร่วมกันผ่านกิจกรรม แคมเปญโฆษณา หรือการจัดอีเวนต์ เพื่อให้แบรนด์เข้าถึงกลุ่มแฟนเพลงของศิลปินได้อย่างแนบเนียน
แบรนด์ที่ใช้พลังของดนตรีได้ดี ไม่เพียงแต่สร้างความจดจำ แต่ยังเข้าถึงอารมณ์ของผู้บริโภคได้ลึกขึ้น นี่คือโอกาสที่ไม่ควรพลาดค่ะ
สรุป 4 Key Thai Music Trends เมื่อคนไทยฟังเพลงมากกว่าเล่นโซเชียล
จากทั้งหมดที่กล่าวมา ผู้เขียนเชื่อว่าอุตสาหกรรมเพลงไทยกำลังอยู่ในช่วงที่น่าตื่นเต้นที่สุดค่ะ และไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องของศิลปินหรือค่ายเพลงอีกต่อไป แต่มันคือโอกาสมหาศาลสำหรับแบรนด์ นักการตลาด และธุรกิจที่ต้องการเชื่อมโยงกับผู้บริโภคผ่านพลังของดนตรี
เพราะในโลกที่ผู้บริโภคถูกถาโถมด้วยโฆษณาและคอนเทนต์มากมายทุกวัน ดนตรีคือสื่อที่สามารถเข้าถึงอารมณ์และความรู้สึกของพวกเขาได้ลึกซึ้งกว่าสิ่งใด ทั้งสร้างความทรงจำ กระตุ้นอารมณ์ และที่สำคัญคือ อยู่กับผู้คนทุกที่ ทุกเวลา
ดังนั้น แบรนด์ที่สามารถใช้ดนตรีให้เป็นมากกว่าพื้นหลังของโฆษณา ให้เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ที่ผู้บริโภคอยากจดจำ จะเป็นแบรนด์ที่สามารถสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวกับลูกค้าได้อย่างแท้จริงค่ะ แล้วพบกันใหม่บทความหน้านะคะ :0)
อ่านบทความเพิ่มเติมที่นี่