3Cs Model กรอบแนวคิดในการวิเคราะห์ธุรกิจ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

3Cs Model กรอบแนวคิดในการวิเคราะห์ธุรกิจ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

3Cs Model คิดค้นโดยนักทฤษฎีชาวญี่ปุ่น Kenichi Ohmae โดยโมเดลนี้นำเสนอมุมมองเชิงกลยุทธ์ที่ต้องพิจารณาปัจจัยหลักที่จำเป็นต่อความสำเร็จ และเป็นการ Integrated ทั้ง 3 ปัจจัยดังกล่าว ได้แก่ Customers Competitors และ Company โดยจุดประสงค์หลักของโมเดลนี้ คือ การสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้แก่ธุรกิจนั้นเองครับ

สวัสดีนักการตลาดและนักอ่านทุกคนครับ บทความนี้ผมจะพาทุกคนมาดูหนึ่งในโมเดลที่เป็นเครื่องมือวิเคราะห์ธุรกิจโดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อช่วยองค์กรพัฒนากลยุทธ์ทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง หรือสร้างจุดแข็งของธุรกิจขึ้นมาครับ ซึ่งโมเดลนั้นก็คือ 3Cs Model ที่มีจุดโฟกัสหลัก คือ Customers Competitors และ Company นั่นเองครับ จะเป็นอย่างไรติดตามในบทความนี้ได้เลยครับ

การวิเคราะห์ 3C’s Model จะทำการวิเคราะห์พื้นที่ซับซ้อนของแต่ละปัจจัยเพื่อให้เกิดความเข้าใจในเชิงลึกและสามารถบูรณาการข้อมูลที่ได้รับมาเพื่อสร้างกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยทำให้ธุรกิจเข้าใจสถานการณ์การแข่งขันมากยิ่งขึ้นครับ

ก่อนที่เราจะเข้าสู่สิ่งที่เป็นไฮไลท์ของโมเดลนี้ ก่อนอื่นผมอยากให้ทุกคนทำความรู้จักกับปัจจัยทั้ง 3 ตัวหลักอย่างละเอียดก่อนครับว่าควรรู้อะไรบ้าง เพื่อที่จะไปทำการ Analysis แบบ Integrated ได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

3Cs Model
  • ความต้องการและความปรารถนา: เข้าใจความต้องการที่แท้จริงและความปรารถนาของลูกค้า รวมถึงปัญหาที่พวกเค้าต้องการให้แก้ไข และผลประโยชน์ที่พวกเขาคาดหวังจากสินค้าและบริการของเรา
  • พฤติกรรมการซื้อ: วิเคราะห์พฤติกรรมการซื้อของลูกค้า เช่น วิธีการซื้อ ความถี่ในการซื้อ เหตุผลที่ทำให้ตัดสินใจซื้อ และช่องทางการซื้อที่ลูกค้านิยมใช้
  • การตอบสนองต่อการตลาด: ศึกษาว่าลูกค้าตอบสนองต่อกลยุทธ์การตลาดที่เรากำลังลงไปเล่นอยู่อย่างไร เช่น โปรโมชั่น โฆษณา และการสื่อสารต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสารและการตลาด
  • การระบุคู่แข่ง: หาว่าใครคือคู่แข่งโดยตรงและคู่แข่งทางอ้อมในตลาด รวมถึงศึกษาลักษณะและประเภทของคู่แข่งว่าเป็นอย่างไร
  • จุดแข็งและจุดอ่อนของคู่แข่ง: วิเคราะห์จุดแข็งและจุดอ่อนของคู่แข่ง เพื่อหาว่าคู่แข่งมีข้อได้เปรียบในด้านใด และด้านใดที่คู่แข่งยังไม่สามารถทำได้หรือเป็นจุดอ่อนของคู่แข่ง
  • กลยุทธ์ของคู่แข่ง: ศึกษากลยุทธ์ทางธุรกิจของคู่แข่ง การตั้งราคา การส่งเสริมการขาย การตลาด และบริการ เพื่อหาแนวทางในการแข่งขันและการวางแผนที่มีประสิทธิภาพ
  • ศึกษาลูกค้าเกี่ยวกับคู่แข่ง: เข้าใจว่าลูกค้ามองเห็นคู่แข่งอย่างไร ชอบคู่แข่งเพราะอะไร เพื่อหาวิธีการที่จะทำให้สินค้าหรือบริการของเรามีความโดดเด่นและน่าสนใจมากขึ้น
  • จุดแข็งและทรัพยากรของบริษัท: ค้นหาและระบุจุดแข็งและทรัพยากรที่บริษัทมี เช่น เทคโนโลยี ความเชี่ยวชาญของบุคลากร ทุน และเครือข่ายการจัดจำหน่าย อะไรก็ตามที่คิดว่าเป็นจุดแข็ง
  • กระบวนการและการดำเนินงาน: วิเคราะห์กระบวนการและการดำเนินงานภายในบริษัท เพื่อหาวิธีการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
  • นวัตกรรมและการพัฒนา: ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ และนวัตกรรมที่จะช่วยให้บริษัทสามารถแข่งขันได้ในตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และทำให้นวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมาเป็นจุดแข็งของบริษัทในอนาคต

การวิเคราะห์และเข้าใจองค์ประกอบทั้งสามนี้จะช่วยให้บริษัทสามารถวางแผนกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันได้ดีมากยิ่งขึ้นครับ มากไปกว่านี้ยังทำให้บริษัทสามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้ดีและสร้างความยั่งยืนในธุรกิจในระยะยาว

3C’s Model เป็นกรอบที่ดีในการคิดเกี่ยวกับการสร้างจุดแข็ง และเพื่อให้รู้สถานการณ์การแข่งขันของธุรกิจ การลด Focus ธุรกิจลงให้เหลือแค่ 3 ปัจจัยหลัก นั่นคือ Customers Competitors และ Company ทำให้สามารถมุ่งเน้นการวิเคราะห์และวางแผนกลยุทธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

การวิเคราะห์ 3Cs Model สิ่งที่ต้องพิจารณาในวงกลมหลักนั้นค่อนข้างชัดเจน โดยเราจะวิเคราะห์ปัจจัยต่าง ๆ ในพื้นที่ที่วงกลมเหล่านี้ทับซ้อนกันดังนี้ครับ

ความได้เปรียบของคู่แข่ง คือ สถานการณ์ที่ผลิตภัณฑ์หรือบริการของคู่แข่งมีคุณสมบัติหรือประโยชน์ที่ทำให้ลูกค้าชื่นชอบและเลือกผลิตภัณฑ์ของคู่แข่งมากกว่าของบริษัทเรา ลูกค้ายินดีที่จะจ่ายเงินเพิ่มเติมเพื่อคุณสมบัติเหล่านี้ เช่น นวัตกรรมใหม่ บริการหลังการขายที่ดีกว่า หรือคุณภาพสูงกว่า

ธุรกิจควรทำการวิเคราะห์และประเมินจุดแข็งดังกล่าวของคู่แข่งอย่างละเอียด เพื่อหาแนวทางในการปรับปรุงผลิตภัณฑ์หรือบริการของตนเอง ดูว่าเราสามารถเปลี่ยนจากโซน Competitors’ Advantage ให้เป็นโซน Price War ได้หรือไม่ หรือควรมุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมหรือปรับปรุงคุณภาพเพื่อเพิ่ม Competitive Advantage

สงครามราคา คือ สถานการณ์ที่มีความแตกต่างระหว่างผลิตภัณฑ์ของบริษัทและคู่แข่งน้อยมาก จึงทำให้ลูกค้าไม่สามารถมองเห็นคุณค่าหรือความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างผลิตภัณฑ์ทั้งสอง ส่งผลให้ต้องแข่งขันกันด้วยการลดราคา ซึ่งอาจทำให้กำไรลดลงนั่นเองครับ ความจริง Price War คือสถานการณ์ที่ธุรกิจควรหลีกเลี่ยงมากที่สุด

ธุรกิจควรหาวิธีการที่ไม่ใช่การลดราคาเพื่อดึงดูดลูกค้า เช่น การสร้างความแตกต่างในด้านบริการ การเพิ่มคุณค่าในด้านอื่น ๆ หรือการสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่ง เพื่อลดความจำเป็นในการเข้าร่วม Price War ครับ

3Cs Model

ความได้เปรียบในการแข่งขัน คือ สถานการณ์ที่ผลิตภัณฑ์หรือบริการของบริษัทมีคุณสมบัติหรือคุณภาพที่เหนือกว่าคู่แข่ง ซึ่งทำให้ลูกค้าชื่นชอบและยินดีที่จะจ่ายเงินเพิ่มเติมเพื่อซื้อผลิตภัณฑ์ของบริษัทเราครับ ยกตัวอย่างเช่น การใช้เทคโนโลยีที่ล้ำหน้า การมีบริการที่ดีกว่า หรือการสร้างแบรนด์ที่เข้มแข็ง

ธุรกิจควรรักษาและพัฒนาความได้เปรียบนี้ต่อไป โดยลงทุนในนวัตกรรม การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า นอกจากนี้ ควรติดตามและปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงในตลาดอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันครับ

3Cs Model

คือสถานการณ์ที่ทั้งบริษัทเราและคู่แข่งมีผลิตภัณฑ์หรือบริการที่นำเสนอให้กับลูกค้า แต่ผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นไม่ใช่สิ่งที่ลูกค้าต้องการหรือไม่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างแท้จริงครับ

ธุรกิจควรประเมินและทบทวนผลิตภัณฑ์หรือบริการที่นำเสนอ และหาว่าทำไมผลิตภัณฑ์นั้นไม่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า ควรพิจารณายกเลิกผลิตภัณฑ์หรือบริการดังกล่าว และมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีความต้องการในตลาดอย่างแท้จริงครับ หรืออาจจะมองหาตลาดอื่น ๆ ที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์นี้

สรุป 3Cs Model

3Cs Model

โมเดล 3Cs คิดค้นโดย Kenichi Ohmae เป็นเครื่องมือวิเคราะห์ธุรกิจที่เน้นสามปัจจัยหลัก ได้แก่ Customers Competitors และ Company เพื่อพัฒนากลยุทธ์ทางธุรกิจที่แข็งแกร่งและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างยั่งยืน โดยวิเคราะห์ปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้:

  1. ลูกค้า (Customers):
    • ความต้องการและความปรารถนา: เข้าใจความต้องการและปัญหาของลูกค้า
    • พฤติกรรมการซื้อ: วิเคราะห์วิธีการและความถี่ในการซื้อ
    • การตอบสนองต่อการตลาด: ศึกษาการตอบสนองของลูกค้าต่อกลยุทธ์การตลาด
  2. คู่แข่ง (Competitors):
    • การระบุคู่แข่ง: หาคู่แข่งตรงและทางอ้อม
    • จุดแข็งและจุดอ่อนของคู่แข่ง: วิเคราะห์ข้อได้เปรียบและจุดอ่อนของคู่แข่ง
    • กลยุทธ์ของคู่แข่ง: ศึกษากลยุทธ์ทางธุรกิจและการตลาดของคู่แข่ง
    • ศึกษาลูกค้าเกี่ยวกับคู่แข่ง: เข้าใจมุมมองของลูกค้าเกี่ยวกับคู่แข่ง
  3. บริษัท (Company):
    • จุดแข็งและทรัพยากรของบริษัท: ระบุจุดแข็งและทรัพยากรที่มี
    • กระบวนการและการดำเนินงาน: วิเคราะห์และปรับปรุงกระบวนการภายใน
    • นวัตกรรมและการพัฒนา: ส่งเสริมนวัตกรรมและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่

ในการวิเคราะห์พื้นที่ซับซ้อนของแต่ละปัจจัยจะช่วยให้ธุรกิจเข้าใจสถานการณ์การแข่งขันมากขึ้นและวางแผนกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งประกอบไปด้วย:

  • Competitors’ Advantage: ความได้เปรียบของคู่แข่งที่ลูกค้ายอมจ่ายเพิ่มเติม
  • Price War: สงครามราคาที่เกิดจากการขาดความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างผลิตภัณฑ์
  • Competitive Advantage: ความได้เปรียบในการแข่งขันที่ทำให้ลูกค้ายินดีจ่ายเพิ่มเติม
  • Dump Zone: ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ไม่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า

การวิเคราะห์และเข้าใจองค์ประกอบทั้งสามนี้จะช่วยให้บริษัทสามารถวางแผนกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพ สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้น และสร้างความยั่งยืนในธุรกิจในระยะยาวได้ครับ

Source Source

บทความที่แนะนำให้อ่านต่อ

วิเคราะห์ภาพรวมของธุรกิจง่าย ๆ ด้วย Business Model Canvas

4 Step สร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง ด้วยพีระมิด Brand Equity

Tlee Krit

ชื่อเติ้ลครับบบ นักเขียนน้องใหม่แห่งการตลาดวันละตอน ฝากเนื้อฝากตัวด้วยนะครับ ^^

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *