เมื่อวันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือเรียกย่อ ๆ ว่า สภาพัฒน์ ได้เผยแพร่รายงานเรื่อง ภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2567 ซึ่งเปิดเผยประเด็นทางสังคมของไทยไว้หลากหลาย แต่ในบทความนี้ผู้เขียนอยากชวนคุณผู้อ่านมาส่องประเด็นสถานการณ์สังคม คนโสด ในประเทศไทยกันว่าเทรนด์เป็นอย่างไรกันบ้าง และเป็นเพราะอะไรที่ทำให้คนไทยยังครองโสดไม่ยอมมีคู่ซักที ซึ่งแบรนด์ไหนที่ตั้งใจจะเจาะตลาดและสื่อสารกับคนโสดบ้านเรา บอกเลยห้ามพลาด ถ้าพร้อมแล้ว ก็ไปกันเลย!
คนโสด เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่อายุ 15 – 25 ปี และเป็นคนเมือง
ภาพรวมสถานการณ์คนโสดเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา 1 ใน 5 หรือราว 23.9% ของคนไทยเป็นคนโสด และเมื่อเราเจาะไปดูที่ตัวเลข 23.9% จะพบว่า มีคนโสดที่อยู่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์หรือมีอายุตั้งแต่ 15 – 49 ปี อยู่ที่ 40.5% ซึ่งสูงกว่าภาพรวมประเทศเกือบ 2 เท่า และคนโสดช่วงวัยเจริญพันธุ์ที่อยู่ช่วงอายุ 15 – 25 ปี มีสัดส่วนมากที่สุดอยู่ที่ 50.9% และคนโสดส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมือง โดยกรุงเทพมีคนโสดมากที่สุดเมื่อเทียบกับภาคอื่น ๆ นอกจากนี้อัตราคู่รักที่หย่าร้างกันและกลับมาเป็นโสด ยังเพิ่มขึ้น 22% อีกด้วย
4 ปัจจัยที่ทำให้คนยังครองตัวเป็น คนโสด
1. ค่านิยมทางสังคมสมัยใหม่
ค่านิยมทางสังคมสมัยใหม่ที่ส่งผลให้คนโสดมีแนวโน้มสูงขึ้น ได้แก่
SINK (Single Income, No Kids)
คนโสด มีรายได้ แต่ไม่มีลูก ซึ่งพอคนโสดกลุ่มนี้ไม่มีภาระเรื่องลูก จึงใช้จ่ายเงินไปกับการเติมความสุขให้ตนเอง เช่น อาหาร การเดินทาง การทำบุญ และเป็นที่หมายปองของสินค้า Luxury ต่าง ๆ ซึ่งสัดส่วนของคนโสด SINK จะสูงขึ้นตามระดับรายได้ที่มากขึ้นด้วย
PANK (Professional Aunt, No Kids)
สาวโสดที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป มีรายได้ อาชีพการงานดี แต่ไม่มีลูก สะท้อนคุณค่าของผู้หญิงที่เปลี่ยนแปลงไป จากความสำเร็จของผู้หญิงคือการแต่งงานมีลูก เป็นผู้หญิงที่มุ่งจะประสบความสำเร็จในชีวิตไม่แพ้ผู้ชายมากกว่าการตามหาความรัก
ซึ่งกลุ่มนี้จะให้ความสำคัญกับการเป็นคุณป้าที่คอยดูแล สปอยหลาน ๆ ในครอบครัว ดังนั้นธุรกิจที่ขายสินค้าคุณแม่และเด็กไม่ควรมองข้ามสาวโสดกลุ่มนี้ไป
โดย PANK ในประเทศไทยมีอยู่ราว 2.8 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้ มีการศึกษาสูงหรือจบปริญญาตรีขึ้นไป และมีอาชีพหลัก ได้แก่ ผู้ประกอบวิชาชีพ 33.1% หน้าที่เทคนิค 28.2% พนักงานบริการหรือผู้จำหน่ายสินค้า 13.6% เสมียน 12% และผู้จัดการ 8.6% ตามลำดับ
Waithood
คนโสด ที่เลือกจะรอคอยคนที่ใช่ เพราะความไม่พร้อมและความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ ทำให้รู้สึกว่าถ้าคนที่ใช่ มันก็ใช่เอง ตอนนี้ขอโฟกัสความสำเร็จ การงาน การเงิน ของตัวเองก่อน ซึ่งค่านิยมนี้ส่วนหนึ่งสะท้อนจากคนโสดที่มีรายได้ต่ำ และส่วนใหญ่เป็นเพศชาย มีระดับการศึกษาไม่สูงมากนัก หารายได้ได้จำกัด โดยอาชีพส่วนใหญ่ คือ ผู้ปฏิบัติงานด้านเกษตร ประมง และงานพื้นฐาน และเป็นผู้ไม่ได้ทำงานถึง 52.9%
2. ความคาดหวังและความต้องการที่ไม่สอดคล้องกัน
ความคาดหวังต่อบทบาทของผู้หญิง
วัฒนธรรมทางสัมคมที่คาดหวังต่อบทบาทผู้หญิงที่แต่งงานแล้วสูงขึ้น โดยเฉพาะในประเทศในทวีปเอเชีย ที่ผู้หญิงจะต้องทำหน้าที่ทั้งภรรยา แม่บ้าน ควบคู่กับการหาเลี้ยงครอบครัวไปด้วย ซึ่งเป็นภาระหน้าที่ที่บางทีอาจจะมากเกินไปในภาวะสังคมปัจจุบัน
ความต้องการของแต่ละเพศ
ความต้องการของผู้หญิง
- 83% ของผู้หญิง เลือกที่จะไม่คบกับผู้ชายที่มีส่วนสูงน้อยกว่า
- 76% ของผู้หญิง เลือกที่จะไม่ออกเดทกับผู้ชายที่มีรายได้น้อยกว่า
นอกจากนี้ เมื่อสังคมเปิดกว้างมากขึ้น ทำให้พบปรากฏการณ์ที่ผู้หญิงแท้รู้สึกว่าก็เกย์มันน่ารักและอยากมีแฟนเป็นเกย์มากขึ้นอีกด้วย
ความต้องการของผู้ชาย
- 60% ของผู้ชาย เลือกที่จะไม่คบกับผู้หญิงที่เคยหย่าร้าง
- 59% ของผู้ชาย เลือกที่จะไม่คบกับผู้หญิงที่ตัวสูงกว่า
3. โอกาสในการพบปะผู้คนน้อย
จำนวนชั่วโมงการทำงานของ คนโสด ชาวไทย เฉลี่ยอยู่ที่ 43.2 ชม./สัปดาห์ หรือทำงานตกวันละ 8 – 9 ชม./วันธรรมดา ไม่รวมวันเสาร์ อาทิตย์ ซึ่งสูงกว่าภาพรวมประเทศที่อยู่ที่ 42.3 ชม./สัปดาห์ รวมถึงกรุงเทพฯ ยังเป็นเมืองอันดับ 5 ที่แรงงานทำงานหนักที่สุดในโลกอีกด้วย เมื่อต้องทุ่มเทเวลาและพลังที่มีไปกับการทำงาน โอกาสในการพบเจอคนอื่น ๆ จึงน้อยลง
4. นโยบายส่งเสริมการมีคู่ของภาครัฐยังไม่ต่อเนื่องและไม่ครอบคลุมความต้องการของ คนโสด
ในช่วงที่ผ่านมาภาครัฐดำเนินกิจกรรมที่ไม่ต่อเนื่อง และไม่ครอบคลุมความต้องการของคนโสดทั้งหมด แต่เน้นไปที่คนโสดที่มีความพร้อมเท่านั้น
ขณะที่ในต่างประเทศมีแนวทางการส่งเสริมการมีคู่ที่ครอบคลุมไปถึงการลดภาระค่าใช้จ่าย และสร้างโอกาสการมีคู่ เช่น สิงคโปร์ จ่ายเงินให้คู่รักออกเดท 2,500 บาท เพื่อสนับสนุนการออกเดทมากขึ้น จีนและญี่ปุ่น จัดทำแอปพลิเคชันหาคู่สำหรับคนโสด โดยใช้ฐานข้อมูลประชาชนของตนเอง และใช้ AI ช่วยวิเคราะห์หาคนที่มีความชอบที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและปลอดภัยในการสานสัมพันธ์ของคนโสดที่จะพัฒนาเป็นคู่รักต่อไป
สรุป
ก็จบกันไปแล้วกับการเจาะลึกสังคมคนโสดบ้านเรา ซึ่งเป็นข้อมูลอัพเดทปีล่าสุดโดยสภาพัฒน์ ที่ได้เผยแพร่ในรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2567 ซึ่งเปิดเผยว่าจำนวนคนโสดในประเทศไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีอายุ 15-25 ปีที่อาศัยอยู่ในเมือง ปัจจัยหลักที่ทำให้คนไทยครองโสดมากขึ้น ได้แก่ ค่านิยมทางสังคมสมัยใหม่ เช่น การเป็นคนโสดที่มีรายได้แต่ไม่มีลูก (SINK) สาวโสดที่มีรายได้ดีแต่ไม่มีลูก (PANK) และการรอคอยคนที่ใช่ (Waithood) ต่อมาเป็นความคาดหวังและความต้องการที่ไม่สอดคล้องกันระหว่างเพศชายและหญิง โอกาสในการพบปะผู้คนน้อยจากการทำงานหนัก และนโยบายส่งเสริมการมีคู่ของภาครัฐที่ไม่ต่อเนื่องและไม่ครอบคลุมความต้องการของคนโสดทั้งหมด
หวังว่า Insight จากสภาพัฒน์ที่นำมานำเสนอในบทความนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่อยู่ในวงการธุรกิจและการตลาดไม่มากก็น้อยค่ะ ในบทความหน้าจะเป็นเรื่องอะไร ฝากคอยติดตามกันต่อด้วยนะคะ แล้วพบกันใหม่ค่ะ
สำหรับใครที่สนใจอ่านบทความอื่นๆ หรือ ต้องการอัปเดตความรู้การตลาดเพิ่มเติม สามารถติดตามได้ที่ช่องทาง Website, Facebook, Instagram, Twitter, YouTube และ Tiktok ของการตลาดวันละตอนตามนี้ได้เลยค่ะ
Source
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ไทยพาณิชย์
Sis Here