ควันหลงจากงาน CTC2024 ซึ่งในบทความนี้ผู้เขียนจะพาคุณผู้อ่านไปเก็บตกประเด็นใน Session Social Media Algorithm & Creator Landscape 2024-2025 โดย คุณขจร เจียรนัยพานิชย์ Executive Editor, RAiNMaker ผู้จัดงาน iCreator Conference กันว่า มีอะไรที่สำคัญ ๆ บ้าง บอกเลยเหล่า Creator นักสร้างสรรค์คอนเทนต์ห้ามพลาด! เพราะจะพูดถึงภาพรวมของ Social Media และวงการ Creator ไทยปี 2024 เป็นอย่างไร Social Media Algorithm ทำงานอย่างไร เราจะเข้าใจไปทำไม และ Creator ทั้งหลายจะสร้างคอนเทนต์และ Build ช่องอย่างไรให้ถูกใจ AI ถ้าพร้อมกันแล้ว ก็ไปดูกันเลย!
คุณขจร กล่าวว่า ในปี 2024 เป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงของวงการ Creator ไทย โดยได้เผยสถิติที่น่าสนใจไว้ดังนี้
จำนวนผู้ใช้งาน TikTok ในประเทศไทย แทรงหน้า YouTube เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สถิติตัวเลขผู้ใช้โซเชียลมีเดียในประเทศไทยปี 2024 พบว่า อันดับ 1 คือ Facebook อยู่ที่ 58 ล้านคน รองลงมาอันดับ 2 คือ Line อยู่ที่ 54.3 ล้านคน และอันดับ 3 คือ TikTok อยู่ที่ 44.3 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นมา 4 ล้านคน หรือ +10% จากปี 2023 แทรงหน้า YouTube อย่างเป็นทางการแล้ว
Top 7 หมวดหมู่คอนเทนต์ของ Creator ไทย
iCreator จับมือร่วมกับ Wisesight รวบรวมข้อมูลและทำสถิติจำนวนหมวดหมู่คอนเทนต์ของ Creator ไทย เพื่อดูทิศทางวงการ Creator ในบ้านเราว่าตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง โดยพบว่า หมวดหมู่คอนเทนต์ที่ Creator ไทยทำมากที่สุด 7 อันดับแรกในปี 2023 ได้แก่
- Gaming and eSport 23%
- Beauty and Fashion 20%
- vTuber 16%
- Local Cultural 11%
- Variety 10%
- Travel 10%
- Finance 9%
หมวดหมู่คอนเทนต์รถยนต์ ทำเงินได้มากที่สุด
ต่อมาหมวดหมู่คอนเทนต์ที่มีจำนวน Creator ไทยทำน้อย แต่ได้เงิน Return กลับมามาก โดยใช้การเทียบเม็ดเงินในตลาดกับจำนวนคนทำ มีเม็ดเงินในตลาดมาก แต่มีคนทำน้อย พบว่า อันดับ 1 คือ Automotive (รถยนต์) รองลงมาอันดับ 2 คือ Parenting (แม่และเด็ก) อันดับ 3 คือ Pets (สัตว์เลี้ยง) และสุดท้ายอันดับ 4 คือ Family and Senior (ครอบครัวและผู้สูงอายุ)
5 หมวดหมู่คอนเทนต์ที่ Creator ไทย ควรทำใน YouTube และ Facebook
หากเจาะดูแต่ละแพลตฟอร์ม สำหรับ YouTube 5 หมวดหมู่คอนเทนต์ที่ได้ยอดดีที่สุด ได้แก่ Variety, Sport, Games, Automotive และ vTuber
และ Facebook ได้แก่ Local Cultural, Film and Series, Art Design, Sport และ Finance
คุณขจร ได้ยกตัวอย่างภาพ โดยเปรียบเทียบรถยนต์ด้านซ้ายเป็น คอนเทนต์ เขาวงกตตรงกลางเป็นโซเชียลมีเดีย Algorithm และบ้านด้านขวาเป็นเส้นชัยหรือผลลัพธ์ที่จะได้ ซึ่งหากเรารู้ว่า Algorithm มีเส้นทางแบบไหน ทำงานยังไง รู้วิธีการคิดของมัน เราก็จะสามารถเดาทางได้ถูกใจ ซึ่งจะทำให้เราเลือกทำคอนเทนต์ลงแต่ละแพลตฟอร์มได้อย่างถูกต้อง และไปถึงเส้นชัยได้เร็วกว่าคนอื่น
บ้าน 2 หลังของ Algorithm ทำงานยังไง
คุณขจร ได้แบ่ง Algorithm ออกเป็นบ้าน 2 หลัง ได้แก่ บ้านหลังที่ 1 คือ Social Media และบ้านหลังที่ 2 คือ Recommendation Media โดยบ้านทั้ง 2 หลังทำงาน ดังต่อไปนี้
สมาชิกของบ้านหลังนี้ เช่น Facebook, Instagram, LinkedIn โดยยกตัวอย่างการทำงานของตัวแทนบ้านอย่าง Facebook ซึ่งคอนเทนต์ในหน้าฟีดของ Facebook 85% จะเป็นสิ่งที่เราตามอยู่ ส่วนอีก 15% จะเป็นสิ่งที่ AI แนะนำมาให้ ซึ่งจากตัวเลขดังกล่าวบอกเราได้ว่า Facebook เป็นการแชร์จากคนสู่คน ดังนั้นคนจึงเป็น Key หลักในการกระจายข้อมูล
ซึ่งพอบ้าน Social Media เป็นแบบแชร์จากคนสู่คน จึงเกิดปรากฏการณ์ Echo Chamber ขึ้น หรือก็คือเราจะเจอแต่คนและคอนเทนต์ที่เราชอบ เห็นด้วยกับเรา ทำให้โลกถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง และกลายเป็นปัญหาสังคมโดยเฉพาะในการเลือกตั้งและการเมือง
สมาชิกของบ้านหลังนี้ เช่น YouTube, Twitter หรือ X, TikTok โดย 50% ของคอนเทนต์บนหน้า YouTube เป็นสิ่งที่ AI แนะนำมาให้ หรือ เป็นช่องที่เราไม่ได้ตาม
ส่วนใน TikTok คอนเทนต์มากถึง 85% เป็นสิ่งที่ AI แนะนำมาให้ ซึ่งจากตัวเลขดังกล่าวบอกเราได้ว่า AI คือ Key หลักในการกระจายข้อมูล
ดังนั้น จึงสรุปความแตกต่างของการทำงานทั้ง 2 บ้าน ได้ว่า บ้าน Social Media มีคนเป็น Key หลักในการกระจายข้อมูล ในขณะที่บ้าน Recommendation Media มี AI คือ Key หลักในการกระจายข้อมูล และสุดท้ายแล้วในตอนนี้ทั้ง 2 บ้านก็กำลังมุ่งหน้าใช้ AI มากขึ้นเหมือนกัน
เมื่อเห็นความสำคัญของ AI ในทั้ง 2 บ้านแล้ว เรามาต่อกันที่ภาพรวมของโซเชียลมีเดีย AI มีอยู่ 2 ฝั่ง ได้แก่ User และ Creator ซึ่งสำหรับฝั่งของ Creator โซเชียลมีเดีย AI จะเข้ามาดูอยู่ 2 อย่าง คือ 1. Channel Structure โครงสร้างของช่องเราเป็นแบบไหน 2. Content Structure คอนเทนต์ของช่องเราเกี่ยวกับอะไร
Channel Structure
โครงสร้างช่องมีความสำคัญมาก ๆ แต่บางคนไม่ได้ใส่ใจในเรื่องนี้ บางทีการถูกปิดกั้นคอนเทนต์อาจไม่ได้มาจากคอนเทนต์แต่มาจากโครงสร้างช่องก็ได้ โดยโครงสร้างช่องประกอบด้วย 3 แบบ ได้แก่
- Mass โครงสร้างเน้นคอนเทนต์ทั่วไป เช่น The Standard Pop
- Mid Level โครงสร้างเน้นเฉพาะกลุ่ม เช่น 4EVE Thailand Fanclub
- Niche โครงสร้างเน้นเฉพาะกลุ่มมาก ๆ เช่น อ๊ะอาย 4EVE Fan Page
เมื่อเราวางโครงสร้างช่องแบบไหน AI ก็จะเข้าใจแบบนั้น คอนเทนต์ที่เราทำจึงต้องเป็นไปตามโครงสร้างที่เราวางไปด้วย ดังนั้นเราจึงควรวางแผนในการลงคอนเทนต์ให้เหมาะกับโครงสร้างช่องของเรา เช่น ถ้าโครงสร้างช่อง คือ แบบ Mass และเดือนนี้เราวางแผนลงคอนเทนต์ 10 ชิ้น โดยอาจจะแบ่ง 5 ชิ้นไว้แบบ Mass, 3 ชิ้นไว้แบบ Mid และอีก 2 ชิ้นไว้แบบ Niche เพื่อให้ AI จับได้มากขึ้นว่าโครงสร้างช่องเราเป็นแบบไหน และการที่ต้องกระจายไปแต่ละโครงสร้าง ก็เพราะแต่ละโครงสร้างมีข้อดี ข้อเสียต่างกัน เราจึงต้องกระจายความเสี่ยงไปยังโครงสร้างช่องอื่น ๆ ด้วย แต่ให้เน้นลง คอนเทนต์ในแบบโครงสร้างหลักของเราเป็นหลัก
เพราะโครงสร้างที่ดี จะนำไปสู่ยอดที่ดี และ AI จะชอบช่องเรามาก ๆ
Content Structure
สิ่งที่ AI ดูจากคอนเทนต์ของช่องเรา มันดูทุกอย่างและจำแนกข้อมูลออกมาเป็นชิ้น ๆ ไม่ว่าจะเป็น Title คลิป, Caption, Hashtag, เพลงที่ใช้, ความยาวของคลิป และคลิปนี้อยู่ในหมวดหมู่อะไร เป็นต้น ดังนั้นเราควรใส่ใจคอนเทนต์ของเราให้ครอบคลุม
เวลา AI พิจารณาว่าจะส่งคอนเทนต์ไปหาคนดูมากหรือน้อยบ้าง จะดู 5 ปัจจัยนี้ ได้แก่
- Interest in Page ความสนใจของคนดูกับช่องเรา เช่น Top fan จะเห็นคอนเทนต์จากช่องเราก่อน
- Type of Content ประเภทของคอนเทนต์ ซึ่งโซเชียลมีเดียแต่ละแพลตฟอร์มจะโปรโมทประเภทคอนเทนต์ต่างกัน เช่น TikTok ในช่วงนี้โปรโมทคลิปขายของ
- Recency ความปัจจุบันของคอนเทนต์ บางแพลตฟอร์มให้ความสำคัญกับเวลาการลงคอนเทนต์สูงมาก เช่น X และ TikTok ที่เราจะเห็นเทรนด์และคอนเทนต์ใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา
- Past Performance คุณภาพคอนเทนต์ของช่องเราในอดีต เช่น ถ้าช่องเรายอด Engagement สม่ำเสมอคงที่ ก็จะเปิดให้คนเห็นคอนเทนต์ของช่องเราก่อน ซึ่ง Facebook และ Instagram ให้ความสำคัญกับปัจจัยนี้มาก
- Post Performance คุณภาพคอนเทนต์ของช่องเรา ณ ปัจจุบัน อย่ามองข้ามองค์ประกอบต่าง ๆ ที่อยู่ในคอนเทนต์ และต้องรู้ว่าทำอย่างไรให้ถูกใจ AI เพื่อให้คอนเทนต์ของเราถูกส่งออกไปหาคนดูเยอะขึ้น
จีบ AI ก็เหมือนจีบสาว
การจะทำคอนเทนต์อย่างไรให้ถูกใจ AI ก็เหมือนกับการจีบสาว เราจะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
- มีเสน่ห์ ให้เขามาสนใจ : Engagement, Retention (คนดูคอนเทนต์จนจบไหม)
- รักเดียวใจเดียว : Don’t link to other platform (ไม่มีแพลตฟอร์มไหนชอบให้เราส่งคอนเทนต์จากแพลตฟอร์มหนึ่งไปอีกแพลตฟอร์มหนึ่ง)
- เป็นคนชัดเจน ชอบอะไรชอบแบบชัดเจน : Channel Category, Content Structure (วางโครงสร้างช่องให้ชัดเจน)
- ไม่โกหก : Don’t break the rules (ไม่ทำผิดกฎของแพลตฟอร์ม เช่น TikTok ห้ามมี QR code ในคลิป)
- สม่ำเสมอ : Consistency (ลงคอนเทนต์เท่าไหร่ก็ได้ไม่สำคัญ แต่ละขอให้ลงสม่ำเสมอ เช่น ถ้าจะลงสัปดาห์ละ 2 คลิป ก็ต้องลงสัปดาห์ละ 2 คลิปตลอด)
คำทิ้งท้ายฝากถึง Creator
สุดท้ายคุณขจร ทิ้งท้ายไว้ให้เหล่า Creator ว่า เราต้องเข้าใจคนดูให้ดี ถ้าอยากไปให้ไกล ต้องสร้างฐานแฟนให้ยาวนาน และต้องสร้างคอนเทนต์ที่ดีมาก ๆ ให้คนรักช่องเรา แม้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตามในแพลตฟอร์มต่าง ๆ
สรุป
ทั้งหมดนี้เป็นสรุปเนื้อหาจาก Session Social Media Algorithm & Creator Landscape 2024-2025 โดย คุณขจร เจียรนัยพานิชย์ Executive Editor, RAiNMaker ผู้จัดงาน iCreator Conference จากงาน CTC2024 ที่ได้กล่าวถึง ภาพรวมของโซเชียลมีเดียและวงการ Creator ไทยในปี 2024 ที่กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสำคัญ นอกจากนี้ Creator ควรเข้าใจการทำงานของ Social Media Algorithm ที่แบ่งออกเป็น 2 แบบคือ Social Media มีคนเป็น Key หลักในการกระจายข้อมูล และ Recommendation Media มี AI คือ Key หลักในการกระจายข้อมูล รวมถึงการเข้าใจโครงสร้างช่องและคอนเทนต์นั้นสำคัญต่อการสร้างคอนเทนต์ให้ถูกใจ AI เพื่อให้ AI ช่วยดันการมองเห็น ซึ่งส่งผลต่อการประสบความสำเร็จของช่อง สุดท้าย Creator ต้องสร้างคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ ถูกใจทั้งคนดูและ AI สร้างฐานแฟนคลับให้เขาอยู่กับเรานาน ๆ รวมทั้งควรตามการเปลี่ยนแปลงในแพลตฟอร์มต่าง ๆ ให้ทันอยู่ตลอดด้วย
สำหรับใครที่สนใจอ่านบทความอื่นๆ หรือ ต้องการอัปเดตความรู้การตลาดเพิ่มเติม สามารถติดตามได้ที่ช่องทาง Website, Facebook, Instagram, Twitter, YouTube, Blockdit และ Tiktok ของการตลาดวันละตอนตามนี้ได้เลยค่ะ