AI กำลังเขย่าโลกการทำงานแรงกว่าที่เคยมีมา ไม่ได้มาแค่ “ช่วย” คนทำงาน แต่กำลัง “เปลี่ยน” งานที่เรารู้จักไปอย่างสิ้นเชิง เรียกได้ว่า เปลี่ยนเร็วจนหลายคนยังไม่ทันตั้งตัว ในวันที่โลกหมุนเร็วกว่าเรากดรีเฟรชฟีดโซเชียล แค่ประสบการณ์หรือใบปริญญาอาจไม่พออีกต่อไปแล้ว เพราะ “ทักษะใหม่” กำลังกลายเป็นสกุลเงินใบเดียวที่โลกธุรกิจยอมรับ ค่ะ
นั่นทำให้เกิดคำถามตามมาว่า แล้วประเทศไทยล่ะ… กำลังขยับไปถึงไหน?
ล่าสุด Coursera แพลตฟอร์มการเรียนออนไลน์ระดับโลก ปล่อยรายงาน Global Skills Report 2025 ที่ฉายภาพชัดว่า ประเทศไทยกำลังเร่งสปีดอัปสกิลด้านดิจิทัลและ AI เร็วกว่าที่คิด โดยเฉพาะในเรื่อง Generative AI (GenAI) ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญของเศรษฐกิจโลกยุคต่อไป และไม่ใช่แค่โตธรรมดา ๆ ค่ะ ยอดลงเรียนหลักสูตร GenAI ของไทยโตพุ่งถึง 232% ทิ้งห่างค่าเฉลี่ยโลกแบบไม่เห็นฝุ่น
ข่าวนี้ไม่ได้สำคัญแค่สำหรับสายการศึกษา หรือ HR แต่ถ้าคุณเป็นนักการตลาด เป็นผู้บริหาร หรือกำลังขับเคลื่อนธุรกิจอยู่… การเปลี่ยนแปลงนี้ “เกี่ยวข้องกับคุณ” โดยตรง นะคะ เพราะเกมใหม่ของโลกธุรกิจ ไม่ใช่แค่เรื่อง “ใครมีเงินทุน” แต่เป็นเรื่อง “ใครมีทักษะ” และใคร “ขยับเร็วกว่า” ก็ได้เปรียบ
ทำไม “ทักษะ” ถึงเป็นเรื่องที่เราต้องโฟกัส?
ในโลกธุรกิจทุกวันนี้ การแข่งขันไม่ใช่แค่ “แข่งเงิน” หรือ “แข่งไอเดีย” อีกต่อไปค่ะ แต่กำลังกลายเป็นการแข่งขันเรื่อง “ทักษะ”
อย่างที่ทุกคนเห็นกัน เทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง Generative AI, Machine Learning, Big Data เข้ามาเปลี่ยนโฉมธุรกิจเร็วยิ่งกว่าที่เคยมีมา หลายงานที่เคยใช้คนทำ กำลังถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ และหลายอาชีพใหม่ ๆ ก็เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีที่พึ่งถือกำเนิดมาไม่ถึงสิบปี
ปัญหาคือ ระบบการศึกษายังไล่ไม่ทันโลกธุรกิจ กว่า 65% ของบัณฑิตไทย ยังหางานไม่ได้หลังเรียนจบ เพราะทักษะที่เรียนมาไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน
AI image generated by Shutterstock (Prompt : A candid cinematic shot an unemployed person sitting on a worn-out bench in a public park, head lowered, hands clasped, dressed in casual, slightly worn clothes, overcast sky, muted color palette, empty surroundings, emotional and somber atmosphere –ar 16:9)
สรุปง่าย ๆ
ตลาด ต้องการทักษะใหม่ ๆ
แรงงาน มีแต่ทักษะเก่า ๆ
ธุรกิจ เลยเจอ Pain Point แรงขึ้นเรื่อย ๆ ว่า “หาคนที่ใช่ไม่เจอ”
นั่นแหละค่ะ ทำไม ทักษะ ถึงกลายเป็น “สกุลเงินใหม่” ของเศรษฐกิจ เพราะต่อให้มีทุน มีไอเดีย มีแผนธุรกิจดีแค่ไหน แต่ถ้าไม่มี “คน” ที่มีสกิลที่โลกต้องการ ทุกอย่างก็จอดเหมือนกัน
และตอนนี้ ประเทศไทย เองก็กำลังเดินหน้าอย่างจริงจังกับการอัปสกิลแรงงานให้ตอบโจทย์ตลาดโลก ผ่านนโยบายสำคัญ เช่น
นโยบาย ‘อว. for AI’ ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม : ขับเคลื่อนการศึกษาและการวิจัย AI
Thailand 4.0 : ผลักดันนวัตกรรมและเทคโนโลยีให้เป็นหัวใจเศรษฐกิจใหม่
คณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ : เตรียมความพร้อมคนไทยสู่ตลาดแรงงานในอนาคต และพัฒนาระบบนิเวศ AI ของประเทศอย่างเต็มประสิทธิภาพ
ไม่ใช่แค่ประเทศไทยนะคะที่เร่งมือเรื่องนี้ เทรนด์โลก ก็กำลังเดินหน้าในทิศทางเดียวกันอย่างชัดเจน จาก รายงาน Future of Jobs Report 2025 ของ World Economic Forum ระบุว่า
89% ขององค์กรทั่วโลก ได้นำ AI เข้ามาใช้ในการทำงานแล้ว
และ 93% เชื่อว่า AI และ Big Data จะกลายเป็นทักษะจำเป็นในตลาดแรงงานภายในปี 2030
เรียกได้ว่าตอนนี้ “ใครขยับก่อน” ก็คือ “ได้เปรียบ” ค่ะ
เทรนด์และตัวเลขที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลง
เมื่อพูดถึง “การอัปสกิล” หลายคนอาจคิดว่ามันเป็นแค่ buzzword แต่ตัวเลขจาก Global Skills Report 2025 ชี้ให้เห็นว่า มันกำลังเกิดขึ้นจริง และเร็วมาก โดยเฉพาะในประเทศไทยค่ะ
ไทยอยู่ในอันดับ 42 ของโลก ด้านทักษะโดยรวม และ อันดับ 11 ของเอเชียแปซิฟิก
ยอดลงเรียนหลักสูตรเกี่ยวกับ GenAI เพิ่มขึ้น 232% แซงหน้าค่าเฉลี่ยทั่วโลก (195%) และเอเชียแปซิฟิก (132%) แบบขาดลอย
ยอดสมัครเรียนใบรับรองวิชาชีพ (Professional Certificates) โต 43% จากปีก่อน สะท้อนเทรนด์ “เรียนเพื่อเอาไปใช้จริง”
คนไทยลงเรียนผ่าน Coursera กว่า 1.1 ล้านคน มีอายุเฉลี่ยผู้เรียน 33 ปี ชัดเลยว่าคนทำงานจริง ๆ กำลังลุกขึ้นมา reskill ตัวเอง
แต่ในขณะที่การเรียนรู้กำลังเร่งสปีด ตัวเลขอีกด้านก็น่าสนใจไม่แพ้กันค่ะ สัดส่วนผู้เรียน GenAI ที่เป็นผู้หญิงอยู่ที่ 26% เท่านั้น ทั้งที่ผู้ใช้งาน Coursera ในไทยเกือบครึ่งเป็นผู้หญิง ตัวเลขนี้จึงสะท้อนให้เห็นโอกาสสำคัญว่า ยังมีพื้นที่อีกมากในการผลักดันผู้หญิงให้ก้าวเข้ามาในสายอาชีพด้าน AI และเทคโนโลยี เพื่อทำให้วงการเทคโนโลยีเปิดกว้างและดึงศักยภาพจากทุกกลุ่มคนได้มากขึ้น
นอกจากนั้นยังมี เทรนด์ทักษะ ที่น่าสนใจ:
AI และ Machine Learning มียอดเรียนเพิ่มขึ้น 210%
ทักษะมนุษย์ (Human Skills) อย่าง Curiosity (+35%), Customer Service (+13%), และ Creative Thinking (+12%) ก็มาแรง
UX Design, Digital Collaboration, Professional Communication ทักษะเหล่านี้โตต่อเนื่อง เพราะการทำงานยุคใหม่ไม่ใช่แค่ทำงานเก่ง แต่ต้องทำงาน “ร่วมกับคนอื่นและเทคโนโลยี” ได้ดีด้วย
แล้วทั้งหมดนี้สะท้อนอะไร?
ชัดเลยค่ะว่า
คนทำงานไทยพร้อมปรับตัว ยิ่งเทียบกับหลายประเทศในภูมิภาค
ตลาดแรงงานกำลังหาคนที่มีทักษะใหม่อย่างจริงจัง และไม่ใช่แค่สกิลเทคฯ แต่สกิลมนุษย์ก็สำคัญไม่แพ้กัน
บริษัทไหนขยับก่อน ได้คนเก่งก่อน และจะเป็นผู้เล่นหลักในยุค AI-First Economy ที่กำลังใกล้เข้ามา
กลยุทธ์ที่องค์กรและตัวคุณเอง “ควรขยับตอนนี้ “
จากตัวเลขและเทรนด์ที่เห็นกันไปแล้ว ข้อสรุปมันชัดเจนมากค่ะว่า เกมนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของการเรียนรู้ แต่เป็นเกมของการลงมือทำให้เร็วกว่าคนอื่น แล้วองค์กรควรขยับยังไงดี?
1. Early Reskill Advantage อัปสกิลทีมงานให้เร็ว ก่อนคู่แข่ง
อย่ารอให้ถึงวันที่คนในทีมต้องใช้ AI แล้วมานั่งหาคอร์สให้ทีหลังค่ะ เริ่มวันนี้ด้วยการ…
ส่งเสริมให้พนักงานเรียน AI, Data Science, UX Design
เปิดงบสนับสนุนคอร์สออนไลน์ หรือ Micro-credential ที่พนักงานสามารถเลือกได้เอง
จัดเวิร์กช็อป GenAI / Data Literacy ในองค์กร เพื่อให้ทีมงานทุกคนเข้าใจและใช้งาน AI ได้จริง
เพราะในยุคนี้ ใครเรียนก่อน ก็ได้เปรียบก่อน
2. Micro-credential Magnet ดึงดูด Talent ด้วยใบรับรองสกิล
ในเมื่อคนทำงานยุคใหม่เริ่มมองหาใบรับรองที่ใช้เวลาเรียนสั้น ๆ แต่เอาไปโชว์สกิลจริงได้ องค์กรที่เปิดโอกาสให้คนได้เรียน Micro-credentials จะดูน่าทำงานด้วยสุด ๆ ค่ะ
ลองคิดง่าย ๆ ว่าระหว่างบริษัทที่มีแค่เงินเดือน กับบริษัทที่บอกว่า “เราสนับสนุนให้คุณ upskill ตลอดเวลา” ใครจะได้ใจ Talent ไป?
3. Learning Culture Boost ปั้นวัฒนธรรมการเรียนรู้ในองค์กร
บริษัทที่ทำให้ “การเรียนรู้” เป็นวัฒนธรรมองค์กร จะได้เปรียบในวันที่คนเก่งเลือกบริษัท ไม่ใช่บริษัทเลือกคนเก่ง
เปิดพื้นที่ให้คนในทีมได้เรียนรู้ทั้ง hard skills และ soft skills
มีแคมเปญ internal สนุก ๆ เช่น AI Week, GenAI Hackathon, Lunch & Learn
แชร์ Success Story ของคนที่ upskill แล้วได้โอกาสโตในองค์กรจริง ๆ
Employer Branding ไม่ใช่แค่เรื่องสวย ๆ ในโฆษณา แต่สร้างได้จาก “สิ่งที่องค์กรทำจริง”
4. Inclusive Tech Strategy สร้างโอกาสผู้หญิงในสายเทคโนโลยี
เมื่อสัดส่วนผู้หญิงในการ GenAI ยังน้อยแค่ 26% แต่นี่ไม่ใช่ปัญหา แต่มันคือ โอกาส ค่ะ เพราะงั้นองค์กรควรเดินหน้าเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้าสู่วงการเทคฯ เช่น
เปิดโครงการ Mentorship ด้าน AI/Data สำหรับผู้หญิง
ตั้งเป้าหมาย Diversity ในทีมเทคโนโลยี
เล่าเรื่องความสำเร็จของผู้หญิงในองค์กร
AI image generated by Shutterstock (Prompt : A candid cinematic shot of a woman working intently on a laptop, AI interface holograms floating around her, soft ambient lighting, modern minimalistic office setting, focused expression, futuristic yet realistic atmosphere –ar 16:9)
ผลพลอยได้ไม่ใช่แค่ Diversity แต่จะได้ภาพลักษณ์บริษัทที่ทันสมัยและเท่าเทียม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดคนเก่งรุ่นใหม่
5. Human Skills Edge เสริมทักษะมนุษย์ที่ AI แย่งไม่ได้
แม้ AI จะเก่งแค่ไหน แต่ Curiosity, Critical Thinking, Creativity ยังเป็นทักษะที่ AI แย่งไม่ได้ จึงควรสร้าง Culture ที่กระตุ้นทักษะพวกนี้ เช่น
Encouraging Questions ทำให้การถามคือพลัง ไม่ใช่ความน่าอาย
Brainstorm แบบไร้กรอบ กระตุ้นให้ทุกคนได้ฝึกคิดนอกกรอบเสมอ
ฝึกทำ “Challenge Sessions” ที่ตั้งโจทย์ยาก ๆ แล้วเปิดโอกาสให้ทีมได้คิดแบบ Creative Solutions
เพราะในวันที่ AI ทำงาน routine ให้หมดแล้ว ทักษะที่ไม่ซ้ำใคร คือแต้มต่อที่แท้จริงค่ะ
สรุป ไทยขยับแซงโลก GenAI Skills โตทะลุ 232% จาก Coursera 2025
สำหรับโอปอ ทักษะไม่ใช่แค่ใบเบิกทางสำหรับตัวเราเองอีกต่อไปแล้วค่ะ แต่เป็นกุญแจที่เราถืออยู่… และเลือกได้ว่าจะใช้มันเปิดประตูให้ตัวเองก้าวออกไปไกลแค่ไหน หรือจะเปิดให้คนอื่นได้เดินตามเข้ามาด้วย
ตัวเลขทั้งหมดที่เราเห็นในรายงานนี้ มันไม่ได้แค่เตือนว่าโลกกำลังเปลี่ยน แต่มันกำลังบอกเราว่า โอกาสใหม่ ๆ ไม่ได้รอใคร ยกเว้นแต่คนที่ “เริ่ม” ก่อนเท่านั้น
โอปอเชื่อค่ะว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นนักการตลาด ผู้บริหาร หรือเจ้าของธุรกิจ การเริ่มต้นขยับเพื่อเรียนรู้ทักษะใหม่ ไม่ได้เปลี่ยนแค่ชีวิตตัวเอง แต่กำลังสร้างแรงกระเพื่อมเล็ก ๆ ให้คนรอบตัวมองเห็นว่ามันเริ่มต้นได้ เพราะสุดท้ายแล้ว โลกที่น่าอยู่ขึ้น มันเริ่มได้จากหนึ่งคนที่กล้าขยับ และหนึ่งมือที่กล้ายื่นให้คนอื่นได้ขยับไปพร้อมกันค่ะ แล้วพบกันใหม่บทความหน้านะคะ :0)
อ่านบทความเพิ่มเติมที่นี่