Wholegreen ร้านเค้ก Sydney สร้าง Awareness มุมมองลูกค้ากับกลูเตน

Wholegreen ร้านเค้ก Sydney สร้าง Awareness มุมมองลูกค้ากับกลูเตน

ต้องบอกว่าการ สร้าง Awareness ในทุกวันนี้ เป็นสิ่งที่เป็นแบรนด์ต้องทำความเข้าใจ และตีโจทย์ออกมาให้ดี ซึ่งการ สร้าง Awareness อาจเป็นทั้งให้คนใหม่ ๆ ที่ไม่เคยรู้จักแบรนด์ได้รับรู้ หรือ ส่งไปยังคนเก่า ๆ ที่รู้จักแบรนด์บ้างแล้ว ก็ย่อมได้ เพราะต้องบอกว่าบางครั้ง Brands ก็ทำอะไรใหม่ ๆ ออกมา มีการปรับเปลี่ยน หรือ บางครั้งคนอาจยังมีความเข้าใจผิดกับ Brands เช่นเดียวกับ Wholegreen ร้านเค้กใน Sydney ประเทศออสเตรเลียที่เราจะเล่าให้ฟังในวันนี้

ขอเริ่มจากว่ากลูเตนคืออะไร ถ้าพูดง่าย ๆ กลูเตนคือไกลโคโปรตีนชนิดหนึ่ง ซึ่งส่วนมากพบในพบได้ในข้าวสาลี (Wheat), ข้าวไรย์ (Rye), ข้าวบาร์เลย์ (Barley) เป็นต้น จะเห็นว่ากลูเตนมักอยู่ในอาหารจำพวกข้าว ซึ่งข้าวพวกนนี้ก็จะถูกแปรรูปและมักนำไปใช้ในการทำขนมปัง เบเกอรี่ต่าง ๆ ค่ะ ทีนี้ก็จะเกิดคำถามว่าแล้วทำไมเราถึงต้องทำขนมปัง หรือ อาหารที่ไม่มีกลูเตนด้วยล่ะ

ต้องบอกว่าคงต้องย้อนไปเมื่อสมัยนานมาแล้วมนุษย์เราดำรงชีพด้วยการหาของป่า ทำให้อาหารจะเป็น ผลไม้ ถั่ว และเนื้อสัตว์ แต่พอเกิดการปฏิวัติเกษตรกรรมครั้งแรกขึ้น มนุษย์เริ่มรู้จักการปลูกพืช อย่างข้าวสาลี ทำให้เกิดสารชนิดใหม่ที่ร่างกายมนุษย์ไม่เคยรู้จักมาก่อน ซึ่งใช้เวลาไม่นานอาหารชนิดใหม่นี้ก็กลายมาเป็นอาหารหลัก ซึ่งใช้เวลาไวกว่าลำไส้มนุษย์ที่ต้องใช้เวลาปรับตัว ทำให้เกิดเป็นโรคเซลิแอค (Celiac disease) ขึ้นค่ะ

กลูเตนมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดโรคเซลิแอค

ข้อมูลจาก bdmswellness กล่าวว่า ภาวะแพ้กลูเตน (Gluten Intolerance) แบ่งได้เป็น 3 ประเภท

โรคเซลิแอค (Celiac Disease) จัดเป็นโรคแพ้ภูมิตนเอง (Auto immune Disease) ชนิดหนึ่ง มีสาเหตุจากทั้งทางสิ่งแวดล้อมหรือการเปลี่ยนแปลงของรหัสพันธุกรรม โดยในปัจจุบันสามารถวินิจฉัยโดยการตรวจพันธุกรรมได้ค่ะ

แพ้ข้าวสาลี (Allergic to wheat) การแพ้นี้จะเป็นการแพ้โปรตีนในข้าวสาลี ต่างจากโรคเซลิแอคเพราะอาการแพ้จะเกิดขึ้นทันที แต่ความรุนแรงของอาการจะแตกต่างกัน บางรายมีอาการบวมแดงตามผิวหนัง แต่บางรายอาจหลอดลมบวมแดงหายใจไม่ออก ไปจนถึงแพ้รุนแรง (Anaphylaxis) จนอันตรายถึงชีวิตได้ค่ะ ซึ่งการแพ้แบบนี้สามารถตรวจเลือดดูการแพ้อาหาร หรือการตรวจภูมิแพ้ผ่านทางผิวหนัง (Skin Prick Test) ได้ค่ะ

ภาวะไวต่อกลูเตน (Gluten Sensitivity) หรือ Non-celiac Gluten Sensitivity (NCGS) คือภาวะที่ร่างกายไม่ย่อยกลูเตน แต่อาการไม่รุนแรงเท่าโรคเซลิแอค แต่ก็สามารถพัฒนาไปสู่โรคเซลิแอคได้ค่ะ

ซึ่งอย่างที่บอกไว้ว่ามนุษย์เรามีโอกาสเป็น โรคเซลิแอค (Celiac disease) เนื่องจากทั้งสิ่งแวดล้อม และ เพราะร่างกายของเราไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อย่อยแป้ง ซึ่งพอคนทั่วไปถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ ทำให้จะต้องงดทานอาหารที่มีกลูเตน และเกิดเป็นความเชื่อผิด ๆ ว่า อาหารที่ไม่มีกลูเตน จะรสชาติเหมือนลังกระดาษ จึงเป็นที่มาของแคมเปญนี้ค่ะ

โดยแคมเปญนี้มาจาก Wholegreen Bakery ในเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งก่อตั้งโดย Cherie Lyden หลังจากเธอและลูกสาวได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเซลิแอค (Celiac Disease) ในปี 2014 และเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2024 ก็ได้ร่วมมือกับเอเจนซี่ The Hallway ในซิดนีย์ เพื่อเปิดตัว Cardboard Cake ที่เค้กปราศจากกลูเตนที่มีลักษณะคล้ายกระดาษแข็ง โดยเค้กนี้ถูกจำหน่ายเพียงแค่ช่วงวันที่ 13-17 มีนาคมเท่านั้น ที่ร้าน Wholegreen Bakery ทั้งสามสาขา

ในปัจจุบันชาวออสเตรเลียได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเซลิแอคมากขึ้น และเราจะเห็นมีการเปิดคลิปด้วยทัศนคติที่คนมักพูดถึงเกี่ยวกับอาหารที่ไม่มีกลูเตน ทั้งการล้อเลียนเหมือนกับศาลตัดสิน ว่าขอตัดสินให้คุณทานอาหารจืดชืดน่าเบื่อไปตลอดชีวิต รวมทั้งคำพูด นี่คือฝันร้ายที่สุดของฉัน อะไรนะ? ไม่มีพาสต้า? ลาก่อนครัวซองต์?

คนมักตัดสินใจอาหารที่ไม่มีกลูเตน ทั้ง ๆ บางทีพวกเขาอาจยังไม่เคยลอง
และหลายครั้งผู้คนมักบอกว่ารสชาติอาหารที่ไม่มีกลูเตน คงเหมือนลังกระดาษ

Lyden กล่าวในแถลงข่าวว่า ‘หากฉันได้หนึ่งดอลลาร์ทุกครั้งที่ได้ยินผู้คนพูดว่าอาหารปราศจากกลูเตนมีรสชาติเหมือนลังกระดาษ ฉันคงรวยไปแล้ว เราพิสูจน์ให้พวกที่สงสัยเห็นมาหลายปีแล้วว่าเขาคิดผิด แต่ Cardboard Cake แตกต่างจากสิ่งที่เคยทำมา เรากำลังยกระดับขึ้นไปอีกขั้น และเป็นการเผชิญหน้ากับความเข้าใจผิดโดยตรง’ โดยแคมเปญนี้มีเว็บไซต์เฉพาะ และได้มีวิดีโอเปิดตัวความยาว 1 นาที

Wholegreen ร้านเค้ก Sydney สร้าง Awareness มุมมองลูกค้ากับกลูเตน

โดยใน Video ก็มีคำที่ประกอบ โดยมีใจความว่า “ถึงทุก ๆ คนที่พูดว่า อาหารที่ไม่มีกลูเตน รสชาติเหมือนกระดาษลัง ได้เลย คุณจะได้กินในสิ่งที่คุณพูด” ก็คือ เค้กลังกระดาษ เรียกได้ว่าเป็นการส่งสารไปยังคนที่เข้าใจผิดได้อย่างตรงจุด และเหน็บแหนบเบา ๆ ประมาณว่า ชอบพูดหนัก ก็เอาไปกินซะ

แค่จริง ๆ แล้วส่วนประกอบของ Cardboard Cake สร้างจากส่วนผสมของบัตเตอร์สก็อตช์ กาแฟ ผงโกโก้ เพสตรี้ คาราเมล และแป้งข้าวกล้อง Cardboard Cake ถูกอบในถาดอบที่ออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อเลียนแบบรูปร่างของร่องลูกฟูกกระดาษแข็ง และ Cardboard Cake ยังได้รับการรับรองจาก Coeliac Australia อีกด้วยค่ะ

ต้องบอกว่าหลังจากมีการปล่อย Video ออกไป เจ้าเค้กลังกระดาษก็ได้รับความสนใจมากมายทั้งจากคนที่เป็นโรคเซลิแอค ที่ทานกลูเตนไม่ได้ รวมทั้งคนที่ทั่วไป ก็อยากลองรับประทานเจ้าเค้กตัวนี้ดู ซึ่งพอจบแคมเปญแล้ว ผลลัพธ์ของแคมเปญตามที่เอเจนซี่ระบุคือ แคมเปญนี้สร้างมูลค่าสื่อ (earned media value) 2 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (1.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และยอดขายเพิ่มขึ้นกว่า 24% ค่ะ เรียกว่าประสบความสำเร็จทั้ง สร้าง Awareness และ สร้างยอดขาย

#เข้าใจกลุ่มลุกค้าของตัวเองเป็นอย่างดี และใส่ใจในรายละเอียด

ซึ่งความสำเร็จของแคมเปญนี้ ผู้เขียนมองว่าแคมเปญนี้ใช้ประโยชน์จากอคติของผู้คนอย่างชาญฉลาด เพื่อเชื่อมต่อและส่งสารไปยังกลุ่มผู้บริโภคหลักของ Wholegreen ที่เป็นผู้บริโภคที่ต้องกินอาหารปราศจากกลูเตนและผู้ป่วยเซลิแอค และพวกเขาเหล่านี้ก็จะคุ้นเคยกับคำพูดที่พอจะคาดเดาได้จากคนนอกเกี่ยวกับขนมปังและเบเกอรี่ปราศจากกลูเตนที่บอกว่ารสชาติเหมือนลังกระดาษ

เหมือนที่เราชอบบอกว่า คนซื้อไม่บ่น คนบ่นไม่ซื้อ เพราะคนที่กินอาหารที่ไม่มีกลูเตนก็มักรู้รสชาติของอาหารนั้นดีอยู่แล้ว แต่พวกที่ไม่เคยกินและบอกว่ารสชาติเหมือนลังกระดาษ กลับล้อเลียนอาหารนั้นไม่หยุด

Wholegreen ร้านเค้ก Sydney สร้าง Awareness มุมมองลูกค้ากับกลูเตน

ดังนั้นการเล่นกับคำพูดนี้ โดยล้อเลียนจากคำพูด โดยการเหน็บแหนบคืนว่า ให้กินคำพูดของตัวเอง ซึ่งในจุดนี้แสดงให้เห็นว่า Wholegreen เข้าใจลูกค้าของตัวเอง โดยการเยาะเย้ย ‘คนนอก’ พวกคนที่สงสัยและยังกินกลูเตนอยู่ อย่างขบขัน Wholegreen เรียกว่าเป็นการสร้างความประทับใจกับกลุ่มลูกค้าเดิม และ ส่งสารไปยังกลุ่มใหม่ที่ดีมาก

ใส่ใจในรายละเอียด แม้เป็นแคมเปญระยะสั้นแต่ Wholegreen ก็แสดงถึงความใส่ใจผ่านขั้นตอนการผลิตที่ออกมาใน Video ทำให้แม้เราจะไม่ได้ลองกิน Cardboard Cake แต่ก็สามารถรับรู้ได้ถึงความใส่ใจในรายละเอียดที่แสดงในภาพและ Video ที่ถ่ายทอดออกมาค่ะ

จาก Case นี้บอกเราว่า หากเราเข้าใจลูกค้า หรือ บริโภค รวมทั้งทัศนคติของผู้คนต่อแบรนด์หรือสินค้าเราเป็นอย่างดี การสร้าง Awareness ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

ถ้าชอบ หรือ สนใจอยากอ่านบทความด้านการตลาดแบบนี้อีก ผู้เขียนฝากติดตามด้วยนะคะ หรือ ถ้าใครอยากให้ผู้เขียนนำมุมมองการตลาดแบบไหนมาเล่าให้ฟัง สามารถคอมเมนต์บอกกันได้เลยนะคะ 

สำหรับนักอ่านที่ชอบ และ อยากอ่านบทความเกี่ยวกับการตลาดเพิ่มเติม รวมถึงข่าวสารด้านการตลาดต่าง ๆ สามารถติดตามได้จาก เพจการตลาดวันละตอน รวมไปถึงเว็บไซต์ Twitter Instagram YouTube และ Blockdit ของการตลาดวันละตอนได้เลยนะคะ แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้าค่ะヽ(•‿•)ノ

Source Source Source Source Source

อยากอ่านบทความการตลาดเพิ่มเติม ลองเลือกอ่านบทความด้านล่างนี้ได้เลยนะคะ

Mywmint

มิวมิ้น เรียก มิ้น ก็ได้ค่ะ ● ⋏ ● เป็น Junior Marketing Content Creator ของการตลาดวันละตอนค่ะ รับบท Marketer ฝึกหัด ٩(◕‿◕)۶ ตั้งใจสรรสร้างทุกบทความ หวังว่าทุกคนจะได้ประโยชน์ และ ชอบนะคะ ขอฝากเนื้อฝากตัวไว้ด้วยฮะ ʕっ•ᴥ•ʔっ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *