ในยุคที่พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนจากการสนใจ “สินค้า” ไปสู่การใส่ใจ “คุณค่า” ที่แบรนด์สื่อสาร เวทีทอล์กอย่าง FaraTALK คือภาพสะท้อนของการเปลี่ยนผ่านจากโลกการตลาดที่ขับเคลื่อนด้วยการแข่งขัน สู่การตลาดที่ขับเคลื่อนด้วยบทสนทนา และการสร้างคอมมูนิตี้อย่างแท้จริงกับโมเดลใหม่ของ Brand Sponsorship ค่ะ
จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่มีเพียงผู้ชมหลักพันในโรงละคร FaraTALK เติบโตเป็น Edutainment Show ที่มีผู้ชมหลักหมื่นในเวลาเพียง 3 ปี การเติบโตนี้ไม่ได้เกิดจากการลงทุนด้านโฆษณา หรือการนำเสนอโปรโมชั่น แต่เกิดจากความเข้าใจผู้ชมอย่างลึกซึ้ง และความสามารถในการสร้างคอนเทนต์ที่มีคุณค่า และเชื่อมโยงกับความรู้สึกของผู้คนนั่นเองค่ะ
ทำความรู้จักกับ FaraTALK และ Farose Studio
FaraTALK (ฟาราทอล์ก) คือเวทีทอล์กที่เติบโตจากคอมมูนิตี้ของ “ชาวช่อง” ผู้ติดตามผลงานของ ฟาโรส – ณัฏฐ์ กลิ่นมาลี และร่วมกันเสพเรื่องราวที่ถูกเล่าอย่างลึกซึ้ง มีมุมมองเฉพาะตัว และเต็มไปด้วยความรู้สึก เวทีแห่งนี้ไม่ใช่แค่กิจกรรมออฟไลน์ แต่เป็นพื้นที่ที่ทำให้ผู้คนที่ชื่นชอบการ “คิด รู้สึก และตั้งคำถาม” ได้มาเจอกันจริง ๆ ค่ะ
จนถึงปัจจุบัน FaraTALK จัดมาแล้ว 3 ตอน ได้แก่
‘X’ and the city (พ.ศ. 2566) พาผู้ชมสำรวจความสัมพันธ์ระหว่าง “คน” กับ “เมือง” ที่เติบโต ยึดโยง และเปลี่ยนแปลงไปด้วยกันผ่านมุมมองทางสังคม วัฒนธรรม และความรู้สึกส่วนบุคคล
Tell me ‘Y’ (พ.ศ. 2567) ชวนผู้ชมตั้งคำถามว่า “ทำไม” ผ่านการสำรวจ สัญลักษณ์ เหตุการณ์ และสถานที่ต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อเปิดมุมมองใหม่ให้กับสิ่งที่เคยมองข้าม
What’s in a name? (พ.ศ. 2568) ตอนล่าสุดที่พาไขความหมายของ “ชื่อ” ไม่ว่าจะเป็นชื่อบุคคล สถานที่ หรือแบรนด์ ผ่านเรื่องเล่าเม้ามอยน่าขบคิดจากแขกรับเชิญหลากวัฒนธรรม พร้อมเปิดเวทีให้แบรนด์กลายเป็นส่วนหนึ่งของบทสนทนาได้อย่างแนบเนียนค่ะ
FaraTALK คือพื้นที่แห่งความรู้สึก ที่ใช้เรื่องเล่าชวนคนตั้งคำถาม ไม่ใช่เพื่อหาคำตอบเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อค้นพบความเชื่อมโยงระหว่างกันในแบบที่ไม่มีสคริปต์
อย่างที่บอกไปว่า FaraTALK เติบโตจากคอมมูนิตี้ของ “ชาวช่อง” ผู้ติดตามผลงานของ ฟาโรส – ณัฏฐ์ กลิ่นมาลี ซึ่งผลงานนั้นก็มาจาก Farose Studio (ฟาโรส สตูดิโอ) ซึ่งคือสตูดิโอผลิตสื่อสร้างสรรค์ ที่ก่อตั้งโดยฟาโรส หรือพี่ฟา ผู้เป็นทั้งครีเอเตอร์ นักเล่าเรื่อง และนักออกแบบประสบการณ์เนื้อหาในหลากหลายแพลตฟอร์มค่ะ
โดยฟาโรส สตูดิโอมุ่งเน้นการผลิตคอนเทนต์ที่สร้างบทสนทนา ชวนตั้งคำถาม และเชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกันผ่านสื่อที่หลากหลาย ทั้งรายการออนไลน์ คลิปวิดีโอ สารคดีเสียง และกิจกรรมออฟไลน์ค่ะ
สามารถติดตามผลงานของ Farose ได้ผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้ดังนี้ Facebook: Farose , Instagram: @FaroseStudio และ @tkw.update และ YouTube: Farose Channel | Farose Podcast | Jito ค่ะ
จาก “สินค้า” สู่ “สารที่สื่อ”
หนึ่งในสัญญาณสำคัญของการเปลี่ยนผ่านทางการตลาดในยุคนี้ คือการที่ผู้คนไม่ต้องการแค่รู้จักแบรนด์ แต่ต้องการรู้ว่าแบรนด์นั้น “ยืนหยัดเพื่ออะไร” แนวคิดเรื่อง Brand Purpose หรือ “จุดยืนของแบรนด์” กลายเป็นหัวใจของกลยุทธ์สื่อสารในหลายองค์กร เพราะในยุคที่สินค้าหลายแบรนด์มีคุณภาพใกล้เคียงกัน สิ่งที่สร้างความแตกต่างอย่างแท้จริง คือ “สิ่งที่แบรนด์เลือกจะเล่า”
FaraTALK คือตัวอย่างของการเล่าเรื่องที่ไม่ได้เริ่มจากแบรนด์ แต่ทำให้แบรนด์ถูกพูดถึงในบริบทที่ลึกซึ้งกว่าเดิม ผ่านเนื้อหาที่จับใจ และเวทีที่เปิดกว้างให้เกิดการตีความร่วม ฟาโรส ณัฏฐ์ กลิ่นมาลี ผู้สร้างและดำเนินรายการ ไม่ได้ตั้งใจทำเวทีนี้เพื่อการตลาด แต่กลับสร้างโมเดลการตลาดแบบใหม่ขึ้นมาโดยธรรมชาติ ด้วยการให้พื้นที่แก่เรื่องราวที่เชื่อมโยงผู้คนจากหลากหลายวัฒนธรรม ความเชื่อ และช่วงวัย
ตอน “What’s in a name? ชื่อนั้นสำคัญไฉน” คือกรณีศึกษาสำคัญ ที่นำพาผู้ชมไปสำรวจความหมายของชื่อ ผ่านเรื่องราวของแขกรับเชิญ 6 คนจากหลากหลายบริบท ว่าชื่อสะท้อนตัวตน สะท้อนประวัติศาสตร์ และเชื่อมโยงกับอัตลักษณ์ของแต่ละบุคคลและสังคมอย่างไร เรื่องของ “ชื่อ” ที่ดูเหมือนจะเบา กลับกลายเป็นสะพานเชื่อมโยงความเข้าใจระหว่างผู้คน และเปิดโอกาสให้แบรนด์ที่สนับสนุน ได้เข้าไปอยู่ในบทสนทนานั้นอย่างแนบเนียน
เวทีของการ “ร่วม” ไม่ใช่ “แข่ง”
ในอดีต การตลาดมักเป็นสนามรบที่แต่ละแบรนด์ต้องแข่งขันแย่งพื้นที่สื่อ แย่งความสนใจของผู้บริโภค และหลีกเลี่ยงไม่ให้แสดงตัวร่วมกับแบรนด์คู่แข่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเป็นสปอนเซอร์กิจกรรมใด ๆ มักต้องมีการแยกพื้นที่ให้ชัดเจนว่าฝ่ายใดเป็นผู้นำเสนอและผู้สนับสนุนหลัก
แต่ในเวที FaraTALK สิ่งที่เกิดขึ้นคือ “ความร่วมมือ” ไม่ใช่การแข่งขัน แบรนด์อสังหาริมทรัพย์สองเจ้าใหญ่อย่าง AP Thailand และ SC Asset ซึ่งโดยทั่วไปแล้วถือเป็นคู่แข่งกันในตลาด กลับเลือกที่จะ “อยู่ร่วมกัน” บนเวทีนี้ในฐานะ Co-Sponsors ด้วยความเข้าใจว่าผู้ชมของ FaraTALK ไม่ได้ต้องการเห็นแบรนด์แข่งกันพูดถึงตนเอง แต่ต้องการรู้ว่าแบรนด์นั้นเข้าใจ “คุณค่า” ที่ตนเองให้ความสำคัญหรือไม่
ตัวแทน Brand Sponsorship จาก SC Asset และ AP Thailand มาเข้าร่วมฟัง FaraTalk
ฟาโรสกล่าวไว้ชัดเจนว่า “FaraTALK ไม่ใช่เวทีของฟาโรส แต่เป็นเวทีของผู้ชม และของแบรนด์ทุกแบรนด์ที่กล้าเข้ามาร่วมเล่าเรื่องร่วมกันอย่างมีความหมาย” สิ่งนี้สะท้อนแนวคิด Community Over Competition อย่างเป็นรูปธรรม เพราะแบรนด์ที่เลือกมาอยู่ในพื้นที่นี้ ต้องมั่นใจในตัวตนของตัวเองมากพอ ที่จะไม่ต้องพูด แต่ก็ยังสามารถ “ถูกพูดถึง” ได้อย่างลึกซึ้ง
แบรนด์ที่ “เข้าไปอยู่ในความหมาย” ไม่ใช่แค่ “อยู่ในสายตา”
ความพิเศษของ FaraTALK คือการที่ไม่มีพรีเซนเตอร์ ไม่มีการเปิดตัวแคมเปญ แต่กลับทำให้แบรนด์อยู่ในความทรงจำของผู้ชมได้อย่างลึกซึ้ง ผ่านการสร้าง “ประสบการณ์ร่วม” ที่ผู้ชมรู้สึกถึงความจริงใจ ความละเอียดอ่อน และความเคารพในบริบทของชุมชน
แบรนด์อย่าง CHUBB และ L’Oréal คือพาร์ตเนอร์ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของเวทีนี้มาโดยตลอด ไม่ใช่เพราะการวางตำแหน่งสินค้าในรายการ แต่เพราะพวกเขาเข้าใจ Creative Freedom ของครีเอเตอร์ และเชื่อมั่นว่า “การสื่อสารที่ไม่พูดถึงแบรนด์ตรง ๆ” แต่เชื่อมโยงกับอารมณ์และความรู้สึกของผู้ชม จะทรงพลังยิ่งกว่าในระยะยาว
ความสัมพันธ์ระหว่าง FaraTALK กับแบรนด์เหล่านี้ จึงไม่ได้เป็นแค่การจ่ายเงินเพื่อโฆษณา แต่คือ การร่วมกันสร้าง Meaningful Content ที่มีพลังพาแบรนด์เข้าไปอยู่ในบทสนทนาของผู้คนอย่างเป็นธรรมชาติที่สุด
FaraTALK กำลังสร้างมาตรฐานใหม่ของการเป็นเวทีสำหรับ Brand Sponsorship ที่ไม่ได้วัดผลด้วย Impression แต่ด้วย “Connection” และ “ความผูกพัน” ที่ผู้ชมมีต่อเนื้อหา และต่อแบรนด์ที่อยู่เบื้องหลัง
ในโลกที่การตลาดแบบ Hard Sell กำลังถูกตั้งคำถาม และผู้คนโหยหาความหมาย ความจริงใจ และบทสนทนา FaraTALK จึงไม่ใช่แค่ Edutainment แต่คือสนามทดลองของแนวคิดใหม่ ๆ ที่อาจกลายเป็นต้นแบบของการสื่อสารแบรนด์ในอนาคต เพราะในท้ายที่สุด สิ่งที่ผู้คนจดจำไม่ใช่แค่ว่า “แบรนด์ขายอะไร” แต่คือ “แบรนด์เลือกเล่าอะไร” และ “เล่าร่วมกับใคร” ต่างหากที่อยู่ในใจ
นี่คือ FaraTALK Community นั้นสำคัญไฉน เมื่อแบรนด์ไม่ต้องแข่งกันขาย แต่เล่าเรื่องร่วมกัน โมเดลใหม่ของ Brand Sponsorship ถ้าชอบ หรือ สนใจอยากอ่านบทความด้านการตลาดแบบนี้อีก ผู้เขียนฝากติดตามด้วยนะคะ หรือ ถ้าใครอยากให้ผู้เขียนนำมุมมองการตลาดแบบไหนมาเล่าให้ฟัง สามารถคอมเมนต์บอกกันได้เลยนะคะ
สำหรับนักอ่านที่ชอบ และ อยากอ่านบทความเกี่ยวกับการตลาดเพิ่มเติม รวมถึงข่าวสารด้านการตลาดต่าง ๆ สามารถติดตามได้จาก เพจการตลาดวันละตอน รวมไปถึง Twitter Instagram YouTube ของการตลาดวันละตอนได้เลยนะคะ แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้าค่ะ