ลองนึกภาพตอนเพื่อนในกลุ่มเริ่มใช้มือถือรุ่นใหม่ ใส่รองเท้าคู่ใหม่ หรือสั่งเมนูชาเขียวมัทฉะจากร้านดัง แล้วเราก็รู้สึกว่า “ของมันต้องมี” ทั้งที่ก่อนหน้านั้นไม่เคยคิดจะสนใจเลยด้วยซ้ำ หรือเวลาเห็นคนต่อแถวยาวหน้าร้าน เราก็อดคิดไม่ได้ว่าของที่นี่ต้องอร่อยแน่ ทั้งหมดนี้คือพฤติกรรมที่เรียกว่า จิตวิทยา Bandwagon Effect หรือเรียกง่าย ๆ ว่าอาการขึ้นรถแห่ ซึ่งเกิดขึ้นกับคนจำนวนมากโดยไม่รู้ตัวครับ บทความนี้จะมาคุยกันว่า ทำไมมนุษย์ถึงตัดสินใจตามคนอื่น และนักการตลาดใช้สิ่งนี้ได้ยังไงบ้าง
Bandwagon Effect คืออะไร?
Bandwagon Effect คือปรากฏการณ์ที่คนมักจะทำตามสิ่งที่คนหมู่มากทำ ไม่ใช่เพราะเราคิดว่าสิ่งนั้นดีด้วยเหตุผลของตัวเองนะครับ แต่เพียงเพราะเราเห็นว่าคนอื่นกำลังทำกันอยู่ เหมือนขึ้นรถแห่ตาม ๆ กันไป ต้องบอกว่าชื่อนี้มีที่มาจากการหาเสียงทางการเมืองในอดีต ที่ผู้สมัครจะขึ้นรถพร้อมวงดนตรีแห่ไปรอบเมือง และยิ่งมีคนขึ้นรถแห่ มากเท่าไหร่ คนที่เห็นจากข้างทางก็จะยิ่งรู้สึกว่า “นี่แหละคนที่ต้องเลือก” Bandwagon จึงกลายเป็นอคติทางความคิดที่แฝงอยู่ในการตัดสินใจของคนยุคนี้ในแทบทุกแพลตฟอร์มเลยครับ
ตัวอย่าง Bandwagon Effect ที่พบบ่อย
1. ร้านอาหารที่คนต่อแถวยาว
แม้จะยังไม่เคยกิน แต่แค่เห็นคนต่อคิวเราก็รู้สึกว่าต้องอร่อยแน่เลย ทั้งที่ความจริงอาจแค่คนกินช้า หรือมีคนรีวิวไว้ก่อนหน้า แต่พอเห็นคนเยอะเราก็จะเกิด FOMO ไม่อยากพลาดประสบการณ์แบบคนอื่นได้มีกันหมดแล้ว
2. ซื้อของตามกระแสในโซเชียล
เมื่อเห็นเพื่อนหรือคนดังใช้ของบางอย่าง เช่น รองเท้ารุ่นใหม่, น้ำหอม, หรือของกินจาก TikTok แล้วคนพูดถึงกันเต็มฟีด เราจะเริ่มรู้สึกว่าถ้าเราไม่มี อาจจะดูตกเทรนด์ และรีบตามไปซื้อ แม้ไม่ใช่สิ่งที่เคยอยากได้มาก่อนก็ตามครับ
3. การเลือกเรียนคอร์ส/สาขายอดนิยม
หลายคนเลือกเรียนคณะหรือคอร์สที่มีคนเข้าเยอะ หรือเพื่อนส่วนใหญ่เลือก ทั้งที่ไม่แน่ใจว่าตัวเองชอบจริงไหม เพราะรู้สึกว่าถ้าคนอื่นเรียน ก็น่าจะดี และไม่อยากดูต่างจากคนรอบข้างครับ
4. สั่งเมนู “ยอดนิยม”
เวลาสั่งอาหารจาก Delivery App เรามักเลือกเมนูที่ติดอันดับ “ขายดี” แม้ไม่ได้เป็นเมนูที่อยากกินแต่แรก การเห็นว่าคนส่วนใหญ่เลือก จะกลายเป็นปัจจัยช่วยตัดสินใจโดยไม่ต้องคิดเยอะครับ
AI-Generated by Shutterstock (Prompt: A flat vector-style digital illustration using a vibrant color palette of blue, white, and orange. The scene shows a long queue of people lined up excitedly outside a trendy restaurant. Everyone in line looks eager and engaged, some holding their phones. Standing apart is one person, slightly confused and hesitant, observing the crowd but not yet joining. The style is modern, clean, and bold, suitable for visualizing psychological marketing concepts like the Bandwagon Effect. Emphasize contrast and expression without using text.)
ทำไมถึงเกิด Bandwagon Effect
เหตุผลลึก ๆ มาจากธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องการ Need to Belong หรือ การเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม เรากลัวการถูกมองว่าแปลกแยก หรือ ไม่อินเทรนด์ จึงมักเลือกสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าเรายังอยู่ในวงโคจรเดียวกับคนอื่นครับ อีกทั้งในหลายสถานการณ์ เราไม่มีข้อมูลมากพอจะตัดสินใจอย่างอิสระ การเห็นว่าคนหมู่มากเลือกอะไร จึงกลายเป็นข้อมูลอ้างอิง แทนเหตุผลของตัวเองไปซะแบบนั้น และยิ่งยุคนี้มีโซเชียลมีเดียเข้ามาขยายพฤติกรรมหมู่ให้เห็นชัดขึ้น ดังนั้น Bandwagon Effect จึงเกิดบ่อยและแรงขึ้นโดยที่เราเองอาจจะไม่รู้ตัวครับ
นักการตลาดใช้ Bandwagon Effect ยังไงได้บ้าง
นักการตลาดฉลาดใช้ Bandwagon Effect ผ่านกลยุทธ์ที่หลากหลาย ลองมาดูตัวอย่างกันดีกว่าครับ
1. ใส่คำว่า Top Pick อันดับ 1
ใช้เพื่อบอกกลาย ๆ ว่า “ทุกคนเลือกแล้ว คุณล่ะ?” เช่น “สินค้าขายดีอันดับ 1 ของปีนี้” หรือ “Top Pick จากลูกค้ากว่า 50,000 คน” ซึ่งคำพวกนี้ช่วยให้ลูกค้ารู้สึกว่า “ฉันคงไม่อยากพลาดของดีที่คนอื่นเลือกแล้ว” แม้ยังไม่รู้ว่าสินค้าดียังไง แต่แค่เห็นว่าคนเลือกเยอะก็น่าเชื่อถือแล้วครับ
2. โชว์จำนวนผู้ใช้/ยอดขาย/ยอดเข้าชม
ยิ่งตัวเลขมาก ยิ่งดูน่าเชื่อถือ และกระตุ้นแรงจูงใจให้ทำตามเช่น
“มีผู้ลงทะเบียนแล้วกว่า 1 ล้านคน”
“คนดูสินค้านี้ 328 คนใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา”
“เหลือเพียง 3 ชิ้น – มีคนซื้อไปเมื่อ 5 นาทีที่แล้ว”
เทคนิคพวกนี้เห็นบ่อยในเว็บขายของ E-Commerce หรือแพลตฟอร์มจองโรงแรม/เที่ยวบินครับ
3. ใช้ Influencer หรือใช้รีวิว
ยิ่งเห็นหลายคนใช้ ยิ่งดูน่าไว้ใจ การให้ Influencer หลายคนรีวิวสินค้าพร้อมกัน หรือกระจายรีวิวไปในหลายช่องทาง ทำให้คนรู้สึกว่า “ทุกคนใช้กันหมดแล้ว” และอยากลองด้วย โดยเฉพาะเมื่อรีวิวดูหลากหลาย ทั้งคนธรรมดา ดารา และสายไลฟ์สไตล์ จะยิ่งทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่า “ของมันต้องมี” ครับ
ต้องระวังเรื่องอะไรเมื่อนำ Bandwagon Effect มาใช้?
ต้องบอกว่าแม้ Bandwagon Effect จะทรงพลัง แต่นักการตลาดควรใช้ด้วยความระมัดระวัง เพราะผู้บริโภคยุคใหม่จับสังเกตเก่งขึ้น หากข้อความหรือยอดขายถูกบิดให้ดูเว่อร์เกินจริง จะทำให้แบรนด์เสียความน่าเชื่อถือ และดูเหมือนใช้ “กระแสปลอม” แทนที่จะสร้าง Value จริง ๆ ของสินค้า ทางที่ดีคือ ใช้ Bandwagon Effect เพื่อ “เสริม” ไม่ใช่ “แทน” จุดแข็งของแบรนด์ และเชื่อมโยงกับคุณค่าที่ลูกค้าจะได้รับอย่างจริงใจครับ
สรุป Bandwagon Effect จิตวิทยา ที่ทำให้เราทำตามกระแส Marketer ต้องรู้
แม้ Bandwagon Effect จะเป็นเพียงหนึ่งในกลไกเล็ก ๆ ของจิตวิทยาการตัดสินใจ แต่มันสะท้อนให้เห็นว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคนี้ไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยเหตุผลล้วน ๆ แต่มีแรงกระเพื่อมจาก “คนอื่น” เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างแนบเนียน นักการตลาดที่เข้าใจและใช้สิ่งนี้อย่างพอดี จะสามารถสร้างแรงจูงใจได้อย่างทรงพลังโดยไม่ต้องขายฝันเกินจริง และในฐานะผู้บริโภค การรู้เท่าทัน Bandwagon Effect ก็จะช่วยให้เราหยุดคิดสักนิดก่อนจะ “ขึ้นรถแห่” คันต่อไปครับ
บทความที่แนะนำให้อ่านต่อ