เคยแอบสงสัยเหมือนกันไหมคะ? ทำไม๊ ทำไม คนไทยถึงกล้าทุ่มเงินซื้อของแพงหูฉี่แบบไม่กลัวกระเป๋าฉีกกันเลย? ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าแบรนด์เนมตัวใหม่ที่คนต่อแถวข้ามคืน บัตรคอนเสิร์ตโซน VIP ที่เปิดขายปุ๊บเกลี้ยงปั๊บ หรือร้านอาหารระดับมิชลินสตาร์ที่ต้องจองล่วงหน้าหลายเดือน พฤติกรรม “หยุดไม่ได้ ใจมันลักซ์” นี้ไม่ได้มาเล่น ๆ นะคะ แต่มันคือตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบไม่รู้ตัวเลยทีเดียวค่ะ
วันนี้ผู้เขียนจะพาทุกคนไปรู้จักกับปรากฏการณ์ Luxumer (ลักซูเมอร์) คนติดหรูที่พร้อมเทใจและเทเงินให้สินค้าและบริการไฮเอนด์ และที่สำคัญเทรนด์นี้มีอะไรให้เราได้เรียนรู้และต่อยอดทางธุรกิจอีกเพียบ พร้อมแล้วใช่ไหมคะ? ไปดูกันเลยค่ะ!
ที่มาของปรากฏการณ์ “เสพติดความลักซ์”
ก่อนจะไปถึงข้อมูลเชิงลึก ขอย้อนกลับมาดูจุดเริ่มต้นกันก่อนค่ะ ไม่ว่าเศรษฐกิจจะผันผวนแค่ไหน ทำไมคนไทยถึงติดหรูในระดับที่ “ขาดไม่ได้ก็ใจมันลักซ์” แบบนี้?
จากงานวิจัยของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ภายใต้หัวข้อ “Unstoppable Luxumer” พบว่า คนไทยติดหรูไม่ได้แปลว่าทุกคนต้องรวยล้นฟ้า แต่เกิดจากความต้องการเติมเต็มคุณค่าทางจิตใจ ผ่านประสบการณ์ที่ “ลักซ์” ซึ่งถือเป็นการลงทุนในความสุข หรือสร้างการยอมรับในสังคมค่ะ
3 ปรากฏการณ์ลักซ์ในตลาดไทยที่นักการตลาดต้องรู้
#1 ความหรูไม่ได้จำกัดแค่แบรนด์เนมอีกต่อไป
ทุกวันนี้ความลักซ์ไม่ได้อยู่แค่กระเป๋าแพงหรือเสื้อผ้าหรูอีกแล้วค่ะ แต่กระจายไปทุกหมวดหมู่ ตั้งแต่อาหาร เสื้อผ้า บริการสุขภาพ ไปจนถึงประสบการณ์พิเศษ เช่น บัตรคอนเสิร์ต VIP ที่ขายหมดในไม่กี่นาที เพราะแฟนคลับพร้อมจ่ายหลักหมื่นเพื่อสัมผัสประสบการณ์ใกล้ชิดศิลปิน และแชร์โมเมนต์นี้บนโซเชียลให้โลกรู้ว่า “ตัวจริงต้องแบบนี้!”
#2 หรูได้แม้ไม่รวย แค่รู้จุดที่เอื้อมถึง
กลุ่ม Luxumer รุ่นใหม่ไม่ได้มีรายได้สูงเสมอไป แต่พวกเขารู้ว่าความลักซ์ที่ “สินค้าหรูที่พอเอื้อมได้” (Affordable Luxury) อยู่ตรงไหน เช่น ขนมหวานจากวัตถุดิบระดับพรีเมียม หรือคอร์ส Chef’s Table ที่ให้โอกาสคนธรรมดาได้สัมผัสความหรูในราคาที่สูงขึ้นจากทั่วไป แต่ยังจับต้องได้ เป็นการให้รางวัลชีวิตที่ทั้งฟินและดูดีด้วยค่ะ
จากผลการวิจัยบอกกับเราอีกว่า ระดับค่าความหลงใหลในวัตถุนิยม (Material Values Scale (MVS) ของผู้ที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 20,000 บาท ไปจนถึงผู้มีรายได้เกิน 200,000 บาท กลับไม่แตกต่าง ยิ่งย้ำชัดขึ้นไปอีกว่า รายได้เท่าไหร่ไม่สำคัญ แค่ใจลักซ์ก็พอ
#3 สินค้าหรูคือการลงทุนมากกว่าการใช้จ่าย
ในยุคนี้การซื้อนาฬิกาหรือกระเป๋าแบรนด์เนมไม่ใช่แค่เพื่อความสุขชั่วคราว แต่คือการ “ฝากเงิน” ที่เพิ่มมูลค่าได้ค่ะ เช่น กระเป๋า Hermès บางรุ่นที่ราคาพุ่งจากหลักล้านไปเป็นสองเท่าในเวลาไม่กี่ปี สินค้าหรูจึงกลายเป็นการลงทุนที่ให้ทั้งความสุขปัจจุบันและผลตอบแทนในอนาคตด้วยค่ะ
ผู้เขียนขอสรุปง่าย ๆ ว่า ความลักซ์ไม่ได้เป็นแค่เทรนด์ แต่มันคือโอกาสสำหรับแบรนด์ที่เข้าใจอินไซต์ลูกค้า และพร้อมจะสร้างประสบการณ์หรูที่ตอบโจทย์ยุคนี้ค่ะ
เทรนด์สินค้าหรูที่มาแรงที่สุดในปี 2024
#1 อาหารและเครื่องดื่มพรีเมียม ความหรูที่ลิ้มรสได้
ลองนึกภาพช็อคโกแลตดูไบที่เคยเป็นกระแสฮือฮากันสิคะ คนต่อคิวตั้งแต่ฟ้ายังไม่สว่างเพื่อซื้อช็อคโกแลตราคาแพงลิ่วต่อชิ้น ไม่ใช่แค่เพราะรสชาติอร่อยล้ำ แต่เพราะ “สตอรี่” และ “ความหรูหรา” ที่จับใจต่างหากค่ะ แบรนด์ที่รู้เกมนี้ดีจะใส่ใจทุกรายละเอียด ตั้งแต่วัตถุดิบหายาก บรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบอย่างพิถีพิถัน ไปจนถึงตัวผลิตภัณฑ์ที่แค่หักออกก็โชว์เส้นคูนาฟ่าสวยเป๊ะ ถ่ายรูปลง IG แล้วเรียกยอดไลก์ได้รัว ๆ สมกับนิยามของคำว่า “ลักซ์” ทุกมิติเลยค่ะ
#2 การท่องเที่ยวสุดลักซ์ ไลฟ์สไตล์หรูที่แชร์ได้
“บิน Business Class และ นอนโรงแรม 5 ดาว” คือการใช้ชีวิตในฝันของใครหลายคน นอกจากจะได้พักผ่อนแล้ว ยังได้แชร์โมเมนต์โชว์ไลฟ์สไตล์บนโซเชียล แบบที่ใครเห็นก็ต้องอิจฉา
#3 บัตรคอนเสิร์ตและกิจกรรมสุดพิเศษ
ใครๆ ก็อยากอยู่แถวหน้าในคอนเสิร์ตของศิลปินคนโปรดใช่ไหมคะ? อย่างกรณีบัตรคอนเสิร์ต NCT DREAM โซน VIP ที่ขายหมดเกลี้ยงในไม่กี่นาที ก็ยิ่งทำให้เห็นภาพชัดเลยล่ะค่ะ เพราะการได้ใกล้ชิดศิลปิน หรือได้สิทธิพิเศษแบบ Exclusive อย่าง Hi-bye สบตาศิลปินระยะประชิด หรือเข้าไปดู Soundcheck ก่อนใคร มันคือประสบการณ์ที่ไม่ใช่แค่บัตรธรรมดา แต่เป็นโมเมนต์ล้ำค่าที่แฟน ๆ พร้อมควักจ่ายเพื่อเก็บความทรงจำสุดพิเศษนี้ไว้ค่ะ
#4 บริการสุขภาพและความงามระดับพรีเมียม
การมีเทรนเนอร์ส่วนตัว โปรแกรมพิลาทิสสุดเอ็กซ์คลูซีฟ หรือคอร์สสปาแบบไฮเอนด์เป็นเรื่องที่คนติดหรูมองว่าเป็นการ “ลงทุนในตัวเอง” อย่างแท้จริงค่ะ ตัวอย่างที่เห็นชัดคือคลินิกเสริมความงามที่นำเสนอบริการระดับ VIP เช่น แพคเกจตรวจสุขภาพระดับ DNA หรือการทำทรีตเมนต์หน้าใสที่มีราคาหลักแสน
#5 ของสะสมสุดหายาก การลงทุนแบบมีสไตล์
ไม่ว่าจะเป็นนาฬิกาหรู กระเป๋าแบรนด์เนม หรืออาร์ตทอยรุ่นลิมิเต็ด คนไทยสายสะสมพร้อมจ่ายเพื่อความภูมิใจและโอกาสที่มูลค่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคตค่ะ อย่างกรณีอาร์ตทอย เช่น LABUBU MOLLY SKULLPANDA ที่ราคาพุ่งขึ้นสองเท่าในเวลาไม่กี่เดือน เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า “หรูวันนี้ คุ้มวันหน้า” เป็นเรื่องจริงค่ะ
เทรนด์ใหม่ของตลาดหรู โตสวนกระแสเศรษฐกิจ 2025
#1 การตลาดเชิงอารมณ์ (Emotional Marketing)
ลืมการบอกว่าของเราดีแค่ไหนไปได้เลยค่ะ เพราะชาว Luxumer ยุคใหม่จะเลือกจาก “ความรู้สึก” ที่ได้จากการใช้สินค้าและบริการแทน ซึ่งความสุข ความภูมิใจ หรือแม้แต่ความประทับใจในดีไซน์และการบริการ จะกลายเป็นตัวชูโรงที่ทำให้สินค้าโดดเด่นค่ะ
#2 หรูแบบรักษ์โลก (Eco-Conscious Luxury)
Gen Z และ Millennials คือตัวจริงสายรักษ์โลกค่ะ ใครอยากพิชิตใจกลุ่มนี้ต้องมีสินค้าและบริการที่ Eco-friendly เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้วัสดุรีไซเคิล กระบวนการผลิตแบบยั่งยืน หรือนโยบายลดคาร์บอน เห็นไหมคะว่าหรูอย่างเดียวไม่พอ ต้องควบคู่กับการรักษ์โลกด้วย
#3 ตลาดหรูมือสองมาแรง
อยากได้กระเป๋าหรูราคาน่ารัก หรือสินค้า Limited Edition แต่ไม่อยากซื้อของใหม่ราคาแพง? ตลาดสินค้ามือสองตอบโจทย์ค่ะ โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ที่ทำให้คนเข้าถึงสินค้าเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น นอกจากจะช่วยประหยัดเงินแล้วยังลดขยะไปในตัว สาย Sustainability ต้องกดเลิฟเลยค่ะ
#4 ธุรกิจเช่าความหรู (Luxury Rentals)
การเช่าสินค้าหรูจะกลายเป็นอีกทางเลือกสุดฮิต ไม่ว่าจะเป็นเช่ากระเป๋า เสื้อผ้า หรือแม้แต่รถยนต์ ช่วยให้ชาว Luxumer ได้สัมผัสความหรูในราคาสบายกระเป๋า แถมยังเปลี่ยนสินค้าได้ตามโอกาสและสไตล์อีกด้วย
พิชิตใจชาว Luxumer ด้วยกลยุทธ์ “PREMIUM”
หากเราอยากจะมัดใจชาว Luxumer แบบอยู่หมัด ต้องใช้กลยุทธ์นี้ค่ะ “PREMIUM”
- P – Privilege ทำให้รู้สึกเป็น VIP ด้วยสิทธิพิเศษ เช่น ทดลองสินค้าใหม่ก่อนใคร หรือบริการสุดเอ็กซ์คลูซีฟ
- R – Rare ส่งมอบสินค้าหายาก เช่น Limited Edition หรือ Made by Order ที่ให้ความรู้สึกว่ามีแค่เราเท่านั้นที่ได้ครอบครอง
- E – Emotional สร้างสายสัมพันธ์ทางอารมณ์ เชื่อมโยงแบรนด์กับเรื่องราวที่มีคุณค่าทางใจ
- M – Memorable มอบประสบการณ์น่าจดจำ เช่น อีเวนต์สุดพิเศษหรือโอกาสพบปะไอดอล
- I – Innovation ใช้นวัตกรรมทันสมัย เช่น AI ออกแบบสินค้าและบริการเฉพาะบุคคล
- U – Unique สร้างสินค้าที่มีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร สะท้อนรสนิยมเฉพาะตัวของผู้ใช้
- M – Motivation ทำให้แบรนด์เป็นสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จที่ผู้บริโภคภูมิใจ
สรุป เจาะลึกพฤติกรรม Luxumer 2025 คนไทยติดหรูสวนกระแสเศรษฐกิจ
เห็นไหมคะว่า “ความหรูหรา” สำหรับชาว Luxumer ไม่ได้หมายถึงแค่ “ราคาแพง” แต่คือ “คุณค่า” ที่พวกเขาได้รับ ไม่ว่าจะเป็นความสุขทางอารมณ์หรือประสบการณ์ที่ยากจะหาได้ที่ไหน บางครั้งแค่สิ่งเล็ก ๆ ที่ทำให้พวกเขารู้สึกพิเศษก็เพียงพอที่จะเปลี่ยนให้เป็นลูกค้าประจำได้แล้วค่ะ ดังนั้น ถ้าเราเข้าใจหัวใจและพฤติกรรมของกลุ่มนี้อย่างแท้จริง ไม่ว่าเศรษฐกิจจะผันผวนแค่ไหน ชาว Luxumer ก็ยังพร้อมลงทุนเพื่อเติมเต็มความสุขของตัวเองเสมอค่ะ
สำหรับใครที่สนใจอยากเจาะลึกพฤติกรรมผู้บริโภคกลุ่มนี้ หรือต่อยอดไอเดียในการพัฒนากลยุทธ์ธุรกิจ ก็สามารถปรึกษากับ CMMU (วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล) ได้นะคะ แล้วพบกันใหม่บทความหน้าค่ะ :0)
อ่านบทความเพิ่มเติมที่นี่