10 Brands & Marketing Trends 2024-2025 สรุปเทรนด์การตลาดทั่วโลก

10 Brands & Marketing Trends 2024-2025 สรุปเทรนด์การตลาดทั่วโลก

สรุปเทรนด์การตลาดทั่วโลก 10 Brand & Marketing Trends 2024-2025 จากรายงาน The Future 100 ของ VML จาก 3 บทความแรกที่พาไปดู 10 Consumer & Culture Trends, 10 Technology Trends และ 10 Travel & Hospitality Trends มาถึงตอนนี้เราจะไปดูเทรนด์ที่นักการตลาดจำเป็นต้องรู้จริงๆ กัน ว่าวิธีทำการตลาดและสร้างแบรนด์ในอีก 10 ปีนับจากนี้จะไปทิศทางไหนครับ

1. OOH Reimagined เทรนด์ใหม่กับสื่อเก่าอย่าง Out-of-home x 3D AR

ดูเหมือนสื่อเก่าที่เคยถูกมองข้ามมานานจะเริ่มกลับมาเนื้อหอมอีกครั้ง นั่นก็เพราะเทคโนโลยี 3D AR สามารถนำมาใช้งานได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้หลายแบรนด์เริ่มทำคอนเทนต์แบบใหม่ที่เรียกว่า 3D AR กระจายไปในโซเชียลวงกว้าง ทำเอาคนเห็นตั้งคำถามว่าตกลงนั่นมันจริงหรือหลอก หรือต่อให้มันเป็นเรื่องหลอกก็คงจะดีถ้ามันเกิดขึ้นจริงๆ

เคสเริ่มต้นน่าจะเป็นการ Mockup Video จำลองว่ากระเป๋าแบรนด์เนมยี่ห้อหนึ่งกำลังวิ่งตามทางรถไฟในเมืองปารีส แล้วก็มีรถไฟใต้ดินที่ถูกติดที่ปัดขนตาของแบรนด์ดัง ทำเอาคนเห็นอ้าปากค้างพร้อมกับตั้งคำถามว่าเรื่องนี้มันเกิดขึ้นที่ไหน เกิดขึ้นเมื่อไหร่ อยากจะไปเป็นกับตาจริงๆ

อ่านเทรนด์นี้ต่อเพิ่มเติมในการตลาดวันละตอน

ซึ่งเทรนด์นี้ก้มีการเรียกอีกแบบว่า FOOH ย่อมาจาก Faux-out-of-home

นอกจากงานตัวอย่างที่คุ้นตาจริงๆ ก็ยังมีงานแบบ FOOH แบบนี้งอกขึ้นมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋า Burberry แบบขนๆ ขนาดยักษ์ตั้งอยู่กลางลอนดอน หรือ BMW iX ก็โผล่ขึ้นมาจากฟองสบู่สีรุ้ง

คอนเทนต์แนวนี้มีแนวโน้มว่าจะทำให้คนหยุดดูมากขึ้น ให้ความสนใจมากกว่าคอนเทนต์ปกติทั่วไป เพราะมันทำให้คนสงสัยว่าตกลงมันจริงหรือไม่ คนรู้สึกว่านี่ไม่ใช่โฆษณาแบบที่คุ้นเคย จึงเปิดใจรับโฆษณาแบบนี้จากแบรนด์มากกว่า

มันคือเส้นกั้นบางๆ ระหว่างจริงกับไม่จริง เมื่อเราสามารถสร้างสิ่งที่เสมือนจริงได้ง่ายขึ้นด้วยต้นทุนที่ถูกลง คอนเทนต์แนวนี้จึงเป็นการยกระดับการทำ Social Content ของแบรนด์ขึ้นไปอีกระดับ

จะมาทำภาพนิ่งเดิมๆ ไม่ได้ เมื่อเรามีเทคโนโลยีมากมายทำให้การทำ 3D AR เกิดขึ้นได้ง่ายจนอาจจะต้องทำคอนเทนต์แบบนี้วันละชิ้นแล้วหละมั้ง

แต่ในขณะเดียวกันก็อย่าลืมว่าสิ่งที่คนสนใจไม่ใช่ความที่มันเป็น 3D แต่ความที่มันเป็น Reality x Creativity จะทำอย่างไรให้คนรู้สึกว่าถ้ามันเกิดขึ้นจริงๆ คงดี

จากการกด Reach ของโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์มอย่างติดดิน ทำให้นักการตลาดต้องพยายามหาวิธีการใหม่ๆ ที่จะเรียกความสนใจจากกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น

และคอนเทนต์แบบ FOOH Faux-out-of-home ก็ดูจะเป็นทางออกในเวลานี้ ในประเทศไทยบ้านเราก็เริ่มเห็นคอนเทนต์แนวนี้เยอะขึ้น ส่วนบริษัทที่ทำคอนเทนต์แนวนี้ก็ดูจะมีมากขึ้นตาม ด้วยราคาที่จับต้องได้ไม่แรงมาก ส่วนจะเป็นบริษัทไหนอย่างไรที่รับทำในราคาเท่าไหร่ ไว้จะเอาข้อมูลมาอัปเดทให้เพื่อนๆ นักการตลาดในการตลาดวันละตอนนะครับ

2. Fanspiration ฟังเสียงลูกค้าที่แท้จริงแล้วรีบหยิบมาสร้างสิ่งใหม่

เมื่อการทำ R&D หรือ Research แบบเดิมเริ่มตกกระป๋องไป เมื่อวันนี้หลายแบรนด์มีมุมมองใหม่ว่าลูกค้าเราหลายล้านคนล้วนให้ข้อมูลเกี่ยวกับแบรนด์อยู่เสมอ

โดยเฉพาะแพลตฟอร์มอย่าง TikTok ยิ่งเป็นช่องทางเก็บความเห็นจากกลุ่มเป้าหมายหรือลูกค้าเป็นอย่างดี ในวันที่ใครคิดอะไรก็ล้วนโพสขึ้นมา จึงทำให้การทำรีเสิร์จเปลี่ยนไปมาสู่ Social media-Driven R&D แทน

แบรนด์เริ่มหันมาใช้ Social Listening เครื่องมือฟังเสียงผู้บริโภคบนโซเชียลมีเดียกันเป็นเรื่องปกติ (เท่ากับว่าใครยังไม่ใช้ถือว่าผิดปกตินะ) จากหลายแบรนด์ก่อนหน้าก็เริ่มหันไปจับมือกับ Content Creator ในการออกสินค้าใหม่ หรือบางครั้งอาจเป็นแค่หยิบคอนเทนต์ที่กำลังเป็นกระแสจากคนทั่วไป มาต่อยอดสร้างเป็นสินค้าใหม่จริงๆ จังๆ

เช่น บางคนเคยบ่นบน TikTok ว่าทำไมสินค้าถึงมีแค่ขนาดเท่านี้หละ ไม่มีที่ใหญ่กว่านั้นหน่อย แบรนด์ไม่ได้ปล่อยเฉย แต่ก็รู้จักใช้ Social Listening ในการรับฟังจนนำไปสู่การออกสินค้าใหม่

หรือ Gen Z บางคนก็เรียกร้องให้มาการผลิตสินค้าไซส์ใหญ่พิเศษที่เป็นรสสตรอว์เบอร์รี่ขึ้นมาในช่วงหน้าร้อนจาก Alpilitro และแบรนด์ก็นำมาทำจริง

และสินค้าเหล่านี้ก็มักจะขายหมดเกลี้ยงภายในระยะเวลาอันสั้นไม่กี่ชั่วโมงทางออนไลน์ และยังมีอีกหลายเคสมากมายที่บรรดาแฟนๆ หรือลูกค้าของแบรนด์เรียกร้องให้แบรนด์ทำอะไรสักอย่างที่พวกเขาอยากจ่ายเงินด้วยความเต็มใจ

และกระแสการฟังเสียงแบรนด์ Fanspiration ในกลุ่มธุรกิจ Fast Food ก็เริ่มจะเป็นที่นิยมจนกลายเป็นมาตรฐานมากขึ้นทุกที อย่างแบรนด์ Chipotle ก็ออกตอบมาตอบสนองความต้องการของ Keithadilla ว่าอยากให้ปรับรสเมนูยอดนิยมอย่าง quesadilla มากกว่านี้หน่อย ซึ่งแบรนด์ก็ทำให้

ซึ่งแบรนด์อย่าง Chipotle นั้นมีสาขาทั่วประเทศกว่า 3,200 แห่ง จึงจำเป็นต้องอบรมพนักงานทั่วประเทศกว่า 100,000 คนให้รู้ว่าการจะขายเมนูที่มาจาก TikTok นี้ให้กับลูกค้าต้องทำอย่างไรบ้าง

McDonald’s ในต่างประเทศเองก็เปิดให้แฟนๆ เหล่าลูกค้าได้มาร่วมสร้างสรรค์เมนูอย่าง Hash Brown McMuffin กัน ซึ่งก็ได้บรรดาศิลปินดาราดังมาร่วมสั่งเมนูนี้กันอย่างสนุกสนาน มันคือเมนูที่ไม่เคยมีขายที่ร้านมาก่อน แต่บังเอิญเราไปเห็นลูกค้าสั่งแล้วเอามาทำเองแล้วโพสลงโซเชียล เราก็เลยคิดว่าทำไมไม่เอามาทำขายดูบ้างหละ ผลตอบรับก็ออกมาดีมากๆ อย่างไม่น่าเชื่อ

เมื่อการฟังเสียงลูกค้าวันนี้ไม่ใช่เรื่องยาก แค่ใช้ Social Listening สักนิดบวกใช้ความพยายามสักหน่อย คุณก็จะเห็นทุกวันว่ามีใครพูดถึงแบรนด์คุณแบบไหนอย่างไรบ้าง

อย่าปล่อยให้เสียงของลูกค้าปลิวหายไปตามกาลเวลา แต่จงหยิบเลือกมาพิจารณาว่าเสียงไหนเราสามารถเอามาต่อยอดสร้างนวัตกรรมใหม่ที่ทำยอดขายได้บ้าง

เพราะนี่คือการหา Inspiration จาก Fan หรือ Customer ที่คุณจะค้นพบโอกาสดีๆ อยู่เสมอ มันคือการใช้ Social Media-Driven R&D การวิจัยยุคใหม่เริ่มต้นทำความเข้าใจจากลูกค้าในโซเชียล

3. Brand India หนึ่งในประเทศมหาอำนาจด้านการบริโภคอันดับหนึ่งของโลกนับจากนี้

คุณอาจสงสัยว่าทำไมถึงเป็นอินเดียไม่ใช่จีน เพราะในความเป็นจริงแล้วอินเดียมีจำนวนประชากรแซงหน้าจีนไปเรียบร้อยแล้ว จากข้อมูลล่าสุดพบว่าอินเดียมีประชากรทั้งหมด 1.417 พันล้านคน ส่วนจีนมีแค่ 1.412 พันล้านคน

และประเทศจีนเองก็มีแนวโน้มจำนวนประชากรเริ่มลดลงจากนโยบายลูกคนเดียวที่มีมานาน บวกกับคนจีนยุคใหม่ไม่นิยมมีลูกเหมือนคนจีนรุ่นก่อน แต่กับอินเดียนั้นต่างไป ด้วยความเชื่อและศาสนาทำให้พวกเขายังคงมีลูกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีแนวโน้มว่าจะหยุดนิ่งแต่อย่างไร

บวกกับประเทศอินเดียเองก็ได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศ G20 ที่กำหนดทิศทางเศรษฐกิจโลกใบนี้ แถมยังมีภารกิจยิ่งใหญ่ที่ตั้งเป้าจะไปทั้งดวงจันทร์กับดวงอาทิตย์ให้ได้ในการแข่งขันด้านอวกาศโลก

ทั้งหมดที่พูดมาเป็นแค่จุดเริ่มต้นของการก้าวเข้าสู่การเป็นชาติมหาอำนาจของอินเดีย ซึ่งถูกคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับ 3 ของโลกภายในปี 2027 ที่จะเติบโตจากภาคเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ

รัฐบาลอินเดียก็วางแผนจะสร้างระบบเศรษฐกิจจาก Semiconductor หรือชิปประมวลผลที่กลายเป็นหัวใจสำคัญของโลกยุค AI ทุกวันนี้ วางแผนถึงขนาดจะก้าวเข้ามาแทนที่ประเทศใต้หวันที่เป็นมหาอำนาจด้านชิปโลกในปัจจุบัน

ขนาด Jensen Huang ผู้เป็น CEO ของ Nvidia ยังบอกว่าประเทศนี้จะมีเศรษฐกิจ AI เป็นอันดับหนึ่งของโลกด้วยจำนวนทั้งผู้สร้างและผู้ใช้ บวกกับยังเป็นประเทศในระบบเสรีนิยมประชาธิปไตย ซึ่งต่างจากจีนที่ปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ซึ่งดูเป็นคู่ปรับกับทางสหรัฐ และก็มีแนวโน้มว่าจะยังโดนความพยายามสกัดกั้นจากสหรัฐไปอีกนานสำหรับจีน และนั่นย่อมหมายถึงโอกาสที่อินเดียจะได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐมากกว่าจีนอย่างแน่นอน

บริษัทระดับโลกอย่าง Apple, Samsung, Kia, Boeing, Siemens, Tesla และ Toshiba ต่างก็มองหาโอกาสเข้าไปตั้งฐานการผลิตบวกกับพยายามขยายตลาดเข้าสู่ประเทศอินเดียอย่างเต็มที่

บริษัทวิจัยระดับโลกอย่าง Bain & Co ยังคาดการณ์ว่าตลาด Luxury ในประเทศอินเดียจะโตกว่านี้อีก 3.5 เท่าภายในปี 2030 และนั่นหมายความว่า Luxury Brand ก็จะขยายสินค้าให้ครอบคลุมกับ Indian Insights ให้ตรงกับความต้องการของชาวอินเดียอย่างเต็มที่ เหมือนอย่างที่เคยทำกับตลาดผู้บริโภคชาวจีนมาแล้ว

และหนึ่งใน Soft Power สำคัญของชาวอินเดียที่ส่งผลไปยังประเทศอื่นก็คือผ้าสาหรี แบรนด์ The Offbeat Sari ได้มีการจัดนิทรรศการที่ London’s Design Museum เพื่อเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ แล้วก็มีการเชิญบรรดา A-listers คนระดับหัวแถวมาร่วมเปิด Brand Ambassadors ในงานนี้ เป็นการยกระดับให้แบรนด์ The Offbeat Sari เทียบเท่ากับ Luxury Brand ชั้นนำ

หรือแบรนด์ผ้าสาหรีอย่าง Sabyasachi Calcutta กับแบรนด์เครื่องหอมอย่าง Forest Essentials ก็ยังวางกลยุทธ์การเปิดร้านที่เมืองสำคัญในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ เพื่อให้คนรู้สึกว่านี่คือแบรนด์หรูหราจากอินเดียที่โกอินเตอร์แล้ว

นี่คือประเทศที่ทุกแบรนด์ต้องจับตามองต่อจากจีน ประเทศที่มีโอกาสในการเติบโตสูงมากเมื่อดูจากหลายๆ ปัจจัยประกอบ โดยเฉพาะจำนวนประชากรที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นไม่หยุดยั้ง

เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นผู้คนย่อมจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น และนั่นก็คือโอกาสของสินค้าฟุ่มเฟือยที่จะทำตลาดได้ดีในประเทศนี้ ประเทศที่ยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตดีอีกมากครับ

รีบเข้าไปทำความเข้าใจ India Insights ให้ไว รีบมองหาโอกาสให้เจอก่อนคู่แข่ง รีบทำตลาดให้แข็งแรง รีบสร้างแบรนด์ให้เป็นหนึ่งในใจคนอินเดียตั้งแต่วันนี้ครับ

4. Creator to Consumer C2C เทรนด์การไลฟ์ขายของออนไลน์ที่กระจายไปทั่วโลก

เมื่อวันนี้ใครๆ ก็สามารถขายของด้วยตัวเองได้ ไม่ต้องเปิดหน้าร้านทำเว็บให้วุ่นวาย แค่มี Account Social Media สักอันก็สามารถค้าขายได้ทันที แล้วยิ่งโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มใหม่ๆ อย่าง TikTok สร้างเครื่องไม้เครื่องมือฟีเจอร์ช่วยให้การซื้อขายผ่านโซเชียลเป็นไปอย่างง่ายดายขึ้น ผลคือแบรนด์ต่างๆ ต้องปรับตัวอย่างมากสำหรับการทำการตลาดทุกวันนี้ เมื่อการบิ๊ว Awareness อาจไม่จำเป็น เพราะเราสามารถสร้าง Conversion ผ่าน Content Creator ตรงได้เลย

จากเดิมการซื้อสินค้าออนไลน์มักจะต้องเริ่มต้นด้วยการมีแรงบันดาลใจหรือความต้องการใช้อะไรสักอย่าง แต่ทุกวันนี้นั้นต่างออกไปมาก หลายคนซื้อของออนไลน์เพราะรู้สึกถูกใจ Influencer หรือ Creator ที่กำลัง LIVE อยู่เท่านั้นเลย

จากยุค Digital First เข้าสู่ Content First แล้ว Creator Lead การเติบโตของ Social Commerce ที่ออกไปทาง LIVE Commerce ที่เกิดขึ้นมานานแล้วในประเทศจีนกำลังขยายวิธีการซื้อขายแบบใหม่นี้ออกไปทั่วโลก

เราเห็น Influencer หลายคนผันตัวมาเป็น Creator แทน จะเดิมที่ต้องหารายได้จากการรับโฆษณาหรือสปอนเซอร์ มาวันนี้พวกเขาแค่เลือกหยิบของที่ตัวเองชอบ ตัวเองใช้ ตัวเองอิน แล้วเอามาทำคอนเทนต์ขาย จากนั้นก็รับค่าส่วนแบ่งไป ในบ้านเราก็มี Creator หลายคนที่ทำเงินได้ชั่วโมงละหลักล้านบาทขึ้นไปจากการ LIVE ขายของออนไลน์แล้ว

ทางฝั่งโลกตะวันตกหรืออเมริกาดูจะปรับตัวกับเรื่องนี้ได้ช้าที่สุด แต่นั่นก็ทำให้เกิดบริษัทสตาร์ทอัพใหม่ๆ มากมายที่ทำหน้าที่จัดการหลังบ้านให้ หน้าบ้าน Creator ก็มีหน้าที่แค่เลือกของมาโพสหรือ LIVE ขาย เหมือนที่เกิดขึ้นแล้วกับฝั่งโลกตะวันออกอย่างไทย อาเซียน หรือว่าจีนนั่นเองครับ

จากนี้แบรนด์ต่างๆ ต้องคิด Business Model หรือการจัดส่วนแบ่งคอมมิชชั่นการขายที่ดีพอเพื่อกระตุ้นให้เหล่า Creator ดังๆ อยากร่วมงานกับเราด้วย น่าสนใจว่าเกม C2C หรือ Creator 2 Consumer หรือ Creator Economy นี้ทางโลกตะวันตกโดยเฉพาะอเมริกาผู้ให้กำเนิดโซเชียลมีเดียนั้นจะปรับตัวอย่างไร

เมื่อ Creator เก่งๆ สามารถทำ Content ในสไตล์ตัวเองจนสามารถสร้าง Conversion ยอดขายได้ถล่มทลายจนฉีกทุกตำราการตลาดหรือโฆษณาที่เคยทำกันมา มันคือการปฏิวัติการตลาดที่แท้จริงเมื่อการสร้าง Awareness กลายเป็นเรื่องล้าสมัย

ดูเหมือนวันนี้ถ้าคนดู LIVE ของ Influencer คนไหนเพลินก็พร้อมกดจ่ายหยิบสินค้าใส่ตะกร้าแล้วมาส่งถึงบ้าน ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้า Ecosystem ของ Ecommerce นั้นไม่ดีพอที่ทำให้การซื้อของออนไลน์เป็นเรื่องสะดวกสบายจริงๆ

แบรนด์ต้องเริ่มหากลยุทธ์จริงจังสำหรับการ LIVE ขายของที่มาแรงจนมีโอกาสจะกลายเป็นช่องทางทำรายได้หลักของธุรกิจในเร็ววันครับ

5. Dopamine Packaging เทรนด์แพคเกจจิ้งยุคใหม่ต้องสดใสวัยรุ่นตาม New Consumer

เทรนด์การรีแบรนด์ผ่านการรีแพคเกจจิ้งใหม่ด้วยสีสันสดใสกลายเป็นอะไรที่นิยมทำกัน อย่างแบรนด์ Jell-O ก็มีการเปลี่ยนแพคเกจจิ้งใหม่ให้เต็มไปด้วยสีสันความสดใสมากขึ้น กระตุ้นให้รู้สึก Spark joy ตื่นเต้นมีความสุขไปจนถึงขี้เล่นชอบสนุกไปพร้อมกัน

จากภาพการออกแบบแพคเกจจิ้งใหม่ทำให้รู้สึกสนุกได้ทั้งผู้ใหญ่และเด็กในเวลาเดียวกัน ไม่เด็กไปและไม่ดูผู้ใหญ่เกิน ดูจะเป็นโจทย์ความยากที่ท้าทายสำหรับการ Repackaging ของ Jell-O

จากจุดเริ่มต้นของคำถามว่า “เราจะเล่นกับรสชาติต่างๆ ที่มีขายให้มากกว่านี้ได้อย่างไร ทำอย่างไรให้มันดูสนุกขึ้น และก็ทำให้คนรู้สึกดีกับแบรนด์ไปพร้อมกัน”

Fanta เองก็มีการรีแบรนด์ใหม่ให้มีความสนุกสนานมากขึ้น มีการเติมกราฟิกสไตล์ Comic เข้าไป มีการใช้คู่สีที่สื่อถึงความสนุกสนานและเต็มไปด้วยสีสัน ไปจนถึงเลือกตัวหนังสือหรือฟอนต์ Typography ที่สะท้อนไปในทางเดียวกัน ด้วยวัตถุประสงค์คือต้องการให้คนรู้สึกกลับมาสนุกอีกครั้งกับแบรนด์เก่าที่อยู่มานานหลายสิบปีเสมือนว่าเป็นแบรนด์ใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นวันนี้เลย

แบรนด์น้ำอัดลมอย่าง 7UP เองก็ไม่อยู่เฉยปล่อยให้ตัวเองแก่ทั้งที่คนอื่น Rebrand ผ่าน Packaging ให้ดูสดใหม่ พวกเขาก็ออกแบบแพคเกจใหม่ภายใต้คอนเซป Joyful moment หรือสนุกที่ได้ดื่ม 7UP มากกว่าแค่อร่อยสดชื่นแบบน้ำอัดลมทั่วไป

ดูเหมือนว่านี่คือการเปลี่ยนผ่านจาก Consumer Gen Y เดิมเข้าสู่ยุคของ Gen Z ที่กลายเป็นผู้บริโภคยุคใหม่อย่างเต็มตัว พวกเขาต้องการอะไรที่ดูสดใสสดใหม่มากขึ้น แบรนด์ต่างๆ จึงเริ่มขยับตัว Rebranding พร้อมกับ Redesign Packaging ไปพร้อมกันอย่างไม่ได้นัดหมาย

เมื่อคอนเซปการออกแบบแพคเกจจิ้งใหม่มีความคล้ายกันนั่นก็คือสีสัน สนุก Joyful หรือ Playful นั่นเอง ทำอย่างไรที่เราจะทำให้สินค้าเรากลับมาดูน่าตื่นเต้นหรือสนุกที่ได้จับอีกครั้ง และนั่นคือโจทย์ที่ท้าทายของนักการตลาดยุคใหม่ที่ต้องจับ Gen Z และ Alpha ให้ได้ในอีก 10 ปีนับจากนี้

ผู้บริโภคยุคใหม่มองหาสินค้าที่จะทำให้พวกเขายิ้มได้ ถ้าคุณทำได้มากกว่าคู่แข่งก็ได้เงินพวกเขาไปไม่ยากครับ

6. World-building brands จากยุคการสร้างแบรนด์สู่ยุคแห่งการสร้างโลกของแบรนด์เราขึ้นมา

เมื่อนิยามของคำว่าแบรนด์เปลี่ยนไปจากวันวาน ยี่สิบปีก่อนคนเคยมองว่าแบรนด์ก็เป็นแค่สัญลักษณ์ ไอคอน โลโก้ และสี แต่วันนี้นิยามของแบรนด์ไปไกลกว่านั้น แบรนด์ที่ดีต้องมีจุดยืนบางอย่างที่ชัดเจน ต้องก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ไปจนถึงต้องพร้อมแสดงตนในการช่วยขับเคลื่อนบางอย่างให้เกิดขึ้นจริง

79% ของผู้คนบอกว่าหน้าที่ของแบรนด์ต่างๆ เปลี่ยนไปอย่างมากจาก 5 ปีก่อน และ 88% ยังบอกว่าบริษัทต้องรับผิดชอบกับโลกใบนี้ สังคมที่เราอยู่ และผู้คนในสังคมให้มากกว่านี้

ดูเหมือนภาระจากภาครัฐจะถูกส่งต่อความคาดหวังมายังภาคธุรกิจ ในด้านหนึ่งก็สะท้อนว่าผู้บริโภคคาดหวังจากแบรนด์มาก แต่อีกด้านหนึ่งก็หมายความว่าเพราะหน่วยงานภาครัฐทั่วโลกล้วนแสดงความล้มเหลวให้เห็น

ดังนั้นหน้าที่ของแบรนด์จึงไปไกลกว่าแค่การตลาดหรือโฆษณา แต่ยังหมายรวมถึงการเป็นส่วนหนึ่งของผู้คน สังคม และชีวิตประจำวัน แบรนด์ต้องสร้างโลกของแบรนด์จริงๆ ขึ้นมา ที่ไม่ได้มีแค่สินค้าหรือบริการของเราอย่างเดียวอีกต่อไป เพราะเราคงไม่อาจตอบทุกด้านในชีวิตผู้คนได้ถ้าไม่มีการขยายพื้นที่ของแบรนด์ออกไปให้ไกลกว่าที่เรามี

ตัวอย่างจากภาพยนต์เรื่อง Barbie ที่ทำรายได้กว่าพันล้านเหรียญจนสร้างกระแสไปทั่วโลกอีกครั้ง ใครจะไปคาดคิดว่าทั่วโลกจะยังคงมีแฟนคลับบาร์บี้ที่เหนียวแน่นเฝ้าดูภาพยนต์จนล้นโรง ทำเอาภาพยนต์ฟอร์มยักษ์อย่าง Oppenheimer ยังต้องตามมาเป็นเบอร์สองเพราะออกฉายในเวลาไล่เลี่ยกัน

จากภาพที่ฉายผ่านภาพยนต์เรื่อง Barbie ทำให้คนได้เห้นภาพ Barbie Land หรือ Barbie Worlds ในชีวิตจริงขึ้นมาอีกครั้ง และนั่นก็ก่อให้เกิดกระแสของ Barbie กระจายไปทั่วโลกจนแบรนด์ต่างๆ ก็ต้องหันมาจับมือกับ Barbie เพื่อออกสินค้าต่างๆ ในการสร้างโลกของ Barbie ให้เกิดขึ้นจริงนอกโรงภาพยนต์

อย่างแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ Joybird ก็มีการออกคอลเลคชั่นใหม่ Barbie ตีมขึ้นมา ด้วยภาพที่นอนกับเตียงนอนไปจนถึงหมอนของ Barbie แล้วก็เฟอร์นิเจอร์โซฟาอื่นๆ อีกมากมาย ที่ทำเอาแฟนบาร์บี้ที่วันนี้โตเป็นผู้ใหญ่คงจะกลั้นใจไม่ซื้อคงไม่ไหว และยังมีอีกมากมายหลายสิบแบรนด์ที่ x Barbie ในช่วงเวลาดังกล่าว

Barbie คงเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่าโลกของบาร์บี้ถ้าเกิดขึ้นจริงจะหน้าตาเป็นอย่างไร ในแง่หนึ่งแบรนด์อื่นก็สามารถเข้าไป Collaboration กับแบรนด์ได้ ถือเป็นการต่อยอดกลุ่มลูกค้าที่วินวินด้วยกันทุกฝ่าย

อีกแง่หนึ่งถ้าแบรนด์คุณแข็งแรงมากพอใครๆ ก็อยากจะเข้ามาจับมือทำธุรกิจด้วย ถ้าทำได้แบบนั้นแบรนด์คุณก็จะสามารถขยายออกไปยังแง่มุมอื่นของ Consumer ได้

คิดภาพง่ายๆ ก็เหมือนเสื้อยืดกระทิงแดงที่ดูเท่ห์มากๆ ในสายตาคนบางกลุ่มหรือนักท่องเที่ยว หรือเหมือนกับเสื้อยืด IKEA เองที่เคยถูกทำขายขึ้นมาจนขายดีมาก ทำเอาแบรนด์ IKEA ต้องผลิตเสื้อยืดตัวเองขึ้นมาขายจริงๆ

คิดภาพโลกของแบรนด์เราว่านอกจากสินค้าและบริการที่เรามี ถ้าเราจะเข้าไปอยู่ในทุกช่วง ทุกจังหวะ ทุกเวลาของชีวิตลูกค้า เราจะต้องทำออกมาอย่างไร หรือมีใครบ้างที่น่าจะจับมือทำกับเราแล้วเวิร์ค

7. Impactainment สร้างประสบการณ์ให้คนอยากเปลี่ยนพฤติกรรมมากกว่าแค่ดูเอามันส์แบบก่อน

การจะเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง โดยเฉพาะจะเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคนั้นจะใช้กลยุทธ์การสื่อสารแบบเดิมที่เรียกว่า Edutainment นั้นไม่พอ เพราะแค่การให้ความรู้อาจไม่มากพอที่จะส่งผลต่อพฤติกรรมได้

แต่ Impactainment นั้นต่างออกไป ไม่ได้เน้นสื่อสารเอาสนุกแต่เน้นการสื่อสารให้กระแทกใจและเกิด Imapct หลังจากนั้น อย่างงาน Hidden Worlds Entertainment ที่ต้องการให้คนดูเสร็จแล้วลงชื่อจะปกป้องพิทักษ์ท้องทะเลด้วยกันจริงๆ

ด้วยการใช้ทั้งวิทยาศาสตร์เข้ามาผสมในเรื่องราวเพื่อสร้างน้ำหนักความน่าเชื่อถือ บวกกับการใช้หลักจิตวิทยาในการสื่อสารที่รู้ว่าจะต้องวางเรื่องราวเพื่อกระตุ้นให้คนรู้สึกจนถึงขั้นลงมือทำอย่างที่คาดหวังได้อย่างไร

หมดยุคการเล่าเรื่องสนุกเพียงอย่างเดียวแต่ไม่สร้าง impact แต่อย่างไร แต่ดูเหมือนหัวใจของเทรนด์ Impactainment จะเป็นวิทยาศาสตร์ที่จะเป็นตัวสร้างน้ำหนักความน่าเชื่อถือให้เกิดการกระทำได้ดีที่สุด

ดูเหมือนนักการตลาดยุคใหม่นับจากนี้จะต้องมีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ ผสมอยู่ด้วย

ที่หมู่เกาะบาฮามาสก็มีการเอาการทางอาหารมื้อเย็นผสมกับการทำ Impactainment ให้คนเห็นภาพแบบ 360 รอบห้องอาหารไปจนถึงบนโต๊ะว่าตอนนี้ธรรมชาติเป็นอย่างไร ได้รับผลกระทบอะไรบ้าง และเราสามารถลงมือช่วยอย่างไรได้บ้างที่จะส่งผลทันทีในตอนนี้

นี่คือผลงานของกลุ่มที่เรียกว่า Hidden Worlds Entertainments ที่ต้องการสร้าง Impact ตรงๆ ไปยังคนตรงหน้า ดูเหมือนหน้าที่ของแบรนด์นับจากนี้ไปอีกสิบปีข้างหน้าจะไม่ง่ายเหมือนที่เคยทำมาสักเท่าไหร่เลยนะครับ

ดูเหมือนเทรนด์การเล่าเรื่องกำลังจะยกระดับไปอีกขั้น ไม่ใช่แค่ Immersive Experience ที่ให้ประสบการณ์ความรู้สึกขั้นสุด แต่ต้องสามารถสร้าง Impact ที่นำไปสู่ Action จริงๆ ของกลุ่มเป้าหมายที่เราตั้งใจไว้ว่าจะให้พวกเขาเปลี่ยนพฤติกรรม

การจะทำให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมได้จำเป็นจะต้องใช้พลังอย่างมากจาหลายศาสตร์มาผสมกัน และหนึ่งในศาสตร์ที่สำคัญก็คือ “วิทยาศาสตร์” ที่ใช้หลักฐานความน่าเชื่อถือบวกกับความสามารถในการเล่าเรื่องให้เข้าใจว่าเรื่องนี้สำคัญขนาดไหน ถ้าไม่รีบทำจะส่งผลเสียอย่างไร ดังนั้นมาสร้าง Impact ด้วย Entertainment กันเถอะครับ

8. Brand Jesters แบรนด์ยุคใหม่อยากได้ใจต้องตลก

โลกทุกวันนี้เต็มไปด้วยความเคร่งเครียด เร่งรีบ แก่งแย่งแข่งขันตลอดเวลา และจากช่วงโควิด19 ที่ผ่านมาก็ส่งผลให้หลายแบรนด์เต็มไปด้วยความซีเรียสจริงจังมากขึ้น แต่เมื่อโลกเริ่มผ่อนคลายก็ส่งผลให้บางแบรนด์ปรับตัวได้ก่อน เปลี่ยนจากความซีเรียสจริงจังมาเน้นความตลกขบขันมากขึ้น

และนั่นก็คือที่มาของเทรนด์ที่ 8 Brand Jesters แบรนด์ยุคใหม่ต้องทำตัวตลก กล้าที่จะหลุดหยุดขรึม เลิกจริงจังแล้วหันมาตลกจริงๆ

จากข้อมูลรายงาน Kantar ก็บอกว่าโฆษณาในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาก็ออกไปทางตลกขบขันมากขึ้น ขนาด Oracle เองก็ยังบอกว่า 91% ของผู้บริโภคทั่วโลกอยากเห็นแบรนด์มีความตลกกว่านี้ และ 90% ก็บอกว่าแบรนด์ที่ตลกจะเป็นที่จดจำได้มากกว่า แล้วก็ยังต่อเนื่องไปถึงขั้นว่าแบรนด์ไหนที่ตลกกว่าก็จะทำให้คนอยากซื้อมากขึ้น

แบรนด์ต่างๆ ทั่วโลกจึงเรียนรู้ที่จะทำคอนเทนต์ให้ตลกมากขึ้น เพื่อทำให้ผู้บริโภครู้สึกเบาใจมากขึ้น ใน TikTok เองก็มีเทรนด์ #CringeTok มียอดวิวรวมกว่า 2,600 ล้านวิว แบรนด์อย่าง Liquid Death ก็เป็นหนึ่งในแบรนด์น้ำแร่ที่เน้นการทำคอนเทนต์แบบตลกเสียดสีได้จิกกัดดีแบบสุดๆ

ทำถึงขั้นให้ลอง Blind taste ลองชิมแยกความแตกต่างระหว่างน้ำแร่กับเหงื่อของคนจริงๆ ว่ารสชาติไหนอี๋กว่ากัน แต่ดูแล้วขำท้องแข็งจริงๆ นะ

ถ้าดูจากตัวอย่างคอนเทนต์ตลกตามเทรนด์ Brand Jesters จะเห็นว่าแค่ตลกขำๆ ยิ้มมุมปากไม่พอ ต้องเอาให้ฮาท้องแข็งจนถึงขั้นสบถออกมาได้เลยจะยิ่งดี

จะเห็นภาพว่าทิศทางการทำคอนเทนต์หรือโฆษณาของแบรนด์จะมาขรึมๆ เท่ห์ๆ ตึงๆ ดูจะไปต่อได้ยากนับจากนี้ไป เทรนด์ของแบรนด์ยุคใหม่ในโลกที่เต็มไปด้วยความเครียดรอบด้าน จึงต้องแข่งกันสร้างความตลกขำขันให้กลุ่มเป้าหมาย

เหมือนที่เขาชอบบอกกันว่า “สวยมักนก ตลกมักได้” จากข้อมูลก็บอกแล้วว่าแบรนด์ไหนตลกกว่าก็จำได้ง่ายกว่า และส่งผลต่อความอยากใช้เงินที่มากกว่าด้วย

แต่อย่าตลกครึ่งๆ กลางๆ ต้องตลกให้สุดขีดเอาให้คนดูขำท้องแข็ง แล้วแบรนด์คุณจะชัดเจนในกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ทั้ง Gen Z และ Alpha ที่จะมีอิทธิพลไปอีก 10 ปีนับจากนี้ครับ

อ่านบทความที่เกี่ยวเนื่องกันในการตลาดวันละตอน

9. Co-creative Futures แบรนด์ยุคใหม่ต้องเปิดให้ลูกค้าเข้ามาทำเอง

เหนือกว่า Personalization การปรับแต่งแบบรู้ใจลูกค้า ก็คือ Co-creation การเปิดโอกาสให้ลูกค้าเข้ามาเลือกเลยว่าที่คิดไว้ใจในเป็นอย่างไร และนั่นก็คือเรื่องราวของเทรนด์การตลาดและแบรนด์ข้อที่ 9 ในปี 2024-2025 ที่จะส่งผลยาวไปอีก 10 ปีข้างหน้า ลองมาดูตัวอย่างกันนะครับว่าในปัจจุบันนี้มีแบรนด์ไหนทำเรื่องนี้จริงจังแล้วบ้าง เพื่อจะได้เปิดมุมมองให้ไอเดียคุณว่าจะเอาเทรนด์นี้ไปลงมือทำจริงอย่างไร

Angelina Jolie นักแสดงฮอลลีวู้ดชื่อดังออกมาสร้างแบรนด์ใหม่ชื่อ Atelier Jolie แบรนด์ที่เปิดให้ลูกค้าไม่ใช่แค่เลือกช้อป แต่เข้ามาเลือกสร้าง เลือกออกแบบแล้วซื้อมันไปเลย

ด้วยคำถามง่ายๆ ทำไมเราต้องซื้อในสิ่งที่คนอื่นคิดไว้ให้ ออกแบบไว้ให้ ทำไมเราไม่ทำขึ้นมาเพื่อตัวเราเองจริงๆ แล้วก็ซื้อไปใช้เป็นของชิ้นเดียวในโลกเลยหละ

พวกเขาเริ่มตั้งแต่การขายวัตถุดิบการทำเสื้อผ้าที่ยังไม่ผ่านดีไซน์ ให้เราได้เลือก ได้คิด ได้ทดลอง แล้วก็ส่งให้ช่างตัดไปประกอบไอเดียเราขึ้นมาเป็นเสื้อผ้าจริงๆ ได้

แถม Atelier Jolie ยังมีชุดซ่อมแซมให้เราสามารถเอาไปใช้จัดการต่อเองที่บ้าน ใครอยากทำอะไรเพิ่มเติมหลังจากนี้ก็สามารถลงมือทำเองได้ หรือถ้าใครอยากจะให้ทางร้านทำให้ก็ยินดีให้บริการ

คุณอาจเกิดคำถามว่าทำแบบนี้แล้วแบรนด์จะไปต่อได้ขนาดไหน Jolie ให้สัมภาษณ์ว่าเธอไม่ต้องการให้แบรนด์ Atelier Jolie เป็นแบรนด์ใหญ่ ขอเป็นแบรนด์เล็กๆ แต่มีความเก๋และยูนิคเท่านี้ก็พอ

Kiki อีกหนึ่งแบรนด์ที่ทำเรื่อง Co-creative มาพักนึงแล้ว นี่คือแบรนด์บิวตี้ความงามเครื่องสำอางในสหรัฐอเมริกา เปิดตัวเมื่อเดือนพฤษภาคม 2023 ด้วยการเปิดโอกาสให้กลุ่มแฟนคลับผู้ติดตามได้เลือกกันว่าอยากให้แบรนด์ทำอะไรออกมาขาย

ด้วยหลักการคิดให้ผู้ซื้อเข้ามาโหวตเลือกสินค้าที่ตัวเองอยากได้ ก็ยิ่งกระตุ้นให้เกิดความเป็นแฟนของแบรนด์ขึ้นไปเป็นอย่างดี

อีกหนึ่งแบรนด์ที่น่าสนใจคือ Golden Goose เป็นแบรนด์ที่ให้คนมาร่วมออกแบบตกแต่งรองเท้าของตัวเองออกไป จนกลายเป็นร้องเที่ยวหนึ่งเดียวในโลกที่เป็นตัวคุณและของคุณจริงๆ และนอกจากรองเท้าประเภทผ้าใบ Sneakers แล้วก็ยังมีกระเป๋า ยีนส์ เสื้อยืด และอื่นๆ อีกมากมาย

แต่ทั้งหมดนี้ก็มาจากคอนเซป Co-creative คุณเข้ามาสร้างของที่คุณต้องการออกไป แบรนด์อย่างเรามีหน้าที่แค่อำนวยความสะดวกในการสร้างของคุณให้มากที่สุด

เมื่อผู้บริโภคยุคใหม่โดยเฉพาะ Gen Z ต้องการแสดงออกถึงความเป็นตัวเองมากกว่าผู้บริโภคทุกเจนในวันนี้ ลำพังการคิดมาให้พวกเขา หรือการเปิดโอกาสให้พวกเขาแค่ปรับแต่งเล็กๆ น้อยๆ กับสินค้าหรือบริการที่เรามีนั้นไม่เพียงพอเหมือนกับวัยรุ่นเจนก่อนอีกต่อไป

ผู้บริโภคยุคใหม่วันนี้อยากลงมือทำอะไรด้วยตัวเองตั้งแต่ต้น ดังนั้นคอนเซปแบรนด์นี้ที่คุณสร้างเองได้ ทำเองได้ ออกมาเป็นของคุณจริงๆ ได้ จึงมีอนาคตไกลกับกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ทั้ง Gen Z และ Alpha ต่อไปได้อีก 10 ปีสบายๆ

คุณเตรียม เค้าทำ คุณขาย เค้าซื้อ เรียกว่าวินทุกฝ่ายตั้งแต่ต้นจนจบจริงๆ

10. Biodesign Brands เทรนด์แบรนด์ยุคใหม่ต้องใช้วัตถุดิบสังเคราะห์ย่อยสลายได้อย่างยั่งยืน

ดูเหมือนเทรนด์รักษ์โลกจะไม่ได้หยุดแค่การลดการใช้วัตถุดิบ หรือชวนให้คนกลับมาใช้ซ้ำและรีไซเคิลเท่านั้น แต่ยังพัฒนาไปถึงขั้นการสร้างวัตถุดิบขึ้นมาใหม่ และไม่ใช่ปิโตเคมีแบบเดิม แต่เป็นวัตถุดิบที่มาจากพวกพืช เชื้อรา แบคทีเรีย หรือตระกูลเห็ด เพื่อให้ทั้งหมดสามารถย่อยสลายกลับสู่ธรรมชาติได้เต็ม 100%

มันคือยุคที่แบรนด์จะต้องสร้างวัตถุดิบที่ดีต่อโลกโดยแท้ขึ้นมาผลิตสินค้าตัวเองขายอีกที มันคือการทำ Biodesign ออกแบบชีวภาพว่าถ้าเราจะทำกระเป๋าจะต้องใช้วัตถุดิบทางชีววิทยาแบบไหนถึงจะสวย ทนทาน และยังกลับคืนสู่ธรรมชาติได้ 100%

กลุ่มธุรกิจที่ปรับตัวเข้าสู่เรื่องนี้ได้ดีอันดับต้นๆ ก็เห็นจะเป็นกลุ่มแฟชั่น พวกเสื้อผ้า กระเป๋า ที่มักจะถูกมองว่าเป็น Fast Fashion ก่อให้เกิดมลพิษเยอะที่สุดทุกวันนี้ ถ้าธุรกิจเหล่านี้สามารถใช้วัจตุดิบจากการออกแบบ Biodesign ก็จะช่วยโลกได้อย่างมากมายในอนาคต

บางแบรนด์ออกสินค้าเสื้อแจ็คเก็ตที่ทำมาจากกากถั่วเหลือ 100% และย้อมสีจากวิธีธรรมดาไม่ได้ใช้สารเคมีสังเคราะห์

ในงาน London Design Festival ปี 2023 ก็มีแบรนด์ Ganni ออกกระเป๋าต้นแบบชื่อ Bou Bag ที่ทำมาจากหนังสร้างด้วย Biotech เป็นแบคทีเรียที่เติบโตตามธรรมชาติ แต่แน่นอนว่าไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ 100% และแบคทีเรียชนิดนี้ก็เลี้ยงด้วยเศษซากจากการเพาะปลูกที่ปกติต้องถูกเผาทิ้งสร้างมลพิษด้วยซ้ำ

นี่จึงเป็นกระเป๋าแฟชั่นที่รักษ์โลกแบบสุดๆ แล้วถ้าวันไหนที่คุณไม่ชอบเอาไปทิ้ง มันก็จะย่อยสลายกลายเป็นโมเลกุลของน้ำตาลที่สิ่งมีชีวิตอื่นสามารถนำไปใช้ต่อได้

ฟังดูแบบนี้เขาเคลมว่าเจ้าวัตถุดิบหนัง Biodesign ชนิดนี้ทนทานกว่าเหล็กกล้าถึง 8 เท่า และก็ให้ความรู้สึกแบบหนังแท้ตามธรรมชาติจริงๆ

เมื่อคนรุ่นใหม่ใส่ใจธรรมชาติยิ่งกว่าคนรุ่นไหนๆ เพราะเราเห็นวิกฤตในโลกนี้มากมาย ดังนั้นแบรนด์ต้องเริ่มมองหาวัตถุดิบใหม่ที่ไม่ใช่แค่รบกวนธรรมชาติตอนสร้าง แต่ยังต้องไม่เป็นภาระต่อโลกตอนทิ้งด้วย

Biodesign ดูเป็นคำตอบเพราะเทคโนโลยีด้านต่างๆ เราก้าวหน้าไปมากจากวันวาน อยากได้วัตถุดิบแบบไหนก็แค่สร้าง จากการออกแบบที่คิดมาแล้วอย่างดี

อีกหน่อยคนจะตั้งคำถามว่าสินค้าคุณผลิตมาจากอะไร วัตถุดิบที่ผลิตนั้นเบียดเบียนจากธรรมชาติมากขนาดไหน แล้วถึงวันต้องทิ้งไปกลายเป็นขยะตกค้างในสังคมหรือเปล่า

  1. OOH Reimagined เทรนด์ใหม่กับสื่อเก่าอย่าง Out-of-home x 3D AR
  2. Fanspiration ฟังเสียงลูกค้าที่แท้จริงแล้วรีบหยิบมาสร้างสิ่งใหม่
  3. Brand India หนึ่งในประเทศมหาอำนาจด้านการบริโภคอันดับหนึ่งของโลกนับจากนี้
  4. Creator to Consumer C2C เทรนด์การไลฟ์ขายของออนไลน์ที่กระจายไปทั่วโลก
  5. Dopamine Packaging เทรนด์แพคเกจจิ้งยุคใหม่ต้องสดใสวัยรุ่นตาม New Consumer
  6. World-building brands จากยุคการสร้างแบรนด์สู่ยุคแห่งการสร้างโลกของแบรนด์เราขึ้นมา
  7. Impactainment สร้างประสบการณ์ให้คนอยากเปลี่ยนพฤติกรรมมากกว่าแค่ดูเอามันส์แบบก่อน
  8. Brand Jesters แบรนด์ยุคใหม่อยากได้ใจต้องตลก
  9. Co-creative Futures แบรนด์ยุคใหม่ต้องเปิดให้ลูกค้าเข้ามาทำเอง
  10. Biodesign Brands เทรนด์แบรนด์ยุคใหม่ต้องใช้วัตถุดิบสังเคราะห์ย่อยสลายได้อย่างยั่งยืน

และนี่ก็เป็นทิศทางของการสร้างแบรนด์และการตลาดที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปในวันนี้ ยาวต่อเนื่องไปอีก 10 ปีข้างหน้า การสร้างแบรนด์ไม่ใช่แค่การสื่อสาร แต่มันก็ยังมีแหละ แต่จะเห็นว่าทุกอย่างคือการทำให้สุด ทั้งวัตดุดิบการผลิตให้สุด การสร้างประสบการณ์ให้สุด การสื่อสารให้สุด แล้วคุณจะเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่คนกลุ่มนึงรักคุณที่สุดยาวๆ ไปอีก 10 ปีครับ

Nattapon Muangtum

เจ้าของเพจการตลาดวันละตอน / อาจารย์พิเศษวิชา Data-Driven Communication / เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่ม Personalized Marketing, Data-Driven Marketing, Data Thinking, Contextual Marketing และ Social Listening / ที่ปรึกษา Data-Driven Advisor

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *