ในปี 2531 ทุกคนในญี่ปุ่นจะมีนามสกุล ‘ซาโตะ’! แคมเปญเปลี่ยนนามสกุลที่ขับเคลื่อน Gender Equality

ลองจินตนาการถึงอนาคตที่ทุกคนในญี่ปุ่นใช้นามสกุลเดียวกันดูสิครับ ฟังดูเหมือนนิยายวิทยาศาสตร์ใช่ไหมครับ? แต่นี่คือภาพอนาคตที่น่าตกใจซึ่งอาจกลายเป็นจริง หากกฎหมายครอบครัวของญี่ปุ่นยังคงไม่เปลี่ยนแปลง และนี่คือจุดเริ่มต้นของแคมเปญสุดสร้างสรรค์ที่ไม่ได้เพียงเขย่าสังคมญี่ปุ่น แต่ยังส่งแรงกระเพื่อมไปถึงเวทีโลก เพื่อทวงถามความหมายของ ‘Gender Equality’ ที่ถูกมองข้ามผ่านเรื่องนามสกุล

นามสกุล…เรื่องไม่เล็ก เพราะมันคือปัญหา Gender Equality ระดับชาติที่ญี่ปุ่น (เกือบ) มองข้าม

ทุกคนรู้ไหมครับว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศเดียวในโลกที่กฎหมายยังบังคับให้สามีภรรยาต้องใช้นามสกุลเดียวกันหลังแต่งงาน แล้วเดาซิครับว่าใครต้องเปลี่ยน? ใช่แล้วครับ ผู้หญิงกว่า 95% ต้องโบกมือลานามสกุลเดิมของตัวเอง 

องค์กร Asuniwa ที่ทำงานด้านความเท่าเทียมทางเพศมองว่า “นี่มันไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัวแล้วนะ” แต่มันกระทบไปถึงตัวตนของผู้หญิง การงานอาชีพ และที่มากกว่านั้นคือ มันอาจจะกำลังบั่นทอนการสูญเสียความหลากหลายทางสังคมเลยทีเดียว

Gender Equality

หลายคนอาจจะบอกว่า “ก็มันเป็นวัฒนธรรม” หรือ “ประเพณี” แต่คุณ Morihiro Harano จากเอเจนซี่ Mori บอกไว้ว่า “ไอ้ที่เราเรียกว่า ‘วัฒนธรรม’ หรือ ‘มารยาท’ เนี่ย บ่อยครั้งมันมีเรื่องไม่แฟร์ซ่อนอยู่ การที่เรากล้าเปิดไฟส่องให้เห็นความจริงเท่านั้นแหละ โลกถึงจะหมุนไปข้างหน้าได้”

และเพื่อให้เห็นภาพชัด ๆ ว่าสิ่งนี้มันมีปัญหาซ่อนอยู่จริง ๆ ทาง Asuniwa จึงได้จับมือกับ Dentsu Digital และศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยโทโฮคุ ทำวิจัยและผลลัพธ์ที่ออกมาก็น่าตกใจเช่นกัน เพราะถ้ากฎหมายนี้ยังอยู่ต่อไปเรื่อย ๆ ภายในปี ค.ศ. 2531 หรืออีก 500 ปีข้างหน้า นามสกุล “ซาโตะ” ซึ่งเป็นนามสกุลที่โหลที่สุดในญี่ปุ่น จะกลายเป็นนามสกุลเดียวของคนทั้งประเทศ

สิ่งนี้มันสะท้อนให้เห็นว่าการที่ผู้หญิงกว่า 50 ล้านคนต้องเสียนามสกุลตัวเองไปในแต่ละปี มันกำลังพาประเทศไปสู่จุดที่น่าเป็นห่วง และนี่ก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงญี่ปุ่นเกือบ 1 ใน 4 ไม่อยากแต่งงาน ซึ่งอีกนัยหนึ่งมันก็จะส่งผลไปยังอัตราการเกิดของคนในประเทศอีกด้วย พอข้อมูลมันเป็นแบบนี้ ทำให้เรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ อีกต่อไปแล้วครับ เพราะมันกลายเป็นปัญหาระดับชาติที่ทุกคนต้องหันมามอง

จุดไฟให้สังคม เมื่อ “ซาโตะ” บุกเมือง

Asuniwa ไม่ได้แค่โยนข้อมูลตูมเดียวแล้วจบนะครับ แต่พวกเขาสร้างปรากฏการณ์ที่ทำให้คนทั้งประเทศต้องหันมาคุยเรื่องนี้ พวกเขาไปดีลกับบริษัทใหญ่ ๆ ศิลปินดัง ๆ แม้แต่ตัวการ์ตูนมังงะ และทีมกีฬาอาชีพกว่า 40 แห่ง ให้พร้อมใจกันเปลี่ยนชื่อเป็น “ซาโตะ” แบบชั่วคราว

ลองนึกภาพร้านกาแฟ Tinto Coffee กลายเป็น Sato Coffee หรือศิลปินอย่าง AI Kawashima ก็ใช้ชื่อ Sato บนโซเชียลสิครับ ภาพเหล่านี้ถูกแชร์ว่อนเน็ต สร้างกระแสให้คนเห็นภาพอนาคตที่ “ทุกคนชื่อซาโตะ” แล้วเกิดคำถามในใจว่า “แบบนี้จริง ๆ เหรอที่เราต้องการ?” นี่แหละครับคือสิ่งที่เรียกว่า “Dramatization of Rational Argument” เอาข้อมูลยาก ๆ มาย่อยให้โดนใจ กระแทกอารมณ์ให้คนหยุดคิด

จากไวรัลในประเทศ สู่เวทีโลก และพลังขับเคลื่อน Gender Equality ที่หยุดไม่อยู่

บอกเลยว่าพลังของแคมเปญนี้มันแรงทะลุเพดานจริง ๆ ครับ นักการเมืองเริ่มออกมาโพสต์สนับสนุนให้มีทางเลือกในการใช้นามสกุลแยกกัน และที่พีคไปกว่านั้นคือ ในเดือนตุลาคม 2024 ประเด็นนี้ถูกหยิบยกขึ้นไปพูดคุยในคณะกรรมการของ UN ที่ดูแลเรื่องการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี

Gender Equality
AI-Generated by Shutterstock (Prompt: A close-up photo of a modern Japanese woman, with stylish short hair and confident expression, soft natural lighting, watercolor text ‘Women’ painted artistically across her cheek and forehead, minimal makeup, contemporary fashion vibes, shallow depth of field, high-resolution portrait)

 ผลลัพธ์คือ UN ออกคำแนะนำให้รัฐบาลญี่ปุ่นรีบแก้ไขกฎหมายนี้ภายในสองปี โดยย้ำว่านี่คือเรื่อง “สำคัญสูงสุด” สำหรับความเท่าเทียมทางเพศ และพอเรื่องไปถึงระดับโลกแบบนี้ มันคือ Social Proof ที่ชัดเจนสุด ๆ ว่าแคมเปญนี้มันปังจริง

ผลลัพธ์ที่จับต้องได้:

  • งานวิจัยนี้ถูกสื่อกว่า 1,500 แห่งใน 102 ประเทศเอาไปนำเสนอ คือดังไกลระดับโลก
  • 65% ของผู้ที่ได้รับการเลือกตั้ง หันมาสนับสนุนทางเลือกในการใช้นามสกุลแยก แสดงว่าผู้มีอำนาจก็เริ่มคิดใหม่แล้ว
  • เสียงสนับสนุนจากประชาชนก็พุ่งทะยานไปถึง 73% สูงสุดเป็นประวัติการณ์

บทเรียนจาก “ซาโตะ” 

แคมเปญ “ซาโตะ” พิสูจน์ให้เห็นเลยครับว่าการจะขับเคลื่อนเรื่องใหญ่ ๆ อย่างความเท่าเทียมทางเพศเนี่ย มันไม่ใช่แค่เรื่องกฎหมายหรือสิทธิอย่างเดียว แต่มันคือการสื่อสารที่ “โคตรฉลาด” และใช้ “ความคิดสร้างสรรค์ทางสังคม” ที่สามารถ:

  • ย่อยเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย: จากปัญหาซับซ้อน กลายเป็นภาพอนาคต “ทุกคนชื่อซาโตะ” ที่ใคร ๆ ก็เก็ตและเห็นผลกระทบ
  • ดึงพลังจากทุกภาคส่วน: การชวนทั้งคนดัง แบรนด์ดัง มาร่วมวง มันทำให้สารกระจายไปแบบติดจรวด
  • ใช้เหตุผลนำ ไม่ใช้อารมณ์อย่างเดียว: ถึงจะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน แต่การมีข้อมูลวิจัยมันทำให้ข้อโต้แย้งมีน้ำหนัก โน้มน้าวใจคนได้
  • สร้างการมีส่วนร่วมแบบสุดพลัง: แคมเปญนี้มันจุดติดบทสนทนาบนโซเชียล จนเกิดเป็นกระแสสนับสนุนจากประชาชนอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

สรุปส่งท้าย

ผมว่าแคมเปญ “ซาโตะ” ของ Asuniwa นี่คือตัวอย่างของการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ที่ไม่จำเป็นต้องใข้งบมหาศาลเสมอไป แต่ต้องเริ่มจากความเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้ง การหา Social Proof ที่มัน “ว้าว” จนคนต้องหยุดฟัง 

และที่สำคัญคือ “ความกล้า” ที่จะเล่าเรื่องในแบบที่ไม่มีใครเคยทำ การผสมผสานข้อมูล เหตุผล ความคิดสร้างสรรค์ และการร่วมแรงร่วมใจจากทุกฝ่าย ทั้ง NGO บริษัท คนดัง มันสร้างพลังที่ยิ่งใหญ่จนเขย่าได้ทั้งประเทศและดังไปถึงเวทีโลก

นี่คือบทเรียนสำคัญที่ตอกย้ำว่า “ความเท่าเทียมทางเพศ” ไม่ใช่แค่เรื่องศีลธรรมสวย ๆ นะครับ แต่มันส่งผลต่อเศรษฐกิจ สังคม และอนาคตของประเทศเลยทีเดียว การใช้พลังของความคิดสร้างสรรค์ทางสังคมมาเปิดโปงปัยหาที่ซ่อนอยู่หลังคำว่า “วัฒนธรรม” หรือ “ประเพณี” ที่อาจจะฉุดรั้งความก้าวหน้า นี่แหละครับคือก้าวสำคัญที่จะพาโลกเราไปสู่ความเท่าเทียมที่แท้จริง

Source

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่นี่

Marketing Content Creator and Data Insight Researcher

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *