กลยุทธ์ NETA ขยายตลาดในไทยผ่านมุมมอง Ansoff Matrix

สวัสดีครับทุกคน เมื่อไม่นานมานี้ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมงานเปิดตัวรถไฟฟ้ารุ่นใหม่แบรนด์ NETA ซึ่งสร้างความสนใจให้กับผมเป็นอย่างมาก จนทำให้ผมอยากจะลองวิเคราะห์ กลยุทธ์ NETA ในการทำตลาดที่ประเทศไทย ว่าทำไมถึงสามารถครองส่วนแบ่งอันดับต้น ๆ สำหรับรถ BEV (Battery Electric Vehicles) ได้

ก่อนอื่น ผมขอแนะนำ Neta (หรือ Neta Auto) ซึ่งเป็นแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีน มีบริษัทแม่คือ Hozon Auto บริษัทที่เชี่ยวชาญในการพัฒนาและผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ Neta มีพันธกิจในการสร้างสรรค์นวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของได้ ตามปรัชญา “Tech For All” เพื่อสร้างการเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างเท่าเทียม

ก่อนที่จะวิเคราะห์กลยุทธ์ของ Neta ผมขอพาทุกคนไปดูแนวโน้มของตลาดรถไฟฟ้าในประเทศไทยกันก่อน เพื่อให้เห็นภาพรวมและความเชื่อมโยงกับกลยุทธ์ของ NETA ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

แนวโน้มตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย

จากข้อมูลของวิจัยกรุงศรี พบว่าธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยช่วงปี 2567-2569 มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลายอย่างประเช่น

  • กระแสนิยมยานยนต์ไฟฟ้าจากความตระหนักในเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้น
  • การเพิ่มขึ้นของอุปสงค์และอุปทานภายในประเทศ
  • มาตรการและนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า

และจากกราฟเราจะเห็นว่ารถยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV มีแนวโน้มที่จะเติบโตสูงกว่าแบบอื่น ซึ่งการเติบโตที่มากขึ้น ก็จะทำให้มีคู่แข่งมากขึ้นตามไปด้วย

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาตามระดับราคา พบว่าอุปสงค์ของรถยนต์นั่ง BEV กระจุกตัวมากที่สุดในช่วงราคา 0.5-1 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 55.3% ของยอดจดทะเบียนรถยนต์ BEV ทั้งหมดในปี 2566 รองลงมาเป็นช่วงราคา 1-2 ล้านบาท ที่สัดส่วน 30.4%

ในด้านความคุ้มค่าระหว่างจำนวนเงินกับระยะทางต่อการชาร์จ พบว่าในปี 2566 ยอดจดทะเบียนรถยนต์ BEV ที่วิ่งได้ไกลในราคาย่อมเยาเพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะรถยนต์ในกลุ่มที่สามารถวิ่งได้ไกล 300 กิโลเมตรขึ้นไปจากการชาร์จ 1 ครั้งต่อราคารถยนต์ไฟฟ้าหนึ่งล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 82.0% ของยอดจดทะเบียนรถยนต์นั่ง BEV ทั้งหมด

โดยภาพรวมทำให้เราเห็นแนวโน้มของตลาดอย่างคร่าว ๆ ว่ามีประเด็นอะไรที่จะส่งผลต่อกลยุทธ์ธุรกิจรถไฟฟ้า BEV ซึ่งผมมองว่า ปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลต่อทิศทาง กลยุทธ์ Neta ในการขยายฐานลูกค้าในประเทศไทย

กลยุทธ์ NETA ในการขยายตลาด (Market Expansion) ด้วย Ansoff Matrix

จากข้อมูลแนวโน้มตลาดข้างต้น เราสามารถวิเคราะห์กลยุทธ์การตลาดของ NETA โดยใช้ Ansoff Matrix ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการวางแผนการขยายธุรกิจ วิเคราะห์ความเสี่ยง และโฟกัสประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการขยายตลาดและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งในบทความนี้ผมจะไม่ได้อธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับกลยุทธ์ต่าง ๆ ถ้าใครสนใจรายละเอียดเกี่ยวกับเครื่องมือนี้สามารถอ่านได้ที่

Neta ใช้กลยุทธ์ Market Development ในการขยายตลาดประเทศไทยโดยตั้งบริษัท เนต้า ออโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด ในปี 2565 เป็นศูนย์กลางธุรกิจรถไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน อีกทั้งร่วมมือกับ ปตท. ในการสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า

กลยุทธ์ NETA

โดยวางตำแหน่งของตัวเองในเรื่องของการเข้าถึงง่าย (Affordable) และประสิทธิภาพในด้านนวัตกรรม (Innovation) ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มตลาดของประเทศไทยที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับความคุ้มค่า (Value for Money)

NETA ใช้กลยุทธ์การตั้งราคาที่ไม่สูงมาก โดยอยู่ในช่วง 500,000 – 800,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในตลาดโมเดล BEV ที่อยู่ราว ๆ 1 ล้านบาท แต่ยังคงส่งมอบเทคโนโลยีที่ทันสมัยในราคาที่เข้าถึงง่าย

นอกจากนี้ ในช่วงปลายปี 2566 NETA ยังได้ตั้งโรงงานผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% แห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นฐานการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าพวงมาลัยขวาสำหรับตลาดภูมิภาคอาเซียน โดยมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 20,000 คันต่อปี ซึ่งเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ของแบรนด์ เพราะสามารถช่วยสร้างงานให้กับคนในพื้นที่ได้อีกด้วย

กลยุทธ์ NETA

ผมมองว่าด้วยกลยุทธ์นี้ทำให้แบรนด์มีรากฐานที่จะสามารถต่อยอดในการสร้างฐานลูกค้าใหม่ การเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และการเสริมสร้างแบรนด์ให้อยู่ในระดับสากลได้ 

แน่นอนว่า Neta ไม่ได้ใช้เพียงแค่กลยุทธ์เดียวแต่ยังได้ผสมผสานเข้ากับกลยุทธ์ Product Development หรือการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อให้กับตลาดเดิม จากข้อมูลแนวโน้มเบื้องต้นเราจะเห็นเลยว่าถ้ามองในเรื่องราคา 5 แสนถึง 1 ล้านบาท บาท อย่างในปี 2023 มีรวมกันมากถึง 85.7% ในขณะเดียวกันถ้ามองเรื่องความคุ้มค่าของระยะทางและเงิน ในช่วง 300-500 km/ 1 ล้าน ก็มีจำนวนกว่า 51% แสดงให้เห็นถึงโอกาสที่จะสามารถขยายฐานกลุ่มลูกค้าในกลุ่มเหล่านี้

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ที่ผ่านมา Neta ได้เปิดตัว NETA X รถยนต์พลังงานไฟฟ้าสไตล์ SUV เพื่อเสริมทัพผลิตภัณฑ์ในประเทศไทย โดยมีจุดเด่นคือ

  • ห้องโดยสารกว้าง นั่งสบาย
  • 80% ของพื้นที่ห้องโดยสารเป็นวัสดุบุนุ่ม
  • หน้าจอระบบสัมผัสขนาดใหญ่ 15.6 นิ้ว
  • เทคโนโลยีล้ำสมัยและฟังก์ชันการใช้งานอัจฉริยะ
  • ระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ ADAS ระดับ 2.0
  • ระบบความปลอดภัยครบครัน

และ NETA X มีให้เลือก 2 รุ่น ได้แก่

  • รุ่น Comfort ราคา 739,000 บาท
  • รุ่น Smart ราคา 799,000 บาท

จากการเปิดตัว NETA X ทำให้เราเห็นว่า NETA พยายามที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเอง เพื่อให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย และขยายฐานลูกค้าเดิมที่อาจจะยังเข้าไม่ถึง ซึ่งเป็นการต่อยอดจากกลยุทธ์ Market Development ที่ได้สร้างรากฐานไว้อย่างแข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็นการมีพันธมิตรที่ช่วยให้สามารถพัฒนา Product ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือการตั้งโรงงานในต่างประเทศที่ช่วยในการลดต้นทุนการผลิต (Cost Reduction)

สิ่งเหล่านี้ทำให้ NETA ยังคงสามารถทำตามปรัชญาของแบรนด์ “Tech For All” ทุกคนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างเท่าเทียมได้

สรุป

จากการวิเคราะห์ กลยุทธ์ NETA ในการขยายตลาดประเทศไทยผ่านมุมมอง Ansoff Matrix ผมมองว่าแบรนด์ได้ใช้กลยุทธ์ Market Development และ Product Development อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการผสมผสานทั้งสองกลยุทธ์นี้ ทำให้สามารถขยายฐานลูกค้าในตลาดรถไฟฟ้า BEV ที่มีการแข่งขันสูง และยังคงยึดมั่นในปรัชญา “Tech For All” ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างเท่าเทียม NETA จึงมีรากฐานที่แข็งแกร่งในการเติบโตในตลาดไทยและภูมิภาคอาเซียนต่อไป

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่นี่

สวัสดีครับ ชื่อดิวนะครับ จะพยายามนอนให้ครบ 8 ชั่วโมง เพื่อที่จะได้เขียนบทความดี ๆ ให้กับทุกคนครับ *_*

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *