ต้องบอกว่าทุกวันนี้ การตลาดไม่ได้แข่งกันแค่ไอเดียอีกต่อไป แต่แข่งกันที่ความเข้าใจคน ใครเข้าใจลึกกว่า ใครกล้าเล่ากว่า ใครกล้าที่จะต่างแบบมีหลัก ก็มีโอกาสกลายเป็นแบรนด์ที่คนพูดถึงได้มากกว่า หนังสือ ขายดีขึ้นร้อยเท่ากับการตลาดร้อยตอน ของเพจการตลาดวันละตอน เป็นหนึ่งในเล่มที่รวมเคสจริง ไอเดียกลยุทธ์การตลาด ที่ไม่ได้แค่เล่าการตลาดแบบทฤษฎี แต่เป็นการชวนคิด ชวนต่อยอด ชวนให้แบรนด์กล้าลองในแบบที่ยังเป็นตัวเองอีกด้วยค่ะ
บทความนี้เลยอยากหยิบ 3 แนวทางการตลาดที่หลากหลายจากในเล่ม มาเล่าให้ฟัง ว่าทำไมแต่ละแนวมันถึงเวิร์ก และแบรนด์ใช้มันแบบไหนแล้วได้ผลจริงบ้างค่ะ
Cuteable Marketing ใช้ความน่ารักให้คนอยากเข้าหา
Cuteable Marketing คือการสร้างเสน่ห์ให้กับแบรนด์ผ่าน “ความน่ารัก” ไม่ว่าจะในรูปแบบของคาแรกเตอร์ โทนสี การสื่อสาร หรือกิจกรรมที่ชวนให้รู้สึกดี โดยไม่จำเป็นต้องใช้ฟังก์ชันของสินค้าหรือราคามาแข่งขัน แต่เน้น “ความรู้สึก” และ “อารมณ์ร่วม” ของลูกค้าแทน
สิ่งที่ทำให้ Cuteable Marketing มีพลังคือ มันสร้างรอยยิ้มเล็ก ๆ ให้คนในจุดที่แบรนด์อื่นมองข้าม และนั่นคือสิ่งที่ผู้บริโภคจดจำได้ง่ายกว่าข้อมูลเชิงเทคนิคใด ๆ แต่การจะทำให้ความน่ารักเวิร์กได้จริง ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมกับแบรนด์ด้วยค่ะ
กลยุทธ์นี้อาจเหมาะกับสินค้าที่ไม่มีจุดเด่นแตกต่างชัด หรือไม่สามารถควบคุมการผลิตได้ เช่น พ่อค้าคนกลาง หรือร้านตัวแทนจำหน่าย เพราะการปรับที่สินค้าอาจเป็นไปไม่ได้ แต่การปรับที่วิธีเล่า และ ประสบการณ์ของลูกค้า สามารถทำได้ค่ะ
ตัวอย่างจากแคมเปญ MediaMarkt กระต่ายน้อยกับใบเสร็จใหญ่ โดย MediaMarkt เป็นร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าในเยอรมนี ใช้เทศกาลอีสเตอร์มาสร้างความสนุกให้โปรลดราคา โดยพิมพ์เลขสุ่มลงในใบเสร็จ แล้วจัดแข่งกระต่ายหมายเลขต่าง ๆ ใครที่มีกระต่ายหมายเลขตรงกับผู้ชนะ เอาใบเสร็จมาแลกส่วนลด 50% ได้ทันที
นอกจากความน่ารักของกระต่าย ยังมีความเชื่อมโยงกับบริบท (เทศกาลอีสเตอร์) ทำให้แคมเปญนี้กลายเป็นทั้งกิจกรรมที่คนอยากลุ้นและอยากแชร์ ยอดขายเพิ่มขึ้นถึง 18.2% โดยไม่ต้องลดราคาหนักกว่าเดิมเลยด้วยซ้ำ
แคมเปญนี้ไม่ได้ซับซ้อน ไม่ได้ลงทุนเยอะ ไม่ได้ต้องเปลี่ยนฟังก์ชันสินค้า แค่เพิ่มความน่ารักเข้าไปอย่างมีเป้าหมาย ใช้ “ความรู้สึกนำความคุ้มค่าก็กลายเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ทำให้แบรนด์ดูน่ารักขึ้นทันที
Cuteable Marketing ไม่ได้หมายความว่าแบรนด์ต้องเปลี่ยนเป็นการ์ตูน หรือพูดคิ้วต์ ๆ เสมอไป แต่มันคือการมองหา “พื้นที่อ่อนโยนในใจคน” แล้วสื่อสารผ่านดีไซน์ ภาพ หรือวิธีเล่าที่ทำให้คนรู้สึกผูกพัน
เมื่อโลกเต็มไปด้วยความรีบ ความจริงจัง และข้อมูลล้นไปหมด แบรนด์ที่ทำให้คนรู้สึกว่าน่ารักได้ โดยไม่ลดความจริงใจลง มักเป็นแบรนด์ที่ได้พื้นที่เล็ก ๆ ในใจคนไปโดยไม่ต้องยัดเยียดอะไรเลย สิ่งที่ทำให้ความน่ารักเวิร์ก คือมันสร้าง “ความรู้สึกดีตั้งแต่ยังไม่รู้ว่าแบรนด์ขายอะไร” โดยเฉพาะในยุคที่คนเปิดใจยาก ถ้าเปิดเจอแล้วทำให้อมยิ้มได้ แปลว่าชนะตั้งแต่ 3 วิแรกแล้ว
แต่ต้องระวังให้ดี เพราะ Cuteable ไม่ได้แปลว่าต้องมีการ์ตูนเสมอไป บางแบรนด์ถ้าฝืนคิ้วต์เกินไป คนจะรู้สึกว่าพยายามน่ารักเกินหรือไม่เข้ากับตัวตนแบรนด์เลย ดังนั้น ความน่ารักที่เวิร์กที่สุด คือความน่ารักที่ยังเป็นเราอยู่ค่ะ
Parody Marketing ล้อเลียนให้คนรู้ว่าเราเข้าใจ
Parody Marketing คือการหยิบเรื่องที่คนรู้จักกันดีอยู่แล้ว มาล้อเลียนด้วยอารมณ์ขันในจังหวะที่พอดี โดยแบรนด์ไม่จำเป็นต้องพูดว่าฉันดีกว่าใคร แต่เลือกจะ “ขำร่วมกัน” กับสิ่งที่อยู่ในชีวิตจริงของผู้คน กลยุทธ์นี้มักจะเล่นกับพฤติกรรมในโลกออนไลน์ เช่น การอวดรวย ไลฟ์สไตล์หรู หรือแคมเปญแบรนด์ดังที่มีภาพจำชัด แล้วนำเสนอในมุมมองขำ ๆ ที่คนรู้สึกว่าใช่เลย
จุดแข็งของ Parody Marketing คือ มันเข้าถึงผู้คนในแบบที่ตรงใจมาก เพราะมันพูดในภาษาที่คนใช้กันจริง ๆ มันไม่ได้พยายามขาย แต่ทำให้คนรู้สึกว่าแบรนด์นี้เข้าใจ และ แบรนด์นี้อยู่ในโลกเดียวกันกับเรา โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนรุ่นใหม่ ที่เปิดรับความตลก ความขบถ และความกล้าที่ไม่ตรงสูตร
Parody Marketing ยังช่วยให้แบรนด์ดูมีบุคลิก ดูเป็นมนุษย์ และกลายเป็นที่พูดถึงได้เร็ว เพราะสิ่งที่คนชอบแชร์มักเป็นสิ่งที่ขำก่อนจะคิดตามเสมอ แต่ในขณะเดียวกัน สิ่งที่ต้องระวังคือ “ล้อเลียนแบบฉลาด ไม่ล้อเลียนแบบแซะ” เพราะเส้นแบ่งของอารมณ์ขันกับความแรงเกินไป มันบางมากจริง ๆ ค่ะ
เพราะถ้าล้อเกินพอดี หรือเลือกประเด็นที่ละเอียดอ่อนมากเกินไป ก็อาจพาแบรนด์เข้าไปสู่ดราม่าโดยไม่ตั้งใจ ดังนั้นการใช้ Parody ที่เวิร์กที่สุด คือการล้อแบบที่ “หัวเราะร่วมกัน” ได้ ไม่ใช่หัวเราะใส่ใครคนใดคนหนึ่งค่ะ
ตัวอย่างจากแคมเปญ KFC โรมาเนีย รวยจริงไม่ว่า รวยทิพย์ก็แชร์ได้ KFC โรมาเนีย หยิบกระแส #RichKidsOfInstagram ที่เต็มไปด้วยภาพอวดรวยมาเล่น ด้วยแคมเปญชื่อ #LittleMoneyBigFun โดยชวนคนทั่วไปถ่ายภาพแอ็กท่าหรู ๆ เหมือนลูกคนรวย แต่ใช้เศษเหรียญหรือแบงก์ย่อยแทนแบงก์พัน พร้อมแชร์ลงโซเชียลในมุมขำ ๆ ที่แฝงด้วยการพูดแทนใจ
แคมเปญนี้กลายเป็นไวรัลทั่วประเทศแบบแทบไม่ต้องซื้อโฆษณา ได้ฟรีมีเดียมูลค่ากว่า 35 ล้านบาท และยอดขายเพิ่มขึ้นกว่า 21% เพราะแบรนด์ทำให้คนรู้สึกว่า “ฉันก็เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญนี้ได้” โดยไม่ต้องเปลี่ยนตัวเองให้ดูแพงเลย
สิ่งที่ KFC ทำไม่ใช่แค่การเล่นมุก แต่คือการทำให้คนธรรมดารู้สึกว่าแบรนด์นี้ “อยู่ข้างเดียวกันกับเรา” โดยไม่พยายามขายใด ๆ แต่ใช้เสียงหัวเราะเป็นตัวกลางในการเชื่อมสัมพันธ์ แบรนด์ที่กล้าเล่นกับภาพจำของคน กล้าแซวสิ่งที่อยู่ในกระแส โดยไม่กลัวจะดูขัดใจใครมากเกินไป นั่นแหละคือ Parody Marketing แบบแท้จริง ไม่ใช่การแค่ตลก แต่คือการหยิบเรื่องที่คนรู้จักดีอยู่แล้วมาหักมุม ให้หัวเราะแล้วแอบคิดตาม
การล้อเลียนให้เวิร์กต้องใช้เซนส์แบบเฉียบ ๆ เพราะมันมีเส้นบาง ๆ ระหว่าง “ตลก” กับ “ไม่เหมาะ” ถ้ากล้าแต่ไม่เก่ง ก็อาจเจอ backlash ได้ง่าย ๆ แต่ถ้ากล้าแล้วเข้าใจคน แบรนด์จะดู smart ขึ้นมาในทันทีค่ะ
Gamification Marketing เปลี่ยนแคมเปญให้เป็นเกม
Gamification Marketing คือการเอาหลักการของ “เกม” มาปรับใช้ในการตลาด ไม่ใช่เพื่อความเล่นสนุกอย่างเดียว แต่เพื่อสร้าง “แรงจูงใจแบบนุ่ม ๆ” ที่ทำให้คนรู้สึกอยากมีส่วนร่วม อยากทำต่อ อยากลุ้น อยากกลับมาอีก มันคือการใช้กลไกของเกม เช่น การสะสมแต้ม, การลุ้นรางวัล, การแข่งขัน, การปลดล็อก ฯลฯ เพื่อเปลี่ยนการขายของธรรมดาให้กลายเป็นประสบการณ์ที่อยากเข้าร่วมค่ะ
สิ่งที่ทำให้กลยุทธ์นี้ทรงพลัง คือมันพาคนไปสนุกกับแบรนด์ได้แบบไม่ต้องใช้เหตุผลตรง ๆ เพราะบางครั้งคนไม่ได้ซื้อของเพราะคุ้มที่สุด หรือมีโปรโมชั่นดีที่สุด แต่ซื้อเพราะรู้สึกว่ามีอะไรให้เล่น มีอะไรให้ลุ้น หรือ รู้สึกดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเกมนี้
ตัวอย่างจากแคมเปญ Carlsberg เบียร์สดที่กดแล้วมีลุ้นเหมือนเล่นสล็อต Carlsberg แบรนด์เบียร์จากเดนมาร์ก เปลี่ยนการกดเบียร์ในบาร์ให้กลายเป็นเกมเบา ๆ ที่มีลูกเล่นน่าสนใจ พวกเขาออกแบบหัวกดเบียร์สดให้เป็นเหมือนคันโยกของตู้สล็อต ถ้าโยกแล้วได้รูปเหมือนกัน 3 รูป ก็รับเบียร์ฟรีไปเลย 1 แก้ว
ที่น่าสนุกกว่านั้นคือ รูปภาพที่ใช้ในสล็อตไม่ได้สุ่มจากไอคอนทั่วไป แต่เป็นรูปของลูกค้าที่เคยโพสต์ลงโซเชียลด้วยแฮชแท็ก #BarBandits ยิ่งคนโพสต์เยอะ รูปยิ่งหลากหลาย และยิ่งมีโอกาสปรากฏอยู่ใน “เกม” ของแบรนด์มากขึ้น เท่ากับว่าคนรู้สึกว่าได้มีส่วนร่วมกับแบรนด์ทั้งในบาร์และในออนไลน์ไปพร้อมกัน
ถึงจะไม่มีตัวเลขยอดขายอย่างเป็นทางการ แต่แคมเปญนี้ทำให้คนแวะบาร์เพื่อกดเบียร์ Carlsberg กันเยอะขึ้น แถมยังได้คอนเทนต์จากลูกค้าฟรี ๆ บนโซเชียลเต็มไปหมด นี่คือเกมเล็ก ๆ ที่ทำให้คนรู้สึกว่า ฉันไม่ได้แค่ซื้อเบียร์ แต่ฉันเป็นส่วนหนึ่งของความสนุกนี้ด้วยค่ะ
Gamification ไม่ได้ต้องมีแอป ไม่ได้ต้องเป็นเกมในมือถือเสมอไป บางครั้งแค่สร้างเงื่อนไขเล็ก ๆ หรือความท้าทายที่เบาแต่จูงใจ ก็ทำให้คนอยากกลับมาอีกครั้งแล้ว เช่น “ลุ้นกล่องสุ่ม”, “ตอบคำถามประจำวัน”, “สะสมใบเสร็จแลกของพิเศษ” สิ่งเล็ก ๆ เหล่านี้คือการเปลี่ยนผู้ชมให้กลายเป็นผู้เล่นได้ค่ะ
แต่ก็มีข้อควรระวังเหมือนกัน เพราะถ้าเกมที่ออกแบบมาไม่มีเสน่ห์พอ ลุ้นแล้วไม่อิน หรือต้องใช้ความพยายามมากเกินไป คนก็จะรู้สึกว่า “นี่ไม่สนุกแล้ว แค่อยากให้ฉันทำอะไรเยอะ ๆ ก่อนจะได้ของ” ซึ่งอาจสร้างความรู้สึกตรงข้ามกับที่แบรนด์ตั้งใจไว้เลยก็ได้
ดังนั้น เกมที่เวิร์กไม่จำเป็นต้องซับซ้อน แต่ต้องเข้าใจจังหวะของคน และ ตอบแทนอารมณ์ของเขาให้ทัน เช่น ถ้าเขาเพิ่งกดสั่งของ ให้มีอะไรให้ลุ้นเลยทันที ถ้าเขาเพิ่งซื้อไปครั้งที่ 3 แล้วได้สิทธิ์ปลดล็อกบางอย่าง คนจะรู้สึกว่าฉันมีความหมายกับแบรนด์นี้นะ และที่สำคัญคือ เกมต้องเข้าใจจิตใจ ไม่ใช่แค่ระบบ เพราะคนเล่นเกมไม่ใช่หุ่นยนต์ แต่คือมนุษย์ที่อยากสนุกในแบบของตัวเองค่ะ
ไอเดียกลยุทธ์การตลาด จากหนังสือ ขายดีขึ้นร้อยเท่ากับการตลาดร้อยตอน
สิ่งที่ทำให้ ไอเดียกลยุทธ์การตลาด และแคมเปญทั้งหมดในบทความนี้น่าสนใจ ไม่ใช่แค่เพราะมันสำเร็จ แต่เพราะมัน “เป็นไปได้” สำหรับทุกแบรนด์ ไม่ว่าคุณจะมีงบเท่าไหร่ จะเป็นแบรนด์ใหญ่หรือร้านเล็ก หรือจะขายสินค้าธรรมดาแค่ไหน ถ้าคุณเข้าใจคนมากพอ และกล้าจะ “คิดต่าง” ในแบบที่ยังเป็นตัวเอง คุณก็มีโอกาสชนะใจลูกค้าได้เหมือนกันค่ะ
การตลาดไม่ใช่เรื่องของเสียงที่ดังที่สุด แต่คือจังหวะที่ใช่ที่สุด ไม่ว่าจะด้วยความน่ารัก ความขำขัน ความสนุก ทุกอย่างล้วนกลายเป็นจุดเปลี่ยนได้ถ้าแบรนด์รู้ว่า คนกำลังรู้สึกอะไร และ เราจะพูดกับเขายังไงดี
ขอบคุณภาพจาก Shutterstock AI Generator Prompt : a warm, cozy indoor setting with soft lighting, a person sitting at a wooden desk by the window viewed from a slight side angle, deeply engaged in reading a book, natural light gently streaming in through the window casting a peaceful glow across the room, above the person’s head float imaginative and colorful thought bubbles featuring playful icons like a cute rabbit in a racing helmet, a vibrant slot machine, selfie camera flashes, hashtags, and creative symbols, the mood is uplifting, creative, and inspiring, capturing the moment of discovering exciting marketing ideas through reading, the room includes warm tones, plants, bookshelves, and mugs enhancing the cozy atmosphere
ในยุคที่ลูกค้าไม่ได้เลือกซื้อสินค้าเพราะแค่เห็น แต่เลือกเพราะ “รู้สึก” และ “เชื่อมโยง” ได้กับแบรนด์ การตลาดจึงไม่สามารถใช้สูตรเดิมได้ตลอดไป การคิดนอกกรอบ กล้าที่จะใช้แนวทางใหม่ และเข้าใจผู้บริโภคในเชิงลึกกลายเป็นหัวใจของการตลาดยุคนี้ หนังสือ ขายดีขึ้นร้อยเท่ากับการตลาดร้อยตอน จากเพจการตลาดวันละตอน คือหนึ่งในเครื่องมือทรงพลังที่ช่วยปลดล็อกมุมมองการตลาดแบบใหม่
ด้วยการเล่ากรณีศึกษาจริง ที่สะท้อนว่าการตลาดไม่จำเป็นต้องเล่นแบบ “ปลอดภัย” เสมอไป แต่อาจต้องกล้า “แตกต่าง” ให้ได้ผลจริง หนังสือ ขายดีขึ้นร้อยเท่ากับการตลาดร้อยตอน ไม่ได้สอนให้คุณลอกสูตร แต่ชวนให้คุณกล้าลอง มองเห็นช่องว่าง และต่อยอดวิธีคิดแบบของคุณเอง ผ่านเคสจริงที่จับต้องได้ อ่านแล้วเข้าใจง่าย และเหมาะกับทุกสายอาชีพค่ะ
ถ้าอยากอ่านแบบเต็ม ๆ พร้อมอีกหลายไอเดียที่เล่าแบบสนุกไม่แพ้บทความนี้ ลองดูหนังสือเล่มนี้ได้ที่ลิงก์นี้ https://s.shopee.co.th/4VPlTOtYPA
และสุดท้าย…อย่ารอให้แคมเปญต้องเพอร์เฟกต์ แค่ทำให้คนรู้สึกได้ตั้งแต่ยังไม่รู้ว่าเราขายอะไรก็ชนะไปครึ่งทางแล้วค่ะ
ถ้าชอบ หรือ สนใจอยากอ่านบทความด้านการตลาดแบบนี้อีก ผู้เขียนฝากติดตามด้วยนะคะ หรือ ถ้าใครอยากให้ผู้เขียนนำมุมมองการตลาดแบบไหนมาเล่าให้ฟัง สามารถคอมเมนต์บอกกันได้เลยนะคะ
สำหรับนักอ่านที่ชอบ และ อยากอ่านบทความเกี่ยวกับการตลาดเพิ่มเติม รวมถึงข่าวสารด้านการตลาดต่าง ๆ สามารถติดตามได้จาก เพจการตลาดวันละตอน รวมไปถึง Twitter Instagram YouTube ของการตลาดวันละตอนได้เลยนะคะ แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้าค่ะ