การตลาด Duolingo นกเขียวตายวันเดียว ยอดพูดถึงพุ่ง 25,560%

คุณคิดว่า ถ้าแอปเรียนภาษาจะปลุกคนให้กลับมาเรียนได้อีกครั้ง ต้องยิงแอด? แจกโค้ด? หรือฆ่ามาสคอตตัวเอง?
ใช่ค่ะ… การตลาด Duolingo เลือกข้อสุดท้าย และมันได้ผลจนกลายเป็นไวรัลที่สะเทือนวงการการตลาดปี 2025 นี้!

หลาย ๆ คนคงคุ้นเคยกับตอนที่กำลังจะนอนอยู่ดี ๆ ก็โดนแจ้งเตือนจากแอปสีเขียวขึ้นมาว่า “ได้เวลาฝึกภาษาละ!” จาก Duo นกฮูกเขียวตัวแรงของ Duolingo ที่ครองใจผู้ใช้นับล้าน แต่รอบนี้เขาไม่ได้แค่มาเตือนเฉย ๆ นะคะ… เขา “ตาย” ค่ะ! TT

Duolingo รู้ดีว่าผู้ใช้งานหลายคน (รวมถึงโอปอเอง) ใช้แอปแล้วก็หายเงียบ ไม่แตะอีกเลย ทั้งที่แพลตฟอร์มมีระบบ Gamification ดีมาก และมาสคอตอย่าง Duo ก็น่าจดจำ

การตลาด Duolingo
ที่มา Duolingo

แต่ปัญหาคือ “ความคุ้นเคยทำให้ความผูกพันลดลง” แม้จะมีฐานผู้ใช้มหาศาล แต่ Duolingo ต้องการ “แรงกระตุ้นใหม่” ที่จะทำให้คนกลับมาสนใจ ไม่ใช่แค่แอป แต่กลับมารู้สึกกับแบรนด์

เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2025 Duolingo โพสต์ประกาศการเสียชีวิตของ Duo บน X, TikTok, Instagram พร้อมวิดีโอที่เขาถูกรถ Tesla Cybertruck ชน ก่อนร่างจะลอยข้ามจักรวาลไปถึงนรก !

@duolingo

UPDATE: Reward for whoever can identify the driver. Please post any leads on TikTok. Thank you for your patience with us during these trying times. #RIPduo

♬ original sound – Duolingo

และไม่หยุดแค่นั้นค่ะ ภายใน 2 สัปดาห์ Duolingo กลายเป็นทีมสร้างซีรีส์ดราม่าระดับ Netflix เช่น

  • อัปเดตไอคอนแอปเป็น “นกตาย” (ตาปิด ลิ้นห้อย)
  • ขายตุ๊กตา Duo เวอร์ชันศพในกล่องคล้ายโลงศพ
  • สร้างเควสต์ในแอปให้คน “ช่วยจ่ายค่าศพ” หรือ “สืบหาสาเหตุการตาย”

ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ Duolingo ยังปล่อยเว็บไซต์พิเศษ พร้อมประกาศว่า ผู้ใช้สามารถช่วยชุบชีวิต Duo ได้ ! แค่สะสม XP รวมทั่วโลกให้ถึง 50,000 ล้านหน่วย (ผ่านการเรียนบทเรียนในแอป) แถมในเว็บยังมีบอร์ดอันดับประเทศที่ทำ XP ได้สูงสุด เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และจีน ซึ่งแม้ในเว็บจะระบุว่า “เวลาใกล้จะหมดแล้ว” แต่ก็ไม่มีเส้นตายที่ชัดเจนว่า “เมื่อไรจะสายเกินไป”

และที่พีคสุด 2 สัปดาห์หลังประกาศว่า Duo ตาย Duolingo ก็เฉลยว่า…นกตัวนี้ แกล้งตาย ค่ะ! เพราะอยากให้คนกลับมาเรียนบทเรียน และเพื่อเรียกร้องความสนใจจาก “รักแท้” ของเขา นักร้องชื่อดัง Dua Lipa

@duolingo

It was all by design because I’m a mastermind #duolingo

♬ Suspense – Loppes

เอาจริง ๆ โอปอเองก็ยังเคยเห็นใน TikTok เลยค่ะว่า หลายประเทศเล่นใหญ่กันสุด ๆ ถึงขั้นทำคอนเทนต์ “จัดงานศพให้ Duo” ตามประเพณีของตัวเอง รวมถึงประเทศไทยเราก็เล่นจัดหนักจัดเต็มไม่แพ้ชาติอื่นค่ะ

@duolingothailand

ไปสบายนะเพื่อน เดี๋ยวเราจะจัดการนักเรียนให้เอง 🖤🌚🌝 @Duolingo #RIPDuolingo #duolingothailand

♬ เสียงต้นฉบับ – Duolingo Thailand 🇹🇭 – Duolingo Thailand 🇹🇭

คือมันไม่ใช่แค่ไวรัลเฉพาะในสหรัฐฯ แต่กลายเป็น “ไวรัลแบบมีความร่วมมือระดับโลก” ที่แสดงให้เห็นว่าแบรนด์สามารถแทรกตัวเข้าไปในวัฒนธรรมท้องถิ่นได้แบบเนียน ๆ โดยไม่ต้องแปลภาษาแม้แต่นิดเดียว ซึ่งสำหรับโอปอแล้ว นี่แหละคือสิ่งที่แอปเรียนภาษาอย่าง Duolingo ทำได้ดีมาก ไม่ใช่แค่สอนภาษา แต่ทำให้คนจากวัฒนธรรมต่าง ๆ เข้าใจ “อารมณ์ขันเดียวกัน” ผ่านมุกนกตายได้

บอกได้เลยว่า ไวรัลแบบทะลุทะลวงค่ะ!

  • แค่วันเดียวหลังประกาศ Duo ตาย ยอดเอ่ยถึงบนโซเชียล พุ่งขึ้นกว่า 25,560%
  • จากเฉลี่ย 11,000 mentions ต่อวัน กลายเป็น เกือบ 60,000 mentions/วัน (เพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่า)
  • TikTok ของแคมเปญรวมกันแตะยอดวิวหลัก 10 – 60 ล้านวิว
  • แบรนด์ดังอย่าง Netflix, Subway, WHO, LinkedIn ยังมาร่วม “ไว้อาลัย” ให้ Duo
  • ด้าน Dua Lipa ก็เล่นด้วย โดยโพสต์ว่า ‘Til death duo part’ (พ้องเสียงกับ “Till death do us part”)

เรียกได้ว่า ไม่ต้องจ่ายซูเปอร์โบวล์ก็ได้ “ซีน” เต็ม ๆ

1. Narrative Gamification เมื่อเกมมีพล็อต UX ก็กลายเป็นเรื่องที่คนอิน

ปกติการทำ Gamification มักเน้นแรงจูงใจเชิงระบบ (เช่น แต้ม, streak, แรงค์) แต่ Duolingo ใส่ “เรื่องเล่า” ลงไปในภารกิจ จนเควสต์ธรรมดากลายเป็น “ภารกิจช่วยชีวิต Duo” อย่างที่ให้ผู้ใช้ “ช่วยจ่ายค่าศพ Duo” หรือ “สืบสาเหตุการตาย” ผ่านการทำ Daily Lesson → คนเลยไม่แค่ “สะสม XP” แต่รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของพล็อต

💡 Insight: พอเกมมีเนื้อเรื่อง ผู้ใช้จะผูกพันกับแบรนด์ลึกขึ้น UX จึงไม่ใช่แค่ functional แต่กลายเป็น emotional journey

2. Lovable Anti-Hero มาสคอตสายร้ายที่คนทั้งรักทั้งเล่นด้วย

Duo ไม่ใช่นกน่ารักธรรมดา แต่เป็น “นกฮูกขู่เรียน” ที่มีคาแรกเตอร์สุดโต่งบน TikTok ด้วยความปั่น ความดุ ความกวน ที่กลายเป็น meme ทำให้ผู้ใช้จดจำเขาได้ชัดเจน

 การตลาด Duolingo
ที่มา techradar

Duolingo จึงไม่ต้องสร้างมาสคอตขึ้นใหม่ แต่ใช้ตัวตนของ Duo เป็น “พื้นที่เล่นมุก” ได้ตลอด และสิ่งที่ทำให้มุกเหล่านี้เวิร์ก คือความผูกพันที่คนรู้สึกว่า “ฉันรู้จักเจ้านี่ดี”

💡 Insight: การจะเล่นมุกแรง เสียดสี หรือหักมุมได้อย่างมีพลัง ต้องเริ่มจาก “สร้างตัวละครให้มีชีวิต” จนคนพร้อมอินกับทุกอย่างที่เขาทำ

3. Emotional Death Trope การ “ฆ่า” ที่ไม่ใช่แค่สร้างกระแส แต่สร้างเรื่องราว

หลายแบรนด์เคยใช้มุก “ฆ่ามาสคอต” มาแล้ว เช่น Planters หรือ M&M’s แต่ Duolingo ทำให้มันลึกยิ่งกว่านั้น ด้วยการใส่พล็อตครบเครื่อง ตั้งแต่เหตุการณ์ตาย → พิธีศพ → ความร่วมมือจากผู้ใช้ → และการคืนชีพแบบหักมุม

ที่สำคัญคือ คนรู้สึกว่า “เขาตายจริง” เพราะพวกเขารักเขาจริง การตายของ Duo จึงไม่ใช่เพื่อความฮาเท่านั้น แต่คือการขุดลึกไปใน emotional bond ของผู้ใช้ เพื่อทำให้ทุกบทเรียน กลับมามีน้ำหนักทางอารมณ์อีกครั้ง

💡 Insight: ถ้าจะใช้ Death Trope ให้เวิร์ก ต้องไม่ใช่แค่เซอร์ไพรส์ แต่ต้องทำให้คนรู้สึกถึง “การเสียเขาไป” ถึงจะยิ่งรักมากขึ้นตอนเขากลับมา

4. Grind & Expand Strategy เก่าก็รันดี ใหม่ก็กล้าลอง

CMO ของ Duolingo เคยบอกว่า แบรนด์โตได้เพราะ 2 อย่างนี้

  1. Grind: ทำซ้ำสิ่งที่เวิร์ก เช่น คอนเทนต์ TikTok แบบ Duo ปั่น ๆ ที่มีฐานแฟนแน่น
  2. Expand: ทดลองสิ่งใหม่แบบไม่กลัว เช่น Duo’s Death ที่เป็น long-form storytelling

💡 Insight: แบรนด์ที่เก่งไม่ใช่แค่มีไอเดียดี แต่คือ กล้าที่จะเล่นของใหม่ บนพื้นฐานของของเดิมที่แข็งแรง ทำให้เล่นได้บ่อยและยังคุมทิศทางแบรนด์อยู่

5. Timing Hijack ปล่อยหลัง Super Bowl แต่ดังยิ่งกว่า

แทนที่จะลงสนามโฆษณาใน Super Bowl ที่ทุกแบรนด์แย่งกันเปลือง Duolingo เลือก “รอให้เกมจบ” แล้ว 2-3 วันค่อยปล่อยแคมเปญในวันที่ทุกแบรนด์เงียบ ทำให้เป็น “รายเดียวที่ดังในสัปดาห์ถัดไป”

ผลลัพธ์คือ…

  • ไม่มีใครแย่งพื้นที่ → กระแสเดียวที่คนพูดถึงคือ “นกตาย”
  • Meltwater ยังเผยว่า กระแส Duo พีคกว่าหลายแคมเปญที่ลง Super Bowl จริง ๆ เสียอีก ในแง่ความยาวของกระแส และ พีคเดี่ยวที่สูงกว่า
การตลาด Duolingo
ที่มา Meltwater

💡 Insight: การ “ช้าอย่างมีจังหวะ” อาจชนะการแข่งแบบรีบเสมอ

6. Immersive UI Branding เปลี่ยนหน้าตาแอปให้กลายเป็นฉากในเรื่อง

Duolingo ไม่ได้หยุดที่โพสต์สนุก ๆ แต่เปลี่ยนไอคอนแอปเป็นนกตาย พร้อมอัปเดตหน้าตาในแอปให้เข้ากับธีม “งานศพ” ผู้ใช้เลยรู้สึกว่า “แบรนด์จริงจังกับเรื่องนี้” และตัวเองก็เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องด้วย

💡 Insight: UX/UI คืออีกช่องทาง “เล่าเรื่องแบรนด์” ที่ถ้าใช้ให้ถูก จะสร้างโลกที่คนอยากอยู่ด้วย

7. Global Cultural Meme เมื่อไวรัลกลายเป็นภาษากลางของโลก

อย่างที่หลาย ๆ คนเคยเห็นใน TikTok ที่แต่ละประเทศจัดงานศพ Duo ตามวัฒนธรรมของตัวเอง บางประเทศทำพิธีจริงจัง บางประเทศเต้นไว้อาลัย บางประเทศแต่งกราฟิกตามรูปแบบงานศพท้องถิ่น

เรียกได้ว่าแคมเปญนี้กลายเป็น “ไวรัลที่ทั้งโลกเล่นด้วย” แบบไม่ต้องสื่อสารด้วยคำพูด แต่ใช้ “ความเข้าใจร่วมในคาแรกเตอร์” แทน

💡 Insight: เมื่อแบรนด์มีคาแรกเตอร์ชัด + พล็อตที่เข้าใจได้ทั่วโลก คอนเทนต์แบบ localized จะเกิดขึ้นเอง → กลายเป็น global movement ที่ทรงพลัง และสะท้อนว่า Duolingo เข้าใจวัฒนธรรมของผู้ใช้จริง ๆ

ในสายตาโอปอ สิ่งที่เจ๋งที่สุดของแคมเปญนี้ไม่ใช่แค่ความกล้าทำอะไรหลุดกรอบ แต่คือการที่ Duolingo เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างคนกับแบรนด์อย่างลึกซึ้งมากพอจะ “ฆ่าตัวเอง” เพื่อให้คนรักมากกว่าเดิมค่ะ เพราะงั้นการตลาดที่ดีไม่จำเป็นต้องเนี๊ยบ หรือ emotional อย่างเดียว แต่ขอแค่ “โดนใจและไม่ดูถูกความผูกพันของผู้ใช้” ก็กลายเป็นพลังได้แบบไม่ต้องเสียเงินซักบาทกับการยิงแอด

เพราะสุดท้ายแล้ว ไม่ใช่ทุกแบรนด์จะกล้า “แกล้งตาย” และไม่ใช่ทุกแบรนด์จะ “มีตัวตนมากพอ” ให้คนอยากชุบชีวิตกลับมาอีกครั้งได้ และนั่นแหละค่ะ คือเหตุผลที่ Duo แม้จะตาย (แต่ฟื้นแล้ว) ก็กลายเป็นตำนานของวงการการตลาดในปี 2025 ไปเรียบร้อย แล้วพบกันใหม่บทความหน้านะคะ :0)

Source: advertisingweek

อ่านบทความเพิ่มเติมที่นี่

โอปอ Marketing Content Creator และ Data Insight Researcher ของการตลาดวันละตอน ⋆˚✿˖° ดีใจที่ได้แชร์เรื่องราวกับทุกคนค่ะ อย่าลืมยิ้มให้ตัวเองทุกวัน และฝากติดตามบทความต่อไปด้วยนะคะ ( 。•ㅅ•。)~✧

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *