STP Marketing แผนที่การตลาด จับกลุ่มเป้าหมายแม่น ครองตลาดยั่งยืน

STP Marketing แผนที่การตลาด จับกลุ่มเป้าหมายแม่น ครองตลาดยั่งยืน

ขอบอกว่าเรื่องที่เราจะคุยกัน เป็นเรื่อง Basic ที่ใครหลายคนอาจคุ้นเคยกันอยู่แล้วนั่นคือ STP Marketing หรือชื่อเต็มคืออ Segmentation, Targeting และ Positioning ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวคิดพื้นฐานที่สำคัญในการวางแผนกลยุทธ์การตลาด ทำให้เรารู้ว่าเราคือใคร กำลังทำอะไรอยู่ เรียกว่าเป็นแผนที่นำทางของนักการตลาดเลยก็ว่าได้

อย่างที่บอกว่า STP Marketing ย่อมาจาก Segmentation, Targeting และ Positioning เป็นกระบวนการทางการตลาดที่ช่วยให้ธุรกิจของเราเข้าใจลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น และทำให้เรานำเสนอสินค้าหรือบริการที่ตรงใจกลุ่มเป้าหมายค่ะ

ที่ STP Marketing ถือเป็นกลยุทธ์การตลาดสุดปัง ก็เพราะช่วยให้แบรนด์เข้าใจและเข้าถึงลูกค้าได้อย่างลึกซึ้ง สามารถนำเสนอสินค้าและสื่อสารแคมเปญที่จับใจผู้บริโภค ตรงกับความต้องการที่แท้จริง และโดดเด่นกว่าคู่แข่งในตลาดค่ะ นอกจากนั้นการทำ STP Marketing อย่างเป็นระบบจะทำให้การทำการตลาดมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะไม่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณไปกับกลุ่มลูกค้าที่ไม่ใช่เป้าหมาย แต่สามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่กับกลุ่มที่มีแนวโน้มจะซื้อสูงสุดแทน เพิ่มโอกาสในการปิดการขายค่ะ

ซึ่งการทำ STP Marketing เริ่มต้นด้วยการแบ่งส่วนตลาด (Segmentation) โดยจัดกลุ่มลูกค้าที่มีลักษณะ พฤติกรรม หรือความต้องการคล้ายกันไว้ด้วยกันค่ะ จากนั้นจึงเลือกกลุ่มที่น่าสนใจและสอดคล้องกับศักยภาพของแบรนด์มาเป็นตลาดเป้าหมาย (Targeting) และสุดท้ายคือการวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ (Positioning) ให้โดดเด่นและแตกต่างจากคู่แข่งในใจของกลุ่มเป้าหมาย เรามาเจาะกันทีละตัวดีกว่าค่ะ ว่าในแต่ละขั้นตอนมีอะไร และต้องทำไงบ้าง

การแบ่งส่วนตลาด (Market Segmentation) เป็นขั้นตอนแรกของกระบวนการ STP ที่ช่วยให้ธุรกิจแบ่งลูกค้าออกเป็นกลุ่มย่อยตามลักษณะบางอย่างที่คล้ายกัน เช่น เพศ อายุ รายได้ พฤติกรรม ความต้องการ เป็นต้น ซึ่งการแบ่งกลุ่มที่ดีจะทำให้แบรนด์เข้าใจความต้องการเฉพาะของแต่ละกลุ่มได้ดียิ่งขึ้น และสามารถตอบสนองได้ตรงใจกว่าการมองตลาดเป็นก้อนเดียวค่ะ

ถ้าเปรียบเทียบคือเหมือนตลาดเป็นเค้กหนึ่งก้อนใหญ่ ๆ การแบ่งส่วนตลาด (Market Segmentation) ก็คือการตัดเค้กที่เรานำมีดมาให้ไขว้กันจนเค้กเป็นสามเหลี่ยมชิ้นเล็ก ๆ แล้วเราก็เลือกเค้กชิ้นที่เราชอบที่สุด ตรงกับสินค้าเราที่สุดมาเป็นหลักตั้งต้นค่ะ ซึ่งอย่างที่บอกว่าการแบ่งส่วนตลาด (Market Segmentation) ก็คือการตัดเค้กเราก็จะดูว่าเราจะตัดเค้กชิ้นนี้ด้วยเกณฑ์อะไรบ้าง

STP Marketing แผนที่การตลาด จับกลุ่มเป้าหมายแม่น ครองตลาดยั่งยืน

หลักเกณฑ์ในการแบ่งส่วนตลาด (Market Segmentation) มีหลายประเภท ได้แก่

  • การแบ่งตามประชากรศาสตร์ (Demographic) เช่น เพศ อายุ รายได้ อาชีพ การศึกษา สถานภาพครอบครัว เชื้อชาติ ศาสนา เช่น ช่วงอายุ 10-20, 20-30, 30-40, 40-50 และ 50 ปีขึ้นไป
  • การแบ่งตามภูมิศาสตร์ (Geographic) เช่น ประเทศ ภูมิภาค ขนาดเมือง ความหนาแน่นประชากร สภาพภูมิอากาศ เช่น ภูมิภาค กรุงเทพและปริมณฑล, หัวเมืองหลัก, เมืองรอง เป็นต้น
  • การแบ่งตามจิตวิทยา (Psychographic) เช่น บุคลิกภาพ ค่านิยม ทัศนคติ รูปแบบการดำเนินชีวิต(Lifestyle) ความสนใจ เช่น Lifestyle รักสุขภาพ ชอบออกกำลังกาย, ชอบกิบ ชอบทานบุฟเฟ่ต์
  • การแบ่งตามพฤติกรรม (Behavioral) เช่น ความถี่ในการซื้อ ปริมาณการซื้อ ความภักดีต่อตราสินค้า ประโยชน์ที่ต้องการ เช่น ความถี่ในการซื้อ ซื้อทุกสัปดาห์, ซื้อทุกวัน, ซื้อทุก 2-3 วัน

ในการแบ่งกลุ่มลูกค้านั้น นอกจากจะต้องเลือกเกณฑ์ที่จะมาใช้วัดแล้ว ยังต้องคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ด้วย คือ

  • ความแตกต่างระหว่างกลุ่ม อย่าให้มีความแตกต่างกันจนมากเกินไป เช่น อายุ 0-10, 10-20, 20-50 และ อายุ 50 ขึ้นไป
  • ความชัดเจนในการวัดผล ในแต่ละกลุ่ม เมื่อแยกอออกจากกันแล้ว ควรสามารถวัดผลได้
  • ขนาดและกำลังซื้อของแต่ละกลุ่ม ต้องดูว่ากลุ่มที่เราเลือกมีขนาดและกำลังซื้อมากขนาดไหนด้วย
  • ความสามารถของธุรกิจในการเข้าถึงกลุ่มนั้น ๆ ด้วย และที่สำคัญต้องคำนึงถึงว่าธุรกิจของเราจะสามารถเข้าถึงกลุ่มนั้้น ๆ ได้หรือไม่

การเลือกใช้เกณฑ์ที่เหมาะสมจะช่วยให้การแบ่งกลุ่มมีประสิทธิภาพ สามารถแยกแยะลูกค้าเป็นกลุ่มที่มีเอกลักษณ์ชัดเจน และสอดคล้องกับการนำไปใช้วางแผนการตลาดได้จริงค่ะ

นอกจากนี้ การศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าเชิงลึก ผ่านการทำวิจัยตลาด การสำรวจกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการใช้เทคโนโลยี Big Data หรือ แม้แต่การทำ Social Listening ก็จะช่วยให้เห็นลักษณะร่วมและพฤติกรรมของกลุ่มลูกค้าได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ทำให้การแบ่ง segment มีคุณภาพและนำไปใช้ได้ผลดียิ่งขึ้นอีกด้วยค่ะ

ตัวอย่างการแบ่งส่วนตลาดของ CPF (เจริญโภคภัณฑ์อาหาร) ที่เลือกแบ่งส่วนตลาดตามพฤติกรรมการบริโภคเป็นสองกลุ่มหลักๆ คือ

  1. กลุ่มรักสุขภาพที่เน้นอาหารคลีน ปลอดสารปนเปื้อน
  2. กลุ่มชอบความสะดวก เน้นอาหารแช่แข็งพร้อมปรุง พร้อมทาน

CPF จึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการของทั้งสองกลุ่มนี้ ทำให้มีสินค้าที่หลากหลายและครอบคลุมตลาดมากขึ้นค่ะ

ต่อมาในส่วนของการเลือกกลุ่มเป้าหมาย (Market Targeting) คือการคัดเลือกส่วนตลาดที่น่าสนใจและมีศักยภาพที่สุดจากหลาย ๆ ส่วนที่ได้แบ่งไว้ในขั้นตอน Segmentation มาเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่เราจะเข้าไปนำเสนอสินค้าหรือบริการ โดยเลือกกลุ่มที่สอดคล้องกับความสามารถและเป้าหมายของธุรกิจมากที่สุดค่ะ

ก็เหมือนที่เราพูดเรื่อง Segmentation คือ การตัดเค้ก แล้วตอนนี้เราก็ต้องเลือกเค้กชิ้นที่เราชอบที่สุด หรือก็คือการทำ Market Targeting นั่นเองค่ะ และการเลือกเค้กเราก็ควรมีหลักการในการเลือกถูกต้องมั้ยคะ เรามาดูหลักเกณฑ์ที่ใช้เลือกกันดีกว่าค่ะ

หลักเกณฑ์ในการประเมินความน่าสนใจของแต่ละส่วนตลาดมีดังนี้

  • ขนาดของตลาด ทั้งในแง่จำนวนลูกค้า ปริมาณความต้องการ และมูลค่ารวมของตลาด
  • การเติบโตของตลาด พิจารณาอัตราการเติบโตทั้งในอดีตและแนวโน้มในอนาคต
  • ความน่าดึงดูดของกำไร เช่น ระดับราคา อำนาจการต่อรอง ต้นทุน เพื่อดูความสามารถในการทำกำไรได้
  • ความรุนแรงของการแข่งขันในตลาด ได้แก่ จำนวนคู่แข่ง ความแข็งแกร่ง ความได้เปรียบ ความอิ่มตัวของตลาด
  • ความพร้อมและความเหมาะสมของธุรกิจในการเจาะตลาด เช่น ความชำนาญ ทรัพยากร ความสอดคล้องกับภาพลักษณ์และทิศทางของแบรนด์

เมื่อประเมินตลาดแล้ว ให้เลือกกลุ่มที่จะเข้าไปทำตลาดด้วยกลยุทธ์ต่างๆ ดังนี้

  • ตลาดมวลชน ขายสินค้ากลางๆ ไปยังผู้บริโภคจำนวนมาก
  • ตลาดเฉพาะส่วน มุ่งขายสินค้าเฉพาะกลุ่ม เจาะจงไปยังแต่ละส่วนตลาด
  • ตลาดรอยต่อ พยายามเจาะหลายๆ กลุ่มที่มีจุดร่วมหรือความต้องการเหมือนกัน ทำให้ได้ฐานลูกค้าที่กว้างขึ้น
  • ตลาดเฉพาะส่วนหลายรูปแบบ เลือกเจาะหลายกลุ่มเป้าหมายที่ต่างกัน แต่ใช้สินค้าหรือวิธีการตลาดแบบเดียวกัน
  • ตลาดที่มีการตอบสนองแบบรายบุคคล ปรับสินค้าและการตลาดแยกย่อยสำหรับลูกค้าแต่ละราย

การเลือกกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนเป็นหัวใจของ STP Marketing เพราะจะช่วยให้การวางแผนการตลาดมีจุดโฟกัสที่ชัดเจน สามารถกำหนด positioning ที่เฉพาะเจาะจงและแตกต่าง รวมถึงใช้งบประมาณและความพยายามทางการตลาดไปกับกลุ่มที่มีแนวโน้มตอบรับสูงสุด ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างยอดขายและผลกำไรในระยะยาว

ตัวอย่าง Pomelo แบรนด์แฟชั่นออนไลน์ ที่เน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้หญิงวัยทำงานตอนต้น ที่ชอบแต่งตัว กล้าที่จะมีสไตล์เป็นของตัวเอง ซึ่งเป็นตลาดเฉพาะกลุ่มที่กำลังเติบโตและมีกำลังซื้อสูง Pomelo จึงปรับกลยุทธ์ทั้งช่องทางการขาย สินค้า และการสื่อสารการตลาด ให้โดนใจและเข้าถึงไลฟ์สไตล์ของกลุ่มนี้โดยเฉพาะ จนสามารถขยายตลาดและสร้างการรับรู้แบรนด์ได้อย่างรวดเร็วค่ะ

ในส่วนสุดท้ายคือการวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ (Positioning) เป็นขั้นตอนสุดท้ายของ STP Marketing ที่มีความสำคัญมาก เพราะเป็นการกำหนดภาพลักษณ์หรือจุดยืนของแบรนด์ในใจของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย การวาง Positioning ที่ดีจะทำให้ผู้บริโภครับรู้ถึงคุณค่าของแบรนด์ และลักษณะเด่นของสินค้าที่แตกต่างจากคู่แข่ง เกิดเป็น “พื้นที่” ในใจลูกค้าค่ะ

โดยขั้นตอนในการวาง positioning มีดังนี้

  1. ระบุคุณสมบัติและประโยชน์หลักของสินค้าของเราที่คิดว่าโดดเด่น และมีคุณค่าในสายตาลูกค้า
  2. วิเคราะห์ตำแหน่งทางการตลาดของคู่แข่งที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน
  3. เปรียบเทียบจุดแข็ง จุดอ่อน และความสามารถของเรา กับคู่แข่งหลัก ๆ
  4. เลือกจุดยืนที่เราต้องการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย โดยเน้นจุดเด่นที่สำคัญที่สุดเพียง 1-2 อย่าง
  5. พัฒนากลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อสร้างและรักษา positioning ให้คงที่ในระยะยาว

ซึ่งขั้นตอนการวาง positioning ส่วนมากมักนิยมวางลงในกราฟโดยใช้ แกน X และ แกน Y เป็นคุณสมบัติ หรือ จุดเด่นของสินค้า หรือ แบรนด์ ซึ่งเราสามารถดูตัวอย่างกลยุทธ์การวางตำแหน่งที่นิยมใช้ในตลาด ดังนี้

STP Marketing แผนที่การตลาด จับกลุ่มเป้าหมายแม่น ครองตลาดยั่งยืน
  • ความเป็นผู้นำ เช่น มีส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 1 มียอดขายสูงสุด มีจำนวนสาขามากสุด
  • คุณภาพ เช่น ใช้วัตถุดิบเกรดพรีเมียม มีเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง ได้มาตรฐาน รางวัลรับรองคุณภาพ
  • ความคุ้มค่า เช่น ราคาถูกกว่า คุณภาพเทียบเท่าแต่ราคาต่ำกว่า
  • ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น สินค้าเจาะจงสำหรับผู้สูงวัย สำหรับผู้มีปัญหาสุขภาพ
  • ความแตกต่างหรือแปลกใหม่ เช่น รูปแบบสินค้า features เทคโนโลยี บรรจุภัณฑ์แตกต่างจากที่มีอยู่

หลักสำคัญคือเราไม่ควรวางหรือนำคุณสมบัติที่เป็นเชิงลบเข้ามาตั้งในแกน เพราะจะทำให้เกิดอคติต่อแบรนด์คู่แข่ง และ แบรนด์ของเราเองทำให้ไม่ได้ตำแหน่งผลิตภัณฑ์ที่แท้จริง

อย่างถ้าเราใช้เลือกใช้คุณภาพ ก็ควรระบุไปว่าเราวัดคุณภาพจากอะไร ไม่งั้นจะกลายเป็นว่าฝั่งนึงจะเขียนว่า คุณภาพต่ำ อีกฝั่งของกราฟจะเป็น คุณภาพสูง ซึ่งพอเห็นแบบนี้อาจทำให้เราลังเลที่จะวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ของเรา หรือ คู่แข่ง เพราะอคติที่เกิดขึ้น หากเราวางคู่แข่งไว้ที่คุณภาพต่ำ ก็จะเกิดคำถามว่าแล้วคุณภาพ นั้นคืออะไร วัดจากอะไร แล้วการทำแบบนี้จะไม่เป็นการ Discredit ของคู่แข่งใช่ไหม

นอกจากนั้นเราต้องวาง positioning แบบไม่เข้าข้างตัวเองจนเกินไป ให้อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง และไม่ค้านสายตาของคนทั่วไป เพราะไม่งั้นนอกจากเราจะทำการตลาดไม่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย เพราะวาง positioning ผิดแล้ว หากเราไปนำเสนอ หรือ พูดให้คนอื่นฟังก็อาจเกิดเสียงวิพากษย์วิเคราะห์อย่างกรณีของเต่าบินที่เคยเกิดขึ้น เรื่องการวาง positioning คุณภาพเทียบเคียงสตาร์บัคส์ และการใช้คำว่า Low Quality นั้นคืออะไร ดังนั้นเราต้องใส่ใจและเลือกคุณสมบัติที่จะใช้วาง positioning ให้ดีค่ะ

และจากทั้งหมดที่เราได้เรียนรู้แนวคิด STP Marketing มา สามารถสรุปขั้นตอนและข้อคิดสำคัญได้ดังนี้ค่ะ

Segmentation (การแบ่งส่วนตลาด)

  • แบ่งตลาดตามเกณฑ์ต่าง ๆ ทั้งประชากรศาสตร์ ภูมิศาสตร์ จิตวิทยา พฤติกรรม เพื่อจัดกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการคล้ายกัน
  • การแบ่งส่วนต้องทำให้เห็นความแตกต่างระหว่างกลุ่มอย่างชัดเจน สามารถวัดขนาดและกำลังซื้อได้ และมีวิธีในการเข้าถึงแต่ละกลุ่ม

Targeting (การเลือกตลาดเป้าหมาย)

  • พิจารณาเลือกกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพ น่าสนใจ และเหมาะสมกับธุรกิจของเรามากที่สุด
  • ประเมินจากเกณฑ์สำคัญ เช่น ขนาดและการเติบโตของตลาด ความสามารถในการทำกำไร ระดับการแข่งขัน ความสอดคล้องกับทรัพยากรและทิศทางของแบรนด์
  • เลือกใช้กลยุทธ์ในการเข้าสู่ตลาดเป้าหมาย เช่น มุ่งตลาดมวลรวม ตลาดเฉพาะกลุ่ม ตลาดรอยต่อ ตลาดหลายกลุ่ม หรือตลาดรายบุคคล

Positioning (การวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์)

  • กำหนดตำแหน่งหรือจุดยืนที่เราต้องการให้ลูกค้ารับรู้เกี่ยวกับแบรนด์ โดยเน้นที่คุณสมบัติเด่น 1-2 อย่างที่สำคัญที่สุด
  • พัฒนาส่วนประสมทางการตลาด (4Ps) ทั้งผลิตภัณฑ์ ราคา ช่องทาง และโปรโมชั่น ให้สอดคล้องกับ Brand Positioning
  • สื่อสารตำแหน่งทางการตลาดอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ชัดเจนและแข็งแกร่งในใจลูกค้า

สุดท้าย เมื่อทำ STP Marketing เสร็จสมบูรณ์แล้ว สิ่งสำคัญคือต้องนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดผล ดังนี้ค่ะ

  1. พัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง ทั้งในด้านประโยชน์ใช้สอย คุณภาพ คุณค่า และรูปลักษณ์ที่โดนใจ
  2. วางกลยุทธ์ด้านราคา ช่องทางการขาย และการส่งเสริมการตลาด ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมและความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
  3. สร้างการรับรู้และจดจำตำแหน่งทางการตลาดของแบรนด์ผ่านการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการโฆษณา ประชาสัมพันธ์
  4. วัดผลการตอบรับของแผนการตลาดอย่างสม่ำเสมอ ทั้งด้านการรับรู้แบรนด์ ความพึงพอใจ ส่วนแบ่งการตลาด และตัวเลขยอดขาย เพื่อนำมาปรับปรุงให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ค่ะ

ก่อนจากไปขอยกกรณีศึกษาน่าสนใจ คือ Sabina แบรนด์ชุดชั้นในสตรี ที่ประสบความสำเร็จจากการใช้ STP อย่างเป็นระบบ โดยเริ่มจากการแบ่งกลุ่มลูกค้าผู้หญิงไทยตามไลฟ์สไตล์และรสนิยมที่แตกต่างกัน จากนั้นเลือก 3 กลุ่มเป้าหมายหลักที่น่าสนใจที่สุด คือ กลุ่มวัยรุ่น กลุ่มสาววัยทำงาน และกลุ่มวัยทอง

Sabina ได้สร้างแบรนด์ย่อยและวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ให้เหมาะกับแต่ละกลุ่มอย่างชัดเจน เช่น

  • Sabinie สำหรับสาววัยรุ่นที่ชื่นชอบแฟชั่น ชุดชั้นในลายน่ารัก สีสันสดใส
  • Sabina สำหรับสาววัยทำงานที่ต้องการดีไซน์ทันสมัยแต่ใส่สบาย เน้นฟังก์ชั่น
  • Soft Dressing สำหรับผู้หญิงวัยทองที่ต้องการชุดชั้นในสวมใส่ง่าย นุ่ม เบา ระบายอากาศ

ด้วยความเข้าใจลูกค้าแต่ละกลุ่มอย่างดี ทำให้ Sabina สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์และสื่อสารการตลาดที่ตรงใจ ตอบโจทย์ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ การเลือกวัสดุ การกำหนดราคา การเลือกช่องทางขาย ไปจนถึงวิธีการโปรโมทที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของแต่ละกลุ่ม จึงทำให้ Sabina ครองใจลูกค้าและเติบโตอย่างต่อเนื่อง สามารถครองส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดและเป็นผู้นำตลาดชุดชั้นในของไทยมาอย่างยาวนานค่ะ

จากกรณีศึกษานี้จะเห็นได้ว่า STP Marketing ไม่ใช่เรื่องของทฤษฎีหรือแนวคิดเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเครื่องมือการตลาดที่มีประสิทธิภาพสูงมาก หากนำมาใช้อย่างเป็นขั้นตอน ผ่านการคิดวิเคราะห์และการลงมือทำจริง ๆ ก็จะช่วยให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย สร้างความแตกต่างที่โดดเด่น และตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น ส่งผลให้แบรนด์เติบโตอย่างรวดเร็วและยั่งยืนในระยะยาวนั่นเองค่ะ

ดังนั้น การทำความเข้าใจกระบวนการ STP Marketing และนำไปปรับใช้ให้เหมาะกับธุรกิจ จึงนับเป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จ หากแบรนด์ใดมีความเข้าใจ STP จะรู้ว่าลูกค้าของตัวเองคือใคร ต้องการอะไร เราจะตอบสนองความต้องการนั้นได้ยังไง ก็จะเป็นแบรนด์ที่ครองใจลูกค้า สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน และเติบโตอย่างมั่นคงในที่สุดค่ะ

และทั้งหมดนี้ก็คือ STP Marketing แผนที่การตลาด จับกลุ่มเป้าหมายแม่น ครองตลาดยั่งยืน ถ้าชอบ หรือ สนใจอยากอ่านบทความด้านการตลาดแบบนี้อีก ผู้เขียนฝากติดตามด้วยนะคะ หรือ ถ้าใครอยากให้ผู้เขียนนำมุมมองการตลาดแบบไหนมาเล่าให้ฟัง สามารถคอมเมนต์บอกกันได้เลยนะคะ 

สำหรับนักอ่านที่ชอบ และ อยากอ่านบทความเกี่ยวกับการตลาดเพิ่มเติม รวมถึงข่าวสารด้านการตลาดต่าง ๆ สามารถติดตามได้จาก เพจการตลาดวันละตอน รวมไปถึงเว็บไซต์ Twitter Instagram YouTube และ Blockdit ของการตลาดวันละตอนได้เลยนะคะ แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้าค่ะヽ(•‿•)ノ

Source Source Source Source Source Source

อยากอ่านบทความการตลาดเพิ่มเติม ลองเลือกอ่านบทความด้านล่างนี้ได้เลยนะคะ

Mywmint

มิวมิ้น เรียก มิ้น ก็ได้ค่ะ ● ⋏ ● เป็น Junior Marketing Content Creator ของการตลาดวันละตอนค่ะ รับบท Marketer ฝึกหัด ٩(◕‿◕)۶ ตั้งใจสรรสร้างทุกบทความ หวังว่าทุกคนจะได้ประโยชน์ และ ชอบนะคะ ขอฝากเนื้อฝากตัวไว้ด้วยฮะ ʕっ•ᴥ•ʔっ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

แบรนด์บ้านในฝันของคุณคือ...

ช่วยตอบเราก่อนอ่านแปบนึงนะ ^^