การตลาดโรงแรม สร้าง Brand Trust พาหนีจากที่พักไม่ตรงปก

เชื่อว่าหลาย ๆ คนที่ชอบเดินทางท่องเที่ยวไม่ว่าจะไปพักที่ใกล้ที่ไกล ในประเทศหรือต่างประเทศ คงต้องเคยประสบพบเจอกับปัญหาที่ว่า ‘ที่พักไม่ตรงปก’ กันมาบ้างไม่มากก็น้อย และในบางครั้งก็ไม่สามารถจะทำอะไรได้นอกซะจากทนนอนไปทั้งอย่างนั้น แต่ในบทความนี้จะพาทุกคนมาดู การตลาดโรงแรม City Lodge Hotels เครือโรงแรมในโซนแอฟริกาใต้ที่เข้ามาช่วยเหลือเหล่านักท่องเที่ยวให้รอดพ้นจากที่พักที่ไม่โอเค เพื่อสร้าง Brand Trust

ที่มาที่ไปของแคมเปญ Save Our Stay (SOS)

อย่างที่ได้เกริ่นกันไปตั้งแต่แรกว่าใครที่ชอบเดินทางท่องเที่ยวบ่อย ๆ หรือแม้แต่คนทั่วไปที่ไปท่องเที่ยวหรือจำเป็นต้องเดินทางไปมา พักที่นั่นนอนที่นี่ตามแต่โอกาส คงต้องเคยเจอปัญหาที่พักไม่ตรงปก โดนจกตากันไปเต็ม ๆ มาบ้างไม่มากก็น้อยใช่ไหมล่ะ

ซึ่งตอนแรกที่สรรหาข้อมูลจองโรมแรมหรือใน Airbnb ทุกอย่างก็ดูเหมือนเป็นที่พักที่ Perfect ไร้ที่ติซะเหลือเกิน ภาพสวยทุกมุม วาดฝันไว้ว่าพอไปถึงคงจะได้นอนหลับพักผ่อนอย่างสบายใจ

แต่ความเป็นจริงที่หลาย ๆ คนได้ไปพบเจอ(จนมาเห็นกับตาจนพาใจมาเจ็บ) ต้องบอกว่าสภาพความเป็นจริงนั้นมันช่างแตกต่างจากภาพที่คิดจินตนาการเอาไว้ซะเหลือเกิน โดนภาพสวย ๆ ในเว็บไซต์หลอกเอาซะแล้ว

และหารู้ไม่ว่าจริง ๆ แล้วประสบการณ์อะไรแบบนี้เป็นปัญหายอดฮิตที่พบเจอได้บ่อยจริง ๆ ค่ะ ถึงขั้นที่ว่ามีกว่า 70% ของผู้ใช้งาน Airbnb ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่มากเลยทีเดียว ที่เจอประสบการณ์ที่ไม่ดีแบบนี้แล้วมารีวิวลงบนแพลตฟอร์มด้วย ซึ่งเป็นรีวิวในแง่ลบน่ะสิ

City Lodge Hotels เครือโรงแรมในแอฟริกาใต้ ด้วยความที่แน่นอนว่าเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้โดยตรงมาก ๆ จึงอยากเข้ามาแก้ Pain Point พร้อมสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ตัวเองด้วย ล้างภาพประสบการณ์ที่ไม่ดีในหัวของใครหลาย ๆ คนทิ้งไปเพราะโรงแรมฉันตรงปกไม่จกตา จึงได้ร่วมมือกับเอเจนซี่ TBWA\Hunt Lascaris ในการคลอดแคมเปญ Save Our Stay (SOS) นี้ออกมานั่นเอง

โดยได้เปิดตัวแคมเปญไปในเดือนพฤศจิกายน 2024 ที่ผ่านมานี้เองค่ะ จุดประสงค์ก็คือตามชื่อ SOS เลยจริง ๆ เพราะต้องการช่วยเหลือนักท่องเที่ยวที่ไปพักผ่อนแต่ผิดหวังจากที่พักที่ไม่มีคุณภาพหรือไม่ได้มาตรฐาน

ซึ่งทำเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ขึ้นมาเพื่อใช้ในการระบุตำแหน่งของนักท่องเที่ยว(ที่กำลังผิดหวังอยู่)ว่าตอนนี้ไปพักอยู่ตรงไหน หลังจากนั้นระบบจะแนะนำให้ไปยังโรงแรมของ City Lodge ที่อยู่ใกล้บริเวณนั้นมากที่สุดนั่นเองค่ะ ทั้งนี้ยังให้ส่วนลดสูงสุดถึง 30% ยาใจคนอกหักจากที่พักเดิม~

แต่ทั้งนี้ไม่ได้มีแค่แนะนำโรงแรมของตนในบริเวณที่ใกล้ที่สุดเท่านั้น แต่ยังมี Option ให้คนเลือกไปให้ไกลจากที่เดิมด้วย คือมีตัวเลือกในการค้นหาโรงแรมทั่วแอฟริกาใต้ สำหรับคนที่อยากจะหนีไปให้พ้นนนนนจากที่พักแรกมากที่สุด

และเพื่อไม่ให้ดูเจ็บปวดดุดันกันซะจนเกินไป ตัววิดีโอแคมเปญเลยถูกสื่อสารและถ่ายทอดออกมาผ่านความตลกขบขันค่ะ โดยโปรโมทเป็นโฆษณาในทีวีสั้น ๆ แบบฮา ๆ คือโชว์ให้เห็นว่ามีผู้หญิง 2 คนเดินทางไปพักที่ที่พักแห่งหนึ่ง ที่ผนังเป็นเชื้อราด้วยซ้ำ แต่พนักงานก็ยังคงต้อนรับยิ้มแย้มถึงในห้อง และจบลงด้วยฉากที่ชวนช็อกยิ่งกว่าสภาพห้องโทรม นั่นก็คือพนักงานต้อนรับนอนอยู่ในห้องด้วย คือแชร์ห้องกันเพียงแค่มีม่านกั้น

สร้าง Brand Trust ผ่านการเข้าใจ Pain Point

ต้องบอกก่อนว่าก่อนหน้านี้เมื่อประมาณปีที่แล้ว City Lodge Hotels ได้มีการ Rebranding ใหม่มาก่อน จากเดิมที่วางตัวเองเป็นโรงแรมราคาประหยัด เปลี่ยนมาเป็นการเน้นดึงดูดนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ ๆ แทน เลยมาพร้อมสโลแกนที่ว่า ‘Life is hard, check into easy’

เดี๋ยวจะเขียนเล่าอีกแคมเปญของ City Lodge Hotels ที่ตั้งใจถ่ายทอดสโลแกนนี้มาก ๆ ฝากติดตามในบทความหน้าด้วยนะคะ แต่นั่นล่ะค่ะซึ่งภาพจำแบรนด์ฉบับใหม่ก็คือจะสื่อถึงความหมายที่ว่าชีวิตคนเรานั้นเจอแต่เรื่องยาก ๆ มามากพอแล้ว ให้การไปพักผ่อนเป็นเรื่องที่ง่ายเถอะ

ซึ่งมันก็สะท้อนกลับไปถึงการเริ่มจากเข้าใจถึงปัญหาหรือ Pain Point ที่คนในแอฟริกาใต้ต้องเจอจริง ๆ ก่อน จากที่ได้เล่ากันไปด้านบนว่ามีคนจำนวนมากที่ต้องมาเจอประสบการณ์ที่ไม่ดีและต้องผิดหวังจากที่พักที่ตัวเองตั้งใจจะไปพักผ่อนอย่างสุขกายสบายใจ

หลาย ๆ ความยากลำบาก ประสบการณ์ที่ไม่ดี ความผิดหวังต่าง ๆ ของคนเหล่านี้ ทำให้แคมเปญนี้แบรนด์เลยหันมาวาง Position ตัวเองให้เป็นเหมือน ‘Safe Zone’ สำหรับลูกค้านั่นล่ะค่ะ และเมื่อลูกค้าประทับใจหรือมี Experience ดี ๆ ร่วมกับแบรนด์ แน่นอนว่าคราวนี้ก็จะเกิดความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น คนค่อย ๆ มั่นใจในแบรนด์ และพัฒนาเป็น Relationship ในระยะยาววววกันต่อไปได้ไม่ยากเลย

Location-based marketing

แคมเปญนี้ก็มีเรื่องของการใช้ Location-based มาเกี่ยวข้องด้วย อย่างที่ได้เล่ากันไปว่าตัวระบบสามารถระบุตำแหน่งของนักท่องเที่ยวที่กำลังมีปัญหาน่าปวดหัวปวดใจกับที่พัก พร้อมลีดคนไปยังโรงแรม City Lodge ที่อยู่ใกล้ที่สุดแบบ Real Time เว่อร์ หรือถ้าอยากจะหนีไปให้พ้นก็มีโรงแรมทั่วประเทศให้เลือกสรรได้เลยตามใจ ทำให้สามารถแย่งลูกค้าของคู่แข่งหรือ Take Action ได้ค่อนข้างเร็วเลยล่ะค่ะในสถานการณ์แบบนี้

คือนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เพราะแบบนี้คือไม่ว่าลูกค้าจะอยู่ที่ไหนก็สามารถเข้าถึงเราได้ แล้วเรายังช่วยแก้ปัญหาให้เขาได้อยู่ตลอดเวลาอีกด้วย มีหลากหลายทางให้คนเลือกในการจะจัดการกับปัญหา ไม่ต้องทนอยู่ที่เดิม อยากจะเปลี่ยนไปใกล้หรือไกลแค่ไหนก็ตามแต่ความต้องการหรือความเหมาะสมกับสถานการณ์ของแต่ละคนจะเลือกในตอนนั้น

อีกทั้งยังมีส่วนลดให้สูงสุด 30% คือคนเราแน่นอนว่ายิ่งกำลังเพิ่งเจอประสบการณ์ที่ไม่ดีมา ถ้าต้องย้ายที่พักใหม่ก็คงไม่มีใครอยากจะเสียเงินซ้ำซ้อนหลายเด้งมากนัก การให้ส่วนลดก็เป็นสิ่งที่เรียกว่าช่วยจรรโลงใจได้เช่นเดียวกัน ซึ่งก็สร้างความประทับใจดี ๆ ตามมา

การตลาดโรงแรม สร้าง Brand Trust พาหนีจากที่พักไม่ตรงปก

AI-Generated Image by Shutterstock (Prompt: create photography, two women staying in a hotel, water leaked from the roof, disappointing accommodation, no deformed face.)

เป็นยังไงกันบ้างคะสำหรับบทความนี้ที่ได้พาทุกคนมาดู การตลาดโรงแรม สร้าง Brand Trust พาหนีจากที่พักไม่ตรงปก เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของแคมเปญที่สร้าง Brand Trust ผ่านความจริงจังน่าเชื่อถือแต่ไม่เครียด เพราะใช้อารมณ์ขันเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการถ่ายทอดแคมเปญนี้ออกมาด้วย ซึ่งสามารถช่วยแก้ Pain Point ที่คนประสบพบเจอกับ Experience ที่ไม่ดีได้จริง ๆ เพราะในฐานะธุรกิจโรงแรมหรือที่พักต่าง ๆ แน่นอนว่าสิ่งสำคัญคือการมอบประสบการณ์ดี ๆ ให้กับผู้คน ให้เป็นการได้มาพักผ่อนได้อย่างสุขกายสบายใจแบบแท้จริง

ทั้งนี้หวังว่าทุกคนจะได้ไอเดียใหม่ ๆ ความรู้ดี ๆ และสาระประโยชน์กลับไปไม่มากก็น้อยนะคะ แล้วเจอกันใหม่ในบทความหน้าค่า และสามารถติดตามบทความด้านการตลาดเพิ่มเติมได้จากเพจการตลาดวันละตอนที่ เว็บไซต์ Facebook Instagram Twitter และ Youtube ได้เลย

Source

เฟิร์น Marketing Content Creator แห่งการตลาดวันละตอน รักแมวอ้วนและหมาโกลเด้น ชอบงานศิลปะและท่องเที่ยวธรรมชาติ ตั้งใจสร้างสรรค์ทุกผลงาน ฝากเป็นกำลังใจและติดตามคอนเทนต์ใหม่ ๆ ต่อจากนี้ด้วยค่ะ <3

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *