สรุป 52 Thailand Digital Stat & Insights 2024 จากรายงาน We Are Social โดยการตลาดวันละตอน

สรุป 52 Digital Stat & Insights 2024 Thailand จาก We Are Social

มาแล้วข้อมูลรายงานอัปเดท Digital Stat & Insights 2024 Thailand จาก We Are Social ที่นักการตลาดต้องรู้ว่าพฤติกรรมการออนไลน์ การใช้โซเชียลมีเดีย หรือการใช้ดิจิทัลของคนไทยนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง เราเล่นเน็ตกันเยอะขนาดไหนในแต่ละวัน แล้วในแต่ละวันเราทำอะไรบ้าง ทั้งหมดนี้มีคำตอบให้สำหรับเอาไปใช้ปรับแผนกลยุทธ์การตลาดให้แม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น มาพูดมากให้เสียเวลา ถ้าพร้อมแล้วไปลุยกับรายงานกันเลยดีกว่าครับ

สามารถอ่านบทความ Digital Stat & Insights 2023 ปูทางก่อนได้

1. ประชากรโลกเริ่มหยุดนิ่ง และมีแนวโน้มจะลดลงในเร็วนี้

จากข้อมูลเราจะเห็นว่ากราฟการเพิ่มขึ้นของประชากรโลกในแต่ละปีย้อนหลังเริ่มมีแนวโน้มลดลงจนถึงในระดับที่ต่ำกว่า 1% แล้ว และก็คาดการณ์ว่าสถานการณ์นี้จะยิ่งเลวร้ายไปกว่านี้ นั่นหมายความว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าประชากรโลกน่าจะเริ่มถึงจุดลดจำนวนลง

เพราะคนยุคใหม่ไม่อยากมีลูกเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ทั่วโลก จะมีก็แต่กลุ่มประเทศแถบตะวันออกกลางกับแอฟริกาเท่านั้นที่ยังคงมีตัวเลขการเพิ่มของประชากรที่ดีอยู่ แต่ก็ไม่ได้มากพอจะมาชดเชยประชากรทั่วโลกที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด

ส่วนตัวผมคิดว่าจำนวนประชากรโลกน่าจะไปไม่ถึงระดับ 10,000 ล้านคนอย่างที่หนังสือหลายๆ เล่มก่อนหน้าเคยคาดการณ์ไว้ เราคงไม่ผ่านตัวเลข 8,000 ล้านคนไปได้ง่ายๆ แน่นอนครับ

2. ประเทศไทยมีประชากรมากเป็นอันดับที่ 20 ของโลก

น่าสนใจนะครับว่าประเทศไทย ประเทศเล็กๆ ในโลกที่ยังไม่ค่อยพัฒนาดีกลับมีจำนวนประชากรมากถึงเกือบ 72 ล้านคน คิดเป็นอันดับที่ 20 ของโลก ตามหลังเยอรมันเล็กน้อย ส่วนอันดับ 1 และ 2 ของโลกก็ดูสูสีกันมาก นั่นก็คืออินเดียกับจีน แต่ก็น่าเป็นห่วงตรงประชากรจีนก็เริ่มลดลงแล้ว ส่วนอินเดียเองก็เพิ่มขึ้นไม่ถึง 1% เรียบร้อยแล้ว

อย่างที่บอกครับว่าประเทศกลุ่มประเทศมุสลิม ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ยังคงมีตัวเลขการเติบโตที่ดีกว่าแต่ก็ไม่ได้ดีมากอะไร เพราะยังคงเป็นการเติบโตในตัวเลขตัวเดียวทั้งหมด คือ 2.4% สำหรับไนจีเรีย หรือ 1.98% สำหรับปากีสถาน ดีสุดก็คองโก 3.29% แต่ทั้งหมดนี้ก็ไม่ได้มากมายอะไรที่จะพาจำนวนประชากรโลกไปถึง 9,000 ล้านคนได้ง่ายๆ โลกเราคงจบที่ 8,000 ล้านคนนี้แหละครับสำหรับความคิดผม

3. เอเซียใต้ ตะวันออก และตะวันออกเฉียงใต้ กำลังเป็นมหาอำนาจทางการบริโภคของโลกยุคถัดจากนี้ไป

จากตัวเลขสัดส่วนเปอร์เซนต์ของประชากรในแต่ละภูมิภาคภาพนี้จะเห็นว่า เอเซียใต้มีสัดส่วนประชากรมากถึง 1 ใน 4 ของทั้งโลก ส่วนเอเซียตะวันออกก็คิดเป็น 1 ใน 5 และอาเซียนเราก็มากถึง 8.5% ซึ่งถ้าเอาตัวเลขทั้งหมดมารวมกันก็จะมากถึง 54.3% ของทั้งโลก

จำนวนผู้บริโภคมหาศาลขนาดนี้แบรนด์ไหนจะกล้ามองข้ามได้ แล้วยิ่งภูมิภาคเหล่านี้อยู่ใกล้กันในระยะทางรถไฟ ยิ่งทำให้มีโอกาสจะเป็นที่หมายปองของธุรกิจต่างๆ ในอนาคตอันใกล้แน่นอนครับ

4. อายุขัยเฉลี่ยคนไทย 40.5 ปี

ดูเหมือนคนไทยโดยเฉลี่ยจะสูงวัยขึ้นอย่างมาก เลยวัยกลางคนกันเรียบร้อยแล้ว ความน่ากังวลคือเราก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแบบถลำลึกโดยแทบไม่มีความพร้อมทางสวัสดิการรัฐแต่อย่างไร ในอีกแง่มุมหนึ่งคือบ้านเรายังมีแบรนด์หรือธุรกิจสำหรับกลุ่มคน Silver Age น้อยมาก หรือจะเรียกวัยนี้ว่าเป็นวัยกลางคนฮอร์โมนน้อย ลองอ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง Menopause Market ของการตลาดวันละตอนเพื่อเตรียมพร้อมก่อนได้ครับ

5. รายได้น้อยนิดหนี้ร้อยล้าน GDP ต่อหัวคนไทยแค่ 2,491 ดอลลาร์ หรือยังไม่ถึง 90,000 บาทดี

ความน่าเป็นห่วงของเศรษฐกิจประเทศไทยในอนาคตอันใกล้อย่างที่หนึ่ง นอกจากเราจะมีคนอายุเยอะขึ้นเต็มบ้านเต็มเมือง และเราก็ยังมีผลผลิตต่อหัวประชากรหรือ GDP per Capita ที่ค่อนข้างต่ำมาก แม้จะสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกเล็กน้อย แต่ก็ยังคิดเป็นเงินไทยได้ไม่ถึง 90,000 บาทด้วยซ้ำ

ส่วนประเทศที่มีค่าเฉลี่ย GDP ต่อหัวประชากรสูงๆ ก็อย่างไอร์แลนด์ และสิงค์โปร เรียกได้ว่ารีบเตรียมพร้อมรับวัยเกษียณให้ดี ถ้าไม่เตรียมตั้งแต่ตอนที่เริ่มอ่านบทความนี้ การแก่ตัวไปโดยมีเงินไม่พอใช้แทบไม่ต่างอะไรจากการตายทั้งเป็นก็ว่าได้ครับ

6. 97.6% ของคนทั่วโลกเป็นเจ้าของ Smart Phone หมดแล้ว

แทบจะไม่มีใครไม่ออนไลน์อีกต่อไป เพราะเราได้ Covid Disruption มากระตุ้นให้ทุกคนต้องรีบออนไลน์อย่างรวดเร็วถ้าไม่อยากอดตาย เลยทำให้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือสมาร์ทโฟนกลายเป็นเรื่องปกติ บวกกับการมีอุปกรณ์อย่าง Smart Watch ก็ยังสูงถึง 30% แล้วในปีนี้ครับ

7. คนไทย 88% เข้าถึงอินเทอร์เน็ตแล้ว

น่าดีใจที่ในปี 2024 คนไทยกว่า 88% เข้าถึงอินเทอร์เน็ตเรียบร้อยแล้ว หรือคิดเป็น 8 ใน 9 จะใช้คำว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศออนไลน์แล้วก็ว่าได้ เหลือแค่ผลักดันให้ไปถึงในระดับ 95% ให้ได้ซึ่งก็จะช่วยลดช่องว่างทางดิจิทัลได้อย่างมากครับ

8. Internet Insights ตามช่วงวัย คนแต่ละวัยออนไลน์ทำอะไรกัน

จากข้อมูลจะเห็นว่าคนแต่ละช่วงวัยนั้นก็มีการออนไลน์ หรือการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน แต่อันดับหนึ่งที่เป็นร่วมกันคือการหาข้อมูลที่ตัวเองอยากรู้ ตามมาด้วยการติดต่อกับเพื่อนหรือคนในครอบครัว แต่ถ้าเป็นวัย 55-64 ปีก็จะเป็นเพื่อติดตามข่าวสารที่ตัวเองสนใจ

อันดับสามจะเริ่มกระจัดกระจาย อายุน้อยจะดูวิดีโอ ดูคลิปทางออนไล์ อายุกลางๆ จะไปทางติดตามข่าวสาร ส่วนถ้าอายุเยอะมากก็จะไปทางติดต่อกับเพื่อนหรือคนในครอบครัวครับ

9. Web & App Insights คนแต่ละช่วงวัยเข้าเว็บหรือแอปทำอะไรบ้าง

จากรายงาน Digital Stat 2024 บอกให้รู้ว่าคนแต่ละช่วงวัยนั้นมีวัตถุประสงค์ในการเข้าเว็บหรือแอปที่แตกต่างกัน อายุน้อยใช้โซเชียลมีเดียเป็นหลัก อายุตั้งแต่ 25 ขึ้นไปก็จะใช้เพื่อแชท ส่วนอันดับสองก็จะสลับกันของที่เล่ามาทั้งหมด แต่อันดับสามเหมือนกันหมด คือใช้เพื่อเสิร์จหาข้อมูลอะไรสักอย่าง และอันดับสี่ก็เหมือนกันอย่างไม่น่าเชื่อ นั่นก็คือการช้อปปิ้งออนไลน์

10. คนไทยออนไลน์ติดอันดับ 10 ของโลก วันละ 7 ชั่วโมง 58 นาที

น่าสนใจตรงที่คนไทยนั้นใช้เวลาออนไลน์หรือเล่นเนตวันละเกือบ 8 ชั่วโมงครับ มากจนติดอันดับ 10 ของโลก ส่วนที่เยอะสุดในโลกปีนี้คือแอฟริกาใต้ สูงถึง 9 ชั่วโมง 24 นาที ตามาด้วยบราซิลที่ก็มากถึง 9 ชั่วโมง 13 นาที

ถ้าคนไทยออนไลน์เยอะขนาดนี้ แสดงว่าเขามีโอกาสเป็นลูกค้าเรา เห็นแอดโฆษณาเราไม่น้อยแน่นอน

11. คนไทยเข้าเนตออนไลน์ผ่านมือถือ 98.3% มากเป็นอันดับ 5 ของโลก

น่าสนใจที่คนไทยใช้มือถือในการเข้าถึงอินเทอร์เนตมากถึง 98.3% แถมยังสูงเป็นอันดับที่ 5 ของโลก เกือบจะ 100% แล้วด้วยซ้ำ นั่นหมายความว่าเราต้องออกแบบ Brand Experience หรือ Digital Experience ให้ตอบโจทย์กับการใช้งานผ่านหน้าจอโทรศัพท์มือถือให้ได้มากที่สุด

12. คนไทยออนไลน์ผ่านมือถือวันละ 5 ชั่วโมง 2 นาที นานเป็นอันดับ 4 ของโลก

จากรายงาน Digital Stat 2024 ยังบอกให้รู้ว่าคนไทยนั้นออนไลน์ผ่านมือถือเยอะเป็นอับดับ 4 ของโลก ด้วยระยะเวลาที่นานถึง 5 ชั่วโมง 2 นาที น้อยกว่า 3 อันดับแรกอย่าฟิลิปปินส์ บราซิล และแอฟริกาใต้แค่เล็กน้อย ยิ่งตอกย้ำเรื่อง Mobile Experience อย่างมาก จะออกแบบทำคอนเทนต์อะไรก็คิดถึงการใช้งานหรือเห็นผ่านหน้าจอโทรศัพท์มือถือเป็นหลักนะครับ

13. คนไทยออนไลน์ผ่านคอมพิวเตอร์แค่ 42.4% เท่านั้น

ถือว่ามีสัดส่วนที่น้อยกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกถึง 1 ใน 3 บอกให้รู้ว่าตลาดคอมพิวเตอร์ในบ้านเรายังเติบโตได้อีก ด้วยสัดส่วนที่ 42.4% เท่านั้น หรือยังไม่ถึงครึ่งของคนไทยทั้งประเทศที่มีคอมพิวเตอร์ก็ว่าได้

14. คนไทยออนไลน์ด้วยคอมพิวเตอร์วันละ 2 ชั่วโมง 56 นาที

แม้สัดส่วนการเป็นเจ้าของคอมพิวเตอร์ในไทยจะไม่มาก แต่ในแง่มุมของระยะเวลาที่คนไทยออนไลน์ผ่านคอมพิวเตอร์ในแต่ละวันก็ไม่น้อยเลยทีเดีย เพราะมากถึงเกือบ 3 ชั่วโมงต่อวัน ดังนั้นการออกแบบ Digital Experience บนหน้าจอแนวนอนที่ใหญ่ขึ้นก็ต้องให้ความสำคัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

15. คนไทยใช้ Voice Assistants อย่าง Siri หรือ OK Google 26.5%

ดูเหมือนเทรนด์การใช้เทคโนโลยีอย่าง Voice Assistant พวก Siri หรือ OK Google ในไทยจะยังไม่มากเท่าไหร่ แต่ถ้าดูจากภาพรวมทั่วโลกพฤิกรรมดิจิทัลนี้ก็ยังไม่มากขนาดนั้น ประเทศจีนที่เป็นอันดับ 1 เรื่องการใช้ระบบสั่งการด้วยเสียงก็ยังไม่ถึง 40% ดี ตามมาติดๆ ด้วยอินเดีย

รอดูว่าจะมีใครพัฒนาเทคโนโลยีการฟังเสียงภาษาไทยให้คนไทย 72 ล้านคนใช้งานได้ง่ายๆ จนมีการใช้เพิ่มขึ้นกว่านี้ได้บ้างครับ

16. ความเร็วเนตมือถือคนไทยอยู่ที่ 40.96 MBPS เท่านั้น

ดูเหมือนคนไทยจะยังไม่ค่อยได้ใช้เน็ตมือถือที่เร็วมากสักเท่าไหร่ เทียบกับค่าเฉลี่ยโลกในปีนี้ที่ยังมากถึง 48.61 MBPS ส่วนที่เร็วสุดในโลกก็ดูจะเป็น U.A.E. ที่เร็วแบบน่าเกลียดทิ้งอันดับสองขาดลอย 324 MBPS

รอดูเทคโนโลยี 5G ในบ้านเราว่าจะยกระดับความเร็วเนตมือถืออย่างไรได้บ้าง แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือข่าวคราวเนตมือถือบ้านเราที่แอบถูกลดความเร็วบ้างอะไรบ้าง ถ้ายังไม่แก้ไขเราก็ยังคงไม่สามารถไปไกลกว่านี้ได้จนน่ากลัวว่าจะเป็นค่าเสียโอกาสทางดิจิทัลของคนไทยทั้งประเทศครับ

17. สัดส่วนการเข้าเว็บผ่านมือถือคนไทยอยู่ที่ 60.5%

ข้อมูลนี้สำคัญอย่างไร สำคัญตรงที่ส่งผลต่อการออกแบบ Digital Experience ออกแบบหน้าเว็บให้เร็วในการโหลดและดูดีเมื่อแสดงผลในมือถือให้มากที่สุด เพราะ Web Traffic ของไทยเกือบ 2 ใน 3 มาจากมือถือเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นหมั่นตรวจสอบเว็บบ่อยๆ ว่าเราโหลดได้เร็วพอสำหรับมือถือรุ่นต่างๆ โดยเฉพาะรุ่นกลางๆ ค่อนล่างที่คนไทยส่วนใหญ่ใช้หรือยังครับ

18. 20 อันดับเว็บที่คนทั่วโลกเข้ามากที่สุด มีเว็บโป๊ 18+ ถึง 3 อันดับ

จากข้อมูลของ Similarweb บอกให้รู้ว่าจาก 20 เว็บที่คนทั่วโลกเข้ามากที่สุดในปีที่ผ่านมา มีเว็บโป๊ 18+ ติดมาด้วยถึง 3 อันดับ เป็นเว็บจากจีน 1 อัน คือ Baidu และก็มีเว็บของญี่ปุ่นติดมาถึง 2 อันดับ นั่นก็คือ Yahoo.co.jp กับ Docomo.ne.jp ครับ

19. คนไทยใช้ Google มากถึง 86.6%

ถ้าดูจากข้อมูลคนไทย 88% เข้าถึงอินเทอร์เน็ตแล้ว ก็ดูเหมือนว่าเกือบทุกคนล้วนใช้ Google ในการค้นหาข้อมูลเป็นประจำทุกเดือน ดังนั้นใครยังคิดว่าการมีเว็บไซต์เป็นเรื่องล้าหลัง ไม่สำคัญเท่าโซเชียลมีเดีย ผมอยาให้คุณลองดูดาต้าหน้านี้แล้วคิดใหม่ แน่ใจนะว่าการมีเว็บไซต์ยังไม่สำคัญอย่างที่เคยคิดมา

20. คนไทย 15.5% เสิร์จ Google ด้วยเสียง!!

แม้ดูตัวเลขจะไม่เยอะมาก และยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก แต่สำหรับผมกลับมองว่าน่าสนใจ เพราะคนไทยแอบล้ำกว่าที่คิดไว้ส่วนตัวสักหน่อย ด้วยการใช้เสียงเพื่อหาข้อมูลนั้นมากถึง 15.5% ส่วนอันดับ 1 ของโลกคืออินเดีย แต่ก็ยังมีสัดส่วนแค่ 25.7% เท่านั้น เรียกได้ว่าการเสิร์จหาข้อมูลด้วยเสียงยังไม่มีใครกินขาดมาก ยังคงเป็นสิ่งที่เราสามารถพัฒนาได้อีกเยอะ

21. คนไทยเกือบ 1 ใน 3 ใช้ภาพหรือรูปในการเสิร์จหาข้อมูล

น่าสนใจไปกว่านั้นคือมีคนไทยมากถึง 31.5% ที่ใช้รูปภาพในการค้นหาข้อมูลแทน อย่างผมก็เคยถ่ายรูปแล้วเอาไปเสิร์จ Google ต่อ นั่นบอกให้รู้ว่าคุณต้องเรียนรู้การทำ Image SEO ให้ดีว่าทำอย่างไรให้ภาพที่คนน่าจะถ่ายเพื่อเสิร์จ มีโอกาสเจอเพราะใกล้เคียงกับรูปที่เราถ่ายลงเว็บไว้ให้ได้มากที่สุดครับ

22. คนไทยใช้ QR Code มากเป็นอันดับ 6 ของโลก

น่าสนใจที่แม้ตัวเลขเปอร์เซนต์การใช้งาน QR Code ของคนไทยจะต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ในหัว (น่าจะ 60-70%) แต่ก็ยังบอกให้รู้ว่าคนไทยที่สแกน QR Code เป็นประจำนั้นมากถึง 56.3% หรือคิดเป็นอันดับที่ 5 ของโลก เป็นรองก็แค่ประเทศจีน ที่อยู่อันดับ 1 ด้วยสัดส่วน 64.8% ครับ

23. คนไทย 42.9% ใช้โปรแกรมแปลภาษาออนไลน์

แปล เป็นหนึ่งในคำค้นหา Google ที่มากติดอันดับต้นๆ ของคนไทยมาต่อเนื่องหลายปี และจากข้อมูล Digital Stat 2024 ของ We Are Social ปีนี้ก็บอกให้รู้ว่าไทยเราก็ติดอันดับชาติที่มีการใช้โปรแกรมแปลภาษาออนไลน์อย่าง Google Translation มากถึง 42.9% ครับ

เราลองขยับไปดูที่พฤติกรรมการดูวิดีโอออนไลน์ของคนไทย 2024 กันบ้างครับ

24. คนไทย 93.7% ดูคลิปหรือวิดีโอออนไลน์

เป็นตัวเลขที่สูงมากจนเกือบจะ 100% แล้ว แต่ก็ถ้าดูจากภาพรวมทั่วโลกจะเห็นว่าเทรนด์การดูวิดีโอออนไลน์หรือคลิปต่างๆ ก็มาทรงนี้หมดแหละ คือเยอะมากจนกลายเป็นพฤติกรรมการใช้งานออนไลน์อันดับต้นๆ ดังนั้นคำถามสำคัญคือ แบรนด์คุณทำ Video Content ได้ดีและมากพอหรือยังในปีนี้ ถ้ายังรีบปรับกลยุทธ์การตลาดให้ดี เพราะคนวันนี้ติดดูคลิปหรือวิดีโอออนไลน์กันเหลือเกิน

25. คนไทยดูคลิปทีวีวันละ 3 ชั่วโมง 23 นาที

Insight การดูทีวีของคนไทยในปี 2024 ก็น่าสนใจครับ ตรงที่เราดูทีวีกันวันละ 3 ชั่วโมง 23 นาทีโดยเฉลี่ย แม้อันดับ 1 ของโลกอย่าง U.A.E. จะอยู่ที่ 4 ชั่วโมง 39 นาทีก็ตาม ซึ่งเวลาในการดูทีวีเราเหมือนจะน้อย แต่ไม่ได้หมายความว่าเราดูทีวีลดลงแต่อย่างไร เราแต่เปลี่ยนพฤติกรรมไปดูเนื้อหาจากรายงานทีวีในช่องทางใหม่ นั่นก็คือการดูทีวีทางออนไลน์นั่นเอง

26. คนไทยดูทีวีออนไลน์ 94.3%

น่าตกใจไม่น้อยที่คนไทยเกือบ 100% หรือให้เป๊ะๆ ตามข้อมูลก็ 94.3% ของคนไทยล้วนดูรายการทีวีทางออนไลน์เป็นหลักแล้ว ส่วนหนึ่งก็จะเป็นการดูผ่าน Smart TV ภายในบ้านหน้าจอใหญ่ๆ ที่ไม่ได้ต่อกับเสาอากาศแบบเดิม แต่เป็นการดูผ่านพวกแอป Streaming ต่างๆ

อย่างตัวผมเองก็ดูรายการทีวีช่องประจำผ่านแอป AIS Play หรือไม่ก็ดูตรงผ่าน YouTube ในบางครั้ง สิ่งนี้จะส่งผลต่อพฤติกรรมการซื้อโฆษณาในรายการทีวีใหม่ เพราะอย่าง YouTube ก็จะไม่อนุญาตให้เอาโฆษณามา LIVE ด้วย ทำให้ต้องมีการดีไซน์แพคเกจใหม่ เป็นไปได้พยายามเข้าไปอยู่ในเนื้อหาของรายการทีวีนั้นตรงจะดีที่สุดครับ

27. Streaming แชร์สัดส่วนเวลาดูทีวีคนไทยไป 49.5%

บอกให้รู้ว่าคนไทยเกือบครึ่งหนึ่งดูรายการทีวีทางออนไลน์หรือแอปสตรีมมิ่งต่างๆ ย้อนกลับไปข้อก่อนหน้าที่ผมบอกว่าการวางแผนซื้อสื่อโฆษณาจะมาลงทุนกับช่วงเวลาระหว่างเบรกโฆษณาเหมือนเดิมจะไม่คุ้มค่า ด้วยกติกาของบางแพลตฟอร์มที่ห้ามนำเสนอโฆษณาระหว่าง LIVE นั่นเองครับ

28. คนไทยแค่ 23.7% ที่ยอมจ่ายเงินเพื่อแอปดูหนังออนไลน์

แม้คนไทยจะดูทีวี ดูรายการ หรือดูหนังต่างๆ ผ่านออนไลน์กันเยอะมาก แต่ก็มีน้อยมากไม่ถึง 1 ใน 4 ที่ยอมจ่ายเงินเพื่อดูคอนเทนต์

29. Insights การดูแอปดูหนังออนไลน์ในแต่ละแอป

ข้อมูลหน้านี้ดีครับ แม้จะไม่ได้เจาะลึกแค่คนไทยแต่ก็ทำให้เห็นว่าผู้ใช้งานแต่ละแอปนิยมดูคอนเทนต์หรือดูหนังแบบไหนมากน้อยกว่ากัน

อาจไม่สามารถเอาไปทำไอเดียการตลาดได้เท่าไหร่ แต่ก็เอาไว้เป็นไอเดียในการหาหนังดีๆ ดูก่อนนอนกันนะครับ

30. รายการซีรีส์ยอดนิยมในแต่ละแอปดูหนังออนไลน์

จากหนังหรือภาพยนต์ยอดนิยมในแต่ละแอปไปแล้ว ก็มาดูต่อที่ซีรีส์หรือโชว์ยอดนิยมในแต่ละแอปบ้าง อย่าง One Piece ก็ติดอันดับ 4 ในปีที่ผ่านมาของ Netflix ส่วนแอปอื่นๆ ก็ดูข้อมูลตามนี้ได้เลย แล้วจะเอาไป Add Playlist เก็บไว้ดูนับจากนี้ก็น่าสนุกดีครับ

31. คนไทย 29.8% เรียนออนไลน์

แม้จะเป็นตัวเลขที่ดูต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกพอสมควรในเรื่องการเรียนออนไลน์ของคนไทยที่มีสัดส่วนแค่ 29.8% ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั้งประเทศ แต่สำหรับผมก็ยังถือว่าสูงกว่าที่คิดไว้ ซึ่งค่าเฉลี่ยโลกของการเรียนออนไลน์อยู่ที่ 39.9% ส่วนประเทศที่เรียนออนไลน์เป็นอันดับ 1 ของโลกคือแอฟริกาใต้ อยู่ที่ 60.8% ตามาด้วยฟิลิปปินส์ 58.3% ครับ

32. คนไทยดู MV ออนไลน์ 54.5%

ดูเหมือนหนึ่งในกิจกรรมยอดนิยมเมื่อคนไทยเล่นเนตทุกวันนี้คือการฟังเพลง และการฟังเพลงของเราก็ไม่ใช่การฟังแต่เสียง แต่เป็นการฟังพร้อมดูวิดีโอ MV ไปควบคู่กัน ที่มีสัดส่วนมากถึง 54.5% หรือเกินครึ่งหนึ่งของคนที่ให้ข้อมูลทั้งหมด

ลองต่อยอดเป็นไอเดียการตลาดแบบ Music Marketing ดูนะครับว่าจะทำให้จุดขายสินค้าเรากลายเป็นเพลงที่คนฟังติดหูร้องติดปากได้ง่ายๆ อย่างไรได้บ้าง เหมือนแลคตาซอย 5 บาท ที่แม้ร้องกันได้ทั่วบ้านทั่วเมืองที่ตอนนี้ตัวสินค้าเองก็ขึ้นราคาไปแล้ว

33. 1 ใน 3 คนไทยฟังเพลงออนไลน์เป็นประจำ

พอเจาะลึกเรื่องการฟังเพลงที่เป็นแค่การฟังทางออนไลน์พบว่าก็มีมากถึง 34.5% หรือกว่า 1 ใน 3 ของคนไทยที่ฟังเพลงออนไลน์เป็นประจำ ยิ่งตอกย้ำเรื่องกลยุทธ์การตลาดแบบ Music Video Marketing ในปีนี้ครับ

34. คนไทยฟังเลพงออนไลน์วันละ 1 ชั่วโมง 34 นาที

และเมื่อลงลึกในรายละเอียดเพิ่มเติมก็พบว่าคนไทยที่ชอบฟังเพลงออนไลน์นั้นฟังกันมากถึงวันละ 1 ชั่วโมง 34 นาที อยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก ส่วนที่ฟังนานสุดในโลกคือชิลี 2 ชั่วโมง 11 นาที ตามมาด้วยเกาหลีใต้กับเม็กซิโก

35. คนไทย 18.4% จ่ายเงินให้แอปฟังเพลงออนไลน์

ด้วยสัดส่วนคนไทยที่ยอมจ่ายเงินให้แอปฟังเพลงออนไลน์แค่ 18.4% หรือคิดเป็นไม่ถึง 1 ใน 5 ด้วยซ้ำ นับเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่าการจ่ายเงินให้แอปดูหนังทั้งหลายพอสมควร ธุรกิจฟังเพลงออนไลน์น่าจะหืดขึ้นคออย่างมาก ไม่ต้องแปลกใจเลยว่าทำไมเราถึงมักได้ยินเสียงโฆษณาเวลาไปตามร้านอาหาร ร้านกาแฟ เพราะคนส่วนใหญ่ฟังเพลงแลกกับการฟังโฆษณานั่นเองครับ

36. คนไทย 1 ใน 5 ฟัง Podcast

Insight การฟัง Podcast ของคนไทยนั้นน่าสนใจนะครับ ด้วยสัดส่วนที่มากถึง 1 ใน 5 ของคนไทยที่ฟัง แม้จะดูไม่มาก แต่ในแง่ของระยะเวลาในการฟังข้อถัดไปบอกได้เลยว่าปังมาก

37. คนไทยฟัง Podcast นานเป็นอันดับ 2 ของโลก!!

แม้สัดส่วนคนฟัง Podcast ในไทยจะน้อยแค่ 1 ใน 5 แต่ในมิติของระยะเวลาการฟัง Podcast คนไทยนั้นกลับนานเป็นอันดับ 2 ของโลก อยู่ที่ 1 ชั่วโมง 7 นาที

สรุปง่ายๆ ได้ว่าคนที่ฟังก็ฟังกันอย่างจริงจัง คนที่อยากพัฒนาตัวเองก็มีไม่น้อย กลยุทธ์การทำ Podcast คงต้องกลับคืนมา อย่าลืมว่าวันนี้ Video Content ประเภทเล่าแต่เสียงให้เห็นภาพก็ได้รับความนิยมทาง YouTube ไม่น้อยครับ

38. คนไทยเล่นเกมมากเป็นอันดับ 4 ของโลก!!

Digital Stat & Insights 2024 ข้อนี้ก็น่าสนใจไม่น้อย เพราะคนไทยนั้นติดเกมมากจนอยู่อันดับที่ 4 ของโลก ด้วยสัดส่วนของคนไทยที่เล่นเกมนั้นมากถึง 93.2% ดูเหมือนผมจะเป็นคนส่วนน้อยใน 6.8% ที่ไม่เล่นเกมใดๆ ทุกรูปแบบ แต่ก็นั่นแหละครับดาต้าคือภาพสะท้อนความจริงที่มองข้ามไม่ได้

เมื่อรู้ว่าคนไทยเล่นเกมกันมากขนาดนี้ เตรียมกลยุทธ์การตลาด Game Marketing Strategy 2024 ไว้หรือยัง

แต่ข้อมูลเรื่องการเล่นเกมคนไทยยังไม่หมดแค่นี้ เพราะมันยังมีที่สุดกว่านี้อีกครับ

39. คนไทยเล่น Game Console นานเป็นอันดับ 2 ของโลก!!

ด้วยระยะเวลาที่คนไทยเล่นเกมคอนโซล หรือเครื่องเกมที่มากถึงวันละ 1 ชั่วโมง 40 นาที เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากอันดับหนึ่งอย่างซาอุดิอาระเบียแค่ 3 นาทีเท่านั้นเอง

ดูเหมือนการผลักดัน Esport ให้เป็น Soft Power คงต้องกลับมา ยังจำเกม Pop Cat ที่คนไทยเล่นอย่างบ้าคลั่งช่วงนึงได้หรือไม่ นั่นแหละครับความจริงจังในการเล่นเกมของคนไทย นักการตลาดเราต้องมองหาโอกาสจากจุดนี้ให้เจอนะครับ

40. Insight การเล่นเกมตามช่วงอายุ

เมื่อเห็นว่าคนเราติดเกมกันมากขนาดนี้ ก็ลองมาดูข้อมูลภาพรวม Insight ประเภทเกมที่คนในแต่ละช่วงวัยชอบเล่นกันนะครับ เผื่อจะเอาไปใช้เป็นแนวทางในการวางแผนการตลาดด้วย Game Marketing Strategy ในปีนี้กัน

41. คนไทยแค่ 5.9% เท่านั้นที่มีอุปกรณ์ Smart Home ภายในบ้าน

ถือว่าเป็นสัดส่วนที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับทั่วโลก แต่ในอีกแง่หนึ่งก็บอกให้รู้ว่าเรายังมีโอกาสอีกมากที่รอให้แบรนด์ใดก็ตามมาบุกเบิกตลาด Smart Home ในไทยให้ได้

42. บ้านในไทยที่มี Smart Home มีแค่ 14.3%

ข้อก่อนหน้าหมายถึงจำนวนคนที่มี ข้อมูลนี้บอกถึงสัดส่วนบ้านที่มี ด้วยตัวเลข 14.3% ก็ถือว่าไม่น่าเกลียดเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยจากทั่วโลก แต่ก็ยังถือว่าน้อยกว่าอันดับ 1 อย่างอังกฤษและเกาหลีใต้อย่างมาก แต่ก็ยังย้ำอีกรอบว่าตลาด Smart Home ยังมีโอกาสมากมายให้ผู้ประกอบการที่เก่งมาเจาะตลาดนี้ในไทย

43. คนไทยแค่ 28% เคยใช้บริการการเงินทางออนไลน์

น่าตกใจกับข้อมูลชุดนี้ที่บอกว่าคนไทยแค่ 28% หรือเกินกว่า 1 ใน 4 นิดๆ เท่านั้นที่เคยใช้บริการธนาคารออนไลน์ ลงทุนออนไลน์ หรือการทำประกันทางออนไลน์ ทั้งที่ในความเป็นจริงประเทศไทยน่าจะไปไกลมากแล้วในเรื่องนี้

44. คนไทยเป็นเจ้าของคริปโทเป็นอันดับ 2 ของโลก!!

ยังคงน่าสนใจเมื่อได้รู้ว่ายังมีคนไทยเป็นเจ้าของคริปโทมากถึง 19.5% หรือคิดเป็นอันดับ 2 ของโลก ไม่รู้ว่าที่ยังถืออยู่นี่คือดอยๆ จนขายไม่ลงถือไว้ให้ช้ำใจเล่นๆ หรือเปล่า ส่วนอันดับ 1 ของโลกคือตุรกี อยู่ที่ 21.7%

45. คนไทยเล่นพนันออนไลน์ 14.8%

แม้จะไม่เยอะติดอันดับ Top 10 ของโลก แต่ก็น่าตกใจที่มีคนไทยเล่นพนันออนไลน์มากถึง 14.8% เพราะในประเทศไทยการพนันทุกรูปแบบไม่ว่าจะออนไลน์หรือออฟไลน์ยังไม่ถูกกฏหมายทั้งนั้น ไม่รู้ว่าถึงเวลาหรือยังที่เราจะปรับเปลี่ยนกฏหมายให้เข้ากับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไป เลิกบอกว่าเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ เราไม่ทำสิ่งเลวทราม ทั้งที่ในความเป็นจริงก็มักเห็นตามสื่อหน้าข่าวว่า เจ้าหน้าที่รัฐทั้งนั้นที่มีเอี่ยวกับการพนันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

46. Insight การพนันออนไลน์กับคนไทย เสียเงินไปกับพนันออนไลน์ปีละเกือบ 14,000 บาท

จากรายงาน Digital Stat & Insights 2024 ของ We Are Social ยิ่งทำให้น่าตกใจว่าคนไทยที่รายได้ GDP ต่อหัวอันน้อยนิดนั้นหมดเงินไปกับการพนันออนไลน์มากขนาดไหน ยิ่งถ้าคิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP จะยิ่งตกใจ เพราะมันอยู่สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกอีกครับ

47. คนไทยเสียเงินกับพนันออนไลน์คิดเป็น 5.2% ของรายได้ทั้งปี

เมื่อคำนวนเอาเงินที่เสียไปกับการเล่นพนันออนไลน์หารกับรายได้ต่อหัว GDP คนไทยพบว่าเราเสียเงินมากถึง 5.2% โดยเปล่าประโยชน์ ลองคิดดูซิว่าถ้าเราเอาเงินตรงนี้มาออม หรือมาลงทุนแทน คุณภาพชีวิตโดยรวมของคนไทยในระยะยาวจะดีขึ้นขนาดไหนครับ

ส่วนประเทศที่หนักสุดในโลกคือไนจีเรีย คิดเป็นสัดส่วนมากถึงเกือบ 20% ของ GDP ต่อหัวที่เสียไป

48. คนไทยหาหมอกูเกิล 12.5%

เป็นตัวเลขที่ไม่เยอะมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่มากถึง 22.3% แต่ก็บอกให้รู้ว่าการเช็คอาการป่วยทางออนไลน์ โดยเฉพาะการหาหมอกูเกิลนั้นน่ากังวล เพราะถ้าเจอข้อมูลที่ผิดแต่ดูน่าเชื่อถือก็จะยิ่งทำให้อาการทรุดหนัก เจ้าหน้าที่รัฐต้องหมั่นเข้าไปตรวจสอบเรื่องพวกนี้ ส่วนนักการตลาดในกลุ่มสินค้าหรือบริการเพื่อสุขภาพเองก็ต้องทำ SEO กันให้หนักขึ้นกว่าเดิม

49. คนไทย 18.9% เป็นเจ้าของ Smart Watch

แม้สัดส่วนคนที่เป็นเจ้าของนาฬิกาอัจฉริยะอย่าง Smart Watch ในไทยนั้นจะไม่มากเท่าไหร่ อยู่ที่แค่ 18.9% เท่านั้น เทียบกับ U.A.E. ที่มากกว่าถึงเท่าตัว แต่ก็บอกให้รู้ว่าสินค้ากลุ่มนี้ถ้ามีออกมาที่ราคาเข้าถึงง่ายมากขึ้น ไม่แพงเท่าปัจจุบัน คงจะเห็นคนไทยมีใส่กันเยอะกว่านี้

50. คนไทยกังวลเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลหลุดแค่ 20.8% เท่านั้น

ดูเหมือนคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยกังวลเรื่องการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยโลกที่ยังสูงถึง 31.2% และชาติที่กังวลเรื่องนี้มากที่สุดคือโปรตุเกส ตามมาด้วยสเปน และก็ชิลีครับ

51. คนไทยกว่า 1 ใน 5 เล่นเนตผ่าน VPN

VPN หรือ Virtual Private Network หรือการเล่นเนตแบบไม่เปิดเผยตัวตน เพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวสุดๆ ของคนไทยนั้นมีถึง 20.9% หรือคิดเป็น 1 ใน 5 แล้ว ตลาดนี้น่าจะยังมีโอกาสโตขึ้นได้อีกมากในไทย อย่างผมเองก็รู้จัก BullVPN ของคนไทยอยู่เหมือนกัน

52. คนไทยกลัวเรื่อง FAKE NEWS 63.1%

FAKE NEWS หรือข่าวปลอม เป็นสิ่งที่คนไทยให้ความสนใจและกังวลเยอะมาก จากข้อมูล Digital Stat & Insights 2024 ของ We Are Social บอกว่ามีคนไทยเกือบ 2 ใน 3 ที่กังวลเรื่องข่าวปลอม ข่าวมั่ว หรือที่เรียกว่า Fake News

ส่วนหนึ่งเพราะเรามักเห็นคอมเมนต์จากแอคหลุม หรือที่ชาวเนตเรียกกันว่า IO เป็นประจำ แบรนด์หนังยังทำการตลาดด้วยวิธีนี้ บอกได้เลยว่าคุณกำลังขุดหลุมฝังตัวเองแล้ว

สรุป 52 Digital Stat & Insights 2024 จากรายงานของ We Are Social

ดูเหมือนว่าในปีนี้พฤติกรรมการออนไลน์ของคนไทยจะเปลี่ยนไปพอสมควรจากปีก่อน ซึ่งทั้งหมดนี้คือข้อมูลที่จำเป็นสำหรับนักการตลาดและคนทำธุรกิจจำเป็นต้องรู้ เพื่อจะได้เอาไปปรับใช้กับแผนการตลาดหรือกลยุทธ์ธุรกิจได้อย่างทันท่วงทีครับ

ถ้าสนใจรายงานตัวเต็มก็สามารถเข้าไปอ่านตามลิงก์ด้านล่างได้เลย ส่วนอ่านจบแล้วคิดอย่างไร ไปคอมเมนต์แชร์กันที่เพจการตลาดวันละตอนได้นะครับ

https://datareportal.com/reports/digital-2024-global-overview-report

เจ้าของเพจการตลาดวันละตอน / อาจารย์พิเศษวิชา Data-Driven Communication / เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่ม Personalized Marketing, Data-Driven Marketing, Data Thinking, Contextual Marketing และ Social Listening / ที่ปรึกษา Data-Driven Advisor

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *