การทำ Data Visualization ธุรกิจท่องเที่ยว มีประโยชน์อย่างไรบ้าง
สวัสดีค่าทุกคน วันนี้ได้มีโอกาสไปงาน THE GUIDETECH การใช้เครื่องมือ Martech ในธุรกิจท่องเที่ยว ที่จัดโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยได้สรุป Session : Data และเคล็ดลับการสร้าง Data Visualization เพื่อเสริมจุดแข็งให้ธุรกิจท่องเที่ยว ที่บรรยายโดยคุณณัฐพล ม่วงทำ หรือพี่หนุ่ย จากเพจการตลาดวันละตอน มาให้ทุกคนได้อ่านเป็นความรู้กันค่า
โดยสาระสำคัญจะเกี่ยวกับการทำ Data Visualization หรือการเปลี่ยน Data ให้เป็นภาพ คือการอ่านภาษา Data ให้ออก โดยจะยกตัวอย่างจากโปรเจค Data Research Insight 76 จังหวัดทั่วไทย โปรเจคนี้เริ่มมาจากการที่พี่หนุ่ยคิดว่าธุรกิจท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของไทย เลยอยากทำขึ้นมาให้คนได้ใช้กัน โดยเฉพาะคนที่เป็นเจ้าของธุรกิจรายเล็ก sme รายย่อย ที่อาจจะไม่ได้มี Resource หรือมีเงินทุนในการทำ Data มากนัก ผ่านการใช้ Social Listening จนทำให้เราสามารถเห็นข้อมูลเชิงลึกมากขึ้น และนำไปต่อยอดวางแผนการทำการตลาดต่อไปได้ค่ะ
ตัวอย่างการนำ Data และ Data Visualization จากโปรเจค Data Research Insight 76 จังหวัดทั่วไทย ไปต่อยอดการทำการตลาด
จุดเช็คอินยอดนิยม
รู้แล้วได้อะไร? เราสามารถเช็คตัวเองได้ว่าเรามีจุดขายแบบนั้นรึเปล่า
ต้นปี 2022 คนเช็คอินมากที่สุดคือคาเฟ่ 48%
ปลายปี 2022 – ต้นปี 2023 คนเช็คอินมากที่สุดคือที่พัก 36% รองลงมาคาเฟ่ 25%
ดังนั้นเมื่อเข้าสู่ช่วงปลายปีคนเที่ยวคาเฟ่ลดลง และในเมื่อเราได้รู้ว่าที่พักเป็นหนึ่งในจุดที่คนเช็คอินเยอะ แล้วที่พักเราสวยพอที่คนจะมาถ่ายรูปไปโพสต์แชร์เช็คอินไหม ถ้ายังไม่มีก็อาจจะมีปัญหา อาจต้องมาพิจารณาในการปรับเพิ่ม เช่น สร้างจุดการทำ Instagramable ให้คนมาถ่ายรูป เป็นต้น
ไปเที่ยวกับใคร? ภาพรวมทั้งประเทศ
ต้นปี 2022 เที่ยวกับครอบครัวมากสุด 61% รองลงมาเที่ยวคนเดียว 18%
ปลายปี 2022 – ต้นปี 2023 ครอบครัวยังอันดับ1 แต่สัดส่วนลดลง คนเริ่มเที่ยวกับเพื่อนมากขึ้นเป็น 35% และเริ่มมีคนมากับสัตว์เลี้ยง
เมื่อเราเห็น Data และเริ่มเข้าใจ Insight ในแต่ละช่วงเวลาที่เปลี่ยนไป เพราะไม่ใช่ทุกเวลาที่เทรนด์หรือ Insight จะเหมือนเดิม ก็จะทำให้ต่อยอดและนำไปใช้ต่อได้ เช่น
ช่วงต้นปี คนยังเที่ยวคนเดียวเยอะ เราอาจต่อยอดไปสู่แพ็คเกจคนเหงา จัดโปรโมชัน แพคเกจ หรือบริการให้ตอบโจทย์สำหรับคนที่มาเที่ยวคนเดียว
เมื่อเข้าช่วงปลายปี คนเที่ยวกับเพื่อนเพิ่มขึ้น อาจทำเป็นห้องนอนกลุ่ม
การเริ่มเห็นเทรนด์เที่ยวกับสัตว์เลี้ยงติดอันดับมาในช่วงปลายปี ดังนั้นก็ทำให้ได้เช็คว่าที่พักเราเป็น Pet Friendly รึเปล่า หรือมีสัตว์เลี้ยงของที่พักที่ให้คนไปพักได้เล่นด้วยไหม เป็นต้น
พักกี่คืน?
การเห็นข้อมูลเป็นภาพแบบรายจังหวัด ว่าเวลาคนไปเที่ยวจังหวัดนั้น ๆ ส่วนใหญ่เขาพักกันกี่คืน ทำให้เราเช็คตัวเองได้ว่าคนที่มาพักที่โรงแรมของเรามีมากหรือน้อยกว่าปกติที่ควรจะเป็น ถ้าน้อยกว่าอาจจะต้องปรับแพคเกจใหม่ให้คนอยู่กับเรานานขึ้น เป็นต้น
มากับใคร? รายจังหวัด
จังหวัดที่คนไปเที่ยวกับครอบครัวเยอะที่สุด เช่น ภูเก็ต ปกติบางทีไปเที่ยวกับครอบครัวนอนห้องเดียวไม่พอ โรงแรมเราก็ควรมีห้องที่เชื่อมถึงกันได้ง่าย หรือมี Family Package เป็นต้น
จังหวัดที่คนไปกับเพื่อนเยอะ เช่น เชียงราย ก็ทำ Package สำหรับคนที่ไปเที่ยวกันเป็นกลุ่ม โปรโมชันกับเดอะแก๊ง
จังหวัดที่คนไปเที่ยวคนเดียวเยอะ เช่น น่าน ก็ทำจุดขายหรือแพคเกจเพื่อคนที่ไปเที่ยวคนเดียว ดูว่าคนไปเที่ยวคนเดียวต้องการอะไร ปกติส่วนใหญ่ผู้หญิงไปเที่ยวคนเดียวมากกว่าผู้ชาย อาจให้ความสำคัญกับเรื่องของความปลอดภัยหรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่เขาต้องการ เพื่อตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายให้ได้มากที่สุด
Highlight ข้อมูลบางส่วนจากการทำ Data Reseach Insight จังหวัดขอนแก่น
คนมาทำกิจกรรมอะไรที่ขอนแก่น?
พบว่ากิจกรรมที่มาเป็นอันดับ 1 คือ ดูคอนเสิร์ต 44.5% เรียกได้ว่าคอนเสิร์ตเป็น Soft Power ของขอนแก่นกันเลยทีเดียว
ดังนั้นก็เป็นการเปิดแง่คิดให้กับจังหวัดอื่น ๆ ได้ว่าหากขอนแก่นทำคอนเสิร์ตได้ แล้วจังหวัดของเราทำได้ไหม หรือมีกิจกรรมอะไรที่จะช่วยชูการท่องเที่ยวให้คนมาจังหวัดเราเยอะขึ้นได้บ้าง เป็นต้น
Travel Insight : สายมูไปกาญจนบุรีเพื่อทำบุญ
พอทำ Data Visualization เห็นเป็นภาพที่อ่านแล้วเข้าใจชัดเจนว่า คนมากาญเพื่อเข้าวัดทำบุญ 53.4% ดังนั้นอาจนำไปปรับใช้โดยโรงแรมเราลองร่วมกับวัดบ้าง หรือมีของแจกเล็ก ๆ น้อย ๆ จากหลวงพ่อให้ หรือแนะนำโปรแกรมให้ลูกค้าไปไหว้พระ 9 วัด เป็นต้น
คนโพสต์เป็นภาษาอะไร
ภาษาที่ใช้ Mention ‘ภูเก็ต’ มากที่สุด คือภาษาอังกฤษ 43.87% รองลงมาเป็นภาษาไทย และเยอรมันด้วย
ภาษาที่ใช้ Mention ‘HUAHIN’ มากที่สุด คือภาษาไทย 59% รองลงมาเป็นภาษาอังกฤษ และยังมีมาเลเซีย อินโดนีเซีย ที่รวมกันคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 10%
ดังนั้นถ้าเราทำธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม อาจต้องกลับมาเช็คกันหน่อยว่ามีการอำนวยความสะดวกให้กับชาวต่างชาติเหล่านี้ที่มาเที่ยวไทยแล้วแสดงตนว่ามาจากชาติอะไรบ้างรึเปล่า ไม่ว่าจะเป็นคู่มือ เว็บไซต์ คำแนะนำต่าง ๆ ที่เป็นภาษาถิ่นของเขา เป็นต้น
8 ขั้นตอนการทำงานกับ Social Listening Tool
Research Keyword เลือกคำที่สะท้อนประเด็นที่อยากรู้ คิดว่าเรื่องที่เราอยากรู้ คนมักพูดถึงด้วยคำแบบไหน
Collecting Data ตั้งค่าเก็บข้อมูลที่ต้องการ ดึงย้อนหลังกี่เดือน กี่ปี
Cleansing Data คัดข้อมูลที่ไม่เกี่ยวออก เพราะไม่ใช่ทุกข้อมูลที่ระบบดึงมาจะเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราต้องการ
Converation Analysis อ่าน และวิเคราะห์คำพูด สรุปออกมาเป็นความเห็น
Categorize Data จัดระเบียบข้อมูลให้เป็นหมวดหมู่
Data Visualization เปลี่ยนข้อมูลให้เป็นภาพที่เข้าใจง่าย
Summary & Insight สรุป & สกัดประเด็นที่น่าสนใจ
Recommendation แนะนำได้ว่าต้องทำอะไรต่อ
จะเห็นเลยได้ว่าการทำ Visualization ไม่ได้มีแค่การทำภาพเพียงอย่างเดียว แต่เริ่มต้นกระบวนการมาตั้งแต่การเก็บข้อมูลที่ดี ดังนั้นจะไม่มีประโยชน์เลย ถ้าเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับการทำ Data ดีตั้งแต่แรกค่ะ
CPVAI MODEL : Data Thinking Framework by การตลาดวันละตอน
Collect : การเก็บ Data ให้มีความละเอียดและเรียบร้อย เพื่อที่เราจะได้นำไปใช้วิเคราะห์ต่อได้ง่าย
Prep : การเตรียม Data ให้พร้อมใช้ เช่น ถ้าเราเก็บข้อมูลชื่อ ที่อยู่ เป็นแถวเดียวกันทั้งหมด ต้องมาแยกข้อมูลเป็นแถวรายอำเภอ เขต แขวง จังหวัด เป็นต้น เป็นการเตรียมข้อมูลให้มีระบบระเบียบ สะดวกต่อการนำไปใช้ต่อ
Visualized : นำข้อมูลที่ได้ไปแปลงเป็นภาพ เพื่อให้ทุกคนสามารถทำความเข้าใจได้ง่าย และเห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้น
Analyze : วิเคราะห์ผลที่ได้จากการข้อมูลและการทำ Visualized เพื่อตามหา Insight ที่น่าสนใจ
Idea : ใช้ข้อมูลที่ได้จากการ Analyze สกัดออกมาเป็น Idea ในการปรับใช้และต่อยอดในการทำการตลาดต่อไป
สำหรับใครที่สนใจเรื่อง CPVAI MODEL โดยเฉพาะ สามารถอ่านต่อได้ ที่ นี่ เลยค่า
และทั้งหมดนี้ก็คือสรุปความรู้จากงาน THE GUIDETECH การใช้เครื่องมือ Martech ในธุรกิจท่องเที่ยว ที่จัดโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ใน Session : Data และเคล็ดลับการสร้าง Data Visualization เพื่อเสริมจุดแข็งให้ธุรกิจท่องเที่ยวค่า จะสังเกตเห็นได้ว่าเมื่อช่วงเวลาเปลี่ยน Insight ก็จะเปลี่ยนไป รวมถึงช่องทาง Platform ที่ใช้ในการสื่อสาร แต่ละช่วงเวลาก็มี Engagement ที่เพิ่มขึ้น-น้อยลงสลับกันไปด้วย อย่างในธุรกิจท่องเที่ยวช่วงปลายปีที่มีคนเที่ยวเยอะ Engagement บางช่องทางก็เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว เราจะเห็น Trend การเปลี่ยนแปลงของ Channel ต่าง ๆ
ดังนั้นเวลาเราทำ Marketing ควรทำทุก Channel ประเด็นสำคัญคือให้ใช้ Social Media เหมือนที่คนทั่วไปเขาเล่นกัน โพสต์ให้เหมือนคนโพสต์คุยกัน อย่าโพสต์เหมือนอยู่ในฐานะแบรนด์คุยกับคน เพราะจะเกิดความน่าเบื่อค่ะ
หวังว่าทุกคนจะได้ความรู้จากบทความนี้กันนะคะ ได้เห็นผล การทำ Data Visualization ธุรกิจท่องเที่ยว และเห็นว่าการเอา Data มาเปลี่ยนเป็นภาพทำให้เห็นข้อมูลได้ง่ายขึ้น ชัดขึ้นขนาดไหน และเมื่อเห็นว่าภาพรวมการเที่ยวมีการเปลี่ยนแปลงไปยังไง Insight ขาเที่ยวแต่ละคนเป็นยังไงบ้าง เราจะรู้ว่าควรเน้นทำการตลาดช่วงไหน หรือปรับเปลี่ยนและวางแผนการทำการตลาดของธุรกิจเราต่อไปได้ยังไงบ้างค่า
และทุกคนสามารถติดตามบทความด้านการตลาดเพิ่มเติมได้จากเพจการตลาดวันละตอน ที่ เว็บไซต์ Facebook Instagram Twitter Youtube และ Blockdit ได้เลยค่า