เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาทีมการตลาดวันละตอนมีโอกาสได้ไปเที่ยวทริป Osaka ที่ประเทศญี่ปุ่นครับ ซึ่งผมเองก็คือหนึ่งในคนที่ไปทริปนี้ จริง ๆ แล้วต้องบอกว่าที่นั่นมีหลายอย่างที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Marketing ให้เรานำมาคิดวิเคราะห์ต่อยอด และในบทความนี้ผมจะมาเขียนถึงประเด็นเรื่องของ Muketing การถอด Customer Insight จากเครื่องรางของขลังจากศาลเจ้าประเทศญี่ปุ่นกันครับ เรื่องราวเป็นยังไง เครื่องรางของขลังสามารถนำมาถอด Customer Insight ได้อย่างไร สามารถติดตามได้ในบทความนี้เลยครับ
จุดประกายไอเดีย
ต้องเล่าก่อนว่าศาลเจ้าที่ผมไปชื่อว่า Namba Yasaka Shrine ซึ่งเป็นศาลเจ้าที่ตั้งอยู่ในย่านนัมบะ ของเมืองโอซาก้า ศาลเจ้านี้มีความโดดเด่นที่รูปปั้นสิงโตขนาดใหญ่ที่อ้าปาก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการป้องกันภัยและการขับไล่สิ่งชั่วร้ายครับ แต่สิ่งที่ผมสังเกตุเห็นก็คือ “เครื่องรางของขลัง” ที่ศาลเจ้านี้มีให้เลือกซื้อครับ ซึ่งได้รับความนิยมจากทั้งคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวต่างชาติ (โดยเฉพาะคนไทย)
หลายคนมีความเชื่อว่าเครื่องรางของขลังที่ขายที่ศาลจะช่วยปัดเป่าสิ่งที่ไม่ดีหรือบันดาลให้ประสบความสำเร็จ หรือสมหวังในเรื่องนั้น ๆ ที่ตนตั้งใจไว้ ซึ่งเครื่องรางในแต่ละชิ้นก็มีความศักดิ์สิทธิ์ในเรื่องต่างกันไป เช่น ช่วยให้สอบผ่าน ช่วยให้หางานได้ ช่วยให้ปลอดภัยในการจราจร และอีกหลาย ๆ อย่าง ซึ่งผมขอเรียกว่าฟีเจอร์ของเครื่องรางแล้วกันครับ
ประเด็นนี้แหละครับที่น่าสนใจ คำถามผุดขึ้นมาในหัวทั้นทีว่าสิ่งเหล่านี้ใช่เรื่องที่คนที่นี่กังวลหรือเปล่า ซึ่งผมมองว่าโอกาสที่น่าจะเป็นแบบนั้นค่อนข้างสูง คนอาจจะมาขอพรเขียนสิ่งที่ต้องการลงไปในกระดาษ และนำไปทำพิธี ทำให้ทางศาลเจ้ารู้ว่าคนเหล่านี้มีความกังวล ความไม่สบายใจ ความกลัว หรือความต้องการเกี่ยวกับเรื่องไหนจึงเป็นที่มาขอฟีเจอร์ในเรื่องต่าง ๆ ในเครื่องรางของขลังครับ
ดังนั้นผมจึงมองว่าฟีเจอร์ต่าง ๆ ของเครื่องรางของขลัง สามารถสะท้อน Customer Insight ได้เป็นอย่างดีเลยล่ะครับ ว่าคนที่มาที่นี่กังวลเรื่องอะไร มากไปกว่านั้นคนที่มาซื้อบางทีไม่ได้ซื้อให้ตัวเองแต่ยังซื้อไปฝากคนอื่นอีกด้วย ลองมาวิเคราะห์เล่น ๆ กันนะครับ ในเรื่องของ Passing an Exam อาจบ่งบอกได้ว่าคนที่มาที่นี่มีความจริงจังและความกังวลเกี่ยวกับการศึกษาอย่างมาก หรือ Good Match/Marriage เครื่องรางที่ช่วยเรื่องการจับคู่และการแต่งงานอาจสะท้อนให้เห็นว่าในความสัมพันธ์และการแต่งงานยังคงมีความสำคัญมากและยังเป็นปัญหาอยู่ การสร้างชีวิตครอบครัวที่มั่นคงถือเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในชีวิตครับ
มากไปกว่านี้หากเราสามารถรู้ได้ว่าเครื่องรางแบบไหนขายดีที่สุด หรือลองมองลึกลงไปอีกเครื่องรางไหนขายดีเป็นพิเศษช่วงเวลาไหนจะทำให้เราสามารถเข้าใจ Insigth ของคนที่มาที่นี่ผ่านเครื่องรางได้เลยล่ะครับ ซึ่งผมมองว่านี่แหละคือ Insight ที่แท้จริง
การปรับใช้ในการตลาด และธุรกิจ
ผมมองว่าการวิเคราะห์ Customer Insight จากเครื่องรางของขลังไม่ว่าที่ไหนก็ตาม สามารถนำไปใช้ในกลยุทธ์การตลาดได้หลายมิติครับ ถ้าเรามองในเชิงการตลาดเครื่องรางเหล่านี้ไม่เพียงแค่เป็นสินค้าที่คนซื้อเพื่อตอบสนองความเชื่อทางศาสนาและจิตใจเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงความรู้สึกและความต้องการของลูกค้า ซึ่งเราสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจได้ครับ
1. รู้ความกังวลและความต้องการของลูกค้า
เครื่องรางของขลังแต่ละชิ้นมักจะตอบสนองต่อความกังวลหรือความต้องการที่เฉพาะเจาะจง เช่น
- เครื่องรางช่วยให้สอบผ่าน แสดงถึงความกังวลเกี่ยวกับการศึกษา ซึ่งเป็นปัญหาที่หลายคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ การสอบไม่เพียงแค่สะท้อนถึงการทดสอบความรู้ แต่ยังเป็นการวัดอนาคตและโอกาสในชีวิตการทำงานด้วย
- เครื่องรางสำหรับการหางาน อาจสะท้อนถึงความกังวลเกี่ยวกับอนาคตทางอาชีพ หลายคนอาจรู้สึกไม่มั่นใจในเส้นทางการทำงานของตัวเอง โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน การหางานที่ดีหรือการได้งานที่ตรงกับความสามารถจึงเป็นความต้องการหลัก
- เครื่องรางสำหรับความปลอดภัยในการเดินทาง อาจสะท้อนถึงความวิตกกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการเดินทางที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและความเป็นอยู่ของครอบครัว
สิ่งเหล่านี้เป็น Customer Insight ที่สามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อต่อยอดกลยุทธ์ทางการตลาดได้ครับ โดยการเสนอสินค้าหรือบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในขณะนั้น
2. การวิเคราะห์เทรนด์และเวลา
หากเราสามารถรวบรวมข้อมูลการขายเครื่องรางในแต่ละช่วงเวลา เช่น เดือนที่มีการสอบ หรือช่วงเทศกาลต่าง ๆ เราจะสามารถวิเคราะห์เทรนด์ความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้น ตัวอย่างเช่น
- เครื่องรางสอบผ่าน อาจขายดีในช่วงใกล้สอบกลางภาคหรือตอนที่มีการสอบเข้ามหาวิทยาลัย
- เครื่องรางเกี่ยวกับการหางาน อาจได้รับความนิยมในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงหรือในช่วงที่มีการเปิดรับสมัครงาน
การวิเคราะห์เทรนด์เหล่านี้สามารถช่วยให้เราทราบว่า ช่วงเวลาไหนที่ความต้องการของลูกค้าสูงสุด และเราสามารถใช้ข้อมูลนี้ในการวางแผนการตลาดที่เน้นช่วงเวลาได้ เช่น การโปรโมทสินค้าหรือบริการในช่วงที่มีความต้องการสูงสุดครับ หรือจะออกแคมเปญการตลาดแบบง่าย ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น ๆ ได้ครับ
สรุป Muketing ถอด Customer Insight จากเครื่องรางศาลเจ้าประเทศญี่ปุ่น
การสังเกตเครื่องรางของขลังที่ขายให้กับทั้งคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์และถอด Customer Insight ที่ซ่อนอยู่ในฟีเจอร์ต่าง ๆ ของเครื่องรางได้ครับ เครื่องรางไม่เพียงแค่เป็นของที่ช่วยเสริมความเชื่อทางศาสนา แต่ยังสะท้อนถึงความกังวลและความต้องการของลูกค้าในแต่ละช่วงเวลา เช่น ความกังวลเกี่ยวกับการสอบ การหางาน หรือการเดินทาง ความเชื่อเหล่านี้เป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเข้าใจลูกค้าในมิติต่าง ๆ ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้ในกลยุทธ์การตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพครับ
นอกจากนี้การวิเคราะห์เทรนด์และความต้องการของลูกค้าจากข้อมูลการขายเครื่องรางในช่วงต่าง ๆ ยังสามารถช่วยให้เราเข้าใจพฤติกรรมและความคาดหวังของลูกค้าได้อย่างละเอียด การรู้ว่าเครื่องรางชนิดใดขายดีในช่วงไหน จะช่วยให้ธุรกิจสามารถออกแคมเปญหรือโปรโมชันที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าในแต่ละช่วงเวลา และเพิ่มโอกาสในการสร้างการมีส่วนร่วมและยอดขายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สุดท้ายแล้วการใช้ Customer Insight ที่ได้จากเครื่องรางของขลังเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ จะช่วยให้เราเข้าใจลูกค้าได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น และสามารถนำมาปรับใช้ในกลยุทธ์การตลาด เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุดครับ
บทความที่แนะนำให้อ่านต่อ